สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี | |
---|---|
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | |
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | |
ดำรงพระยศ | 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 |
สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2454 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
พระอัครมเหสี | |
ดำรงพระยศ | 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ |
ถัดไป | สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี |
พระราชสมภพ | 10 กันยายน พ.ศ. 2405 พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร |
สวรรคต | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 (93 ปี) วังสระปทุม จังหวัดพระนคร |
ถวายพระเพลิง | 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชบุตร | 8 พระองค์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชมารดา | สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา |
ศาสนา | พุทธ |
ลายพระอภิไธย |
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 — 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)
พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนี (แม่) ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดลที่สืบราชสันตติวงศ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระปัยยิกาเจ้า (ทวด) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อแรกของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ[1]
พระราชประวัติ
พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 โดยได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405 ซึ่งเป็นวันทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา"[2] พระราชหัตถเลขามีดังนี้
"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามกรแก่บุตรี ที่ประสูติแต่เปี่ยมผู้มารดา ในวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช 1224 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา วัคมูลคู่ธาตุเป็นอาทิอักษร วัคอายุเป็นอันตอักษร ขอให้จงเจริญพระชนมายุพรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล พิบูลพูนผลทุกประการเทอญ"[3]
สำหรับพระพรที่ทรงผูกเป็นภาษามคธกำกับลายพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามว่า "สฺวางฺควฑฺฒนา" สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า[4]
"เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชสกุลนี้ว่า "สว่างวัฒนา" ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาลนานเทอญ"
พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย[5] มีพระพี่นางพระน้องนางที่สนิทสนมเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน คือ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้านภาพรประภา พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา[6]
สมเด็จพระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา"[7] นอกจากนี้ยังปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ความว่า[8]
งามโฉมโฉมนิ่มน้อง | นงลักษณ์ | |
งามเกษกรรณรับภักตร์ | ผ่องแผ้ว | |
ขนงเนตรนุชน่ารัก | งามรับ กันนา | |
งามโอษฐเอื้อมอัตถ์แผ้ว | เพริศพริ้มรายกนต์ |
พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา[2] โดยมีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี[9] แต่พระองค์เจ้าทักษิณชามีพระสติวิปลาสไปมิอาจรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป[10] พระภรรยาเจ้าสี่พระองค์หลังมีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเป็นสำคัญ[9] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิมมีพระราชดำริที่จะสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าด้วยเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5[4] แต่ในปี พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จสวรรคตพร้อมพระราชธิดาและพระราชโอรสในพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่สวรรคตไปแล้ว ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสมอกัน ซึ่งสมภพ จันทรประภา สรุปคำบอกเล่าของนางข้าหลวงว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาไม่เต็มพระทัยมีพระอิสริยยศสูงกว่าเพราะเป็นน้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นพระบรมราชเทวีด้วย[11]
หลังจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างพระตำหนักขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระตำหนักใหม่นี้เป็นพระตำหนักขนาดใหญ่ ถือเป็นพระตำหนักประธานในเขตพระราชฐานชั้นในเลยทีเดียว โดยเมื่อขึ้นพระตำหนักใหม่แล้ว ชาววังก็ออกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีโดยลำลองว่า สมเด็จพระตำหนัก ตั้งแต่นั้นมา ในช่วงเวลานี้พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจออกรับแขกเมืองในฐานะพระราชินีแห่งสยาม ดังในปี พ.ศ. 2428 ขณะมีพระชนมายุ 22 พรรษา ได้เสด็จออกเพื่อต้อนรับเจ้าชายออสการ์ ดยุกแห่งกอตลันด์ ดังปรากฏว่า[12][13]
"...เข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบาง ๆ อายุราว ๆ 19 ปี คล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดีในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อย แสนจะหรูหรา พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์ เครื่องทรงของพระราชินีซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทอง ๆ เงิน ๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบ ๆ ทำด้วยไหมทองจุดขาว มีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวม ๆ ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่ง เป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง ทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์ที่ประหลาดแต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพชรวูบวาบ ติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ ท่านงามสะดุดตาอยู่แล้ว ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง กับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร [...] ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คืองงงัน ซาบซึ้ง และปีติในสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในพระราชินีที่งามเลิศ..."
นอกจากนี้ยังเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายูไปเมืองสิงคโปร์ พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนัดกับเซอร์เฟรเดอริก เวลด์ (Frederick Weld) เจ้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ ความว่า[14]
"...เขาขอให้แม่กลางไปด้วย เห็นว่าไม่เป็นการเสียอันใด จึงได้พาแม่กลางลงไปด้วยคนเดียว มีคนทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในที่นั้นประมาณ 20 คน นำให้รู้จักคนเหล่านั้น ผัวมานั่งพูดกับเรา เมียพูดกับแม่กลาง ครู่หนึ่งเปลี่ยนเมียมาพูดกับเรา ผัวไปพูดกับแม่กลาง ในเวลานี้เลี้ยงน้ำชาไปพลางแล้วเปลี่ยนกันอีกครั้งหนึ่ง..."
ทรงตก
ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า "ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียกพี่เรียกน้องในการสืบสันตติวงศ์"[15] พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในฐานะเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์จึงไม่ยอมเสด็จไปก่อนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีโดยพระราชทานเหตุผลว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นพระราชชนนีของมกุฏราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินว่า "แม่กลางกับแม่เล็กไม่ใช่คนอื่นพี่น้องกันแท้ ๆ แม่กลางเป็นพี่ไปหน้าตามอายุแล้วกัน"[15]
แต่ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ พระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า มีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการปกครองสยามเป็นระยะเวลาถึง 9 เดือน[16] ทำให้ฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีลดลงมาเป็นอันดับสองของพระราชวงศ์ฝ่ายในโดยปริยาย ซึ่งสภาวการณ์ "ตก" ดังกล่าว พระองค์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ความว่า "...ฉันน่ะไม่เคยขี้เหนียวหรอก แต่เห็นเสียแล้ว เมื่อเวลาฉันมีบุญน่ะ ล้วนแต่มาห้อมล้อมฉันทั้งนั้นแหละ เวลามีงานมีการอะไร ฉันก็ช่วยเต็มที่ไม่ขัด แต่พอฉันตกก็หันหนีหมด ไปเข้าตามผู้มีบุญต่อไป ฉะนั้นฉันจึงตัดสินใจไม่ทำบุญกับคนรู้จัก แต่จะทำการกุศลทั่วไปโดยไม่เลือก"[17]
สามปีหลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชธิดาในพระองค์ สิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคตับเคลื่อน สิ้นพระชนม์ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ระบุไว้ว่า "...ภายหลังทราบว่าสมเด็จพระชนนีกันแสงไม่ได้พระสติ และต่อจากนั้นมาก็ทรงระทมพระทัยทรุดโทรมมาก"[18] หลังจากนั้นหนึ่งปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระราชโอรสอีกพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดไปอีกพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ทรงพระประชวรอยู่แล้วตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก[19] หม่อมศรีพรหมากล่าวอีกว่า "...เป็นแต่นึกสงสารสมเด็จพระราชชนนีที่สูญเสียพระราชบุตรไปใกล้ ๆ กันถึงสองพระองค์ ทราบว่ากว่าจะสิ้นความเศร้าก็เป็นเวลานาน จนผู้เขียนไปต่างประเทศแล้ว..."[18] ในช่วงพระราชพิธีพระถวายพระเพลิงพระศพของพระราชบุตรทั้งสามพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จไปประทับที่ศรีราชาเป็นระยะเวลาถึงสี่ปี เพื่อรักษาพระอาการประชวร หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ได้อธิบายถึงเรื่องราวนี้ไว้ว่า "...ขาดแต่สมเด็จพระพันวัสสา เพราะได้เสด็จไปประทับที่ศรีราชาเมื่อ ร.ศ. 118 เพราะทรงได้รับความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง นับแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2437 พระชนมายุเพียง 16 พรรษา แลต่อมาอีก 4 ปี คือในปี พ.ศ. 2441 พระราชโอรสแลพระราชธิดาก็สิ้นพระชนม์ลงอีกถึง 2 พระองค์ในเวลาใกล้ ๆ กัน เหตุนี้จึงต้องเสด็จไปประทับที่ศรีราชา ทรงพักรักษาพระองค์เนื่องจากทรงพระประชวรอยู่ราว 4 ปี จึงได้เสด็จกลับ ส่วนการพระเมรุนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงจึงต้องทรงเป็นเจ้าภาพแทน ตลอดทุกพระเมรุ"[20]
ในปี พ.ศ. 2453 ทันทีที่ทรงสูญเสียพระบรมราชสวามี พระองค์ก็ทรงประชวรพระวาโย บรรทมบนพระเก้าอี้ปลายพระแท่นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง เหล่ามหาดเล็กอยู่งานจึงใช้พระเก้าอี้หามเชิญเสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์ เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ประชวรพระวาโยและเชิญเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปพระตำหนักสวนสี่ฤดูเช่นกัน[21] หลังจากนั้นท่านผู้ใหญ่ฝ่ายในเล่าว่าแต่นั้นมา ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ไม่ทรงแย้มพระสรวล จนถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าเห็นทรงพระสรวลก็เป็นบุญ[3] หลังสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่วังพญาไทเป็นเวลาแรมเดือน ภายหลังได้เสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์[15]
สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระพันวัสสาในรัชกาลที่ 7
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี[2] (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า แปลว่า สมเด็จป้า-พี่สาวของแม่) โดยข้าราชสำนักในสมัยนั้นออกพระนามว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ เป็นคู่กันกับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ช่วงเวลาดังกล่าวสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตได้เข้ามากราบพระบาทของสมเด็จพระมาตุจฉา และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เป็นนัยว่าขออภัยที่เคยล่วงเกินกันในอดีต ดังปรากฏในคำตรัสเล่าของหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ความว่า[22]
"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประชวรกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต ประชวรมากขึ้น และเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน และเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรในท้องพระโรงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ทรงสนทนากันสามพระองค์พี่น้องถึงความหลังครั้งเก่า แล้วสมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงกราบลงที่พระบาทสมเด็จฯ ก็ที่ใคร ๆ จะรู้สึกพระองค์ เป็นนัยว่าทรงขอพระราชทานอภัยในความหลังดั้งเดิมทั้งหมด ฝ่ายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงเบี่ยงพระองค์ชักพระบาทหลบ เห็นด้วยเกรงว่าสมเด็จพระพันปีจะกราบมาถึงท่านอีกพระองค์ เสร็จจากทรงกราบที่พระบาทสมเด็จฯ แล้ว สมเด็จพระพันปีก็ทรงคลานอ้อมมานิดหนึ่ง แล้วก็ทรงกราบลงที่พระบาทพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ แล้วก็ทรงกราบลงพร้อม ๆ กับที่พระกันแสงกันทั้งสามพระองค์ ทำให้ข้าหลวงแถว ๆ นั้นอดกลั้นน้ำตามิได้ไปตาม ๆ กัน..."
สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าทรงพระกรุณาเป็นพระธุระให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระครรภ์จนถึงมีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงเล่าถึงสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯว่า "ถ้าไม่ได้ท่าน เจ้าฟ้าก็ไม่ได้เป็นพระองค์"[23] สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระประสูติการก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งวัน โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากฝังพระราชธิดาไว้กับ "สมเด็จป้า" ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่าทรงนับถือสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเป็นที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพันวัสสา" มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[24] ข้าราชสำนักจึงออกพระนามกันทั่วไปว่า สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า สืบต่อมา[2]
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8 และ 9
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[2][25] ตามพระราชสัมพันธ์ของพระองค์กับรัชกาลที่ 8 คือพระอัยยิกา (ย่า) และดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระองค์เคยปรารภว่า "ดูใคร ๆ ก็ตายกันไปหมด ได้มีชีวิตยืนอยู่นี่ก็ไม่เห็นมีอะไรจะดี เปลี่ยนชื่อไป เปลี่ยนชื่อไป จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้"[26]
แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงทราบ ในวันเชิญพระบรมศพลงพระโกศนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จพระราชดำเนินออกมาทางระเบียงและตรัสขึ้นมาว่า "วันนี้เป็นอะไร ฟ้าเศร้าจริง นกสักตัวกาสักตัวก็ไม่มาร้อง เศร้าเหลือเกิน นี่ทำไมมันเงียบเชียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ" ข้าราชบริพารเมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็รู้สึกสะเทือนใจ ผู้ใดที่ทนไม่ได้ต่างก็หลบออกมาด้วยกลัวที่พระองค์ท่านจะทรงรู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น[27] พระองค์จึงทรงรำลึกอยู่เสมอว่า "มีหลานชาย 2 คน"[28]
อนึ่ง ทางรัฐสภาเคยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่ได้ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าพระองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าให้มีพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นคณะบุคคลนั่นเอง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระองค์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เมื่อพระองค์ทรงเจิมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้ว มีรับสั่งว่า "หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เข้ามาซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย"[29] ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้เข้าเฝ้า ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเลือนพระสัญญาด้วยทรงเจริญพระชนมพรรษาเกือบ 90 พรรษาแล้วในขณะนั้น และมักจะไม่มีพระราชเสาวนีย์แก่ผู้มาเฝ้าเท่าใดนัก
สวรรคต
ภายหลังจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนานถึง 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรเนื่องจากตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้อง ทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึง 3 เดือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็ประชวรด้วยพระอาการอักเสบที่พระปับผาสะ[30]
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระนามในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ประทับอยู่ นอกจากนั้น ก็มีเสด็จพระองค์วาปีฯ หม่อมเจ้าหลาน ๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการน่าเป็นห่วงตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น.[31] โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงถวายบังคม "สมเด็จย่า" อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน[32]
หลังจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล ประกอบพระลองทองใหญ่ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (พระเศวตฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพลงจากพระที่นั่ง และเคลื่อนออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปทางวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดผ้าไตรที่โกศพระบรมศพ หลังจากนั้น พระบรมศพเคลื่อนขบวนไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง แล้วจึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ และในวันที่ 23 เมษายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้ภายใต้ฐานชุกชี พระสัมพุทธวัฒโนภาส วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[33]
พระราชโอรส-ธิดา
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 4 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 4 พระองค์ ตกเสียก่อนเป็นพระองค์ 2[3] ดังต่อไปนี้
ลำดับ | พระรูปและพระนาม | เพศ | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่อภิเษกสมรส | พระบุตร |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | ช. | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 | 4 มกราคม พ.ศ. 2438 | - | - |
2 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ | ช. | 4 กันยายน พ.ศ. 2422 | 25 กันยายน พ.ศ. 2422 | - | - |
3 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี | ญ. | 21 เมษายน พ.ศ. 2424 | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424 | - | - |
4 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ | ช. | 9 มิถุนายน พ.ศ. 2425 | 17 มิถุนายน พ.ศ. 2442 | - | - |
5 | สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร | ญ. | 16 เมษายน พ.ศ. 2427[34] | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 | - | - |
6 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี | ญ. | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 | 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 | - | - |
7 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2432 | - | - | ||
8 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2433 | - | - | ||
9 | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก | ช. | 1 มกราคม พ.ศ. 2435[34] | 24 กันยายน พ.ศ. 2472 | สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | ||||||
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | ||||||
10 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ญ. | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 | 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 | - | - |
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำพร้าพระมารดาอีก 4 พระองค์ คือ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (28 สิงหาคม พ.ศ. 2427 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย (13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 – 8 กันยายน พ.ศ. 2491) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2494) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (25 มิถุนายน พ.ศ. 2434 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2525) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม
ชีวิตส่วนพระองค์
พระจริยวัตร
เมื่อเว้นว่างจากพระราชกรณียกิจ พระองค์ทรงใช้ชีวิตอย่างสามัญโดยเฉพาะในการเลี้ยงดูพระราชโอรส-ธิดา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงบันทึกว่าทรงเล่นกับพระราชชนกและพระราชชนนีขณะพระชันษา 8 ปี ไว้ว่า "...แล้วเราเล่นงูกินหางกับทูลกระหม่อม (ทรงเป็นแม่งู) สมเด็จแม่เป็นพ่องู เราออกสนุกมาก..."[14] และเคยบันทึกเกี่ยวกับการลงโทษของพระราชชนนีว่า "...น้องชายโต [พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว] แย่งดอกไม้ เราร้องไห้ แล้วเรากลับออกไปอีก พี่อัจ [พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา] ทำน้ำข้าวตังหกรดผ้าเราเปียก เราร้องไห้ กลับมาข้างใน สมเด็จแม่ทรงหักมือเรา ว่าเราร้องไห้บ่อย ๆ"[35] สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมีความคล่องแคล่วและแข็งแรง ดังปรากฏในเหตุการณ์ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระชันษา 10 ปี ทรงพายเรือเล่นที่บางปะอินแล้วทรงพลัดตกน้ำ พระองค์ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ 5 เดือน ได้กระโจนลงน้ำแล้วคว้าพระราชโอรสขึ้นมาบนเรือได้อย่างปลอดภัย[14] ซึ่งลักษณะส่วนพระองค์ที่ค่อนข้างคล่องแคล่วว่องไวดังกล่าว ได้กลายเป็นลักษณะพิเศษของนางข้าหลวงในพระตำหนักของพระองค์ ที่มักมีอุปนิสัยเคร่งครัด เจ้าระเบียบ แต่งกายเรียบร้อยไม่ฉูดฉาด มารยาทกะทัดรัด หนักแน่น มีความรู้ด้านการงานและธุรกิจ กระเหม็ดกระเหม่ไม่ฟุ้งเฟ้อ[36] นอกจากนี้ยังดำรงพระองค์เป็นเจ้านายฝ่ายในอย่างโบราณ คือไม่โปรดที่จะปรากฏพระองค์อย่างออกหน้า[14]
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรู้ภาษาอังกฤษในระดับหนึ่ง ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษประจำ ฟังเข้าพระทัยแต่ตรัสได้ไม่มากนัก หากเสด็จออกรับแขกเมืองจึงทรงใช้ล่าม แต่หากทรงคุ้นจะไม่ต้องใช้[37]
ถึงแม้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจะทรงยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศ พระราชอิสริยศักดิ์ และเพียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทพระองค์แรกก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ พระราชโอรสลำดับที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน ขณะที่มีพระชันษาเพียง 21 วันเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2424 ก็ทรงสูญเสียสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระองค์ไปเมื่อมีพระชันษาเพียง 4 เดือน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ พระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังไม่ได้รับการพระราชทานพระนามสิ้นพระชนม์ลงขณะที่มีพระชันษาเพียง 3 วัน หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงวิปโยคยิ่งนัก อีกทั้งการที่ทรงพระกันแสงอย่างหนักทำให้พระพลานามัยทรุดโทรมลงจนกระทั่งทรงพระประชวรในที่สุด
พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทรงพักฟื้น จนพระพลานามัยดีขึ้น แต่เมื่อ พ.ศ. 2441 พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จนทรงพระประชวรลงอีกครั้ง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชธิดาอีกพระองค์ประชวรพระโรคนิวมอเนีย (ปอดบวม) สิ้นพระชนม์ลง เมื่อมีพระชันษาเพียง 10 ปีเท่านั้น คณะแพทย์กราบบังคมทูลให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เมืองชายทะเลเพื่อรักษาพระองค์ แต่ยังมิได้เสด็จไป สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อพระชันษา 18 ปี ซึ่งการสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างต่อเนื่องทำให้พระองค์ทรงพระประชวรถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ จนไม่อาจเสด็จฯ ไปในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณโสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นพระราชพิธีเดียวกันได้
ส่วนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระราชธิดาบุญธรรมที่มีความใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ซึ่งพระองค์ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะฝากการพระบรมศพของพระองค์เองไว้ด้วยนั้น ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477
ในปี พ.ศ. 2481 กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) พระราชโอรสบุญธรรมถูกจับกุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวก็ตกพระทัยและได้ทรงต่อรองกับรัฐบาล โดยรับประกันด้วยพระราชทรัพย์ทั้งหมดที่ทรงมีเพื่อแลกกับการปล่อยตัวสมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร แต่ไม่สำเร็จ พระองค์ถึงกับรับสั่งว่า[38] "ลูกตายไม่น้อยใจช้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักห้ามได้ว่าเป็นธรรมดาของโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว" โดยสมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทรถูกถอดฐานันดรศักดิ์เป็น "นักโทษชายรังสิต" และต้องคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต[39] ในระหว่างนั้นเองสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จฯที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ฉลองพระคุณพระราชชนนีในขณะนั้น ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2481 หลังจากนั้น นักโทษชายรังสิตก็ได้รับการปล่อยตัวและได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์คืนดังเดิม[40] แต่สมเด็จฯ กรมพระชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) ก็สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2494 เหลือเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาบุญธรรมพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงพระชนม์อยู่จนได้ทรงเป็นองค์จัดการพระบรมศพสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง ผู้ทรงอภิบาลดูแลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นการสนองพระคุณสมเด็จฯ ในวาระที่สุดนี้
ที่ประทับ
พระบรมมหาราชวัง
เมื่อทรงพระเยาว์ในฐานะพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประทับอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังด้วยพระชนนีและพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ครั้งทรงรับราชการในตำแหน่งพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะแรกเสด็จประทับ ณ ตำหนักเดิมภายในพระบรมมหาราชวังร่วมกับพระพี่นาง พระน้องนาง และพระชนนี จนกระทั่งทรงประสูติพระราชโอรสพระองค์แรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้สร้างพระตำหนักพระราชทาน คือ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระราชวังบางปะอิน
พระราชวังบางปะอินเป็นพระราชฐานตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงมีพระตำหนักส่วนพระองค์อยู่ที่พระราชวังบางปะอินด้วยเช่นเดียวกัน
พระตำหนักศรีราชา
พระตำหนักศรีราชาเป็นที่ประทับระหว่างพักฟื้นจากพระอาการประชวร เดิมเป็นพระตำหนักที่สร้างอยู่ริมทะเลต่อมาเมื่อพระตำหนักทรุดโทรมลง จึงทรงให้จัดสร้างพระตำหนักใหม่บริเวณเนินเขา และใน พ.ศ. 2486 กรุงเทพประสพภัยทางอากาศจากสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่ตำหนักศรีราชาอีกระยะหนึ่ง ปัจจุบัน พระตำหนักศรีราชา เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
พระตำหนักสวนหงส์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 และทรงให้สร้างวังสวนดุสิตและจึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักสวนหงส์พระราชทานสมเด็จนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีด้วย หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์เป็นการชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเสด็จไปประทับ ณ วังสระปทุมตราบจนเสด็จสวรรคต
วังสระปทุม
วังสระปทุมเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินริมถนนปทุมวัน เพื่อสร้างวังสำหรับพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และประมาณปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประทับจนกระทั่งเสด็จสวรรคต[41]
พระราชกรณียกิจ
หลังจากงานพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเรื่อยมา เนื่องจากทรงสามารถจดจำพระราชกระแสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้รอบรู้การงานในพระราชสำนัก และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อีกด้วย สมเด็จพระพันวัสสาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
พระองค์ทรงสนับสนุนโรงศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2431 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึงจำนวน 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา ซึ่งพระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ยังทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพระราชทานทุนส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง[42]
ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาพระองค์ที่ 2 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก[43] เป็นเวลานานถึง 35 ปี โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย และตั้งกองทุนต่าง ๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ
ด้านการศึกษา
ทางด้านการศึกษาพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลาโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น[44]
ด้านการศาสนา
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสนพระราชหฤทัยพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ทรงอ่านพระไตรปิฏกฉบับทองใหญ่ ทรงศีลเป็นประจำในวันธรรมสวนะ พระราชกรณียกิจสำคัญในด้านการศาสนาก็คือการที่พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดพิมพ์อัฏฐกถาชาฎก 1 คัมภีร์ 10 เล่มสมุดพิมพ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงอุทิศถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่วัดปทุมวนารามด้วย
ด้านการต่างประเทศ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ที่พระอัครมเหสีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกรับพระราชอาคันตุกะ ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นอย่างดีสมดังที่ได้ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และสมกับพระบรมราชอิสริยศักดิ์ที่สูงส่งที่สมเด็จฯ ทรงดำรงอยู่อีกด้วย
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในรุ่นแรกที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2431[45] พระองค์โปรดการเสด็จประพาสตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ นอกพระราชอาณาเขต ดังที่ได้เสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ดังนี้
- เสด็จประพาสชวา ปีนังและสิงคโปร์ (22 กันยายน - 11 มกราคม พ.ศ. 2469)
- เสด็จประพาสไซง่อนและสิงคโปร์ (21 เมษายน - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2479)
- เสด็จประพาสมลายูและสุมาตรา (14 เมษายน - 25 เมษายน พ.ศ. 2480)
- เสด็จประพาสนครวัดและพนมเปญ (28 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2480)
- เสด็จประพาสชวา (เมษายน - มิถุนายน พ.ศ. 2481)
ด้านการหัตถกรรม
สมเด็จพระพันวัสสอัยยิกาเจ้าทรงสนพระทัยด้านหัตถกรรมคือด้านการทอผ้า ทรงสร้างโรงเย็บผ้าส่วนพระองค์ขึ้น ณ พระที่นั่งทรงธรรม บริเวณสวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง ครั้งเสด็จไปประทับที่พระตำหนักศรีราชา ทรงเล็งเห็นว่างานทอผ้าในแถบหัวเมืองชายทะเลนั้นมีความงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หูกทอผ้าพื้นบ้าน" ขึ้น[46]
เมื่อเสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์ วังสวนดุสิต ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทอผ้าขนาดย่อม โดยผ้าที่ทอโปรดให้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปด้วยการทอผ้าที่พระตำหนักสวนหงส์นี้ทรงทำมาโดยตลอดตราบจนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงเลิกไป
ด้านการเกษตร
นอกจากด้านการทอผ้าแล้ว ในด้านการเกษตรยังทรงจัดให้มีโรงสีข้าวในที่ต่างๆด้วย เช่น โรงจักรสีข้าวถนนเจริญกรุง ใกล้เขตบางคอแหลม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโปรดให้คนเช่าดำเนินการ รวมทั้งยังโปรดให้ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดภายในวังสระปทุมอีกด้วย นอกจากนั้น ยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คนเช่าที่ดินบริเวณโดยรอบของวังสระปทุมให้ปลูกผัก สวนดอกไม้ โดยคิดค่าเช่าที่ต่ำ
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 สร้างปี พ.ศ. 2424 หล่อด้วยสัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง บาตรหยก องค์พระสูง 21.20 เซนติเมตร ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คู่กับพระโกศพระอัฐิในงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และการพระราชพิธีสงกรานต์ เป็นต้น เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ซึ่งเป็นปางประจำวันพุธ ตอนกลางวัน
อนุสรณ์สถาน
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เดิมชื่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จ เป็นโรงพยาบาลที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงจัดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 ทางโรงพยาบาลได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นภายในโรงพยาบาล นอกจากนี้ อาคารต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลนั้นยังได้รับพระราชทานนามตามพระนามของพระองค์ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา ตึกสว่างวัฒนา ตึกศรีสวรินทิรา ตึกบรมราชเทวี ตึกอัยยิกาเจ้า และตึกศรีสมเด็จ[47] นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ณ ตึกพระพันวัสสา เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์[48]
- พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
เมื่อ พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนวัฒโนทัย" (โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ในปัจจุบัน) ตามพระนามเดิม คือ "สว่างวัฒนา" พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2471 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพจึงได้ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้ง สร้างอาคารศรีสวรินทิรา ขึ้นภายในโรงเรียน โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์และอาคารศรีสวรินทิราในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528[49][50]
- พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์ ด้วยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตและได้เป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงจัดการตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริและเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ครบถ้วนและถูกต้อง
- มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวบรวม เผยแพร่ และจัดแสดงพระราชประวัติ อนุรักษ์พระตำหนักใหญ่ที่ประทับ ณ วังสระปทุม รวมถึงเพื่อการสังคมสงเคราะห์ กีฬา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่วังสระปทุม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ[51]
พระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
พระราชอิสริยยศ
- 10 กันยายน พ.ศ. 2405 – พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
- พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2421 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
- พ.ศ. 2421 – 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 : พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี
- 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 : สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี
- 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 – พ.ศ. 2454 : สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
- พ.ศ. 2454 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2468 : สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
- 21 มีนาคม พ.ศ. 2468 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 : สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[52]
- 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 : สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[53]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2425 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2447 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)[54]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า) (ฝ่ายใน)[55]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[56]
- พ.ศ. 2467 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[57]
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (ม.ป.ร.2)[54]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1)[58]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[59]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (ป.ป.ร.1)[60]
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (อ.ป.ร.1)[61]
- พ.ศ. 2496 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)[62]
การเทิดพระเกียรติ
พระองค์ได้รับการเทิดพระเกียรติในหนังสือ "ศรีสวรินทิรานุสรณีย์" เป็นหนังสือปกอ่อน จำนวน 176 หน้า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการเสด็จสู่สวรรคาลัย 17 ธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยได้รวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและที่ประทับ เป็นต้น
-
หนังสือ "ศรีสวรินทิรานุสรณีย์"
ตราสัญลักษณ์ 150 ปี วันพระราชสมภพ
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ
-
ตราสัญลักษณ์ 150 ปี วันพระราชสมภพ
พงศาวลี
พงศาวลีของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
- ↑ โพสต์ทูเดย์. "ยูเนสโกชูสมเด็จพระพันวัสสาฯบุคคลสำคัญของโลก ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ยูเนสโกชูสมเด็จพระพันวัสสาฯบุคคลสำคัญของโลก.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/สังคม/การศึกษา/120997/ยูเนสโกชู-พระพันวัสสา-บุคคลสำคัญของโลก[ลิงก์เสีย], 2553. สืบค้น 11 พฤศจิกายน 2554.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ยิ้ม ปัณฑยางกูร. งานพระเมรุมาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. 451 หน้า. ISBN 974-7921-98-7
- ↑ 4.0 4.1 จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2550 ISBN 974-02-0038-3
- ↑ วันนี้ในอดีต :10 กันยายน พ.ศ. 2405 เก็บถาวร 2011-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sarakadee.com
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 6
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 20
- ↑ ฉัตรสุดา (มมป.). "รูปทรงองค์เอว". สกุลไทย. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 9.0 9.1 ดารณี ศรีหทัย, หน้า 56-57
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 114
- ↑ ดารณี ศรีหทัย, หน้า 73-74
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 39-40
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส, 203-204
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 205
- ↑ 15.0 15.1 15.2 พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 207
- ↑ ดารณี ศรีหทัย, หน้า 71
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 194
- ↑ 18.0 18.1 ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม, หน้า 88
- ↑ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์, หน้า 365
- ↑ จงจิตรถนอม ดิศกุล, หน้า 40-41
- ↑ ไกรฤกษ์ นานา (11 กันยายน 2553). "ค้นหารัตนโกสินทร์ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5". หอจดหมายอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 193-194
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 33
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระอิสริยศเฉลิมพระอภิไธยและเลื่อนกรมพระราชวงศ์, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ก, วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘, หน้า ๓๗๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี, เล่ม ๕๑, ตอน ๐ก, ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗, หน้า ๑๔๐๙
- ↑ "สมเด็จพระพันวัสสาทรงมีพระนามมาก ถึงกับรับสั่งว่า "จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้"". ศิลปวัฒนธรรม. 30 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, พ.ศ. 2528, หน้า 194
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 59
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 61
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 208
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ข่าวในพระราชสำนัก วันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๘ ง,๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ๓, หน้า ๒๒๓
- ↑ สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2514
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, ตอน ๓๓ง, ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙, หน้า ๑๒๔๒
- ↑ 34.0 34.1 นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 140
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 62
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 206
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 39
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดยศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์และบรรดาศักดิ์, เล่ม ๕๖, ตอน ๐ ง, ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๒ ,หน้า ๒๖๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับดำรงฐานะและฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิม, เล่ม ๖๑, ตอน ๕๙ ก, ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗, หน้า ๘๔๘
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 67
- ↑ พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภานายิกาแห่งสภากาชาดสยาม (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี), เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓, หน้า ๑๕๖
- ↑ พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 115
- ↑ ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 135
- ↑ "พระราชประวัติ จาก โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-24.
- ↑ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เก็บถาวร 2008-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย
- ↑ ประวัติโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เก็บถาวร 2008-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
- ↑ พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสาอัยยิกาเจ้า : พระผู้พระราชทานนาม โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เก็บถาวร 2008-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”, เล่ม ๑๒๓, ตอน ๒๐ง, ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙, หน้า ๓๐
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาพระอิศริยศเฉลิมพระอภิธัยและเลื่อนกรมพระราชวงศ์ หน้า ๓๗๒ เล่ม ๔๒ , ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
- ↑ พระราชโองการ ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี หน้า ๑๔๐๙ เล่ม ๕๑ , ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
- ↑ 54.0 54.1 "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 21 (ตอน 32): หน้า 570. 6 พฤศจิกายน 2447. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานตรารัตนวราภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน ง): หน้า 2773. 7 มกราคม 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10 (ตอน 35): หน้า 374. 26 พฤศจิกายน 2436. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ตอน 0 ง): หน้า 3207. 28 ธันวาคม 2467. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 (ตอน 39): หน้า 1153. 27 ธันวาคม 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 28 (ตอน 0 ง): หน้า 130. 23 เมษายน 2454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอน 0 ง): หน้า 3114. 26 พฤศจิกายน 2469. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 (ตอน 0 ง): หน้า 2958. 28 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 70 (ตอน 6 ง): หน้า 235. 20 มกราคม 2496. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
บรรณานุกรม
- จงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้า. บันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2521. 207 หน้า.
- จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2559. 600 หน้า. ISBN 978-974-9747-52-0
- สมภพ จันทรประภา. สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์อักษรสมัย, พ.ศ. 2514. ISBN 974-94727-9-9
- มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. [ม.ป.ท.] : มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า หน้าที่. ISBN 974-94727-9-9
- บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3. 2553. 223 หน้า. ISBN 978-974-02-0643-9
- ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา. นนทบุรี : สารคดี, 2562. 456 หน้า. ISBN 978-616-465-021-3
- พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 4. 2554. 485 หน้า. ISBN 978-616-220-025-0
- ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 304 หน้า. ISBN 978-974-02-0727-6
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จาก มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ | กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี (1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี |
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่August 2018
- บทความคัดสรร
- ชาวไทยที่ได้รับการฉลองวาระครบรอบโดยยูเนสโก
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2405
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2498
- พระอัครมเหสีไทย
- สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า
- พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4
- พระภรรยาในรัชกาลที่ 5
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ น.ร.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร.ว.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ม.ป.ร.2
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ อ.ป.ร.1
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.1
- พระกุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์