คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย)
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 200 ถึง 214 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 273 ได้กำหนดให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่ต่อไปและให้การพ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปีจจุบัน นาย สุทธิรักษ์ ทรงศิวิไล เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
[แก้]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 200 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้
- ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวน 3 คน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน
ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา[1]
อีกทั้งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2560 ให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หากในกรณีพ้นจากตำแหน่งจากการครบวาระ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ[2] ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดว่าตุลาการที่หมดวาระแล้วให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้วเสร็จ
รายชื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
[แก้]ลำดับ | ชื่อ - สกุล | ที่มา | การดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ | หมายเหตุ | ||
---|---|---|---|---|---|---|
เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | พ้นจากตำแหน่ง | ||||
1 | นุรักษ์ มาประณีต | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 9 กันยายน พ.ศ. 2557 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 | ครบวาระ | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
2 | วรวิทย์ กังศศิเทียม | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด | 1 เมษายน พ.ศ. 2563 | 18 มีนาคม พ.ศ. 2567 | ครบวาระ | |
3 | นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ | ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น | 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 | อยู่ในวาระ | *เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2567 | |
แหล่งอ้างอิง : [3][4][5] |
รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
[แก้]ชื่อ - สกุล | ที่มา | การดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ | หมายเหตุ | ||
---|---|---|---|---|---|
เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | พ้นจากตำแหน่ง | |||
ชัช ชลวร | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 | ครบวาระ | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล | ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 | ครบวาระ | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
บุญส่ง กุลบุปผา | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 | ครบวาระ | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
อุดมศักดิ์ นิติมนตรี | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563 | ลาออก | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ | ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ | 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556 | 27 มกราคม พ.ศ. 2566 | ครบวาระ | * ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ |
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ | ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 | 18 มีนาคม พ.ศ. 2567 | เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ | |
ดร.ปัญญา อุดชาชน | ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 | อยู่ในวาระ | ||
เรือโท อุดม สิทธิวิรัชธรรม | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 1 เมษายน พ.ศ. 2563 | อยู่ในวาระ | อดีตนายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ | |
วิรุฬห์ แสงเทียน | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 1 เมษายน พ.ศ. 2563 | อยู่ในวาระ | ||
ศ.(พิเศษ) ดร. จิรนิติ หะวานนท์ | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา | 1 เมษายน พ.ศ. 2563 | อยู่ในวาระ | ||
นภดล เทพพิทักษ์ | ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ | 1 เมษายน พ.ศ. 2563 | อยู่ในวาระ | ||
บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563 | อยู่ในวาระ | ||
ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต | ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ | 28 มกราคม พ.ศ. 2566 | อยู่ในวาระ | ||
สุเมธ รอยกุลเจริญ | คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด | 19 มีนาคม พ.ศ. 2567[6] | อยู่ในวาระ | ||
แหล่งอ้างอิง : [3][7][8][9][10] |
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
[แก้]ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
[แก้]วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "เอกฉันท์" ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และคณะกรรมการบริหารพรรคถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากการที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค[11] ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
[แก้]วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็น "เอกฉันท์" วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"[12]
การพ้นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
[แก้]วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่านาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ส่งผลให้เป็นผู้ลักษณะต้องห้ามไม่ให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย[13]
ยุบพรรคอนาคตใหม่
[แก้]วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท[14] และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 [15] และมาตรา 92 วรรคสอง ประกอบหนึ่ง (3)[14]
คดีพักบ้านหลวงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
[แก้]วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก ปี พ.ศ. 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ "เพื่อสร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม"[16]
การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็น "การล้มล้างการปกครองฯ"
[แก้]วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียง 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มี "เจตนาซ่อนเร้นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป"[17] ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้อง (อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งการให้ผู้ถูกร้อง 3 คน คือ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมทั้งกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย[18]
ศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในเวทีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์[18]
การขัดรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448
[แก้]วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการรับรองสมรสเฉพาะชายและหญิงนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาค แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป[19]
วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
[แก้]วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ที่ขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี[20]
จากนั้นวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้[21]
การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
[แก้]วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ชี้ขาดคำว่า “ราษฎร” ไม่ได้หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566[22]
การพ้นสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา
[แก้]ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนพ้นสมาชิกภาพ เช่น สิระ เจนจาคะ หลังถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลในคดีฉ้อโกง[23] รวมทั้งชุมพล จุลใส, อิสสระ สมชัย, ถาวร เสนเนียม, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล[24] [25] ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เนื่องจากกรณีถือครองหุ้นสื่อ[26] เทพไท เสนพงศ์ หลังถูกศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัดสินให้มีความผิด คดีทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2557[27] สำลี รักสุทธี เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาเกี่ยวกับทรัพย์[28] และระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา เหตุเคยถูกไล่ออกจากราชการ เข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง[29]
แหล่งอ้างอิง
[แก้]- ↑ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน?". workpointTODAY. 24 พฤษภาคม 2562 สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2566
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ , เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๑๐๙ ง หน้า ๒๑, ๒๐ เม.ย. ๒๕๖๐
- ↑ 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [จำนวน ๕ ราย ๑. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ฯลฯ], เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๗๙ ง หน้า ๑, ๖ เม.ย. ๒๕๖๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๘๔ ง หน้า ๑, ๑๘ ก.ย. ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. เล่ม 141 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 1 วันที่ 22 มีนาคม 2567.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. เล่ม 141 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 1 วันที่ 22 มีนาคม 2567.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์], เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๓๑๐ ง หน้า ๑, ๒๕ พ.ย. ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [นายปัญญา อุดชาชน] , เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๓๒๒ ง หน้า ๑, ๔ ธ.ค. ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์], เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๙๖ ง หน้า ๑, ๒๖ ส.ค. ๒๕๖๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [นายอุดม รัฐอมฤต] , เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒๑ ง หน้า ๑, ๓๐ ม.ค. ๒๕๖๖
- ↑ "มติเอกฉันท์ศาล รธน. สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันฯ". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "ธนาธร-ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดคำวินิจฉัย-คำโต้แย้ง กรณีหุ้นสื่อ". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ 14.0 14.1 "ด่วน! ยุบพรรค "อนาคตใหม่" ตัดสิทธิการเมือง กก.บห.10 ปีปมเงินกู้". Thai PBS.
- ↑ "อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับ "ข้อต่อสู้หลัก" ที่ทำ พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิด "คดีพักบ้านหลวง"". BBC News ไทย. 2020-12-02.
- ↑ "ฉากทัศน์การเมืองไทยหลังคำวินิจฉัยศาล รธน. กรณี ชุมนุม 10 ส.ค. 63". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ 18.0 18.1 "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชุมนุม 10 สิงหา 63 "ล้มล้างการปกครอง"". BBC News ไทย. 2021-11-10.
- ↑ "ศาลฯ วินิจฉัย ป.พ.พ.1448 สมรสได้แค่ชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ '#สมรสเท่าเทียม' ติดเทรนด์ทวิต". workpointTODAY.
- ↑ "8 ปี ประยุทธ์ : ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความ "นายกฯ 8 ปี" สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประวิตรรักษาการแทน". BBC News ไทย. 2022-08-24.
- ↑ "เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปต่อ ด้วยมติ 6:3 ชี้เป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี". BBC News ไทย. 2022-09-30.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย". BBC News ไทย. 2023-03-03.
- ↑ "ลำดับความเป็นมาคดีฉ้อโกง ก่อนศาลรัฐธรรมนูญสั่ง สิระ เจนจาคะ พ้น ส.ส." BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "เปิด 7 ข้อโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "ฟังไม่ขึ้น" ก่อนสั่ง 5 อดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส." BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ให้ 5 อดีตแกนนำ กปปส. พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส." www.thairath.co.th. 2021-12-08.
- ↑ "ศาล รธน. ตัดสิน"กอล์ฟ ธัญญ์วาริน" ส.ส. LGBT ก้าวไกล พ้นสมาชิกภาพ". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "ศาล รธน.วินิจฉัย 'เทพไท' พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ปชป.ให้เลือกตั้งใหม่ใน 45 วัน". www.thairath.co.th. 2021-01-27.
- ↑ "ศาลรธน. วินิจฉัย 'สำลี รักสุทธี' พ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย เหตุเคยต้องคำพิพากษา". workpointTODAY.
- ↑ ""ระวี รุ่งเรือง" หลุดเก้าอี้ ส.ว. ศาล รธน.ชี้เคยถูกไล่ออกจากราชการ ขาดคุณสมบัติ". mgronline.com. 2020-06-10.