ภูมิอากาศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ภูมิอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้นหรือภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน ในขณะที่ภาคใต้และทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเป็นเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (Am) ทั่วประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 19-38 องศาเซลเซียส อากาศจะร้อนที่สุดช่วงกลางเดือนเมษายน หลังจากนั้น ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนและฤดูหนาวตามลำดับ พื้นที่ทั้งประเทศได้รับปริมาณฝนอย่างเพียงพอ ยกเว้นบางพื้นที่เท่านั้น แต่ระยะเวลาของฤดูฝนและปริมาณฝนมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและระดับความสูง
ปัจจัยภูมิอากาศในประเทศไทย
[แก้]แม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่อยู่ในเขตร้อน แต่ก็มีสภาพอากาศที่แตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้[1]
- ที่ตั้งตามละติจูด: ตามปกติตำแหน่งที่ตั้งที่มีค่าละติจูดต่ำจะมีอุณหภูมิสูงกว่าตำแหน่งที่ตั้งที่มีค่าละติจูดสูงกว่า เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
- ความสูงของพื้นที่: ตามปกติพื้นที่สูงจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ที่เป็นที่ราบ เช่น ยอดดอยอินทนนท์จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ล่างที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- แนวทิวเขาที่ขวางกั้นทิศทางลมประจำ: การวางตัวของทิวเขาบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ส่งผลทำให้จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี มีอุณหภูมิสูงและมีปริมาณน้ำฝนน้อย โดยเรียกพื้นที่นี้ว่า "พื้นที่อับฝน"
- ระยะห่างจากทะเล: พื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเลจะมีโอกาสได้รับความชื้นและมีฝนตกมากกว่าบริเวณที่ห่างไกลทะเลออกไป เช่น จังหวัดระนองและตราด อยู่ใกล้ทะเล และเป็นด้านรับลม จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าจังหวัดที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน
- ทิศทางของลมประจำ: บริเวณภาคตะวันออกช่วงที่ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีฝนตกชุก แต่เมื่อลมเปลี่ยนทิศเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนจะลดลงจนเห็นความแตกต่างชัดเจน
- อิทธิพลของลมพายุหมุน: ลมพายุที่พัดผ่านประเทศไทย จะนำฝนมาตกเป็นปริมาณสูงและมักเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง แต่บางปีที่มีพายุหมุนเข้าน้อยจะมีปริมาณน้ำฝนน้อย อาจถึงการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลมมรสุม
[แก้]ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมสองชนิด[2] คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
- มรสุมตะวันตกเฉียงใต้
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมประเทศไทยระหว่างกลางเดีอนพฤษภาคมถึง กลางเดือนตุลาคม โดยมีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกใต้ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็น ลมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร มรสุมนี้จะนำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย มาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเล และเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น
- มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
หลังจากหมดอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ประมาณกลางเดือนตุลาคมจะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยจนถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมนี้มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกเหนือแถบประเทศ มองโกเลียและจีน จึงพัดพาเอามวลอากาศเย็นและแห้งจากแหล่งกำเนิดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ท้องฟ้าโปร่ง อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้จะมีฝนชุกโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เนื่องจากมรสุมนี้นำความชุ่มชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุม
ฤดูกาล
[แก้]ประเทศไทยแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู[2] ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ฤดูร้อน
[แก้]เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะเดือนเมษายนบริเวณประเทศไทย มีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ สภาวะอากาศจึงร้อนอบอ้าวทั่วไป ในฤดูนี้แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงหรืออาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พายุฤดูร้อน" ลักษณะของอากาศในฤดูร้อนใช้เกณฑ์อุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวัน โดยแบ่งดังนี้
- อากาศร้อน จะมีอุณหภูมิระหว่าง 35 - 39.9 องศาเซลเซียส
- อากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ฤดูฝน
[แก้]เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติจะพาดผ่านภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับจนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน จะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง และเรียกว่าเป็น "ฝนทิ้งช่วง" ซึ่งอาจนานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรงและมีฝนน้อยนานนับเดือน ในเดือนกรกฎาคมปกติร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาทางใต้พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง จนกระทั่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยแทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณกลางเดือนตุลาคมประเทศไทยตอนบน จะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เว้นแต่ภาคใต้ยังคงมีฝนชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคมและมักมีฝนหนักถึงหนักมาก 1 - 2 สัปดาห์ จนก่อให้เกิดอุทกภัย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งจะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นฤดูฝนอาจจะช้าหรือเร็วกว่ากำหนดได้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์การพิจารณาปริมาณฝนในเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน จะนับตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึงเวลา 07.00 น. ของวันถัดไป โดยมีเกณฑ์แบ่งดังนี้
- ฝนวัดจำนวนไม่ได้: ปริมาณฝนน้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร
- ฝนเล็กน้อย: ปริมาณฝนระหว่าง 0.1 - 10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง: ปริมาณฝนระหว่าง 10.1 - 35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก: ปริมาณฝนระหว่าง 35.1 - 90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก: ปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
ฤดูหนาว
[แก้]เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือน กุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนานราว 1-2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็นหรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกลงไปซึ่งจะหมดฝน และเริ่มมีอากาศเย็นช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะของอากาศในฤดูหนาว ลักษณะของอากาศในฤดูหนาวใช้เกณฑ์อุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวัน โดยแบ่งดังนี้
- อากาศหนาวจัด จะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส
- อากาศหนาว มีอุณหภูมิระหว่าง 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส
- อากาศเย็น มีอุณหภูมิระหว่าง 16.0 - 22.9 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิ
[แก้]ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน สภาวะอากาศโดยทั่วไปจึงร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของประเทศไทยมีค่าประมาณ 27 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามอุณหภูมิจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และฤดูกาล พื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินบริเวณตั้งแต่ภาคกลาง และภาคตะวันออกตอนบนขึ้นไปจนถึงภาคเหนือจะมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาว และระหว่างกลางวันกับกลางคืน โดยในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่าย ปกติจะสูงถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบปี ส่วนฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้ามืดจะลดลงอยู่ในเกณฑ์หนาวถึงหนาวจัด โดยเฉพาะเดือนธันวาคมถึงมกราคมเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดในรอบปี ซึ่งในช่วงดังกล่าวอุณหภูมิอาจลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพื้นที่ซึ่งเป็นเทือกเขาหรือบนยอดเขาสูง สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่ติดทะเลได้แก่ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ความผันแปรของอุณหภูมิในช่วงวันและฤดูกาลจะน้อยกว่า โดยฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัดและฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัดเท่าพื้นที่ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน[2]
ภาค | ร้อน | ฝน | หนาว | ร้อน | ฝน | หนาว | ร้อน | ฝน | หนาว |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อุณหภูมิ | สูงสุด | ต่ำสุด | |||||||
เหนือ | 28.0 | 27.3 | 23.1 | 35.8 | 32.2 | 30.8 | 21.4 | 23.7 | 17.1 |
อีสาน | 28.5 | 27.7 | 23.9 | 35.0 | 32.3 | 30.3 | 23.0 | 24.2 | 18.3 |
กลาง | 29.6 | 28.3 | 26.1 | 35.5 | 32.8 | 31.7 | 24.6 | 24.8 | 21.1 |
ตะวันออก | 28.9 | 28.1 | 26.4 | 33.9 | 32.1 | 31.7 | 25.0 | 25.0 | 21.8 |
อ่าวไทย | 28.1 | 27.7 | 26.3 | 32.8 | 32.1 | 29.9 | 23.2 | 23.7 | 22.0 |
อันดามัน | 28.3 | 27.4 | 26.8 | 34.0 | 31.4 | 31.9 | 23.7 | 24.1 | 22.9 |
30 ปี 2514-2543 |
ภูมิภาค | อุณหภูมิ (°C) | วัน/เดือน/ปี | จังหวัด |
---|---|---|---|
เหนือ | 28 เมษายน 2559 | แม่ฮ่องสอน | |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | 28 เมษายน 2503 | อุดรธานี | |
กลาง | 29 เมษายน 2501 14 เมษายน 2526 14 เมษายน 2535 20 เมษายน 2535 |
กาญจนบุรี กาญจนบุรี กาญจนบุรี กาญจนบุรี | |
ตะวันออก | 23 เมษายน 2533 | อำเภอกบินทร์บุรี, ปราจีนบุรี | |
ใต้ฝั่งตะวันออก | 15 เมษายน 2541 | อำเภอหัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์ | |
ใต้ฝั่งตะวันตก | 29 มีนาคม 2535 | ตรัง | |
หมายเหตุ: เป็นข้อมูลในคาบ 60 ปี (พ.ศ. 2494 - 2556) | |||
อ้างอิง: [3] |
ภูมิภาค | อุณหภูมิ (°C) | วัน/เดือน/ปี | เมือง |
---|---|---|---|
เหนือ | 1.0 1.0 |
27 ธันวาคม 2542 2 มกราคม 2517 25 ธันวาคม 2542 |
อำเภออุ้มผาง, ตาก อำเภอเมือง, น่าน อำเภอเมือง, จังหวัดเชียงราย |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | -1.3 |
2 มกราคม 2517 2 มกราคม 2517 |
อำเภอเมือง, สกลนคร อำเภอเมือง, จังหวัดเลย |
กลาง | 27 มกราคม 2536 | อำเภอทองผาภูมิ, จังหวัดกาญจนบุรี | |
ตะวันออก | 16 มกราคม 2506 | อำเภออรัญประเทศ, จังหวัดสระแก้ว | |
ใต้ฝั่งตะวันออก | 26 ธันวาคม 2542 | อำเภอหัวหิน, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | |
ใต้ฝั่งตะวันตก | 21 มกราคม 2499 | อำเภอเมือง, จังหวัดระนอง | |
หมายเหตุ: ข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 | |||
อ้างอิง: [3] สถิติภูมิอากาศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 เก็บถาวร 2020-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
ภูมิภาค | อุณหภูมิ (°C) | วัน/เดือน/ปี | เมือง |
---|---|---|---|
เหนือ | -12 -4 |
22 มกราคม 2542 22 มกราคม 2542 24 มกราคม 2557 |
ยอดดอยหลวงเชียงดาว,อำเภอเชียงดาว, จังหวัดเชียงใหม่ จุดสูงสุดแดนสยาม, ยอดดอยอินทนนท์, อำเภอจอมทอง, จังหวัดเชียงใหม่ กิ่วแม่ปาน, ดอยอินทนนท์, อำเภอจอมทอง, จังหวัดเชียงใหม่ |
เหนือตอนล่าง | 24 มกราคม 2557 | หมูบ้านร่องกล้า, อำเภอนครไทย, จังหวัดพิษณุโลก | |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | -3 |
24 มกราคม 2557 29 ธันวาคม 2556 |
เส้นทางผาหล่มสัก-ลิงก์ ทอ., ภูกระดึง, อำเภอภูกระดึง, จังหวัดเลย ยอดภูเรือ, อำเภอภูเรือ, จังหวัดเลย |
ใต้ | 27 ธันวาคม 2555 | ภูผาหมอก, อำเภอย่านตาขาว, จังหวัดตรัง | |
หมายเหตุ: ข้อมูลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 - ปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง] |
- วันที่ 24 มกราคม 2557 เส้นทางผาหล่มสัก-ลิงก์ ทอ. ภูกระดึง จังหวัดเลย สามารถวัดอุณหภูมิยอดหญ้าได้ที่ติดลบ-6องศา ในเวลาตี5ครึ่ง เกิดแม่คะนิ้งเป็นบริเวณกว้าง
- วันที่ 24 มกราคม 2557 หมู่บ้านร่องกล้า ใกล้อุทยาแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สามารถวัดอุณหภูมิยอดหญ้าได้ติดลบ-4องศา เกิดแม่คะนิ้งเป็นบริเวณกว้าง (จังหวัดพิษณุโลกอยู่ระหว่างภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน เพื่อลดความกำกวมระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ)
ปริมาณฝน
[แก้]โดยทั่วไปประเทศไทยมีฝนอยู่ในเกณฑ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณฝน 1,200–1,600 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณฝนรวมตลอดปีเฉลี่ยทั่วประเทศมีค่า 1,587.7 มิลลิเมตร ปริมาณฝนในแต่ละพื้นที่ผันแปรไปตามลักษณะภูมิประเทศ นอกเหนือจากการผันแปรตามฤดูกาล บริเวณประเทศไทยตอนบนปกติจะแห้งแล้งและมีฝนน้อยในฤดูหนาว เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนปริมาณฝน จะเพิ่มขึ้นบ้างพร้อมทั้งมีพายุฟ้าคะนอง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นมาก โดยจะมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน พื้นที่ที่มีปริมาณฝนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหน้าทิวเขา หรือด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ พื้นที่ทางด้านตะวันตกของประเทศและบริเวณภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีปริมาณฝนรวมตลอดปีมากกว่า 4,000 มิลลิเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีฝนน้อยส่วนใหญ่อยู่ด้านหลังเขา ได้แก่พื้นที่บริเวณตอนกลางของภาคเหนือและภาคกลาง และบริเวณด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนชุกเกือบตลอดปียกเว้นช่วงฤดูร้อน พื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออกในช่วงฤดูฝน โดยมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนกันยายน ส่วนช่วงฤดูหนาวบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีปริมาณฝนมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน พื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากที่สุดของภาคใต้อยู่บริเวณจังหวัดระนอง ซึ่งมีปริมาณฝนรวมตลอดปีมากกว่า 4,000 มิลลิเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีฝนน้อยได้แก่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ด้านหลังทิวเขาตะนาวศรี บริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์[2]
ภาค | ฤดูร้อน (มม.) | ฤดูฝน (มม.) | ฤดูหนาว (มม.) | จำนวนวันฝนตกใน 1 ปี |
---|---|---|---|---|
เหนือ | 187.3 | 943.2 | 100.4 | 122 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | 224.4 | 1,103.8 | 76.3 | 116 |
กลาง | 205.4 | 942.5 | 127.3 | 116 |
ตะวันออก | 277.3 | 1,433.2 | 178.4 | 130 |
ใต้ฝั่งตะวันออก | 229.0 | 608.0 | 827.9 | 145 |
ใต้ฝั่งตะวันตก | 411.3 | 1,841.3 | 464.6 | 178 |
หมายเหตุ: ค่าเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ. 2524–2553) อ้างอิง:[2] |
ความชื้นสัมพัทธ์
[แก้]ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีอากาศร้อนชื้นปกคลุมเกือบตลอดปี เว้นแต่บริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปความชื้นสัมพัทธ์จะลดลงชัดเจนในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน โดยเฉพาะฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่ความชื้นสัมพัทธ์ลดลงต่ำสุดในรอบปี ในบริเวณดังกล่าวมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 73–75 % และจะลดลงเหลือ 64–69 % ในช่วงฤดูร้อน และเคยมีความชื้นสัมพัทธ์ลดลงต่ำที่สุดเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ที่จังหวัดเลย และเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2533 ที่จังหวัดเชียงราย ส่วนบริเวณที่อยู่ติดฝั่งทะเลได้แก่ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า โดยเฉพาะภาคใต้มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 79–80 %[2]
ภาค | ฤดูร้อน | ฤดูฝน | ฤดูหนาว | ตลอดปี |
---|---|---|---|---|
เหนือ | 63 | 81 | 74 | 74 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | 66 | 80 | 69 | 73 |
กลาง | 68 | 78 | 70 | 73 |
ตะวันออก | 75 | 81 | 71 | 76 |
ใต้ฝั่งตะวันออก | 78 | 79 | 81 | 79 |
ใต้ฝั่งตะวันตก | 77 | 84 | 78 | 80 |
หมายเหตุ: ค่าเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ. 2524–2553) หน่วยเปอร์เซ็นต์ อ้างอิง:[2] |
เมฆ
[แก้]ในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงต้นฤดูร้อน (พฤศจิกายนถึงมีนาคม) ปกติประเทศไทยจะมีท้องฟ้าโปร่ง และมีเมฆปกคลุมน้อยกว่าช่วงอื่น ๆ ของปี เมฆที่ปกคลุมในช่วงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเมฆชั้นสูง และมีเมฆก่อตัวในทางตั้ง เช่นเมฆคิวมูลัสหรือเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองได้บ้าง โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปถึงพฤษภาคม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนส่วนใหญ่ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก หรือมีเมฆเต็มท้องฟ้า เว้นแต่ในช่วงฝนทิ้งประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมอาจมีโอกาสที่จะมีท้องฟ้าโปร่งได้[2]
พายุฟ้าคะนอง
[แก้]ประเทศไทยตอนบนมีโอกาสเกิดพายุฟ้าคะนองมากในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดพายุฟ้าคะนองได้มาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว จึงมีการยกตัวขึ้นของมวลอากาศ และอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมา ในขณะที่มวลอากาศร้อนปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและเย็น ซึ่งในกรณีที่มีพายุฟ้าคะนองรุนแรงอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนภาคใต้เกิดขึ้นได้มากในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน[2]
ลมผิวพื้น
[แก้]ลมผิวพื้นที่พัดปกคลุมประเทศไทยผันแปรไปตามฤดูกาล ในฤดูหนาวหรือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนใหญ่เป็นลมฝ่ายเหนือและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ลมที่พัดปกคลุมส่วนใหญ่เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออก ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นลมตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้ สำหรับช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ลมแปรปรวน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ ่โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนมักมีลมฝ่ายใต้พัดปกคลุม[2]
พายุหมุนเขตร้อน
[แก้]ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกคืออ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน โดยพายุมีโอกาสเคลื่อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้เข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกมากกว่าทางตะวันตก ปกติประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ลูกต่อปี บริเวณที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุดคือภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ในระยะต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมเป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ ต่อมาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีที่พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ แต่มีโอกาสน้อยและเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 55 ปี (พ.ศ. 2494 - 2555) พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปพายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมพายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด และเดือนกันยายนถึงตุลาคมพายุมีโอกาสเคลื่อนเข้ามาได้ในทุกพื้นที่ โดยเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน ในสองเดือนนี้เป็นระยะที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้มากโดยเฉพาะเดือนตุลาคม มีสถิตเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปีสำหรับช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนเดือนพฤศจิกายน พายุจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนได้น้อยลง และมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้มากขึ้น เมื่อถึงเดือนธันวาคมพายุมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้เท่านั้น โดยไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนอีก พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามข้อตกลง ระหว่างประเทศโดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุดังนี้
- พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่งโมง)
- พายุโซนร้อน (Tropical strom) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่งโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (Typhoon, Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เพราะพื้นดินและเทือกเขาของประเทศพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชาที่ล้อมรอบประเทศไทยตอนบน เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความรุนแรงของพายุก่อนที่จะเคลื่อนมาถึงประเทศไทย ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากลมแรง จึงน้อยกว่าภาคใต้ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่เปิดสู่ทะเล พายุที่เคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยและขึ้นฝั่งภาคใต้ขณะมีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อน หรือไต้ฝุ่นจะมีผลกระทบเป็นอย่างมากจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ลมที่พัดแรงจัด และฝนที่ตกหนักถึงหนักมากจนเกิดอุทกภัย รวมทั้งคลื่นลมแรงในอ่าวไทย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้น 3 ครั้งในอดีต ได้แก่พายุโซนร้อนแฮเรียต ที่เคลื่อนเข้าสู่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2505 พายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดา ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะมีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540[2]
ภาค | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | รวม |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เหนือ | - | - | - | - | 5 | 2 | 9 | 17 | 23 | 15 | 1 | - | 72 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | - | - | - | - | 1 | 6 | 4 | 17 | 28 | 22 | 4 | - | 82 |
กลาง | - | - | - | - | 2 | 1 | 1 | - | 7 | 9 | 2 | - | 22 |
ตะวันออก | - | - | - | - | 1 | 1 | 1 | - | 3 | 13 | 2 | - | 21 |
ใต้ | - | - | - | 1 | - | - | - | - | 3 | 15 | 24 | 8 | 50 |
หมายเหตุ: เป็นสถิติในคาบ 62 ปี (พ.ศ. 2494 - 2555) | |||||||||||||
อ้างอิง: [4] |
ความถี่ของพายุหมุนที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย
[แก้]จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 48 ปี มีจำนวนทั้งหมด 164 ลูก[5] เมื่อนำมาหาความถี่ที่พายุแต่ละลูกเคลื่อนผ่านในแต่ละพื้นที่ พบว่าบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มีพายุเคลื่อนผ่าน 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดจำนวน 164 ลูก รองลงมาคือพื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหาร สกลนคร หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภูและเลย มีพายุเคลื่อนผ่าน 15 - 20 เปอร์เซนต์ของจำนวนพายุทั้งหมด
- การวัดสถิติพายุแบ่งตามเดือน
- พฤษภาคม พายุส่วนใหญ่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตกของประเทศ บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือพื้นที่ของภาคเหนือตอนบนในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน และพื้นที่ของภาคกลางในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ต่อเนื่องกับจังหวัดตากและอุทัยธานี โดยคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมซึ่งมีทั้งหมด 6 ลูก
- มิถุนายน ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งในเดือนนี้บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณจังหวัดนครพนม หนองคายและตอนบนของสกลนคร โดยคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนมิถุนายนซึ่งมีทั้งหมด 6 ลูก
- สิงหาคม บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดน่าน พะเยา แพร่ ลำปาง เชียงรายและเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภูและเลย โดยคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนสิงหาคมซึ่งมี 18 ลูก
- กันยายน เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามาในภาคใต้ตอนบน แต่ยังมีโอกาสน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านยังคงเป็นประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ และพิษณุโลกมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้ามาในเดือนนี้ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 39 ลูก
- ตุลาคม เป็นเดือนที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านประเทศไทยได้ทั้งในประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ โดยในเดือนนี้พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างได้บ้างแต่มีโอกาสน้อย ส่วนบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งหมด ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่างต่อเนื่องถึงภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้ซึ่งมีจำนวน 48 ลูก
- พฤศจิกายน พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ได้มากกว่าประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้ซึ่งมีจำนวน 28 ลูก บริเวณที่พายุเคลื่อนผ่านได้มากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ พื้นที่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสงขลา ซึ่งมีศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่าน 10 - 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริเวณประเทศไทยตอนบน ยังมีบางพื้นที่ที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อกับภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว มีพายุเคลื่อนผ่าน 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมด
- ธันวาคม เดือนนี้เป็นเดือนที่ไม่มีพายุเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนพายุทั้งหมด จะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านบริเวณจังหวัดสงขลาและพัทลุงมากที่สุด คือ 75 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้จำนวน 7 ลูกด้วยกัน
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ม.1, สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด, 2548, หน้า 24-25
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 วิรัช มณีสาร, เรือโท. ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะอากาศตามฤดูกาลของภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย. เอกสารวิชาการเลขที่ 551.582-02-2538, ISBN 974-7567-25-3, กันยายน 2538
- ↑ 3.0 3.1 ฝ่ายกรรมวิธีข้อมูล. สถิติภูมิอากาศของประเทศไทยในคาบ 30 ปี (พ.ศ. 2504-2533). รายงานข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเลขที่ 551.582-02-2537, ISBN : 974-7554-80-1, กองภูมิอากาศ, กรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ↑ กลุ่มภูมิอากาศ, สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา, กรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. 2552.
- ↑ ความรู้อุตุนิยมวิทยา - เปอร์เซ็นต์ความถี่ที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ของประเทศไทย จากกรมอุตุนิยมวิทยา, กระทรวงคมนาคม.