มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
Chiang mai University | |
ตราช้างชูคบเพลิง สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อย่อ | มช. / CMU [1] |
---|---|
คติพจน์ | บาลี: อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา (บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน) |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 22 มกราคม พ.ศ. 2507 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 5,942,337,000 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย |
อธิการบดี | ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล |
อาจารย์ | 2,452 คน (พ.ศ. 2566) |
บุคลากรทั้งหมด | 14,000 คน (พ.ศ. 2562) |
ผู้ศึกษา | 38,180 คน (พ.ศ. 2565)[3] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | พื้นที่และศูนย์การศึกษา 5
|
เพลง | ร่มแดนช้าง ร่มแก้วถิ่นขวัญ |
ต้นไม้ | ต้นทองกวาว |
สี | สีม่วงดอกรัก |
ฉายา | ลูกช้างมอชอ |
เครือข่าย | AUN, ASAIHL |
มาสคอต | ช้างเผือก |
วารสาร | ทองกวาว |
หนังสือพิมพ์ | อ่างแก้ว |
เบอร์โทรศัพท์ | 053941000 |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อังกฤษ: Chiang Mai University; อักษรย่อ: มช. : คำเมือง:) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคและเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่หกของประเทศไทย[4] ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2507[5] ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551[6]
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการจัดการศึกษาและการวิจัยครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ใน 21 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย และ 8 สถาบัน[7]โดยมีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะจำนวน 340 หลักสูตร ในระดับปริญญาตรี มีการจำแนกหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข และหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ และแบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ[8][9]
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในส่วนภูมิภาคแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนชาวเชียงใหม่นำโดย นายกีและนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้เรียกร้องให้มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นในส่วนภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างหนัก และส่วนหนึ่งของการแสดงการเรียกร้องในครั้งนั้นคือ การแสดงความคิดเห็นเรียกร้องผ่านการพิมพ์บัตรต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายให้นักเรียน และประชาชน ดังต่อไปนี้[10]
- บัตรแสตมป์ ซึ่งมีข้อความว่า "เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย" โดยให้นำไปติดไว้บนซองจดหมายคู่กับดวงตราไปรษณีย์หรือติดไว้บนเอกสารทั่วไปตามที่เห็นสมควร
- บัตรวงกลม มีข้อความว่า "ในภาคเหนือ เราต้องการ มหาวิทยาลัย " และ "โปรดร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งมหาวิทยาลัย ประจำภาคเหนือ" ติดตามที่ต่าง ๆ
- บัตรห่วง เป็นบัตรที่มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนและประชาชน ส่งบัตรห่วงนี้ไปให้ญาติมิตรคนรู้จักแล้วให้ส่งบัตรห่วงนี้กระจายเพิ่มขึ้นไปทั่วประเทศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เรา ประชาชนคนภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นว่าการจัดให้มีสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นในลานนาไทยนั้นเป็นความจำเป็นอย่างรีบด่วน เราเชื่อว่าอนาคตและความวัฒนาสถาพรของลานนาไทยนั้นขึ้นอยู่ที่แรงปณิธานของลูกลานนาไทยทุกคน ...เราจึงขอให้สัจจปฏิญญาณไว้ ณ ที่นี้ว่า เราจะขอสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย..."
ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่าจะดำเนินการ "พัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาขั้นสูง" และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[11]เป็นประธาน ในการประชุมครั้งนั้นหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[12] ได้บันทึกไว้ว่า "การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ ...ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง..."[13]
เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503[14] และมอบหมายให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2506 ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้บันทึกเกี่ยวกับการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยไว้ใน บันทึกของปม. ความตอนหนึ่งว่า "...ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้สั่งไว้ว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลปฏิวัติให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ปฏิวัติงานให้เข้าสู่สภาพที่ควรในทุกๆกรณี ถ้าเราเรียกชื่อมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะเป็นการปฏิวัติแล้ว คือเรียกชื่อมหาวิทยาลัยตามชื่อเมือง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมาก ขออย่าให้ใครมาแก้ไขเป็นอย่างอื่นเลย..."[15] ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ณ จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีชื่อว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พุทธศักราช 2507 เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2507 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[16]จึงถือว่าวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย คือ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 มีผลบังคับใช้ และได้ดำเนินการเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 และต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 ซึ่งชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือว่าเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย[17]
พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าตราของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรจะมีคำขวัญหรือสุภาษิตกำกับไว้ จึงมอบหมายให้ ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม กราบนมัสการขอพุทธภาษิตจากท่านเจ้าคุณ พระสาสนโสภณ[18] เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร) และได้เลือกพุทธภาษิตบทที่ว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” แปลว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน เป็นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดให้คำขวัญนี้อยู่ในตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน[19]
ในระยะเริ่มต้นได้เปิดดำเนินการสอน 3 คณะ ที่เป็นรากฐานของทุกสาขาวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ในปีการศึกษา 2511 ได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2513 ได้จัดตั้งคณะใหม่อีก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จึงได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะคือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้น และตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นหน่วยประสานงานด้านการเรียนการสอนและมาตรฐานหลักสูตรขั้นบัณฑิตศึกษามีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งแต่การดำเนินงานด้านการสอนและการวิจัยซึ่งกระทำโดยคณาจารย์ของคณะ และได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2526 ในปี 2536 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มอีก 1 คณะ คือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 17 ในปีพ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งอีกสองคณะ และหนึ่งวิทยาลัยคือ คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี และในปีพ.ศ. 2549 ได้จัดตั้งคณะที่ 20 คือ คณะนิติศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2550 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551[20] ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 มีมติให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหมี เป็นกรรมการในคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
[แก้]-
ตราช้างชูคบเพลิง
ตราประจำมหาวิทยาลัย -
ทองกวาว
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นรูปช้างชูคบเพลิงมีสุภาษิตเป็นภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” อยู่ในกรอบเส้นรอบวงด้านบนและคำว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507” อยู่ด้านล่างตรงกลาง ระหว่างข้อความทั้งสองนี้ มี “ดอกสัก” คั่นกลางปรากฏอยู่ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งมีความหมายดังนี้[21]
- ช้าง เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าสูงมากในภาคเหนือ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ
- การก้าวย่างของช้าง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ไม่หยุดยั้ง
- คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ
- รัศมี 8 แฉก หมายถึง คณะทั้ง 8 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พุทธสุภาษิต “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
- ดอกสัก ปรากฏอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีค่าและมีความอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือ ดอกสักเป็นดอกไม้ขนาดเล็กและอยู่ในพวงใหญ่ มีสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 6 กลีบ
ทั้งนี้ในตอนแรก ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เสนอให้ตรามหาวิทยาลัยเป็นรูปเก้งเผือกสองแม่ลูก ยืนกลางเนินหญ้าคา พื้นหลังเป็นดอยสุเทพ ซึ่งอิงตามตำนานการสร้างเวียงเชียงใหม่ของพญามังราย[22] แต่ข้อเสนอของเขาไม่ได้รับการพิจารณา
การบริหารงาน
[แก้]นายกสภามหาวิทยาลัย
[แก้]นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้
อธิการบดี
[แก้]อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มาจากการเสนอชื่อ 2 ทาง คือ 1) การสมัครของผู้ที่มีความสนใจ และ 2) การเสนอชื่อ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดให้มีการรับสมัครและการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[25]
การสรรหาอธิการบดีมีระบุในข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ตอนหนึ่งว่า "ห้ามมีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียง หากเจ้าหน้าที่คนใดกระทำหรือสนับสนุน จะมีความผิดทางวินัย หน่วยงานต่าง ๆ ให้ใช้วิธีการเสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือเท่านั้น"[26] ในเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ลงว่า การหยั่งเสียงทำให้เกิดความแตกแยกเพราะมีการหาเสียงโจมตีกันเพื่อเรียกความนิยม ประกอบกับมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ว่า "การหยั่งเสียงสามารถทำได้ [...] และผลการหยั่งเสียงที่ได้ดังกล่าวไม่ให้นำมาเป็นเกณฑ์ชี้ขาดในการพิจารณา ทั้งในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาและของสภามหาวิทยาลัย"[27]
กระบวนการดังกล่าวได้กลายมาเป็นประเด็น หลังมีอาจารย์คณะนิติศาสตร์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกข้อบังคับการสรรหาอธิการบดีดังกล่าว แต่ต่อมาถอนฟ้องหลังมีการยกเลิกข้อบังคับดังกล่าว[28] ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องจากนักศึกษาและอาจารย์ส่วนหนึ่งให้ใช้วิธีหยั่งเสียงแทนการสรรหา[29]
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้
การศึกษา
[แก้]มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจำนวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 35,059 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2560) จำแนกตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต โดยมีคณะที่เปิดสอนจำนวนทั้งสิ้น 21 คณะ 3 วิทยาลัย 2 สถาบันและ 1 บัณฑิตวิทยาลัย ได้แก่
คณะวิชาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน | ก่อตั้ง | ที่ตั้ง | สีประจำคณะ | กลุ่มคณะ | ||||
คณะการสื่อสารมวลชน
Faculty of Mass Communication |
MASSCOMM | 19 ปี | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 | สวนสัก | สีเทาเมทัลลิค |
มนุษยศาสตร์ | ||
คณะนิติศาสตร์
Faculty of Law |
น. LW |
18 ปี | 25 มีนาคม พ.ศ. 2549 | สวนสัก | สีม่วง |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะบริหารธุรกิจ
Chiang Mai University Business School |
บธ. CMUBS |
32 ปี | 19 ธันวาคม พ.ศ. 2535 | สวนสัก | เทาอมฟ้า |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะมนุษยศาสตร์
Faculty of Humanities |
มน. HU |
60 ปี | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 | สวนสัก | สีขาว |
มนุษยศาสตร์ | ||
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
Faculty of Political Science and Public Administration |
ร. POL |
19 ปี | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2548 | สวนสัก | สีกรมท่า |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะวิจิตรศิลป์
Faculty of Fine Arts |
ว. FA |
41 ปี | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 | สวนสัก | สีแดงชาด |
มนุษยศาสตร์ | ||
คณะศึกษาศาสตร์
Faculty of Education |
ศษ. EDU |
56 ปี | 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 | สวนสัก | สีฟ้าอ่อน |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะเศรษฐศาสตร์
Faculty of Economics |
ศ. ECON |
32 ปี | 28 สิงหาคม พ.ศ. 2535 | สวนสัก | สีบานเย็นแก่ |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะสังคมศาสตร์
Faculty of Social Sciences |
สศ. SOC |
60 ปี | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 | สวนสัก | สีฟ้าแก่ |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะเกษตรศาสตร์
Faculty of Agriculture |
กษ. AG |
57 ปี | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 | สวนสัก | สีเหลืองข้าวโพด |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะวิทยาศาสตร์
Faculty of Science |
วท. SCI |
60 ปี | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 | สวนสัก | สีเหลือง |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะวิศวกรรมศาสตร์
Faculty of Engineering |
วศ. ENG |
54 ปี | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2513 | สวนสัก | สีเลือดหมู |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
Faculty of Architecture |
สถ. ARCH |
24 ปี | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2543 | สวนสัก | สีเหลืองทราย |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะอุตสาหกรรมเกษตร
Faculty of Agro-Industry |
AGRO | 32 ปี | 18 ธันวาคม พ.ศ. 2535 | สวนสัก | สีทอง |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
College of Arts Media and Technology |
CAMT | 21 ปี | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2546 | สวนสัก | สีรำข้าว |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล
College of Marine Studies and Management |
Maritime | 7 ปี | 25 มีนาคม พ.ศ. 2560 | สมุทรสาคร | วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | |||
สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์
Biomedical Engineering Institute |
BMEI | 18 ปี | 2549 | สวนสัก | วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | |||
คณะเทคนิคการแพทย์
Faculty of Associated Medical Sciences |
ทนพ. AMS |
48 ปี | 22 มกราคม พ.ศ. 2519 | สวนดอก | สีน้ำเงิน |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะทันตแพทยศาสตร์
Faculty of Dentistry |
ทพ. DENT |
52 ปี | 31 มีนาคม พ.ศ. 2515 | สวนดอก | สีม่วงแก่ |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะแพทยศาสตร์
Faculty of Medicine |
พ. MED |
65 ปี | 28 ตุลาคม พ.ศ. 2502 | สวนดอก | สีเขียวแก่ |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะพยาบาลศาสตร์
Faculty of Nursing |
พยบ. NU |
52 ปี | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2515 | สวนดอก | สีแสด |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะเภสัชศาสตร์
Faculty of Pharmacy |
ภ. PHA |
58 ปี | 22 มกราคม พ.ศ. 2509 | สวนดอก | สีเขียวมะกอก |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะสัตวแพทยศาสตร์
Faculty of Veterinary Medicine |
สพ. VET |
30 ปี | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2537 | สวนดอก | สีฟ้าหม่น |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะสาธารณสุขศาสตร์
Faculty of Public Health |
สธ. PH |
7 ปี | 25 มีนาคม พ.ศ. 2560 | สวนดอก | สีเขียวใบตองอ่อน |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล
International College of Digital Innovation |
ICDI | 13 ปี | 2554 | สวนสัก | สหวิทยาการ | |||
สถาบันนโยบายสาธารณะ
School of Public Policy |
SPP | สวนสัก | สหวิทยาการ | |||||
บัณฑิตวิทยาลัย
Graduate School |
บว. GS |
42 ปี | 2525 | สวนดอก | สีบานเย็น |
สหวิทยาการ |
-
ด้านหน้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ -
ตึกคณะแพทยศาสตร์ -
ตึกคณะวิทยาศาสตร์ -
ตึกคณะมนุษยศาสตร์ -
สำนักหอสมุด -
ตึกสถาบันภาษา
ลำดับการก่อตั้งคณะ
[แก้]หลักสูตรในระดับปริญญาตรีมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน โดยลำดับการก่อตั้งคณะต่างๆ เป็นไปตามตารางด้านล่าง
พ.ศ. | คณะ |
---|---|
2502 | คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์† (ย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2508) |
2507 | คณะมนุษยศาสตร์ • คณะสังคมศาสตร์ • คณะวิทยาศาสตร์ |
2510 | คณะเกษตรศาสตร์ |
2511 | คณะศึกษาศาสตร์ |
2513 | คณะวิศวกรรมศาสตร์ |
2515 | คณะเภสัชศาสตร์ • คณะทันตแพทยศาสตร์ |
2518 | คณะพยาบาลศาสตร์ |
2519 | คณะเทคนิคการแพทย์ |
2525 | บัณฑิตวิทยาลัย |
2526 | คณะวิจิตรศิลป์ |
2537 | คณะสัตวแพทยศาสตร์ |
2538 | คณะเศรษฐศาสตร์ • คณะบริหารธุรกิจ • คณะอุตสาหกรรมเกษตร |
2543 | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ |
2546 | วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี |
2548 | คณะการสื่อสารมวลชน • คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ |
2549 | คณะนิติศาสตร์ |
2560 | วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล • วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิตอล • คณะสาธารณสุขศาสตร์ • สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ |
อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย
[แก้]ตารางแสดงการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากสถาบันต่างๆ
[แก้]อันดับมหาวิทยาลัย | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับในประเทศ (อันดับนานาชาติ) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สถาบันที่จัด | อันดับ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ARWU (2023) | 2 (601-700) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
CWTS (2023) | 3 (551) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
CWUR (2023) | 3 (913) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
QS (Asia) (2024) | 3 (102) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
QS (World) (2024) | 3 (571) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
RUR (2023) | 3 (673) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
SIR (2023) | 3 (987) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
THE (World) (2024) | 3 (801-1000) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
THE (Impact) (2023) | 3 (74) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
URAP (2023) | 3 (628) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
U.S. News (2023) | 3 (739) |
การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย
[แก้]การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จากการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยตาม "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" พ.ศ. 2549 โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการเรียนการสอน และกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในกลุ่ม ดีเลิศ ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย[34]
การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา โดยผลการประเมินครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการประเมินในระดับดีในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาการประมง และสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/ สัตวแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์/ สหเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[35] และในการประเมินครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชา Material Technology / Material และ Mining Engineering ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์, สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาขาวิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[36]
การประเมินคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ องค์กรที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลกจะได้รับการประกาศเกียรติคุณด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และองค์กรที่ได้รับรางวัลจะนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA)[37]
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) ประจำปี 2563[38] โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยตามปณิธานอย่างต่อเนื่อง และนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินการและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ มุ่งเน้นที่ความสำเร็จ และคำนึงถึงมุมมองเชิงระบบในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อการบรรลุพันธกิจ และวิสัยทัศน์ อันเป็นสิ่งยืนยันว่ามหาวิทยาลัยมีแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นระบบเพื่อนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ และมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างประโยชน์ให้ทุกภาคส่วน รวมไปถึงสังคม ชุมชน และประเทศชาติ[39]
อันดับมหาวิทยาลัย
[แก้]นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
การจัดอันดับโดย Academic Ranking of World Universities
[แก้]การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย Academic Ranking of World Universities หรือ ARWU โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจาก
1. Quality of Education ได้แก่ Alumni of an institution winning Nobel Prizes and Fields Medals
2. Quality of Faculty ได้แก่ Staff of an institution winning Nobel Prizes and Fields Medals, Highly Cited Researchers
3. Research Output ได้แก่ Papers published in Nature and Science, Papers indexed in Science Citation Index-Expanded and Social Science Citation Index
4. Per Capita Performance ได้แก่ Per capita academic performance of an institution
โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 (ร่วม) ของประเทศไทย และอันดับที่ 601-700 ของโลก[40]
การจัดอันดับโดย CWTS Leiden Ranking
[แก้]การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย CWTS Leiden Ranking โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูล Web of Science database มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 551 ของโลก[41]
การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings
[แก้]การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings หรือ CWUR ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับคือ คุณภาพงานวิจัย ศิษย์เก่าที่จบไป คุณภาพการศึกษา คุณภาพของอาจารย์ และภาควิชาต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 913 ของโลก[42]
การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symonds
[แก้]แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ QS จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสองส่วน คือ การจัดอันดับเป็นระดับโลก(QS World University Rankings) และระดับทวีปเอเชีย(QS University Rankings: Asia) มีระเบียบวิธีจัดอันดับ ดังนี้
QS World
- ชื่อเสียงทางวิชาการ จากการสำรวจมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผลของการสำรวจคัดกรองจาก สาขาที่ได้รับการตอบรับว่ามีความเป็นเลิศโดยมหาวิทยาลัยสามารถส่งสาขาให้ได้รับการคัดเลือกตั้งแต่ 2 สาขาขึ้นไป โดยจะมีผู้เลือกตอบรับเพียงหนึ่งสาขาจากที่มหาวิทยาลัยเลือกมา
- การสำรวจผู้ว่าจ้าง เป็นการสำรวจในลักษณะคล้ายกับในด้านชื่อเสียงทางวิชาการแต่จะไม่แบ่งเป็นคณะหรือสาขาวิชา โดยนายจ้างจะได้รับการถามให้ระบุ 10 สถาบันภายในประเทศ และ 30 สถาบันต่างประเทศที่จะเลือกรับลูกจ้างที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนั้น ๆ รวมถึงคุณสมบัติสำคัญที่ต้องการ 2 ข้อ
- งานวิจัยที่อ้างต่อ 1 ชิ้นรายงาน โดยข้อมูลที่อ้างอิงจะนำมาจาก Scopus ในระยะ 5 ปี
- H-index ซึ่งคือการชี้วัดจากทั้งผลผลิต และ อิทธิพลจากการตีพิมพ์ผลงานทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ
น้ำหนักการชี้วัด การแบ่งคะแนนจะต่างกันในแต่ละสาขาวิชา เช่น ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีอัตราการเผยแพร่งานวิจัยสูง การวัดการอ้างอิงและH-index ก็จะคิดเป็น 25 เปอร์เซนต์ สำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย ในทางกลับกันสาขาที่มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่น้อยกว่า เช่น สาขาประวัติศาสตร์ จะคิดเป็นร้อยละที่ต่ำกว่าคือ 15 เปอร์เซนต์ จากคะแนนทั้งหมด ในขณะเดียวกันสาขาศิลปะและการออกแบบ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์น้อยก็จะใช้วิธีการวัดจากผู้ว่าจ้างและการสำรวจด้านวิชาการ[43]
โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 571 ของโลก[44]
QS Asia
- ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
- การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
- อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
- การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของคณะ (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน scopusและ การตีพิมพ์ผลงานโดยคณะนั้นๆเอง
- บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
- สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
- สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)[45]
โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 102 ของเอเชีย[46]
การจัดอันดับโดย Round University Rankings
[แก้]การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Round University Rankings โดย RUR Rankings Agency ของประเทศรัสเซีย เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (a ranking of leading world universities) มีเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับโดยการพิจารณาตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในระดับสากล 4 ด้าน 20 ตัวชี้วัด คือด้านการสอน (Teaching) 5 ตัวชี้วัด คิดเป็น 40% การวิจัย (Research) 5 ตัวชี้วัด 40% ด้านความเป็นนานาชาติ (International Diversity) 5 ตัวชี้วัด 10% และด้านความยั่งยืนทางการเงิน (Financial Sustainability) 5 ตัวชี้วัด 10% ผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 673 ของโลก[47]
การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Ranking
[แก้]อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ได้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 987 ของโลก [48]
การจัดอันดับโดย The Times Higher Education
[แก้]The Times Higher Education World University Rankings หรือ THE (World) มีระเบียบวิธีการจัดอันดับโดยแบ่งตัวชี้วัดเป็น 5 ประการ วัดคะแนนเป็นเปอร์เซนต์[49] การสอน (บรรยากาศการเรียน) คิดเป็น 30 เปอร์เซนต์ ประกอบไปด้วย การสำรวจชื่อเสียงทางวิชาการ 15 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนของจำนวนบุคลากรต่อนักศึกษา 4.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตต่อบัณฑิต 2.25 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต 6 เปอร์เซนต์ รายรับของมหาวิทยาลัย 2.25 เปอร์เซนต์ การวิจัย (ปริมาณ รายรับ และชื่อเสียง) 30 เปอร์เซนต์ ประกอบไปด้วย สำรวจความมีชื่อเสียงทุกปี โดย Academic Reputation Survey 18 เปอร์เซนต์ รายรับจากงานวิจัย 6 เปอร์เซนต์ ปริมาณงานวิจัย 6 เปอร์เซนต์ การอ้างอิง อิทธิพลของงานวิจัย 30 เปอร์เซนต์ ทัศนะจากนานาชาติ (บุคลากร นักศึกษาและงานวิจัย) 7.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนนักศึกษาต่างชาติต่อนักศึกษาในประเทศ 2.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนบุคลากรต่างชาติต่อในประเทศ 2.5 เปอร์เซนต์ ความร่วมมือระดับนานาชาติ 2.5 เปอร์เซนต์ การส่งต่อความรู้ 2.5เปอร์เซนต์ การที่มหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้ต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 3 (ร่วม) ของประเทศไทย และอันดับที่ 801-1000 ของโลก[50]
The Times Higher Education Impact Rankings คือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบสูงต่อสังคม จาก 1,406 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คะแนนรวม 89.7 คะแนน จาก 100 คะแนน เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 74 ของโลก[51]
และเป้าหมาย SDGs ในด้าน SDG 5 Gender Equality (2022) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก[52]
การจัดอันดับโดย University Ranking by Academic Performance
[แก้]อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับ 628 ของโลก[53]
การจัดอันดับโดย U.S. News & World Report
[แก้]U.S. News & World Report นิตยสารการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจมหาวิทยาลัยทั่วโลก และมีเกณฑ์จัดอันดับหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงการวิจัยในระดับโลก และระดับภูมิภาค สื่อสิ่งพิมพ์ การถูกนำไปอ้างอิง ความร่วมมือระหว่างประเทศ จำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก เป็นต้น โดยการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก “Best Global Universities Rankings” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 739 ของโลก[54]
อันดับของมหาวิทยาลัยในด้านอื่น ๆ
[แก้]การจัดอันดับโดย Webometrics
[แก้]การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยการจัดอันดับในปี2023 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของประเทศไทย และอันดับที่ 472 ของโลก[55]
สถาบันวิจัย
[แก้]- อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เป็นส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 7 คณะ ประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรม (Bridge for Innovation) เชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย โดยนำผลงานวิจัย นักวิจัย และเครื่องมือวิจัย ของมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้งานวิจัยให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) การสร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) การทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์รวม (Total Value Creation) และการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[56]
- สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI CMU) เป็นสถาบันที่มีลักษณะของศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) โดยเป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ด้านพลังงานระดับประเทศและระดับนานาชาติในการวิจัยและพัฒนารวมถึงให้บริการวิชาการโดยมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในทุกแขนงสาขาเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นจากการหลอมรวมองค์กรในกำกับทั้ง 2 แห่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องในด้านพลังงาน คือ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน และสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยรับอนุมัติจากทางภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 จัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ " สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน" เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ[57]
- สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมมีชื่อเรียกว่า โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ประชุมคณบดีเห็นชอบให้มีโครงการจัดตั้งฯ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2528 ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วยผู้แทนจาก 5 คณะหลัก คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความยั่งยืนและความสมดุลของมุนษย์ และสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นศูนย์ต่าง ๆ ดังนี้[58]
- ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช
- ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุล
- ศูนย์วิจัยนิวตรอนและเทคโนโลยีรังสี
- ศูนย์วิจัยพลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- ศูนย์วิจัยวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
- ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีและวัสดุ
- ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัตถุดิบยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
- ศูนย์วิจัยอิเล็คทรอนิกส์ประยุกต์และคอมพิวเตอร์
- ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์
- ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทาง
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยาและทุโภชนาการ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการในผู้ป่วยเด็กโรคขาดสารอาหารโรคโลหิตจางในเด็กและหญิงมีครรภ์ และความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทุโภชนาการและโลหิตจางกับการเกิดโรคติดเชื้อต่อมาได้เสนอโครงการขยาย และปรับปรุงยกฐานะโดยได้รับความ เห็นชอบในปี พ.ศ. 2521 ให้สถาปนาขึ้นเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ สุขภาพเป็นหน่วยงานอิสระที่มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีภารกิจในการดำเนินงาน วิจัยและเป็นศูนย์กลางให้ความร่วมมือประสานงาน และส่งเสริมการดำเนินการ ค้นคว้าวิจัยในสาขา วิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์ต่อการค้นหาสาเหตุประกอบการวินิจฉัย ของการเกิดโรคได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะยังผลให้สามารถกำหนดมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพและอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศต่อไป[59]
- สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ได้เริ่มขึ้นโดยกลุ่มคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์ภายใน คณะสังคมศาสตร์ ใช้ชื่อว่า "ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์" และได้รับเงินสนับสนุนจากคณะสังคมศาสตร์ มูลนิธิ/หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อได้มีการขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน และมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงได้เสนอขอจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม และได้รับอนุมัติให้บรรจุ " โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม " เป็นโครงการใหม่ในแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) ต่อมา ได้มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยยกฐานะโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม ขึ้นเป็น "สถาบันวิจัยสังคม" ให้มีสำนักงานเลขานุการสถาบันวิจัยสังคม[60]
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ
[แก้]ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
[แก้]หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพ ให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานในสาขาวิชาชีพ นั้น ๆ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตจะต้องศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา มีหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต โดยเป็นกระบวนวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต
ระดับปริญญาตรี
[แก้]หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 100 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) หลักสูตรภาคพิเศษ (ช่วงเย็น) หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาที่เปิดสอนเอง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โครงการพิเศษ
โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา โครงการวิศวะสู่ชุมชน โครงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โครงการบัณฑิตเพื่อชุมชน โครงการนักคิดเพื่อสังคม โครงการส่งเสริมนักเขียนและกวีล้านนา โครงการสื่อสารมวลชนเพื่อสังคม โครงการสื่อสารมวลชนสู่ชนบท โครงการผู้มีความสามรถพิเศษทางการสื่อสารมวลชน โครงการช้างเผือกคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนฯ (วมว.) โครงการเด็กดีมีที่เรียน โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โครงการผู้มีแววเป็นนักนิติศาสตร์ โครงการพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ โครงการทายาทศิษย์เก่าบัญชี-บริหารธุรกิจ โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและเป็นทายาทผู้ประกอบการธุรกิจ โครงการนักเรียนที่สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคม คณะมนุษยศาสตร์
- การสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ
โดยจะรับคัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเวลา 3 ปี โดยจะมีการจัดการสอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม
- ระบบ TCAS
โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบความถนัดทั่วไป (TGAT) ความถนัดทางวิชาชีพ (TPAT) และการทดสอบวิชาสามัญเพื่อการประยุกต์ใช้ (A - Level) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกในระบบของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
ระดับปริญญาโท
[แก้]หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข ดังนี้
- แผน ก แบบ ก 1 หมายถึง การเรียนที่มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และจะต้องทำกิจกรรมทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อาจมีการเรียนกระบวนวิชาเพิ่มเติมได้โดยไม่นับหน่วยกิตสะสม
- แผน ก แบบ ก 2 หมายถึง การเรียนที่เป็นลักษณะของการศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต หน่วยกิตสะสมเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรของสาขาวิชา
- แผน ข หมายถึง การศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และทำการค้นคว้าแบบอิสระไม่น้อยกว่า 3-6 หน่วยกิต
มีการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
ระดับปริญญาเอก
[แก้]หลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ แยกเป็น แบบ 1.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบบ 1.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต
แบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม แยกเป็น แบบ 2.1 สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต แบบ 2.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
พื้นที่มหาวิทยาลัย
[แก้]มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ประตูสวนดอก (ฝั่งสวนดอก) ไปถึง บริเวณเชิงดอยสุเทพ (ฝั่งสวนสัก) ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และ ถนนสุเทพ
พื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีพื้นที่รวม 8,502 ไร่ พื้นที่บางส่วนเป็นที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ซึ่งมีการซื้อหรือเวนคืนในช่วงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย บางส่วนหน่วยงานราชการอื่น โดยเฉพาะกรมป่าไม้ อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ และบางส่วนได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ดังนี้
- บริเวณเชิงดอยสุเทพและสวนดอก 1,812 ไร่ (ประกอบด้วยฝั่งสวนสักและฝั่งสวนดอก)
- บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ 1,293 ไร่ (เรียกอย่างย่อว่า ฝั่งแม่เหียะหรือฝั่งดอยคำ)
- บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน 550 ไร่
- บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงดอยป่าเกี๊ยะ 30 ไร่
- บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงหนองหอย 50 ไร่
- บริเวณค่ายสำรวจคณะวิศวกรรมศาสตร์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 17 ไร่
- พื้นที่บริจาคให้แก่คณะแพทยศาสตร์ 12 ไร่
- ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญชัย (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม่ธิ-แม่ตีบ-แม่สาร) ตำบลศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน 4,726 ไร่
- ที่ราชพัสดุ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 12 ไร่
ฝั่งสวนสัก
[แก้]ฝั่งสวนสัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 อยู่ห่างจากใจกลางเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ติดกับดอยสุเทพ ฝั่งสวนสักประกอบด้วยศูนย์บริหารของมหาวิทยาลัยและคณะต่างๆ ได้แก่
|
นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาลาธรรม หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาลพระภูมิ ศาลาอ่างแก้ว สนามกีฬา ศูนย์อาหาร หอพักนักศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวก บริการทรัพยากรทั้งหมดในมหาวิทยาลัย และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาที่สำคัญ จุดเด่นของวิทยาเขตนี้คืออ่างเก็บน้ำอ่างแก้ว สร้างขึ้นเพื่อจัดหาน้ำประปาให้กับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้อยู่อาศัยในวิทยาเขตและชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย ในทศวรรษที่ 1960 พื้นที่ยังคงเป็นป่า โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ อาคารมหาวิทยาลัยจึงถูกสร้างขึ้นระหว่างต้นไม้ ส่งผลให้วิทยาเขตยังคงสภาพเดิมไว้มาก
ฝั่งสวนดอก
[แก้]ฝั่งสวนดอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 อยู่ใกล้ฝั่งสวนสักและใกล้ตัวเมืองมากขึ้น เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโดยมีโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ฝั่งสวนดอกมีพื้นที่ 110 เอเคอร์ (0.45 กม. 2 ) ซึ่งประกอบด้วยคณะวิชาที่เกี่ยวข้องวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาล ทันตกรรม ร้านขายยา และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่รู้จักกันในท้องถิ่นว่าโรงพยาบาลสวนดอก โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย
- คณะแพทยศาสตร์
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- คณะพยาบาลศาสตร์
- คณะเภสัชศาสตร์
- คณะเทคนิคการแพทย์
- โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
- โรงพยาบาลทันตกรรม
ฝั่งแม่เหียะ
[แก้]ฝั่งแม่เหียะ หรือฝั่งดอยคำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 ห่างจากฝั่งสวนสักไปทางใต้ประมาณ 5 กม. ฝั่งแม่เหียะมีพื้นที่ 864 เอเคอร์ (3.50 กม. 2 ) เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญคือ
ศูนย์การศึกษาหริภุญไชย
[แก้]ศูนย์การศึกษาหริภุญไชย ตั้งอยู่เลขที่ 205 หมู่ 2 ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 51000 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญคือ
- ฟาร์มคณะสัตวแพทยศาสตร์
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร
[แก้]ศูนย์การศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่เลขที่ 119/76 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000 เป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญคือ
สถานที่สำคัญ
[แก้]- ศาลาธรรม
- ศาลาธรรมเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทย ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถงกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 ต่อมาได้มีการต่อเติมตัวอาคารด้านหลังและทำซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ในระยะแรกศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดพิธีไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อศาลาอ่างแก้วสร้างเสร็จจึงได้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครู ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยจึงใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ สถานที่แห่งนี้ ต่อมาเมื่อหอประชุมมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครูไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญของมหาวิทยาลัยในบางโอกาส
- ศาลพระภูมิ
- ศาลพระภูมิมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกว่า "ศาลช้าง" สร้างขึ้นในสมัยพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีพลตรี พิสณห์ สุรฤกษ์ เป็นผู้กำหนดฤกษ์ในการจัดตั้ง และมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ สุรฤกษ์ เป็นผู้ประสานงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 บริเวณหน้าศาลาธรรมในปัจจุบัน ศาลพระภูมิมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประชาชนทั่วไป ต่อมาได้มีการบูรณะศาลพระภูมิและพื้นที่โดยรอบใหม่ให้สวยงาม และประกอบพิธีสมโภชเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562
- อ่างแก้ว
- อ่างแก้วคืออ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่างแก้วนอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นสถานที่สวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจของลูกช้าง มช ด้วยเช่นกัน
- ศาลาอ่างแก้ว
- ศาลาอ่างแก้วเป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรในอดีตก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบันศาลาอ่างแก้วใช้ประกอบพิธีต่างๆเช่น การเตรียมตัวก่อนขึ้นดอยของนักศึกษาในกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย การรับน้อง และการออกกำลังกายเป็นต้น
- หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น รับน้องรวม ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ กิจกรรมเฟรชชีไนท์เป็นต้น
- สนามกีฬากลาง
- สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 1 สนาม และลู่วิ่งยางสังเคราะห์ขนาดมาตรฐานรอบสนามฟุตบอล 400 เมตร จำนวน 8 ลู่ เปิดให้บริการกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประชาชนทั่วไปให้มาใช้บริการออกกำลังกายทุกวัน และสนามกีฬากลางยังใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรม Sport Day & Spirit Night กิจกรรมกีฬา Freshy Games กิจกรรมรับน้องรวม (CMU Freshy Cheer Show Night) เป็นต้น[61]
- หอพักนักศึกษา
- เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาในรั้วของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน ได้เข้าพักในหอพักนักศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาแต่ละคณะทำความรู้จักกัน และเป็นการฝึกให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจำนวนหอพักในมหาวิทยาลัยทั้งหมด จำนวน 20 อาคาร ได้แก่ หอพักภายในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หอพักนักศึกษาชาย อาคาร 1 - 7 , หอพักนักศึกษาหญิง อาคาร 1 - 12 และหอพักนักศึกษาพื้นที่จัดการศึกษาแม่เหียะ นอกจากนั้นทางหอพักได้จัดให้มีบริการและสวัสดิการต่าง ๆ แก่นักศึกษา เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ร้านเสริมสวย ร้านซักอบรีด ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ต ห้องอ่านหนังสือ Co-Working Space เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาทุกคน
- ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU HEALTH CENTER)
- ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีการบริการที่หลากหลายโดยออกแบบการใช้ประโยชน์ให้สามารถใช้งานร่วมกันในด้านการให้บริการสุขภาพและบริการทางการแพทย์ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสวัสดิการและการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้ได้รับการดูแลและรักษาทางด้านสุขภาพที่ดี อาทิ คลินิกทางการแพทย์คณะแพทยศาสตร์ บริการทางเทคนิคการแพทย์คณะเทคนิคการแพทย์ บริการทางทันตกรรมคณะทันตแพทยศาสตร์ และร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ รวมถึงพื้นที่ Co-Working Space เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ และส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา
- ศูนย์อาหาร (CMU Food Center)
- ศูนย์อาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์อาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นศูนย์รวมสถานที่จำหน่ายมากกว่า 30 ร้านค้า ให้กับนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพถูกหลักอนามัย ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีมาตรฐานถูกสุขลักษณะตามที่กำหนด โดยอาคารศูนย์อาหารเป็นอาคาร 2 ชั้น รองรับผู้มาใช้บริการได้ประมาณ 1,000 ที่นั่ง ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 3 ส่วน คือ พื้นที่บริเวณโถงกลาง พื้นที่รับประทานอาหารภายในอาคาร และพื้นที่รับประทานอาหารภายนอกอาคาร
- ตลาดร่มสัก
- ตลาดร่มสัก หรือ กาดฝายหิน เป็นตลาดขายอาหารที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่นิยมของชาว มช อยู่คู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มายาวนานหลายยุคสมัย มีร้านค้าขายอาหารจำนวนมาก เช่น ร้านอาหารเหนือ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านข้าวราดแกง และเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่ขึ้นชื่อคือ สลัดฝายหิน และน้ำผลไม้ ซึ่งอาหารที่นี่มีราคาถูกมาก
- โครงการ MORE SPACE
- เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณไร่ฟอร์ดตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กลายเป็น Lifestyle แห่งใหม่ของ มช. โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะมีการจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์ การเคลื่อนไหว และการสร้างรายได้แก่ประชาชน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาในเรื่องของกระบวนการขายและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในพื้นที่โครการ “MORE SPACE” มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนแรกคือ “ลาน MORE SPACE” ที่มีการจัดกิจกรรมและการทำร้านค้าต่างๆที่เป็นร้านประจำ โดยเป็นร้านที่มีการคัดเลือกมาแล้วว่ามีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว กระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งเป็นการนำเอาวัตถุดิบที่อยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โซนที่ 2 คือ “คีออส MORE SPACE” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่ในการกระจายขายสินค้าได้มากขึ้น และโซนที่ 3 คือ “ไนท์มาร์เก็ต MORE SPACE” เป็นสีสันแห่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนสินค้าต่างๆ เข้ามา ซึ่งพื้นที่ของโครงการได้มีการตกแต่งอย่างสวยงาม และมีบรรยากาศดีในช่วงยามเย็นมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่ด้านหลังเป็นดอยสุเทพซึ่งเหมาะกับการไปเดินเที่ยวพักผ่อน[62]
กิจกรรมและประเพณี
[แก้]- ประเพณีรับน้องขึ้นดอย
ประเพณีรับน้องขึ้นดอย เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดดำเนินการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 291 คน โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีที่รับผิดชอบดูแลนักศึกษา มีความคิดที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประเพณีที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น และเป็นประเพณีที่น่าประทับใจ น่าจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่มีหนทางขึ้นดอยสุเทพ โดยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำในการทำหนทางดังกล่าว นับว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงความศรัทธาและความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหลังจากการปฐมนิเทศนักศึกษาในปีแรกแล้ว จึงได้ชักชวนนักศึกษารุ่นแรกทุกคนเดินขึ้นดอยสุเทพพร้อมกันด้วยความสามัคคี เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยความศรัทธาและแสดงถึงความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ ประเพณีดังกล่าวนี้นักศึกษารุ่นหลังยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาตราบจนทุกวันนี้และเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเพณีรับน้องขึ้นดอยเป็นประเพณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จัดขึ้นประมาณต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ตามประวัติแล้วประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกช้างเชือกใหม่ทุกคน และดอยสุเทพซึ่งวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ โดยในวันรับน้องขึ้นดอยนั้นแต่ละคณะจะจัดตั้งขบวนบริเวณหน้าศาลาธรรมตั้งแต่เช้าตรู่โดยริ้วขบวนจะประกอบไปด้วยเฟรชชีและพี่ๆแต่ละชั้นปีเดินขึ้นไปพร้อมกัน โดยทุกคนจะแต่งกายแบบล้านนาทำให้ดูมีสีสันสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ[63]
- ประเพณีรับน้องรถไฟ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นศิษย์เก่ารหัส 07 (นักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “ประเพณีรับน้องรถไฟ” ว่า ในปี พ.ศ. 2507 นักศึกษาบางคนมากันเป็นกลุ่มหรือผู้ปกครองพามา ในขณะเดียวกันผู้บริหารมหาวิทยาลัยในตอนนั้นอาจารย์บัวเรศ คำทอง คุณหมอบุญสม มาร์ติน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางมาเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ส่งอาจารย์ 3 ท่าน คือ อาจารย์การุณ กลั่นกลิ่น อาจารย์จิตติ โอฬารรัตน์มณี และอาจารย์สุข เดชชัย ไปช่วยดูแลอำนวยความสะดวก ทำการเหมาตู้รถไฟและนำตั๋วมาจำหน่ายให้นักศึกษารุ่นแรกที่หัวลำโพง พานักศึกษาเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ รถไฟสมัยนั้นเป็นรถเร็วซึ่งค่าตั๋วถูกกว่ารถด่วนเหมาะกับนักศึกษา เมื่อมาถึงเชียงใหม่ก็มีแพทย์สวนดอกรุ่นพี่(รหัส 04) นำทีมโดย คุณหมอเกษม วัฒนชัย ซึ่งเดิมสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และต่อมาได้โอนมาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาต้อนรับน้องๆที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ และได้พานักศึกษารุ่นแรก รหัส 07 ขึ้นรถบรรทุกทหารของค่ายกาวิละมายังมหาวิทยาลัย[64]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์วิศิษฐ์ศักดิ์ ไทยทอง รหัส 08 ได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสมัยนั้น รับอาสาเป็นผู้ดูแลกิจกรรมดังกล่าวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยพาพี่ ๆ เพื่อน ๆ ไปรับน้องที่เดินทางจากหัวลำโพงมาเชียงใหม่และมาไหว้ศาลพระภูมิก่อนเข้าหอพัก ต่อจากนั้นสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นผู้รับผิดชอบการจัดงานรับน้องรถไฟตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเดินทางโดยรถเร็วตรงจากหัวลำโพงมายังสถานีรถไฟเชียงใหม่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นรถด่วนและเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศิษย์เก่าเพิ่มมากขึ้นได้มีการจัดตั้งเป็นชมรม สมาคมตามจังหวัดต่างๆ และจังหวัดที่ชมรม สมาคมเข้มแข็งก็จะพาศิษย์เก่ารุ่นพี่ๆ มาต้อนรับน้องๆ คล้องพวงมาลัย แจกน้ำ และขนมขบเคี้ยวที่สถานีรถไฟลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และลำปาง และทำกันเป็นประเพณีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุประสงค์เพื่อพาน้องใหม่มาถึงเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ ปลอดภัย เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง[65]
ประเพณีรับน้องรถไฟถือว่าเป็นประเพณีประจำปีอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะที่มาต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่นอกเขตภาคเหนือ เริ่มต้นกิจกรรมกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงโดยมหาวิทยาลัยจะเหมารถไฟจำนวนหลายขบวน และแบ่งตู้รถไฟกันตามคณะและจำนวนของรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะนั้นๆ โดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะก็จะเตรียมกิจกรรมและเกมส์ต่างๆ มีการสอนร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัย เพลงประจำคณะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้รุ่นน้องได้ทำกิจกรรมบนรถไฟช่วงที่รถไฟวิ่งมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยปกติเมื่อไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้วรุ่นพี่จะพาน้องใหม่ไปไหว้พระที่ศาลาธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการรับขวัญน้องใหม่ที่มาจากแดนไกล หลังจากนั้นรุ่นพี่ก็จะพาน้องใหม่เข้าไปพักตามหอพักนักศึกษา(หอใน)ตามที่น้องได้จองไว้
ประเพณีรับน้องรถไฟเป็นกิจกรรมรับน้องครั้งแรกที่รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบเจอกัน อีกทั้งยังมีศิษย์เก่า และผู้ปกครองมาส่งรุ่นน้องที่สถานีรถไฟ ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมายในการแสดงความยินดีกับการเริ่มต้นการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นน้องจะได้รับบัตรคล้องคอ หรือติดเสื้อโดยเขียนชื่อเล่นแต่ละคนเอาไว้เพื่อให้ได้ทำความรู้จักกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นจะถูกเรียกว่า "ลูกช้าง" เพราะช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันประเพณีรับน้องรถไฟยังคงจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปีเพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงามอันเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไว้สืบไป
- กิจกรรม Sport Day & Spirit Night
สปอร์ตเดย์แอนด์สปิริตไนท์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีและน้ำใจนักกีฬาของแต่ละคณะ โดยกิจกรรมจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีประกอบด้วยกิจกรรมช่วงกลางวัน และกิจกรรมในช่วงกลางคืน ในกิจกรรมช่วงกลางวัน (Sport Day) จะมีการแข่งขันกีฬา การประกวดเชียร์ลีดเดอร์ สแตนเชียร์ ขบวนพาเหรด และกิจกรรมในช่วงกลางคืน (Spirit Night) จะเป็นการแสดงโชว์สแตนเชียร์ของแต่ละคณะที่เรียกว่าไคลแมกซ์
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเปิดสอนในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยระยะแรกมี 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ มาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 และในปีเดียวกันนี้เองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับโอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2509) จึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมแพทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2510) จัด ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3-5 (พ.ศ. 2512 –2514 ) จัด ณ พลับพลาบริเวณสนามหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช 2515 เมื่อการสร้างศาลาอ่างแก้วแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมายังศาลาอ่างแก้ว ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 6–30 (พ.ศ. 2515–2539) จึงจัด ณ ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้คือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 (พ.ศ. 2534) เป็นปีฉลอง 25 ปีแห่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหรียญทองคำหนัก 25 บาท จำนวน 1 เหรียญ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 25 เพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2540 หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 31 (พ.ศ. 2540) จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย (ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์) องคมนตรี
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) เลขาธิการพระราชวัง [66]
- จาตุรนต์ ฉายแสง (ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- สุเทพ เทือกสุบรรณ (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[67]
- สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ยงยุทธ ติยะไพรัช (ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์) อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- อภิรักษ์ โกษะโยธิน (ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์) อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ศาสตราจารย์พิเศษ กฤษณา ไกรสินธุ์ (ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์) ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2009 และรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก ปี 2004
- สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน[68]
- นนทิกร กาญจนะจิตรา (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) กรรมการกฤษฎีกา กรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[69]
- ชาติชาย สุทธิกลม (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ[70] อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
- บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)[71]
- ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)[72]
- ยศพล เวณุโกเศศ (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ (ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- พันเอกหญิง ท่านผู้หญิง จิตรวดี จุลานนท์ (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) อดีตนายกสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการทหารสูงสุด และอดีตนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก
- กรุณา ชิดชอบ (ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ) อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์
- มณเฑียร บุญตัน (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) - สมาชิกวุฒิสภา , อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
- ศันสนีย์ วัฒนานุกูล (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักพากย์การ์ตูน ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ผู้พากย์เสียงโนริมากิ อาราเล่ และโนบิ โนบิตะ
- ประมวล เพ็งจันทร์ (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) นักเขียน
- เพชร มาร์ (ศิษย์เก่าคณะสังคมศาสตร์) โปรดิวเซอร์
- ชลิต เฟื่องอารมย์ (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) นักแสดง
- วสันต์ อุตตมะโยธิน (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักแสดง
- สมชาย ศักดิกุล (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) นักร้อง, นักแสดง และ นักพากย์
- คำรณ หว่างหวังศรี (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) พิธีกร
- ทาริกา ธิดาทิตย์ (ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์) นักแสดง, นักพากย์ และ ผู้จัดละคร
- เจินเจิน บุญสูงเนิน (ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์) นักร้อง
- กนิษฐ์ สารสิน (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) พิธีกร และ นักแสดง
- ช่อผกา วิริยานนท์ (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) พิธีกร
- วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ (ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์) นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ พิธีกร ศาสตราจารย์กิตติคุณ ราชบัณฑิต
- จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) โปรดิวเซอร์เพลง นักดนตรี
- อภิวัฒน์ พงษ์วาท (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักร้อง วง อีทีซี
- ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) นักแสดง
- ลักขณา ปันวิชัย (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) นักเขียน และผู้ประกาศข่าว
- อัครพล ธนะวิทวิลาศ (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) พิธีกร และ ดีเจ
- บดินทร์ เจริญราษฎร์ (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์) นักร้อง เป้ วง มายด์ (วงดนตรี)
- ชาครีย์ ลาภบุญเรือง (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์) นักร้อง วง มัสเกตเทียส์
- เอกพงศ์ จงเกษกรณ์ (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์) นักแสดง
- อติรุจ กิตติพัฒนะ (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักร้อง และผู้ประกาศข่าว
- นิชานันท์ ฝั้นแก้ว (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์) นักแสดง
- สิตางศุ์ ปุณภพ (ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ พิธีกร และ นักแสดง
- ภัทรากร ตั้งศุภกุล (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์) นักแสดง
- ปุริม รัตนเรืองวัฒนา (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) นักแสดง
- จิตรพล โพธิวิหค (ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์) นักแสดง
- กฤตนัย อาสาฬห์ประกิต (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักแสดง
- กมลรวี กอสัมพันธ์ (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักร้อง และ เน็ตไอดอล
- ปาณิสรา ปริญญารักษ์ (ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์) นักแสดง
- กรธัช สมบุญธรรม (ศิษย์เก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์) นักร้อง
- พัชร์ธีรัตน์ แหลมหลวง (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) สไปรท์ บะบะบิ นักแสดง และ ยูทูบเบอร์
- พลากร แซ่ตัน (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) ไบรอัน ตัน ยูทูบเบอร์ และ ประธานกองประกวด มิสแฟบิวลัสไทยแลนด์ และ มิสแฟบิวลัสอินเตอร์เนชันแนล
- หยาดพิรุณ ปู่หลุ่น (ศิษย์เก่าคณะการสื่อสารมวลชน) นักแสดง และ ยูทูบเบอร์
- อัจฉรี บัวเขียว (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์) นักแสดง และ รองอันดับ 1 Miss Universe Thailand 2016
- ชนนิกานต์ สุพิทยาพร (ศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์) นางสาวไทย ประจำปี 2566 และ นักแสดง
- พนิดา เขื่อนจินดา (ศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์) นางสาวไทย ประจำปี 2567
- สุดฤทัย เลิศเกษม (ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์ เอกการสื่อสารมวลชน วิชาเอกโทรทัศน์) อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
- นฤมล สิทธิวัง (ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ) นักแสดง
- กัษมนณัฎฐ์ นามวิโรจน์ (ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) นักแสดง
- พิมพ์ชนก แก้วลุ่มใหญ่ (ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ) นักแสดง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๕, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ จำนวนนักศึกษาที่มีสถานภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565. [1]
- ↑ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : Chiang Mai University, THAILAND". www.cmu.ac.th.
- ↑ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-19.
- ↑ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : Chiang Mai University, THAILAND". www.cmu.ac.th.
- ↑ คณะและหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สืบค้น ณ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564
- ↑ การศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2014-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
- ↑ การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2015-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
- ↑ การเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่https://library.cmu.ac.th/pinmala/cmu_request.php
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-19.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-28. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551
- ↑ "สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-21. สืบค้นเมื่อ 2013-12-21.
- ↑ พริษฐ์ ชิวารักษ์. ช้างเผือก สัญลักษณ์อาณานิคมประจำจังหวัดเชียงใหม่ 9 มิถุนายน 2023
- ↑ "คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-05. สืบค้นเมื่อ 2013-12-21.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย), เล่ม 141 ตอนพิเศษ 269 ง หน้า 18, 27 กันยายน 2567
- ↑ ""มช." เปิดสรรหาอธิการบดีวาระ 4 ปี". สยามรัฐ. 15 December 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2022.
- ↑ "ฮือฮา! สรรหาอธิการ มช.คนใหม่ ให้เสนอชื่อด้วยวิธีปรึกษาหารือ ห้ามใช้วิธีเลือกตั้ง-หยั่งเสียง". มติชนออนไลน์. 27 November 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2022.
- ↑ "เปิดข้อเท็จจริงกระบวนการสรรหา-หยั่งเสียงอธิการ มช. ยันไม่ถือเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย". ผู้จัดการ. 11 February 2022. สืบค้นเมื่อ 21 February 2022.
- ↑ "กลุ่มอาจารย์นิติฯ ถอนฟ้องสภา มช.แล้ว หลังยอมแก้ข้อความขัดต่อเสรีภาพ". ผู้จัดการ. 6 January 2022. สืบค้นเมื่อ 21 February 2022.
- ↑ "255 นศ.-อาจารย์ มช. ขอ กก.สรรหา หันกลับมาหยั่งเสียงเลือกอธิการบดีคนใหม่ แทนการสรรหา". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 21 February 2022.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอน 56ง วันที่ 20 มิถุนายน 2511
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (นายนิเวศน์ นันทจิต)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (นายนิเวศน์ นันทจิต)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [นายพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล] เก็บถาวร 2022-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๑๙๔ หน้า ๖ ง พิเศษ
- ↑ "เปิด 50 อันดับมหาวิทยาลัยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
- ↑ "การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดย สกว.ประเมินครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
- ↑ "การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดย สกว. ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-28. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
- ↑ "ความเป็นมารางวัลคุณภาพแห่งชาติ". Thailand Quality Award สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)". Thailand Quality Award สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : Chiang Mai University, THAILAND". www.cmu.ac.th.
- ↑ "ShanghaiRanking's Academic Ranking of World Universities". www.shanghairanking.com.
- ↑ [2]
- ↑ [3]
- ↑ QS. QS World University Rankings: Methodology. September 11, 2015. http://www.topuniversities.com/university-rankings-articles/world-university-rankings/qs-world-university-rankings-methodology (accessed june 29, 2016).
- ↑ https://www.topuniversities.com/world-university-rankings?countries=th
- ↑ QS. QS University Rankings: Asia methodology. 13 June 2016. http://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology (accessed 29 June 2016).
- ↑ http://www.topuniversities.com/
- ↑ https://roundranking.com/ranking/world-university-rankings.html#world-2023
- ↑ [4]
- ↑ Times Higher Education. World University Rankings 2015-2016 methodology. september 24, 2015. https://www.timeshighereducation.com/news/ranking-methodology-2016 (accessed June 29, 2016).
- ↑ https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2024/world-ranking#!/length/25/locations/THA/sort_by/scores_overall/sort_order/asc/cols/stats
- ↑ https://www.timeshighereducation.com/rankings/impact/2022/overall#!/page/0/length/25/locations/THA/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/undefined
- ↑ https://www.timeshighereducation.com/rankings/impact/2022/gender-equality#!/page/0/length/25/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/undefined
- ↑ https://urapcenter.org/Rankings/2023-2024/World_Ranking_2023-2024
- ↑ [5]
- ↑ https://www.webometrics.info/en/Asia/Thailand?fbclid=IwAR1WUOFxnjbBKOhlG56YNmjMxTgDX1hLpEFfOf1aYhlrW7etZRlwQQQhS9s
- ↑ "CMU STeP | Make Innovation Simple". www.step.cmu.ac.th.
- ↑ "สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-20. สืบค้นเมื่อ 2009-06-29.
- ↑ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ↑ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ↑ "สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-17. สืบค้นเมื่อ 2009-06-29.
- ↑ สนามกีฬา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่https://prcmu.cmu.ac.th/scoop_detail.php?sco_sub_id=1864 เก็บถาวร 2021-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "(มีคลิป) มช.ผุดโครงการสุดชิล "MORE SPACE" เนรมิตพื้นที่โล่งให้เป็น Lifestyle แห่งใหม่ใกล้มหาวิทยาลัย เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจขายสินค้า และเดินชมพื้นที่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่". Chiang Mai News. 2021-02-08.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)". library.cmu.ac.th.
- ↑ "ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ : CMU Corporate Communication and Alumni Relations Center (CCARC)". prcmu.cmu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
- ↑ "ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ : CMU Corporate Communication and Alumni Relations Center (CCARC)". prcmu.cmu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
- ↑ พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งเลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล่ม ๑๓๕ ตอน ๕๕ ง พิเศษ หน้า ๒ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/196/T_0001.PDF
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-29. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
- ↑ "ประวัติกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์". www4.tu.ac.th.[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/199/T_0008.PDF
- ↑ "ทำเนียบผู้ว่าการ". www.egat.co.th.
- ↑ "ทำเนียบผู้บริหาร รฟม. | การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย". www.mrta.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-27. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
ดูเพิ่ม
[แก้]- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญชัย
- โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2013-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2014-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)
- หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2013-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์นักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บถาวร 2013-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สำนักงานหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์