มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ตราพระราชลัญจกร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อย่อมรพส. / PSRU
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (19 ปี)
นายกสภาฯดร.สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร
อธิการบดีผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์
ที่ตั้ง
ส่วนวังจันทน์
66 ถนนวังจันทน์ ตำบลในเมือง
อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนทะเลแก้ว
165 หมู่ 5 ถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลกด้านเหนือ ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนสนามบิน
1 ถนนสนามบิน ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
สี████ สีเขียว สีขาว
เว็บไซต์www.psru.ac.th

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (อังกฤษ: Pibulsongkram Rajabhat University; อักษรย่อ: มรพส. / PSRU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก เริ่มก่อนตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2464 ในนามโรงเรียนพิษณุโลกวิทยายน มีประวัติการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง และเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในการผลิตบุคคลากรทางการศึกษาของประเทศ

ประวัติ[แก้]

ยุคที่ 1 โรงเรียนพิษณุวิทยายน[แก้]

ในปี พุทธศักราช 2464 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เรียนหนังสือ จึงความต้องการครูเพิ่มมากขึ้น มณฑลพิษณุโลก จึงได้ทำการเพิ่มหลักสูตรวิชาชีพครูขึ้นในโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูมูลและบรรจุให้เข้ารับราชการครูทันที[1]

ต่อมาในปี พุทธศักราช 2469 มณฑลพิษณุโลก ได้รับงบประมาณจากกระทรวงธรรมการ และเงินสมทบของพ่อค้าประชาชนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนฝึกกหัดประจำมณฑลขึ้นในบริเวณพระราชวังจันทน์ และได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนและเชิญเสด็จมาทรงเปิดอาคารเรียน โดยทรงพระราชทานามว่า โรงเรียนพิษณุวิทยายน และทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มาทรงเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2469 เวลาประมาณ 15.30 น. ต่อมาโรงเรียนนี้ได้ย้ายสถานที่และไฟไหม้อาคารที่ย้ายไปใหม่ ทางราชการจึงสั่งยุบโรงเรียน[1]

ยุคที่ 2 โรงเรียนสตรีฝึกหัดครู พิษณุโลก[แก้]

ในปี พุทธศักราช 2476 กระทรวงธรรมการได้เปิดแผนกฝึกหัดครูขึ้นในโรงเรียนสตรีประจำมณฑล พิษณุโลก จัดการศึกษาในหลักสูตรประโยคครูมูล (ครู ป.) หลักสูตรประโยคครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู.ว) และหลัดสูตรเป็นประกาศนียบัตรครูประชาบาล (ป.ป.) ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 แผนกฝึกหัดครูได้ถูกแยกออกมาเป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ใช้ชื่อว่าโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู พิษณุโลก ขึ้นกับกรมวิสามัญศึกษา[1]

ในปี พ.ศ. 2497 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้น จึงโอนโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู พิษณุโลก ไปสังกัดกรรมการฝึกหัดครู และปรับปรุงหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และใน พ.ศ. 2498 รัฐบาลได้สร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับบริเวณเดิมและยกให้กับโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู พิษณุโลก และได้ย้ายไปตั้ง ณ ที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499[1]

ยุคที่ 3 โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม[แก้]

หลังจากโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู พิษณุโลก ได้ย้ายมาตั้งในสถานที่แห่งใหม่แล้วในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม และเปิดรับนักศึกษาแบบสหศึกษา โดยนักเรียนหญิงอยู่ประจำ นักเรียนชายเดินเรียน นับแต่นั้นมาโรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงครามก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้ขยายเนื้อที่โดยขอใช้ที่ดินโรงเรียนการช่างชายซึ่งอยู่ติดกันทำให้มีเนื้อที่เท่าขนาดเนื้อที่ปัจจุบัน คือ 40 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ต่อเนื่องประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ต่อมาได้ผลิตครูยามฉุกเฉินหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) เปิดสอนในภาคนอกเวลา เรียนระหว่าง 17.00 น. – 20.00 น. ในวันราชการและเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพครูภาษาไทย ใน พ.ศ. 2517[1]

ยุคที่ 4 วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม[แก้]

ต่อมาใน พ.ศ. 2504 โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม ได้ยกฐานะเป็น วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ต่อเนื่องประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา(ป.กศ.) ต่อมาได้ผลิตครูยามฉุกเฉินหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) เปิดสอนในภาคนอกเวลา เรียนระหว่าง 17.00 น. – 20.00 น. ในวันราชการและเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพครูภาษาไทย ใน พ.ศ. 2517 และในปี พ.ศ. 2524 ได้รับอนุมัติจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งทะเลแก้ว จำนวน 1,000 ไร่ เพื่อเตรียมขยายวิทยาลัยออกไป โดยมีโครงการใช้ที่ดินระยะแรกจำนวน 40 ไร่ และวิทยาลัยได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในบริเวณทุ่งทะเลแก้วในปี พ.ศ. 2527[1]

ยุคที่ 5 สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม[แก้]

ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม สถาบันราชภัฏ แก่วิทยาลัยครู วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนเป็น สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม จัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538[1][2]

ยุคที่ 6 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ปัจจุบัน[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย ใน "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547" เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 แล้วนั้น อันมีผลให้ "สถาบันราชภัฏ" เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังผลให้สถาบันราชภัฏพิบูลสงครามได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2547[3]

ทำเนียบผู้บริหารมหาวิทยาลัย[แก้]

ทำเนียบอธิการวิทยาลัยครู อธิการบดีสถาบันราชภัฏพิบูลสงครามและมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ทำเนียบอธิการวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม
ลำดับที่ รายนามอธิการ วาระการดำรงตำแหน่ง
ไม่มีข้อมูล พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2529
1
นายวิเชียร เมนะเศวต พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2535
2
รองศาสตราจารย์ ดร.มังกร ทองสุขดี พ.ศ. 2535 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2538
ทำเนียบอธิการบดีสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม
ลำดับที่ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2541
2
รองศาสตราจารย์ ประวิตร ชูศิลป์ 15 มกราคม พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2545
3
ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ 28 มกราคม พ.ศ. 2545 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (ครั้งที่ 2)
ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ลำดับที่ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551[4]
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (วาระที่ 2)[5]
2
ดร.สาคร สร้อยสังวาลย์ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557[6] - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561
2
ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[7] - ปัจจุบัน
ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ลำดับที่ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธุ์ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551[8]
19 สิงหาคม พ.ศ. 2551 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 (วาระที่ 2)[9]
2
พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 24 มกราคม พ.ศ. 2559[10]
3
ดร.สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร 25 มกราคม พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน[11]

พื้นที่มหาวิทยาลัย[แก้]

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

ส่วนวังจันทน์[แก้]

ส่วนนี้เป็นสถานที่ตั้งแรกเดิมของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ 40 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 66 ถนนวังจันทน์ ริมลำน้ำน่าน ใจกลางเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรม ภาคเหนือตอนล่าง วังจันทน์ริเวอร์วิว และเป็นพื้นที่การศึกษาของคณะครุศาสตร์

ส่วนทะเลแก้ว[แก้]

ส่วนนี้เป็นที่ตั้งหลักในปัจจุบันของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งทะเลแก้ว ถนนเลี่ยงเมืองพิษณุโลกด้านเหนือ ตำบลพลายชุมพล อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนวังจันทน์ ประมาณ 7 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตก แต่เดิมนั้นเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ รกร้าง ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ใช้ประโยชน์ได้ในปี พ.ศ. 2524

ส่วนสนามบิน[แก้]

ส่วนนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นโรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จัดการศึกษาในระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม นาคอ้าย เป็นผู้อำนวยการคนปัจจุบัน

หน่วยงานในมหาวิทยาลัย[แก้]

บุคคลจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, ประวัติมหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2016-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538, เล่ม 112 ตอน 4 ก, หน้า 1, วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547, เล่ม 121 ตอนพิเศษ 23 ก, หน้า 1, วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (นายสว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์), เล่ม 126 ตอนพิเศษ 2 ง, หน้า 77, วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (นายสว่าง ภู่พัฒนวิบูลย์), เล่ม 126 ตอนพิเศษ 2 ง, หน้า 77, วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม [นายสาคร สร้อยสังวาลย์], เล่ม 131 ตอนพิเศษ 227 ง, หน้า 23, วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (นายชุมพล เสมาขันธ์)
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, เล่ม 122 ตอน 29 ง, หน้า 22, วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2548
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, เล่ม 126 ตอนพิเศษ 14 ง, หน้า 14, วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, เล่ม 129 ตอนพิเศษ 51 ง, หน้า 18, วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, เล่ม 133 ตอนพิเศษ 26 ง, หน้า 3, วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]