การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย | |
---|---|
Mass Rapid Transit Authority of Thailand | |
![]() | |
สัญลักษณ์ของ รฟม. มีลักษณะคล้ายลายเฉลว | |
ที่ทำการ | |
175 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 | |
ภาพรวม | |
วันก่อตั้ง | 21 สิงหาคม พ.ศ. 2535 (28 ปี) |
สืบทอดจาก | องค์การรถไฟฟ้ามหานคร |
งบประมาณ | 21,064.6757 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1] |
รัฐมนตรี | ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, รัฐมนตรี ถาวร เสนเนียม, รัฐมนตรีช่วย อธิรัฐ รัตนเศรษฐ, รัฐมนตรีช่วย |
ผู้บริหารหลัก | ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, ผู้ว่าการ ธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล, รองผู้ว่าการ ณฐมณ บุนนาค, รองผู้ว่าการ ฤทธิกา สุภารัตน์, รองผู้ว่าการ วิทยา พันธุ์มงคล, รองผู้ว่าการ กิตติกร ตันเปาว์, รองผู้ว่าการ |
ในกำกับดูแลของ | กระทรวงคมนาคม |
เว็บไซต์ | |
http://www.mrta.co.th |
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (อังกฤษ: Mass Rapid Transit Authority of Thailand ย่อว่า MRTA) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีภาระหน้าที่ในการจัดให้มี และให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และตามหัวเมืองหลัก ในจังหวัดอื่นๆ
ประวัติ[แก้]
![]() |
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 ในชื่อ องค์การรถไฟฟ้ามหานคร มีชื่อภาษาอังกฤษคือ Metropolitan Rapid Transit Authority จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ 2535[2] โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์ในการจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้รถไฟฟ้า
ในภายหลังได้มีการออก พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2543 โดยมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น องค์การรถไฟฟ้ามหานครจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีชื่อภาษาอังกฤษคือ "Mass Rapid Transit Authority of Thailand" หรือย่อได้เป็น "MRTA"[3]
พระราชบัญญัติฉบับใหม่ดังกล่าวยังให้อำนาจหน้าที่ รฟม. เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น มีอำนาจกำหนด "เขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า" เพื่อคุ้มครองอุโมงค์และสิ่งก่อสร้างใต้ดิน และกำหนดเขต "ระบบรถไฟฟ้า" เพื่อคุ้มครองดูแลคนโดยสารรถไฟฟ้า และระบบรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังให้ รฟม. สามารถหารายได้ทางอื่นนอกจากค่าโดยสาร และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การให้บริการรถไฟฟ้า และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งอาจดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดอื่นตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้อำนาจด้วย [4]
คณะกรรมการ[แก้]
- นาย สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ[5]
- ศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศ กรรมการ[6]
- นาย พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล กรรมการ
- นาย วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการ
- นาง พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ
โครงการในความรับผิดชอบ[แก้]
กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง[แก้]
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้ชื่อว่า รถไฟฟ้ามหานคร แบ่งเป็นหลายสาย ดังนี้
- รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เป็นสัมปทานของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2547
- ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-เตาปูน เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2560
- ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2562
- ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2562
- รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เป็นโครงการที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง
- ช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถ
- ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ - ครุใน อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประกวดราคา
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม
- ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - แยกร่มเกล้า อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาที่ 1-6[7]
- ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์ อยู่ระหว่างการเปิดประกวดราคาการก่อสร้างงานโยธาและงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าพร้อมกับงานเดินรถของทั้งสองช่วง
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) เป็นสัมปทานของ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) เป็นสัมปทานของ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (ช่วงแคราย-บึงกุ่ม) อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด
จังหวัดเชียงใหม่[แก้]
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เข้าไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนสามสายทาง ดังนี้
- รถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ - แยกพรอเมนาดา)
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงท่าอากาศยานเชียงใหม่ - แยกรวมโชค)
ปัจจุบันทั้งสามสายทางยังอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด และรับฟังความเห็นจากประชาชน
จังหวัดภูเก็ต[แก้]
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เข้าไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดภูเก็ต โดยมีเส้นทางทั้งหมดสองช่วง ดังนี้
- ช่วงห้าแยกฉลอง - ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
- ช่วงสถานีรถไฟท่านุ่น - ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
ปัจจุบันทั้งสองช่วงยังอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
- ↑ พระราชบัญญตัองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. 2535
- ↑ พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543
- ↑ http://www.mrta.co.th/about_mrta.htm
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/303/1.PDF
- ↑ โครงการส่วนต่อขยายและสายใหม่ - การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ดูเพิ่ม[แก้]
- โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง
- รถไฟฟ้าในประเทศไทย
- รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่
- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย