เวียงแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวียงแก้ว
อาคารเรือนเพ็ญ ส่วนหนึ่งของเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เวียงแก้ว
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทคุ้มหลวง
ความเป็นมา
ผู้สร้างพระเจ้ากาวิละ
สร้างพ.ศ. 2339
สมัยนครเชียงใหม่
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2560
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพเหลือเพียงฐานอิฐ
ผู้บริหารจัดการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่)
การเปิดให้เข้าชมยังไม่เปิดให้เข้าชม

เวียงแก้ว เป็นเขตพระราชฐานของเวียงเชียงใหม่ เปรียบได้ดังพระราชวังและสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ตั้งอยู่กลางเวียงค่อนไปทางเหนือของเวียงเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า สร้างมาพร้อมกับการสร้างเวียงเชียงใหม่ของพญามังราย ซึ่งภายในเวียงแก้วเดิม มีกำแพงแบ่งอาณาเขตออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนเหนือ ส่วนใต้ และส่วนตะวันออก ภายในเวียงแก้วแต่ละส่วนประกอบไปด้วยหมู่อาคารราชมณเฑียร

เวียงแก้วซึ่งได้เป็นที่พำนักของเจ้านครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2339 จึงสิ้นสภาพการเป็น คุ้มหลวง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413[1] เมื่อครั้นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชอินทนนท์ ซึ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเชียงใหม่ที่ 7 ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่ข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งตึกยุพราชและสนามของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ต่อมาในรัชสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเชียงใหม่มีฐานะเป็นมณฑลพายัพในกำกับของรัฐบาลสยาม พื้นที่เวียงแก้วเป็นที่รกร้างไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มาเป็น 40 ปี[1] เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ได้จัดสรรพื้นที่เวียงแก้วเป็นสามส่วน โดยทำเป็นสวนสัตว์และแบ่งให้พระญาติในตอนเหนือ[1] ส่วนที่ดินตอนใต้แบ่งให้สยามสร้างคุกราว พ.ศ. 2462[2]

ที่มาของชื่อ[แก้]

ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่าเหตุใดจึงมีชื่อว่าเวียงแก้ว แต่จากการสันนิษฐานตามพงศาวดารโยนกในสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ซึ่งบันทึกไว้ว่า "ครั้นอยู่มา ท้าวพระยารามัญผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่กระทำการอุกอาจ มิได้อ่อนน้อมต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ กิตติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี จึงมีตราให้ข้าหลวงถือมาบังคับท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ ให้ฟังบังคับบัญชาพระเจ้านครเชียงใหม่ และน้อมนำคำรพต่อพระเจ้านครเชียงใหม่สืบไป"[3] นั้นชี้ชัดว่า เมื่อเชียงใหม่ยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรอังวะใน พ.ศ. 2101 แล้ว คงจะได้มอบหมายให้ขุนนางพม่าจำนวนหนึ่งคงอยู่ที่เวียงเชียงใหม่ แต่ขุนนางพม่าผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่นั้นจะไปตั้งฐานที่พำนักอยู่ที่ใด ในเมื่อภายในกำแพงเมืองเวียงเชียงใหม่นั้นมีวัดวาอารามและบ้านเรือนไพร่ฟ้าประชาชนปลูกอยู่เต็มไปหมด จึงคงจะมีแต่ "ข่วงหลวง" ที่ฝั่งตรงกันข้ามคุ้มแก้ว ที่เป็นพื้นที่ว่างที่กว้างขวางพอจะจัดเป็นค่ายพักแรมของขุนนางพม่านั้นได้ ชาวนครเชียงใหม่ในเวลานั้นจึงคงจะเรียกค่ายพำนักของขุนนางพม่านั้นว่า "เวียงหน้าคุ้มแก้ว" ซึ่งต่อมาถูกกร่อนเหลือเพียงแต่ "เวียงแก้ว" นอกจากนี้ แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ได้ระบุตำแหน่ง ขอบเขต รูปร่าง และชื่อ "เวียงแก้ว" อย่างชัดเจน[4]

ประวัติ[แก้]

ในอดีตเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงหอคำสมัยพระเจ้ากาวิละ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2339[5] ใช้เป็นคุ้มของพระเจ้าเชียงใหม่ต่อมา ทว่าตามธรรมเนียมล้านนาผู้ที่สามารถประทับบนหอคำได้ ต้องมีสถานภาพเป็นกษัตริย์ล้านนาเท่านั้น แต่เจ้าล้านนาในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยาม ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงรัตนโกสินทร์เสียก่อน ในประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมีพระเจ้าเชียงใหม่เพียง 4 พระองค์ คือ พระเจ้ากาวิละ (เจ้าหลวงองค์ที่ 1) พระเจ้ามโหตรประเทศ (เจ้าหลวงองค์ที่ 5) พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 6) และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 7)

ในสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 4 จึงให้สร้าง "หอเทียม" ทางทิศใต้ของหอคำของพระเจ้ากาวิละ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ครั้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ จึงได้โปรดให้สร้างหอคำประดับเกียรติยศ แทนหอเทียมของเจ้าพุทธวงศ์

ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่บริเวณข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม (โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ทำให้พื้นที่เวียงแก้วที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2339 ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 เป็นต้นมา และมีการรื้อหอคำ ในช่วงปี พ.ศ. 2418 - 2420 อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานว่ายังคงมีการใช้งานอยู่บ้าง อ้างอิงจากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ซึ่งระบุชื่อ "เวียงแก้ว" แต่ไม่มีคำว่า "ร้าง" ต่อท้ายน่าจะหมายถึงว่ายังมีการใช้งานอยู่บ้าง และยังพบว่ามีการจัดงานราชพิธีในปี พ.ศ. 2434[6] อีกด้วย

ในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2448 จึงมีการย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพมาใช้สถานที่ของ "เค้าสนามหลวง" เดิมทีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ มีดำริที่จะยกพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเค้าสนามหลวงด้านทิศใต้ ให้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ แต่ในห้วงเดียวกันเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ขอเวียงแก้วสำหรับสร้าง "คอกหลวง" หรือเรือนจำประจำมณฑลพายัพ แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าเรือนจำถูกสร้างขึ้นในปีใด แต่จากการสันนิษฐานจึงประมาณได้ว่าเรือนอาจถูกสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2459 - 2460[7] ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็น "เรือนจำกลางเชียงใหม่" จนในปี พ.ศ. 2544 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เข้ามาแทนที่จนถึงในปี พ.ศ. 2555 จึงมีการย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่[แก้]

ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ในราวปี พ.ศ. 2529 ชาวเชียงใหม่ได้เรียกร้องให้มีการคืนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นเดิม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี พ.ศ. 2532 ให้กรมราชทัณฑ์ คืนพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 จึงมีการคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน คือ "โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว พุทธมณฑลแห่งเชียงใหม่" งบประมาณ 150 ล้านบาท[8] ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเป็นสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่ (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวดำเนินโครงการ ข่วงหลวงเวียงแก้ว[9]

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีพิธีทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีทุบทำลายป้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการสิ้นสุดความเป็นทัณฑสถานของสถานที่แห่งนี้[10] กระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 จึงได้เริ่มต้นการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ประกอบกับแนวกำแพงเวียงแก้ว[11]

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างมีส่วนร่วมโดยการจัดประกวดการออกแบบข่วงหลวงเวียงแก้วเมื่อปี 2557[12] โดยผู้ชนะการประกวดแบบคือ นายกวิน ว่องวิกย์การ ซึ่งต่อมาได้มีการปรับแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่การขุดค้นทางโบราณคดี และเปิดให้ประชาชนได้ร่วมแลกเปลี่ยน[13]

โดยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดประกวดราคาก่อสร้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อปี 2560[14]

สถานที่ปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบันพื้นที่ของเวียงแก้วเดิมส่วนใหญ่ เป็นที่ดินราชพัสดุ อันเป็นที่ตั้งของ[15]

เวียงแก้วส่วนเหนือ
เวียงแก้วส่วนใต้
เวียงแก้วส่วนตะวันออก
  • บ้านเรือนประชาชน

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 “เวียงแก้ว” จาก “คุ้มหลวง” สู่ “คอกหลวง” นครเชียงใหม่. https://www.silpa-mag.com/history/article_5445
  2. "ล้านนาราชาชาตินิยม (3)". mgronline.com. 2013-03-04.
  3. พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. น. ๓๙๙.
  4. วรชาติ มีชูบท. ย้อนอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2560
  5. สงวน โชติสุขรัตน์. "ตำนานพิงคราชวงศ์ปกรณ์ ผูกที่ 7" ใน ประชุมตำนานล้านนาไทย
  6. ภูเดช แสนสา. คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว สัญญะขัติยะล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ : กองบุญหมื่นฟ้า. 2556
  7. วรชาติ มีชูบท. "เรือนจำในเวียงแก้ว".
  8. หนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร0705/202 ลงวันที่ 15 มกราคม 2556
  9. ประวัติความเป็นมา >> โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว[ลิงก์เสีย]
  10. ผวจ.เชียงใหม่นำขบวนรื้อคุกหญิงทำ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” เตรียมให้ศิลปากรศึกษาก่อนเดินหน้าก่อสร้าง[ลิงก์เสีย]
  11. ข่วงเวียงแก้ว พบของดีอื้อ ดินเผา-ถ้วยจีน นักโบราณคดีลุยขุด กำแพงเมืองโผล่อีก
  12. ประกวดออกแบบ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” คาดเริ่มสร้าง ก.ย.นี้
  13. ออกแบบล่าสุด "เวียงแก้ว" จ.เชียงใหม่
  14. โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว จ.เชียงใหม่ เสร็จแน่ เร่งขุดค้นก่อนรื้อคุกเนรมิตสวนกลางเมือง
  15. แผนที่กายภาพ แสดงแนวเขตที่ราชพัสดุ แปลง ชม.๑๖๑๒[ลิงก์เสีย] กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย