อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มนำแม่ฝางท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ท้องที่ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 455.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 284,937.5 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในเแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของน้ำแม่ลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม โดยจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน กันยายน
  • ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ เป็นช่วงอากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยว
  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 11.8 องศาเซลเซียส และสูงสุด 36.3 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน

พืชพรรณและสัตว์ป่า[แก้]

สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งป่าแต่ละชนิดเหล่านี้จะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในเขตอุทยานแห่งชาติตามระดับความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ยาง ประดู่ ตะแบก เต็ง รัง จำปีป่า สนสามใบ ก่อชนิดต่างๆ มอส เฟิร์น กล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและหายากของเมืองไทยอาทิ เช่น มณฑาดอย กุหลาบพันปี กายอม ซึ่งสามารถพบเห็นได้บนยอดดอยเวียงผา

เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และขึ้นผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 300-1,834 เมตร จึงทำให้เกิดแหล่งอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบด้วย เก้ง หมูป่า เลียงผา เสือไฟ หมีควาย เม่น กระต่ายป่า ลิง อีเห็น กระรอก กระแต และนกนานาชนิด เช่น นกกางเขนดง นกพญาไฟ นกโพระดก นกกินปลี นกหัวขวาน ไก่ป่า และที่สำคัญยังสามารถพบเห็นซาลาแมนเดอร์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

อ้างอิง[แก้]