ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
Bunditpatanasilpa Institute of Fine Arts
ตราสัญลักษณ์
ชื่อย่อBPI
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541; 26 ปีก่อน (2541-11-02)[1]
สังกัดการศึกษากระทรวงวัฒนธรรม
สังกัดวิชาการ
  • คณะวิชา
  • วิทยาลัย
    15
      • วิทยาลัยช่างศิลป
        • วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี
        • วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช
      • วิทยาลัยนาฏศิลป
        • วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
        • วิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี
        • วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
        • วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช
        • วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา
        • วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง
        • วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด
        • วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี
        • วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย
        • วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
        • วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง
  • หน่วยงานสนับสนุน
    11
      • สำนักงานอธิการบดี
        • กองกลาง
        • กองกิจการนักเรียนนักศึกษา
        • กองนโยบายและแผน
        • กองบริหารทรัพยากรบุคคล
        • กองส่งเสริมวิชาการและงานวิจัย
      • กลุ่มตรวจสอบภายใน
      • กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ
      • กลุ่มนิติการ
      • กลุ่มประกันคุณภาพการศึกษา
      • กลุ่มศิลปวัฒนธรรม
งบประมาณ1,196,682,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
นายกสภาสถาบันศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
อธิการบดีนิภา โสภาสัมฤทธิ์[3]
อาจารย์327 คน (พ.ศ. 2566)[4]
บุคลากรทั้งหมด1,069 คน (พ.ศ. 2566)[4]
ผู้ศึกษา3,378 คน (พ.ศ. 2566)[5]
ที่ตั้ง
สี  สีเขียว
เว็บไซต์เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (อังกฤษ: Bunditpatanasilpa Institute of Fine Arts; ชื่อย่อ: BPI) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้พระราชทานนามสถาบัน ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" โดยมีหน้าที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมถึงศิลปวัฒนธรรม[6]

ประวัติ

[แก้]

นาม "บัณฑิตพัฒนศิลป์" เป็นนามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เดิมเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (และต่อมาได้โอนมาสังกัด กระทรวงวัฒนธรรม) ได้รับการสถาปนาขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2541[1] โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ทั้งไทยและสากล ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์นั้นได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยกรมศิลปากร ได้พยายามผลักดันเรื่องการยกระดับการศึกษาวิชาชีพพิเศษด้านนี้ขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีการประกาศจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โดยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2541 อันเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมให้สูงขึ้นถึงระดับปริญญา โดยเปิดดำเนินการสอนครั้งแรกใน 3 คณะวิชา คือ คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เป็นหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง (ปนส.) จากวิทยาลัยนาฏศิลปทุกแห่ง และผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรศิลปกรรมวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.) จากวิทยาลัยช่างศิลปทุกแห่ง

ในปีการศึกษา 2547 ได้ขยายการผลิตบัณฑิต โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ในคณะศิลปวิจิตรและคณะศิลปนาฏดุริยางค์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะศิลปศึกษา และเปิดห้องเรียนเครือข่ายคณะศิลปศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลปทุกแห่งในภูมิภาค ในปีการศึกษา 2548 คณะศิลปวิจิตรได้ขยายการผลิตบัณฑิต และเปิดห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี และปีการศึกษา 2554 เปิดห้องเรียนเครือข่ายเพิ่มขึ้นที่วิทยาลัยช่างศิลป และในปีการศึกษา 2550 คณะศิลปนาฏดุริยางค์ ได้ขยายการผลิตบัณฑิตและห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด

ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 32 วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[7] ส่งผลให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะถึงระดับปริญญาเอก และมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุในวัตถุประสงค์ของสถาบัน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 ที่ว่า "การศึกษาและส่งเสริมวิชาการ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพ ถึงวิชาชีพชั้นสูงด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอนการแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น" ดังนั้น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดการเรียนการสอนทั้งในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ปริญญาตรี (4 ปี) และปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะวิชา ในห้องเรียนเครือข่ายภูมิภาค และการจัดการศึกษาระดับพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะด้านและระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในวิทยาลัยนาฏศิลปและวิทยาลัยช่างศิลปรวม 15 แห่งด้วย โดยมีส่วนราชการที่จัดการศึกษาในสังกัดจำนวน 18 แห่ง ตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551[8]

ต่อมา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ได้มีนโยบายขยายโอกาสให้แก่บัณฑิตจากสถาบันฯ และสถาบันอื่นที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิตเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ และพัฒนาบุคลากรของสถาบันให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านศิลปะเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาต่อไปพัฒนาการจัดการศึกษาแก่หน่วยงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการโครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยและเริ่มจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาโทมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 ต่อมาในปีการศึกษา 2552 การจัดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขานาฏศิลป์ไทย และหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในการประชุมครั้งที่ 7/2552 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้รับคำรับรองจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ตามหนังสือที่ ศธ 0506(2)/2249 ในปีการศึกษา 2553 จึงได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท 2 สาขาวิชา คือ สาขานาฏศิลป์ไทยและสาขาดุริยางคศิลป์ไทย ปีการศึกษา 2558 เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโทเพิ่มในสาขาวิชาทัศ่นศิลป์ และในปีการศึกษา 2562 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก ศิลปดุษฎีบัณฑิต ในสาขานาฏศิลปไทย และสาขาดุริยางคศิลปไทย

สัญลักษณ์

[แก้]

"สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์" เป็นนามพระราชทานที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่สถาบัน ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศไทย เครื่องหมายของสถาบันฯ เป็นรูปพระพิฆเนศประทับนั่งในลักษณะเฉียงเล็กน้อยในกรอบวงกลม ด้านบนมีลวดลายไทยยกสูง ด้านล่างกรอบเป็นแถบริบบิ้น ภายในมีชื่อ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ความหมายของตราประจำสถาบัน พระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าของอินเดีย นับถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง ซึ่งหมายรวมถึงความเป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ความกล้าหาญ ตลอดจนเป็นผู้พิทักษ์ไว้ซึ่งความยุติธรรม นอกจากนี้ชาวฮินดูยังคงให้ความสำคัญกับพระพิฆเนศในฐานะเป็นเทพประจำความขัดข้องและเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้นพระพิฆเนศจึงได้นามเฉพาะว่า "วิฆเนศวร" หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในความขัดข้องหรืออุปสรรค และ "สิทธิดา" หมายถึงผู้อำนวยความสำเร็จผล ด้วยเหตุที่พระพิฆเนศมีคุณสมบัติและความสำคัญดังกล่าว ชาวฮินดูจึงคติเชื่อกันว่าเมื่อจะประกอบพิธีกรรมในลัทธิศาสนาหรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการ ต้องกล่าวคำไหว้บูชาต่อพระพิฆเนศก่อน เพื่อให้ปลอดภัยรอดพ้นจากความขัดข้องหรืออุปสรรคทั้งปวง ตลอดจนอำนวยพรให้เกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดีในกิจการต่าง ๆ

ลักษณะของพระพิฆเนศ มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว (บางรูปงาหักข้างขวาหรือซ้ายก็มี) เตี้ย พุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง (บางตำราว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง ตามปกติมี 4 กร บางตำราว่ามี 6 หรือ 8) ถืองาช้าง บ่วงบาศ งาหัก และขนมโมทก (ขนมต้ม) บางตำราว่าถืออาวุธ และวัตถุแตกต่างกัน เช่น ถือชาม ขนมโมทก หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู คฑา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจาร และสมุดหนังสือ เป็นต้น

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้]
ไฟล์:พระราชทานปริญญาบัตรพัฒนศิลป์.jpg
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประจำปีการศึกษา 2552

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จะได้เข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๗๙ ก หน้า ๑๓ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗๑, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๒๐ ง หน้า ๒๒ ๖ กันยายน ๒๕๖๐
  4. 4.0 4.1 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, รายงานประจำปี 2566 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  5. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  6. พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๗๕ ก หน้า ๒๒ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑
  7. พระราชบัญญัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๑ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
  8. กฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]