ปรีดี พนมยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรีดี พนมยงค์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ดำรงตำแหน่ง
16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488
(3 ปี 355 วัน)
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ควง อภัยวงศ์
ทวี บุณยเกตุ
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ก่อนหน้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)
ถัดไปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 7
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
(0 ปี 152 วัน)
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ก่อนหน้าควง อภัยวงศ์
ถัดไปถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
(0 ปี 152 วัน)
นายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์
ก่อนหน้าพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)
ถัดไปวิจิตร ลุลิตานนท์
ดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484
(2 ปี 362 วัน)
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ)
ถัดไปเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481
(2 ปี 162 วัน)
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าพระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ)
ถัดไปเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร์ ณ สงขลา)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
29 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478
(0 ปี 320 วัน)
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
ก่อนหน้าพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
ถัดไปถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำรงตำแหน่ง
11 เมษายน พ.ศ. 2477 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2495
(17 ปี 341 วัน)
ถัดไปศ. ดร.เดือน บุนนาค (รักษาการ)
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 11 เมษายน พ.ศ. 2476
(0 ปี 288 วัน)
ถัดไปหลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443
ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
เสียชีวิต2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (82 ปี)
ปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองคณะราษฎร, พรรคสหชีพ
คู่สมรสท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
บุตร
ที่อยู่อาศัย
ลายมือชื่อไฟล์:Thai-PM Pridi signature.png
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัด ขบวนการเสรีไทย
ประจำการพ.ศ. 2484–พ.ศ. 2488
ผ่านศึกสงครามแปซิฟิก

ศาสตราจารย์[1] ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม[2][3] (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 – 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) เป็นรัฐบุรุษอาวุโส[4] ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย[5] เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย[6] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[7] และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)[8]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม[9][10][11] นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8[12] และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส"[13]

ปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว[14] ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม[15] เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526[16][17][18]

ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ปรีดีได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี และยังได้รับความรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของไทย[19][20]

ใน พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" และได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของเขา ระหว่าง พ.ศ. 2543–พ.ศ. 2544[21] นอกจากนี้นิตยสารเอเชียวีกยังได้เสนอชื่อของเขาเข้าชิงตำแหน่ง "Asian Of The Century" อีกด้วย[22]

ประวัติ

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวชาวนาไทย เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์[23]

บรรพบุรุษของปรีดีตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดพนมยงค์มาเป็นเวลาช้านาน โดยที่บรรพบุรุษข้างบิดานั้นสืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยอาณาจักรอยุธยา ชื่อ "ประยงค์"[24] พระนมประยงค์เป็นผู้สร้างวัดในที่สวนของตัวเอง โดยตั้งชื่อวัดตามผู้สร้างว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์ กาลเวลาล่วงเลยมาจนเมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ทายาทจึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"[25] และได้อุปถัมภ์วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[26]

บรรพบุรุษรุ่นปู่-ย่าของปรีดีประกอบกิจการค้าขายมีฐานะเป็นคหบดีใหญ่[27][28] แต่นายเสียงบิดาของปรีดีเป็นคนชอบชีวิตอิสระไม่ชอบประกอบอาชีพค้าขายเจริญรอยตามบรรพบุรุษ จึงหันไปยึดอาชีพกสิกรรม เริ่มต้นด้วยการทำป่าไม้ และต่อมาได้ไปบุกเบิกถางพงร้างเพื่อจับจองที่ทำนาบริเวณทุ่งหลวง อำเภอวังน้อย[29] แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โขลงช้างป่า และแมลงที่มารบกวนทำลายต้นข้าวทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ไม่สามารถขายข้าวได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทขุดคลองแห่งหนึ่งขุดคลองผ่านที่ดินของนายเสียงและยังเรียกเก็บค่าขุดคลอง (ดูประวัติคลองรังสิต)[30] ซึ่งบิดาของปรีดีต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่ากรอกนาในอัตราไร่ละ 4 บาท แลกกับการได้ครอบครองที่ดินที่จับจองไว้จำนวน 200 ไร่ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวย่ำแย่ลงไปอีก ต้องอดทนเป็นหนี้สินอยู่หลายปี[31] เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ราษฎรผู้บุกเบิกจับจองที่ดินมาก่อนต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมากและกลายเป็นชาวนาผู้เช่าที่ในที่สุด[32][33]

จากการเติบโตในครอบครัวชาวนานี้เอง ปรีดีจึงได้สัมผัสรับรู้เป็นอย่างดีถึงสภาพความเป็นอยู่และความทุกข์ยากของชนชั้นชาวนาทั้งหลายที่ฝากชีวิตไว้กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ราคาพืชผลในตลาด และดอกเบี้ยของนายทุน นอกจากนี้ยังต้องพบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินศักดินาที่กระทำผ่านการเก็บภาษีและการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้ปรีดีคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา[34]

ปรีดีเมื่อครั้งเยาว์วัยเป็นเด็กหัวดี ช่างคิด ช่างสังเกตวิเคราะห์ และเริ่มมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่อายุเพียง 11 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนที่นำโดย ซุน ยัตเซ็น และเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในสยาม ซึ่งปรีดีได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างมากต่อผู้ที่ถูกลงโทษในครั้งนั้น[35]

ถึงแม้ว่าปรีดีจะเกิดในครอบครัวชาวนา แต่บิดาของเขาก็เป็นผู้ใฝ่รู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษา จึงสนับสนุนให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด[36] เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยาปรีดี ได้เคยกล่าวถึงนายเสียง พนมยงค์ ว่า

เป็นผู้สนใจในกสิกรรม และที่สนใจที่สุดคือการทำนา ดูเหมือนว่าพบกันกับข้าพเจ้าครั้งไรที่จะไม่พูดกันถึงเรื่องทำนาเป็นไม่มี แต่ถึงว่าจะฝักใฝ่ในการทำนาอยู่มากก็จริง นายเสียง พนมยงค์ มิได้ละเลยที่จะสงเคราะห์ และให้การศึกษาแก่บุตรเลย พยายามส่งบุตรเข้าศึกษาเล่าเรียน...[37]

การศึกษา

ปรีดีเริ่มเรียนหนังสือที่บ้านครูแสง[38] ตำบลท่าวาสุกรี และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน[39] อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร[40] แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย)[41] จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[42]

ใน พ.ศ. 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา กับอาจารย์เลเดแกร์ (E.Ladeker) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศกระทรวงยุติธรรม[43] ต่อมาสอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในขณะมีอายุ 19 ปี แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา[42]

ต่อมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2463[44] โดยเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Université de Caen) จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลิเอร์" กฎหมาย (bachelier en droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซองซิเอ" กฎหมาย (Licencié en Droit) ตามลำดับ[45][46]

ปรีดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส พ.ศ. 2469 ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีมาก (trés bien) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (doctorat d'état) เป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (docteur en droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (sciences juridiques)[47] นอกจากนี้เขายังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (diplôme d'études supérieures d'économie politique) อีกด้วย[48]

การสมรสและครอบครัว

ปรีดีสมรสกับ พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ธิดา มหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับ คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (สุวรรณศร) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[49] มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน คือ

  1. นางสาวลลิตา พนมยงค์ (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558)
  2. นายปาล พนมยงค์ สมรสกับ นางเลิศศรี พนมยงค์ (จตุรพฤกษ์)
  3. นางสาวสุดา พนมยงค์
  4. นายศุขปรีดา พนมยงค์ สมรสกับ นางจีรวรรณ พนมยงค์ (วรดิลก)
  5. นางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล สมรสกับ นายชาญ บุญทัศนกุล
  6. นางวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561) สมรสกับ นายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์

หน้าที่การงานก่อนเข้าสู่การเมือง

เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2470 ปรีดีเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"[50] เมื่อ พ.ศ. 2471 ขณะมีอายุ 28 ปี ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกรมร่างกฎหมาย[51] (ต่อมาได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์พร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 ใน พ.ศ. 2485 และกลับไปใช้ชื่อเดิมคือ นายปรีดี พนมยงค์[52])

ในช่วงที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมนี้ ปรีดีได้รวบรวมกฎหมายไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาพกระจัดกระจายให้มารวมเป็นเล่มเดียว ใช้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” และได้รับการตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2473 ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมและสร้างรายได้ให้แก่ปรีดีเป็นอย่างมาก[53]

นอกจากงานที่กรมร่างกฎหมายแล้ว ปรีดียังเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในชั้นแรกได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยลักษณะหุ้นส่วน บริษัทและสมาคม ต่อมาได้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ลูกศิษย์ของเขาในช่วงดังกล่าวนี้ได้แก่ สัญญา ธรรมศักดิ์ จิตติ ติงศภัทิย์ ดิเรก ชัยนาม เสริม วินิจฉัยกุล เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ ไพโรจน์ ชัยนาม จินดา ชัยรัตน์ โชติ สุวรรณโพธิ์ศรี และศิริ สันตะบุตร

ใน พ.ศ. 2474 ปรีดีเป็นคนแรกที่เริ่มสอนวิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif)[53] กล่าวกันว่าวิชากฎหมายปกครองนี้ เป็นวิชาที่สร้างชื่อเสียงแก่ปรีดีเป็นอย่างมาก เพราะสาระของวิชานี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากฎหมายมหาชน ซึ่งอธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยยังคงปกครองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[54] ในขณะเดียวกัน ก็ได้อาศัยการสอนที่โรงเรียนดังกล่าว ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้น ๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเดิมให้เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เปิดอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักศึกษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าร่วมเป็นสมาชิกและผู้สนับสนุนคณะราษฎรในเวลาต่อมาหลายคน[55][56]

บทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมุดคณะราษฎร ซึ่งฝังอยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้า ฝั่งสนามเสือป่า

ในขณะที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ หอพักแห่งหนึ่งย่าน "Rue Du Sommerard" กรุงปารีส ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, ภก.ตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน โดยมีวัตถุประสงค์คือ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[57] และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่ประกอบด้วยกลุ่มทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นคณะราษฎรโดยปรีดี พนมยงค์ ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร และเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ หลักการระบอบใหม่ กฎหมายพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยย่อ และขอความร่วมมือในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป[56][58][59][60]

การวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475[61] ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม[62] ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่

ในขณะเดียวกัน ปรีดีก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เขามีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก และเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย[63] และจากการที่ได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ปรีดีจึงสนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครอง และก็เป็นผู้นำเอาวิชา "กฎหมายปกครอง" (droit administratif) มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเขาจึงผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายและสถาปนาขึ้นเป็น "คณะกรรมการกฤษฎีกา"[64] ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน ทั้งยังพยายามผลักดันให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ศาลปกครองอีกด้วย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากวัฒนธรรมในทางอำนาจนิยมของรัฐไทยยังมีอยู่หนาแน่น ความพยายามในการตั้งศาลปกครองของปรีดีจึงประสบอุปสรรคมาโดยตลอด[65]

ใน พ.ศ. 2476 ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ[66][67] ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งเขาได้ชี้แจงไว้ว่า

การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่าง ๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใด ๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ"[68]

ปรีดียังได้วางหลักการประกันสังคม คือ ให้การประกันแก่ราษฎรทั้งหลายตั้งแต่เกิดจนตาย ที่จะได้รับความอุปการะจากรัฐบาล หากไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"[69] แต่แนวความคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยม[56][67][70]

การกระจายอำนาจการปกครอง

ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2476–พ.ศ. 2478) ก็ได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้ง "เทศบาล" ทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ และจัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด นอกจากนี้เขายังได้สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่ สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ [71][72]

ด้านพระพุทธศาสนา

ปรีดีเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จากฉบับ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) มาเป็น พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2484 ทำให้การปกครองสงฆ์เป็นประชาธิปไตย อนุวัตรคล้อยตามการปกครองของบ้านเมืองไปด้วย แต่ พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2484 ใช้ได้เพียง 20 ปี ก็มีเหตุการณ์ไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในสังฆมณฑลอย่างจงใจ จนนำคณะสงฆ์กลับไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการโดยคณะเดียว ภายใต้ พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2505[73]

ด้านการศึกษา

ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรีดี พนมยงค์ ได้สถาปนา "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) ขึ้นเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477] และได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้ประศาสน์การ"[74] (พ.ศ. 2477–พ.ศ. 2490) คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อชนส่วนใหญ่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยใหม่ตามแนวความคิดของเขา จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎร เป็นตลาดวิชา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน[75] ปรีดีกล่าวไว้ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า

มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[76]

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรกมิได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน หากอาศัยเงินที่มาจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาทั่วราชอาณาจักรและดอกผลที่ได้มาจากธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80%[77] นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของเขาให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์เอกสารตำราคำสอนแก่นักศึกษา[53] มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพ โดยมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[78]

ภายหลังจากที่ปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมือง รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย โดยตัดคำว่า "วิชา" และ "การเมือง" ออก เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล[79][80]

ด้านการต่างประเทศ

ปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งเดินทางไปเจรจากับสัมพันธมิตรยุโรปในปี พ.ศ. 2488

เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2478–พ.ศ. 2481)[81][82] ในเวลานั้นสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกบังคับให้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ 13 ประเทศ ในนามของ "สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ"

ใน พ.ศ. 2478 หลังจากได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว รัฐบาลเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาทางยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจ ตลอดจนหาทางลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินที่รัฐบาลเก่าได้ทำสัญญาไว้ ปรีดี พนมยงค์ และคณะจึงออกเดินทางไปพบปะเจรจากับผู้นำประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย อาทิ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์แห่งอิตาลี ปีแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฮจาล์ มาร์ ซาคท์ตัวแทนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน เซอร์ แซมมวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ คอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในหลายประเทศ[83]

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ปรีดีได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 13 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยียม และนอร์เวย์ ตามลำดับ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ 2 ประเด็น คือ

  1. สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล
  2. ภาษีร้อยชักสาม คือรัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ[84]

โดยใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และมีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ[85][86][87]

หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ของสิงคโปร์ กล่าวยกย่องปรีดีไว้ในบทบรรณาธิการว่า "ดอกเตอร์ปรีดี พนมยงค์ เสมือนหนึ่งเป็น แอนโทนี อีเดน" ผู้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนสำคัญของรัฐบาลอังกฤษ[58]

ด้านการคลัง

เมื่อปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481–พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร[66] โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้

  1. ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
  2. จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดนสถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
  3. ออก พรบ.ภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ[88][89]

ในด้านการสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ปรีดีคาดการณ์ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นในไม่ช้า เงินปอนด์สเตอร์ลิงซึ่งสยามประเทศใช้เป็นทุนสำรองเงินตราอาจจะลดค่าลงได้ เขาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น การเก็บรักษาทุนสำรองของชาติเอาไว้เป็นทองคำแท่งน่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสม และเห็นว่าอังกฤษซึ่งอยู่ในสถานะสงครามกับเยอรมนีในยุโรปแล้วตั้งแต่ปี 2482 มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิกด้วยในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของเงินปอนด์สเตอร์ลิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำแท่งหนัก 1 ล้าน ออนซ์ ในราคาออนซ์ละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ นำมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังได้โอนเงินปอนด์เพื่อแลกซื้อเงินดอลลาร์และทองคำแท่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เสถียรภาพของค่าเงินบาทในเวลานั้นมั่นคงที่สุดแม้ว่าเป็นระยะใกล้จะเกิดสงครามเต็มทีแล้ว ทองคำแท่งจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้[90][91]

เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศในสกุลที่ทั่วโลกยอมรับ ปรีดีในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ก็ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งได้เคยปรารภไว้แล้วในเค้าโครงการเศรษฐกิจมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นก่อน และเร่งฝึกพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมในการบริหารธนาคารชาติ ต่อมาจึงได้จัดตั้ง "ธนาคารชาติไทย" ขึ้น ใน พ.ศ. 2483 ปัจจุบันคือ "ธนาคารแห่งประเทศไทย"[92][93] เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์

บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น ปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก"[94] เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ โดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ที่ว่า "นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" (ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ) ยิ่งไปกว่านั้นเขายังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อด้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี[95][96]

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และปรีดี พนมยงค์[97] ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (1 สิงหาคม พ.ศ. 2487–20 กันยายน พ.ศ. 2488)[12] และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้[98]

หัวหน้าขบวนการเสรีไทย

ปลาย พ.ศ. 2484 สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และรวมไปถึงดินแดนในครอบครองของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมา เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทยทางอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย ในที่สุดก็ร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482[99][100][101]

ปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ เขาไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย[100][102][103]

กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ชนทุกเหล่า แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกรานจึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ[104]

ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในรหัสนามว่า "รู้ธ" (Ruth) ทำงานในสองบทบาทตลอดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน[105][106] คณะผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติไว้ในชั้นแรกสองประการ คือ

  1. ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
  2. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ภารกิจขององค์การเสรีไทยถูกได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ[17]
  3. ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร[107] ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488

เมื่อญี่ปุ่นได้ยอมจำนน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และให้รีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น[100][108][109]

ประกาศสันติภาพ

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[110] ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็น "โมฆะ" ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันสันติภาพไทย"[111][112]

ภายหลังจากการประกาศสันติภาพ ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยจากทั่วประเทศกว่า 8, 000 นาย ได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน เมื่อสิ้นสุดภารกิจลงแล้ว เขาได้ประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย[9] โดยมีสุนทรพจน์บางตอนว่า

...ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล... ...วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง...ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถจะทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี[113]

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้วปรีดี พนมยงค์ จึงขออัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยได้เสด็จกลับถึงพระนครวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบปรีดีที่ไปเฝ้ารับเสด็จดังนี้

ท่านปรีดี พนมยงค์ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้[114]

บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบุรุษอาวุโส

ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ความว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[13]

ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับพระราชทาน[115][116] แก่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488[117]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[6] เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐ ให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55[118]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป[119][120] เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489[121] แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[122][123]

กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงครามที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์[124] และกลุ่มอำนาจเก่า[125] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[14][126] และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[127]

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้เขาเป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 3 เดือนเต็ม[128][129]

ลี้ภัยรัฐประหาร

ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคตลงได้ ประกอบกับการลดบทบาทของกองทัพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ[18] หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่ แล้วพยายามจะจับกุมตัวปรีดี แต่เขาก็หลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร จึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน[130]

ต่อมา ใน พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทยเพื่อยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่กระทำไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง")[131] ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปพำนักยังประเทศสิงคโปร์เพื่อจะไปสู่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยเหตุที่มีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ทำให้ปรีดีต้องเดินทางไปยังประเทศจีนซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายใต้รัฐบาลก๊กมินตั๋งแทน ต่อมา พ.ศ. 2513 จึงได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมาจนเสียชีวิต[132]

ปัจฉิมวัย

ไฟล์:ปรีดี พนมยงค์.png
ปรีดี พนมยงค์ ในปัจฉิมวัย

หลายปีที่ปรีดีลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ยังมีการกล่าวหาว่าปรีดีสมคบการปลงพระชนม์ในหลวงอยู่เป็นระยะ ๆ เขาจึงต้องฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม[133][134][135][136] ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี นอกจากนี้ โดยคำพิพากษาของศาลในกรณีฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสกับพวก ในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์[19] ปรีดีจึงได้รับความรับรองจากทางราชการในฐานะคนไทยโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และได้รับเงินบำนาญตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางของไทย[16][20][137][138][139]

ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ปรีดีได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำพรรคและรัฐบาลจีนไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล จอมพลเฉินยี่ เติ้ง เสี่ยวผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ยังได้พบปะสนทนากับผู้นำกอบกู้เอกราชของชาติในอินโดจีน อาทิ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์และนายกรัฐมนตรีฝ่ามวันดง แห่งเวียดนาม เจ้าสุภานุวงศ์ ประธานประเทศลาว เจ้าสุวรรณภูมา และพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างปรีดีกับประธานโฮจิมินห์นั้น ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยที่เขาผู้นี้ต่อสู้กับฝรั่งเศส[139]

ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 โจวเอินไหลได้อำนวยความสะดวกให้ปรีดีเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส ด้วยความช่วยเหลือจากนายกีโยม จอร์จ-ปีโก (Guillaume Georges- Picot) มิตรเก่าที่มีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตถาวรของประเทศฝรั่งเศส และโดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์[140] ปรีดีจึงได้พำนักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายชีวิตอย่างสันติสุข ท่านเป็นผู้สนใจสนใจในพุทธศาสนา[141] โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง "กฎบัตรของพุทธบริษัท" ที่พุทธทาสภิกขุส่งไปให้นั้น ปรีดีจะพกในกระเป๋าเสื้อนอกติดตัวอยู่ตลอดเวลาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต[142]

เวลา 11 นาฬิกาเศษ ของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ปรีดี พนมยงค์ สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวายขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน[17]

งานเขียน

ปรีดีเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ทั้งสังคมศาสตร์ ขณะพำนักอยู่ในประเทศจีน ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ รวมทั้งผลงานของเมธีทางด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ เช่น มาร์กซ์ เองเงิลส์ เลนิน สตาลิน และเหมา เจ๋อตุง ในเชิงเปรียบเทียบสภาพสังคมไทยทุกแง่ทุกมุม อาทิ ระบอบเศรษฐกิจ การเมือง ทัศนะสังคม ประวัติศาสตร์ ชนชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี แล้วได้เรียบเรียงเป็นบทความ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในโอกาสต่อมา[17]

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาที่นำพุทธปรัชญามาวิเคราะห์วิวัฒนาการของมนุษยสังคมคือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้งและเป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย[17]

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง…พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไป แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

ผลงานงานเขียนบางส่วนของปรีดี ได้แก่[143]

  • บันทึกข้อเสนอเรื่อง ขุดคอคอดกระ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501
  • ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (Ma vie mouvementee et mes 21 ans d' exil en Chine Populaire)
  • ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
  • จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
  • ประชาธิปไตย เบื้องต้นสำหรับสามัญชน
  • ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ
  • ปรัชญาคืออะไร
  • “ความเป็นไปบางประการในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์…
  • บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย
  • ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย
  • ความเป็นเอกภาพกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาชาวปักษ์ใต้แห่งประเทศไทย, 2517
  • อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน, ประจักษ์การพิมพ์, 2518

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

ประเทศ ปีที่ได้รับ เครื่องอิสริยาภรณ์ แพรแถบ อ้างอิง
 ญี่ปุ่น พ.ศ. 2478 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1 [150][151]
 ไรช์เยอรมัน พ.ศ. 2481 เครื่องอิสริยาภรณ์อินทรีเยอรมัน ชั้นสูงสุด [152][153]
 ฝรั่งเศส พ.ศ. 2482 เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นสูงสุด [154][155]
 เบลเยียม พ.ศ. 2482 เครื่องราชอิสริยาภรณ์เลโอปอลด์ ชั้นสูงสุด รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 3 แห่งเบลเยี่ยม [156]
 อิตาลี พ.ศ. 2482 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญมอริซและลาซารัส ชั้นสูงสุด รับพระราชทานจากพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี [157]
 บริเตนใหญ่ พ.ศ. 2482 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญไมเคิลและจอร์จ ชั้นสูงสุด รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร [158]
 สหรัฐ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2489 เหรียญแห่งเสรีภาพ ปาล์มทองคำ รับพิธีประดับเหรียญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงกลาโหม กรุงวอชิงตัน
 สวีเดน พ.ศ. 2490 เครื่องราชอิสริยาภรณ์วาซา ชั้นสูงสุด รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีกุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน [159]

การเชิดชูเกียรติ

วันสำคัญ

อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทุกวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ ค.ศ. 2000 ปรีดีได้รับการประกาศยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้มีการบรรจุชื่อไว้ในปฏิทินเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของยูเนสโก[160]

พันธุ์สัตว์

เมื่อ พ.ศ. 2546 ได้ค้นพบปลาปล้องทองปรีดี (Schistura pridii) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยตั้งชื่อตามนามของปรีดี พนมยงค์[161] และ นายเอช.จี.ไดแนน (H.G.Deignan) ได้ค้นพบ นกปรีดี (Chloropsis aurifrons pridii) ที่ดอยอ่าง ดอยอินทนนท์ซึ่งนกปรีดีนั้นเป็นนกชนิดย่อยของนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และพบกระจายพันธุ์อยู่บริเวณภาคเหนือเรื่อยลงไปทางด้านตะวันตกจนถึงจังหวัดตาก เป็นนกประจำถิ่นที่มีสีสันสวยงาม กินผลไม้และแมลงเป็นอาหาร นอกจากนี้นายไดแนน ยังตั้งชื่อนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าอีกชนิดย่อยหนึ่ง ที่พบกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ขบวนการเสรีไทยว่า Chloropsis cochinchinensis seri-thai[162]

สถานที่

อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 2 ที่คือ บริเวณที่ดินถิ่นกำเนิดของปรีดี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์ อนุสาวรีย์ปรีดีพนมยงค์เป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอุดมการณ์อันสำคัญยิ่งของปรีดี 3 ประการคือ สันติภาพ เสรีไทยและประชาธิปไตย[163] และห้องอนุสรณ์สถานบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอนุสรณ์แห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์[164]

สถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้จัดสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขึ้น ณ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538[165]

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความผูกพันระหว่างศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ กับศาสตราจารย์ ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยและเป็นอธิการบดีคนแรก[166]

หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเนื้อที่รวมประมาณ 10, 000 ตารางเมตร แต่เดิมชื่อ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปลี่ยนเป็น ห้องสมุดธรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมา ก่อตั้งขึ้นพร้อม กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2477 เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2540[167]

วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบ 100 ปี ชาตกาล[168][169]

เพลง

ปรีดีคีตานุสรณ์ คือ บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 4 ประพันธ์โดยคีตกวี สมเถา สุจริตกุล ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์[170] ซึ่งใน พ.ศ. 2543 ดุษฎี พนมยงค์ได้ขับร้องในการแสดงรอบปฐมทัศน์ "ปรีดีคีตานุสรณ์" ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[170] และใน พ.ศ. 2545 ดุษฎี พนมยงค์ ก็ได้แสดงขับร้องใน "ปรีดีคีตานุสรณ์" ร่วมกับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงแห่งชาติเวียดนาม ณ ฮานอย

อื่น ๆ

  • ถนนปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ 3 สาย คือที่ถนนสุขุมวิท 71, ถนนใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • สะพานปรีดี-ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักอันเป็นทางเข้าออกหลักของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งตามชื่อปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์[171]
  • ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เป็นถนนเลียบทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) มีความยาว 12 กิโลเมตร
  • แสตมป์ ชุดที่ระลึก 111 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด วางจำหน่ายครั้งแรก 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554[172]

อ้างอิง

  1. อนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, เรียกข้อมูลวันที่ 25 เม.ย. 2555
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/D/2718.PDF
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/313.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/070/699.PDF
  5. สันติสุข โสภณศิริ, ผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญไทย ปรีดี พนมยงค์, เรือนแก้วการพิมพ์, 2543, ISBN 974-7833-54-9
  6. 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี, ตอนที่ 16, เล่ม 63, วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2489, หน้า 118
  7. รายนามผู้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ อธิการบดี และ ผู้รักษาการแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เรียกข้อมูลวันที่ 18 พ.ย. 2552
  8. ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย, เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย, เรียกข้อมูลวันที่ 6 ก.ค. 2553
  9. 9.0 9.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการเสรีไทย, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  10. นิยม รักษาขันธ์ (นายสีดอกกาว), บันทึกลับเสรีไทยภูพาน, สถาบันราชภัฏสกลนคร, 2543, หน้า 97, 134-139
  11. ประมาณ อดิเรกสาร, ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย, สำนักพิมพ์เส้นทาง, 2545, หน้า 59-62, 81
  12. 12.0 12.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ 45, เล่ม 61, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, หน้า 730
  13. 13.0 13.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส, ตอนที่ 70, เล่ม 62, วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488, หน้า 699
  14. 14.0 14.1 ส. ศิวรักษ์, เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540, หน้า 54–55
  15. ส. ศิวรักษ์, เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540, หน้า 8
  16. 16.0 16.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, socialitywisdom.blogspot.com
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 วาณี สายประดิษฐ์, ปรีดีในต่างแดน, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  18. 18.0 18.1 ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, ISBN 974-92685-3-9
  19. 19.0 19.1 ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, บทที่ 1 การเดินทางออกจากสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 6-9
  20. 20.0 20.1 สัจจา วาที, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เปิดเผยต่อศาล ปรีดี พนมยงค์ คือผู้บริสุทธิ์, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
  21. UNESCO: MS Data Thailand, UNESCO
  22. Asia Week, Asian of the century
  23. ปรีดี พนมยงค์ นักคิด นักเขียน
  24. ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์ สกุล พนมยงค์ และ สกุล ณ ป้อมเพชร์, โครงการปรีดีพนมยงค์กับสังคมไทย, 2526, หน้า 163
  25. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพาขิช, หน้า 11, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  26. วัดพนมยงค์ คำสัมภาษณ์พระอธิการเอิ้อ เจ้าอาวาส, มติชน 15 พฤษภาคม 2526, หนังสือที่ระลึกงานชุมนุมศิษย์เก่า ตมธก.รุ่น 2, 2527, หน้า 13-14
  27. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพานิช, หน้า 9, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  28. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, หน้า 2, ISBN 974-604-957-7
  29. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, หน้า 4-6, ISBN 974-604-957-7
  30. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, หน้า 10, ISBN 974-604-957-7
  31. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, หน้า 11-14, ISBN 974-604-957-7
  32. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, ISBN 974-604-957-7
  33. สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต : การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431-2457, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530
  34. นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544, หน้า 48-55, ISBN 974-604-957-7
  35. ปรีดี พนมยงค์, เรื่องการมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 14
  36. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 6
  37. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 5
  38. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพานิช, หน้า 13-14, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  39. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพานิช, หน้า 20, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  40. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพานิช, หน้า 23, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  41. วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ไทยวัฒนาพานิช, หน้า 25, 2538, ISBN 974-08-2445-5
  42. 42.0 42.1 ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, วิสิษฏสรอรรถ, หน้า 3
  43. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 14
  44. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 12
  45. ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, วิสิษฏสรอรรถ, หน้า 4
  46. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 15-17
  47. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 19
  48. ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 13-17, ISBN 974-7834-15-4
  49. นรุตม์, หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, แพรวสำนักพิมพ์, อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, หน้า, 2535, ISBN 974-8359-86-7
  50. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์, เล่ม 45, วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2471, หน้า 2718
  51. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ ตั้งกรรมการกรมร่างกฎหมาย, เล่ม 49, วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 313
  52. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการ กราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์
  53. 53.0 53.1 53.2 เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับเขาปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 22
  54. ทิพวรรณ (บุญทวี) เจียมธีรสกุล, วิทยานิพนธ์เรื่องความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก, 2528, หน้า 409-421, 423-424
  55. ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 38, ISBN 974-7834-15-4
  56. 56.0 56.1 56.2 สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุค 2475 ที่ถูกบิดเบือน, สถาบันวิทยาศาตร์สังคม, 2536
  57. กำพล จำปาพันธ์. ประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 (ตอนที่ 1). มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. เรียกข้อมูล 28-01-2553.
  58. 58.0 58.1 วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, 100 ปีของสามัญชน นาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน 2543
  59. ชัยพงษ์ สำเนียง เล่าเรื่องอภิวัฒน์ 2475, ประชาไท, 20 มิ.ย. 2552, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  60. สุนทรพจน์ (บางเรื่องของปรีดี พนมยงค์) และ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 (ทัศนะของนายทศ พันธุมเสน), คลังเอกสารสาธารณะ Openbase.in.th, เรียกข้อมูลวันที่ 13 พ.ย. 2552
  61. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475, หน้า 166
  62. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ตอนที่ 0ง, เล่ม 49, วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2475, หน้า 3131
  63. ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 186, ISBN 974-92685-3-9
  64. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476, ตอนที่ 0ก, เล่ม 50, วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476, หน้า 779
  65. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับเขาปรีดี พนมยงค์, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 23
  66. 66.0 66.1 วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  67. 67.0 67.1 สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541
  68. สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541, หน้า 11
  69. สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ศิษย์อาจารย์ฉบับที่ 3, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2541, หน้า 16-17
  70. เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529, หน้า 146-147
  71. ราชกิจจานุเบกษา, สุนทรพจน์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางวิทยุกระจายเสียง, ตอนที่ 0ง, เล่ม 52, วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1140
  72. ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2544, หน้า 49, ISBN 974-7834-15-4
  73. ปรีดี พนมยงค์ กับพระพุทธศาสนา
  74. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ตอนที่ 0ง, เล่ม 51, วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, หน้า 205
  75. ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 31, 59-60
  76. ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 26
  77. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 126
  78. รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการเสรีไทย
  79. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  80. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, www.tu.ac.th
  81. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี กับตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรีดำรงอยู่ในฐานที่เป็นนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, เล่ม 52, วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2478, หน้า 79
  82. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งรัฐมนตรี, เล่ม 54, วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2480, หน้า 918
  83. ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, บทที่ 3 การเข้าพบมุสโสลินีฯ, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 30-31
  84. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 133
  85. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเป็นผลสำเร็จนับเป็นความชอบในราชการของชาติควรตราไว้เป็นสำคัญ, ตอนที่ 0ง, เล่ม 55, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481, หน้า 3789
  86. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการพระราชพิธีฉลองสนธิสัญญาใหม่, เล่ม 56, วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2482, หน้า 800
  87. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 135
  88. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 142-143
  89. ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 185, ISBN 974-92685-3-9
  90. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 144-145
  91. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 506-520
  92. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485, ตอนที่ 30, เล่ม 59, วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485, หน้า 971
  93. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 521-528
  94. พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก, มูลนิธิหนังไทย, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  95. สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน, กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก, เรือนแก้วการพิมพ์, 2544, ISBN 974-7834-10-3
  96. Pridi Banomyong, The King of The White Elephant, Ruankaew Printing House, 3rd English Edition 1999, ISBN 974-7449-22-6
  97. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ 0ก, เล่ม 58, วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, หน้า 1821
  98. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ตอนที่ 52 ก, เล่ม 62, วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488, หน้า 559
  99. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง พุทธศักราช 2482, ตอนที่ 0ก, เล่ม 56, วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2482, หน้า 847
  100. 100.0 100.1 100.2 ปรีดี พนมยงค์, หลักฐานสำคัญบางประการเกี่ยวกับสถานะสงครามของประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, อรุณการพิมพ์, 2521
  101. ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2, สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 4, เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  102. เอกสารประวัติศาสตร์, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม, โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2545, หน้า 14, หน้า 114-115, ISBN 974-7834-35-9
  103. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 195-200
  104. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์แสงดาว, 2549, หน้า 251, ISBN 974-9818-83-0
  105. ทศ พันธุมเสน, จินตนา ยศสุนทร จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, หน้า 106-107
  106. เอกสารประวัติศาสตร์, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม, โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, 2545, หน้า 18-19, ISBN 974-7834-35-9
  107. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ปรีดี พนมยงค์ กับปฏิบัติการเสรีไทย, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2543, หน้า 47-56, ISBN 974-7833-69-7
  108. จดหมายของปรีดี พนมยงค์ ถึง พระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และ สหรัฐอเมริกา, อมรินทร์การพิมพ์, 2522
  109. United States Department of State, Foreign relations of the United States : diplomatic papers, 1945, Volume VI, 1945, pp.1278-1279
  110. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สันติภาพ, ตอนที่ 44ก, เล่ม 62, วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488, หน้า 503
  111. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 202-209
  112. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 16 สิงหาคม 2488 ประวัติศาสตร์ที่ "ให้จำ" กับ "ให้ลืม", ประชาไท, เรียกข้อมูลวันที่ 17 พ.ย. 2552
  113. สุพจน์ ด่านตระกูล, เอกสารและเหตุการณ์ในประวิติศาสตร์การเมือง ปรีดี พนมยงค์ เล่าเรื่องขบวนการเสรีไทย, สำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์, หน้า 140
  114. สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดี พนมยงค์ กับ ในหลวงอานันท์ และกรณีสวรรคต, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2541, หน้า 33
  115. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์, เล่ม 10, ตอน 42, 14 มกราคม พ.ศ. 2436, หน้า 459
  116. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, เล่ม 110, ตอน 29ง ฉบับพิเศษ, 12 มีนาคม พ.ศ. 2536, หน้า 1
  117. 117.0 117.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์, ตอนที่ 70 ง, เล่ม 62, 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488, หน้า 1900
  118. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 606
  119. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงสืบราชสันตติวงศ์ , ตอนที่ 39ก ฉบับพิเศษ, เล่ม 63, วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489, หน้า 4
  120. สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่า ในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงเชื่อว่า...ปรีดีฯ สมคบปลงพระชนม์ ร.8, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2529, หน้า 43-44, 46
  121. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ฉบับพิเศษ, ตอนที่ 38, เล่ม 63, วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489, หน้า 43
  122. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี ฉบับพิเศษ, ตอนที่ 42, เล่ม 63, วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489, หน้า 1
  123. สุพจน์ ด่านตระกูล, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับกับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน พ.ศ. 2543, หน้า 122-129
  124. ส. ศิวรักษ์, เรื่องปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์, สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540, หน้า 55
  125. ประมาณ อดิเรกสาร, Unseen ราชครู, สื่อวัฏสาร, 2547, หน้า 260, ISBN 974-92685-3-9
  126. ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, ลายพระหัตถ์ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ , แผนกงานจ้าง อัลลายด์พริ้นเตอรส์, โรงพิมพ์โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด, วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2517, หน้า 3-4
  127. สุพจน์ ด่านตระกูล, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับกับสถาบันกษัตริย์และกรณีสวรรคต, นิตยสารสารคดี, ฉบับที่ 182, เมษายน พ.ศ. 2543, หน้า 129-134
  128. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, แสงดาว, 2549, หน้า 409-416, ISBN 974-9818-83-0
  129. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, 100 ปี ของ สามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, เรียกข้อมูลวันที่ 28 ม.ค. 53
  130. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532, หน้า 50-60, ISBN 974-7248-22-7
  131. ประทีป สายเสน, กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์อักษรสาส์น, 2532, ISBN 974-7248-22-7
  132. ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ. 2443-2526–ชีวิตทางการเมือง
  133. สำเนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาทโดยใส่ความทำให้โจทก์เสียหาย ความแพ่งระหว่างปรีดี พนมยงค์ โดย นายวิชา กันตามระ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับบริษัทสยามรัฐ จำเลยที่ 1, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จำเลยที่ 2 และคนอื่น ๆ, จัดพิมพ์โดย นายทิม ภูริพัฒน์ ธนบุรี : มีชีพกิจการพิมพ์, 2513
  134. สำนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์, ความแพ่ง ระหว่างปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ กับนายรอง ศยามานนท์ จำเลยที่ 1, บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำเลยที่ 2 และบริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำเลยที่ 3, 2521 (คดีหมายเลขดำ ที่ 4226/2521)
  135. สำเนาคำฟ้อง, เรื่องละเมิด หมิ่นประมาทความแพ่งระหว่างปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ กับนายชาลี เอี่ยมกระสินธ์กับพวก จำเลย, คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง, 2522
  136. ปรีดี พนมยงค์ ผู้บริสุทธิ์ (คำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 4226/2521). --กรุงเทพฯ : กฤตญาดา, 2550. ISBN 978-974-85063-2-6
  137. สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขาปรีดีฯ และกรณีสวรรคต, สารคดี, 2543, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  138. สุพจน์ ด่านตระกูล, ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ รับสั่งว่า ในหลวงและสมเด็จพระราชชนนีไม่ทรงเชื่อว่า...ปรีดีฯ สมคบปลงพระชนม์ ร.8, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2529, หน้า 46, 69
  139. 139.0 139.1 ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529
  140. ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, บทที่ 1 การเดินทางออกจากสาธารณรัฐราษฎรจีน, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 4-5
  141. สัมพันธ์ ก้องสมุทร, ดอกโมกข์ ดอกไม้แห่งพุทธะและธรรมมาตา, ปีที่ 2 ไตรมาสที่ 1 ฉบับที่ 5, หน้า 93
  142. ข่าวสด, เปิดหนังสือกฎบัตรพุทธบริษัท, วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7227 ข่าวสดรายวัน
  143. บรรณานุกรมงานของปรีดี พนมยงค์, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 11 พ.ย. 2552
  144. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า, ตอนที่ 70 ง, เล่ม 62, 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488, หน้า 1900
  145. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 58, 19 มิถุนายน พ.ศ. 2484, หน้า 1945
  146. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 54, 13 ธันวาคม พ.ศ. 2480, หน้า 2212
  147. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 52, 21 เมษายน พ.ศ. 2478, หน้า 138
  148. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 55, 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481, หน้า 4032
  149. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 55, 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481, หน้า 2958
  150. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3374 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478
  151. ปรีดี พนมยงค์. Ma Vie Movementee et mes 21 Ans D' Exil en Chine Populaire, แปลและเรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร จากหนังสือ บางหน้าของประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในอดีต -- กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิทยาคาร, พ.ศ. 2522
  152. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 55 หน้า 162 วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2481
  153. ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, บทที่ 3 การเข้าพบมุสโสลินีฯ, สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 43
  154. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 55 หน้า 927 วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2482
  155. ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน , สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529, หน้า 9
  156. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 56, 25 กันยายน พ.ศ. 2482, หน้า 1798
  157. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 56, 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482, หน้า 2556
  158. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, ตอนที่ 0 ง, เล่ม 56, 4 ธันวาคม พ.ศ. 2482, หน้า 2650
  159. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บพิธการพิมพ์, 2493, หน้า 741
  160. http://www.unesco.org/eri/cp/cp-print.asp?country=TH&language=E
  161. ไทยรัฐ, 4 สิงหาคม 2546, หน้า 15
  162. นกสวยงามกับเสรีไทย
  163. อนุสรณ์สถานปรีดีพนมยงค์
  164. ลานปรีดี พนมยงค์ จาก es.foursquare.com
  165. ประวัติสถาบันปรีดี พนมยงค์, เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์
  166. เกี่ยวกับคณะ–คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์
  167. ประวัติหอสมุดปรีดี พนมยงค์
  168. Pridi Banomyong International College
  169. DMNEWS บล็อกข่าวส่งเสริมคนดี. (11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552). วิทยาลัยนานาชาติ"ปรีดี พนมยงค์" มิติใหม่ธรรมศาสตร์ สร้างนักศึกษาสู่ตลาดโลก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 21 กรกฎาคม 2553).
  170. 170.0 170.1 กฤษณา อโศกสิน, หน้าต่างบานใหม่, สกุลไทย, ฉบับที่ 2387 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2543
  171. เกื้อกูล ยืนยงอนันต์. (2527). ความเปลี่ยนแปลงภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2438-2500. พระนครศรีอยุธยา : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. ถ่ายเอกสาร.
  172. ปณท ออกแสตมป์100ปี หลวงพ่อปัญญา-ปรีดี พนมยงค์ 

แหล่งข้อมูลอื่น


ก่อนหน้า ปรีดี พนมยงค์ ถัดไป
ควง อภัยวงศ์ ไฟล์:Seal Prime Minister of Thailand.png
นายกรัฐมนตรีไทย
(24 มีนาคม พ.ศ. 2489 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
พระยาไชยยศสมบัติ(ก่อนสมัยที่ 1)
พระยาศรีวิสารวาจา(ก่อนสมัยที่ 2)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (สมัยที่ 1)
24 มีนาคม พ.ศ. 2489 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 (สมัยที่ 2))
เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ (หลังสมัยที่ 1)
วิจิตร ลุลิตานนท์ (หลังสมัยที่ 2)
พระยาศรีเสนา
(ศรีเสนา สมบัติศิริ)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2481)
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
(จิตร์ ณ สงขลา)
พระยาพหลพลพยุหเสนา
(พจน์ พหลโยธิน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(29 มีนาคม พ.ศ. 2477 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478)
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สถาปนาตำแหน่ง
ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(11 เมษายน พ.ศ. 2477–18 มีนาคม พ.ศ. 2495)
ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค
(รักษาการ)
เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
(อุ่ม อินทรโยธิน)

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 - 20 กันยายน พ.ศ. 2488)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร