เวียงเจ็ดลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เวียงเจ็ดลิน (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นเวียง (เมือง) ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ เป็นเวียงที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา

ภาพถ่ายทางอากาศของเวียงเจ็ดลิน

คำว่า ลิน หมายถึง รางริน และ คำว่า “เจ็ดลิน” ก็หมายความถึง รางรินทั้งเจ็ด แต่จะหมายถึง มีรางรินอยู่ 7 แห่ง หรือว่า มีรางรินอยู่ทั้งหมด 7 ราง ก็จะต้องค้นหาหลักฐานกันต่อไป แต่บางตำราสันนิษฐานว่าในเวียงดังกล่าว มีแม่น้ำ หรือคลองส่งน้ำจำนวน 7 สาย

ที่ตั้ง[แก้]

เวียงเจ็ดลิน ในปัจจุบันมีถนนห้วยแก้ว ตัดผ่าน และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ สวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การส่งเสริมการโคนมภาคเหนือ (อสค.) โรงงานผลิตนมของโครงการโคนมไทย–เดนมาร์ก สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ สวนรุกขชาติห้วยแก้ว ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ เป็นต้น

ลักษณะกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขา มีพื้นที่สูงด้านตะวันตกและลาดเทมาทางตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันตกสูงกว่าบริเวณอื่นมาก ทำให้ด้านนี้ไม่จำเป็นต้องมีคันดิน ส่วนด้านอื่น ๆ เป็นคันดินสองชั้น มีคูน้ำอยู่ระหว่างกลาง แต่ปัจจุบันบางแห่งถูกทำลายลง แต่คันดินที่สมบูรณ์จะอยู่บริเวณสวนรุกขชาติห้วยแก้ว ส่วนคันดินชั้นนอกถูกทำลายลงไปมากแต่ยังพอเห็นได้ในบางช่วง

รูปร่างของเวียงเจ็ดลิน เป็นรูปวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 900 เมตร

เวียงเจ็ดลินในตำนาน[แก้]

ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินคือ ตำนานสุวรรณคำแดง และตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ที่ได้อธิบายถึงการก่อร่างสร้างเมืองของชนพื้นเมืองในแถบดอยสุเทพ ซึ่งในตำนานย้อนไปถึงเรื่องราวของเจ้าหลวงคำแดง อันเป็นอารักษ์ของเมืองเชียงใหม่ ว่าได้เดินทางตามเนื้อทรายทอง มาถึงดอยสุเทพ และได้มีลูกกับนางผมเฝือและนางสาดกว้าง จากนั้นก็สร้างเมือง “ล้านนา”ให้ลูกได้อยู่จากนั้นก็ได้กลับไปยังดอยหลวงเชียงดาว

เมืองที่เจ้าหลวงคำแดงได้สร้างนั้น ต่อมาได้ล่มเป็นหนองใหญ่ แล้วก็ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอีกเมือง ชื่อว่า “เมืองนารัฏฐะ” โดยมีเจ้าเมืองชื่อว่า “มินนราช” สืบมาจนถึงสมัยของ “พระยามุนินทพิชชะ” คนไม่มีศีลไม่มีสัจ เจ้าเมืองขาดคุณธรรม ทำให้อารักษ์และเชนบ้านเชนเมืองไม่พอใจ บันดาลให้เมืองล่มลงเป็นคำรบสอง

ถัดมาก็ไปสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งอยู่ทางตะวันออกของตีนดอยอุสุปัพพตา นามว่า “เวียงเชฏฐบุรี” หรือ “เวียงเจ็ดลิน” ซึ่งขณะนั้นมีทั้งไทยและลัวะอยู่ด้วยกัน ฝ่ายข้างไทย มีพระยาสะเกต เป็นหัวหน้า ฝ่ายลัวะมีพระยาวีวอเป็นหัวหน้า

เวียงเชฏฐปุรีนี้มีผู้ปกครองสืบมา 14 ท้าวพระญา ก็ถูกผีขอกฟ้าตายืน มาล้อมเวียงทำให้ชาวเมืองเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอันมาก ยามนั้นเจ้ารสี จึงขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพระยาอินทาธิราช พระยาอินท์จึงให้ชาวลัวะทั้งหลายถือ ศีล 5 ศีล 8 เมื่อนั้นผีทั้งหลายก็ไม่มาเบียดเบียนอีกต่อไป และนอกจากนี้ พระอินทร์ก็ยังให้ลัวะ 9 ตระกูลดูแลรักษา ขุมเงิน ขุมคำ (ทอง) และขุมแก้ว บ้านเมืองเจริญและบ้านเมืองขยายมากขึ้น

จากเวียงเชฏฐปุรีจึงขยายไปสร้างเวียงใหม่อีกสองแห่งคือ “เวียงสวนดอกไม้หลวง” และ “เมืองล้านนานพบุรี” ตามลำดับ สำหรับตำนานจะกล่าวถึงเวียงเจ็ดรินหรือเวียงเชฏฐปุรีเพียงเท่านี้ จากนั้นจะเป็นเรื่องราวของเสาอินทขีลต่อไป

นอกจากตำนานนี้แล้ว เวียงเจ็ดลิน หรือเวียงเชฏฐปุรี ยังกล่าวถึงในตำนานของขุนหลวงวิรังคะ อันเป็นเจ้าแห่งลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ ที่ทำการสู้รบกับหริภุญไชย ด้วยเหตุที่พระนางจามเทวีไม่ตอบรับจิตปฏิพัทธ์ซ้ำยังดูหมิ่น จึงยกทัพเพื่อจะมาต่อท้ากับเมืองหริภุญไชย แต่สุดท้ายก็พ่ายให้กับสองโอรสฝาแฝดของพระนางจามเทวี

จากเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า เวียงเจ็ดลิน เป็นเมืองที่มีการพัฒนาและเจริญมาในระดับหนึ่งในเชิงดอยสุเทพ และจากตำนานชี้ให้เห็นว่า การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในดินแดนนี้มาเนิ่นนานแล้ว


เวียงเจ็ดลินนับจากสมัยพญาสามฝั่งแกน[แก้]

เวียงเจ็ดลินที่เห็นในปัจจุบันนี้ สร้างในสมัยของพญาสามฝั่งแกน ในปี พ.ศ. 1954 เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในคราวที่ท้าวยี่กุมกามพี่ชาย ได้ชักชวนพญาไสลือไทแห่งสุโขทัย ยกทัพมาตีเชียงใหม่ และมาตั้งทัพอยู่บริเวณเชิงดอยเจ็ดลิน อันเป็นบริเวณเวียงเจ็ดลิน

เมืองเชียงใหม่ จึงทำการตั้งกองทัพ โดยใช้เกวียน 200 เล่มตั้งเรียงรายจากแจ่งหัวลินไปทางเชิงดอยเจ็ดลิน ทำให้พญาไสลือไท มีความเกรงกลัวจึงยกทัพหนีกลับไปยังสุโขทัย ทำให้พญาสามฝั่งแกน เอาเหตุอันที่พญาไสลือไท พ่ายกลับไป จึงสร้างเวียงยังที่ตั้งทัพนั้นเอง การสร้างเวียงเจ็ดลินใช้ผังเมืองเป็นรูปวงกลม เพราะเวลามีข้าศึก จากศูนย์กลางไปยังกำแพงเมืองจะใช้เวลาพอ ๆ กันทุกทิศทาง ทำให้การป้องกันเมืองทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การศึกบริเวณดอยเจ็ดลินครั้งนี้ ทำให้ก่อให้เกิดตำแหน่งขุนนาง หนึ่งในสี่ขุนนางสำคัญ นั่นคือตำแหน่ง “เด็กชาย” นอกเหนือจากตำแหน่ง “สามล้าน – แสนพิงไชย – จ่าบ้าน” ด้วยเหตุที่มีหนุ่มวัย 16 ผู้หนึ่งนาม "เพ็กยส" มีความกล้าหาญไปสอดแนมทัพของท้าวยี่กุมกามและพญาไสลือไท และได้ตัดหัวข้าศึกมาถวาย พญาสามฝั่งแกนจึงให้ตำแหน่งเป็น “เด็กชาย” สืบมาถึงปัจจุบัน

เมื่อพญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงเจ็ดลินแล้ว ก็ใช้เป็นที่ประทับพักผ่อน และได้ประทับที่เวียงนี้มากกว่าที่จะประทับอยู่ในเวียงเชียงใหม่ จนเป็นเหตุให้ท้าวลก ได้ลุกมาชิงอำนาจเป็นพระเจ้าติโลกราชได้

เวียงเจ็ดลินก็ยังมีความสำคัญอยู่เสมอมา ด้วย “น้ำ” ที่เวียงเจ็ดลินนี้ ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อนึ่งได้รับน้ำจากดอยสุเทพ และ ศูนย์กลางของเมืองก็ยังเป็นแหล่งน้ำผุด และมีรสชาติโอชา ในสมัยของพญายอดเชียงราย ได้นำน้ำจากเวียงเจ็ดลิน มาทำน้ำอบเพื่อส่งไปเป็นน้ำสรงพระธาตุดอยตุง

ในสมัยของพระมหาเทวีจิระประภา พระไชยราชากษัตริย์แห่งอยุธยา ได้ยกทัพเพื่อที่จะมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยนโยบายทางการเมืองของพระมหาเทวี จึงได้ผูกไมตรีเป็นพันธมิตรกับพระไชยราชา และได้พาเสด็จมายังเวียงเจ็ดลินนี้ด้วยเช่นกัน

เวียงเจ็ดลินยังมีความสำคัญมาจนถึงสมัยของเจ้าเจ็ดตน ดังสมัยของเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. 2369 – 2389) ก็มาประทับที่เวียงเจ็ดลิน ในระหว่างที่มีเคราะห์ และในระหว่างปี พ.ศ. 2458พ.ศ. 2468 เวียงเจ็ดลินก็ใช้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ด้วยเช่นกัน

ข้อสันนิษฐานของวัตถุประสงค์การสร้างเวียงเจ็ดลิน[แก้]

  1. เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกที่จะมารุกรานเชียงใหม่ ในสมัยของพญาสามฝั่งแกน ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20
  2. เพื่อเป็นพระราชวัง ในการแปรพระราชฐานของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดังหลักฐานในการเสด็จย้ายเคราะห์มาประทับ ณ เวียงเจ็ดลินเป็นระยะนับแต่พญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. 1954) ถึงเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ. 2369 – 2389)
  3. เป็นเขตพุทธาวาส ในเวียงเจ็ดลินมีวัดอยู่ทางทิศตะวันตกของเวียง หันหน้าลงสู่ทิศตะวันออกของเวียง ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหมูบุ่น ซึ่งมีเพียงวัดเดียวในเวียงแห่งนี้
  4. เพื่อการบูชาเทพเจ้า จากหลักฐานที่ค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2525 มีการขุดสระน้ำขึ้นในเวียงเจ็ดลิน พบแท่งศิลากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ซม. ความยาว 80 ซม. ส่วนที่พบหักออกจากแท่นเดิมสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นเสาหลักเมือง
  5. เพื่อเป็นสุสานบรรพบุรุษของชนลัวะ จากหลักฐานที่พบในปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมา ชนลัวะนิยมทำหลุมศพเป็นวงกลมดังเช่นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และพบว่าบริเวณทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในศูนย์ราชการปศุสัตว์ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณมากมาย ทั่วบริเวณทุ่งหญ้าเหล่านั้น
  6. เพื่อเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากที่มาของน้ำทั้ง 7 ลิน ที่ไหลมาจากดอยอุฉุปัพฉบรรพต (ดอยอ้อยช้าง, ดอยสุเทพ) นำมาไว้ในเวียงเจ็ดลิน รวมกับขุนน้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น การสรงมุรธาภิเษก เสด็จขึ้นครองเมืองของกษัตริย์ล้านนา

อ้างอิง[แก้]

  • พลเมืองเหนือ ปีที่ 4 ฉบับที่ 218 ประจำวันที่ 13 – 19 กุมภาพันธ์ 2549 หน้า 33