ข้ามไปเนื้อหา

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาทรงสุรเดช
(เทพ ทรงสุรเดช)
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 1 เมษายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
ดำรงตำแหน่ง
1 เมษายน พ.ศ. 2476 – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 สิงหาคม พ.ศ. 2435
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 (51 ปี)
พนมเปญ อินโดจีนฝรั่งเศส
พรรคการเมืองคณะราษฎร
คู่สมรสเจ้ากาบคำ ณ เชียงใหม่ (หย่า)[1][2]
คุณหญิงห่วง ทรงสุรเดช
บุตร3 คน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สยาม
 ไทย
สังกัด
ประจำการพ.ศ. 2456 – 2481
ยศ พันเอก
บังคับบัญชากองทัพไทย

พันเอก พระยาทรงสุรเดช (12 สิงหาคม พ.ศ. 2435–1 มิถุนายน พ.ศ. 2487) นามเดิม เทพ พันธุมเสน เป็นนายทหารช่างชาวไทย และเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือที่ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นมันสมองผู้ร่างแผนการยึดอำนาจทั้งหมด เมื่อแผนการสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางทหารโดยพฤตินัย ต่อมาเขาเกิดขัดแย้งกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จึงลาออกจากรัฐบาลและย้ายไปประจำเชียงใหม่

ต่อมาเข้าร่วมกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปิดสภาในปี 2476 ภายหลังเป็นตัวเก็งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พ่ายต่อหลวงพิบูลสงคราม และยังถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามล้มล้างรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในกบฏพระยาทรงสุรเดช จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศสจนกระทั่งเสียชีวิตที่กรุงพนมเปญ

ประวัติ

[แก้]

เทพ พันธุมเสน เกิดที่บ้านพักฝ่ายบิดาริมถนนเจริญกรุง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของร้อยโท ไท้ พันธุมเสน นายทหารปืนใหญ่ เทพเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อพ.ศ. 2447 โดยพี่ชายต่างมารดาซึ่งเป็นนายทหารคือ พันตรี หลวงนฤสารสำแดง (วัน พันธุมเสน) เป็นคนฝากเข้าเรียน[3] ในระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เขาเริ่มเล็งเห็นความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้น เทพสังเกตเห็นว่านักเรียนที่เป็นเจ้าจะมีอาหารมาส่งจากวังพญาไทและมีโต๊ะเสวยแยกจากนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่เป็นเจ้าสามารถนั่งรถยนต์ไปฝึกภาคสนาม แต่นักเรียนทั่วไปต้องเดินเท้าไปจากโรงเรียนเท่านั้น[4] นักเรียนที่เป็นเจ้าสามารถไปเรียนเช้าเย็นกลับจากวังของตน แต่นักเรียนทั่วไปต้องพักอยู่ในโรงนอน[5] ในช่วงนี้เองบิดามารดาของเทพได้เสียชีวิตลง เทพจึงได้รับการอุปการะจากพี่ชายที่เป็นทหาร[6]

เทพจบจากโรงเรียนนายร้อยด้วยคะแนนดีเป็นอันดับต้นของรุ่นและเลือกทุนไปศึกษาวิชาทหารช่างที่จักรวรรดิเยอรมันเมื่อปีพ.ศ. 2450 หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนการสงครามปรัสเซีย (Preußische Kriegsakademie) เขาได้ประจำการเป็นนายสิบทหารช่างในมัคเดอบวร์คและเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพปรัสเซีย เทพได้รับยศร้อยตรีของสยามเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456[7] เทพเดินทางกลับสยามในปีพ.ศ. 2458 และได้รับยศร้อยโทเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน[8]

เทพในยศร้อยโทเริ่มรับราชการในกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และเจริญก้าวหน้าตามลำดับ เทพในยศร้อยเอกได้บรรดาศักดิ์ หลวงณรงค์สงคราม เมื่อพ.ศ. 2461 จากนั้นได้เลื่อนเป็นพันตรีประจำกองพันทหารช่างรถไฟที่โคราช และได้รับมอบหมายภารกิจคุมการสร้างทางรถไฟช่วงอุโมงค์ขุนตาน–เชียงใหม่, ช่วงแปดริ้ว–อรัญประเทศ และช่วงโคราช–ท่าช้าง[3] ต่อมาได้เลื่อนเป็นพันโทและได้บรรดาศักดิ์ พระทรงสุรเดช เมื่อพ.ศ. 2467 ตำแหน่งผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่อยุธยา ก่อนที่จะถูกย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารกรมยุทธศึกษาในปีเดียวกัน

พระทรงสุรเดชเป็นผู้แต่งตำราจำนวนมาก ทั้งวิชายุทธวิธี วิชาทหารช่าง วิชาศาสตราวุธ และวิชาทหารบก[3] จึงเป็นที่นับถือโดยลูกศิษย์จำนวนมาก เมื่อพันโทพระทรงสุรเดชได้รับภารกิจไปดูงานที่ยุโรปร่วมกับพันโท พระศรีสิทธิสงคราม ในพ.ศ. 2473 ก็ได้พบกับร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส[9] พระทรงสุรเดชถูกชักชวนจากร้อยโทประยูรให้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเกิดความสนใจร่วมด้วย

ชีวิตครอบครัว

[แก้]

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ใช้ชีวิตคู่สมรสคุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน) มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่

  1. นายทศ พันธุมเสน
  2. นางเทพี เศวตนาค (พันธุมเสน)
  3. นายทวีวงศ์ พันธุมเสน

การปฏิวัติสยาม

[แก้]

หาแนวร่วม

[แก้]

พระทรงสุรเดชได้พบปะกับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ โดยการนำพาของร้อยโทประยูรในกรุงปารีส[10] ก็ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย ขณะที่พระศรีสิทธิสงครามขอถอนตัวโดยรับปากว่าจะไม่เอาความลับไปแพร่งพรายและจะติดตามดูอยู่จากวงนอกเท่านั้น[11] ภายหลังเดินทางกลับสยามก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทรงสุรเดช เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2474

พระยาทรงสุรเดชเล็งเห็นว่าพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นนายทหารที่มีแนวคิดก้าวหน้าและนิยมระบอบประชาธิปไตย จึงได้ชักชวนพระประศาสน์ฯ ให้เข้าร่วมในแผนการ พระประศาสน์ฯ เคารพนับถือพระยาทรงสุรเดชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตอบตกลงในทันที[3] พระยาทรงสุรเดชได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของตนให้เข้าร่วมก่อการได้หลายคน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ขยายแนวร่วมในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้อีกจำนวนมาก[3] จะเห็นได้ว่านายทหารส่วนใหญ่ในสายพระยาทรงสุรเดชไม่ได้มีกำลังพลเป็นของตนเอง แต่อาศัยความเป็นอาจารย์ในโรงเรียนทหารชักชวนเหล่าลูกศิษย์ลูกหาเป็นทอด ๆ [12] พระยาทรงสุรเดชบันทึกของแนวคิดของตนไว้ว่า "ราษฎรไทยกลัวเจ้าและนายของเขาทั้งหมดอย่างกับหนูและแมว ลำพังราษฎรจะไม่มีปัญญาคิดปลดแอกได้เลย และไม่มีใครกล้าชักชวนกันควบคุมเป็นพวกได้แม้จะต้องอดตาย..."[3]

การวางแผนตระเตรียมการ

[แก้]

การประชุมในประเทศสยามได้ประชุมกันสองครั้ง ครั้งแรกประชุมกันที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดชที่ถนนประดิพัทธ์ และครั้งที่สองที่บ้านพักของร้อยโทประยูรที่ถนนเศรษฐศิริ

การประชุมครั้งแรก พระยาทรงสุรเดชเสนอให้ใช้ทหารยึดพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับของพระปกเกล้าในเวลากลางคืน และขอถวายความอารักขาแก่ในหลวงในฐานองค์ประกัน แล้วบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย แต่แผนนี้พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างที่บุกเข้าไปอาจปะทะกับทหารมหาดเล็กจนนองเลือดและเสียเวลามาก และเสนอให้ก่อก่อการในช่วงที่พระปกเกล้าเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่วังไกลกังวล

การประชุมครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาทรงสุรเดชได้เสนอแผนการทั้งหมดสามแผน

  • แผน 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ
  • แผน 2 ให้จัดหน่วยทหารไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยปฏิบัติการตัดการติดต่อสื่อสาร เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิมแล้ว ทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน
  • แผน 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นภัยต่อคณะปฏิวัติที่สุด มาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อประกันความปลอดภัยของคณะปฏิวัติ และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนสอง

ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยกับแผนสาม จึงตกลงทำตามนี้ และได้กำหนดวันดำเนินการในชั้นแรกว่าให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน อย่างไรก็ตาม คณะผู้ก่อการสืบทราบว่ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตมักเสด็จประพาสลำน้ำเจ้าพระยาในวันเสาร์และจะเสด็จกลับในวันจันทร์ ถ้าดำเนินการในวันอาทิตย์ก็อาจจะไม่ได้ตัวพระองค์มาเป็นองค์ประกัน จึงได้เลื่อนการปฏิบัติการไปเป็นวันอังคารที่ 21 มิถุนายน แต่ต่อมาที่ประชุมได้ตกลงเลื่อนวันปฏิบัติการไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน เนื่องจากได้รับรายงานว่า ในวันอังคาร เรือรบยามฝั่งยังไม่กลับ หากทำการในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก็จะขาดทหารเรือ

ในวันพุธที่ 22 มิถุนายน ก็มีรายงานว่า บรรดาสมาชิกคณะราษฎรยังไม่พร้อมที่จะทำการยึดอำนาจในวันที่ 23 มิถุนายน ดังนั้นวันปฏิบัติจึงเลื่อนไปวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน แทน แต่ทั้งหมดก็ยังไม่รู้ว่าพระยาทรงสุรเดชจะนำกำลังทหารออกมายึดอำนาจได้อย่างไร

บทบาทของพระยาทรงสุรเดชในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คือ การปล่อยข่าวลวงและล่อหลอก เพื่อชักนำให้ทหารแต่ละกรมกองมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไม่ขัดขืน

ลงมือปฏิวัติ

[แก้]

ในเวลาเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พระยาทรงสุรเดชในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบ พันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาววุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน คุณหญิงทรงสุรเดช ผู้เป็นภริยาตื่นตั้งแต่เวลา 04.00 น. และได้พบเจอพระยาทรงสุรเดชรับประทานข้าวผัดที่เหลือจากมื้อเมื่อคืน ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร้อยเอก หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) และนายทหารม้าอีก 3 คน ที่มารับถึงบ้านตามแผนที่วางไว้ ไปยังตำบลนัดหมายที่ทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ (ปัจจุบัน คือ สี่แยกเทอดดำริ) ห่างจากบ้านไปเพียง 200 เมตร ด้วยการเดินเท้า เพื่อสมทบกับกลุ่มของ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และพวก[13] โดยได้บอกกับคุณหญิงทรงสุรเดช ตั้งแต่คืนก่อนว่าจะไปดู "การสวนสนามที่หน้าพระลาน"

จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงสุรเดชก็ได้เปิดเผยออกมาเป็นลำดับ ทั้งหมดในเวลา 05.00 น. ก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ วงเวียนเกียกกาย (ปัจจุบันคือ สี่แยกเกียกกาย) มีเป้าหมายเพื่อยึดรถเกราะ ยึดรถรบ ยึดคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อไปถึงกรมทหารม้า ด่านแรกที่จะต้องฝ่าไปให้ได้คือกองรักษาการณ์ที่ด้านหน้า สามทหารเสือ คือ พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระประศาสน์พิยายุทธ เข้าไปในกองรักษาการณ์ ถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วผู้ก่อการก็พูดด้วยเสียงดุว่า

"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"

ฝ่ายผู้บังคับการที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ ชั่วอึดใจเดียวเสียงเป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญก็ปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นมาด้วยความโกลาหล

ช่วงเวลาแห่งความระทึกนี้ นายทหารผู้ก่อการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ก็แยกย้ายกันไป

พระยาพหลพลพยุหเสนา ใช้กรรไกรตัดเหล็กที่พระประศาสน์พิยายุทธเตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังกระสุนได้สำเร็จ ช่วยกันลำเลียงกระสุนออกมาอย่างรวดเร็ว

พระประศาสน์พิทยายุทธ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก เร่งระดมให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว

ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัย และพรรคพวกพากันขึ้นไปยังโรงทหาร เร่งให้ทหารแต่งเครื่องแบบโดยเร็วด้วยคำสั่งที่ว่า "ทหารไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที"

ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารม้าก็พร้อมแล้วที่ออกเดินทางไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะเอาไว้แล้ว พระยาฤทธิอัคเนย์สั่งให้ทหารปืนใหญ่ขึ้นรถ พระประศาสน์พิทยายุทธ นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบาราว 15 คัน ออกมาจากที่ตั้งกรม นำหน้าขบวนรถทั้งหมด มุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า สมทบกับทหารหน่วยอื่น ๆ ที่นัดหมายกันไว้

เมื่อขบวนรถบรรทุกทหารแล่นผ่านกองพันทหารช่าง ซึ่งเหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน พระยาทรงสุรเดชก็กวักมือพลางตะโกนเรียกให้ขึ้นรถ ผู้บังคับการทหารช่างเข้าใจว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน จึงสั่งทหารช่างขึ้นรถบรรทุกไปด้วย

ปฏิบัติการยึดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์สำเร็จลงอย่างรวดเร็วตามความคาดหมายภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลพลพยุหเสนา งัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า

เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่

[14]

ผลลัพธ์การปฏิวัติ

[แก้]

หลังจากที่พระยาทรงสุรเดชและคณะได้ลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จแล้ว ก็ได้ดำรงตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ (เทียบเท่ารองผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการในปัจจุบัน) และรักษาราชการแทนเจ้ากรมยุทธการทหารบก โดยพฤตินัยแล้วพระยาทรงสุรเดชเป็นนายทหารที่มีอำนาจในกองทัพโดยมากที่สุดในเวลานั้น ได้เริ่มวางรากฐานการปฏิรูปกองทัพให้มีความทัดเทียมกับอารยประเทศ เช่น ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนารถยานเกราะในประเทศไทย, ตัดลดงบประมาณหลายส่วนในกองทัพ, ปรับลดขนาดกองทัพให้มีขนาดเล็กลงโดยจะไม่ให้มีนายทหารยศเกินพันเอกอีกต่อไป ฯลฯ

ด้วยแนวทางการพัฒนากองทัพที่ขัดใจกลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มในเวลานั้น ทำให้กลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มที่ยังต้องการให้กองทัพมีความโอ่อ่าหรูหราอยู่ เกิดความไม่พอใจขึ้น แต่ก็ด้วยความที่เป็นทหารชั้นผู้น้อยและแทบไม่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่สามารถขัดขวางการปฏิรูปกองทัพครั้งนี้ได้

หลังจากพระยาทรงสุรเดชได้วางรากฐานในการปฏิรูปกองทัพเสร็จสิ้นแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้วางมือจากการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนายทหารรุ่นหลังไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองอีก จึงลาออกจากทุกตำแหน่งในทางการเมืองและในกองทัพ แล้วใช้ชีวิตอย่างสันโดษมักน้อย

เนื่องจากพระยาทรงสุรเดชเป็นที่เคารพอย่างสูงทั้งจากนายทหารด้วยกันและจากสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นพลเมือง พระยาทรงสุรเดชจึงได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง แต่ท่านก็ปฏิเสธเสมอมา

หลังจากพระยาทรงสุรเดชได้วางมือจากทุกตำแหน่งแล้ว ความนิยมในตัวพระยาทรงสุรเดชได้แพร่ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มที่กำลังทวีอำนาจมากขึ้น ทั้งในกองทัพและในทางการเมือง จึงคิดหาทางที่จะทำลายพระยาทรงสุรเดชด้วยวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่การสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาชื่นชมพระยาทรงสุรเดชลงบนหนังสือพิมพ์ การใส่ร้ายป้ายสีตามช่องทางต่าง ๆ หรือการพยายามกำจัดกลุ่มนายทหารที่มีเคารพต่อพระยาทรงสุรเดชออกไป จนในที่สุดพระยาทรงสุรเดชและคณะก็ถูกกำจัดด้วยคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช

มีความพยายามที่จะใส่ร้ายพระยาทรงสุรเดชว่าไม่จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ แต่สำหรับผู้ใกล้ชิดแล้ว ย่อมตระหนักดีว่าพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์อย่างยิ่ง[15]

รัฐประหาร พ.ศ. 2476

[แก้]

ดูเนื้อหาหลักที่ รัฐประหารในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2476

สืบเนื่องจากการยื่นเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ที่ต่อมาได้สร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการ และนักการเมืองในหมู่คณะราษฎรด้วยกัน เพราะได้มีการวิจารณ์ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้มีลักษณะเป็นสังคมนิยมคล้ายคอมมิวนิสต์ในแบบของสตาลิน พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เกลี้ยกล่อมพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ อันเป็น "4 ทหารเสือ" ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชเห็นด้วยกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้ชักชวนพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ เห็นชอบด้วยกับการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่ทว่าพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรกลับเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ จึงมีการกล่าวหากันว่า พระยาทรงสุรเดชพยายามที่จะโดดเดี่ยว พระยาพหลพลพยุหเสนา และคิดแย่งตำแหน่งจากพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเป็นผู้รับใช้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา [16]

กบฏพระยาทรงสุรเดช

[แก้]

ดูเนื้อหาหลักที่ กบฏพระยาทรงสุรเดช

ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชขัดแย้งกับหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นหลังที่มียศชั้นต่ำกว่า ในหลายเรื่องอย่างรุนแรง เช่น การประชุมวางแผนกันก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งคู่ก็มีปากเสียงกัน ถึงขนาดที่หลวงพิบูลสงคราม ปรารภออกมาหลังการประชุมว่า ตนไม่อาจอยู่ร่วมโลกกับพระยาทรงสุรเดชได้[17]

และต่อมาทั้งคู่ก็มีแนวคิดต่างกันในเรื่องของโครงสร้างกองทัพ โดยพระยาทรงสุรเดชเห็นว่า นายทหารนั้นควรมียศไม่เกิน พันเอก (พ.อ.) และกองกำลังทหารนั้นไม่ควรรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง แต่ให้กระจายกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ อันเป็นภูมิลำเนาของทหารแต่ละคน อาวุธก็ให้เก็บประจำกายไว้ จนกว่าจะมีคำสั่งเรียกรวมพลหรือเรียกเพื่อการฝึกใด ๆ จึงมารวมตัวกัน อันเป็นลักษณะรูปแบบของกองทัพแบบประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พระยาทรงสุรเดชเคยได้ศึกษาดูงานมา แต่ทางหลวงพิบูลสงคราม เห็นว่าทหารควรจะมียศชั้นสูงถึง จอมพล และอำนาจทางทหารต้องรวมไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศของทหาร[16]

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกในปลายปี พ.ศ. 2481 ทั้งคู่เสมือนเป็นคู่แข่งกันในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงรูปและเขียนข้อความใต้ภาพของทั้งคู่เปรียบเทียบกันบนหน้าหนึ่งว่าเป็น ผู้ที่จะขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไป[18] ในคราวแรกมีการหยั่งเสียงกัน ปรากฏว่าเสียงสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชมีถึง 50 เสียง ขณะที่เสียงสนับสนุนหลวงพิบูลสงครามมีเพียง 5 เสียงเท่านั้น แต่ทว่าเมื่อมีการลงคะแนนเสียงจริงในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าเสียงสนับสนุนหลวงพิบูลสงครามมีมากกว่า จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด[16] ดังนั้นความขัดแย้งกันทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นข้อกล่าวหากันในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดชในเวลาต่อมา

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

หลังจากมีความขัดแย้งกับสมาชิกระดับสูงในคณะราษฎรด้วยกันเองมาตลอด พระยาทรงสุรเดชก็ได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศศรีลังกาเป็นระยะเวลา 2 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 เมื่อเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้วจึงเดินทางกลับประเทศ และเสนอต่อกระทรวงกลาโหมขอตั้งโรงเรียนรบขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สภากลาโหมอนุมัติ จึงนำนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียนที่นั่น แต่ทาง หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเกรงว่าจะเป็นการซ่องสุมผู้คนก่อการกบฏ จึงส่งหน่วยสอดแนมไปติดตามดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะ

เมื่อนักเรียนรุ่นแรกศึกษาจบแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้นำลูกศิษย์ตระเวนดูงานทหารตามกรมกองต่าง ๆ แต่เมื่อถึงกรมทหารราชบุรี ได้ถูกยื่นซองขาวมีข้อความให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ พร้อมกับบีบบังคับให้เดินทางออกสู่ต่างประเทศ

พระยาทรงสุรเดชพร้อมนายทหารคนสนิทเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ จึงถูกให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดและถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ไปพร้อมกับ ร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท โดยถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟไปที่อำเภออรัญประเทศ และเดินทางข้ามพรมแดนต่อไปยังประเทศกัมพูชาซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนในอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่ลี้ภัยอยู่ที่กัมพูชาได้ไม่นาน ทางการกัมพูชาก็ไม่อนุญาตให้อยู่ จึงต้องเดินทางไปพำนักอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน โดยมีภริยาติดตามไปด้วย จากนั้นจึงได้รับอนุญาตให้กลับมาที่พนมเปญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในระหว่างที่ยังพำนักอยู่ที่เมืองไซง่อน พระยาทรงสุรเดชได้เขียนบันทึกไว้เล่มหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2482 เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมด ตลอดจนความล้มเหลวของผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งบันทึกเล่มนี้ต่อมาได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ในชื่อ "บันทึกพระยาทรงสุรเดช"

ชีวิตพระยาทรงสุรเดชที่กัมพูชา ไม่มีทรัพย์เงินทองเหลือติดตัวอยู่เลย ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมกล้วยขายพร้อมกับภริยา ซึ่งต้องลงมือโม่แป้งด้วยตนเอง รวมทั้งรับจ้างซ่อมจักรยาน[19] [20]

ซึ่งช่วงที่อยู่กัมพูชานั้น เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ในปี พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกเข้าประเทศไทย และบีบบังคับรัฐบาลขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อที่จะบุกไปพม่า และอินเดีย พระยาทรงสุรเดชมีความคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่น โดยคิดว่าจะเดินข้ามพรมแดนไปประเทศไทยตามลำพัง เนื่องจากอยู่ในที่ ๆ ห่างไกลข้อมูลข่าวสาร จึงไม่มีโอกาสได้ทราบว่าในประเทศไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นกำเนิดขึ้นมาเหมือนกัน พระยาทรงสุรเดชจึงตกอยู่ในสภาพเสมือนว่าต่อต้านญี่ปุ่นอยู่คนเดียว และก็ไม่มีโอกาสได้ลงมือกระทำจริง ต่อมา พระยาทรงสุรเดชสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันทั้งที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีมากโดยตลอด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ที่ตำหนักร้างแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งแพทย์ชาวเยอรมันลงความเห็นว่า เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ (แต่ก็มีข้อสงสัยว่าอาจเสียชีวิตเพราะถูกวางยาพิษ ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์)[21][20]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พากย์เสียงโดย กิตติ เชี่ยววงศ์กุล

เกียรติยศ

[แก้]

ยศ

[แก้]
  • 30 เมษายน 2458 – นายร้อยโท

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2461: หลวงณรงค์สงคราม[22]
  • 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2467: พระทรงสุรเดช[23]
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474: พระยาทรงสุรเดช[24]
  • 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485: ประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์[25]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. "ตามรอย "เจ้านายสตรีล้านนา" เครื่องมือทางการเมือง? ? และความรักที่ไม่สมหวัง…". Matichon Academy. 17 มีนาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ฮิมวัง (10 กันยายน 2565). "สัมพันธ์ เจ้านายสตรีล้านนา กับเจ้านาย-ขุนนางสยาม ความรัก ผลประโยชน์ การเมือง?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดชกรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535)
  4. จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า. เกิดวังปารุสก์ ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2540.
  5. ประภาส จารุเสถียร, จอมพล. ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน 1 : อัตชีวประวัติจอมพลประภาส จารุเสถียร กรุงเทพฯ: มติชน, 2534,
  6. "พระยาทรงสุรเดช (1) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  7. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  8. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานยศนายทหารบก
  9. นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์จำหน่ายด้วยตัวเอง, 2530. 704 หน้า. หน้า 214.
  10. กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 กรุงเทพฯ: ส้านักพิมพ์บูรพาแดง, 2518
  11. หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์. หน้า 35-40
  12. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัส ที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522, 117.
  13. 24 มิถุนายน (5) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  14. ยุทธการยึดเมือง, สารคดีฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542
  15. ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, เสทื้อน ศุภโสภณ
  16. 16.0 16.1 16.2 หน้า 103, บทสัมภาษณ์ คุณทศ พันธุมเสน บุตรชายพันเอก พระยาทรงสุรเดช. สารคดีฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542
  17. สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555
  18. ยุคทมิฬ โดย พายัพ โรจนวิภาค (พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554) นนทบุรี สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ISBN 978-616-7146-22-5
  19. "พระยาทรงสุรเดช (2) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย [[นรนิติ เศรษฐบุตร]] หนังสือพิมพ์เดลินิวส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-10. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  20. 20.0 20.1 นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ โดย โรม บุนนาค. หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550
  21. ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อยรอยรัฐประหารไทย" .สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554
  22. "พระราชทานตั้งเลื่อนบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 35: 208. 28 เมษายน 2461. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "พระราชทานบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 41 (ง): 1244. 20 กรกฎาคม 2467. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (ง): 3011. 15 พฤศจิกายน 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-30. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง การยกเลิกบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (33ก): 1089. 15 พฤษภาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-13. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๔๓, ๒๔ กันยายน ๒๔๘๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๘๕, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๔
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๐๖, ๑๑ ธันวาคม ๒๔๖๔
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๓, ๑๒ มกราคม ๒๔๗๒