เนตร เขมะโยธิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนตร เขมะโยธิน
เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506
นายกรัฐมนตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ก่อนหน้าพันเอก แสวง เสนาณรงค์
ถัดไปพลตรี ชูศักดิ์ วัฒนรณชัย
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
1 มกราคม พ.ศ. 2501 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
นายกรัฐมนตรีถนอม กิตติขจร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452
อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
เสียชีวิต22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 (75 ปี)
พรรคการเมืองสหภูมิ
คู่สมรสคุณหญิงพูนทรัพย์ เขมะโยธิน

พลเอก เนตร เขมะโยธิน (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528) เป็นอดีตหัวหน้าคณะกบฏเสนาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2491 เป็นอดีตเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, อดีตรัฐมนตรี ,อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ ในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสหภูมิ

ประวัติ[แก้]

พลเอก เนตร เขมะโยธิน [1]เป็นบุตรของ พันเอก พระยารามจตุรงค์ (นัด เขมะโยธิน) และนางริ้ว เขมะโยธิน, พลเอก เนตร เป็นผู้สืบสายสกุล “ณ ราชสีมา” ชั้น 8 สาย "พระยาภักดีสงคราม (เจ้าเมืองนางรอง)" [2][3] ต่อมาได้สมรสกับ คุณหญิงพูนทรัพย์ เขมะโยธิน และมีบุตร 9 คน อาทิ ณรงค์ เขมะโยธิน เอกอัครราชทูต พลเอก [4]ขราวุธ เขมะโยธิน อดีตเจ้ากรมการสนเทศทหาร รศ.ยิ่งยศ เขมะโยธิน อดีตรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลเอก เนตร มีศักดิ์เป็นปู่ของนุติ เขมะโยธิน นักแสดงโทรทัศน์

การศึกษา[แก้]

พลเอก เนตร ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากบิดารับราชการเป็นนายทหารระดับผู้บังคับการกรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และเมื่ออายุ 7 ปี ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นเวลา 11 ปี (จากชั้นประถมถึงจบหลักสูตร) โดยได้เรียนจบในปี พ.ศ. 2470 และเข้ารับราชการเป็นนายทหาร (ตามประวัติกล่าวว่ามีอายุน้อยที่สุดในเพื่อนรุ่นเดียวกัน)

  • ปี พ.ศ. 2477 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และสามารถสอบได้ลำดับที่ 1 จึงถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ประเทศฝรั่งเศส
  • ปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2513-2514[5]
  • ปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2520 ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น[6]

แก่อนิจกรรม[แก้]

พลเอก เนตร ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2528

บทบาททางสังคม[แก้]

เป็นกำลังสำคัญของกองทัพบูรพา[แก้]

เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ไม่ปรากฏชื่อเข้าร่วม แต่ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่มียศเป็นนายร้อยโท ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้น นายร้อยโท เนตร เป็นทหารของฝ่ายรัฐบาลอยู่ในกองบังคับการกองผสมที่มีนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับการ สามารถปราบกบฏได้สำเร็จ ในปีถัดมา นายร้อยโท เนตรได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังกลับมาเมืองไทยไม่นาน นายพันเอก หลวงพิบูลสงครามซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไทยกับฝรั่งเศสมีปัญหาความขัดแย้ง จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าสงครามอินโดจีน ในตอนต้นปี พ.ศ. 2484 นายพันตรี เนตร เขมะโยธิน ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพบูรพา ที่มีนายพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นผู้บัญชาการ

สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย[แก้]

พลตรี เนตร เป็นนายทหารมีทัศนคติโน้มเอียงไปในแนวทางประชาธิปไตยของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์[7] โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2489 ซึ่งมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามข้าราชการประจำทั้งทหาร และพลเรือนดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเวลาเดียวกัน ซึ่งพลตรี เนตร สนับสนุนแนวคิดนี้ พลตรี เนตร ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดย

  1. พลโท ผิน ชุณหะวัณ
  2. พันเอก เผ่า ศรียานนท์
  3. พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์

รวมทั้ง ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังที่มาจากการเลือกตั้ง

ก่อการกบฎยึดอำนาจจากรัฐบาลทหาร[แก้]

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พลตรี เนตร ได้เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกบฏเสนาธิการ วางแผนเข้ายึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป โดยมีแผนจู่โจมเข้าจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะที่ไปร่วมงานฉลองมงคลสมรส ของพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2491 [8] หลังการก่อกบฏดังกล่าว พลตรี เนตร ถูกจับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี[9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 พลตรี เนตร ได้เข้าร่วมก่อการกับกบฏสันติภาพ[10] แต่ถูกจับกุมและศาลพิพากษาจำคุก ต่อมาจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในปีพ.ศ. 2500[11]

ลงเลือกตั้งและเข้าร่วมรัฐบาล[แก้]

ภายหลังเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ พลตรี เนตร ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สารเสรี ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อนร่วมรุ่น และต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสหภูมิ ของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ มอบให้พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรี เนตร จึงได้เข้าร่วมรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนี้

  • วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงคมนาคม[12]
  • วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[13]
  • วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง พลตรี เนตร จึงได้กลับมาทำงานใกล้ชิดอีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2502[14] อยู่ในตำแหน่งจนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 และเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ย้ายมาเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้น พลตรี เนตร ก็ไม่ได้กลับเข้าไปในการเมืองอีก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เนตร เขมะโยธินกับกบฏเสนาธิการ [ลิงก์เสีย]
  2. กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.) , หน้า 200
  3. ต้นสกุล ณ ราชสีมา ย้อนเรื่อง เมืองโคราช
  4. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  5. ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2513-2514จาก หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น[ลิงก์เสีย]
  7. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550, หน้า 159
  8. นรนิติ เศรษฐบุตร ศ.ดร., 1 ตุลาคม คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย หน้า 8 เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,653: วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ
  9. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550, หน้า 165
  10. ย้อนรอยรัฐประหารไทย ตอนที่ 12 กบฏสันติภาพ
  11. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙
  12. ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งรัฐมนตรีสั่งราชการ
  13. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (นายเสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์ นายชื่น ระวิวรรณ พลตรี เนตร เขมะโยธิน นายทิม ภูริพัฒน์ นายอารีย์ ตันติเวชกุล)
  14. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
  15. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  16. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  17. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 80 ตอนที่ 41 หน้า 1318, 30 เมษายน 2506
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 80 ตอนที่ 101 หน้า 2354, 15 ตุลาคม 2506
  20. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2507/D/090/2450.PDF