ภูมิศาสตร์ไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่ประเทศไทย

ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศได้มีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย ประเทศไทยยังเป็นเส้นทางทางบกเพียงทางเดียวจากทวีปเอเชียไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์

พิกัดภูมิศาสตร์[แก้]

ประเทศไทยตั้งอยู่ในช่วงพิกัด 5°37′N - 20°27′N และ 97°22′E - 105°37′E

ด้วยสภาพพื้นที่ราบซึ่งน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ทำให้ประเทศไทยภาคกลางมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรรมการทำนา และดึงดูดผู้ตั้งถิ่นฐานมายังใจกลางดินแดนมากกว่าพื้นที่สูงและภูเขาในภาคเหนือและที่ราบสูงโคราชในทางตะวันออกเฉียงเหนือ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 รัฐจำนวนหนึ่งซึ่งติดต่อกันอย่างหลวม ๆ โดยการปลูกข้าวและการค้าได้เกิดขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 รัฐเหล่านี้ค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของที่ราบลุ่มแห่งนี้ เมืองหลวงในอดีตของไทยซึ่งตั้งอยู่บนหลายจุดตามแม่น้ำเจ้าพระยา กลายมาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรคนไทยซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการปลูกข้าวและการค้าระหว่างประเทศ ไทยได้มุ่งหน้าค้าขายกับเมืองท่าต่างชาติโดยอาศัยอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ในขณะที่ลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรปนำมาซึ่งช่วงเวลาใหม่ของการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1800 ประเทศไทย (หรือในขณะนั้นยังเรียกว่า "สยาม") เป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกในฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษและอินโดจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส อันได้แก่ ลาวและกัมพูชา

รูปร่าง[แก้]

ประเทศไทยมีลักษณะคล้ายขวาน โดยภาคใต้เป็นด้ามขวาน แนวด้านตะวันตกเป็นสันขวาน ภาคเหนือเป็นหัวขวาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเป็นคมขวาน จากลักษณะดังกล่าว ความยาวจากเหนือสุดถึงใต้สุด วัดจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายไปจนถึงอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีความยาว 1,650 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างสุดจากตะวันออกไปตะวันตก วัดจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ไปยังด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นระยะทาง 800 กิโลเมตร[1] บริเวณแผ่นดินส่วนที่แคบที่สุดของประเทศตั้งอยู่ระหว่างแนวชายแดนกัมพูชากับพื้นที่บ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีระยะทางเพียง 450 เมตร และส่วนพื้นที่บ้านวังด้วน ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วัดจากชายแดนประเทศพม่าจนถึงทะเลอ่าวไทย มีระยะทาง 10.6 กิโลเมตร สำหรับส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู (แผ่นดินระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน) อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชุมพรและระนอง มีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เรียกส่วนนี้ว่า "คอคอดกระ"[1]

อาณาเขตและพรมแดน[แก้]

พรมแดนทางบก[แก้]

รวมระยะทางทั้งหมด 4,863 กิโลเมตร

ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย[1]

มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทยตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ผ่านจังหวัดพะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,754 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ชายแดนที่เป็นทั้งภูเขา แม่น้ำ ที่ราบ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญระหว่างไทยกับลาว มีการสัญจรติดต่อกันโดยใช้เรือ จึงมีท่าเรือสำคัญทั้งสองประเทศ เส้นทางเชื่อมระหว่างสองประเทศนี้ได้แก่ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 แห่งที่ 2 แห่งที่ 3 และแห่งที่ 4 ปัญหาชายแดนด้านนี้คือ การลักลอบเข้าเมือง การลำเลียงยาเสพติด การขนสินค้าหนีภาษี เป็นต้น

มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทยตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผ่านชายแดนที่เป็นทั้งภูเขาและแม่น้ำ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,800 กิโลเมตร การแบ่งเขตแดนจะแบ่งโดย ถ้าเป็นภูเขาจะใช้สันปันน้ำเป็นแนวเขต แต่ถ้าเป็นแม่น้ำจะใช้ร่องน้ำลึกเป็นแนวเขต เนื่องจากชายแดนด้านนี้มีชนกลุ่มน้อยของพม่าตั้งถิ่นฐานอยู่หลายเผ่า เช่น ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ เป็นต้น อาศัยอยู่จึงมีการอพยพแรงงานเข้ามาในไทย มีการลักลอบค้าของหนีภาษี ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้สัก บ่อนการพนัน การลักลอบขนยาเสพติด เป็นต้น

มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทยนับตั้งแต่ช่องบก (สามเหลี่ยมมรกต) ในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด รวมระยะทางทั้งสิ้น 803 กิโลเมตร บริเวณชายแดนที่ติดกับตอนล่างของภาคอีสานจะใช้ทิวเขาพนมดงรักเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แถบจังหวัดสระแก้วเป็นที่ราบและคลอง จึงเป็นเส้นทางเดินติดต่อกันสะดวก พื้นที่แถบนี้เรียกว่า "ฉนวนไทย" โดยบริเวณอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีตลาดการค้าขนาดใหญ่เรียกว่า "ตลาดโรงเกลือ" ชาวกัมพูชามักจะมาซื้อสินค้าประเภทอาหาร และวัสดุก่อสร้าง ปัญหาชายแดนด้านนี้คือ การลักลอบค้าของหนีภาษี บ่อนการพนัน และการโจรกรรมรถยนต์จากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวมระยะทางเขตแดน 506 กิโลเมตร ที่จังหวัดสตูลมีรั้วคอนกรีตกั้นแบ่ง แต่ส่วนใหญ่จะใช้แนวทิวเขาสันกาลาคีรีและแม่น้ำโกลกแบ่งเขตแดน ชายแดนด้านนี้มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกทั้งทางรถยนต์และรถไฟ ปัญหาชายแดนด้านนี้คือ การลักลอบขนของหนีภาษี ปัญหาการทำประมง การนับถือศาสนาและความแตกต่างทางวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ เป็นต้น

แนวชายฝั่ง[แก้]

  • รวม: 3,219 กม.

การอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทางทะเล[แก้]

  • ทะเลอาณาเขต: 12 ไมล์ทะเล (22.8 กม.)
  • เขตเศรษฐกิจเฉพาะ: 200 ไมล์ทะเล (370.4 กม.)
  • ไหล่ทวีป: ความลึก 200 ม. หรือที่ระดับของการแสวงหาผลประโยชน์

ภูมิลักษณ์และทางน้ำ[แก้]

แผนที่ภูมิลักษณ์ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของประเทศไทย คือ ภูเขาสูง ที่ราบลุ่มตอนกลาง และที่ราบสูง ภาคเหนือของไทยมีภูเขาทอดผ่านเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ชายแดนพม่าผ่านคอคอดกระและคาบสมุทรมลายู ที่ราบตอนกลางเป็นพื้นที่ลุ่มซึ่งระบายน้ำโดยแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายย่อย ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นระบบแม่น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยไหล่ผ่านไปสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งอยู่ที่หัวอ่าวกรุงเทพ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านพื้นที่กว่าหนึ่งในสามของประเทศ ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเป็นที่ราบสูงโคราช พื้นที่มีเนินลาดและทะเลสาบตื้นเขิน มีแม่น้ำมูลไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำโขง ซึ่งไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ โดยมีคลองและเขื่อนเป็นจำนวนมาก

แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือได้ว่าค้ำจุนเศรษฐกิจเกษตรกรรมของไทย โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและเป็นทางน้ำสำหรับขนส่งสินค้าและผู้คน ในทางกลับกัน ลักษณะทางธรรมชาติของคาบสมุทรในทางภาคใต้ คือ ชายฝั่งทะเลที่ยาว เกาะนอกฝั่ง และบึงพรรณไม้ป่าชายเลนที่กำลังลดจำนวนลง

พื้นที่[แก้]

  • รวม: 513,115 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 321 ล้านไร่)

ภูมิภาค[แก้]

สภาวิจัยแห่งชาติได้แบ่งประเทศไทยออกเป็น 6 ภูมิภาค ตามลักษณะธรรมชาติ รวมไปถึงธรณีสัณฐานและทางน้ำ รวมไปถึงรูปแบบวัฒนธรรมมนุษย์ โดยภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะตั้งอยู่บนที่ราบตอนกลางของประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุด เขตมหานครแห่งนี้จึงอาจพิจารณาได้ว่าเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งของประเทศ ภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ทั้งหกนี้มีความแตกต่างกันโดยมีเอกลักษณ์ของตนเองในด้านประชากร ทรัพยากรพื้นฐาน ลักษณะธรรมชาติ และระดับของพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ ความหลากหลายในภูมิภาคต่าง ๆ เหล่านี้ได้เป็นส่วนสำคัญต่อลักษณะทางกายภาพของประเทศไทย

ภาคเหนือ[แก้]

ดอยภูคา จังหวัดน่าน
ป่าสนในจังหวัดเชียงใหม่

ภาคเหนือมีลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขาสูงสลับกับหุบเขาและพื้นที่สูงซึ่งติดต่อกับเขตที่ราบลุ่มตอนกลางของประเทศ มีทิวเขาที่วางตัวยาวในแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างทิวเขาจะมีหุบเขาและแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และแพร่ ทิวเขาที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาขุนตาน ทิวเขาผีปันน้ำ และทิวเขาหลวงพระบาง[1] ช่วงฤดูหนาวในเขตภูเขาของภาค อุณหภูมิต่ำเพียงพอต่อการปลูกไม้ผล อาทิ ลิ้นจี่และสตรอเบอรี่ แม่น้ำในภาคเหนือหลายสาย รวมไปถึงแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ไหลมาบรรจบกันและก่อให้เกิดเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีต ลักษณะทางธรรมชาติเหล่านี้ทำให้ภาคเหนือสามารถทำการเกษตรได้หลายประเภท รวมไปถึงการทำนาในหุบเขาและการปลูกพืชหมุนเวียนในเขตพื้นที่สูง นอกจากนี้ เขตภูเขาซึ่งมีป่าปกคลุมยังได้ทำให้ภาคเหนือมีจิตวิญญาณต่างจากภาคอื่น ๆ ของประเทศ ป่าไม้ รวมไปถึงไม้สักและไม้เนื้อแข็งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เคยปกคลุมทั่วทั้งภาคเหนือและบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ได้ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนเหลือพื้นที่เพียง 130,000 ตารางกิโลเมตร และทั่วประเทศมีป่าไม้เหลือเพียงไม่ถึง 30% ของพื้นที่ประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ในปี ค.ศ. 1961 ป่าไม้เคยปกคลุมพื้นที่กว่า 56% ของประเทศ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[แก้]

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัด 20 จังหวัดมีเนื้อที่ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้เท่ากับหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย มีดินไม่ดีซึ่งไม่ค่อยเอื้อต่อเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารสำคัญสำหรับประชากรในภูมิภาค จำเป็นต้องอาศัยทุ่งนาที่น้ำท่วมถึงและระบายน้ำได้น้อยในการเจริญเติบโต และที่ซึ่งแหล่งน้ำใกล้เคียงสามารถท่วมถึงได้ มักจะเก็บเกี่ยวสองครั้งต่อปี พืชค้า อย่างเช่น อ้อยและมันสำปะหลังมีการเพาะปลูกกันในบริเวณมหาศาล และยาง ในปริมาณที่น้อยกว่าพืชสองชนิดแรก การผลิตไหมเป็นอุตสาหกรรมแถบชนบทและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ภาคอีสานมีฤดูมรสุมสั้น ๆ นำมาซึ่งอุทกภัยในแถบหุบเขาแม่น้ำ ไม่เหมือนกับพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์กว่าของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฤดูแล้งที่ยาวนาน และพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหญ้าหรอมแหรม ภูเขาขนาบภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งทางตะวันตกและทางใต้ และแม่น้ำโขงไหลกั้นที่ราบสูงโคราชทางเหนือและทางตะวันออก พืชสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล Curcuma และพืชวงศ์ขิง เป็นพืชท้องถิ่นของภาค ภาคอีสานแบ่งลักษณะภูมิประเทศเป็น 5 เขต ได้แก่[1]

ภาคกลาง[แก้]

ทิวเขาเพชรบูรณ์

ภาคกลาง เป็นแอ่งที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จนได้รับการขนานนามว่า "อู่ข้าวอู่น้ำ" ระบบชลประทานซึ่งได้พัฒนาสำหรับเกษตรกรรมทำนาในภาคกลางซึ่งได้ให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจและได้พัฒนารัฐไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มาจนถึงกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ภูมิประเทศที่ค่อนข้างแบนราบเป็นส่วนใหญ่ได้อำนวยความสะดวกต่อแหล่งน้ำที่ดอนและการขนส่งทางถนน พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์นี้สามารถรองรับประชากรอันหนาแน่นได้ โดยภาคกลางมีความหนาแน่นของประชากรคิดเป็น 422 คนต่อตารางกิโลเมตรในปี ค.ศ. 1987 เมื่อเทียบกับความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยของประเทศที่ 98 คนต่อตารางกิโลเมตร แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขาย่อยมีความสำคัญต่อภาคกลางในเกษตรกรรมทำนา กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางการค้า การขนส่ง และกิจกรรมทางอุตสาหกรรม ตั้งอยู่บริเวณขอบด้านใต้ของภาคกลาง บริเวณหัวของอ่าวไทย

แม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพมหานคร

ภาคกลางมีแนวภูเขาเป็นขอบด้านตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ ทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวเขาถนนธงชัย ลักษณะทางภูมิศาสตร์บริเวณภาคกลางตอนบนเป็นที่ราบเชิงเขา ลานตะพักลำน้ำ และเนินตะกอนรูปพัด ส่วนด้านตะวันออกเป็นที่ราบลาดเนินตะกอนเชิงเขาและภูเขาโดดเตี้ยๆ ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่า พบทั้งหินบะซอลต์ หินไรโอไลต์ และหินกรวดภูเขาไฟ มีพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน และแม่น้ำป่าสัก ส่วนภาคกลางตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มโดยตลอด มีลานตะพักลำน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึง และคันดินธรรมชาติยาวขนานตามแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน ที่ราบภาคกลางตอนกลางมีชื่อเรียกว่า "ทุ่งราบเจ้าพระยา" เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ไปจนสุดอ่าวไทย[1]

ภาคตะวันออก[แก้]

น้ำตกเหวสุวัตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ภาคตะวันออกประกอบด้วย 7 จังหวัด มีอาณาเขตติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางทิศเหนือ ประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันออก ติดกับอ่าวไทยทางทิศใต้ ติดกับภาคกลางด้านตะวันตก มีเนื้อที่ 34,380 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศของภาคตะวันออกแบ่งได้ 4 ลักษณะ คือ ภูมิประเทศส่วนทิวเขา มีทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาจันทบุรี และทิวเขาบรรทัด ภูมิประเทศส่วนที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำ คือที่ราบลุ่มน้ำบางปะกง ที่ราบชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงไปจนสุดเขตแดนที่แหลมสารพัดพิษ จังหวัดตราด ส่วนใหญ่ชายฝั่งทะเลจะมีหาดทรายสวยงาม และส่วนเกาะและหมู่เกาะ เช่น เกาะสีชัง เกาะเสม็ด หมู่เกาะช้าง และเกาะกูด[1] และมีท่าเรือพานิชย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่แหลมฉบัง

เมืองพัทยา

ภาคตะวันตก[แก้]

ถ้ำพระยานครในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันตกประกอบด้วย 5 จังหวัด มีเนื้อที่ 53,679 ไร่ มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเทือกเขายาวตั้งแต่ภาคเหนือมาถึงภาคตะวันตกของประเทศ และเป็นพรมแดนทางธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่า สภาพภูมิประเทศของภาคตะวันตกมีลักษณะเช่นเดียวกับภาคเหนือ โดยมีภูเขาสูงสลับกับหุบเขาซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่าน มีที่ราบลุ่มน้ำสำคัญได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำปิง-วัง ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง และที่ราบลุ่มน้ำเพชรบุรี ภาคตะวันตกมีพื้นที่ป่าซึ่งยังไม่ถูกรบกวนเป็นจำนวนมาก ทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุเป็นทรัพยากรที่สำคัญของภาค โดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลัก นอกจากนี้ ภาคตะวันตกยังเป็นที่ตั้งของเขื่อนที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์

ภาคใต้[แก้]

หาดมาหยา ในหมู่เกาะพีพี
อ่าวสำโรง ในเกาะสมุย
ทะเลสาบสงขลา

ภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรแคบ มีความแตกต่างกับภาคอื่น ๆ ของไทยทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และทรัพยากร ลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้แบ่งเป็น 4 แบบ ได้แก่[1]

  • ทิวเขา ประกอบด้วยทิวเขาสำคัญ ได้แก่ ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราช และทิวเขาสันกาลาคีรี
  • ที่ราบฝั่งอ่าวไทยและที่ราบฝั่งอันดามัน โดยที่ราบฝั่งอ่าวไทยจะตั้งอยู่ทางตะวันออกของภาค มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดใหญ่กระจัดกระจาย ชายฝั่งค่อนข้างเรียบตรงและมีหาดทรายสวยงาม และยังมีส่วนที่เป็นหาดเลนและโคลน จะเป็นป่าชายเลน มีลักษณะเด่นคือมีแหลมที่เกิดจากการทับถมของทรายและโคลน 2 แห่ง ได้แก่ แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหลมตาชี จังหวัดปัตตานี และมีทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่เกิดจากคลื่นและกระแสน้ำพัดพาตะกอนทรายไปทับถมเป็นแนวสันทราย ส่วนที่ราบฝั่งทะเลอันดามัน จะอยู่ด้านตะวันตกของภาค มีลักษณะเป็นชายฝั่งแบบยุบตัว มีที่ราบแคบเนื่องจากมีชายเขาและหน้าผาติดชายฝั่ง นอกจากนี้ยังมีชายฝั่งที่เว้าแหว่งมากและนอกฝั่งออกไปพื้นน้ำจะลาดลึกลงไปอย่างรวดเร็ว จะมีหาดทรายขาวแคบ ๆ
  • เกาะ ภาคใต้มีเกาะและหมู่เกาะมากมาย โดยฝั่งอ่าวไทยมีเกาะสำคัญเช่น เกาะสมุย เกาะพงัน หมู่เกาะอ่างทอง เป็นต้น ส่วนฝั่งอันดามันมี เกาะภูเก็ต ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หมู่เกาะพีพี หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตะรุเตา

เศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการทำนาเพื่อยังชีพเป็นหลักและการผลิตยางสำหรับอุตสาหกรรม แหล่งรายได้อื่น ๆ รวมไปถึงการปลูกมะพร้าว การทำเหมืองแร่ดีบุก และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ภูมิประเทศแบบม้วนตัวกับภูเขาและการขาดแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เป็นลักษณะเด่นของภาคใต้ แนวภูเขาซึ่งเรียงตัวกันในแนวเหนือ-ใต้ และป่าฝนเขตร้อนอันลึกลับได้ทำให้เกิดการโดดเดี่ยวในยุคเริ่มต้นและการพัฒนาทางการเมืองแยกต่างหากกับส่วนอื่น ๆ ของประเทศ การเข้าถึงทะเลอันดามันและอ่าวไทยทำให้ภาคใต้เป็นทางผ่านของทั้งพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และศาสนาอิสลาม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อดีตอาณาจักรปัตตานีซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย


ภูมิอากาศ[แก้]

ภาพถ่ายประเทศไทยจากทางอากาศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นหรือแบบสะวันนาตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบคอบเปน ในขณะที่ภาคใต้และทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเป็นเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ทั่วประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 19-41°C ในฤดูแล้ง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม โดยสูงกว่า 40°C ในบางพื้นที่ในช่วงกลางเดือนเมษายนเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจุดเหนือศีรษะ

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดเข้าสู่ประเทศไทยระหว่างเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม (ยกเว้นภาคใต้) เป็นจุดบ่งชี้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งกินเวลาจนถึงเดือนตุลาคม และเมฆซึ่งปกคลุมทำให้อุณหภูมิลดลง แต่มีความชื้นสูงมาก เดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูแล้งและอุณหภูมิในเวลากลางคืนเหนือพื้นดินสามารถลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงมายังภูมิประเทศ ฤดูแล้งในภาคใต้มีระยะเวลาสั้นที่สุด เนื่องจากการที่ภาคใต้ตั้งอยู่ใกล้ทะเลจากทุกด้านในคาบสมุทรมลายู พื้นที่ทั้งประเทศได้รับปริมาณฝนอย่างเพียงพอ ยกเว้นบางพื้นที่เท่านั้น แต่ระยะเวลาของฤดูฝนและปริมาณฝนมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและระดับความสูง

ภูมิอากาศไทย
เดือน: ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
เชียงใหม่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 29 32 34 36 34 32 31 31 31 31 30 28
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13 14 17 22 23 23 23 23 23 21 19 15
ชั่วโมง/วัน 9 10 9 9 8 6 5 4 6 7 8 9
มม./เดือน 7 11 15 50 140 155 190 220 290 125 40 10
วัน/เดือน 1 1 2 5 12 16 18 21 18 10 4 1
ภูเก็ต อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31 32 33 33 31 31 31 31 30 31 31 31
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23 23 24 25 25 25 25 24 24 24 14 14
ชั่วโมง/วัน 9 9 9 8 6 6 6 6 5 6 7 8
มม./เดือน 35 40 75 125 295 265 215 246 325 315 195 80
วัน/เดือน 4 3 6 15 19 19 17 17 19 19 14 8
แหล่งข้อมูล: [2]

ทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างมากมาย[1] แบ่งได้ดังนี้

ทรัพยากรดิน ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ดินเหนียว พบได้ในบริเวณแอ่งโคราช ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง ดินร่วน พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนบนและภาคเหนือ ดินทราย พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินอินทรีย์ พบมากในป่าพรุ เช่น ป่าพรุสิรินธร จังหวัดนราธิวาส

ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จะกระจายอยู่ประเทศ มีลักษณะแตกต่างกันตามภูมิประเทศและภูมิอากาศ มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าผลัดใบ พบได้ในทุกภูมิภาค แต่ภาคใต้พบน้อยที่สุด และป่าไม่ผลัดใบ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และบนภูเขาสูงที่มีความชุ่มชื้น เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เขาใหญ่ รามคำแหง ภูสอยดาว เป็นต้น

ทรัพยากรน้ำ ในประเทศไทยมีแหล่งน้ำสำคัญ 2 แหล่งคือ จากน้ำผิวดิน ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำต่าง ๆ ตามภูมิภาค เช่น แม่น้ำมูล ชี ปิง วัง ยม น่าน แม่กลอง ตาปี เป็นต้น และจากน้ำบาดาล

ทรัพยากรแร่ธาตุ พบอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย แตกต่างกันตามสภาพทางธรณีวิทยา เช่น สังกะสีพบมากในภาคตะวันตกและภาคเหนือ ดีบุกพบมากในภาคใต้ แร่รัตนชาติพบมากในภาคตะวันออก และแร่เชื้อเพลิง ซึ่งพบมากในอ่าวไทย เช่น แก๊สธรรมชาติ ส่วนลิกไนต์จะพบมากในภาคเหนือ

ที่สุดทางภูมิศาสตร์[แก้]

ดอยอินทนนท์
เกาะภูเก็ต

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ม.1, สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด, 2548, หน้า 24-25
  2. "Saisons et climats 2003" Hachette ISBN 2012437990
  3. 3.0 3.1 ฝ่ายกรรมวิธีข้อมูล. สถิติภูมิอากาศของประเทศไทยในคาบ 30 ปี (พ.ศ. 2504-2533). รายงานข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเลขที่ 551.582-02-2537, ISBN : 974-7554-80-1, กองภูมิอากาศ, กรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงคมนาคม

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]