ข้ามไปเนื้อหา

ทักษาเวียงเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพทักษาเวียงเชียงใหม่ตามการคำนวณของดวงเวียงเชียงใหม่

ในการสร้างเวียงเชียงใหม่นั้น พญามังรายได้ทรงให้เหล่าโหราจารย์ ราชบัณฑิต คิดหาฤกษ์ยามในการสถาปนาเมืองตามแนวคิดและความเชื่อของคนโบราณที่ว่า เมืองนั้นก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคน เมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนกับการให้ชีวิตเมืองด้วย เมืองนั้นมีส่วนต่าง ๆ เหมือนคน มีหัว มีสะดือ มีส่วนต่าง ๆ อยู่ตามทิศต่าง ๆ และมีดวงเหมือนเหมือนคน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีทิศของดวงต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เมื่อใดเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับเมือง หรือเกิดภัยพิบัติจะต้องมีการสืบชะตาเมืองเหมือนกับคนด้วย โดยความเชื่อเกี่ยวกับทิศของดาวเมืองนี้เป็นสิ่งที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มหาทักษา หรือ ภูมิพยากรณ์ ของศาสนาพราหมณ์ โดยทักษา หมายถึง ชื่อเรียกกลุ่มดาวอัฐเคราะห์ หรือดาวทั้งแปด คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ ที่จัดเข้าระเบียบเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี เวียนขวา (ทักษิณาวรรต) ไปตามทิศทั้ง 8 คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ และอุดร

ทักษาเวียงเชียงใหม่นั้นกำหนดตามทิศต่าง ๆ ดังนี้

  • บริวารเมือง -ประตูสวนดอก
  • มูลเมือง - ประตูท่าแพ
  • เกตุเมือง - วัดสะดือเมือง
  • ศรีเมือง - แจ่งศรีภูมิ
  • กาลกิณีเมือง - แจ่งกู่เฮือง
  • เดชเมือง - ประตูช้างเผือก
  • มนตรีเมือง - ประตูเชียงใหม่
  • อายุเมือง - แจ่งหัวลิน
  • อุตสาหะเมือง - แจ่งขะต้ำ

แนวคิด

[แก้]
ภาพแสดงทักษาเมืองและวัดที่ประจำตามทักษาเมือง

สำหรับแนวคิดในเรื่องวัดทักษาเมืองนั้นเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ด้วยในสมัยนั้นทางอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาได้ทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงเมืองเชลียง ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระเถระมังลุงหลวง ชาวพุกาม มาทำลายล้างเวียงเชียงใหม่ พระเถระมังลุงหลวงได้ออกอุบายลวงพระเจ้าติโลกราชว่า ถ้าหากพระองค์มีพระประสงค์จะมีพระบรมเดชานุภาพปราบไปทั้งชมพูทวีป พระองค์ควรตัดต้นไม้ศรีเมืองและสร้างพระราชฐานบริเวณศรีเมืองนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทำตามคำยุ ตัดต้นไม้นิโครธ (ต้นไทร) อันเป็นไม้ศรีเมืองทิ้ง ก็เกิดอาเพทเหตุอุบาทว์ต่าง ๆ นานากับเวียงเชียงใหม่ นอกจากนี้ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพวกผาสี (ชาวจีนอิสลาม) มาทำคุณไสยฝังสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ภายในทักษาเวียงเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบความจริงจึงทำการฆ่าพระเถระมังลุงหลวงและพวกผาสีทิ้ง ด้วยความเชื่อที่ว่าบ้านเมืองถูกกระทำคุณไสย ทำให้เป็นที่สร้างความวิตกกังวลในหมู่ชาวเมืองและพระเจ้าติโลกราช ดังนั้นพรเจ้าติโลกราชได้รับสั่งให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต พระเถระชั้นผู้ใหญ่ กระทำพิธีแก้ขึด โดยการย้ายและสร้างศูนย์กลางเมืองมาที่ใหม่คือ พระธาตุเจดีย์หลวง โดยการเปลี่ยนฐานะจากกู่ (สถูป) บรรจุอัฐิพระเจ้ากือนามาเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งสถาปนาวัดเจดีย์หลวงเป็นเกตุเมือง และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์ อีกทั้งให้หมื่นด้ำพร้าคต (สีหโคตเสนาบดี) เสริมสร้างความใหญ่โตและแข็งแรงให้แก่องค์พระเจดีย์เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญเมือง พร้อมทั้งสถาปนาวัด 8 วัด ซ้อนทักษาเมืองเดิมที่ถูกทำลายไป (โดยเฉพาะศรีเมือง) และนี่ก็คือที่มาของวัดทักษาเมืองทั้ง 8 ทิศของเวียงเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ศูนย์กลางเมือง หรือเกตุเมือง - วัดเจดีย์หลวง (โชติการาม)
  2. มูลเมือง - วัดบุพพาราม (วัดอูปปา)
  3. อุตสาหะเมือง - วัดชัยมงคล
  4. มนตรีเมือง - วัดนันทาราม(นันตาราม)
  5. กาลกิณีเมือง - วัดร่ำเปิง (ตโปธาราม)
  6. บริวารเมือง - วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก)
  7. อายุเมือง - วัดเจ็ดยอด (โพธารามมหาวิหาร)
  8. เดชเมือง - วัดเชียงยืน (ทีฆวัสสาราม)
  9. ศรีเมือง - วัดชัยศรีภูมิ

การกำหนดอาณาเขต

[แก้]

ทักษาเมืองนอกจากจะเกี่ยวข้องกับดวงเมืองแล้ว ยังเป็นเครื่องหมายกำหนดอาณาเขตของการประกอบกิจกรรมหรือการแบ่งเขตที่อยู่ของชนชั้นต่าง ๆ ภายในกำแพงเวียงเชียงใหม่อีกด้วย แนวคิดเรื่องการตั้งเวียงเชียงใหม่แบ่งออกเป็นเขตต่าง ๆ อาศัยความเชื่อเรื่องดวงเมืองตามคัมภีร์มหาทักษา ทักษาเวียงเชียงใหม่ตามการคำนวณของดวงเมืองเวียงเชียงใหม่นั้นจะได้แก่

  1. อายุเมือง (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) - พระเจ้าแผ่นดิน
  2. เดชเมือง (ทิศเหนือ) - การเมืองการปกครอง
  3. ศรีเมือง (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) - พระเจ้าแผ่นดิน
  4. มูลเมือง (ทิศตะวันออก) - การพาณิชยกรรม
  5. อุตสาหะเมือง (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) - การอุตสาหกรรม
  6. มนตรีเมือง (ทิศใต้) - ที่พักอาศัยขุนนางเจ้าหน้าที่
  7. กาลกิณีเมือง (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) - คุก, สุสาน
  8. บริวารเมือง (ทิศตะวันตก) - ที่พักอาศัยไพร่พลเมือง

อ้างอิง

[แก้]
  • วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง, สุจิณณา พานิชกุล, ปัทมา จันทรวิโรจน์. (2547). เส้นทางท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมเชิงประวัติศาสตร์ : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • สงวน โชติสุขรัตน์. (2508). ตำนานเมืองเหนือ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์
  • สุรพล ดำริห์กุล. (2542). ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคม และ วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: รุ่งอรุณพับลิชชิ่ง
  • สุรพล ดำริห์กุล. (2545). ข่วงเมืองและวัดหัวข่วง กับแบบแผนของเมืองในดินแดนล้านนา. เชียงใหม่ : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม