เขตหนองแขม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตหนองแขม
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันKhet Nong Khaem
ซุ้มประตูต้อนรับสู่เขตหนองแขมบนถนนเพชรเกษม
ซุ้มประตูต้อนรับสู่เขตหนองแขมบนถนนเพชรเกษม
คำขวัญ: 
หนองแขมเลื่องลือคือกล้วยไม้ งามจับใจคือดอกพุทธรักษา พุทธคุณหลวงพ่อพระปุญญาฯ มากคุณค่าสิ่งประดิษฐ์ที่คิดทำ
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตหนองแขม
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตหนองแขม
พิกัด: 13°42′17″N 100°20′56″E / 13.70472°N 100.34889°E / 13.70472; 100.34889
ประเทศ ไทย
เขตปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด35.825 ตร.กม. (13.832 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)[2]
 • ทั้งหมด155,124 คน
 • ความหนาแน่น4,330.05 คน/ตร.กม. (11,214.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์10160
รหัสภูมิศาสตร์1023
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 555 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร 10160
เว็บไซต์webportal.bangkok.go.th/nongkhame
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

หนองแขม เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม สภาพเศรษฐกิจดั้งเดิมขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากชุมชนเมืองขยายตัวจากพื้นที่ชั้นใน มีผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพมากขึ้น พื้นที่การเกษตรจึงเริ่มถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล สาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ และหมู่บ้านจัดสรร

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

เขตหนองแขมตั้งอยู่บนฝั่งธนบุรี (ทางตะวันตกสุดของกรุงเทพมหานคร) มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้

ที่มาของชื่อเขต[แก้]

บริเวณแขวงหนองแขมในอดีตมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งมีน้ำท่วมขังตลอด (หนองน้ำ) และมีต้นแขม (หญ้าขนาดสูงชนิดหนึ่ง) ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพง ก่อนหน้านั้นเคยมีชื่อเรียกว่า "หนองน้ำแดง" แต่ถูกลืมไปแล้ว[3] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2413 พระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน เมืองนครปฐม ได้สร้างวัดขึ้นที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งและตั้งชื่อวัดว่า "วัดหนองแขม"[4] ตามลักษณะของพื้นที่ ส่วนชาวบ้านก็ได้ขุดบ่อไว้ริมหนองเพื่ออาศัยใช้น้ำจืดและเรียกว่า "บ่อหนองแขม"[4]

ประวัติ[แก้]

บริเวณหนองแขมซึ่งมีคลองภาษีเจริญตัดผ่านมีความเจริญและมีผู้คนเพิ่มขึ้น ใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง อำเภอหนองแขม ขึ้นตรงต่อกระทรวงนครบาล เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในย่านฝั่งตะวันตกของพระนครได้[4] โดยอำเภอหนองแขมสมัยนั้นแบ่งออกเป็น 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแขม ตำแหน่งกำนันมีชื่อว่าขุนขจรหนองแขมเขตร์, ตำบลหนองค้างพลู มีขุนประเทศหนองแขมขันธ์เป็นกำนัน, ตำบลหลักหนึ่ง มีขุนหนองแขมกนิษฐศรเป็นกำนัน และตำบลหลักสอง มีขุนภิบาลเขตร์นครเป็นกำนัน ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่หน้าโรงจับกัง (บ้านพักคนงาน) ของโรงสีเหลียงเฮงฮวดในปัจจุบัน[4] จนถึง พ.ศ. 2452 จึงย้ายไปตั้งริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ บริเวณปากคลองมหาศร หมู่ที่ 5 ตำบลหนองแขม[4]

ครั้นใน พ.ศ. 2472 ทางการได้ลดฐานะอำเภอหนองแขมลงเป็น กิ่งอำเภอหนองแขม ขึ้นกับอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะท้องที่ริมคลองภาษีเจริญ (บางส่วน) ของตำบลหนองแขมขึ้นเป็นสุขาภิบาลหนองแขมใน พ.ศ. 2499[5] จนถึง พ.ศ. 2501 เมื่อสภาพท้องที่มีความเจริญมากขึ้น จึงมีพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง อำเภอหนองแขม ขึ้นอีกครั้ง[6] ประกอบด้วยเขตการปกครองย่อย 3 ตำบล เนื่องจากตำบลหลักหนึ่งซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบางแคนั้น[4] ยังคงอยู่ในการปกครองของอำเภอภาษีเจริญ[7]

จนกระทั่งมีประกาศคณะปฏิวัติให้รวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนครเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรีใน พ.ศ. 2514[8] และเปลี่ยนรูปแบบเป็นกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2515[9] โดยยุบเลิกการปกครองท้องถิ่นแบบสุขาภิบาล รวมทั้งเปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ อำเภอหนองแขมจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตหนองแขม และใน พ.ศ. 2521 ได้ย้ายที่ว่าการเขตจากปากคลองมหาศร มาตั้งที่หมู่ที่ 7 แขวงหนองค้างพลู ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตปัจจุบัน[4]

ต่อมาใน พ.ศ. 2541 กระทรวงมหาดไทยได้แยกแขวงหลักสอง (เฉพาะทางฟากตะวันออกของซอยเพชรเกษม 69 และถนนบางบอน 3) ไปจัดตั้งเป็นเขตบางแค[10] ส่วนพื้นที่แขวงหลักสองเดิม (ที่อยู่ทางฟากตะวันตก) ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของแขวงหนองค้างพลูและแขวงหนองแขม[11]

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

เขตหนองแขมแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 2 แขวง ได้แก่

หมาย
เลข
อักษรไทย อักษรโรมัน พื้นที่
(ตร.กม.)
จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2566)
ความหนาแน่นประชากร
(ธันวาคม 2566)
แผนที่
2.
หนองแขม Nong Khaem
18.789
80,485
4,283.62
แผนที่
3.
หนองค้างพลู Nong Khang Phlu
17.036
74,639
4,381.25
ทั้งหมด
35.825
155,124
4,330.05

หมายเลขที่หายไปปัจจุบันคือแขวงในเขตบางแค

ประชากร[แก้]

การคมนาคม[แก้]

ถนนทวีวัฒนา

ทางสายหลักในพื้นที่เขตหนองแขม ได้แก่

ส่วนทางสายรองและทางลัด ได้แก่

สถานที่สำคัญ ศูนย์ศึกษา และแหล่งท่องเที่ยว[แก้]

  • วัดหนองแขม

วัดหนองแขมสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2413 เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของบุพการี สถานศึกษาและบำเพ็ญบุญของชาวบ้านหัวย่าน จังหวัดนครปฐม ที่อพยพมาอยู่แถบหนองแขม ตั้งชื่อว่า "วัดหนองแขม" เนื่องจากมีหนองน้ำปกคลุมด้วยต้นแขมอยู่ใกล้วัด และต่อมากลายเป็นชื่อตำบลหนองแขม สิ่งสำคัญในวัดหนองแขมได้แก่ พระมหากัจจายนะ (หลวงพ่อโต) รูปหล่อพระครูวิทยาวรคุณ (หลวงพ่อพร) ขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468 และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานในมณฑป โดยมีการจัดงานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ในช่วงเดือนสามของทุกปี

  • วัดไผ่เลี้ยง

วัดไผ่เลี้ยงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยมีแม่เลี้ยง และแม่ไผ่ เป็นผู้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด เดิมที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีพระมหายงยุทธ อุปคุตฺโต (สุขเงิน) เป็นประธานสงฆ์ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสจนกระทั่งปัจจุบัน

  • วัดศรีนวลธรรมวิมล

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2523 พระครูสุนทรธรรมวิมล หรือ หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร ได้เดินทางมาปักกลดใต้ต้นไม้ริมหนองน้ำใหญ่ในอำเภอหนองแขมเพื่อปฏิบัติภาวนาบำเพ็ญธรรม ต่อมานายธนิตย์ มาศรีนวล ชาวบ้านในละแวกนั้นมีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินให้จำนวน 44 ไร่ โดยแบ่งเป็นเนื้อที่ของวัด 26 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา เป็นที่สร้างวัดชื่อ "วัดศรีนวลธรรมวิมล" ตามชื่อสกุลของผู้บริจาค โดยที่ดินส่วนหนึ่งได้ก่อสร้างเป็นโรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล ปัจจุบัน พระครูสุนทรธรรมวิมล เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีนวลธรรมวิมล และเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ชายขอบของอำเภอหนองแขมเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น ท่านเป็นผู้บริจาคและก่อสร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และได้บริจาคที่ดินและก่อสร้างโรงเรียนฝึกอาชีพ กรุงเทพมหานครเพื่อสร้างเสริมทักษะให้กับบุคคลทั่วไปให้มีอาชีพทำกินอย่างสุจริต

  • วัดทองเนียม

วัดทองเนียม แขวงหนองแขม เดิมที่ดินผืนนี้เป็นพื้นที่ทำสวนและทำบ่อกุ้งมาก่อน โดยมีนายม้าน-นางเหว่า ทองเนียม เจ้าของที่ดิน ได้มีความประสงค์จะอุทิศที่ดินดังกล่าวทำเป็นสาธารณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม จึงได้อุทิศที่ดินผืนนี้เพื่อจัดสร้างเป็นวัดในบวรพระพุทธศาสนาให้ประชาชนทั่วไปในเขตหนองแขมและบริเวณใกล้เคียงได้บำเพ็ญบุญและปฏิบัติธรรม ซึ่งในวันที่ 17 มีนาคม 2535 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า "วัดทองเนียม" ตามชื่อสกุลของนาย ม้าน-นางเหว่า ทองเนียมอยู่ในสังกัดคณะธรรมยุตมีพื้นที่จำนวน 6 ไร่ 3 งาน

  • วัดหลักสาม

วัดหลักสาม เดิมชื่อ สำนักสงฆ์พระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ แขวงหนองแขม พ.ศ. 2515 นายชวลิต เงินล้าน กับเพื่อน ได้มีจิตศรัทธาตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น มีเจ้าอาวาสองค์แรก คือ พระครูสังฆรักษ์แก้ว สัจจวโร วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคม ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า "วัดหลักสาม" โดยมีพระครูสังฆรักษ์แก้ว สัจจวโร เป็นเจ้าอาวาส

  • วัดอุดมรังสี

เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2501 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 เกี่ยวกับนามวัดใช้คำว่า "อุดม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนามสกุลผู้สร้างวัด และถวายที่ดินให้ ประกอบกับคำว่า "รังสี" หมายถึง วัดอันเป็นแดนให้รัศมี หรือแสงสว่างมาก วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ได้ประกอบพิธีผูกพันธสีมาเมื่อ 6 พฤษภาคม 2516 ตั้งอยู่ 11 หมู่ที่ 7 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู มีเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มติดกับถนนเพชรเกษม ใกล้เคียงกับคลองมหาศร การคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะ มีอุโบสถกว้าง 25 เมตร ยาว 35 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2503 กุฎิสงฆ์จำนวน 18 หลัง ศาลาการเปรียญ กว้าง 22 เมตร ยาว 44 เมตร สำหรับปูชนียวัตถุ มีประประธานนามว่า "พระพุทธรังสี" หลวงพ่อขาว และ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รอยพระพุทธบาทจำลอง

  • วัดวงษ์ลาภาราม

ก่อสร้างเมื่อ 31 พ.ค. 2524 โดยการนำของพระเดชพระคุณเทพ สิทธิมุนี (โชดก์) วัดมหาธาตุฯ ประธานฝ่ายสงฆ์ และพันเอก (พิเศษ) สาลี่ ปาลากุล เจ้าของห้างขายยาโพธิพิสากล โอสถ ประธานฝ่ายฆราวาส มีพระจำรัสสุทธิเตโช เป็นผู้สร้าง สำหรับที่ดินในการจัดสร้างวัดครั้งนี้น มีนายแพทย์วินิจ วงษ์ดนตรี และผู้ร่วมสกุลวงษ์ดนตรีท่านอื่นอีก ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 11 ไร่ และทางวัดจัดซื้อเพิ่มเติมอีก จำนวน 19 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 30 ไร่ วัดได้รับประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ได้ชื่อว่า "วัดวงษ์ลาภาราม" ตามสกุลของผู้อุปถัมป์ถวายที่ดิน ที่ตั้ง 6 ซ.108 ถ.เพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร

สวนยอดแขม

สวนยอดแขมเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กพื้นที่ 3 ไร่ 39 ตารางวา ตั้งอยู่บนที่ที่เคยเป็นสถานีสูบน้ำ เป็นจุดที่มีภูมิทัศน์สวยงาม โดยเป็นจุดที่คลองทวีวัฒนาเชื่อมต่อกับคลองภาษีเจริญ ต่อมาสถานีสูบน้ำแห่งนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่สถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ จึงกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ทางกรุงเทพมหานครจึงทำการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ สวนนันทนาการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้พื้นที่ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่มาของชื่อสวนยอดแขมได้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นายยอด อ่อนโอภาส นายอำเภอคนแรกของเขตหนองแขม ประกอบกับชื่อเขตซึ่งแต่เดิมพื้นที่ในบริเวณนี้มีต้นแขม (Phragmites karka) ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำเป็นจำนวนมาก

  • สวนพุทธรักษ์

สวนพุทธรักษ์ ตั้งอยู่ที่ซอยเพชรเกษม 77 ตรงข้ามไทยทีวีสีช่อง 3 มีพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 64.33 ตารางวา เดิมสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา มีการปลูกต้นไม้ยืนต้น ไม้ประดับ และยังใช้เป็นสถานที่จัดงาน ลานคนเมือง กิจกรรมของสำนักงานเขต และปัจจุบันได้สร้างสวนสุขภาพ มีลู่วิ่งออกกำลังกาย ลานแอโรบิค ลานกีฬา และในอนาคต จะมีการปลูกต้นไม้ดัดเป็นรูปสัตว์

  • ต้นไม้ประดิษฐ์

ต้นไม้ประดิษฐ์ ตั้งอยู่ที่ 44/37 หมู่ที่ 10 ชุมชนประดิษฐ์เจริญ ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ แขวงหนองแขม แต่เดิมเจ้าของคือ คุณสมฤทัย น้อยเศรษฐ์ มีอาชีพทำกระเป๋าส่งลูกค้า พอดีไปเจอต้นไม้ประดิษฐ์ที่วางขายตามห้างเห็นว่าสวยดีและแปลกตาดี คิดว่าน่าจะทำได้ จึงลองซื้อมาเป็นตัวอย่าง และก็เริ่มทำส่งลูกค้ามาเรื่อยๆ ประมาณ 1 ปีแล้ว ตอนนี้การทำต้นไม้ประดิษฐ์ ก็เลยกลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว และเป็นรายได้เสริมของคนในชุมชน เพราะการทำต้นไม้ประดิษฐ์ขั้นตอนเยอะมาก จำเป็นต้องจ้างคนในชุมชน ทำให้มีรายได้เสริมไม่ต้องอยู่บ้านเฉย ๆ สนใจจะซื้อไปขายหรือไปตกแต่งบ้าน ซึ่งจำหน่ายในราคาถูก

  • อู่เรือจิ๋ว อนันต์ชัย

เรือไทยจำลองเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของเขตหนองแขมที่เกิดขึ้นจากความคิดของคุณอนันต์ชัย ชุนนิตินันท์ สถาปนิกหนุ่มชาวกรุงผู้มีความชอบและสนใจเรือ จึงได้ประดิษฐ์เรือไทยโบราณที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เช่น เรือป๊าบ เรือฉลอม เรือเอี๊ยมจุ๊น เรือหมู เรือเข็ม เรือฉลอมท้ายญวน เรือมาดเก๋ง เรือบด เรือหางแมงป่อง เรือผีหลอก เรือแหวด เรือสำปั้น เรือกระแชง เรืออีโปง ฯลฯ ในรูปแบบเรือจำลองขนาดจิ๋วฝีมือประณีต

  • ผักปลอดสารพิษ

ผักปลอดสารพิษ ดร.อิสระ บุญยัง (สวนผักปลอดสารพิษวัดศรีนวล) เยื้องบริเวณวัดศรีนวลธรรมวิมล ปรากฏ "สวนผักศรีนวล" แปลงผักบนเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อวดตัวเป็นแถวแนวได้ระเบียบ บางแปลงอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมดิน แต่แปลงส่วนใหญ่กำลังให้ผลผลิตที่งอกงามหลากหลายสายพันธุ์พืช ทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักขมไทย ผักกาดหอม คึ่นฉ่าย และอีกหลายชนิด รวมไปถึงผักพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ผักหวาน ขี้เหล็ก ใบยอ ที่ปลูกกระจายตัวไปตามแนวคันร่องริมรั้ว คนงานนับสิบชีวิตทำหน้าที่ของเขาด้วยความตั้งใจ คนงานชายส่วนหนึ่งลงมือเตรียมดิน ในขณะที่คนงานหญิงเลือกเก็บผักจากแปลงผักที่เติบงามจนได้ขนาดแล้วลำเลียงไปยังมุมหนึ่งของศาลาริมน้ำ ผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดสุดท้ายแล้ว ผลผลิตสีเขียวทั้งหลายก็อยู่ในบรรจภัณฑ์พลาสติกใส ภายใต้ชื่อทางการค้า "ระเบียงผัก" ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคผักปลอดสารพิษกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

  • สวนกล้วยไม้ในซอยเพชรเกษม 110

เขตหนองแขมถือเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แม้ปัจจุบันปริมาณพื้นที่การปลูกเลี้ยงจะลดน้อยลงไปมากเนื่องจากสภาวะน้ำและอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่ยังคงเหลือพื้นที่สวนกล้วยไม้อยู่ไม่น้อย อย่างเช่นสวนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ในซอยเพชรเกษม 110 ซึ่งถือเป็นสวนขนาดใหญ่ที่สุดของเขตหนองแขม ที่เกิดจากกลุ่มชาวสวนผักเดิมหันมาปลูกกล้วยไม้กันอย่างกว้าง ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่ย้ายเข้ามาปลูกกล้วยไม้กันที่นี่ กล้วยไม้ในซอยเพชรเกษม 110 แห่งนี้สวนใหญ่จะเป็นพันธุ์โจแดงอย่างที่ใช้ไหว้พระกันโดยทั่วไป

  • สวนกล้วยไม้ขาวดิลก

"ขาวดิลก" หรือ "ไวท์ดิลก" เป็นกล้วยไม้พันธุ์ขาวจากสวนของคุณสมชาย คุณะดิลก ที่ได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดกล้วยไม้โลกในงาน 16th The World Orchid Conference ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2541 ขาวดิลกเป็นกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ลูกผสม มีสีขาวสะอาด สวยงาม และคงทน เนื่องจากมีก้านแข็งแรง โคนค่อนข้างใหญ่ ทำให้ดูดน้ำได้ดี เมื่อนำมาปักแจกัน ดอกตูมจะค่อยๆ บาน อยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ โดยที่กลีบดอกยังคงแข็ง ก้านยังคงตั้งตรง ช่อที่สมบูรณ์จะให้ดอกขนาดซูเปอร์ได้มากถึง 18-20 ดอก นอกจากนั้นยังเป็นไม้ที่ให้ดอกผลยาวนานและสม่ำเสมอถึง 5 ปี

  • ฟาร์มจระเข้

ฟาร์มจระเข้ คุณไพฑูรย์ ทวีสุข ตั้งอยู่เลขที่ 6/5 หมู่ที่ 2 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ แขวงหนองแขม ประกอบอาชีพเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้เพื่อจำหน่ายและขยายพันธุ์สัตว์

ตั้งอยู่ติดกับถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

สถานที่ราชการ[แก้]

  • สำนักงานเขตหนองแขม

โดยปี พ.ศ. 2521 เขตหนองแขมได้ย้ายที่ทำการเดิมจากปากคลองมหาศรไปอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู ซึ่งได้รับการบริจาคที่ดินจำนวน 20 ไร่จากนายล้อม ฟักอุดม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานเขตหนองแขมมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

  • สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม

สถานีตำรวจนครบาลหนองแขมเดิมตั้งอยู่ริมคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ เป็นอาคารชั้นเดียว จะสร้างเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เพียงแต่ทราบว่ามีหัวหน้าสถานีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2448 การคมนาคมสมัยก่อนจะใช้คลองเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างถนนมากขึ้น ประชาชนก็เปลี่ยนไปอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรรและตามริมถนนต่าง ๆ สถานีตำรวจซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเริ่มให้บริการประชาชนไม่สะดวก สถานที่ราชการก็คับแคบ ต้องต่อเติมอาคารด้านข้างสถานีเก่าเป็นห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม และทางด้านหลังสถานี สร้างเป็นห้องแถวสำหรับเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ ต่อมา ปี พ.ศ. 2520 กรมตำรวจได้จัดซื้อที่ดินริมถนนหนองแขม-บางบอน จำนวน 3 ไร่ จากนายชววุฒิสุข เจ้าของที่ดิน และในเวลาเดียวกัน เจ้าของที่ดินรายนี้ได้บริจาคเพิ่มเติมให้อีก 1 ไร่ โดยไม่คิดมูลค่า รวมที่ดิน 4 ไร่ เพื่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่

พ.ศ. 2523 กรมตำรวจได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารที่พักอาศัย 5 ชั้น จำนวน 40 หลัง สำหรับเป็นที่พักของข้าราชการตำรวจ

ปี พ.ศ. 2529 ได้จัดสร้างสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมหลังใหม่ (อาคารปัจจุบัน) 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ได้ย้ายที่ทำการจากอาคารหลังเก่า มาดำเนินการในอาคารหลังใหม่จนกระทั่งปัจจุบัน

  • สถานีตำรวจนครบาลหนองค้างพลู

สถานีตำรวจนครบาลหนองค้างพลู ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่ปกครองของหน่วยงานราชการในกรมตำรวจ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2539 ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบิกษา จึงนับได้ว่าสถานีตำรวจนครบาลหนองค้างพลูเริ่มเปิดบริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา โดยแยกพื้นที่บางส่วนของสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมออกมา เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อราชการ อีกทั้งการแบ่งพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพ ในการดูแล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ได้ทั่วถึง

สถานศึกษา[แก้]

สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ได้แก่

สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ระดับประถม/มัธยมศึกษา) ได้แก่

สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ระดับอาชีวศึกษา) ได้แก่

สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โรงพยาบาล สาธารณสุข[แก้]

  • โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ

ที่อยู่ 6 หมู่ที่ 4 ซอยหนองแขม-วัดศรีนวล 1 ถนนหนองแขม-วัดศรีนวล แขวงหนองแขม (สุดสายรถเมล์ปรับอากาศสาย 80) เป็นโรงพยาบาลที่เกิดจากความศรัทธาและร่วมมือร่วมใจจากประชาชน โดยเฉพาะพระครูสุนทรธรรมวิมล (หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ) โดยได้รับการสนับสนุนบริจาคที่ดินจำนวน 6 ไร่ 72 ตารางวา จากคุณเสาวนีย์ วิไลจิตต์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน วัสดุก่อสร้าง และอื่นๆ ให้ตั้งเป็นโรงพยาบาลและเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2532 จากนั้นเป็นต้นมาโรงพยาบาลก็ได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม เครื่องมืออุปกรณ์ในการให้บริการ รวมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล จนปัจจุบันกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม

  • โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม (รพ.ศรีวิชัย 2 หนองแขม)

ที่อยู่ 456-456/8 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางในเครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล (HA) ให้บริการรักษาพยาบาลตลอด 24 ชม. โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์โรคกระดูกและข้อ มีโรงพยาบาลในกลุ่ม คือ โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย และโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร กำลังขยายงานเพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

  • ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระ อุทิศ

เลขที่ 40 หมู่ที่ 1 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ แขวงหนองแขม เขตหนองแขม

อ้างอิง[แก้]

  1. ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร. สถิติจำนวนประชากรและบ้านในกรุงเทพมหานคร จำแนกตามรายแขวงและเขต ณ เดือน ธันวาคม 2550. เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 21 กันยายน 2009.
  2. สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรและบ้าน - จำนวนประชากรแยกรายอายุ". สืบค้น 26 มกราคม 2567.
  3. ThaiTambon.com. "ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว แขวงหนองแขม เขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร" เก็บถาวร 2012-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 6 ตุลาคม 2009.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 สำนักงานเขตหนองแขม. "ประวัติความเป็นมา" [ม.ป.ป.]. สืบค้น 8 มิถุนายน 2023.
  5. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหนองแขม กิ่งอำเภอหนองแขม อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี. เล่ม 73 ตอนที่ 83 ง ฉบับพิเศษ. หน้า 27–28. 15 ตุลาคม 2499.
  6. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอกระสัง อำเภอกระนวน อำเภอบางกอกใหญ่ อำเภอขุนหาร อำเภอพนา อำเภอปากช่อง อำเภอวังเหนือ อำเภอวังชิ้น อำเภอแม่ทา อำเภอหนองหมู อำเภอสระแก้ว อำเภออมก๋อย อำเภอบางซ้าย อำเภอทับสะแก อำเภอบุณฑริก อำเภอลานสะกา อำเภอจอมบึง อำเภอท่ายาง อำเภอสามเงา อำเภอฟากท่า อำเภอบ้านเขว้า อำเภอชานุมาน อำเภอแม่พริก อำเภอท่าสองยาง อำเภอสะเมิง อำเภอหนองแขม และอำเภอพระแสง พ.ศ. ๒๕๐๑. เล่ม 75 ตอนที่ 55 ก. หน้า 321–327. 22 กรกฎาคม 2501.
  7. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยุบกิ่งอำเภอ เปลี่ยนชื่อและย้ายอำเภอกับโอนตำบล. เล่ม 47 ก. หน้า 226–228. 19 ตุลาคม 2473.
  8. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ กำหนดให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นหนึ่งจังหวัด เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี). เล่ม 88 ตอนที่ 144 ก ฉบับพิเศษ. หน้า 816–824. 21 ธันวาคม 2514.
  9. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ให้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการ ส่วนราชการ และแบ่งขอบเขตท้องที่การปกครอง ในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี). เล่ม 89 ตอนที่ 190 ก ฉบับพิเศษ. หน้า 187–201. 13 ธันวาคม 2515.
  10. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตหนองแขม เขตภาษีเจริญ และตั้งเขตบางแค กรุงเทพมหานคร. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 108 ง. หน้า 44–50. 18 พฤศจิกายน 2540.
  11. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงหนองค้างพลู และแขวงหนองแขม เขตหนองแขม. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 121 ง. หน้า 37–41. 24 ธันวาคม 2540.
  12. สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากรและบ้าน." 2013. สืบค้น 3 เมษายน 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]