ข้ามไปเนื้อหา

แช่ม พรหมยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แช่ม พรหมยงค์
จุฬาราชมนตรี คนที่ 14
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2488 – พ.ศ. 2490
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ก่อนหน้าพระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)
ถัดไปต่วน สุวรรณศาสน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ซำซุดดิน มุสตาฟา

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444
เมืองสมุทรปราการ ประเทศสยาม
เสียชีวิต24 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 (88 ปี)
จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย
เชื้อชาติไทย
ศาสนาอิสลามซุนนี
คู่สมรสสุดจิต พรหมยงค์
บุตร10 คน
บุพการี
  • จำปา (บิดา)
  • วัน (มารดา)
เป็นที่รู้จักจากสมาชิกคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทย  · จุฬาราชมนตรีคนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและคนแรกที่นับถือนิกายสุหนี่  · มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้

แช่ม พรหมยงค์ (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2532) อดีตจุฬาราชมนตรี คนที่ 14 แห่งราชอาณาจักรไทย อดีตสมาชิกคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทย มีชื่อและนามสกุลเดิมว่า ซำซุดดิน มุสตาฟา

ประวัติ

[แก้]

เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ที่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บิดาชื่อ นายจำปา หรือ มุสตาฟา เป็นโต๊ะอิหม่าม มารดาชื่อ นางวัน แห่งมัสยิดพระประแดงและเป็นอาจารย์สอนศาสนาอิสลาม นายแช่มเองนั้นจบการศึกษาด้านศาสนาอิสลามจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ชีวิตส่วนตัว แช่ม สมรสกับ สุดจิต พรหมยงค์ มีบุตรด้วยกัน 10 คน

บทบาททางการเมือง

[แก้]

ในทางการเมือง นายบรรจง ศรีจรูญ เพื่อนสนิทซึ่งศึกษาอยู่ในเวลาเดียวกันได้ชักชวน นายแช่ม ให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายแช่มและนายบรรจง ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ให้เข้าประทับในพระที่นั่งอนันตสมาคม และทำหน้าที่แจกใบปลิวเพื่อทำความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎร นายแช่ม พรหมยงค์ มีความสนิทสนมและนับถือ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายมันสมองเป็นอย่างมาก ถึงกับเปลี่ยนนามสกุลเป็น พรหมยงค์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับ พนมยงค์ นามสกุลของนายปรีดี อีกด้วย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย

นายแช่ม พรหมยงค์ ขณะนำเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ชมมัสยิดต้นสน (พ.ศ. 2489)

เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีดำริที่จะฟื้นฟูตำแหน่งจุฬาราชมนตรีขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ชะงักไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายแช่มซึ่งเป็นข้าราชการกรมโฆษณาการและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 ถือเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของไทยที่นับถือนิกายสุหนี่

ปั้นปลายชีวิต

[แก้]

หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 นายแช่ม ต้องลี้ภัยการเมืองไปพร้อมกับ นายปรีดี พนมยงค์ ยังสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา และท้ายสุดไปอยู่ที่รัฐกลันตัน มาเลเซียซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษและซาอุดีอาระเบียตามลำดับ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย เมื่อทางรัฐบาลขณะนั้นอภัยโทษให้ และมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 บ้านพักภูมิลำเนาที่เกิดมาอย่างสงบ ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยวัย 88 ปี

อ้างอิง

[แก้]
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ ๔ จังหวัดภาคใต้
  • เอกราช มูเก็ม. จุฬาราชมนตรี ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิมจากสมัยอยุธยาถึงยุคทักษิณ. กทม. ร่วมด้วยช่วยกัน. 2549. หน้า 42 - 43
ก่อนหน้า แช่ม พรหมยงค์ ถัดไป
ยุบเลิกบรรดาศักดิ์
ก่อนหน้า: พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)
จุฬาราชมนตรี คนที่ 14
(พ.ศ. 2488 — 2490)
ต่วน สุวรรณศาสน์