พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลตรี
พระประศาสน์พิทยายุทธ
(วัน ชูถิ่น)
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณนิติธาดา
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ประธาน พระยามโนปกรณนิติธาดา
เอกอัครราชทูตสยามประจำไรช์เยอรมัน
ดำรงตำแหน่ง
7 ธันวาคม 2481 – 30 เมษายน 2488
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต 4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 (55 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรค คณะราษฎร
คู่สมรส เนาว์ ประศาสน์พิทยายุทธ
บุตร 2 คน
ศาสนา พุทธ

พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ นามเดิม วัน ชูถิ่น เป็นนายทหารชาวไทย และเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือที่ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

ประวัติ[แก้]

พระประศาสน์พิทยายุทธ มีนามเดิมว่า วัน ชูถิ่น เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ที่ข้างวัดรังษีสุทธาวาส (ต่อมารวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) เป็นบุตรชายของขุนสุภาไชย เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี พ.ศ. 2451 และสำเร็จการศึกษาในพ.ศ. 2454 ต่อมาสอบได้เป็นที่ห้าในจำนวนนักเรียนทำการนายร้อยทั้งหมด 185 นาย ที่ทางกระทรวงกลาโหมจัดสอบเพื่อคัดเลือกตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เยอรมนี ซึ่งได้เดินทางไปเยอรมนีด้วยการโดยสารเรือพระที่นั่งจักรีตามเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จประพาสประเทศจีนและญี่ปุ่น แล้วเดินทางผ่านญี่ปุ่นไปต่อทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ไปยังกรุงมอสโก จักรวรรดิรัสเซีย แล้วต่อรถไฟไปยังกรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน ใช้ระยะเวลาเดินทางหลายสัปดาห์[1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ร้อยตรีวันได้ลี้ภัยสงครามไปศึกษาวิชาทหารที่วิทยาลัยโปลิเทคนิคนครซือริช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ทหารเรียนร่วมกับพลเรือน เขาระบุถึงข้อดีถึงระบบดังกล่าวไว้ว่า "...ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น นายทหารเขาเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้นายทหารเป็นคนมีความรู้กว้างขวาง รู้เท่าทันความรู้สึกของนักศึกษาชั้นสูงๆทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยของยุโรปนั้นคือสถานศึกษาใหญ่โตปานเมืองๆหนึ่งทีเดียว มีคนที่มีความรู้สูงสุด สมาคมกันอยู่ทั่วทุกสาขาวิชา ไม่ใช่ใจแคบรู้แต่ในแนวของตนอย่างดื้อดึงจนรักษาไม่หาย"[2] การไปอยู่สวิสทำให้วันเกิดความสนใจและชื่นชอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขาคิดว่าประเทศเล็กๆอย่างสยามควรจะเอาสวิสเป็นแบบอย่าง[2] ต่อมาเมื่อรัฐบาลสยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมัน ร้อยตรีวันสมัครเข้าร่วมคณะทูตทหารทันทีที่เรียกว่า "กองทูตศึกสัมพันธมิตร" นำโดยพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ[3] และปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ทหารอาสากลับประเทศ

ราชการทหาร[แก้]

ภายหลังเดินทางกลับสยามเมื่อพ.ศ. 2464 วันปฏิบัติงานในสายงานอาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบกและกรมยุทธศึกษาจนถึงพ.ศ. 2469 และได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในปีพ.ศ. 2474 ในปีนั้นเอง พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธถูกพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ชักชวนให้ร่วมก่อการปฏิวัติ พระประศาสน์พิทยายุทธเคารพนับถือในตัวพระยาทรงสุรเดชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตกปากเข้าร่วมในทันที[4]

ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระประศาสน์พิทยายุทธ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก มียศเป็น พันโท (พ.ท.) ได้เขียนจดหมายสั่งเสียแก่ภรรยา ก่อนออกจากบ้านของตัวเองมา โดยได้ขับรถไปรับพระยาพหลพลพยุหเสนา ถึงบ้านพัก ไปยังตำบลนัดหมาย คือ บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ ห่างจากบ้านพักของพระยาทรงสุรเดชราว 200 เมตร [5]พร้อมด้วยคีมตัดเหล็กที่พระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ซื้อมาเพื่อเตรียมการตัดโซ่ที่คล้องประตูคลังแสงอาวุธ ภายในกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่สี่แยกเกียกกาย พร้อมด้วยพระยาทรงสุรเดช และพระยาพหลพลหยุหเสนา เพื่อหลอกเอากำลังพลทหารและยุทโธปกรณ์เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลานพระราชวังดุสิต โดยขบวนที่เดินทางไปลานพระราชวังดุสิตนั้น พระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ปิดท้าย จากนั้นได้เป็นผู้เข้าทำการควบคุมตัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังบางขุนพรหมและนายทหารคนสนิท พร้อมด้วยครอบครัว เข้ายังพระที่นั่งอนันตสมาคม[6] ซึ่งแผนการในการปฏิวัตินั้น นอกจากพระยาทรงสุรเดชจะเป็นผู้เดียวที่รับรู้แล้ว เนื่องจากเป็นผู้วางแผนทั้งหมด ก็มีเพียงพระประศาสน์พิทยายุทธ เท่านั้นที่พอทราบ เนื่องจากได้ร่วมวางแผนด้วยในบางส่วน[7] ซึ่งก่อนหน้านี้ พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ได้เดินทางมายังที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อดูสถานที่เพื่อเตรียมการไว้ก่อนแล้ว[8] [9]

ภายหลังการปฏิวัติ[แก้]

พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ในเครื่องแบบเต็มยศตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิไรช์ที่สาม

จากนั้น ได้ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีคณะแรกของไทย ที่มีพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 [10]

ภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศปิดรัฐสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางฉบับ ก่อให้เกิดเป็นความแตกแยกกันเองในหมู่คณะราษฎร พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง จนกระทั่งถึงวันที่ 18 มิถุนายน ปีเดียวกัน จึงได้ลาออก พร้อมกับอีก 2 ทหารเสือ คือ พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ ซึ่งต่อกลายเป็นความบาดหมางกันเอง จนเกิดเป็นการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งต่อมา ทหารเสือ 2 คนนี้ต้องเดินทางออกไปอาศัยยังต่างประเทศ[11]

ในส่วนชีวิตครอบครัว พระประศาสน์พิทยายุทธ สมรสกับ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) มีบุตรสาว 2 คน[12]

หลังเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2481 พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิไรช์ที่สาม หรือ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2481[13] ในรัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการลงเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นัยว่าเพื่อให้พ้นจากภัยการเมือง จึงย้ายไปอาศัยยังกรุงเบอร์ลิน พร้อมด้วยครอบครัว อันเป็นถิ่นเดิมที่พระประศาสน์พิทยายุทธคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ความเป็นอยู่ลำบากอย่างยิ่ง ที่แม้แต่บุตรสาวคนโตก็เสียชีวิตจากการถูกระเบิดถล่มบ้านพักที่สถานทูต จนต้องส่งภริยาและบุตรสาวที่เหลือกลับประเทศไทย จวบกระทั่งสิ้นสุดสงครามเมื่อกองทหารของสหภาพโซเวียตบุกเข้ากรุงเบอร์ลิน พระประศาสน์พิทยายุทธถูกทหารโซเวียตควบคุมตัวไปคุมขังยังค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโก ที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นถึง -40 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานถึง 225 วัน หรือ 7 เดือนครึ่ง จึงได้รับการปล่อยตัว[14]

ในช่วงก่อนที่กรุงเบอร์ลินจะแตกนั้น พระประศาสน์พิทยายุทธในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิไรช์ที่สาม ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของจักรวรรดิไรช์ที่สาม เป็นบุคคลสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 ก่อนที่ฮิตเลอร์จะทำอัตวินิบาตกรรมเพียง 10 วัน โดยได้ลงชื่อของตนในสมุดเยี่ยมของฮิตเลอร์ว่า "ประศาสน์ ชูถิ่น"[15]

เมื่อเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว พระประศาสน์พิทยายุทธจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในบั้นปลายชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2490[16]ก่อนจะถึงแก่กรรมลงในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ด้วยโรคตับ เนื่องจากเป็นผู้ติดสุราและดื่มสุราจัด ถึงขนาดหมักผลไม้ไว้ในถังไม้ที่บ้านเพื่อผลิตสุราไว้ดื่มเอง โดยมียศสุดท้ายเป็น พลตรี (พล.ต.) รับพระราชทานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2486 [17]

บรรณานุกรม[แก้]

  • หนหวย, นาย (1987). เจ้าฟ้าประชาธิปก : ราชันผู้นิราศ. โอเดียนสโตร์.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. นายหนหวย, 2530: 413-414
  2. 2.0 2.1 พ.อ.(พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, เปิดบันทึกชีวติ ...พระประศาสน์พิทยายุทธกรุงเทพฯ: แพรว, 2545
  3. นายหนหวย, 2530: 14
  4. เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดชกรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535)
  5. ชะตาชาติ, "2475" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: 27 กรกฎาคม 2555
  6. ประวัติคอซูเจียงและและบรรพบุรุษ[ลิงก์เสีย]
  7. 24 มิถุนายน (1) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  8. 24 มิถุนายน (4) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  9. 24 มิถุนายน (5) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  10. แจ้งความประธานคณะกรรมการราษฎร
  11. จากรัฐประหาร20มิถุนายน2476สู่ความร้าวฉานในคณะราษฎร จากโลกวันนี้
  12. ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ทายาท ‘24 มิถุนา’ ตอน 2 จากประชาไท
  13. ประกาศ ตั้งอัครราชทูตสยาม
  14. ๒๒๕ วัน ในคุกรัสเซีย ของ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร (พ.ศ. 2491)
  15. รู้จักคนไทยเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียง 10 วัน[ลิงก์เสีย]
  16. เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
  17. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๖๐, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๔
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘๙๘, ๑ ตุลาคม ๒๔๘๓
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญที่ระลึก ราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๙, ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๒
  21. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๙๐, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๔