ชูชีพ ชีวะสุทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชูชีพ ชีวะสุทธิ์
เกิดชูชีพ ชีวะสุทธิ์
พ.ศ. 2496 (อายุ 71 ปี)
ประเทศไทย
สาบสูญ9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
(ผ่านมาแล้ว​ 4 ปี 11 เดือน 18 วัน)
ประเทศเวียดนาม
การศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาชีพนักเขียน, อาจารย์, นักประวัติศาสตร์, ยูทูบเบอร์, นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ชูชีพ ชีวสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่เป็นที่รู้จักในชื่อ ลุงสนามหลวง เป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ ในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ของ คมช.

ประวัติ[แก้]

ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 ณ เดือนสิงหาคม 2551 ศาลอาญาออกหมายจับชูชีพในความผิดตามมาตรา 112 คาดว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่นั้นมา ชูชีพประกาศยุติการจัดรายการในเดือนมกราคม 2562 หลังการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคนที่เคยจัดรายการใน YouTube ต่อมา[1]

การศึกษา[แก้]

เข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2515 เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และเป็นรุ่นพี่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช 1 ปี เขาเป็นคนหัวดี แม้ตอนสอบเข้าจะรุ่งโรจน์แต่ต่อมาก็รุ่งริ่ง "นักศึกษารุ่นนั้นหลายคน มีความคิดดัดแปลงตัวเองเข้ากับชาวบ้านยากจน กรรมกร ชาวนาที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง และต่อสู้ร่วมกับพวกเขา ชูชีพคิดแบบนั้นและไม่ค่อยสนใจเรียนมากนัก จนผลการเรียนตกต่ำลง ต่อมาเลยเปลี่ยนไปเรียนสายสาธารณสุข" เพื่อนของชูชีพคนหนึ่งระบุ ในหนังสือ ‘ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาค 2’ ให้ข้อมูลถึงบทบาทสำคัญของชูชีพในการเป็นประธานชมรมนิยมไทยสมัยยังเป็นนักศึกษา ชมรมนี้มีกิจกรรมช่วงแรกคือ ส่งเสริมให้ภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งเป็นไปตามกระแสรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แนวคิดนี้จุดประกายโดย ธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ[1]

บทบาทการเมือง[แก้]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมชมรมเป็นจำนวนมาก เริ่มเน้นกิจกรรมเชิงวิชาการมากขึ้น เช่น จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้และความคิดเชิงสังคมการเมืองรูปแบบต่างๆ จัดอภิปรายปัญหาสังคม จัดหาซื้อหนังสือด้านสังคมและการเมืองให้สมาชิกหยิบยืม ช่วงปิดภาคเรียนจัดค่ายอนามัยชนบท และยังเริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เช่น ร่วมติดโปสเตอร์และแจกใบปลิวเปิดโปงกรณี ‘ถีบลงเขาเผาลงถังแดง’ ในภาคใต้ โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบท ร่วมเคลื่อนไหวกับชาวนา ฯลฯ แล้วชมรมนิยมไทยก็ยุติบทบาทลง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519[1]

การหายสาบสูญ[แก้]

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าชูชีพถูกจับกุมตัวในเวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลการเดินทางเขาประเทศหรือการจับกุมตัวทั้งสามคน และความพยายามของครอบครัวของสยามที่จะตามหาทั้งสามคนก็ยังไม่เป็นผล และยังไม่ทราบชะตากรรมของลุงสนามหลวงนับจนถึงทุกวันนี้[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 วีรชนคนกล้า, ประชาธิปไตย (5 พฤษภาคม 2019). "รู้จัก 'ลุงสนามหลวง' ชูชีพ ชีวสุทธิ์ – เส้นทางวิทยุใต้ดิน - กลุ่มเหยื่อสหพันธรัฐไท". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2022.
  2. 1 ปี สยามและพวกหายตัว ญาติเผยไร้ความคืบหน้า-เปิดไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ประชาไท สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2020