สุเมธ โพธิ์มณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด6 เมษายน พ.ศ. 2492 (75 ปี)
พรรคการเมืองเพื่อธรรม

พลอากาศเอก สุเมธ โพธิ์มณี อดีตรองหัวหน้า พรรคเพื่อธรรม [1] อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตนายทหารราชองครักษ์พิเศษ[2]และเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ประวัติ[แก้]

สุเมธ โพธิ์มณี เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2492 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ตท.10) และโรงเรียนนายเรืออากาศเมื่อปี พ.ศ. 2516

การทำงาน[แก้]

รับราชการทหาร[แก้]

พล.อ.อ.สุเมธ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อ.ย.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ในยศ พลอากาศโท (พล.อ.ท.) และในเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยกำลังพล ภายใต้การบังคับบัญชาการของ พล.อ.อ.สุเมธ ได้ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ค.ป.ค.) เข้าควบคุม โดยใช้ทหารจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) จากจังหวัดลพบุรี ด้วยไม่วางใจในตัวของ พล.อ.อ.สุเมธ ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ในฐานะที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 ด้วยกัน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้สนับสนุนให้ พล.อ.อ.สุเมธ ดำรงตำแหน่งผู้คุมกำลังพลและมีทีท่าว่าจะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศต่อไปในอนาคตด้วย โดยถูกทำการควบคุมตัวนานถึง 11 วัน ที่ตึกแปดแฉกของกองบัญชาการกองทัพอากาศ[3]

หลังการรัฐประหารแล้ว ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ.อ.สุเมธ ก็ได้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ไปเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ จากนั้นได้ถูกย้ายเข้าไปประจำที่กระทรวงกลาโหม ในตำแหน่งหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะถูกปรับออกจากตำแหน่งในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม[4] ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการไปในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

งานการเมือง[แก้]

ภายหลังจากเกษียณแล้ว ในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 นั้น พล.อ.อ.สุเมธ พร้อมด้วยเพื่อนนายทหารและตำรวจรุ่นเตรียมทหาร 10 อันเป็นรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แถลงข่าวเปิดตัวเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยกว่า 40 คน พร้อมตอบโต้กับทุกประเด็นที่กล่าวหามา โดยมี พล.อ.อ.สุเมธ เป็นแกนนำ[5]

พล.อ.อ.สุเมธ มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของพรรคครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2554[6] และลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 123[7] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 พลอากาศเอกสุเมธได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและได้ย้ายมาสมัครเป็นสมาชิก พรรคเพื่อธรรม พร้อมกับได้เลือกให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อธรรม
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/013/T_0001.PDF
  3. หนังสือ ลับ ลวง พราง โดย วาสนา นาน่วม สำนักพิมพ์มติชน ISBN 9789740200871
  4. ย้าย 454นายทหาร เพื่อน"แม้ว"ตท.10 เด้งยกแผง "ประวิตร-อนุพงษ์"ดันคนสนิทคุมกำลัง ตั้ง7นายพลหญิงใหม่
  5. "พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ไขปม"กฐินสามัคคี"โค่นบัลลังก์"ทักษิณ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-16. สืบค้นเมื่อ 2009-10-24.
  6. [1]เก็บถาวร 2020-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พท.มติเอกฉันท์เลือก11กก.บห.ชุดใหม่ จากเดลินิวส์
  7. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)