ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
Princess Galyani Vadhana Institute of Music
รูปทรงใบเทศ สกว. และกุญแจซอล ตราสัญลักษณ์ของสถาบัน
ชื่อย่อสกว. / PGVIM[1]
คติพจน์ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน (Musique de la Vie et de la Terre)
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555; 12 ปีก่อน (2555-05-26)[2]
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการหลักสูตรวิชาดนตรี
งบประมาณ160,610,000 บาท
(พ.ศ. 2568)[3]
นายกสภาสถาบันรองศาสตราจารย์ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ อโณทัย นิติพน (รักษาการ)
อาจารย์8 คน (พ.ศ. 2564)
บุคลากรทั้งหมด40 คน (พ.ศ. 2564)
ผู้ศึกษา116 คน (พ.ศ. 2567)[4]
ที่ตั้ง
เลขที่ 2010 ซอยอรุณอัมรินทร์ 36 ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
สีสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ (C100 M30 Y25 K0)
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสถาบัน

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (อังกฤษ: Princess Galyani Vadhana Institute of Music; อักษรย่อ: สกว./PGVIM) เป็น สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[5] โดยมีเจตนารมณ์ที่จะเทิดพระเกียรติและสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีคลาสสิกให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกสู่สาธารณชน โดยการเป็นตัวหลักสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ด้านดนตรีคลาสสิกให้กับสังคมไทย

ปัจจุบัน สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ conservatory (สถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีที่ไม่สังกัดมหาวิทยาลัย) โดยมีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ รับผิดชอบด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน แบ่งออกเป็น หลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระดับปริญญา และสำนักงานสถาบัน รับผิดชอบด้านสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและภารกิจของสถาบันในด้านอื่นๆ

ประวัติ

[แก้]

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เกิดจากความร่วมมือของ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ กระทรวงวัฒนธรรม ที่ร่วมกันจัดทำโครงการจัดตั้งสถาบันดนตรีในรูปแบบ Conservatory เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมงคลวโรกาสที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อชาวไทยตลอดมา รวมทั้งเพื่อสนองพระปณิธานที่จะพัฒนาดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ เมื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในเวลานั้น และคณบดี คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กราบทูลให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ก็ได้มีพระกรุณาธิคุณพระราชทานชื่อสถาบันว่า "สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา"

ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555[6] ได้กำหนดให้สถาบันฯ เป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงในทางดนตรีและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับพระปณิธานและบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ สถาบันฯ จึงได้กำหนดพันธกิจที่จะ

  1. เป็นสถาบันดนตรีที่สร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านดนตรีคลาสสิกที่มีศักยภาพสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถจะประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านดนตรีให้เป็นประโยชน์ และเหมาะสมกับบริบทของสังคม
  2. เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านดนตรีและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับสังคม และ
  3. เป็นศูนย์รวมในการศึกษาค้นคว้าวิจัย บูรณาการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านดนตรีระหว่างบุคคล ชุมชน และสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ตราสัญลักษณ์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเป็นรูปทรงลายใบเทศ ภายในประกอบด้วยตัวอักษรย่อ "สกว" ประกอบกับกุญแจซอลอยู่ภายใน[7]

สีประจำสถาบันคือ   สีฟ้าเทอร์คอยส์

"การศึกษาด้านศิลปศาสตร์นั้น เป็นการฝึกฝนพัฒนาให้เกิดความดีงามเป็นเลิศทางปัญญาและศีลธรรม จึงเป็นวิชาที่สำคัญที่ยกระดับจิตใจ และสติปัญญาให้สูงขึ้น"

— สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระดำรัสในโอกาสที่เสด็จทรงเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ศิลปะศาสตร์กับการพัฒนากรทรัพยากรมนุษย์[8]

หลักสูตรที่เปิดสอน

[แก้]

ระดับปริญญาตรี

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.) (Bachelor of Music, B.M.) (หลักสูตร 4 ปี)

ระดับปริญญาโท

หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.) (Master of Music, M.M.) (หลักสูตร 2 ปี)

หลักสูตรดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้เปิดหลักสูตรสอนดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "Pitch by PGVIM" โดยจัดการเรียนการสอนที่อาคารกัลยาณินคีตการ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีคลาสสิกให้แก่ผู้สนใจทั่วไป และส่งเสริมให้นักศึกษาและศิษย์เก่ามีรายได้จากการสอนดนตรี โดยมีครูผู้สอนเป็นอาจารย์ประจำของสถาบัน พนักงาน ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบันของสถาบัน ที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีทักษะและความรู้ความสามารถในการสอนปฏิบัติเครื่องดนตรีได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน Pitch by PGVIM เปิดสอนเครื่องดนตรีคลาสสิก อาทิ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเลส กีตาร์คลาสสิก เปียโน เปอร์คัชชั่น ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ทรัมเป็ต เฟรนช์ฮอร์น ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา ฮาร์ป และขับร้องคลาสสิก

ทำเนียบนายกสภาสถาบัน

[แก้]
รายนามนายกสภาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
ลำดับ นายกสภาสถาบัน วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ
(โดยตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร)
11 พฤษภาคม 2555 - 21 พฤศจิกายน 2555
2
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
22 พฤศจิกายน 2555 - 31 มีนาคม 2559[9]
1 เมษายน 2559 - 15 ธันวาคม 2562[10]
16 ธันวาคม 2562 - 3 มิถุนายน 2567[11]
3
รองศาสตราจารย์ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์
4 มิถุนายน 2567 - ปัจจุบัน[12]

ทำเนียบอธิการบดี

[แก้]
รายนามอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
ลำดับ อธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
รองศาสตราจารย์ คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์
12 พฤศจิกายน 2555 - 7 มกราคม 2560[13]
8 มกราคม 2560 - 7 มกราคม 2564[14]
7 มกราคม 2564 - 11 กรกฎาคม 2564 (รักษาการแทน)
2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง
12 กรกฎาคม 2564 - 5 ตุลาคม 2566[15]
3
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อโณทัย นิติพน
5 ตุลาคม 2566 - ปัจจุบัน (รักษาการแทน)[16][17]
  • หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เรื่อง ตราสัญลักษณ์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 158ง หน้า 36, 18 ตุลาคม 2555
  2. พระราชบัญญัติ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 45ก หน้า 1, 25 พฤษภาคม 2555
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๔๐, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  4. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  5. พระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555
  6. พระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555
  7. ประกาศสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เรื่อง ตราสัญลักษณ์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
  8. วธ. ร่วมมือ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดแสดงคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, วันที่ 21 ม.ค. 2558 กระทรวงวัฒนธรรม
  9. แต่งตั้งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 181ง หน้า 16, 27 พฤศจิกายน 2555
  10. แต่งตั้งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 82ง หน้า 4, 8 เมษายน 2559
  11. แต่งตั้งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 308ง หน้า 42, 18 ธันวาคม 2562
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 155ง หน้า 16, 6 มิถุนายน 2567
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 174ง หน้า 11, 19 พฤศจิกายน 2555
  14. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 19ง หน้า 8, 17 มกราคม 2560
  15. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 157ง หน้า 12, 14 กรกฎาคม 2564
  16. คำสั่งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่ 248/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
  17. คำสั่งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่ 131/2567 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:คณะดนตรีและดุริยางค์ในประเทศไทย แม่แบบ:สถานศึกษาในเขตบางพลัด