สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำหรับความหมายอื่น ดู คณะกรรมการกฤษฎีกา
ราชอาณาจักรไทย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
Seal of the Office of the Prime Minister of Thailand.svg
เครื่องหมายราชการ
Office of the Council of State 02.jpg
ที่ตั้งสำนักงาน
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2476
หน่วยงานก่อนหน้า
  • เคาน์ซิลออฟสเตต (พ.ศ. 2417)
  • คณะรัฐมนตรี (พ.ศ. 2437)
  • กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
  • กรมร่างกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
  • คณะกรรมการกฤษฎีกา (พ.ศ. 2476)
  • (รวม 149 ปี)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย เลขที่ 1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี482.6174 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ปกรณ์ นิลประพันธ์[2], เลขาธิการ
  • ศาสตราจารย์พิเศษ[3] ดร.วรรณชัย บุญบำรุง, รองเลขาธิการ
  • ภานุมาศ สิทธิเวคิน, รองเลขาธิการ
  • อัญชลิตา กองอรรถ, รองเลขาธิการ [4]
  • นพดล เภรีฤกษ์, รองเลขาธิการ
เว็บไซต์KRISDIKA.go.th

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (อังกฤษ: Office of the Council of State) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกฤษฎีกา สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย[แก้]

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ดังนี้

  1. รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
  2. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
  3. ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ
  4. ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านกฎหมายและการร่างกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทำความเข้าใจในด้านกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป
  6. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน
  7. จัดพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับ
  8. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  9. ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายต่างประเทศ และงานวิจัยกฎหมายหรือวิชาอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2545[5] ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมาย การใช้กฎหมายและการพัฒนากฎหมายให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการจัดทำร่างกฎหมาย
  2. ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ
  3. งานประสานการนิติบัญญัติ โดยการตรวจสอบดูแลงานกฎหมายของประเทศและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา
  4. จัดทำคำแปลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินและให้คำปรึกษาหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
  5. วิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและของสังคม แล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม
  6. การพัฒนาหลักกฎหมายปกครองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  7. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วให้บริการค้นคว้าแก่รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐและประชาชน
  8. ดำเนินการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน
  9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา[แก้]

พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร 11 บส.) มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผิดชอบขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง) และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้มีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร 10 บส.) เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ

ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นตำแหน่งที่มีลักษณะพิเศษกว่าตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานอื่น ๆ กล่าวคือ มาตรา 63 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ การร่างกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดิน อันรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และคณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงแต่งตั้งดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ[6]

รายนามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา[แก้]

นักกฎหมายกฤษฎีกา[แก้]

มาตรา 63/1 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551[7] ได้บัญญัติให้มีตำแหน่ง นักกฎหมายกฤษฎีกา ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานกฎหมายของรัฐ โดยตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกานี้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในทางนิติศาสตร์ การร่างกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านกฎหมายตามความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้นักกฎหมายกฤษฎีกาได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งในอัตราที่คำนวณแล้วไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนของข้าราชการอัยการ ทั้งนี้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง) กำหนด ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา พ.ศ. 2551[8] กำหนดให้นักกฎหมายกฤษฎีกามี 3 ชั้น ได้แก่ นักกฎหมายกฤษฎีกาชั้น 1, 2 และ 3 โดยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกาเมื่อคำนวณรวมกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษอื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินประจำตำแหน่งแล้วจะต้องเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 2 ขั้น 1 และให้ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้นตามระดับตำแหน่งและขั้นเงินเดือน แต่ค่าตอบแทนขั้นสูงต้องไม่เกินค่าตอบแทนของข้าราชการอัยการดังต่อไปนี้

  1. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 11 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 8 (อัยการสูงสุด)
  2. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 10 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 7 (รองอัยการสูงสุด)
  3. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 9 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 6 (อัยการพิเศษ)
  4. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 (เดิม) ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 4 (อัยการจังหวัด)
  5. นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ให้ได้รับค่าตอบแทนขั้นสูงไม่เกินค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 3 (อัยการประจำกรม)

อ้างอิง[แก้]