กฤษณา ไกรสินธุ์
กฤษณา ไกรสินธุ์ | |
---|---|
เกิด | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | เภสัชกร, อาจารย์ |
บุพการี |
|
เว็บไซต์ | www |
ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495[1] เป็นเภสัชกรชาวไทยที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย กฤษณาเป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาและมารดาเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขทั้งคู่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอประกอบวิชาชีพทางสาธารณสุขเช่นกัน
กฤษณา ไกรสินธุ์ จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร หลังจากจบการศึกษาแล้ว กฤษณาได้กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาได้ทำงานในองค์การเภสัชกรรมและเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเอดส์จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา[2] เธอดำรงตำแหน่งสุดท้ายในองค์การเภสัชกรรมคือผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
ภายหลังลาออกจากองค์การเภสัชกรรม กฤษณาได้เริ่มต้นการทำงานในประเทศคองโกเป็นประเทศแรก และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ "Afrivir" โดยมีส่วนผสมเหมือนยาที่ผลิตในประเทศไทย หลังจากนั้นก็ได้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกากว่าอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเอริเทรีย แทนซาเนีย เบนิน และไลบีเรีย
ผลงานของกฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นที่สนใจในวงกว้างขึ้น เมื่อมีการนำไปตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของบทความภาษาเยอรมัน และมีการสร้างภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติของเธอ เรื่อง อะไรต์ทูลิฟ - เอดส์เมดิเคชันฟอร์มิลเลียนส์ (อังกฤษ: A Right to Live - Aids Medication for Millions) ในปี พ.ศ. 2549 รวมถึงการสร้างภาพยนตร์บรอดเวย์ชื่อ คอกเทลล์ (อังกฤษ: Cocktail) ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547[3] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551[4] และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552[5] ปัจจุบันกฤษณาดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต[6][7]
ประวัติ
[แก้]วัยเยาว์และชีวิตการทำงานในไทย [2495 - 2545]
[แก้]กฤษณาเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นบุตรของร้อยตรี นายแพทย์ สมคิด และนางเฉลิมขวัญ ไกรสินธุ์ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ประกอบทางวิชาชีพทางสาธารณสุข บิดาเป็นแพทย์และมารดาเป็นพยาบาล ส่วนอาคือ พลเรือโท อรุณ ไกรสินธุ์ รับราชการทหารเรือ(ถึงแก่อนิจกรรม[8] วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554[9]) กฤษณาเติบโตในวัยเยาว์ที่เกาะสมุย จนกระทั่งย้ายเข้ามาศึกษาระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชินี และเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นเธอได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ สหราชอาณาจักร ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้วเธอได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมีในปี พ.ศ. 2524 ก่อนจะลาออกมาทำงาน ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
กฤษณาเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" เป็นครั้งแรกในโลก ในปี พ.ศ. 2538 โดยประสบความสำเร็จในการผลิตยาชนิดแรกคือ "ZIDOVUDINE" (AZT) มีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ภายหลังการค้นคว้าวิจัยต่อยากว่า 3 ปี (พ.ศ. 2536 - 2538) หลังจากนั้นเธอได้ริเริ่มผลิตยาอีกหลายชนิด โดยเฉพาะยา "GPO-VIR" หรือยาต้านเอดส์สตรีคอกเทลล์ ซึ่งเป็นการรวมตัวยารักษาโรคเอดส์กว่า 3 ชนิดในเม็ดเดียวเป็นครั้งแรกในโลก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2542 องค์การอนามัยโลกเชิญกฤษณาไปที่ทวีปแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือด้านเภสัชกรรม หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2545 กฤษณาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
งานในทวีปแอฟริกา [2545 - ปัจจุบัน]
[แก้]ภายหลังกฤษณาลาออกจากสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมแล้วนั้น เธอได้เดินทางไปยังประเทศคองโกโดยลำพัง เพื่อตั้งโรงงานเภสัชกรรมแห่งแรกที่นั่น ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี และประสบความสำเร็จในการผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ชื่อ "Afrivir" อันมีส่วนผสมของตัวยาเหมือนยาในประเทศไทย ซึ่งผลิตขึ้นได้ครั้งแรกในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นได้เดินทางไปช่วยเหลืองานทางเภสัชกรรม ณ ประเทศแทนซาเนีย โดยสามารถวิจัยและผลิตยา "Thai-Tanzunate" ในประเทศแทนซาเนียได้สำเร็จ อันเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคระบาดในทวีปแอฟริกา และเดินทางช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศอิริคเทอร์เรีย ประเทศเบนิน และประเทศไลบีเรีย
กฤษณาทำงานตามตารางงานของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งไม่มีความแน่นอน ในวันหนึ่งๆ เธออาจพักแรม ณ ประเทศหนึ่งและทำงานในอีกประเทศหนึ่ง ผลงานการทำงานของเธอได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับหนึ่ง ทำให้มีบุคคลสนใจในงานของเธอ และได้มีการนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง อะไรต์ทีลีฟ - เอดส์เมดิเคชันออฟมิลเลียนส์ (อังกฤษ: A Right to Live - Aids Medication for Millions) ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งได้รับรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์กว่า 3 รางวัล[10][11] รวมถึงการสร้างภาพยนตร์บรอดเวย์สหรัฐอเมริกาชื่อ คอกเทลล์ (อังกฤษ: Cocktail) ในเปิดแสดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550[12] นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547 [13] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551[14] รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี[2] และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552[11]
กฤษณายังได้รับปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิติตมาศักดิ์จากวิทยาลัย Mount Holyoke สหรัฐอเมริกา และเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยสตราห์ไคลด์ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินีประจำปี นักศึกษาเก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันกฤษณาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และยังคงทำงานช่วยเหลือด้านเภสัชกรรมแก่ประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาองค์กรช่วยเหลือด้านยาของเยอรมนี[2] [15][16]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]กฤษณาเติบโตในครอบครัวซึ่งบิดาและมารดาทำงานในด้านสาธารณสุข ทำให้เธอได้รับแรงบันดาลใจและตัวอย่างจากบิดามารดา เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วนั้น เธอเข้าศึกษาต่อในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อจบการศึกษาเธอต้องการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิดจึงกลับไปเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งขณะนั้น ศาสตร์ด้านเภสัชเคมีไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก[12]
เธอกล่าวว่าเธอมีจุดอ่อนในเรื่องของเด็กๆ เมื่อเธอเห็นเด็กจะสงสารอยู่เสมอ เมื่อได้รับทราบข่าวการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจขึ้นในการพัฒนายาเอดส์[12] แม้จะประสบอุปสรรคขัดขวางทั้งจากในและนอกองค์กร อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2538 เธอก็สามารถผลิตยาสามัญ "ยาเอดส์" ได้
เมื่อเธอเห็นว่าความช่วยเหลือเป็นไปได้ดีแล้วนั้น ในปี พ.ศ. 2542 เธอเกิดแรงบันดาลใจต้องการช่วยเหลือประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา เมื่อองค์การอนามัยโลกทราบเจตนารมณ์ดังกล่าวของเธอ จึงเชิญให้กฤษณาร่วมดูงานในทวีปแอฟริกาเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยียาไวรัสเอดส์ หลังจากนั้นเธอจึงลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรมเพื่อทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติในทวีปแอฟริกาในปี พ.ศ. 2545
การทำงานในแอฟริกาเธอประสบปัญหามากมาย เธอถูกจี้ปล้นในระหว่างการเดินทางและถูกยิงระเบิดที่บ้านพักแต่ระเบิดนั้นพลาดเป้า[12] ผลงานของเธอได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในฝรั่งเศสและเยอรมนี การสร้างละครบรอดเวย์เรื่อง คอกเทลล์ ในสหรัฐอเมริกา และการสร้างละครเวที นางฟ้านิรนาม โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[17]
ชีวิตครอบครัว กฤษณาไม่ได้สมรส อาศัยอยู่กับญาติในบางครั้งเพราะทำงานส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา เธอกล่าวว่า "เราควรทำวันนี้ให้เหมือนกับวันสุดท้ายของชีวิต เพราะนั้นแปลว่าเราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพราะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้แก้ตัวอีกต่อไปแล้ว"[18]
งานเขียน
[แก้]- เภสัชกรยิปซี (2550) สำนักพิมพ์ลิปส์พับลิชชิง, กรุงเทพมหานคร.
- เภสัชกรยิปซี 2 : ประเทศแทนซาเนีย (2552) สำนักพิมพ์ลิปส์พับลิชชิง, กรุงเทพมหานคร.
- เภสัชกรยิปซี 3 : มนตราซาเฮล (2552)affarica ตะวันตก 4 ประเทศ อันได้แก่ เซเนกัล แกมเบีย บูร์กินาฟาโซ และมาลี, เชียงใหม่.
- เภสัชกรยิปซี 4 : shining black star (2553) ประเทศเคนย่า, สำนักพิมพ์ postbook, กรุงเทพมหานคร.
เกียรติยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2550 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2545 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2552 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)[19]
- พ.ศ. 2545 –
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
รางวัล
[แก้]ปีได้รับรางวัล | รางวัล |
---|---|
พ.ศ. 2553 | "รางวัลสตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล เนื่องในวันสตีสากลประจำปี 2553" สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประเทศไทย |
พ.ศ. 2553 | "รางวัลบุคคลคุณภาพแห่งปี 2010 สาขาวิทยาศาสตร์" มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย |
พ.ศ. 2552 | "รางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ" มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ |
พ.ศ. 2552 | "เภสัชกรเกียรติยศ" สมาคมเภสัชกรโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย |
พ.ศ. 2552 | "รางวัลพลเมืองดีเด่น" สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย |
พ.ศ. 2551 | "รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม" โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี |
พ.ศ. 2551 | "ชาวเอเชียแห่งปี 2008" นิตยสารรีเดอร์สไดเจสต์ |
พ.ศ. 2550 | "Speaker for the Chancellor’s Distinguished Lectureship Series" (Louisiana State University’s premier lecture series), มหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนาสเตจ สหรัฐอเมริกา |
พ.ศ. 2548 | "Reminders Day AIDS Award" (ReD Awards), เบอร์ลิน เยอรมนี |
พ.ศ. 2547 | "นักวิทยาศาสตร์โลก" The Letten Foundation, for outstanding scientific contribution in the field of HIV/AIDS, นอร์เวย์ |
พ.ศ. 2544 | "เหรียญทองยูเรก้า" นิทรรศการนวัตกรรมโลกครั้งที่ 50, สถาบันวิจัยเทคโนโลยีใหม่ กรุงบรัสเซล เบลเยียม |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุขสันต์วันเกิดแด่เภสัชกรยิปซี[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ 2.0 2.1 2.2 เภสัชกรยิปซี 2 : ประเทศแทนซาเนีย[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Commencement เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Mount Holyoke College เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Asian of the Year: The Medicine Maker เก็บถาวร 2009-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ อยากประกาศให้โลก (คนไทย) รู้.."ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" เภสัชกร..ผู้ปิดทองหลังพระ จากบล็อกของโอเคเนชัน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ คณะกรรมการจัดการประชุมเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี "บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม"; กรุงเทพฯ, 2552.
- ↑ คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม 2554 กรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยรังสิต
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-08-19.
- ↑ พลเรือโท อรุณ ไกรสินธุ์ รับราชการทหารเรือ[ลิงก์เสีย]
- ↑ เจาะชีวิตฉายา 'เภสัชกรยิปซี 'ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์' 'บุคคลแห่งปีเอเชีย' นักสู้เอดส์ Nathon City เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ 11.0 11.1 อยากประกาศให้โลก (คนไทย) รู้.."ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" เภสัชกร..ผู้ปิดทองหลังพระ จากบล็อกของโอเคเนชัน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิง ผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่เร่ร่อนไปทั่วแอฟริกา เก็บถาวร 2009-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน PHA เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Commencement เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Mount Holyoke College เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Asian of the Year: The Medicine Maker เก็บถาวร 2009-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ คณะกรรมการจัดการประชุมเตรียมการสมัชชาเภสัชกรรมไทย 100 ปี (พ.ศ. 2556) การประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย 96 ปี "บทบาทเภสัชกรในการผลิตยาเพื่อสังคม"; กรุงเทพฯ, 2552.
- ↑ คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม 2554
- ↑ โอเคเนชัน ละครนางฟ้านิรนาม เรื่องราวชีวิต-ผลงาน"เภสัชกรยิปซี" ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ /อักษร จุฬาฯ 30 ส.ค.52 และรวมข่าว ดร.กฤษณา เรียกข้อมูลวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552
- ↑ นิตยสารคู่สร่างคู่สม ฉบับที่ 565. กรุงเทพมหานคร : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2550.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2552
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์หลัก เก็บถาวร 2009-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Krisana Kraisintu ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- One Woman’s Quest To Fight AIDS เก็บถาวร 2013-01-31 ที่ archive.today
- เจาะชีวิตฉายา 'เภสัชกรยิปซี 'ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์' 'บุคคลแห่งปีเอเชีย' นักสู้เอดส์ เก็บถาวร 2008-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่กันยายน 2024
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2495
- บุคคลจากอำเภอเกาะสมุย
- เภสัชกรชาวไทย
- อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์
- บุคคลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บุคคลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ภ.
- ศาสตราจารย์
- บุคคลจากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- นักวิชาการจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี