พัลลภ ปิ่นมณี
พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี ม.ป.ช., ม.ว.ม. | |
---|---|
![]() | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 |
พรรค | พรรคเพื่อไทย |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น |
จปร.7 |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า |
อาชีพ | ทหารบก, นักการเมือง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ![]() |
สังกัด | กองทัพบก |
ประจำการ | พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2539 |
ยศ | ![]() |
การยุทธ์ | สงครามเวียดนาม |
พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษา พรรคเพื่อไทย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)[1] อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ฝ่ายการเมือง (กอ.รมน.) และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ประวัติ[แก้]
พัลลภ เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีชื่อเดิมว่า อำนาจ ปิ่นมณี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร แล้วเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก รุ่นที่ 14 และจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.7 รุ่นเดียวกับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง, พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร, พันเอก (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 49
ภารกิจในประเทศลาวและเวียดนาม[แก้]
ปี พ.ศ. 2508 พล.อ.พัลลภ สมัครเข้าเป็นหัวหน้าชุดสตาร์ทีมหรือที่เรียกว่า Special Force เข้าไปปฏิบัติการลับในประเทศลาว และโดยได้เป็นหัวหน้าทีมภารกิจนอกราชการ ลอบสังหารและภารกิจกองโจรในสงครามเวียดนาม โดยในทีมมี 6 คน ทุกคนต้องลาออกจากราชการก่อน ภารกิจคือซุ่มยิงนายทหาร วางระเบิดเส้นทางลำเลียง ตัดกำลังข้าศึกทุกรูปแบบ ร่วมกับทหารลาว ในการโจมตีเวียดนาม
รวมทั้งสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวด้วย[2]
ก่อการปฏิวัติและรัฐประหาร[แก้]
ในปี พ.ศ. 2524 ในเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายหรือ กบฏยังเติร์ก พล.อ.พัลลภในตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 19 อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี (จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน) เป็นผู้นำกำลังรถถังกว่า 100 คัน และทหาร 4 กองพัน คือ 3 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ จาก อำเภออรัญประเทศ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ หนีไปอยู่ประเทศลาว ถูกจับขังคุกอยู่นาน 2 เดือน ก่อนที่กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530
นอกจากนี้แล้วในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 พล.อ.พัลลภให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเป็นผู้นำในการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเอง รวมทั้งยังเคยไล่ล่าเอาชีวิต พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ในยุคที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกด้วย เพราะ พล.อ.พัลลภอ้างว่า พล.อ.อาทิตย์รู้เห็นเป็นใจให้นายทหารรุ่น จปร.5 กลั่นแกล้งตนเอง[3]
และในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น พล.อ.พัลลภ เป็นบุคคลหนึ่งที่ทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ติดต่อเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาด้วยในคืนวันก่อการ ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน[4]
กรณีกรือเซะ[แก้]
ในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่ทางทหารไทยได้สังหารผู้ก่อความไม่สงบที่หลบไปซ่อนอยู่ในมัสยิดเสียชีวิตทั้งหมด 33 ศพนั้น พล.อ.พัลลภ ในฐานะผู้อำนวยการเหตุการณ์ครั้งนั้นถูกมองว่ากระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งต่อมาทาง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ออกมาแสดงท่าทีปกป้องการทำหน้าที่ครั้งนี้ของ พล.อ.พัลลภ และได้ให้ฉายา พล.อ.พัลลภว่า"แมคอาเทอร์เมืองไทย"[5][6]
กรณีคาร์บอมบ์[แก้]
ในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทยเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2549 ในกรณีคาร์บอมบ์รถยนต์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 รถคันหนึ่งซึ่งขนวัตถุระเบิดกว่า 67 กิโลกรัมได้หยุดบริเวณใกล้ที่พักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเขตธนบุรี โดยมี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อดีตคนขับรถส่วนตัวของเขาเป็นพลขับ โดยการสืบสวนของตำรวจพบว่า รถคนดังกล่าวได้ออกจากสำนักงานใหญ่ของ กอ.รมน. เมื่อเช้าวันเดียวกัน[7]
พล.อ.พัลลภ ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่า "ถ้าผมทำ นายกฯ หนีไม่พ้นผมหรอก..."[8][9] และกล่าวอ้างว่า "วัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการขนส่ง ไม่ได้เก็บรวบรวมมาจุดระเบิด"[8] ในขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแผนสมคบคิดของรัฐบาล[10]
ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกจับกุมตัว และ พล.อ.พัลลภ ถูกปลดออกจากตำแหน่งในทันที ในภายหลังได้มีการจับกุมนายทหารเพิ่มอีก 5 นาย เนื่องจากสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง[11] แต่นายทหาร 3 นาย รวมทั้ง ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกปล่อยตัว ภายหลังการก่อรัฐประหารในเดือนกันยายน[12]
ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลทหารมีคำสั่ง ลงโทษ พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ จำคุก 6 ปี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ จำคุก 4 ปีหกเดือน[13] โดย จ.ส.อ.ชาคริต จันทระ เป็นพยานในคดีนี้
บทบาทในวิกฤตการณ์การเมือง[แก้]
บทบาทของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกในระหว่างที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 นั้น หลังจากที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯได้บุกยึดทำเนียบรัฐบาลแล้วในวันที่ 26 สิงหาคม มีความเป็นไปได้ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำของพันธมิตรฯอาจถูกจับ ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.พัลลภได้กล่าวไว้ว่า หาก พล.ต.จำลอง ถูกจับเมื่อใด ตนจะขอเป็นแกนนำรุ่นที่ 2 เอง โดยทั้งหมดนี้มิได้เคยสัญญากันมาก่อน แต่เป็นสัญญาใจระหว่างเพื่อน[14]
แต่หลังจากนั้นมา พล.อ.พัลลภก็มีท่าทีเปลี่ยนไป โดยหันไปสนับสนุนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีข่าวคราวว่าได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 พล.อ.พัลลภ ได้เปิดแถลงข่าวว่า จะขอจัดตั้งกองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นต่อสู้ แทนที่จะเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปก.) โดยจะให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ว่าแนวคิดนี้ได้ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากสังคมหรือแม้แต่ฝ่ายแนวร่วมของนปก.เองก็ตาม เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นเหตุให้ พล.อ.พัลลภมีวิวาทะกับนายจตุพร และได้ประกาศขอยุติบทบาทในส่วนนี้ไป[15]
ในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2557 เขามีบทบาทในการนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดรับสมัครสมาชิกเป็นการ์ดอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ ใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคอีสานที่ จ.มหาสารคาม[16]
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 34[17] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประวัติการทำงาน[แก้]
- ผบ.หมวดอาวุธ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
- ผบ.กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
- ผบ.กองร้อย กรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- ผบ.กองพันที่ 2 กรมทหารราบ ที่ 19 กองพลที่ 9 จ.กาญจนบุรี
- ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก
- ผบ.กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 จ.นครศรีธรรมราช
- ผบ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
- ผบ.กรมทหารราบที่ 19 กองพลที่ 9 จ.กาญจนบุรี และช่วยราชการที่ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี
- ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2528
- ประจำผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารสูงสุดปี พ.ศ. 2535 และปีเดียวกันได้ย้ายไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด
- ที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี พ.ศ. 2538 พร้อมตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด ก่อนลาออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2539
ตำแหน่งทางการเมือง[แก้]
- สมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2522 และปี พ.ศ. 2524
- ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และลาออกเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2545
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
- ผอ.กอ.สสส.จชต. รับผิดชอบบัญชาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ รองผู้อำนวยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และถูกคำสั่งให้ออกตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 160/2549
- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา)
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2539
- สมาชิกแบบตลอดชีพพรรคเพื่อไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม (ช.ส.) (ประดับเปลวระเบิด)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ –
เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 1 (ส.ช.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ –
เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 146/2554 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
- ↑ ประวัติพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ตอนที่1[ลิงก์เสีย]
- ↑ "คิดแบบ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี จาก"ลาว"ถึง"พฤษภาทมิฬ" และล่าสังหาร"พล.อ.อาทิตย์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-01. สืบค้นเมื่อ 2010-02-18.
- ↑ ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย โดย วาสนา นาน่วม (สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพมหานคร, เมษายน พ.ศ. 2551) ISBN 9789746038294
- ↑ "พัลลภ" ยัน ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว!!
- ↑ ล้วงตับการเมืองสุดสัปดาห์-ความฝันของพัลลภ
- ↑ The Nation. It is not a hoax : police spokesman เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
- ↑ 8.0 8.1 The Nation. 'If I was behind it, PM would be dead'.เก็บถาวร 2011-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
- ↑ The Nation. Army officer arrested in alleged car bomb attempt is Pallop's driver: police เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
- ↑ The Nation. 'Car bomb' a govt ploy, ex-security chief alleges เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
- ↑ Jonathan Head. Thai arrests over Thaksin 'plot'. BBC. 7 September 2006
- ↑ The Nation. Car-bomb suspects get bail เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 30 September 2006
- ↑ ศาลทหารยกฟ้องคดีคาร์บอมบ์ลอบฆ่าทักษิณ
- ↑ พัลลภเผยสัญญาใจพร้อมนำม็อบแทนหากจำลองถูกจับกุม
- ↑ ***พัลลภ*** ประกาศยุติบทบาท ยันกองทัพประชาชนดีกว่าเสื้อแดง!!
- ↑ ผ่าองค์กร'อพปช.'กำเนิด'แดงบ้านริมคลอง'[ลิงก์เสีย]
- ↑ เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- ผมสร้างตัวจากการรับจ้างรบ บทสัมภาษณ์ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี
- คิดแบบ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี จาก"ลาว"ถึง"พฤษภาทมิฬ" และล่าสังหาร"พล.อ.อาทิตย์" จาก มติชนสุดสัปดาห์
- 'ไอ้นาจ' นักรบชาติหิน เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เนชั่นสุดสัปดาห์
- พท.ปูดชื่อ 'พัลลภ' รับคุมภาคกลางลุยเลือกตั้งสมัยหน้า จากไทยรัฐ
- พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี คิดเช่น เห็นชาด 14-7-2018
- พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
- สมาชิกเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 1
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2479
- ทหารบกชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอสามพราน
- บุคคลจากโรงเรียนอำนวยศิลป์
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคไทยรักไทย
- พรรคเพื่อแผ่นดิน
- พรรคเพื่อไทย
- สมาชิกวุฒิสภาไทยแบบแต่งตั้ง
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา