มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช | |
---|---|
Navamindradhiraj University | |
![]() | |
ชื่อย่อ | NMU / นมร. |
คติพจน์ | วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา (ในบรรดาสิ่งที่งอกขึ้น วิชาประเสริฐที่สุด) |
สถาปนา | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 [1] ( 9 ปี 30 วัน) |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร |
อธิการบดี | รศ. นพ. อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ |
นายกสภาฯ | ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ |
ที่ตั้ง | มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 131/6 ถนนขาว แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
ชื่อเดิม | มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร |
ต้นไม้ | โมกหลวง |
สีประจำสถาบัน | สีเขียวเข้ม |
เว็บไซต์ | www.nmu.ac.th |
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (อังกฤษ: Navamindradhiraj University) เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมีคณะเริ่มแรกคือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์[2]
เนื้อหา
ประวัติ[แก้]
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นแนวคิดตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นทางเลือกกับนักศึกษาสามารถศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ชุมชนเมืองหลวง และเพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองหลวง แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก
ในสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สานต่อ แนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้เปิดการศึกษาหลายระดับแล้วในระดับอุดมศึกษา 2 แห่ง คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ โดยเน้นแผนการศึกษาวิชาการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในประเทศ และเน้นผลิตบุคลากรสาขาวิชาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของกรุงเทพมหานคร โดยได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... และคณะรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2550 แต่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้จึงหยุดนิ่งไป
ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ และได้แก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจาก ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... เป็น ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 สภาผ่านร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ....[3] และในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 127 ตอนที่ 63 ก ได้ประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[4]
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ให้โอนภารกิจและงบประมาณของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นของมหาวิทยาลัยฯภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโอนบุคลากรซึ่งสังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ไปเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และกำหนดวิธีการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยภูมิพล" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช" เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554[5] และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556[6]
ภายหลังจากจัดตั้งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้รับภารกิจของวิทยาลัยชุมชนกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมีสภามหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร ขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยมีเป็นส่วนงานเทียบเท่ากับคณะวิชา และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[7] พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้โอนภารกิจของ สถาบันพัฒนาเมือง สังกัดสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครมาจัดตั้งเป็นวิทยาลัยพัฒนามหานครโดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556[7] ต่อมามหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงภาระหน้าที่ของส่วนงานในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง[8]
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชได้เปิดสอนหลักสูตรเพิ่มเติมขึ้นจากหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยในปีการศึกษา 2557 ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตขึ้นในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และเพื่อรองรับการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพและการจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป สภามหาวิทยาลัยจึงอนุมัติการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพขึ้นภายในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560[9]
คณะ/วิทยาลัย[10][แก้]
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
- คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์
- วิทยาลัยพัฒนามหานคร
- วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ
หลักสูตรที่เปิด[แก้]
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท |
---|---|
การจัดการบัณฑิต
เทคโนโลยีบัณฑิต
พยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล วิทยาศาสตรบัณฑิต
ศิลปศาสตรบัณฑิต
|
พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
นอกจากนี้ยังมีการอบรมวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร[แก้]
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ณ หอประชุมนวมภูมินทร์ เขตดุสิต วชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2559 มีบัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเป็นรุ่นแรก จากที่ก่อนหน้านี้เข้าร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันสมทบและสถาบันร่วมผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ในปีการศึกษา 2560 สภามหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมติปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จากวิทยาลัยพัฒนามหานคร ถือเป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเป็นรุ่นแรก
รายนามอธิการบดี[แก้]
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร | ||
---|---|---|
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
นายแพทย์ ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ | 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (รักษาการ) | |
รองศาสตราจารย์ ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 (รักษาการ) | |
ดร.พิจิตต รัตตกุล | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 | |
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช | ||
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
ดร.พิจิตต รัตตกุล | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559
21 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (รักษาการ) | |
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (รักษาการ)
2 สิงหาคม พ.ศ. 2559[11] - ปัจจุบัน |
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย[แก้]
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร | ||
---|---|---|
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (รักษาการ) | |
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร | 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556 | |
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช | ||
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | |
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน |
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553เล่มที่ 127 ตอนที่ 69 ก ประกาศวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 บทเฉพาะกาลหน้าที่ 23
- ↑ สภาผ่านร่างพรบ.ตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 เล่มที่ 127 ตอนที่ 69 ก ประกาศวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หน้าที่ 1
- ↑ รู้จัก “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” มหาวิทยาลัยแห่งแรกในสังกัด กทม.
- ↑ พระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. ๒๕๕๖
- ↑ 7.0 7.1 ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๖
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๖๐
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเรื่อง การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2560
- ↑ การจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2560
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
13°46′50″N 100°30′33″E / 13.78056°N 100.50917°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′50″N 100°30′33″E / 13.78056°N 100.50917°E
|
|