ข้ามไปเนื้อหา

กรีฑาสถานแห่งชาติ (ไทย)

พิกัด: 13°44′45″N 100°31′44″E / 13.7457°N 100.5289°E / 13.7457; 100.5289
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรีฑาสถานแห่งชาติ
สนามศุภชลาศัย
ภาพถ่ายสนามกีฬาหลัก
แผนที่
ชื่อเต็มกรีฑาสถานแห่งชาติ
ชื่อเดิมสนามกรีฑาสถาน
ที่ตั้ง154 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′45″N 100°31′44″E / 13.7457°N 100.5289°E / 13.7457; 100.5289
ขนส่งมวลชน สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
เจ้าของกรมพลศึกษา และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความจุ19,793 ที่นั่ง[2]
พื้นผิวหญ้า
การก่อสร้าง
ลงเสาเข็ม10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480
ก่อสร้างพ.ศ. 2480
เปิดใช้สนามพ.ศ. 2481
ปรับปรุงพ.ศ. 2551
ต่อเติมพ.ศ. 2484
งบประมาณในการก่อสร้าง170,000 บาท[1]
สถาปนิกพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)
การใช้งาน
ฟุตบอลทีมชาติไทย
กีฬาแหลมทอง 1959
เอเชียนเกมส์ 1966
กีฬาแหลมทอง 1967
เอเชียนเกมส์ 1970
กีฬาแหลมทอง 1975
เอเชียนเกมส์ 1978
ซีเกมส์ 1985
กีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1
งานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนอาคารกรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)
ขึ้นเมื่อยังไม่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0008891

กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) เป็นศูนย์กีฬาหลัก และสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมเคยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพลศึกษา และคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งหมดสัญญาเมื่อปี พ.ศ. 2540 ในปัจจุบันกรมพลศึกษาได้ส่งคืนสถานที่บางส่วนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และใช้อาคารสถานที่ในส่วนที่ยังเช่าอยู่ เพื่อเป็นที่ทำการของกรมฯ ตลอดจนสมาคมหรือองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา และนันทนาการต่าง ๆ

กรีฑาสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของกรมพลศึกษา เลขที่ 154 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]
ไฟล์:การแข่งขันกรีฑานักเรียน.jpg
การแข่งขันกรีฑานักเรียน และมวยกลางแจ้ง ที่สนามกีฬาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

กรีฑาสถานแห่งชาติมีต้นกำเนิดจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งโดยปกติจะจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก มีดำริในการจัดหาสถานที่ตั้ง สนามกีฬากลางกรมพลศึกษา, โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (ปัจจุบันคือคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และสโมสรสถานลูกเสือ (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของคณะลูกเสือแห่งชาติ) จนกระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 29 ปี

ต่อมา เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เวลาเช้า มีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (พิธีวางศิลาฤกษ์) โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[3] ขณะเดียวกันก็ให้ย้ายการแข่งขันกรีฑานักเรียนไปจัดที่ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว ในปีต่อมา (พ.ศ. 2481) กรมพลศึกษาจึงย้ายที่ทำการเข้ามาอยู่ภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ การใช้กรีฑาสถานแห่งชาติเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ สนามกรีฑาสถานจัดสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ในราวปี พ.ศ. 2484 ซึ่งประกอบไปด้วย สนามฟุตบอลพื้นหญ้าขนาดมาตรฐานพร้อมลู่วิ่งรอบนอก, อัฒจันทร์ทิศตะวันตก จำนวน 20 ชั้น ตอนกลางมีที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ เบื้องหลังประดับตราพระมหาพิชัยมงกุฏและอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย มีหลังคารูปเพิงแหงนไม่มีเสาค้ำปกคลุมตลอดแนว และอัฒจันทร์ทิศเหนือ จำนวน 20 ชั้นเท่ากัน ส่วนด้านนอกสนาม ที่ยอดเสามุมซ้ายขวาของมุขกลาง มีรูปปั้นนูนสูงขนาดใหญ่ เป็นภาพพระพลบดีทรงช้างไอยราพต สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษา ส่วนริมสุดทางซ้ายขวา ขนาบด้วยหอคอยสองข้าง พร้อมประตูทั้งสองฝั่ง ทิศตะวันออกเรียกว่าประตูช้าง ทิศตะวันตกเรียกว่าประตูไก่ และมีห้องทำงานกับห้องน้ำอยู่ในช่วงเชื่อมต่อ ระหว่างมุขกลางและหอคอยทั้งสองข้าง ทั้งนี้ การก่อสร้างอัฒจันทร์ทิศตะวันออกและทิศใต้ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามมาในภายหลัง

ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2551 มีการปรับปรุงบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ซึ่งประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับ ในสนามศุภชลาศัย ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง หน้ามุขทางขึ้น ตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่สหราชอาณาจักร ปลูกต้นไม้รอบบริเวณสนาม ติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ทั้งหมด และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่ ในส่วนสนามเทพหัสดิน อาคารกีฬานิมิบุตร และ อาคารจันทนยิ่งยง มีการปรับปรุงตกแต่ง ทาสี ติดตั้งเก้าอี้ ทำพื้นสนามหญ้า ตลอดจนปรับปรุงพื้นถนนภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติทั้งหมด

อาคารสถานที่ภายในกรีฑาสถานแห่งชาติ

[แก้]

สนามกีฬาแห่งชาติ

[แก้]
มุขหน้าของสนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ

สนามศุภชลาศัย เป็นสนามกีฬาหลักของกรีฑาสถานแห่งชาติ มีลู่วิ่งสังเคราะห์สำหรับจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ในการแข่งขันกีฬานัดสำคัญ มีหลังคา 1 ด้าน พร้อมทั้งอัฒจันทร์โดยรอบ ปัจจุบันมีความจุผู้ชมรวม 19,793 ที่นั่ง มีชื่อเดิมว่า สนามกรีฑาสถาน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันตามชื่อของหลวงศุภชลาศัย ผู้จัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ

สนามฟุตบอลเทพหัสดิน

[แก้]

สนามฟุตบอลเทพหัสดิน เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง มีลู่วิ่งสำหรับจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ในการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาทั่วไป ความจุรวม 6,378 ที่นั่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 มีชื่อเดิมว่า สนามฮอกกี้ เนื่องจากใช้เป็นสนามแข่งขันฮอกกี้ ในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2509

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) บิดาแห่งกีฬาฟุตบอลในประเทศไทย และ นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรักษาการอธิบดีกรมพลศึกษา

สนามจินดารักษ์

[แก้]

สนามจินดารักษ์ ปัจจุบันเป็นศูนย์สาธิตและฝึกซ้อมกีฬาชายหาดแห่งชาติ ในอดีตเป็นสนามกีฬากลางแจ้ง สำหรับใช้ในการแข่งขันระดับรองและการฝึกซ้อมกีฬาทั่วไป มีชื่อเดิมว่า สนามกีฬาต้นโพธิ์ สร้างขึ้นภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง มหาเสวกโท พระยาจินดารักษ์ (จำลอง สวัสดิ์-ชูโต) อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา

สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์

[แก้]

สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ เป็นสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานแข่งขัน พร้อมทั้งหอกระโดดและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงมีอัฒจันทร์สองฝั่ง ใช้ในการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาทางน้ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยดำริของ กอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น ต่อมากรมพลศึกษาจึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมคือ สระว่ายน้ำโอลิมปิก เป็นชื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงผู้ริเริ่มจัดสร้าง

อาคารกีฬานิมิบุตร

[แก้]
อาคารกีฬานิมิบุตร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566

อาคารกีฬานิมิบุตร เป็นสนามกีฬาในร่ม สำหรับการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาในร่ม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 เพื่อให้สมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 มีชื่อเดิมว่า อาคารยิมเนเซียม 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2528 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง พลโท เผชิญ นิมิบุตร อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา

อาคารจันทนยิ่งยง

[แก้]

อาคารจันทนยิ่งยง เป็นสนามกีฬาในร่ม สำหรับการแข่งขันและฝึกซ้อมกีฬาในร่ม ตลอดจนฝึกกายบริหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 มีชื่อเดิมว่า อาคารยิมเนเซียม 2 และในปีถัดมา (พ.ศ. 2509) กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง หลวงประเวศวุฑฒศึกษา (ประเวศ จันทนยิ่งยง) อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา

สถานที่อื่น

[แก้]
  • สนามวอร์ม 200 เมตร เป็นสนามฝึกซ้อมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ระหว่างสนามศุภชลาศัย และสนามเทพหัสดิน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นสถานที่อบอุ่นร่างกายของนักกรีฑา ที่เข้าแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ตามมาตรฐานการแข่งขันกรีฑาระดับนานาชาติ
  • ลานอุทยานนันทนาการ เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมนันทนาการต่างๆ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549
  • ลานกีฬาอเนกประสงค์ เป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งอยู่หน้าอาคารกีฬานิมิบุตร

รูปแบบสถาปัตยกรรม

[แก้]

สนามศุภชลาศัยมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโค หรือ อลังการศิลป์ ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้งที่ชัดเจน กันสาดแผ่นบาง ๆ หน้าต่างเข้ามุมอาคาร หรือการออกแบบแนวเสาอิงให้แสดงออกถึงเส้นแนวตั้ง เป็นต้น[4] มีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ที่มีอาคาร เป็นรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่นเป็นมวลทึบ มีการตกแต่งอาคารด้วยองค์ประกอบของแท่งตั้งของซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ที่มีการซอยเส้นเหมือนการย่อมุมทำให้เกิดเส้นทางตั้งถี่ ๆ และปลายของแท่งทางตั้งที่โค้งน้อย ๆ ตรงปลายที่มีการซอยเส้นตามเส้นกรอบของแต่งตั้งเป็นลักษณะของอาคาร และการใช้องค์ประกอบที่หนักแน่นแต่แฝงรายละเอียดของเส้นลดหลั่นเป็นจังหวะ[5]

การแข่งขันกีฬารายการสำคัญที่ใช้งาน

[แก้]

กิจกรรมอื่น

[แก้]

คอนเสิร์ต

[แก้]

มหกรรมกีฬา

[แก้]

สถานที่สำคัญใกล้เคียง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เปิดตำนานสนามศุภชลาศัย 73 ปียังมีชีวิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2010-11-25.
  2. มีการติดตั้งเก้าอี้ในสนาม ทำให้มีความจุ 19,793 ที่นั่ง
  3. หมายกำหนดการ ที่ 13/2480 : พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ กรีฑาสถานแห่งชาติ พุทธศักราช 2480
  4. "งานสถาปัตยกรรมสมัยโมเดิร์นในประเทศไทย" (PDF). docomomothailand.
  5. ปัณฑารีย์ วิรยศิร. "พัฒนาการสถาปัตยกรรมสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ช่วงพุทธศักราช 2477-2509" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]