ไพโรจน์ สุวรรณฉวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ว่าที่ร้อยตรี
ไพโรจน์ สุวรรณฉวี
ม.ป.ช., ม.ว.ม.
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
นายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (61 ปี)
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
พรรค เพื่อแผ่นดิน
คู่สมรส ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี
ศาสนา พุทธ

ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา และแกนนำกลุ่มโคราช พรรคเพื่อแผ่นดิน

ประวัติ[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายจำรัส กับนางสำเภา สุวรรณฉวี[1] สมรสกับร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี มีบุตรชาย 3 คน คือ พลพีร์ สุวรรณฉวี พีรพร สุวรรณฉวี และณัฐวัชร์ สุวรรณฉวี

การศึกษา[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2517 ตามลำดับ

การทำงาน[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เริ่มรับราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จนได้รับตำแหน่งนายอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2529 และตำแหน่งนายอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีในปี 2532 และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2533 และปี 2534 เป็นนายอำเภอเมืองสระบุรีเป็นอำเภอสุดท้าย จึงได้ลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคสามัคคีธรรม ต่อมาในการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 จึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม 16[2] และย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นหนึ่งในแกนนำที่ต่อต้านรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในเรื่อง สปก.4-01 จนต่อมาไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา

ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ และรับตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค จนกระทั่งได้มีการยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และไพโรจน์ สุวรรณฉวี ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย[3][4]

หลังการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทในการสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดิน หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 และมีส่วนในการผลักดันให้ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ภรรยา เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในการจัดตั้งของรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการนำสมาชิกในกลุ่มให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในนาม "3พี" (ไพโรจน์ สุวรรณฉวี พินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ)[5]

การเสียชีวิต[แก้]

ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15.50 น. ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุได้ 61 ปี ซึ่งหลังการเสียชีวิตแล้ว ทางครอบครัวมิได้เปิดเผยจึงทำให้เกิดเป็นข่าวลือต่าง ๆ จนในที่สุดในวันที่ 10 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ทางโฆษกพรรคเพื่อแผ่นดินได้แถลงยอมรับถึงการเสียชีวิตว่าเป็นความจริง[6] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ ฌาปนสถานกองทัพบก กองทัพภาคที่ 2 วัดสุทธจินดาวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

สโมสรฟุตบอล[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลทีโอที แคท ในฤดูกาล 2552 เป็นต้นมา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติผู้สมัคร ส.ส." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2010-10-26.
  2. เปิดตำนานกลุ่ม 16 เช็คชื่อใครเป็นใคร?
  3. ประวัติไพโรจน์ สุวรรณฉวีไทยรัฐ
  4. "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-27.
  5. "สุวัจน์-3 พี"รวมพรรค ยึดโคราชบุกอีสานรอ"คุก111"เปิด
  6. [https://web.archive.org/web/20111108221226/http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20110510/390183/%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%9C.%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3.%E0%B8%95.%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89.html เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผอ.เขตห้วยขวางเผย"ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์"เสียชีวิตตั้งแต่วันเสาร์ จากกรุงเทพธุรกิจ]
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๖๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔