เหรียญดุษฎีมาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญดุษฎีมาลา
Gold Dushdi Mala Medal (no pins), Coin Museum, Bangkok.jpg
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
อักษรย่อร.ด.ม.
ประเภทเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ
วันสถาปนาพ.ศ. 2425
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัด
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง
มอบเพื่อแก่ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าทหาร : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา
รองมาทหาร : เหรียญชัยสมรภูมิ
พลเรือน : เหรียญช่วยราชการเขตภายใน
เสมอทหาร : เหรียญกล้าหาญ
หมายเหตุเหรียญดุษฎีมาลาเป็นเหรียญบำเหน็จในราชการฝ่ายพลเรือนชั้นสูงสุด

เหรียญดุษฎีมาลา เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า เหรียญแพรแถบ เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2425 อันเป็นมหามงคลสมัยครบรอบ 100 ปีที่หนึ่ง นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และทรงตั้งราชวงศ์จักรียั่งยืนมานานจนถึงสมัยของพระองค์ท่าน

ลักษณะของเหรียญ เป็นแบบกลมรี ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ ใต้รูปมีอักษรโรมัน ด้านหลังมีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมตรงชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทาน วัสดุของเหรียญทำจากทองคำกะไหล่ทองและเงิน ขนาดของเหรียญกว้าง 4.1 ซม. สูง 4.6 ซม. ปัจจุบันเหรียญชนิดนี้ยังไม่พ้นสมัยการพระราชทาน

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญดุษฎีมาลา เมื่อ พ.ศ. 2425 เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงสร้าง "เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์" สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และทรงสร้าง "เหรียญดุษฎีมาลา" สำหรับพระราชทานเพื่อเป็นบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบในราชการแผ่นดิน โดยแบ่งออกเป็น

  1. เข็มราชการในพระองค์ อักษรย่อ ร.ด.ม. (พ)
  2. เข็มศิลปวิทยา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ)
  3. เข็มราชการแผ่นดิน อักษรย่อ ร.ด.ม. (ผ)
  4. เข็มกรุณา อักษรย่อ ร.ด.ม. (ก)
  5. เข็มกล้าหาญ อักษรย่อ ร.ด.ม. (ห)

นับเปนครั้งแรกที่ผู้มีความสามารถในศิลปวิทยา จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษเช่นนี้ทั้ง เป็นการสนองพระบรมราโชบายในการพัฒนาวิชาความรู้เพื่อปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเมื่อพินิจถึงหลักเกณฑ์การพระราชทาน ก็จะเห็นได้ว่ามีหลักอันเข้มงวดต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ คือ จะพระราชทานเฉพาะผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินที่ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอหรือดีกว่า ดังปรากฏในพระราชบัญญัติเครื่องอิสริยยศสำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา จ.ศ. 1244 พ.ศ. 2425 ว่า

“เข็มที่จาฤกว่าศิลปวิทธยานั้น ไว้สำหรับพระราชทานนักปราชราชกระวี นายช่างแลฝีมือช่างพิเศศต่าง ๆ ที่ได้คิดอย่างสิ่งของที่จะเปนประโยชนทั่วกัน ครั้งแรกคราวแรกฤๅชักนำสิ่งของใด ๆ เข้ามาทำมาสร้างขึ้นในแผ่นดิน เปนผลประโยชนต่อบ้านเมืองแลราชการ ฤๅผู้ที่แต่ง หนังสือตำราวิทธยการต่าง ๆ ที่เปนของเก่าของใหม่ก็ดี ที่เปนคุณต่อแผ่นดิน เปนประโยชนแก่ราชการ เปนผลแก่การค้าขาย ฤๅผู้เปนช่างอย่างฝีมือเอก ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีกว่า แล้วผู้ทำคุณประโยชนดังกล่าวมานี้ ก็จะทรงพระราชดำริหวินิจฉัย พระราชทานเข็มชนิดนี้ให้ตามฐานานุรูป”

ลักษณะเหรียญ[แก้]

ลักษณะของเหรียญดุษฎีมาลา ประดับด้วยเข็มความชอบต่างๆ เมื่อแรกสถาปนา ด้านหน้า (ซ้าย) และด้านหลัง (ขวา)

แรกสถาปนา[แก้]

ในเบื้องต้นเหรียญดุษฎีมาลา แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ทองคำ เงินกาไหล่ทอง เงินเปล่า และสำริด โดยเหรียญทั้ง 4 ชนิดมีเกียรติเสมอกัน ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานตรงกลาง มีอักษรตามขอบบนว่า "จุฬาลังกรณว์หัส์ส ปรมราชาธิราชิโน" ขอบล่างเป็นใบชัยพฤกษ์ไขว้กัน ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ห์ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข "๑๒๔๔" อันเป็นปีจุลศักราชที่สร้างเหรียญ และมีอักษรตามขอบว่า "สยามิน์ทปรมราชตุฏ์ฐีป์ปเวทนํอิทํ" ริมขอบเหรียญจารึกอักษรว่า "สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา" บนเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า "ทรงยินดี"

คาถาภาษาบาลีที่ปรากฏในเหรียญดุษฎีมาลาแต่ละคาถา มีความหมายดังนี้

  • "จุฬาลังกรณว์หัส์ส ปรมราชาธิราชิโน" (จุฬาลงฺกรณวฺหสฺส ปรมราชาธิราชิโน) หมายถึง (เหรียญนี้เป็น) "ของพระบรมราชาธิราช ทรงพระนามว่า จุฬาลงกรณ์"
  • "สยามิน์ทปรมราชตุฏ์ฐีป์ปเวทนํอิทํ" (สยามินฺทปรมราช ตุฏฺฐีปฺปเวทนํ อิทํ") หมายถึง "สิ่งนี้เป็นเครื่องหมายทรงยินดีแห่งพระบรมราชาผู้ทรงปกครองแผ่นดินสยาม"
  • "สัพ์เพสํ สํฆภูตานํ สามัค์คีวุฏ์ฒิสาธิกา" (สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา) หมายถึง "ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ" คาถานี้เป็นคาถาในตราแผ่นดินของสยาม บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

เหรียญดุษฎีมาลาใช้ห้อยกับแพรแถบ โดยริ้วแดงริ้วขาวสำหรับสมาชิกฝ่ายทหารและตำรวจ (หรือพระราชวงศ์) ส่วนริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับสมาชิกฝ่ายพลเรือน ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้ง 2 ข้าง จารึกอักษรชนิดของเหรียญที่ได้รับพระราชทาน เช่น "ศิลปวิทยา" "กล้าหาญ" สำหรับกลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ

แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา ของฝ่ายทหารและตำรวจ
Ribbon bar of Dushdi Mala - Military, Service to the Monarch (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์
Ribbon bar of Dushdi Mala - Military, Acts of Charity (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกรุณา
Ribbon bar of Dushdi Mala - Military, Service to the Nation (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
Ribbon bar of Dushdi Mala - Military, Acts of Bravery (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
Dushdi Mala - Military (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา ของฝ่ายพลเรือน
Ribbon bar of Dushdi Mala - Civilian, Services to the Monarch (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์
Ribbon bar of Dushdi Mala - Civilian, Acts of Charity (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกรุณา
Ribbon bar of Dushdi Mala - Civilian, Service to the Nation (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
Ribbon bar of Dushdi Mala - Civilian, Acts of Bravery (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
Dushdi Mala - Civilian (Thailand).svg
แพรแถบย่อเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ปัจจุบัน[แก้]

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พ.ศ. 2484 ได้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะเหรียญบางส่วน โดยชนิดของเหรียญมีเพียงเหรียญเงินกาไหล่ทองรูปไข่ ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานตรงกลาง ขอบล่างเป็นใบชัยพฤกษ์ไขว้กัน ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ห์พระหัตถ์ซ้ายทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข "๑๒๔๔" ห่วงเหรียญมีพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะจารึกว่า "ทรงยินดี"

เหรียญดุษฎีมาลาใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 3 ซม. โดยริ้วแดงริ้วขาวสำหรับสมาชิกฝ่ายทหารและตำรวจ ส่วนริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับสมาชิกฝ่ายพลเรือน ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้ง 2 ข้าง จารึกว่า "ศิลปวิทยา" สำหรับกลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ สำหรับพระราชทานสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

หลักเกณฑ์การรับพระราชทาน[แก้]

ตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ. 2521 ข้อ 5 กำหนดว่า "ผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้"

  1. คิดค้นความรู้ระบบ กรรมวิธีหรือประดิษฐ์ สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ
  2. ปรับปรุงความรู้ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
  3. ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า มีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
โดยคณะกรรมการจะได้พิจารณาผลงานของผู้ที่สมควรจะได้รับการพิจารณารับพระราชทานตามสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือหลายสาขาร่วมกันดังนี้
  1. มนุษยศาสตร์
  2. ศึกษาศาสตร์
  3. วิจิตรศิลป์
  4. สังคมศาสตร์ (นิติศาสตร์ , รัฐศาสตร์ , เศรษฐศาสตร์ , พาณิชยศาสตร์และการบัญชี)
  5. วิทยาศาสตร์
  6. วิศวกรรมศาสตร์
  7. แพทยศาสตร์
  8. เกษตรศาสตร์
  9. สาขาวิชาอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]