สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
ชื่อย่อสทญ. / TNI
คติพจน์สร้างนักคิด ผลิตนักปฏิบัติ
สร้างนักประดิษฐ์ ผลิตนักบริหาร
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
สถาปนา29 กันยายน พ.ศ. 2549 (17 ปี)
นายกสภาฯจิระพันธ์ อุลปาทร
อธิการบดีรศ.กฤษดา วิศวธีรานนท์
ผู้ศึกษา3,483 คน (2563)[1]
ที่ตั้ง
1771/1 ซอยพัฒนาการ 37 ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
ต้นไม้ชมพูพันธุ์ทิพย์
สี   น้ำเงิน-แดง
เว็บไซต์www.tni.ac.th

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (ส.ท.ญ.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อปี พ.ศ. 2549[2] ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม และวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดสอนภาษาต่างประเทศ การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

ประวัติ[แก้]

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจ และความเสียสละของกลุ่มบุคคลที่เคยไปศึกษาและฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก อาจารย์โงอิจิ โฮซุมิ อดีตประธานคณะกรรมการสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ส.ส.ท.ได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินกิจกรรมจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและ อุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส.ส.ท.ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่บุคลากรไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของส.ส.ท.มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงในหลายด้าน อาทิเช่น การจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การจัดสอนภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากมาย จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการฝึกอบรมวิชาการสาขาต่างๆ ให้กับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา จึงทำให้ ส.ส.ท.มีดำริที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางขึ้น เพื่อป้อนบุคลากรให้แก่สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทย และในปี พ.ศ. 2548 ส.ส.ท.จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในนาม “สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น” โดยใช้คำย่อว่า ส.ท.ญ. หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai-Nichi Institute of Technology” โดยใช้คำย่อว่า “TNI” แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับนักศึกษาในปี พ.ศ. 2550

สัญลักษณ์และสีประจำสถาบันฯ[แก้]

ตราสัญลักษณ์ TNI

ความหมายของเครื่องหมาย[แก้]

ฟันเฟือง หมายถึง การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นคุณลักษณะของสถาบันฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่จะต้องมีความทันสมัย และพัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

สัญลักษณ์ตัวอักษร A ที่มีรูปทรงคล้ายหน้าจั่วทรงไทย หมายถึง การเป็นสถาบันฯ แห่งภูมิภาคเอเชียที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่วนปลายยอดทะลุฟันเฟืองออกไป แสดงถึงองค์ความรู้และปัญญาที่ไม่มีกรอบ ไม่มีพรมแดน ซึ่งแทนความเป็นสถานศึกษาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ไร้พรมแดน

สีประจำสถาบันฯ[แก้]

สีน้ำเงิน เป็นสีประจำ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นองค์การผู้ก่อตั้งและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากนี้สีน้ำเงินยังหมายถึง สติปัญญา ความกว้างไกล ความสูงส่งและมีเกียรติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้สถาบันฯ แห่งนี้ เป็นสถานศึกษาที่ส่งเสริมการศึกษาของบุคลากรของไทยให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้และสติปัญญาที่กว้างไกล สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ด้วยความภาคภูมิ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี

สีแดง เป็นสีของพระอาทิตย์และทิศตะวันออก ซึ่งบ่งบอกความเป็นสถาบันฯ ที่มุ่งสั่งสมและถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ปรัชญา และเทคโนโลยีตะวันออก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น นอกจากนี้สีแดง ยังเป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ และคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฯ เป็นบุคลากรที่มีคุณธรรม มีความสำเร็จ สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเอง องค์การ และประเทศชาติ

หลักสูตรที่เปิดสอน[แก้]

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เปิดหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท โดยมี 3 คณะที่บริหารหลักสูตรและดำเนินการจัดการเรียนการสอน คือ

  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Faculty of Engineering)
  2. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (Faculty of Information Technology)
  3. คณะบริหารธุรกิจ (Faculty of Business Administration)[3]
หลักสูตรที่เปิดสอนโดยสถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น
ปริญญาตรี ปริญญาโท
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Engineering) 
  • สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (Automotive Engineering)
  • สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)
  • สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแบบลีน (Robotics and Lean Automation Engineering)
  • สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)
  • สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
  • สาขาวิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering ) (International Program)
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Engineering) 
  • สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรม (Engineering Technology)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Science) 
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต   (Master of Science) 
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต     (Bachelor of Business) 
  • สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม (Industrial Management)
  • สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น (Business Japanese)
  • สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management)
  • สาขาการบัญชี (Accounting)
  • สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์แบบญี่ปุ่น (Japanese Human Resources Management) (เปิดเมื่อปี 2557)
  • สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management)(เปิดเมื่อปี 2559)
  • สาขาการตลาดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Marketing)(เปิดเมื่อปี 2559)
  • สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Management) (International Program)
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Master of Business) 
  • สาขาการจัดการอุตสาหกรรม (Industrial Management)
  • สาขาการวางแผนและการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการ (Strategic Planning and Management for Entrepreneur)
  • สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น (Japanese Business Administration)

 

เกียรติยศ[แก้]

รางวัลและเกียรติยศ
ปี กิจกรรม - เกียรติยศ

พ.ศ. 2550

  • การแข่งขันรถยนต์ประหยัดน้ำมัน (Honda Econo) - ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรีปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์เข้ารอบระดับประเทศ ในการแข่งขัน เป็นลำดับที่ 20 ของภาค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550
  • การประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ (MOOT BIZ) - นักศึกษาปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2550

พ.ศ. 2551

  • การแข่งขันรถยนต์ประหยัดน้ำมัน (Honda Econo) - ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรีปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ลงแข่งขันรถยนต์ประหยัดน้ำมัน (Honda Econo) เป็นลำดับที่ 17 ของระดับอุดมศึกษาในประเภทการจ่ายน้ำมันทุกระบบ และลำดับ 6 ของเครื่องยนต์ระบบหัวฉีดด้วยสถิติใช้น้ำมัน 393 กิโลเมตร/ลิตร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551
  • การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Robot Design Contest) - สุรพงษ์ การะเกด นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศปี 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติในงาน International Design Contest RoBoCon 2008 หรือ IDC RoboCon 2008 ที่ประเทศบราซิล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551

พ.ศ. 2553

  • การแข่งขัน Student Formula - ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทำผลงานในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย เป็นอันดับที่ 90 ของโลกจากการจัดอันดับล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2553
  • การแข่งขัน TSAE Auto Challenge 2010-11 Student Formula - ทีมนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชนะเลิศในประเภท Endurance
  • การประกวด Thailand EcoDesign Award 2010 - นักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ภายใต้แนวคิด "ลดโลกร้อนด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
  • การแข่งขัน TPA PLC Robo Girl Dunker Competition 2010 - ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขัน พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท เหรียญรางวัล และโล่เกียรติยศ

พ.ศ. 2554

  • การแข่งขัน TPA Robo's Hoop Takraw Competition 2011 - ทีม Sazan นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท เหรียญรางวัล และโล่เกียรติยศ
  • การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU TPA Robot Contest 2011 - ทีมชมพูพันทิพย์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท เหรียญรางวัล และโล่เกียรติยศ

พ.ศ. 2557

  • การแข่งขันหุ่นยนต์สนุกเกอร์ (TPA Robo Snooker Competition 2014) - ทีม TNI Senior Robot ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2[4]
พ.ศ. 2560
  • การแข่งขัน Upower Digital Idea Challenge Season 1 - ทีม Margetthing นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ นำทีมโดย นายศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์ , นางสาวเสาวลักษณ์ บุญญา ได้รับรางวัลชนะเลิศแผนการตลาดออนไลน์ ด้วยแผนการตลาดภายใต้แบรนด์ Bangkok Airway ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ข้อมูลอื่นๆ[แก้]

  • ลักษณะเด่นของสถาบัน

- ผลิตนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติตามแนวคิด (ものづくり monodzukuri) ทำให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

- ฝึกงานจริงในสถานประกอบการ จบแล้วมีโอกาสได้งานทำทันที นักศึกษามีโอกาสได้เลือกฝึกงานในสถานประกอบการในส่วนที่ตนเองถนัด และสนใจเป็นเวลา 1 ภาคเรียน ทำให้มีประสบการณ์ในการทำงาน และมีโอกาสที่จะได้รับการว่าจ้างงานต่อในบริษัทนั้นๆเมื่อเรียนจบ

- เน้นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับชาวต่างประเทศ และทางสถาบันได้มีการมุ่งเน้นไปที่บริษัทญี่ปุ่น จึงมีการเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาบังคับอีกหนึ่งภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ

- มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ทางสถาบันได้มีการทำสัญญาร่วมมือทางการศึกษา (MOU) กับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาจะมีโอกาสไปศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่น

- มีทุนการศึกษาสนับสนุนจากองค์กรและบริษัทต่างๆ สถาบันได้รับการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ฝึกงาน และเงินทุนจากองค์กรและบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น มากกว่า 200 องค์กร

อ้างอิง[แก้]

  1. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอน 114 ง
  3. "ข้อมูลการศึกษาต่อ". tni.ac.th. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-06. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. "ข่าวและประกาศ - ทีม TNI Senior Robot นักศึกษาคณะวิศวฯ คว้ารองชนะเลิศอันดับ 2". arch.msu.ac.th. 18 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]