ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ดำรงพระยศ5 ธันวาคม พ.ศ. 2453 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 (10 ปี 241 วัน)
สมณุตตมาภิเษก5 ธันวาคม พ.ศ. 2453
ก่อนหน้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)
ถัดไปพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ราชวงศ์ราชวงศ์จักรี
ประสูติ12 เมษายน พ.ศ. 2403
สิ้นพระชนม์2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 (61 ปี)
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 4

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (12 เมษายน พ.ศ. 2403 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464) เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้รับมหาสมณุตตมาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระอิสริยยศ 11 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2464 พระชันษา 61 ปี 112 วัน

พระประวัติ

[แก้]

พระกำเนิด

[แก้]

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2403 ในวันที่พระองค์ประสูตินั้นฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่ว เหมือนนาคให้น้ำบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ต่อมา เจ้าจอมมารดาแพถึงแก่กรรมลงในขณะที่พระองค์มีพระชันษาเพียง 1 ปี พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา จึงทรงรับไปเลี้ยงดู[1] เมื่อทรงเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ รับสั่งได้คล่องแคล่ว จึงเสด็จพำนักอยู่กับท้าวทรงกันดาล (สี) ซึ่งเป็นยายแท้ ๆ[2]

ผนวช

[แก้]
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ก่อนทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

เมื่อพระชันษาได้ 8 ปีทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์ อีกด้วย ถึงปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระธรรมมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ทรงเป็นผู้ประทานศีล 10 หลังจากทรงบรรพชาแล้วได้ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช[3]

ครั้นครบปีบวช (พระชันษา 20 ปี) ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ 1 พรรษา จึงย้ายไปประทับที่วัดมกุฏกษัตริยารามเพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณผู้เป็นพระอาจารย์ ในระหว่างนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรมหรือการบวชซ้ำ ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร โดยมีพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช ฐานจาโร วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ [4]

พระอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะยะค่ะ/เพคะ
พระรูปทรงฉายที่หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ราว พ.ศ. 2436

เมื่อผนวชได้ 3 พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2424 พระองค์ได้ครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ เมื่อปี พ.ศ. 2434 และในปี พ.ศ. 2436 ได้รับโปรดเกล้าเพิ่มพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต มีราชทินนามว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์วรธรรมยุตติ์ ศรีวิสุทธิคณะนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร[5]

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระองค์ได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร[6] และเมื่อปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต[7] และเลื่อนพระอิสริยยศจากกรมหลวงขึ้นเป็นกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี สรรเพชญรังศีกัลยาณวากย์ มนุษยนาคอเนญชาริยวงษ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถประนับดา มหามกุฏกษัตรราชวรางกูร จุฬาลงกรณ์ปรมินทรสูรครุฐานิยภาดา วชิราวุธมหาราชหิโตปัธยาจารย์ ศุภศีลสารมหาวิมลมงคลธรรมเจดีย์ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฏกาทิโกศล เบญจปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต วิชิตมารสราพกธรรมเสนาบดี อมรโกษินทรโมลีมหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สิทธรรถนานานิรุกติประติภาน มโหฬารเมตตาภิธยาศรัย พุทธาทิรัตนตรัยสรณารักษ์ เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิปัตยพุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศสกลพุทธจักรกฤตโยปการ มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนาถบพิตร[8]

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย โดยพระองค์ได้เปลี่ยนคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นพระองค์แรก[9]

ในปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีความว่า ควรถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชให้เด็ดขาด เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย หลังจากนั้นอีก 6 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนา ถวายแด่พระองค์ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2455[10]

สิ้นพระชนม์

[แก้]
ที่ประดิษฐานพระอังคารในฐานพระพุทธไสยา มุขหลังวิหารพระศรีศาสดา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าประชวรด้วยวัณโรค มีพระอาการเรื้อรังมานานนับสิบปี จนกำเริบรุนแรงเกินกว่าความสามารถของแพทย์หลวง ในที่สุดสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464[11] สิริรวมพระชันษาได้ 61 ปี ครองวัดบวรนิเวศวิหารนาน 30 ปี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 10 ปี 7 เดือน[12]

งานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เริ่มในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2465[13] โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทุกวันตั้งแต่วันดังกล่าว จนถึงวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน เวลา 16:00 น. จึงโปรดให้เคลื่อนพระศพไปประดิษฐานยังพระจิตกาธาน ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง แล้วพระราชทานเพลิงพระศพ[14] เช้าวันต่อมาเจ้าพนักงานภูษามาลาดับพระเพลิงแล้วประมวลพระอัฐิ เวลา 07:00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเก็บพระอัฐิประมวลลงในพระโกศทองลงยา แล้วให้เจ้าพนักงานเชิญพระโกศไปประดิษฐานในบุษบก ณ พระที่นั่งทรงธรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงงานเชิญพระโกศไปประดิษฐานที่พระตำหนักเพ็ชร ช่วงบ่ายเสด็จฯ มาทรงสดับพระพุทธมนต์และพระธรรมเทศนา[15] จากนั้นในวันอังคารที่ 11 เมษายน ได้เสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศลอีกครั้ง แล้วบรรจุพระอังคารเข้าในฐานพระพุทธไสยา มุขหลังวิหารพระศรีศาสดา แล้วเสด็จฯ กลับ[16]

พระกรณียกิจ

[แก้]

ทรงเริ่มพัฒนาการพระศาสนา โดยเริ่มต้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่ เรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย มีการสอบความรู้ด้วยวิธีเขียน ต่อมาจึงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ เรียกว่า นักธรรม ทรงจัดตั้ง มหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นการริเริ่มจัดการศึกษาของพระภิกษุ สามเณรแบบใหม่ คือ เรียนพระปริยัติธรรม ประกอบกับวิชาการอื่น ที่เอื้ออำนวยต่อการสอนพระพุทธศาสนา ผู้ที่สอบได้จะได้เป็นเปรียญเช่นเดียวกับที่สอบได้ในสนามหลวง เรียกว่า เปรียญมหามงกุฎ แต่ได้เลิกไปในอีก 8 ปีต่อมา ทรงออกนิตยสาร ธรรมจักษุ ซึ่งเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกของไทย

ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2441 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วราชอาณาจักร ทรงเห็นว่า วัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล เป็นการขยายการศึกษาได้เร็วและทั่วถึง เพราะมีวัดอยู่ทั่วไปในพระราชอาณาจักร ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน งานนี้มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยสนับสนุน พระองค์ดำเนินการอยู่ 5 ปี ก็สามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ ชั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ จากนั้นจึงให้กระทรวงธรรมการ ดำเนินการต่อไป

ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยดี เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง และประเทศชาติ จึงเกิด พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ขึ้น ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้จัดคณะสงฆ์ออกเป็น 4 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติกา มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะรอง คณะละหนึ่งรูป รวมเป็น 8 รูป ทั้ง 8 รูปนี้ยกขึ้นเป็น มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ และเป็นที่ปรึกษาในการพระศาสนา และการคณะสงฆ์ของพระมหากษัตริย์ มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นไปตามลำดับคือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และเจ้าอาวาส มีเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มหาเถรสมาคมเป็นเพียง ที่ทรงปรึกษา ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นกระทรวงธรรมการ จึงต้องทำหน้าที่สังฆราชโดยปริยาย

พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการพระพุทธศาสนา และทางคณะสงฆ์ในด้านต่าง ๆ เป็นอันมากโดยเริ่มงานตั้งแต่เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร โดยกระทำอย่างต่อเนื่องทุกปีเกือบ ตลอดพระชนม์ชีพ ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์ และของประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นอย่างดี และนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ มาปรับปรุง แก้ไขในทุก ๆ ด้าน พอประมวลได้ดังนี้[17]

  1. ด้านการพระศาสนา พระองค์ได้พัฒนาภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย เพื่อจะได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทรงผลิตตำราและหนังสือทางพระพุทธศาสนา ที่คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย
  2. ด้านการคณะสงฆ์ ทรงออกพระมหาสมณาณัติ ประทานพระวินิจฉัยและทรงวางระเบียบ แบบแผน เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องเป็นมาตรฐาน เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด การวินิจฉัยอธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับ สมณศักดิ์ พัดยศ นิตยภัต ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น
  3. ด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติ ธรรมเพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ศึกษาภาษาบาลี โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทยเรียกว่า หลักสูตร นักธรรม
  4. งานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงรอบรู้ภาษาต่าง ๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น พระประวัติตรัสเล่า หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลี ไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ยังทรงชำระ คัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์[18]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 9
  2. 19 สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 143
  3. 19 สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 144
  4. พระประวัติตรัสเล่า, หน้า 67
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 10, หน้า 391
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนพระนามกรม, เล่ม 23, หน้า 848-850
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเศก สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ ง , ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๕๖๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศมหาสมณุตมาภิเศก, เล่ม 27, หน้า 2579-2587
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก ,๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๐
  10. พระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ), หน้า 37
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, เล่ม ๓๘, ตอน ง, ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๒๓๙
  12. 19 สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 151
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันศุกร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๕, เล่ม ๓๙, ตอน ๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๔๖๕, หน้า ๑๒๑
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๕, เล่ม ๓๙, ตอน ๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๔๖๕, หน้า ๑๒๒-๓
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๕, เล่ม ๓๙, ตอน ๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๔๖๕, หน้า ๑๒๓-๔
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๕, เล่ม ๓๙, ตอน ๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๔๖๕, หน้า ๑๒๔
  17. พระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ), หน้า 53-55
  18. พระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ), หน้า 58
  19. "ประวัติเจ้าจอมมารดาแพ". ราชสกุลเกษมสันต์. 26 มกราคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-14. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • โกวิท ตั้งตรงจิตร. 19 สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์. --กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2554.
  • วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. พระประวัติตรัสเล่า. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2544. 107 หน้า. ISBN 974-399-407-6
  • สุเชาวน์ พลอยชุมพระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ). กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541. 165 หน้า. ISBN 974-580-851-2
ก่อนหน้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ถัดไป
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(สา ปุสฺสเทโว)

สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2453 - พ.ศ. 2464)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2464)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
(พ.ศ. 2435–พ.ศ. 2464)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์