ปรีดี เกษมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปรีดี เกษมทรัพย์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำรงตำแหน่ง
21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520
ก่อนหน้าศ.คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี (รักษาการ)
ถัดไปศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (รักษาการ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470
จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 มกราคม พ.ศ. 2562 (91 ปี)
โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสอังคณา เกษมทรัพย์

ศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์ (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 4 มกราคม พ.ศ. 2562) เป็นนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแพ่ง และนิติปรัชญา อดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] อดีตผู้ก่อตั้งและอดีตอธิการวิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก อดีตรองประธานสหพันธ์คีตาอาศรมแห่งโลก และอดีตประธานคีตาอาศรมแห่งประเทศไทย

อาจารย์ปรีดีถือว่าเป็นปรมาจารย์ในแวดวงนิติศาสตร์[2] เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีกฎหมายสามชั้น และผู้ริเริ่มให้บรรยายวิชากฎหมายแพ่ง นิติปรัชญา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรกของประเทศ[3]

ปรีดี เกษมทรัพย์ เคยเป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ที่ลูกศิษย์ลูกหาร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นมูลนิธิเพื่อให้การสนับสนุนด้านวิชานิติศาตร์ในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ปรีดี เกษมทรัพย์ เกิดเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ในครอบครัวคนจีนแต้จิ๋ว ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรนายกิมฮง และนางบัวทอง เกษมทรัพย์ สมรสกับนางอังคณา เกษมทรัพย์ (สกุลเดิม:ไตรวิทยาคุณ) มีบุตร 4 คน ได้แก่ นายบรรณ นายปัญญ์ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ และนายวัตร เกษมทรัพย์ [4]

การศึกษา[แก้]

การศึกษาชั้นต้น ปรีดีได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนตั้งแต่อายุ 7-12 ปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เมืองแต้จิ๋ว[5] หลังจากนั้นกลับมาศึกษาต่อจนจบชั้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ[6]

ในระดับอุดมศึกษา เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอ้หมึงแห่งชาติ (National University of Amoy) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวิชาอักษรศาสตร์และปรัชญาจีน แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจีน ทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศไทย[7] และมาศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อนิติศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา โดยทุน Fulbright Smith-Mundt Scholarship และนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอนน์ (Universität Bonn) ประเทศเยอรมนี โดยทุน Humboldt Fellowship และทุนรัฐบาลไทย ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "Das thailändische eheliche Güterrecht" ("สิทธิในทรัพย์สินของคู่สมรสไทย") เมื่อ พ.ศ. 2510

นอกจากนี้ยังเป็นเนติบัณฑิตไทย และมีประกาศนียบัตรครูสอนภาษาจีน ของกระทรวงศึกษาธิการ กับทั้งยังได้รับนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประสบการณ์การทำงาน[แก้]

ปรีดี เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ. 2496 ในยศนายร้อยตำรวจโทในประจำกองการต่างประเทศและแถลงข่าว กรมตำรวจ จากนั้นเข้าเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนถึง พ.ศ. 2517 ได้ออกจากตำแหน่งผู้พิพากษามารับหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ และยังคงเป็นอาจารย์พิเศษในคณะดังกล่าว โดยบรรยายวิชากฎหมายแพ่ง นิติปรัชญา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และหลักวิชาชีพนักกฎหมาย เป็นต้น

เขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[8]

ทั้งนี้ปรีดี เกษมทรัพย์ จัดได้ว่าเป็นปรมาจารย์ในแวดวงนิติศาสตร์[9] เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีกฎหมายสามชั้น และผู้ริเริ่มให้บรรยายวิชากฎหมายแพ่ง นิติปรัชญา ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรกของประเทศ[10]

ขณะอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2519 อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 และประธานคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์ พ.ศ. 2518-2532[11] ในปี 2549 ได้ก่อตั้ง "วิทยาลัยนิติรัฐศาสตร์" ขึ้นใน มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ซึ่งเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต และ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต และยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนิติรัฐศาสตร์ ต่อมาใน ปี 2558 ปรับโครงสร้างเป็น "คณะนิติรัฐศาสตร์" เปิดสอน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต และ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต

นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ในทางการเมืองปรีดี เกษมทรัพย์ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สภาสนามม้า) พ.ศ. 2516 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516-2518 กรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516-2517 และกรรมการในคณะกรรมการปกครองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516-2518

ก่อนเกษียณอายุ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและอธิการวิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก (Oriental Culture Academy) ประธานกรรมการอาศรมวัฒนธรรมไทย - ภารต รองประธานสหพันธ์คีตาอาศรมแห่งโลก ประธานคีตาอาศรมแห่งประเทศไทย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ (ปปร.) และประธานกรรมการพิจารณาคำร้องเรียนการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ

ผลงานวิชาการ[แก้]

บทความ[แก้]

  • 1. สัญญาทางหนี้และสัญญาทางทรัพย์ในกฎหมายเยอรมัน ใน ดุลพาห 53 ป.15 ล.1 (ม.ค.-ก.พ.2511)
  • 2. กฎหมายเป็นเรื่องน่ารู้ ใน วารสารธรรมศาสตร์ ล.1 ป.1 (มิ.ย. 2514)
  • 3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ ใน วารสารวันรพี, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2517)
  • 4. ศีลธรรม หลักกฎหมาย และกฎหมายเทคนิค ใน วารสารวันรพี ฉบับนักกฎหมายของประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2518)
  • 5. ปรัชญารากฐาน 2 ประการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใน วารสารวันรพี, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2520)
  • 6. กฎหมายคืออะไร "ในแง่นิติปรัชญา" ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.11 ฉ.3 (2523)
  • 7. อำนาจ ความชอบธรรมและขอบเขตของรัฐในการบัญญัติกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.11 ฉ.3 (2523)
  • 8. การตีความกฎหมายอาญา ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.14 ฉ.4 (2527)
  • 9. การใช้การตีความกฎหมาย ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.15 ฉ.1 (2518)
  • 10. Asian indigenous law: in interaction with received law (1986) โดยเขียนร่วมกับ Chiba Masaji
  • 11. เมื่อประมุขตุลาการเผชิญหน้ากับกษัตริย์; กรณี Sir Edward Coke ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.22 ล.1 (2535)
  • 12. ระบบ ก.ต. และความอิสระของตุลาการ ใน วารสารนิติศาสตร์ ป.22 ฉ.3 (2535)
  • 13. หลักสุจริตคือหลักความซื่อสัตย์และความไว้วางใจ ใน หนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพ ร.ศ.ดร.สมศักดิ์ สิงหพันธุ์ (มิ.ย.2525)

ตำราและเอกสารประกอบการสอน[แก้]

  • 1. สัมมนาในวิชากฎหมายแพ่ง. (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2520)
  • 2. กฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5, (คณะกรรมการบริการทางวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526)
  • 3. เอกสารประกอบการสอนการศึกษาวิชานิติปรัชญาชั้นปริญญาตรี. (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526) เล่ม 1 บทนำทางทฤษฎี เล่ม 2 บทนำทางประวัติศาสตร์
  • 4. รวมสารคดี "การใช้การตีความกฎหมาย". (โครงการปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526)
  • 5. นิติปรัชญา. (โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  • 6. หลักวิชาชีพนักกฎหมายในภาคพื้นยุโรป ใน หนังสือรวมคำบรรยายหลักวิชาชีพนักกฎหมาย (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531)
  • 7. เอกสารประกอบการศึกษาวิชาสังคมกับกฎหมาย. (โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531)
  • 8. ประชาธิปไตย กฎหมาย หลักนิติธรรม. (นานาสิ่งพิมพ์, 2534)
  • 9. ประชาธิปไตยกับชนชั้นกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2, (วิญญูชน, 2536)

หนังสือแปล[แก้]

  • 1. ลัทธิไตรประชาและรัฐธรรมนูญ 5 อำนาจ ของ ดร.ซุนยัดเซ็น. (ไทยวัฒนาพานิช, 2530)
  • 2. กตัญญุตาคถา (คัมภีร์ของขงจื้อ). (พิมพ์แจกในงานศพมารดา, 2518)

วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ในที่ปรึกษาของ ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์[แก้]

  • 2523 ความเป็นโมฆะของการสมรส โดย : สันทัด ศะศิวณิช
  • 2524 ที่ดินที่มีหนังสือสำคัญที่เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ โดย : วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
  • 2527 ปัญหาการเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน ตามมาตรา 1303 ป.พ.พ. โดย : กิตติศักดิ์ ปรกติ
  • 2530 การรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตกในประเทศญี่ปุ่น : ศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทย โดย : อิอิดะ จุงโช
  • 2530 ความรับผิดฐานละเมิดกรณีผู้เสียหายมีความผิดด้วย โดย : ไชยยศ สุทธิกลม
  • 2532 หมิ่นประมาททางแพ่ง : ศึกษาเฉพาะเหตุที่ทำให้ไม่ต้องรับผิด โดย : อำนวย เขียวขำ
  • 2533 ความมิชอบด้วยกฎหมายในละเมิด : ศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์และหลักกฎหมายเปรียบเทียบ โดย : เพชรน้อย สรรคบุรานุรักษ์
  • 2534 การรับรองบุตร ในมาตรา 1627 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : ศึกษาทางประวัติศาสตร์หลักกฎหมายและประวัติศาสตร์นิติบัญญัติ พร้อมกับวิเคราะห์ทางนิติศาสตร์ในเรื่องการใช้และการตีความหมาย โดย : วิชญ์ชัย ธรรมประดิษฐ์
  • 2534 แนวโน้มในการเกิดกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ โดย : กฤษณะ ช่างกล่อม
  • 2534 บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โดย : วิรัช ไตรพิทยากุล
  • 2543 หลักกฎหมายทั่วไป, ในฐานะที่เป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ตาม ม. 4 แห่ง ป.พ.พ. : ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์และกฎหมายเปรียบเทียบ โดย : ภชฤทธิ์ นิลสนิท

รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๔๓/๒๕๑๙ เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหามหาวิทยาลัย อธิการบดีและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. สมยศ เชื้อไทย. (2531). "ทฤษฎีกฎหมายสามชั้นของ ปรีดี." รวมบทความในโอกาสครบรอบ 60 ปี ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์. มปท.
  3. ปรีดี เกษมทรัพย์. (2531). นิติปรัชญา.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  4. My firstinfo.com. (มปป.). ปรีดี เกษมทรัพย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  5. ARIP Public Company Limited. (2546). เยือนบ้าน ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ สัมผัสวัฒนธรรมจีนโบราณ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  6. ชุมชนชาวฮากกา. (2553). ฮากกา คืออะไร ? [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3] เก็บถาวร 2010-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  7. ARIP Public Company Limited. (2546). เยือนบ้าน ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ สัมผัสวัฒนธรรมจีนโบราณ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  8. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  9. สมยศ เชื้อไทย. (2531). "ทฤษฎีกฎหมายสามชั้นของ ดร.ปรีดี." รวมบทความในโอกาสครบรอบ 60 ปี ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์. มปท.
  10. ปรีดี เกษมทรัพย์. (2531). นิติปรัชญา.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  11. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). ประวัติของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5] เก็บถาวร 2009-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๘, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒๒๙, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔


ก่อนหน้า ปรีดี เกษมทรัพย์ ถัดไป
ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี (รักษาการ)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520)
ศาสตารจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน (รักษาการ)