สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระบรมราชชนนี
พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระราชสมภพ21 ตุลาคม พ.ศ. 2443
จังหวัดนนทบุรี มณฑลกรุงเทพ ประเทศสยาม
สวรรคต18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 (94 พรรษา)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ถวายพระเพลิง10 มีนาคม พ.ศ. 2539
พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
บรรจุพระบรมอัฐิพระวิมานตะวันตก
บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระราชสวามีสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมรส พ.ศ. 2463 สวรรคต พ.ศ. 2472)
พระราชบุตร
ราชสกุลมหิดล (โดยเสกสมรส)
ราชวงศ์จักรี (โดยสถาปนา)
พระบิดาชู ชูกระมล
พระมารดาคำ ชูกระมล
ศาสนาเถรวาท
ลายพระอภิไธย

พลเอกหญิง พลเรือเอก​หญิง​ พลอากาศเอก​หญิง ​พล​ตำ​ร​ว​จ​เอก​หญิง​ นาย​กอง​ใหญ่​ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (เดิม: สังวาลย์ ตะละภัฏ; 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538) เป็นหม่อมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า "สมเด็จย่า"[1] ทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า "แม่ฟ้าหลวง"[2]

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา

พระราชประวัติ

ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีใน พ.ศ. 2456) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ณ จังหวัดนนทบุรี[3] เป็นบุตรคนที่ 3 ในนายชูและนางคำ มีพี่น้อง 2 คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่น้องชายซึ่งอ่อนกว่าสองปี คือ คุณถมยา[4]

นายชูมีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ ชุ่ม แต่ไม่ทราบนามของมารดา[3] ชุ่มมีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ส่วนพระชนนีคำ มีมารดาชื่อผา แต่ไม่ทราบนามของบิดา[3] นางคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น[5] จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และเฉลียวฉลาด

และเชื่อว่าเหล่าเครือญาติฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ เนื่องจากทางครอบครัวนิยมรับประทานข้าวเหนียว[3] ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นฐานเดิมของครอบครัว คือ บ้านช่างทอง ซึ่งตรงกับชุมชนชาวลาวด้านใต้ของธนบุรี อันเป็นชุมชนชาวลาวที่มีชื่อเสียงด้านฝีมือช่าง แต่ปัจจุบันชุมชนลาวดังกล่าวได้ย้ายไปยัง บ้านตีทอง รอบวัดสุทัศนเทพวรารามในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเครือญาติที่นิพนธ์นั้นอาจสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวที่เคยในชุมชนบ้านช่างทองก็เป็นได้[6]

นายชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่พระองค์มีพระชนมายุ 3 พรรษา และนางคำถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา[7] หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างม้วนบุหรี่ และทำขนมขาย วันหนึ่ง ญาติของครอบครัวนายชู มาแนะนำนางคำ ให้นำเด็กหญิงสังวาลย์ ไปฝากคุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นญาติและพระพี่เลี้ยงใน สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา[5]

ขณะยังทรงศึกษา

เด็กหญิงสังวาลย์และแม่แฉล้มเพื่อนสมัยเรียนพยาบาล[8]

พระองค์เข้าศึกษาที่ โรงเรียนศึกษานารี ได้ไม่นาน พระองค์ก็ได้ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล[9] วัดมหรรณพาราม โรงเรียนเพื่อประชาชนสามัญแห่งแรก[10] พระองค์ทรงถูกเข็มเย็บผ้าตำฝ่าพระหัตถ์ ต้องเข้ารับผ่าตัดกับพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ)

เมื่อปี พ.ศ. 2456 นางสาวสังวาลย์ตัดสินใจเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ตามคำชักชวนจากพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ [11]

เมื่อไปเรียนต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง เมื่อขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงจำเป็นต้องมีการหานามสกุลให้ นางสาวสังวาลย์จึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนสงขลานครินทร์ คือ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ)[12] พระองค์จึงมีพระนามในหนังสือเดินทางว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ. 2460)[13]

ต่อมา คุณถมยา เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล "ชูกระมล" ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่เคยใช้นามสกุลชูกระมล ก็อยากจะถือว่าทรงเกิดมาในสกุลนี้[12]

อภิเษกสมรส

ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับนางสาวสังวาลย์[14] ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่น ๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์[15] ทั้งนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงกล่าวกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ ความว่า "สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง"[16]

พ.ศ. 2463 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสตามกฎมณเฑียรบาล[15] เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นางสาวสังวาลย์จึงได้เดินทางกลับมา และเมื่อถึงวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม[17] นางสาวสังวาลย์จึงมีศักดิ์เป็น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนหม่อมสังวาลย์ เรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน[17]

ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดา

หลังจากทั้ง 2 พระองค์ทรงจบการศึกษาแล้วจึงเสด็จไปที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล ซึ่งภายหลังทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[18]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466 ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระราชธิดา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย[19] ประทับอยู่ได้ประมาณ 20 เดือน ก็ประชวร แพทย์จึงถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น ที่เมืองไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระราชธิดาจึงได้ตามเสด็จไปประทับด้วย[20] สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียวเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2469[21]

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีดูแลพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างใกล้ชิดด้วยความรักและการอบรมสั่งสอน และทูลเรื่องนี้กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความตอนหนึ่งว่า "ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักดั่งดวงใจ...ถ้าได้ช่วยลูก ๆ ให้ได้รับการอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน"[22]

ขณะที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้ายอยู่ที่เมืองบอสตัน ประชวรโรคพระวักกะกำเริบ และพระโรคหวัด[23] แต่ก็ยังทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม แต่หลังจากสอบเสร็จ และประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรสและพระราชธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุม ถนนพญาไท

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้านจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่[24] ในเดือนต่อมาก็เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวรอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม[25] ในขณะที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา ทรงต้องรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง จนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข[26] สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงแนะนำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพาพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2500

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ขึ้นสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป[27] ขณะที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ได้เข้าเข้าเฝ้าฯ กราบทูลเชิญเพื่อให้รับราชสมบัตินั้น หม่อมสังวาลย์จึงได้เจรจาออกไปว่า "จะขออยู่อย่างอินคอกนิโต [ไม่เป็นทางการ] ให้ได้โอกาสเป็นเด็กธรรมดามากที่สุดที่จะมากได้...ถ้าจะมาบังคับให้อยู่หรูหรากันอย่างคิงเต็มที่ซึ่งจะไม่ดีเลยสำหรับเด็ก จะทำให้ลำบากและเด็กไม่เป็นสุขแล้ว เห็นจะเป็นคิงไม่ได้ เพราะจะอยู่อย่างไม่หรูหราแต่อย่างเรียบร้อย ก็ไม่ได้ทำให้เสียชื่อเสียงหรือน่าเกลียดอะไร" การเจรจาของหม่อมสังวาลย์ครั้งนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงได้ตรัสชมความเฉลียวฉลาดในการเจรจาของหม่อมสังวาลย์ พระสุณิสาว่า "ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็นพูดจาโต้ตอบงดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครจะมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี้ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วย จนน้ำตาไหล"[28] และวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478

ในวันที่ครองราชย์นั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย นายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ นายนาวาตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)[29] ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงประกาศถวายพระนามพระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์[30] ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ใกล้กับเมืองโลซาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชโอรส ทรงตั้งชื่อให้พระตำหนักใหม่ว่า "วิลล่าวัฒนา"

ในปี พ.ศ. 2481 พระราชชนนีศรีสังวาลย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกโดยประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลากว่า 2 เดือน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ พระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์[31] นอกจากนั้นพระองค์ยังพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี สร้างสุขศาลา จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2481

ในปี พ.ศ. 2485 สมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ส่วนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2486 และอีกสองปีต่อมาในปี พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็เสด็จเข้าศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สองพร้อมกับสมเด็จพระราชชนนี ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้สมเด็จพระราชชนนีต้องทรงประสบกับความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงในพระชนม์ชีพ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคต ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระราชโอรสพระองค์ที่สอง เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา โดยมีสมเด็จพระราชชนนีรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2490 ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์นั้น สมเด็จพระราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบ audit ที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชาปรัชญาวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลี และสันสกฤต หลังจากที่ พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม สมเด็จพระราชชนนีทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระราชโอรสที่เมืองพุยยี่มา ประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างพ.ศ. 2503-2504 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดเกือบ 7 เดือนได้แก่ เวียดนาม (พ.ศ. 2502) อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป (พ.ศ. 2503) ปากีสถาน สหพันธรัฐมลายู นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (พ.ศ. 2505) จีนและญี่ปุ่น (พ.ศ. 2506) ออสเตรีย (พ.ศ. 2507) อังกฤษ (พ.ศ. 2509) อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (พ.ศ. 2510) ในการนี้สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจในฐานะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ ได้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์โดยในระหว่างนั้นได้เสด็จฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอ กับยังได้ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายและประกาศทีสำคัญหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์อิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติเรื่องการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งชาติระหว่างเวลา พ.ศ. 2504-2509 และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เป็นต้น

นอกจากนี้สมเด็จพระราชชนนียังได้ทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด และยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่น ๆ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย บำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เสด็จนิวัติประเทศไทย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จกลับประเทศไทยในปลาย พ.ศ. 2494 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังคงประทับที่โลซานน์จนถึง พ.ศ. 2506 ช่วงนี้ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ใน พ.ศ. 2507 ได้เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยพร้อมกับเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองและเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้วยทรงห่วงใยราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงเสด้จเข้าเยี่ยมเยียนชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือ ทรงบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนเป็นประจำ

จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทรงริเริ่มงานพัฒนาต่าง ๆ ได้ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประชาชนยากจนด้อยโอกาส ทรงยึดมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย นอกจากการอภิบาลพระราชโอรสทั้งสอง และพระราชธิดา ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่น ๆ อีกเป็นอเนกประการ ได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่มูลนิธิและองค์การกุศลต่างๆ ตามกำลังพระราชทรัพย์ ทั้งยังได้พระราชทานความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข, เสื้อผ้า และอาหาร ผ่านเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระราชสมัญญานามแก่พระองค์ว่า "แม่ฟ้าหลวง" ด้วยเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อมาปัดเป่าทุกข์แก่ราษฎร[2] นอกจากนี้ยังทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามต่าง ๆ อาทิ พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย, พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท ,พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ และพระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย เป็นต้น

สมเด็จพระบรมราชชนนี

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยพระอัฐิ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" และประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513[32]

สวรรคต

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน คณะแพทย์ถวายการรักษาเบื้องต้นที่วังสระปทุม จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จึงเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างการประทับรักษาที่โรงพยาบาล คณะแพทย์พบว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพิ่ม ต่อมา มีพระอาการแทรกซ้อน มีการอักเสบที่พระอันตะ พระอันตคุณ (ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก) และที่พระปับผาสะ (ปอด) ข้างขวา คณะแพทย์ได้พยายามถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นบ้าง

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการตั้งแต่เช้าจนเที่ยงของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 คงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21:17 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา[33]

สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา 3 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 [34] ต่อมา ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2538 บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ขยายเวลาลดธงครึ่งเสาต่อไปจนครบ 50 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับการแต่งกายไว้ทุกข์ถวาย โดยให้ลดธงครึ่งเสาต่อไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538[35]

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง พระราชสรีรางคารถูกเชิญไปบรรจุ ณ รังษีวัฒนา สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ชีวิตส่วนพระองค์

พระจริยวัตร

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอภิบาลอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างดีเยี่ยม โดยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ถี่ถ้วนนับตั้งแต่พระพลานามัย การศึกษาหาความรู้ การอบรมขัดเกลาพระกริยาอัธยาศัย การสร้างเสริมพระอุปนิสัยที่ดีงาม รวมทั้งทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระชนชีพของพระโอรส ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์ ตอนหนึ่งว่า

"...ชีวิตที่ผ่านไปเรื่อยๆ แม่จัดการเรียน การเล่น การออกสังคมของเรา ท่านดูแลอาหาร ความสะอาดและสุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา เช่น การกิน การนอน การไปโรงเรียน การเล่นนาน ๆ ที ถ้าเราไม่ทำตามที่ต้องทำจะถูกทำโทษหรือถูกตี..."

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่ทรงโปรดความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ทรงใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภคและจ่ายพระราชทรัพย์อย่างประหยัด และใช้หลักธรรมทางสายกลางในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่โปรดให้ทำพระกระยาหารของพระองค์มากสิ่ง แต่ให้ครบธาตุอาหารตามหลักโภชนาการ ทรงแนะนำสั่งสอนข้าราชบริพารในเรื่องการรับประทานอาหารว่าเสมอคือ ควรตักให้พอเหมาะและรับประทานให้หมดไม่ใช่เหลือทิ้ง นอกจากนี้ทรงโปรดให้ช่างตัดฉลองพระองค์ใหม่ตามความจำเป็น ปีหนึ่งตัดฉลองพระองค์ใหม่เพียง 2 ชุด ส่วนเครื่องประดับทรงสร้อยข้อนพเก้าเพียงเส้นเดียว และไม่ทรงโปรดสะสมเครื่องเพชรพลอยใหม่ ๆ นอกจากนี้แล้วยังทรงโปรดความเรียบง่าย และมักทรงงานต่าง ๆ เอง เมื่อครั้งประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงตัดแต่งต้นไม้เอง เสด็จไปตลาด ทรงจ่ายของเอง ซื้อดอกไม้มาจัด และยังทรงสอนข้าราชบริพารจัดดอกไม้ในแจกันด้วย ที่วิลล่าวัฒนามีสวนผลไม้ บางชนิดทรงเก็บมาดองหรือทำแยม เช่น แยมเชอรี่ ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล จะทรงนำไปเก็บในห้องเก็บของใต้ดิน ก่อนจะนำแอปเปิ้ลไปเรียงตามชั้นในห้องเก็บของใต้ดิน ทรงทำความสะอาดห้องเก็บของ ปัดฝุ่น จัดของ ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น พระองค์ก็ยังทรงดำเนินพระชนมชีพและวางพระองค์เรียบง่ายโดยสม่ำเสมอ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นกันเองกับราษฎร์ด้วยพระอิริยาบถอ่อนโยน และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรอย่างใกล้ชิด

พระองค์ทรงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ขณะประทับที่วังสระปทุม เวลาบ่ายหากไม่มีทรงมีแขก พระองค์จะทรงงานปั้น งานดอกไม้ งานปักภาพหรืองานโครเชต์ งานอดิเรกของพระองค์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนทรงเจริญพระชนมายุนั้นได้แก่ การวิ่งเล่น การออกกำลังกาย กีฬาที่โปรดมีอาทิ แบดมินตัน ขี่ม้า เดินขึ้นเขาเพื่อเก็บดอกไม้ เกมต่าง ๆ และสกี ซึ่งทรงจนถึงพระชนมายุ 80 พรรษา ตลอดจนเปตอง ซึ่งโปรดมากเมื่อมีพระชนมายุสูงขึ้น งานอดิเรกนอกจากนั้น ได้แก่ การอ่านหนังสือ การถ่ายรูป ถ่ายหนัง การเรือน เช่น การทำครัว การเย็บปักถักร้อย การถักไหมพรม การปัก และการหาเงินเพื่อการกุศล เป็นต้น ส่วนงานประดิษฐ์ที่เป็นผลจากงานอดิเรกของพระองค์ จำแนกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ การเขียนเครื่องกระเบื้อง การทำเครื่องเคลือบดินเผา การปั้นพระพุทธรูป การปักภาพและการเก็บดอกไม้ภูเขามาอัดแข็ง งานประดิษฐ์ต่าง ๆ นั้นพระองค์ทรงจัดทำขึ้นด้วยพระประสงค์หลายประการ ทั้งเพื่อทรงใช้สำหรับพระองค์เอง สำหรับพระราชทานพระราชโอรสธิดาพระนัดดา ตลอดจนข้าราชบริพารและบุคคลทั่วไปในโอกาสอันควร และยังทรงให้สำหรับจำหน่ายหรือพระราชทานแก่ผู้มาขอพระราชทานไปจำหน่าย เพื่อหารายได้บำรุงกิจการกุศลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อเสด็จไปประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ทรงโปรดการอ่านหนังสือปรัชญาของตะวันตกที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงามที่ถูกต้อง ทรงนิยมยกย่องบรรดาปรัชญาเมธีที่มีความสามารถถ่ายทอดความนึกคิดของตนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เมื่อทรงอ่านหนังสือเล่มใด ทรงพบข้อความใดที่ต้องพระราชหฤทัย หรือทรงพระราชดำริว่าน่าสนใจ แม้จะไม่ทรงเห็นด้วย ก็จะทรงขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดินสอแดง เมื่อพระรโอรสธิดาเจริญพระชนมายุแล้ว พระองค์ทรงมีเวลาเสด็จไปฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัยโลซาน โดยไม่ใช่เป็นการศึกษาวิชาที่โปรด เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา วิชาที่ทรงเลือกเข้าฟังการบรรยาย ได้แก่ วรรณคดี ปรัชญา จิตวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงพระอุตสาหะเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งได้ทรงนำความรู้มาทรงใช้ในการอ่านพระไตรปิฎกด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงศึกษาเรียนรู้วิทยาการแขนงอื่น ๆ ที่สนพระราชหฤทัยใคร่รู้ และเพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีทั้งด้านศิลปะ ด้านพฤกษศาสตร์และดาราศาสตร์ เป็นต้น

ความสนพระทัย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์ เมื่อประทับอยู่สหรัฐอเมริกาพระองค์เคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อพระราชโอรสพระองค์เล็กเรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนในโลซาน พระองค์จึงซื้อหนังสือเรื่อง Le Ceil (ท้องฟ้า) ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ แต่พระองค์มักจะเปิดอ่านเองหลายครั้งจนหนังสือชำรุด พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดความหมายของดวงดาวเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ กลุ่มดาวสำคัญที่แลเห็นง่ายหรือที่โปรด ลงบนโคม ที่เขี่ยบุหรี่ ถ้วยชาม จานกระเบื้อง หรือเซรามิก ซึ่งบางครั้งก็ทรงเขียนรูปดอกไม้แทนกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม มีจำนวนกลีบดอกและสีของดอกไม้แทนความสว่างของดวงดาว ซึ่งทางดาราศาสตร์ เรียกว่า แมกนิจูด เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางทะเลเมื่อ พ.ศ. 2510 บางคืนพระองค์ประทับบนดาดฟ้าเรือ ทอดพระเนตรดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยสายพระเนตรเปล่ากับเหล่าข้าราชบริพาร หลังจากที่ข้าราชบริพารกราบบังคมทูลอธิบายชื่อกลุ่มดาวเป็นภาษาไทยและอังกฤษแล้ว ก็รับสั่งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสและลาตินอีกด้วย ในการสร้างพระตำหนักดอยตุงโปรดให้เจ้าหน้าที่ของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ออกแบบร่างกลุ่มดาวต่างๆ สำหรับจัดทำภาพแกะไม้ประดับเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งอยู่ติดกับส่วนที่ประทับ เพดานพระตำหนักดังกล่าว จึงตกแต่งเป็นภาพไม้แกะสลัก รูปสุริยจักรวาล กลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่ม และกลุ่มดาวฤกษ์สำคัญ 12 กลุ่ม โดยตกแต่งดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ด้วยหลอดไฟขนาดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของดาวดวงนั้น นอกจากบนเพดานห้องโถงของพระตำหนักแล้ว ยังโปรดให้ประดับไม้แกะเป็นรูปดาวฤกษ์สำคัญหลายกลุ่มไว้ที่ราวไม้เฉลียงส่วนพระองค์ และยังประดับภาพกลุ่มดาวไว้ที่พระทวารบางแห่งบนพระตำหนักดอยตุงอีกด้วย

นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยการถ่ายภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียนพยาบาล เมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ทรงซื้อกล้องแบบ Brownie Box ความสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพทำให้ทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติถ่ายภาพด้วยเทคนิค ใหม่ ๆ เช่น การถ่ายภาพคนเดียวแต่วางท่า 2 แบบและปรากฏอยู่ในแผ่นเดียวกัน ต่อมาได้ทรงเปลี่ยนกล้องอีกหลายครั้ง เมื่อทรงทราบว่ามีสมรรถนะดีกว่าที่ทรงมีอยู่เดิม อีกทั้งได้ทรงใช้กล้องเหล่านั้นถ่ายภาพพระอิริยาบถและพระจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระโอรสธิดามาโดยตลอด ด้านภาพยนตร์ เมื่อมีการตั้ง "สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่น" ขึ้น ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมด้วย และครั้งหนึ่งได้ทรงฉายภาพยนตร์พระโอรสธิดาให้สมาชิกของสมาคมชมด้วย

พระราชโอรส-ธิดา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระราชโอรส-พระราชธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ดังนี้:

พระบรมฉายาลักษณ์ พระนาม วันพระราชสมภพ /
วันประสูติ
วันสวรรคต /
วันสิ้นพระชนม์
คู่อภิเษกสมรส พระราชโอรสธิดา /
พระโอรสธิดา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 2 มกราคม พ.ศ. 2551 อร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ไม่มี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร
20 กันยายน พ.ศ. 2468 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ไม่ได้อภิเษกสมรส ไม่มี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ที่ประทับ

พระตำหนักใหม่

พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

พระตำหนักใหม่ หรือ พระตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ที่ วังสระปทุม แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรส หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก[36] โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย ชาววังเรียกพระตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักใหม่"[37][38] ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2472[39] และใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตราบจนพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2538

พระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุง

พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม[40] ขณะเดียวกันสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุงโดยมีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบล้านนา ที่เป็นบ้านปีกไม้ มีกาแล ผสมกับลักษณะบ้านพื้นเมืองของชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า ชาเลต์ (Swiss Chalet)[41] โดยมีไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหลอ่อนช้อย พร้อมกันนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะปลูกป่าบนดอยสูง[42] จึงกำเนิดเป็น โครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ และจีนฮ่อ

พระตำหนักกว๊านพะเยา

พระตำหนักกว๊านพะเยา ตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยาก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักหลังนี้เป็นเวลา 7 ปี ภายในมีพระตำหนัก 3 หลัง[43] ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จมาประทับทรงงานตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดซึ่งเป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ซึ่งสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงสำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก[44]

พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ

พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ

พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีชั้นใต้ดิน ตั้งอยู่บนเนิน[45] เป็นสถาปัตยกรรมไทยภาคกลางผสมกับภาคเหนือ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี[46][47]

พระตำหนักที่ฝาง

พระตำหนักที่ฝาง เป็นพระตำหนักในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่บ้านพักศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร โดยกระทรวงกลาโหมได้สร้างเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปเยี่ยมหน่วยทหาร ข้าราชการ และประชาชนที่อำเภอฝาง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2501 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จมาประทับแรมที่นี่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507[48]

พระตำหนักเขื่อนห้วยหลวง

พระตำหนักเขื่อนห้วยหลวง เป็นพระตำหนักที่ประทับในเขื่อนห้วยหลวง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เวลาที่พระองค์เสด็จมาทรงงาน ณ จังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งพระองค์เสด็จมาทรงประทับเกือบทุกปี นอกจากพระองค์แล้ว ยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาเสด็จมาทรงงานเช่นเดียวกัน[49]

พระราชกรณียกิจ

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารเมื่อพ.ศ. 2507 ทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เองทุกครั้ง อย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง 1-2 ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปีพ.ศ. 2511 ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ดังนั้นในปีถัดมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรเข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด "หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์" หรือที่พระราชทานชื่อย่อ "พอ.สว." ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งในปัจจุบันคือหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจัดตั้งหน่วยและมูลนิธิที่สำคัญขึ้นดังนี้

  1. มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดตั้งเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เพื่อทำขาเทียมและพระราชทานให้แก่ผู้พิการขาขาดที่ยากจนในชนบท โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดมูลค่า ซึ่งมูลนิธิขาเทียมฯนี้ ทรงก่อตั้งร่วมกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการก่อตั้งมูลนิธิและทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์อีกด้วย
  2. มูลนิธิถันยรักษ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในเขตชนบทเป็นอย่างมากด้วยทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เยาวชนในชนบท มีความรู้ความคิดและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดอันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชนบท แต่จากการเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในปีพ.ศ. 2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกลับทรงพบกับสภาพความขาดแคลน โรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล ประกอบกับการสื่อสารโทรคมนาคมก็มิได้เจริญเฉกเช่นในปัจจุบัน ทั้งในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของเหล่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวางทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเพิ่มความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อพระองค์ทราบว่ากองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ได้กำหนดโครงการที่จะจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้นในเขตพื้นที่ตามแนวชายแดนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน 29 แห่งภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า 185 แห่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้ทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ 400 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษา ส่วนที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนมีเพียง 170 โรงเรียน และเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงช่วยดูแลโครงการนี้แทน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้พระราชทานเงินจำนวนสองแสนบาท เพื่อสร้างหอพักธรรมนิวาสที่หลังวัดมกุฎกษัตริยาราม สำหรับเป็นที่พักนักศึกษาที่ขัดสนและไม่มีที่อยู่ เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2510 เสด็จเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ โดยการนี้ได้ทรงม้าเสด็จเยี่ยมชม "สวนนอก" มี ศาสตราจารย์บรรเจิด คติการ และศาสตราจารย์ระพี สาคริก กราบทูลรายงาน โดยในขณะเสด็จอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ สมเด็จพระราชชนนีทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งกับผู้ติดตามว่า "...เกษตรนี้น่าอยู่จริง ๆ ฉันควรจะได้มาเยี่ยมที่นี่ตั้งนานแล้ว.."[50]

ทุกครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมพสกนิกรตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำไปพระราชทานแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น พระราชทานเสื้อยืด ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า และเครื่องเขียนต่างๆ แก่คณะครูประจำโรงเรียน ส่วนนักเรียนนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องแบบนักเรียน สมุด ดินสอ ยางลบ และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ ส่วนชาวบ้านจะได้รับพระราชทานผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ด้ายดำ ด้ายขาว และเข็มเย็บผ้า ยาตำราหลวง อาหารกระป๋อง และอาหารแห้งต่าง ๆ สำหรับเด็ก ๆ จะได้รับพระราชทานของเล่นที่เหมาะกับเพศและวัย เช่น เครื่องเขย่ากรุ๋งกริ๋ง แตรรถเล็ก ๆ และตุ๊กตาสวมเสื้อกระโปรง เป็นต้น

ด้านสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์มีพระราชอิสริยยศเป็นหม่อมสังวาลย์ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นในปีพ.ศ. 2475 ขณะที่พระองค์พระประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหม่ในวังสระปทุม เมื่อพระราชโอรสธิดาเจริญพระชนมายุมากขึ้น และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทุกพระองค์แล้ว ทรงมีเวลาว่าง จึงทรงตั้งคณะเย็บผ้าตามแบบสตรีอเมริกันขึ้น มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ที่ทรงคุ้นเคย และสุภาพสตรีชาวต่างประเทศอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นภริยาของนักการศึกษา สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมิชชันนารี คณะเย็บผ้าเริ่มด้วยการเย็บเสื้อของตัวเอง ต่อมาได้เย็บเสื้อผ้าให้เด็กอนาถาตามโรงพยาบาล

ต่อมาในปีพ.ศ. 2510 ทรงตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว ได้พระราชทานทุนริเริ่มเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ พ.ศ. 2511 ได้ทรงรับมูลนิธิชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์จะช่วยจัดตั้งหมู่บ้านตามชนบทของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคเรื้อนและโรคจิต มีที่ดินบ้านเรือนของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำ มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตามควรแก่อัตภาพ

พระราชทรัพย์ที่พระราชทานช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่าง ๆ มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากการขายของฝีพระหัตถ์เพื่อการกุศล ทรงริเริ่มทำบัตรอวยพรความสุขในโอกาสต่างๆ แต่งด้วยดอกไม้ทับแห้งแปลกตา พระราชทานให้ขายเป็นรายได้แก่การกุศล โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงช่วยกันทำไม้กวาดป่านศรนารายณ์หรือแปลงศรนารายณ์ เพื่อขายนำเงินเข้าการกุศล เนื่องจากทรงใช้ป่านย้อมสีสวยๆ มีประโยชน์ทั้งในแง่ใช้สอยและการตกแต่ง จึงมีผู้สั่งจองกันมาก แปลงศรนารายณ์นี้ทำรายได้ดีมาก ได้พระราชทานเงินรายได้แก่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน จังหวัดลำปาง

ในด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชูปถัมภ์และทรงจำหน่ายดอกป๊อปปี้ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นรายได้สงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก

ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระราชวงศ์ที่โปรดธรรมชาติมาก ทรงสร้างพระตำหนักดอยตุง ขึ้นบริเวณดอยตุง เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน ที่บ้านอีก้อป่ากล้วย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ในพื้นที่เช่าของกรมป่าไม้เป็นเวลานาน 30 ปี มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1000 เมตร โดยทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า "บ้านที่ดอยตุง" พระองค์ทรงพระราชดำริที่ว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง" เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุงพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นจึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 ทรงพัฒนาดอยตุง และส่งเสริมงานให้ชาวเขาอีกด้วย โดยทรงพระราชทานกล้าไม้แก่ผู้ตามเสด็จ และทรงปลูกป่าด้วยพระองค์เอง และทรงนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา และไม้ดอกมาปลูก และทรงตั้งโครงการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กล้วยไม้ เห็ดหลินจือ สตรอเบอรี่ และจัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่บ้านผาหมี ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

จากพระราชอุตสาหดังกล่าว และโครงการที่ยังมิได้นำเสนอขึ้นมาข้างต้นนี้ ยอดดอยที่เคยหัวโล้นด้วยการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น จึงได้กลับกลายมาเป็นดอยที่เต็มไปด้วยป่าไม้ตามเดิม พระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงนี้เอง ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพ ความเป็นป่าได้เกิดชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเป็นระบบ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงได้รับขนานนามว่า สมเด็จย่า จากชาวไทยบนพื้นราบ หรือ แม่ฟ้าหลวง จากชาวไทยภูเขา

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

พระราชอิสริยยศ

  • นางสาวสังวาลย์ (21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 — พ.ศ. 2460)
  • นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (พ.ศ. 2460 — 10 กันยายน พ.ศ. 2463)
  • หม่อมสังวาลย์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์/หม่อมสังวาลย์ สงขลา (10 กันยายน พ.ศ. 2463 — 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472)
  • หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 — 25 มีนาคม พ.ศ. 2478)
  • พระราชชนนีศรีสังวาลย์ (25 มีนาคม พ.ศ. 2478 — 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481)
  • สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 — 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513)
  • สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (9 มิถุนายน พ.ศ. 2513 — 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

พระยศทางทหาร

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพบกไทย, กองทัพเรือไทย,
กองทัพอากาศไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอาสารักษาดินแดน
ประจำการ
ชั้นยศ
  • พลเอกหญิง
  • พลเรือเอกหญิง
  • พลอากาศเอกหญิง
  • พลตำรวจเอกหญิง
  • นายกองใหญ่

พระราชสมัญญานาม

  • พ.ศ. 2529: พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย, พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท และ พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์[66]
  • พ.ศ. 2543: พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย

บุคคลสำคัญของโลก

วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 100 ปี องค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เฉลิมพระเกียรติยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” [67]

พระราชานุสรณ์

พระราชานุสาวรีย์

พระราชานุสาวรีย์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยพันโท นภดล สุวรรณสมบัติ เป็นประติมากร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2548 และจากนั้นในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ได้มีพิธีชัยมงคลาภิเษกขึ้นที่ลานพระราชานุสาวรีย์[68]

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ สวนสมเด็จย่า
พระราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

ตั้งอยู่ ณ สวนสมเด็จย่า ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในโอกาสพระชนมายุครบ 104 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาเปิดพระราชานุสาวรีย์องค์แรกเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ก่อนจะมีการจัดสร้างพระรูปองค์ที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2556[69] มีลักษณะเป็นพระรูปขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับนั่งในพระอิริยาบถสบาย ๆ ประดิษฐานภายในสวนส่วนหน้าของอุทยาน ดินใต้ฐานพระราชานุสาวรีย์นั้นนำมาจากสถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจ[70]

พระราชานุสาวรีย์ ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารสมเด็จย่า 93 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2533 เดิมประดิษฐานไว้ ณ บริเวณโถงชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าอาจารย์ นิสิต ข้าราชการ บุคลากร และประชาชนที่มารับบริการด้วย ต่อมาได้เชิญมาประดิษฐานด้านข้างอาคารสมเด็จย่า 93 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2546[71]

พระราชานุสาวรีย์ ณ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

ตั้งอยู่ ณ อาคารพระบรมคุณ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยทุก ๆ วันที่ 21 ตุลาคม สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย จะจัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวันพยาบาลแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ในสภากาชาดไทย และหน่วยงานใกล้เคียงเข้าร่วมพิธี[72][73][74]

พระราชานุสาวรีย์ ณ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี

ตั้งอยู่ ณ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ถนนพหลโยธิน ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี มีพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558[75] พิธีเททองหล่อพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยนายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี[76] เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ ลานด้านหน้าตึกอำนวยการ[77]

สถานที่ พรรณพืช และพันธุ์สัตว์อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย

สถานที่

ศาสนสถาน
การแพทย์ และการสาธารณสุข
สถาบันการศึกษา
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • กลุ่มโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ เดิมชื่อ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นโรงเรียนจัดตั้งขึ้นตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อการศึกษาในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
ค่าย
สวนสาธารณะ
อื่น ๆ

พันธุ์สัตว์

พรรณพืช

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. กระปุกดอตคอม. ย้อนอดีตเมื่อครั้ง สมเด็จย่า เสด็จสวรรคต. เรียกดูเมื่อ 18 ตุลาคม 2556
  2. 2.0 2.1 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์. "แม่ฟ้าหลวง" มีความหมายว่าอย่างไร. เรียกดูเมื่อ 18 ตุลาคม 2556
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. แม่เล่าให้ฟัง (1). เรียกดูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556
  4. Quality of Life - Manager Online พระราชประวัติ สมเด็จย่า ตอนที่ 1[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 "พระราชประวัติ". มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. สุเจน กรรพฤทธิ์. ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว. กรุงเทพฯ:สารคดี, หน้า 166-167
  7. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. แม่เล่าให้ฟัง (5). เรียกดูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556
  8. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 20 ปีน้อมรำลึก 'สมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวง' จารึกไว้ในหัวใจของทวยราษฎร์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2558. หน้า 7.
  9. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. แม่เล่าให้ฟัง. กรุงเทพ : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์, พ.ศ. 2559. 286 หน้า. หน้า หน้าที่ 23. ISBN 978-616-768-119-1
  10. "ประวัติโรงเรียนสตรีวิทยา" (PDF). 22 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. แม่เล่าให้ฟัง. กรุงเทพ : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์, พ.ศ. 2559. 286 หน้า. หน้า หน้าที่ 26. ISBN 978-616-768-119-1
  12. 12.0 12.1 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. แม่เล่าให้ฟัง (6). เรียกดูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556
  13. "พระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 14 (0 ก): 326. 15 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย - ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย[ลิงก์เสีย], เข้าถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559
  15. 15.0 15.1 คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล. ชุมนุมพระนิพนธ์ และบทความเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย. กรุงเทพ : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2508. 1143 หน้า. หน้า หน้าที่ 160.
  16. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550, หน้า 149
  17. 17.0 17.1 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์. พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์ เก็บถาวร 2012-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559.
  18. สมคิด โชติกวณิชย์. 2538. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ แผนกศึกษาธิการ ตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย, เล่ม ๔๐, ตอน ๐ ง, ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖, หน้า ๒๒๐๕
  20. วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. เทิดพระนาม มหิดล. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2552. 332 หน้า. หน้า หน้าที่ 20.
  21. วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. เทิดพระนาม มหิดล. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2552. 332 หน้า. หน้า หน้าที่ 24.
  22. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550, หน้า 153
  23. พระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก เก็บถาวร 2016-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี
  24. โรงพยาบาลแมคคอร์มิค รู้จักแมคคอร์มิค - McCormick Hospital เก็บถาวร 2016-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2559
  25. สุทธิลักษณ์ วุฒิเสน. กองทุนหมอเจ้าฟ้า / คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ธนบรรณการพิมพ์, 2535. 74 หน้า. ISBN 9746723022
  26. รุ่งมณี เมฆโสภณ. อำนาจ 2 : ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2555. 183 หน้า. ISBN 9786165360791
  27. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
  28. วิษณุ เครืองาม (16 กรกฎาคม 2555). "จาก "สมเด็จย่า" ถึง "สมเด็จย่า"". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  29. "ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 51 (0 ก): 1332. 7 มีนาคม พ.ศ. 2477. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  30. "ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 51 (0 ก): 1409–1410. 25 มีนาคม พ.ศ. 2477. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  31. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์, เล่ม 55, ตอน 0ก, 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 , หน้า 671
  32. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนก และ สมเด็จพระบรมราชชนนี เก็บถาวร 2011-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 87, ตอน 52, 12 มิถุนายน พ.ศ. 2513, ฉบับพิเศษ หน้า 1
  33. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต เก็บถาวร 2019-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 112, ตอนพิเศษ 30 ง, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2538, หน้า 2
  34. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต, เล่ม 112, ตอนพิเศษ 30 ง, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2538, หน้า 2
  35. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต (ฉบับที่ 2), เล่ม 112, ตอนพิเศษ 31 ง, 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2538, หน้า 1
  36. "เปิดตำนาน วังสระปทุม พระตำหนักแห่งรักของพ่อหลวงและแม่แห่งแผ่นดิน". kapook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  37. เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์, หน้า 79
  38. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525), หน้า 434
  39. ""วังสระปทุม" ตำนานรักอภิเษกสมรส โบราณสถานมีชีวิต ย่านเศรษฐกิจห้างดัง". ไทยรัฐ. 5 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  40. "ชม "พระตำหนักดอยตุง" บ้านหลังแรกในสมเด็จย่าของชาวไทย". kapook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. "สถานที่ท่องเที่ยว พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง". maefahluang. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-05. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  42. "พระตำหนักดอยตุง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-03. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  43. สมชาติ ธรรมขันทา (3 ธันวาคม 2561). "พะเยา เปิดพระตำหนักกว๊านพะเยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เที่ยวชมรูปแบบพิพิธภัณฑ์". tigernews. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  44. "สถานที่ท่องเที่ยว พระตำหนักกว๊านพะเยา และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  45. "สถานที่ท่องเที่ยว พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  46. jasminta (13 ตุลาคม 2560). "สถานที่แห่งความทรงจำ พระตำหนัก ที่ประทับทรงงานของรัชกาลที่ ๙". mthai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  47. "พระตำหนักภูพิงค์ (วันนี้)". ไทยรัฐ. 3 กรกฎาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  48. วาทินี พันธุ์งาม (17 พฤษภาคม 2557). "เที่ยวพระตำหนักที่ฝาง". องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คะ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. "สถานที่ท่องเที่ยว เขื่อนห้วยหลวง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  50. เสด็จเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://kuhistory.ku.ac.th/01/sep19_2510.htm
  51. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 (ตอน 0 ง): หน้า 2801. 18 พฤศจิกายน 2481. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  52. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 78 (ตอน 8 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 7. 27 มกราคม 2504. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. "แจ้งความพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 52 (ตอน 0 ง): หน้า 1980. 27 มกราคม 2478. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  54. 54.0 54.1 "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 81 (ตอน 119 ง): หน้า 3071. 22 ธันวาคม 2507. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  55. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112 (ตอน 18 ข): หน้า 1. 8 ธันวาคม 2538. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 106 (ตอน 118 ง): หน้า 1. 8 ธันวาคม 2538. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  57. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 86 (ตอน 58 ฉบับพิเศษ): หน้า 15. 1 ตุลาคม 2512. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  58. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 47 (ตอน 0 ง): หน้า 3078. 16 พฤศจิกายน 2473. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 45 (ตอน 0 ง): หน้า 2958. 28 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  60. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 70 (ตอน 6 ง): หน้า 235. 20 มกราคม 2496. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  61. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งผู้บังคับการพิเศษและนายทหารพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 97 (ตอน 95 ง): หน้า 1894. 24 มิถุนายน 2523. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  62. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 99 (ตอน 4 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 14 มกราคม 2525. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-27. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  63. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 100 (ตอน 79 ฉบับพิเศษ): หน้า 2. 22 มิถุนายน 2527. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  64. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 106 (ตอน 20 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 6 กุมภาพันธ์ 2532. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  65. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศตำรวจ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น พลตำรวจเอกหญิง)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112 (ตอน 13 ข): หน้า 1. 30 สิงหาคม 2538. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  66. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  67. "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บุคคลสำคัญของโลก มติเอกฉันท์จากยูเนสโก (UNESCO)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.
  68. "พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. "สวนสมเด็จย่า คลองสาน". Creamii Waffle. 2018-10-23. สืบค้นเมื่อ 2023-01-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  70. ""สวนสมเด็จย่า" สวนสำหรับชุมชนพร้อมแหล่งการเรียนรู้". reviewpromote. 2017-08-01. สืบค้นเมื่อ 2018-01-14.
  71. "พิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2546". cca.chula. 4 สิงหาคม 2546. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  72. "21 ตุลาคม วันพยาบาลแห่งชาติ". stin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-21. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  73. "พิธีวางพานพุ่มถวาย ราชสักการะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". stin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-20. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  74. "พิธีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". chulalongkornhospital. 24 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  75. "สถาบันธัญญารักษ์ จัดพิธีอัญเชิญพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". สำนักข่าวทีนิวส์. 18 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-20. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  76. "องคมนตรี เป็นประธานเททองหล่อพระพุทธชัยวัฒน์ธัญญารักษ์ราชมหามงคล และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". chaoprayanews. 6 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  77. "สถาบันรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้จัดพิธีอัญเชิญพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี". 4forcenews. 18 กรกฎาคม 2560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-20. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  78. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-05. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  79. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  80. "ค่ายศรีนครินทราเป็นที่ตั้งกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 (กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 8 เดิม) และกองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ (กองกำกับการ 6 กองบังคับการฝึกพิเศษ เดิม )". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-19. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27. {{cite web}}: line feed character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 61 (help)
  81. "การพระราชทานนามค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-12. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  82. อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  83. พรรณไม้ใหม่ของโลกในไทย Link
  84. Quarterly Supplement to the International Register of Orchid Hybrids (Sander’s List) September - December 2004 Registrations Linkเก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  85. 85.0 85.1 Quarterly Supplement to the International Register of Orchid Hybrids (Sander’s List) July – September 2008 Registrations Link[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถัดไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(15 ธันวาคม พ.ศ. 2525 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระองค์แรก
ประธานมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
(เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์