เอื้อ สุนทรสนาน
![]() | บทความนี้อาจต้องการพิสูจน์อักษร ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
เอื้อ สุนทรสนาน | |
---|---|
![]() | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ละออ สุนทรสนาน |
เสียชีวิต | 1 เมษายน พ.ศ. 2524 (71 ปี) |
คู่สมรส | อาภรณ์ สุนทรสนาน |
บุตร | อติพร สุนทรสนาน |
อาชีพ | นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง |
ปีที่แสดง | 2482-2523 |
เอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า "ครูเอื้อ" (21 มกราคม พ.ศ. 2453 - 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นนักร้อง นักประพันธ์เพลงและหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์
นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการเพลงไทยสากล โดยริเริ่มก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์[1]ทั้งมีผลงานมากมายจนนับไม่ถ้วนเป็นที่คุ้นเคยของผู้ฟังมากว่าครึ่งศตวรรษ เช่น เพลงเทศกาล, เพลงประจำจังหวัดและสถาบันการศึกษา, สดุดี/ปลุกใจ ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง เช่น รำวงลอยกระทง ,รำวงเริงสงกรานต์ ,นางฟ้าจำแลง และอื่น ๆ ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2518[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อ พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก และได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ใน พ.ศ. 2552[2]
วัยเด็ก[แก้]
เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่
- หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล สุนทรสนาน จาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำดับที่ 1978 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2457
- นางเอื้อน แสงอนันต์
- นายเอื้อ สุนทรสนาน
เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า)และวิชาดนตรีทุกประเภท(ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และ แซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา
ชีวิตการทำงาน[แก้]
สองปีต่อมา เมื่ออายุได้เพียง 12 ขวบ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา
นอกจากรับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ แม่เลื่อน ไวณุนาวิน และได้แต่งทำนองเพลง ยอดตองต้องลม ขึ้น นับเป็นเพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้น ได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา ละออ) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง
จนอายุได้ 26 ปี ใน พ.ศ. 2479 มีโอกาสเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม "ถ่านไฟเก่า" สร้างโดย บริษัทไทยฟิล์ม ( ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ,หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ,นายพจน์ สารสิน และ นายชาญ บุนนาค) และยังได้ร้องเพลง ในฝัน แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย
จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง แต่ต้องสลายตัวเมื่อไทยฟิล์มเลิกกิจการไปหลังจากนั้นเพียงปีเศษ
กรมโฆษณาการ[แก้]
ปีต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดี นายวิลาศ เห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร อันเป็นที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8)
ครอบครัว[แก้]
สมรสกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตร 1 คน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ (สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์)
ตำแหน่งการงาน[แก้]
เมื่อคราวนำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ปี พ.ศ. 2482 สุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในฐานะผู้จัด เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
พ.ศ. 2495 ได้เป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 ในปีนี้ ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ (เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
ถึงแม้ไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่สิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ วันแห่งความปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีคือการได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
ปัจฉิมวัย[แก้]
ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ถึงแก่อนิจกรรม รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น้ำหลวงอาบศพ หีบทองทราย ฉัตรเบญจา ปี่ไฉนกลองชนะประโคม และ รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2525
เกียรติยศ[แก้]
- โล่เกียรติยศพระราชทานในฐานะศิลปินตัวอย่าง (ผู้ประพันธ์เพลง) ในงานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2523 - 2524 โดยมี นางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
- ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”
ภาพยนตร์[แก้]
- แต่งทำนองเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่น ศาสนารัก ,ปรัชญาขี้เมา ใน "ศาสนารักนางโจร" (2493) ,ชายชาติเสือ ใน "เสือดำ" กับ ลูกน้ำเค็ม ใน "สาวน้ำเค็ม" (2494) , กลิ่นร่ำ ใน "นเรศวรมหาราช" (2500) ฯลฯ
- ปรากฏตัวพิเศษครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิตและร่วมขับร้องเพลง ร่มเกล้า ใน "เงิน เงิน เงิน" ของ บริษัทละโว้ภาพยนตร์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2508
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ฝ่ายหน้า (ต.จ.ว.)[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2511-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[4]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2491-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)[5]
- 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484-
เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.) [6]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499-
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[7]
- 4 สิงหาคม พ.ศ. 2497 -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 5 (ภ.ป.ร.5)[8]
ดูเพิ่ม[แก้]
- วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (วงดนตรีกรมโฆษณาการ)
- วงดนตรีสุนทราภรณ์
- ตไทย เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. 2508)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ http://www.tlcthai.com/webboard/view_topic.php?table_id=1&cate_id=110&post_id=64451 UNESCO เตรียมลงมติ “ครูเอื้อ-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” บุคคลสำคัญของโลก
- ↑ http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000126667&#Opinion ด่วน!! ยูเนสโก ยกย่อง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์–ครูเอื้อ” เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2518 เล่ม 92, ตอนที่ 95, 16 พฤษภาคม 2518, ฉบับพิเศษ หน้า 12.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2511 เล่ม 85, ตอนที่ 122, 31 ธันวาคม 2511, ฉบับพิเศษ หน้า 56.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2491 เล่ม 65, ตอนที่ 75, 25 ธันวาคม 2491, ฉบับพิเศษ หน้า 8.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน เล่ม 58, 10 ธันวาคม 2484, หน้า 4951.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญจักรพรรดิมาลา ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2499 เล่ม 74, ตอนที่ 9, 23 มกราคม 2500, ฉบับพิเศษ หน้า 432.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เล่ม 71, ตอนที่ 51, 17 สิงหาคม 2497, หน้า 1847 - 1848.
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2453
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2524
- นักร้องเพลงลูกกรุง
- นักดนตรีไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์
- สุนทราภรณ์
- นักแต่งเพลงลูกกรุง
- บุคคลจากจังหวัดสมุทรสงคราม
- นักไวโอลิน
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.จ.ว.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บ.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.5