ประแสง มงคลศิริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประแสง มงคลศิริ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 มีนาคม พ.ศ. 2505 (62 ปี)
จังหวัดอุทัยธานี
ศาสนาพุทธ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประแสง มงคลศิริ อดีตกรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคไทยรักไทย

ประวัติ[แก้]

ประแสง มงคลศิริ เกิดเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2505 ที่ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เป็นลูกคนที่ 9 จาก 11 คน ของนายเง๊กฮ้อ แซ่อึ้ง กับนางกิมเช็ง มงคลศิริ และเป็นน้องชายของ นายแพทย์ประเสริฐ มงคลศิริ อดีต ส.ส. อุทัยธานี เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนอนุศิษย์วิทยา โรงเรียนอุทัยวิทยาลัย และโรงเรียนเมืองอุทัยธานี เดินทางเข้ามากรุงเทพมหานครขณะมีอายุ 11 ปี มาอยู่อาศัยที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ เรียนต่อมัธยมที่ โรงเรียนทวีธาภิเศก จบปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาสูงสุดปริญญาเอกด้าน Urban Engineering จาก มหาวิทยาลัยโตเกียว ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbusho)

การทำงาน[แก้]

รับราชการ[แก้]

พ.ศ. 2529 หลังจบปริญญาโท เข้ารับราชการประจำที่กรมโยธาธิการ 1 ปี จากนั้นสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยโตเกียว ในปี พ.ศ. 2530 จบปริญญาเอกในปี 2534 กลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเป็นผู้ช่วยคณบดี และได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาตราจารย์ ก่อนลาออกจากราชการในที่สุด

เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมีประสบการณ์ทำงานทางวิชาการและด้านการศึกษากว่า 30 ปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นอาจารย์ประจำที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์[1] เคยเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการวารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร [2] เป็นผู้ชำนาญการประจำ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมาธิการและโฆษกคณะกรรมาธิการ พรบ.การจัดการศึกษาเพื่อผู้พิการ พ.ศ. 2556 วุฒิสภา [3] เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย (ผู้ทรงคุณวุฒิ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ

งานการเมือง[แก้]

ปี พ.ศ. 2544 ได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สังกัดพรรคไทยรักไทย ในพื้นที่บ้านเกิดของตนจังหวัดอุทัยธานี เขต 1 แต่แพ้ให้กับนายธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ จากพรรคชาติไทย ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ เพราะนายธีรพันธ์ถูกใบเหลือง ผลปรากฏว่านายประแสง พลิกกลับมาชนะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก

ปี พ.ศ. 2548 นายประแสง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคไทยรักไทยอีกครั้ง โดยทำหน้าที่ ส.ส.ไปจนถึงปลายปี 2548 กกต.มีประกาศให้ใบเหลืองนายประแสง จึงต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง แต่นายธีรพันธ์ กลับเป็นฝ่ายชนะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แทน

ปี พ.ศ. 2549 มีการยุบสภา ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกตั้งและกกต.ให้การรับรองเป็น ส.ส.อุทัยธานีอีกเป็นสมัยที่ 3 แต่ต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั่วประเทศ ด้วยสาเหตุที่กกต.จัดให้หันคูหากาบัตรออกด้านนอก จากนั้นมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองขับไล่นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร จนมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เขาจึงกลับไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยอีกครั้งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และต่อมาได้เข้าร่วมกับ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยการชักชวนของนายวีระ มุสิกพงศ์เคลื่อนไหวต่อต้านขับไล่คณะรัฐประหาร ณ ท้องสนามหลวง

ปี พ.ศ. 2550 พรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค นายประแสงและอดีตส.ส.พรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่ จึงลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค แต่ถูกข้อกล่าวหาให้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ (ใบแดง) ก่อนการหย่อนบัตรลงคะแนน เนื่องจากใช้ภาพและเสียงของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการหาเสียงโดยประกาศพาทักษิณกลับบ้าน ทั้งๆที่ กกต. ได้มีมติห้ามไว้ก่อนหน้านั้น[4]

ปี 2551-2553 เป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และเคลื่อนไหวร่วมกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับคนเสื้อแดง (Red Shirt) เป็นผู้ประสานงาน 17 จังหวัดภาคเหนือ นำคนเสื้อแดงภาคเหนือเดินทางเข้าร่วม การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ณ สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ แต่ต้องยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.2553 เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าปราบปราม มีผู้เสียชีวิตกว่า 99 ศพ หลังจากยุติการชุมนุม นายประแสง ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ นปช. ปี 2553-2554 แทนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.ซึ่งถูกคุมขังและดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย

ปี 2554 พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไป เขาและอดีตส.ส.ไทยรักไทยและพลังประชาชนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย โดยอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 83 และได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางบุญรื่น ศรีธเรศ) ต่อมาในปี 2555 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช) และปี 2556 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา)

ปลายรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์)[5] ต่อมานายประแสงพร้อมกับนปช.ได้ร่วมคัดค้านการออกกฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง (สุดซอย) ซึ่งมีข้อครหาพรรคเพื่อไทยว่า"ลักหลับ"ลงมติกฎหมายกลางดึกตอนตี 4 เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับนปช.ที่มีนายจตุพร พรหมพันธุ์เป็นประธาน ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติให้ปลดนายประแสงออกจากตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประแสงจึงลาออกจากพรรคเพื่อไทย ต่อมานายกยิ่งลักษณ์ต้องยุบสภาจากเหตุนิรโทษกรรมเหมาเข่งอัปยศ

เมื่อมีการยุบสภา เขาร่วมกับแกนนำนปช.ต่างจังหวัดจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคพลังประชาธิปไตย[6] ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มีการชุมนุมใหญ่ของม๊อบนกหวีด กปปส.ขับไล่นายกยิ่งลักษณ์ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดทางให้มีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายประแสงถูกทหารจับกุมตัวที่เวทีชุมนุมคนเสื้อแดง ถ.อักษะ ถูกคุมขังที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 จ.นครปฐม เมื่อครบ 7 วันตามกฎอัยการศึก จึงได้รับการปล่อยตัว[7]

นายประแสงไปทำธุรกิจการค้าที่ประเทศกัมพูชาอยู่ระยะหนึ่ง และหันไปทำเหมืองแร่ลิกไนต์และบิทูมินัสที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ส่งสินค้าไปกัมพูชา พม่า และไทย เป็นเวลาประมาณ 5 ปีกว่า

กระทั่งในปี 2563 มีการระบาดของโรคโควิด19 ทั่วโลกและอินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน นายประแสงจึงยุติงานเหมืองแร่ที่อินโดนีเซียและเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อดูสถานการณ์ ใช้เวลาว่างเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี

ปี 2564 เข้าร่วมเป็นทีมนโยบาย Better Bangkok ของ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อรศ.ดร.ชัชชาติได้รับเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.2565 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายประแสงเป็นกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ต่อมาคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติ ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ
  2. [1][ลิงก์เสีย]
  3. [2][ลิงก์เสีย]
  4. “ประแสง” จ่อรับใบแดง ติดรูป “แม้ว” หาเสียงเย้ย กกต.[ลิงก์เสีย]
  5. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๔๙๘/๒๕๕๖ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ นางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย)
  6. ‘จิตรา-ประแสง’เปิดพรรคใหม่ ชูรัฐสวัสดิการ ต้านคอรัปชั่น กระจายอำนาจ
  7. [3]
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๗๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕