วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 | |||
---|---|---|---|
การชุมนุมที่ราชดำเนินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 | |||
วันที่ | 31 ตุลาคม 2556 – 22 พฤษภาคม 2557 (7 เดือน 22 วัน) | ||
สถานที่ | กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดของประเทศไทย | ||
สาเหตุ |
| ||
เป้าหมาย |
| ||
วิธีการ |
| ||
ผล |
| ||
คู่ขัดแย้ง | |||
| |||
ผู้นำ | |||
| |||
ความเสียหาย | |||
เสียชีวิต | 28 คน[8] (ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557) | ||
บาดเจ็บ | 827 คน[7] (จนถึง 26 พฤษภาคม 2557) | ||
ถูกจับกุม | 12 คน[9][10] (จนถึง 16 มกราคม 2557) |
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 เป็นวิกฤตการณ์การเมืองประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2557 จัดระเบียบโดย กปปส. กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำ การประท้วงนี้ลงเอยด้วยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง รัฐประหาร และการสถาปนาคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง
เป้าหมายหลักของการประท้วง คือ การขจัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย และการตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูประบบการเมือง[11] ผู้ประท้วงมองว่า พันตำรวจโททักษิณทุจริตอย่างมากและทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเสียหาย[12][13] แม้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ เนื่องจากโครงการสังคมปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจของเขา พรรคการเมืองซึ่งเป็นพันธมิตรของพันตำรวจโททักษิณชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 นักวิเคราะห์และนักวิจารณ์ยังมองว่าประเด็นอื่น เช่น การสืบราชสันตติวงศ์[14][15][16] ความแตกแยกเมือง-ชนบทหรือเหนือ-ใต้[17][18] ความเหลื่อมล้ำทางสังคม[19] ระบบข้าราชการประจำที่รวมศูนย์เกินไป[20][21] อิทธิพลของพระมหากษัตริย์และทหารในการเมือง[22][23][24][25] และสถานภาพชนชั้นกลาง[26][27] เป็นปัจจัยเบื้องหลังวิกฤตการณ์นี้
การประท้วงมีสาเหตุมาจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ โดยเสนอในเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งจะนิรโทษกรรมความผิดของทุกฝ่ายย้อนหลังไปถึงปี 2547 แต่ถูกหลายฝ่ายคัดค้าน ฝ่ายหนึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำ และอีกฝ่ายหนึ่งคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคนเสื้อแดงบางส่วน ครั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทว่า การชุมนุมซึ่งนำโดยสุเทพยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการต่อต้านรัฐบาลแทน อีกเหตุการณ์หนึ่ง รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด[2][28] พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[29] วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศาลวินิจฉัยตามนั้น พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธคำวินิจฉัยนี้[30] ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรีขอถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืนจากพระมหากษัตริย์[31]
ฝ่าย นปช. จัดชุมนุมตอบโต้ขึ้นที่ราชมังคลากีฬาสถานตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ระหว่างนั้น ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมฝ่ายสุเทพเข้ายึดสถานที่ราชการเพื่อบีบให้ปิดทำการ มีเหตุรุนแรงที่สำคัญคือ การปะทะกันบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงตลอดทั้งวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงเช้าวันที่ 1 ธันวาคม มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บ 57 คน[32][33] การยกระดับการชุมนุมในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจเป็นเวลาสองวัน ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา และหัวฉีดน้ำ เพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าทำเนียบรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บ 119 คน[34] จนวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ตำรวจจึงเปิดให้ผู้ชุมนุมเข้าไปได้ เพื่อสงบศึกในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จากนั้น ผู้ชุมนุมจึงชุมนุมกันต่อ ครั้นวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ส.ส. ประชาธิปัตย์ทั้ง 153 คนลาออก และในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่สุเทพและผู้ชุมนุมปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนเสียก่อน กลุ่มผู้ประท้วงจึงถูกวิจารณ์ว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย [35][36]
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 นายสุเทพนัดชุมนุมปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครเพื่อกดดันรัฐบาล[37][38] นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและอาวุธเป็นระยะ ๆ[39][40][41][42]นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นำผู้ชุมนุมปิดกระทรวงพลังงาน ต่อมามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ[43] วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในกรุงเทพมหานครและภาคใต้ ทำให้การเลือกตั้งเสียระบบ[44] ผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557 ว่า การเลือกตั้งต้องดำเนินตามกำหนดต่อไป ท้ายที่สุด มีผู้มาเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 46.79[45][46]
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สุเทพประกาศยุติการปิดถนนในกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มีนาคม และรวมเวทีการชุมนุมทั้งหมดไปอยู่ที่สวนลุมพินี[47] วันที่ 18 มีนาคม 2557 คณะรัฐมนตรีจึงยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกลับไปใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น[48]
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[49][50] แกนนำผู้ชุมนุมยืนยันว่า จะทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ให้มีผลโมฆะ[51][52]
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากตำแหน่ง[53] วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 3 นาฬิกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[54] อีกสองวันต่อมา กองทัพรัฐประหารรัฐบาลรักษาการ และให้ผู้ชุมนุมสองฝ่ายยุติการชุมนุม
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ | |
---|---|
4 พ.ย. 2556 | เริ่มชุมนุม |
11 พ.ย. 2556 | วุฒิสภาปฏิเสธร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เป็นเอกฉันท์ |
20 พ.ย. 2556 | ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ |
25 พ.ย. 2556 | - ผู้ชุมนุมเริ่มบุดยึดสถานที่ราชการ - นายกรัฐมนตรีแถลงเพิ่มพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ. มั่นคงฯ |
30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2556 | เกิดเหตุปะทะที่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง |
1-3 ธ.ค. 2556 | เกิดเหตุปะทะใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล |
9 ธ.ค. 2556 | นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร โดยจัดการเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 |
26 ธ.ค. 2556 | เกิดการปะทะที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง |
17 ม.ค. 2557 | มีผู้ขว้างระเบิดลูกเกลี้ยง[55] ใส่ผู้ชุมนุมที่เดินขบวนถึงถนนบรรทัดทอง บาดเจ็บ 41 ราย[56] |
26 ม.ค. 2557 | วันเลือกตั้งล่วงหน้า - กปปส. ขัดขวางผู้ไปใช้สิทธิ - เกิดเหตุปะทะใกล้ที่เลือกตั้งล่วงหน้า แกนนำ กปท. ถูกยิงเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 12 คน[57] |
2 ก.พ. 2557 | วันเลือกตั้งทั่วไป - ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดินแดงชุมนุมประท้วงกลุ่ม กปปส. ที่ปิดเขตดินแดง[58] |
5 ก.พ. 2557 | ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. 19 คน ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน[59] |
18 ก.พ. 2557 | ตำรวจและผู้ชุมนุมปะทะกันบริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีผู้บาดเจ็บ 71 คน และเสียชีวิต 5 คน[60] |
21 มี.ค. 2557 | ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ |
7 พ.ค. 2557 | ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 9 คน พ้นจากตำแหน่ง[61] |
20 พ.ค. 2557 | กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึก |
22 พ.ค. 2557 | กองทัพรัฐประหาร; กปปส. และ นปช. ยุติการชุมนุม |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
ชนวนเหตุ
|
พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง
|
องค์กร กลุ่มบุคคล ที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
สาเหตุ
[แก้]ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
[แก้]วรชัย เหมะ และ นิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ นปช. เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... (ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติวาระแรกในเดือนสิงหาคม 2556[62] ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีบุคคลสำคัญ เช่น ถาวร เสนเนียม, สนธิ บุญยรัตนกลิน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น[63]
กลุ่มต่อต้านทักษิณที่เรียกว่า "กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ตลอดจนพรรคประชาธิปัตย์ จัดการประท้วงบนท้องถนนก่อนสมัยประชุมรัฐสภา แต่ไม่ได้รับแรงสนับสนุน[64] ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณา 35 คน ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายังสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม คณะกรรมาธิการส่งร่างกฎหมายที่ได้รับการทบทวนแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556[65] ร่างกฎหมายดังกล่าวเปลี่ยนจากเดิมที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุม ไม่รวมถึงแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการ ซึ่งรวมถึงผู้นำรัฐบาลและทหาร เป็น "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ซึ่งรวมการนิรโทษกรรมให้ทั้งแกนนำการชุมนุม และผู้สั่งการด้วย ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรมนี้รวมข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ ตลอดจนข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์และสุเทพด้วย ต่อมา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 นาย นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาได้มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ 141 เสียง ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ถูกยับยั้งไว้ 180 วัน[66]
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่าด้วยที่มาของวุฒิสภา
[แก้]เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเปลี่ยนรูปแบบของวุฒิสภาจากที่สมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง มาเป็นสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนก่อนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[67][68]
วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕–๑๘/๒๕๕๖
วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ทั้งกระบวนการและเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องกระบวนการ ศาลพิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้นมิได้เป็นฉบับเดียวกับที่เสนอแต่แรก แต่ได้นำร่างที่จัดทำขึ้นใหม่มาพิจารณาในสมัยประชุม ศาลยังพิจารณาว่า การนับระยะเวลาย้อนหลังไปทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียงหนึ่งวันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกเสียงแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เข้าประชุม ในประเด็นเรื่องเนื้อหา ศาลพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเปิดให้ญาติของผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาและจะทำให้วุฒิสภาไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มิได้ห้ามญาติของผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกวุฒิสภาและส่งผลให้สภานิติบัญญัติได้สมญาว่า "สภาผัวเมีย" ศาลยังพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มุ่งตัดอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเปลี่ยนวุฒิสภาเป็นให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำลายระบบสองสภา[69][70]
นันทวัฒน์ บรมานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าบางส่วนของคำวินิจฉัยนี้ มีถ้อยคำที่แสดงถึงความไม่พอใจ ในการดำเนินกิจกรรมของสภาผู้แทนราษฎร[71] ยิ่งไปกว่านั้น ศาลยังเห็นว่า ตนเองมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตามหลักการแยกใช้อำนาจเช่นเดียวกับการตรวจสอบและถ่วงดุล แต่นักวิชาการกฎหมายบางคนแย้งว่า ศาลไม่สามารถแทรกแซงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะสภานิติบัญญัติไม่ได้กำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติ หากเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจ[72][73][74] พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว โดยอ้างว่า ศาลไม่มีอำนาจเหนือกรณีนี้[75]
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนักวิชาการส่วนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญพึงระวังว่า การวินิจฉัยจะล่วงละเมิดพระราชอำนาจ เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยและได้มีการส่งกฎหมายฉบับนี้ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว[76]คำท้าทายดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่พอใจเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุ 86 พรรษา ซึ่งมากแล้ว เป็นที่รับทราบว่ากฎหมายใด ๆ ก็ตามมักได้รับการประกาศเป็นพระบรมราชโองการเสมอ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สมาชิกพรรคเพื่อไทยฟ้องร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการกระทำอันเป็นกบฏต่อแผ่นดิน
พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลในกรณีดังกล่าวมาตลอด และยังคงยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืน โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยผ่านเป็นกฎหมาย[77]
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสินเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 308 คนถูกแจ้งข้อหาละเมิดกฎหมายไทย แต่ไม่รวมนักการเมือง 73 คน รวมทั้งยิ่งลักษณ์ อันเนื่องจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหากทั้ง 308 คนนี้ถูก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าผิดจริง ก็อาจส่งผลให้ถูกวุฒิสภาห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาห้าปี[78]
การขับตระกูลชินวัตร
[แก้]เอเชียเซนตินัล รายงานอ้างนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกนนำ กปปส. ว่า เหตุแห่งการประท้วงนั้นหาใช่เพียงการโค่นรัฐบาล แรงจูงใจแท้จริงคือขับทุกร่องรอยของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากอำนาจ และออกจากประเทศ และกำจัดอิทธิพลใด ๆ ที่ยังเหลือค้างอยู่ แหล่งข่าวของ เอเชียเซนตินัล รายงานว่า หลังรัฐประหาร มีแผนขับยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกนอกประเทศเช่นเดียวกับพี่ชาย หรือไม่ก็จับเธอขังคุกหรือให้โทษเธอเพื่อห้ามมิให้เธอเข้าสู่การเมืองอีกครั้งเมื่อ คสช. อนุญาตให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเป็นในเดือนตุลาคม 2558[79]
อื่น ๆ
[แก้]ร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งนี้ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ[80]
ลำดับเหตุการณ์
[แก้]การประท้วงร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
[แก้]พรรคเพื่อไทยซึ่งครอบงำสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลาประมาณ 4.00 น.[81]ในระหว่างการประกาศใช้กฎหมายพระราชบัญญัติ ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ใน บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งร่างกฎหมายร่างสุดท้ายนั้นจะนิรโทษกรรมผู้ประท้วงซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2547 รวมทั้งยกการพิพากษาลงโทษฉ้อราษฎร์บังหลวงของทักษิณ และบอกล้างข้อกล่าวหาฆ่าคนของอภิสิทธิ์ และสุเทพ[82][83] ร่างพระราชบัญญัตินั้นจุดชนวนการคัดค้านจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และขบวนการเสื้อแดงอันนิยมรัฐบาล[84] รัฐบาลถูกวิจารณ์ที่ผ่านการออกเสียงลงคะแนนในสมัยประชุมก่อนเช้าผิดปกติเพื่อป้องกันการคัดค้าน[1] คู่แข่งของทักษิณประท้วงต่อการทำให้ทักษิณพ้นจากความรับผิดการพิพากษาลงโทษ ฝ่ายผู้สนับสนุนทักษิณวิจารณ์ร่างพระราชบัญญัตินี้ว่าทำให้ผู้รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พ้นจากความรับผิด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เกิดการประท้วงหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดจนต่างจังหวัด หลายมหาวิทยาลัยและองค์การออกแถลงการณ์ประณามร่างพระราชบัญญัติ สุเทพตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ถนนราชดำเนินกลางเป็นสถานที่ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จนถึง 12 มกราคม พ.ศ. 2557 ทว่า การสอบถามความเห็นอิสระซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 11 และ 13 พฤศจิกายนรายงานว่า ฝ่ายข้างมากที่สำรวจต้องการให้การประท้วงยุติ[85]
เมื่อเผชิญกับการคัดค้านอย่างแข็งขัน ยิ่งลักษณ์ออกคำแถลงกระตุ้นให้วุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ตามกำหนดการ สภาผู้แทนราษฎรไม่อาจเรียกคืนร่างพระราชบัญญัติหลังออกเสียงลงคะแนนแล้ว คำวินิจฉัยเป็นของวุฒิสภา ผู้นำพรรคเพื่อไทยยังสัญญาจะไม่รื้อฟื้นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอื่นใดหากถูกวุฒิสภาปฏิเสธ ต่อมา วุฒิสภาลงมติปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556[86][87]
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุม เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ออกจากสภาทั้งหมด พร้อมประกาศมาตรการ 4 ข้อ ได้แก่ ให้หยุดงาน 3 วันคือ วันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เพื่อออกมาชุมนุม, งดชำระภาษีประจำปี, ประดับธงชาติไทยหน้าบ้าน, ถ้าพบเห็นรัฐมนตรีคนใด ให้เป่านกหวีดใส่ และเปิดตัวแกนนำอีก 8 คน คือ ถาวร เสนเนียม, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, อิสสระ สมชัย, วิทยา แก้วภราดัย, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งสุเทพให้เป็นโฆษก, ชุมพล จุลใส, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งสุเทพให้เป็นแกนนำหลัก หากสุเทพไม่สามารถเป็นแกนนำหลักได้[88] ทั้งเก้ายื่นใบลาออกจากความเป็น ส.ส. ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา ในวันต่อมา[89]
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมอีกเป็นการถอนรากถอนโคน ระบอบทักษิณ เนื่องจากลักษณะเอื้อประโยชน์แก่สกุลชินวัตรและพวกพ้อง เป็นบ่อเกิดของเผด็จการรัฐสภาให้เป็นศูนย์รวมอำนาจ และล้มล้างการถ่วงดุลอำนาจเพื่อเอื้อต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง พร้อมทั้งออกมาตรการเพิ่มเติมคือ การล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส. ทั้ง 310 คน โดยจะยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน, ต่อต้านบุคคลในเครือข่าย ด้วยการเป่านกหวีดเมื่อพบเจอ, ต่อต้านสินค้าในเครือข่ายทุกชนิด และขอให้คนไทยทั้งหมดหยุดงานมารวมพลังต่อสู้ให้มากที่สุดจนกว่าจะได้รับชัยชนะ[90] การประท้วงประกอบด้วยหลายกลุ่ม ซึ่งรวมเครือข่ายพลเมืองเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มการเมืองสีเขียว เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรมและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)[91]
การประท้วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการยึดสถานที่ราชการ
[แก้]วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประท้วงบริเวณ ปตท. และมีผู้ถูกจับ 6 ราย[92]ในข้อหาบุกรุกหมายคดีดำ อ.3981/2556 ต่อมาศาลมีคำสั่งรอลงอาญาจำเลยทั้ง 6 ราย ปรับรายละ 5000 บาท[93]
พรรคเพื่อไทยปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งผลให้จำนวนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 23–24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยมีผู้ประท้วงชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินอย่างน้อย 100,000 คน ข้อมูลจำนวนคนนับผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้ถึงหนึ่งล้านคน ฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการซึ่งปรองดองกับรัฐบาลหลังถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และจัดการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานก่อนคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว กลับมาประท้วงตอบโต้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน มีผู้สนับสนุนมา 40,000 คน[94]อาทิ ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สาโรจน์ หงษ์ชูเวช
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีสุเทพเป็นผู้นำเริ่มเดินขบวนไปยังสำนักงานรัฐบาลหลายแห่งและบุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์ บังคับให้ปิดโดยไม่มีตำรวจเข้าแทรกแซง ยิ่งลักษณ์ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[95] เพิ่มเติมจากเขตกรุงเทพมหานครชั้นในซึ่งพระราชบัญญัติความมั่นคงฯ มีผลตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทว่า ไม่มีการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างผู้ประท้วงและฝ่ายความมั่นคง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน กลุ่มผู้ชุมนุม ปิดทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย [96]
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้ประท้วงดำเนินการต่อโดยชุมนุมนอกสำนักงานกระทรวงอีกสิบแห่ง ตัดไฟฟ้าและเชิญผู้ที่ทำงานในสำนักงานใหญ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และจัดการยึดพื้นที่ประท้วงที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ผู้ประท้วงยังชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดยี่สิบสี่จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคใต้ อันเป็นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์[97]
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศก่อตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ นำโดยสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เป็นต้น โดยมีสุเทพเป็นเลขาธิการของกลุ่ม ด้านผู้ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลจนส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องย้ายที่ทำงานออกจากทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยย้ายไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[98]
ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในสำนักงานบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ กสท โทรคมนาคมและทีโอทีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน รบกวนบริการอินเทอร์เน็ตเป็นเวลาหลายชั่วโมง[99]ในวันเดียวกัน นายธีรภัทร หรือเจมส์ ทองฤทธิ์ และ นายนพดล หรือเยน แก้วมีจีน ใช้อาวุธปืนยิง พลทหารธนะสิทธิ์ เวียงคำ ถึงแก่ความตายต่อมาพนักงานสอบสวนได้ฟ้องในคดีหมายดำ อ.626/2557[100]คดีหมายแดง อ.2405/2558 คดีอยู่ระหว่างศาลฎีกา
การปะทะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
[แก้]การประท้วงมีสภาพสันติ[101]ก่อนการปะทะอย่างรุนแรงช่วงสั้น ๆ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556[33] ในคืนวันที่ 1 ธันวาคม ความรุนแรงปะทุ โดยมีการล้อม และยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำมาซึ่งการต่อต้านรัฐบาลเสื้อแดงผู้สนับสนุนรัฐบาลใกล้สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน การลอบยิงทำให้นักศึกษาโจมตีรถแท็กซี่ซึ่งมีผู้สนับสนุนเสื้อแดง มีการยิงปืนใส่นักศึกษาทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และได้รับบาดเจ็บ 57 คน[33][32] ได้แก่ นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นายสุรเดช คำแปงใจ นายวิโรจน์ เข็มนาค และ นายวิษณุ เภาภู่ [102]
พยานอ้างว่ามือปืนเป็นผู้ประท้วงเสื้อแดง ฝ่ายแกนนำ กปปส. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อ้างว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจถอดเครื่องแบบออกแล้วใส่เสื้อแดงเพื่อโจมตีนักศึกษารามคำแหงหน้ามหาวิทยาลัย"[103] ต่อมา แกนนำ นปช. ยุติการชุมนุมในรุ่งเช้า[104]
การปะทะที่ทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล
[แก้]วันที่ 1 ธันวาคม สุเทพ เลขาธิการ กปปส. ประกาศยกระดับการประท้วงในความพยายาม "ปฏิวัติประชาชน" วันนั้น ผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ถูกตำรวจสกัดโดยใช้เครื่องกีดขวาง แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ ขณะที่มีรายงานว่าผู้ประท้วงบางคนพยายามขว้างระเบิดน้ำมันเชื้อเพลิงใส่แถวตำรวจ มีทหารไม่มีอาวุธราว 2,700 นายถูกเรียกมาสนับสนุนตำรวจ บ่ายวันนั้น ยิ่งลักษณ์ต้องยกเลิกการสัมภาษณ์สื่อตามกำหนดและย้ายไปยังสถานที่ลับเมื่ออาคารที่เธออยู่นั้นถูกผู้ประท้วงล้อม[105][106] ผู้ประท้วงยังเข้าสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง ซึ่งรวมองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบังคับให้แพร่ภาพคำปราศรัยสาธารณะของสุเทพ[107][108] อันเป็นการกระทำที่องค์การสื่อสารแห่งประณาม[109] ในคำปราศรัยทางโทรทัศน์ สุเทพว่า ผู้ประท้วงยึดอาคารรัฐบาลสิบสองแห่ง แต่ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปฏิเสธข้ออ้างนี้[110] ภายหลัง สุเทพประกาศฝ่ายเดียวว่าเขาพบกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เพื่อยื่นคำขาดให้ "คืนอำนาจประชาชน" ภายในสองวัน เขายืนยันท่าทีของเขาอีกครั้งว่า การลาออกของยิ่งลักษณ์หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรยังยอมรับไม่ได้ และย้ำข้อเรียกร้องของเขาให้ตั้ง "สภาประชาชน" อันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเลือกผู้นำ[111] ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วยเหตุว่า การงดไว้ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[112] วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ตำรวจรื้อเครื่องกีดขวางออกและอนุญาตให้ผู้ประท้วงเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งลดความตึงเครียดเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[113] วันที่ 5 ธันวาคม ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมที่ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นมั่นคง และร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ[114]
การยุบสภาผู้แทนราษฎร
[แก้]หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ สุเทพเรียกร้องให้ผู้ประท้วงยึดถนนแล้วเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ธันวาคมใน "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" ซึ่งมีผู้ร่วมประท้วง 160,000 คน[115] วันที่ 8 ธันวาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 153 คนร่วมกันลาออกในท่าทีซึ่งถูกมองว่าพยายามกดดันรัฐบาลเพิ่มเติม[116] ในการสนองต่อการประท้วงเข้มข้นนี้ ยิ่งลักษณ์จึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และเสนอการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติภายหลัง[117] กปปส. ยืนกรานให้นายกรัฐมนตรีลาออกภายใน 24 ชั่วโมง ฝ่ายยิ่งลักษณ์ยืนกรานว่าเธอจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อจนการเลือกตั้งที่กำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประท้วงยอมรับข้อเสนอของเธอว่า "ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว"[115]
ขณะเดียวกัน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยอ้างยึดกองบัญชาการกองทัพบก เรียกร้องให้ทหารเข้าร่วมการประท้วง[118] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สนองเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยกระตุ้นให้กลุ่มผู้ประท้วงไม่เกี่ยวข้องกับทหารและเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายระงับวิกฤตโดยสันติ[118] รัฐบาลงดเว้นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ โดยยึดไม้ตะบอง ปืนฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาแทน[110]
หลังยุบสภาผู้แทนราษฎร
[แก้]วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สุเทพ เลขาธิการ กปปส. เรียกร้องให้ชุมนุมโดยมีคำขวัญเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ให้ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีลาออกทันที และการตั้งสภาประชาชนเพื่อเริ่มกระบวนการปฏิรูปเป็นเวลา 12 ถึง 18 เดือน
วันที่ 21 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์แถลงว่าจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์[119] ในการสนองต่อกระบวนการลงทะเบียนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งซึ่งมีกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนไปยังสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น อันเป็นสถานที่ลงทะเบียน ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สุเทพ และ กปปส. นำการประท้วง โดยสุเทพประกาศว่า "หากรัฐบาลและ กกต. ยังยืนยันการเลือกตั้ง เขากำลังท้าทายความปรารถนาของประชาชน" ในวันเดียวกันได้มีคนนำปืนพกรีวอลเวอร์ พร้อมกระสุน 4 นัด เข้าไปที่ โรงแรมเจริญผล [120]โดยอัยการฟ้องต่อศาลในคดี อ.400/2557 ศาลตัดสินให้ริบของกลาง และจำคุก 1 ปี 6 เดือน
กปปส. ประมาณว่ามีผู้ร่วมเดินขบวน 3.5 ล้านคนในวันที่ 22 ธันวาคม ขณะที่กำลังความมั่นคงอ้างว่ามีผู้ประท้วงเข้าร่วมการเดินขบวนประมาณ 270,000 คน แหล่งข้อมูลระหว่างประเทศรายงานว่า มีผู้ประท้วงเข้าร่วมหลายหมื่นคน[121][122] ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยย้ำแผนการเลือกตั้งและคาดหมายการนำเสนอรายชื่อผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 125 คนต่อ กกต.[123] วันเดียวกัน เกิดเหตุผู้ชุมนุม กปปส. ทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่[124]
วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นปะทะกับตำรวจ มีผู้เสียชีวิตสามคน โดยเป็นตำรวจสองรายและประชาชนทั่วไปหนึ่งราย[125]เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ได้แก่ ดาบตำรวจณรงค์ ปิติสิทธิ์ นาย วสุ สุฉันทบุตร และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจหนึ่งรายได้แก่ ดาบตำรวจ อนันต์ แลโสภา (เสียชีวิตวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557)[126] ผู้ประท้วงมีอาวุธเป็นหนังสติ๊กและสวมหน้ากากกันแก๊สเพื่อสู้กับตำรวจ รวมมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 200 คน เนื่องจากความรุนแรงบานปลาย คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งกระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง รองนายกรัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนา สนองต่อแถลงการณ์ดังกล่าวในนามของรัฐบาลว่า "วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายซึ่งให้อำนาจรัฐบาลเปลี่ยนแปลงวันนี้" เขาอธิบายเพิ่มว่า รัฐบาลยังเปิดอภิปรายกับผู้ประท้วง[127]
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกแถลงการณ์ต่อสื่อซึ่งเขาไม่ชี้ขาดโอกาสรัฐประหารอีกหนหนึ่ง โดยว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิด เวลาจะบอก เราไม่ต้องการก้าวล้ำขอบเขตอำนาจของเรา เราไม่ต้องการใช้กำลัง เราพยายามใช้สันติวิธี การพูดคุยและพบปะเพื่อระงับปัญหา" ในช่วงเดียวกัน ทางการออกหมายจับสุเทพโดยอ้างเหตุว่าก่อการกบฏ แต่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งด้วยเกรงความแตกแยกเพิ่มเติม[125]
การชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร
[แก้]จนวันที่ 28 ธันวาคม 2556 มี 58 พรรคการเมืองลงทะเบียนสำหรับการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งสรุปกระบวนการลงทะเบียนห้าวันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556[128]มีผู้เสียชีวิตสองรายจากอาวุธปืนได้แก่ นายยุทธนา องอาจ[129]โดยถูกยิงที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์
เย็นวันที่ 27 ธันวาคม สุเทพประกาศในสุนทรพจน์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพมหานครว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลมีแผนปิดกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 มกราคม 2557[37]
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้แก่ นายพุทธศักดิ์ คล่องแคล่ว นายอรรถชัย อินทะโชติ นายชิดชัย ชมพูเจริญ นายอนุสรณ์ โหมดกุฬา นายพายุ แซจิว นายสุรนันท์ จันทรคาด สาเหตุการตายเนื่องจากถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิต บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)[130]
วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557 สุเทพปราศรัยที่สนามมวยราชดำเนิน ซึ่งอธิบายแผนการปฏิบัติประท้วงในวันที่ 13 มกราคมเพิ่มเติม เขาว่า นอกจากปิดแยกสำคัญ ได้แก่ ปทุมวัน สวนลุมพินี ลาดพร้าวและราชประสงค์แล้ว สำนักงานรัฐบาลทุกแห่งจะถูกตัดไฟฟ้าและน้ำประปา และพาหนะของรัฐบาลจะไม่สามารถใช้เลนฉุกเฉินได้ (เปิดให้แต่รถพยาบาล ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ และรถโดยสารประจำทางสาธารณะ) บนถนนที่ถูกยึด[131] ในการแถลงข่าวซึ่งจัดในวันเดียวกัน ผู้นำนิยมรัฐบาล จตุพร พรหมพันธุ์ เปิดฉากการรณรงค์ใหม่เพื่อปกป้องกรุงเทพมหานครจากผู้ประท้วง ซึ่งเขาเรียกว่า "เครือข่ายอำมาตย์" จตุพรอธิบายว่ากำลังนิยมรัฐบาลจะ "ต่อสู้ภายใต้หลักสันติ" และจะมีแถลงการณ์เพิ่มเติม[132] วันที่ 3 มกราคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. ชี้แจงการจัดชุมนุมคู่ขนานกับ กปปส. ใช้ชื่อว่า "เปิดประเทศ เปิดเจ้าของอำนาจอธิปไตย" โดยจะมีการชุมนุมเกือบทุกจังหวัด[133]
วันที่ 4 มกราคม หัวหน้าศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประกาศสดทางโทรทัศน์ว่า ผู้ใดที่เข้าร่วมขบวนการประท้วงจะเป็นการละเมิดประมวลกฎหมายอาญาของไทย สุรพงษ์อธิบายปฏิบัติการปิดกรุงเทพว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศและเปิดเผยว่ารัฐบาลจะใช้แผนซึ่งรวมการใช้กำลังผสมพร้อมกันเพื่อรับมือกับการปิด ในการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไม่มีแถลงการมีส่วนเกี่ยวข้องของทหารอย่างชัดเจน แต่สุรพงษ์รับประกันผู้ชมว่าแผนของรัฐบาลเป็นไปตามมาตรฐานสากล[134]
วันที่ 5 มกราคม สุเทพนำผู้ประท้วงหลายพันคนผ่านทางตะวันตกของกรุงเทพมหานครในการเดินขบวนก่อนปิดกรุงเทพ[135] วันเดียวกัน รักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์แถลงบนหน้าเฟซบุ๊กของเธอว่า การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับระงับความขัดแย้งทางการเมือง โดยว่า "ถ้าคุณไม่ต้องการให้รัฐบาลกลับคืนอำนาจ คุณต้องสู้กับเราในการเลือกตั้ง"[136] ยังเกิดการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนจากกลุ่มแยกการเมืองทั้งสองในวันเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่[137]
เมื่อเวลา 2.30 น. ของวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยิงถล่มจากรถเก๋งโตโยต้า ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ พรรคยังไม่เข้าร่วมการประท้วงปิดกรุงเทพ[138]ผู้ชุมนุมได้ปิดศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ที่ตั้งของ กระทรวงพลังงาน และ บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด จนเป็นเหตุให้ต้องปิดอาคารทั้ง 6 อาคาร ต่อมาได้มีการฟ้องร้องต่อศาลในคดีอาญาหมายดำ อ.831/2557 หมายแดง อ.3027/2560[139][140]ศาลตัดสินลงโทษจำคุก นพ.ระวี มาศฉมาดล 8 เดือนรอลงอาญา 2 ปี จำเลยรายอื่นจำคุก 2 เดือนแต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา
ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งปิด สามสาขา ธนาคารอาคารสงเคราะห์แจ้งปิดหกสาขา ธนาคารกสิกรไทยแจ้งปิดสองสาขา ธนาคารกรุงเทพ แจ้งปิดสาขาเอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์[141] เย็นวันที่ 14 มกราคม 2557 มีความพยายามโจมตีพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง คราวนี้ผู้โจมตีพยายามระเบิดบ้านพักของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การโจมตีล้มเหลวและทีมกอบกู้วัตถุระเบิดพบสลักระเบิดมือเอ็ม26 ที่ผลิตในสหรัฐ ทีมอนุมานว่า ระเบิดมือนั้นพยายามปาขึ้นหลังคาของห้องซึ่งปกติบิดาของอภิสิทธิ์อยู่ กรุงเทพมหานครสนับสนุนตำรวจผู้สืบสวนในการทบทวนผ่านการจัดหาเทปวงจรปิด[142] ชายสามคนและหญิงหนึ่งคนพร้อมระเบิดสี่ลูก ปืนและกระสุนถูกจับที่จุดตรวจถนนสุขุมวิทในเย็นวันเดียวกัน[143]
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนข้อกล่าวหาว่ายิ่งลักษณ์ประมาทในการจัดการข้อตกลงข้าวส่วนเกินกับประเทศจีน ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. โยงกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และข้าราชการอื่นอีกกว่าโหลแล้ว หาก ป.ป.ช. ตัดสินว่าผิด ยิ่งลักษณ์จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง[144]
วันที่ 17 มกราคม รักษาความปลอดภัย กปปส. รายงานว่าได้ยินเสียงระเบิดสองหรือสามครั้งที่ถนนแจ้งวัฒนะ สวนลุมพินี แยกลาดพร้าวและวังสวนผักกาด ยังมีรายงานอีกว่า มีการยิงจากรถเก๋งฮอนดา แอคคอร์ด แต่ไม่มีรายงานผู้ไดรับบาดเจ็บ เสียงระเบิดและปืนบีบให้กิจกรรมบนเวที กปปส. หยุดชั่วคราว ยังมีการปาระเบิดมือใส่บ้านพักผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ[145]มีผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าว ได้แก่นายประคอง ชูจันทร์ ถูกระเบิดที่บริเวณถนนบรรทัดทอง เสียชีวิต
วันเดียวกัน มีการโจมตีด้วยระเบิดมืออีกหนใกล้ศูนย์การค้าโลตัส เจริญผล มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 38 คน เสียชีวิต 1 คนระหว่างการเดินขบวนที่มีสุเทพเป็นผู้นำ รักษาความปลอดภัย กปปส. รายงานว่า ระเบิดถูกขว้างจากอาคารสามชั้นที่ถูกทำลายบางส่วน[146] ตำรวจนครบาลกล่าวว่า คลิปวิดีทัศน์ที่ตำรวจตรวจสอบแสดงชายสองคนกำลังมีกิริยาอาการน่าสงสัย[147][148]
วันที่ 19 มกราคม ช่วงบ่าย เกิดการโจมตีด้วยระเบิดอีกซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน ณ จุดชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถาวร เสนเนียม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ที่จุดชุมนุมเชื่อว่าเขาเป็นเป้าระเบิด ชายไม่ทราบรูปพรรณขว้างวัตถุระเบิดใกล้เตนท์ศูนย์สื่อหลังเวทีชุมนุมแล้วหลบหนีเมื่อเวลา 13.30 น.[149] รักษาความปลอดภัยที่จุดชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยบนถนนราชดำเนินนอกถูกนำส่งโรงพยาบาลจากกระสุนปืนจากมือปืนไม่ทราบตัวในเย็นวันเดียวกัน[150] มีผู้เสียชีวิตในวันดังกล่าว ได้แก่นายอานนท์ ไทยดี ถูกระเบิดที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสียชีวิต[151]
วันที่ 20 มกราคม กปปส. จังหวัดต่าง ๆ เคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้น หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี[152], นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมเข้าปิดกั้นหรือนำรถปราศรัยเข้าปิดกั้นศาลากลางบางจังหวัดในภาคใต้ และมีผู้ชุมนุมเข้ายื่นหนังสือ อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดยะลา, จังหวัดชุมพร, จังหวัดสตูล, จังหวัดตรัง, จังหวัดสงขลา, จังหวัดกระบี่ และจังหวัดปัตตานี[153] กปปส. ในกรุงเทพมหานครเคลื่อนรถปราศรัยเข้าปิดกั้นหน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่สะพานควาย[154], กรมทางหลวง[155], ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร[156], การทางพิเศษแห่งประเทศไทย[157] และโรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว[158]
วันที่ 28 มกราคม ที่บริเวณสโมสรกองทัพบกที่ นาย วิศรุต สีม่วง ถูกอาวุธปืนยิงที่ขา และ ด.ต.คงเพชร เพชรกันหา ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส[159]
วันที่ 29 มกราคม กลุ่มกปปส.ภาคใต้ได้เดินทางไปปิดศูนย์ไปรษณีย์ชุมพร[160]เพื่อไม่ให้มีการย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง
วันที่ 30 มกราคม กลุ่มกปปส.ภาคใต้เดินทางไปปิดล้อมทางเข้า-ออก ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ปิดล้อมทางเข้า-ออก ศูนย์ไปรษณีย์เขต 9 หาดใหญ่ และเดินทางไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 ค่ายอาภากรเกียรติวงศ์ หลังมีข่าวว่าบัตรเลือกตั้งอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 วัตถุประสงค์ของการเดินทางเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนบัตรเลื่อนตั้งและหีบเลือกตั้ง[161]
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ผู้ประท้วง กปปส. เปิดพื้นที่ลาดพร้าวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้สัญจรอีกครั้งหลังผู้ประท้วงรื้อเวทีชุมนุม ณ สถานที่ทั้งสองแล้วย้ายไปเสริมการยึดครองในและรอบสวนลุมพินี[162]
วันที่ 12 มีนาคม กลุ่มผู้ประท้วงได้เข้าปิดกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลให้การ เสนอราคาประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) ครั้งที่ 7[163]ต้องยกเลิก
สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
[แก้]วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 รัฐบาลรักษาการโดยรักษาการนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ[164]ส่งผลให้รัฐบาลรักษาการมีอำนาจประกาศการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืน ตรวจพิจารณาสื่อ สลายการชุมนุม ใช้กำลังทหารเพื่อ "รักษาความสงบเรียบร้อย" ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยปราศจากข้อกล่าวหา ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนและประกาศให้บางส่วนของประเทศเข้าถึงไม่ได้[165] ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ผู้ประท้วงเป็นสาเหตุของการวินิจฉัยดังกล่าวโดยการปิดกั้นสำนักงานรัฐบาลและธนาคาร และขัดขวางข้าราชการมิให้สามารถดำเนินธุระอาชีพของเขาได้และนำชีวิตส่วนตัวอย่างปลอดภัย[166] คำสั่งนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง[167]รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557[168]
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ถูกยิงในจังหวัดอุดรธานี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตำรวจสรุปว่า เหตุโจมตีมีแรงจูงใจทางการเมืองและใช้ภาพจากโทรทัศน์วงจรปิดเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนและรายงานการเกี่ยวข้องของ "รถกระบะปิ๊กอัพสีบรอนซ์" ก่อนหน้าเหตุการณ์ในจังหวัดอุดรธานี มีเหตุโจมตีด้วยระเบิดมือสามครั้งซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน และได้รับบาดเจ็บหลายคน แต่ไม่มีการจับกุมคนร้ายขณะที่ทั้งรัฐบาลและผู้ประท้วงกล่าวโทษกันไปมา หลังข่าวการยิง สุเทพยังยืนกรานการยึดกรุงเทพมหานคร โดยว่า "เราจะสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ" และยังขู่ปิดสำนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศของประเทศไทย[169]
วันที่ 23 เมษายน กมล ดวงผาสุก แกนนำกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ถูกลอบยิงเสียชีวิตที่ลานจอดรถหน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ซอยลาดปลาเค้า 24 เขตลาดพร้าว[170]
วันที่ 24 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญไทยประกาศว่า การเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์สามารถทำได้ตามคำวินิจฉัยของสมาชิก[171]
วันที่ 26 มกราคม สุทิน ธราทิน หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย กปท. ถูกยิงขณะปราศรัยบนรถกระบะระหว่างการชุมนุมที่สถานีเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งล่วงหน้า และต่อมาเสียชีวิต[172] มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเก้าคน[173] และโฆษก กปปส. เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ บุตรบุญธรรมของสุเทพ ออกแถลงการณ์สาธารณะว่า "นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลรักษาการและผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์วันนี้ มิฉะนั้นสาธารณะจะลุกขึ้นต่อต้านและเรียกร้องความยุติธรรม"[174]
วันเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่ออภิปรายความเป็นไปได้ของการเลื่อนการเลือกตั้งเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเกรงจะเกิดความรุนแรงในวันเลือกตั้ง ทว่า หลังการประชุมสามชั่วโมงที่สโมสรกองทัพบก รักษาการรองนายกรัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนา แจ้งสื่อว่าวันที่เลือกตั้งยังไม่เปลี่ยนแปลง กรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร แถลงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ให้ดีที่สุด โดยรวมการบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกันความรุนแรงและจัดการเลือกตั้งรอบสองแก่ผู้ออกเสียงลงคะแนนที่ถูกขัดขวางระหว่างการเลือกตั้งรอบแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เฉลิม อยู่บำรุง ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์รักษาความสงบ ของรัฐบาล อธิบายว่าจะมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10,000 นายเพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้ออกเสียงลงคะแนนระหว่างการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์[175] ระหว่างการประชุมที่สโมสรกองทัพบก ผู้สนับสนุน กปปส. ล้อมชายผู้หนึ่งและฟาดอิฐบนศีรษะเพราะถูกสงสัยว่ามิใช่ผู้สนับสนุน กปปส. ตำรวจนอกเครื่องแบบผู้หนึ่งเปิดฉากยิงเป็นการป้องกันตัว[176]
วันที่ 30 มกราคม มีการจัดประท้วงเพิ่มอีกระหว่างการรณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้ง สุเทพนำผู้ประท้วงผ่านส่วนพื้นที่พาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ยิ้มและโบกมือแก่ผู้ผ่านไปมา และกระตุ้นให้ผู้อื่นเข้าร่วมการกระทำ 2 กุมภาพันธ์เพื่อป้องกันมิให้การออกเสียงเลือกตั้งของชาวไทยที่เจตนาเสร็จสมบูรณ์ ในการคาดการส่งเสริมการรบกวนผ่านการประท้วงเหล่านี้ ตำรวจไทยประกาศว่าจะมีการวางกำลังเพิ่ม 190,000 นายทั่วประเทศ โดยเน้นกรุงเทพมหานครและสิบจังหวัดภาคใต้[177]
วันที่ 31 มกราคม สุเทพประกาศว่า หน่วยเลือกตั้งจะสามารถเปิดทำการได้สำหรับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ตามปกติ ทว่า แหล่งข้อมูลยังระบุว่า สุเทพเชื่ออย่างแรงกล้าว่า วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเป็นโมฆะเพราะปัญหากฎหมายหลายอย่างที่จะเกิดตามมา[178]
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ น.ส.ฐิพาพรรณ สุวรรณมณี ด.ญ.พัชรากร ยศอุบล และ ด.ช.กรวิทย์ ยศอุบล เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ถนนราชดำริ[179]คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 23/2557 เรียกให้ นาย ทยากร ยศอุบล คุณพ่อของ ด.ญ.พัชรากร ยศอุบล และ ด.ช.กรวิทย์ ยศอุบล เข้ารายงานตัวในวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
ศูนย์รักษาความสงบ
[แก้]ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ ให้ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ ให้พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ[180]วิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี คณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการ สิริมา สุนาวิน เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความสงบ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต และ พันตำรวจโทหญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล เป็นโฆษกศูนย์รักษาความสงบ ที่ตั้งของศูนย์อยู่ภายในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด[181]
โดยปกติแล้ว ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมาย[182]และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมาย แต่ในคำสั่งนี้ใช้คำว่า "ผู้แทน" จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ไม่ต้องการเข้าร่วมในศูนย์รักษาความสงบ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้มีที่ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557 อาทิ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นประธานที่ปรึกษาศรส. พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองประธานที่ปรึกษาศรส. จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ชัยเกษม นิติสิริ วราเทพ รัตนากร เป็นที่ปรึกษา อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นที่ปรึกษาและโฆษกและเลขานุการ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาและผู้ช่วยเลขานุการ
ปลอดประสพ สุรัสวดี พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา สงวน ตียะไพบูลย์สิน [183]พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พลตำรวจโท สุเทพ เดชรักษา พลตำรวจโท กวี สุภานนท์[184] พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ[185] จีรศักดิ์ สุคนธชาติ ประวิทย์ เคียงผล[186] พลตำรวจโท หาญพล นิตยวิบูลย์ พลตำรวจโท นเรศ นันทโชติ พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ พลตำรวจตรี กรเอก เพชรชัยเวส [187] พีรพันธุ์ พาลุสุข พลตำรวจตรี ประหยัชว์ บุญศรี เป็นที่ปรึกษา[188]
ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจการปกครอง ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา[189]ตามคำสั่งคสช.ที่ 27/2557 พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ถูกปลดจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง ถูกปลดจากตำแหน่ง ดร.สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถูกปลดจากตำแหน่ง[190]ตามคำสั่งคสช.ที่ 77/2557 สมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกปลดจากตำแหน่ง นาย ประวิทย์ เคียงผล ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน [191]ตามคำสั่ง คสช.ที่ 81/2557 พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ ถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด [192]ตามคำสั่งคสช.ที่ 84/2557 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถูกปลดจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 มีผล 18 ตุลาคม 2559 จำนวน ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รักษาความสงบถูกปลดจากตำแหน่งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีทั้งหมด 9 ราย
จำนวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รักษาความสงบถูกปลดโดยศาลปกครองสูงสุดมี 1 รายซึ่งถูกปลดก่อนรัฐประหารได้แก่ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งถูกปลดโดยศาลปกครองสูงสุด[193]
นาย คณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2557[194] นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 75/2558 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 204/2558 และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ย้ายมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี[195]มีผลวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติย้ายให้เป้นที่ปรึกษาปปง. รวมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศรส.ถูกคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 61 ปลดและโยกย้ายหลังรัฐประหาร 3 ราย
พันตำรวจโทหญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล ถูกปลดจากตำแหน่งรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557[196] และถูกตั้งกรรมการสอบสวน[197]ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559
ส่วน พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ ถูกปลดจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในวันที่ 17 กันยายน ปี พ.ศ. 2558 รวมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศรส.ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลดและโยกย้ายหลังรัฐประหาร 2 ราย
การเลือกตั้งทั่วไป
[แก้]แม้ กปปส. ประกาศว่าจะไม่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง แต่ทำให้ไม่สามารถการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ใน 87 เขตเลือกตั้ง ส่วนมากในกรุงเทพมหานครและภาคใต้ของประเทศ เกิดการรบกวนใน 10 จังหวัด
ผู้ประท้วงทั่วประเทศพยายามคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้าตามกำหนด เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภุชงค์ นุตราวงศ์ ว่า สามารถจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยกเว้นจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งสิ้นแล้ว มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั่วประเทศ 2.16 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร 916,210 คน ราว 440,000 คนถูกขัดขวางมิให้ออกเสียงเลือกตั้ง สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสฮิวแมนไรต์วอช กล่าวว่า
เป็นวันเศร้าสำหรับประชาธิปไตยเมื่อสิทธิออกเสียงลงคะแนน [...] ถูกโจมตีโดยขบวนการทางการเมืองที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อปฏิรูปและให้อำนาจประชาชน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้แสดงว่าเขากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งตรงข้าม
วันก่อนการเลือกตั้ง เกิดความรุนแรงอีกในกรุงเทพมหานคร หลังผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ และมีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คนคัดค้าน กลุ่มชายติดอาวุธ กปปส. เริ่มยิงปืน[198][199][200] และมีการยิงโต้ตอบกันหลายนัด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหกคน[201] ผลแห่งความรุนแรงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจระงับการออกเสียงลงคะแนนในเขตหลักสี่[202] นอกจากนี้ ยังยกเลิกการออกเสียงลงคะแนนในจังหวัดชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฎร์ธานีเนื่องจากขาดบัตรเลือกตั้ง[203] ต่อมา มีการจับกุม "มือปืนป๊อปคอร์น" การ์ด กปปส. ซึ่งยิงปืนเล็กยาวเอ็ม16 ใส่ผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาลและสารภาพว่า เขาใช้อาวุธที่หัวหน้าการ์ด กปปส. มอบให้[204][205]
แม้สุเทพอ้างซ้ำ ๆ ว่าการกระทำของเขาสันติและ "ปราศจากอาวุธ" แต่ภาพถ่ายและวิดีทัศน์ของการปะทะแสดงผู้ประท้วงสวมสายรัดข้อมือสีเขียวของการ์ด กปปส. กำลังใช้อาวุธอย่างปืนเล็กยาวจู่โจมชัดเจน[206][207][208] สุเทพไม่รักษาคำสัตย์ของถ้อยแถลงของตนที่ยืนยันว่าการเดินขบวนจะไม่ขัดขวางการออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์[209] เนื่องจากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลสกัดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งนอกเหนือไปจากขัดขวางมิให้ประชาชนไปออกเสียงลงคะแนน[210][211][212]
คณะกรรมการการเลือกตั้ง รายงานผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ร้อยละ 47.72 หรือ 20,530,359 คน จังหวัดที่มีอัตราผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 75.05 ส่วนกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 25.94[213] คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่า บัตรเลือกตั้งร้อยละ 12.05 เป็นบัตรเสีย และร้อยละ 16.57 ไม่ประสงค์ลงคะแนน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประชุม 28 เขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครถูกกันมิให้ลงทะเบียนก่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเนื่องจากการประท้วงและแถลงว่าจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายก่อนบรรลุคำวินิจฉัย[203]
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับยุบพรรคเพื่อไทยและเพิกถอนสิทธิพิเศษของผู้บริหาร ส่วนหนึ่งของคำร้องนั้น พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าการเลือกตั้งเป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อได้มาซึ่งอำนาจบริหารด้วยวิถีมิชอบด้วยยรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68[214][215] อันเป็นมาตราเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ด้านพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องกลับในการสนองต่อพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยขอให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิพิเศษของผู้บริหารโดยอ้างมาตรา 68 เช่นกัน โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า คำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเป็นความพยายามล้มรัฐบาลนอกการปกครองระบอบประชาธิปไตย[216] วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของทั้งสองพรรคไม่มีมูล[217]
หมายจับแกนนำประท้วง
[แก้]ตามที่ศาลอาญาไทยอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แกนนำเป้าหมายยืนยันว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการรณรงค์ทางการเมืองแม้ศาลสืบสวนพบหลักฐานเพียงพอยืนยันว่าแกนนำดังกล่าวละเมิดพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งประกาศในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี บางส่วนของจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ ตามหมายจับ ตำรวจสามารถจับกุม 19 แกนนำและควบคุมตัวไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ที่คลอง 5 ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ได้ไม่เกินเจ็ดวัน หมายนี้มีผลใช้ได้หนึ่งปีและต้องแจ้งการจับกุมต่อศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง[218]
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศาลอาญาปฏิเสธการเสนอออกหมายจับแกนนำ กปปส. 13 คน ได้แก่ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, จิตภัสร์ กฤดากร, สกลธี ภัททิยกุล, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, เสรี วงษ์มณฑา, ถนอม อ่อนเกตุพล, หลวงปู่พุทธะอิสระ, สาวิทย์ แก้วหวาน, คมสัน ทองศิริ, สุชาติ ศรีสังข์, ระวี มาศฉมาดล และนพพร เมืองแทน ทนายความ กปปส. อธิบายว่า ศาลยกคำร้องของดีเอสไอเพราะพฤติการณ์แห่งคดียังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกหมายจับและหากกลุ่มบุคคลเหล่านี้กระทำความผิด ก็มีกฎหมายอาญาที่สามารถดำเนินคดีได้อยู่แล้ว [219]
ต่อมา วันที่ 14 พฤษภาคม ศาลอาญา ยกคำร้องหมายจับ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด น.ส.อัญชะลี ไพรีรักษ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ นายสุริยะใส กตะศิลา นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายกิตติชัย ใสสะอาด นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายสำราญ รอดเพชร เพราะเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยของศาลอาญาในคดีอื่น ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ถือได้ว่าผู้ต้องหาดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลอาญาแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวหลบหนีระหว่างการปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาย่อมมีอำนาจที่จะบังคับให้นายประกันส่งตัวจำเลยต่อศาลในคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้วเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้น พนักงานอัยการจึงสามารถฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลได้โดยไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาล จึงไม่จำต้องออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 13 คนเพื่อนำตัวมาฟ้องคดี ให้ยกคำร้องในส่วนนี้[220]
และศาลอนุมัติหมายจับแกนนำกปปส. 30 ราย ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสระ สมชัย นายวิทยา แก้วภราดัย นายถาวร เสนเนียม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายนิติธร ล้ำเหลือ นายอุทัย ยอดมณี พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ นายถนอม อ่อนเกตุพล พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม นายสาธิต เซกัล นายคมสัน ทองศิริ นายมั่นแม่น กะการดี นายประกอบกิจ อินทร์ทอง นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายพานสุวรรณ ณ แก้ว นางสาวรังสิมา รอดรัศมี นางทยา ทีปสุวรรณ พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี และพลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ แต่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น
การเลือกตั้งชดเชย
[แก้]วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มีการจัดประชุมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสมชัย กรรมการการเลือกตั้ง ภายหลังอธิบายว่า หากจะมีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถลงสมัครได้ จำเป็นต้องมีพระราชกฤษฎีกาเป็นลายลักษณ์จากรัฐบาล ที่ประชุมตัดสินอย่างเป็นเอกฉะน์ว่าจำต้องแสวงพระราชกฤษฎีกาจากรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้งเชื่อว่าสามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ในพื้นที่ห้าจังหวัด ระยอง ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและเพชรบุรีได้ไม่ยาก ศุภชัย สมเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า คณะกรรมการฯ กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 4–8 มีนาคม การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 23 มีนาคม และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 30 มีนาคม[221]
คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดโอกาสแก่พลเมืองที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาล การเลือกตั้งล่วงหน้าจะจัดในวันที่ 20 เมษยน และกำหนดให้วันที่ 27 เมษายนเป็นวันเลือกตั้งสำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กปปส. ไม่เห็นชอบกับวันเลือกตั้งใหม่[222]
ตามวอลสตรีตเจอร์นัล วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จำนวนผู้ประท้วงลดลงเหลือประมาณ 5,000 คน ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เสนอว่าหลังการเลือกตั้งรอบถัดไป รัฐบาลจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใน 18 เดือนเพื่อเปิดกระบวนการเลือกตั้งแบบใหม่ ถ้อยแถลงของร้อยตำรวจเอก เฉลิมมีขึ้นหลังยิ่งลักษณ์โพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊กของเธอซึ่งชี้การเปิดให้นายหน้าบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยระงับความขัดแย้งทางการเมือง[177]
การยึดพื้นที่คืน
[แก้]วันที่ 9 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงเอ็ม-79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ มีผู้บาดเจ็บ 2 คน[223] วันที่ 10 กุมภาพันธ์ สุเทพเดินขบวนเพื่อระดมทุน นำไปให้ กปปส.จ้างทนายความ ช่วยชาวนาดำเนินคดีต่อรัฐบาล[224][225]
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตำรวจพยายามยึดพื้นที่สาธารณะคืนจากกลุ่มผู้ประท้วงเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ขั้นแรก ตำรวจประชุมกันที่ลานพระราชวังดุสิตก่อนเคลื่อนเข้าแยกมิสกวันเพื่อเริ่มปฏิบัติการ มีการรื้อถอนเต๊นต์จากถนนราชดำเนินบนสะพานมัฆวาน แต่ผู้ประท้วงย้ายที่แล้วเมื่อตำรวจมาถึง จึงไม่เกิดความรุนแรง[226] ตำรวจปราบจลาจลยังเคลียร์ที่ประท้วงซึ่งเคยตั้งอยู่ที่แยกสำคัญใกล้ทำเนียบรัฐบาลและไม่เผชิญกับการต่อต้านจากผู้ประท้วง เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าปฏิบัติการความมั่นคงพิเศษของรัฐบาล อธิบายต่อสื่อว่า ปฏิบัติการนี้เป็นเครื่องบ่งชี้การสนองของรัฐบาลรักษาการต่อขบวนการประท้วง เฉลิมอธิบายว่า "เรากระตุ้นให้ผู้ประท้วงกลับบ้าน หากเขาไม่ฟัง เราจะมีการปฏิบัติเพิ่มเติม เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ ประเทศของเราไม่สามารถทำงานอย่างนี้ได้" ทว่า ตำรวจงดปฏิบัติเพิ่มเติมหลังกลุ่มผู้เดินขบวนกลับจุดประท้วงที่ยังไม่เสียหายใกล้ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น ผู้ประท้วงราว 1,000 คนชุมนุมนอกกองบังคับการตำรวจนครบาลหลังปฏิบัติการนี้[177] วันเดียวกัน มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ศาลอาญา[227]
ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ตำรวจเตะระเบิดลูกเกลี้ยงที่ถูกปามาที่แถวตำรวจ, 18 กุมภาพันธ์ 2557 |
เช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตำรวจเก้ากองร้อยยึดจุดกระทรวงพลังงานได้สำเร็จ และจับกุมผู้ประท้วงกว่า 140 คนหลังไม่ยอมออกจากพื้นที่[228][229] ขณะที่ตำรวจยังคงดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อยึดจุดประท้วงห้าจุดต่อไปนั้น สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นที่จุดประท้วงสะพานผ่านฟ้าที่ถนนราชดำเนินกลาง ผู้ประท้วงขัดขืนคำสั่งของตำรวจโดยนั่งลงบนถนนและสวดมนต์[230][231] ตำรวจผลักโดยมีความรุนแรงเล็กน้อย และต่อมาตั้งต้นทุบเวทีและเต๊นต์ สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อมีจำนวนผู้ประท้วงมากขึ้นพยายามขัดขวางเจ้าหน้าที่ แล้วตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลาย ขณะที่ตำรวจดำเนินการ พวกเขาถูกโจมตีด้วยแรงระเบิดและกระสุนปืน ตำรวจสนองด้วยกระสุนจริงแล้วล่าถอย[230][231] คลิปวิดีทัศน์ของบีบีซีแสดงชัดเจนว่า มีการปาระเบิดมือใส่แถวตำรวจจากที่ที่ผู้ประท้วงอยู่[232]
จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายและพลเรือน 4 คน ได้แก่ นายสุพจน์ บุญรุ่ง ดาบตำรวจเพียรชัย ภารวัตร นายธนูศักดิ์ รัตนคช นายศรัทธา แซ่ด่าน นายจีรพงษ์ ฉุยฉาย สิบตำรวจตรี ศราวุฒิ ชัยปัญหา และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 64 คนจากเหตุการณ์ที่สะพานผ่านฟ้า[230] รายงานของบีบีซี พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ระบุว่า รัฐบาลประกาศเจตจำนงยึดจุดที่ถูกยึดคืนเมื่อสิ้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557[233]
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงอาร์จีดี5 บริเวณแยกประตูน้ำ มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย[234]
เกิดเหตุยิงปืนและขว้างระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ได้แก่ นางพิศตะวัน อุ่นใจ ด.ญ.ฬิฬาวัลย์ พรหมชัย ด.ญ.ณัฐยา รอสูงเนิน และบาดเจ็บ 34 คนในจังหวัดตราดในเย็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์[235] วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีผู้ยิงเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ใกล้ที่ชุมนุม กปปส.แยกราชประสงค์ มีรายงานว่า การระเบิดของระเบิดมือ 40 มิลลิเมตรทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นเด็ก 2 คนและหญิง 1 คน ได้แก่ นางสาวฐิพาพรรณ สุวรรณมณี เด็กชายกรวิชญ์ ยศอุบล และ เด็กหญิงพัชรากร ยศอุบล[236] ชายขับรถตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา[237] หลังจากนั้น ผู้ประท้วง กปปส. ในกรุงเทพมหานครพยายามขัดขวางกิจกรรมของธุรกิจตระกูลชินวัตรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กรมศุลกากรในเขตคลองเตย สถานีวอยซ์ทีวี และหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงาน[238]
การยกเลิกปิดกรุงเทพมหานครและเหตุการณ์ต่อเนื่อง
[แก้]เย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สุเทพประกาศว่าจะยุบสถานที่ชุมนุมที่แยกปทุมวัน ราชประสงค์ สีลม และอโศก ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557 และขอโทษแก่ประชาชนผู้ไม่ได้รับความสะดวกจากการยึดกรุงเทพมหานคร กปปส. ย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสวนลุมพินี นับเป็นจุดสิ้นสุดของ "การปิดกรุงเทพมหานคร" และอีกหนึ่งเวทีชุมนุมที่ยังเหลืออยู่ คือ ที่แจ้งวัฒนะ ที่มีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (หลวงปู่พุทธะอิสระ) เป็นแกนนำ ซึ่งประกาศว่าจะไม่รื้อหรือย้ายเวทีไปไหนหลังจากการประกาศของสุเทพ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป ความมุ่งหมายหลักของขบวนการประท้วงจะเป็นการคว่ำบาตรและขัดขวางปฏิบัติการของผลประโยชน์ทางธุรกิจของตระกูลชินวัตร[239]
วันที่ 7 มีนาคม มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส.สวนลุมพินี มีผู้บาดเจ็บ 5 คน[240] วันที่ 11 มีนาคม มีผู้ยิงเอ็ม 79 ใส่ที่ชุมนุม กปปส. มีผู้บาดเจ็บ 3 คน อาการสาหัส 1 ราย[241]
วันที่ 13 มีนาคม บริเวณซอยรัชดาภิเษก 17 มีผู้ใช้อาวุธปืนยิง นาย พรเทพ เทศกิจ เสียชีวิต และ นางสาว ราตรี คมแหลม ถูกอาวุธปืนยิงบาดเจ็บสาหัส[242]
วันที่ 14 มีนาคม ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองไม่ให้เนรเทศสาธิต เซกัล ชาวอินเดีย หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม เป็นการชั่วคราว[243]
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557 มีการแต่งตั้งจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นประธาน นปช. คนใหม่แทนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ และแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเลขาธิการ บนเวทีชุมนุมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[244][245] ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปรับท่าทีเชิงรุกของคนเสื้อแดง[246][247]
การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
[แก้]เดิมผู้ตรวจการแผ่นดินต้องการให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ถูกเพิกถอน หลังจาก กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์วิชากฎหมายสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรยกเลิกการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น ไม่อาจยื่นคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแทน โดยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557[248][249]
ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงหกต่อสามว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่การเลือกตั้งไม่สามารถแล้วเสร็จทั่วประเทศภายในวันดังกล่าวได้ พระราชกฤษฎีกาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ที่กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย[250][251][252]
มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวอย่างหนักทั้งจากภาควิชาการ และพรรคเพื่อไทย อาทิ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์วิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันหลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎร และพระราชกฤษฎีกาก็กำหนดวันเลือกตั้งตามเงื่อนไขดังกล่าว พระราชกฤษฎีกาจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[249] ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยเสริมว่า กฎหมายจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะมีบุคคลใดมาทำให้ไม่เกิดผลตามรัฐธรรมนูญ[253] คณิน บุญสุวรรณ อาจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลไร้เหตุผล เพราะพระราชกฤษฎีกาไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ไม่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง[249][254] ส่วน วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะเพราะไม่เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่ศาลไม่พิจารณาว่า เหตุใดจึงไม่สามารถเสร็จสิ้นได้[255]
กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการสยามอินเทลลิเจนท์ยูนิต กล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า องค์กรอิสระต้องการถอดถอนยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อสร้างช่องว่างแห่งอำนาจ โดยอ้างว่า ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แล้วจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามอำเภอใจ[252] สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับคำวินิจฉัย แต่สลดใจมาก[256] ขณะที่สดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการแช่แข็งประเทศ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้มากเพื่อ "นำประชาธิปไตยกลับคืนมา"[257]
พรรคเพื่อไทยแสดงความเสียใจต่อคำวินิจฉัย และกล่าวว่า ประเทศได้สูญเสียโอกาสที่จะก้าวเดินต่อไป และศาลได้สร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องเพื่อเปิดให้ล้มการเลือกตั้งทั้งหมดได้ด้วยการสร้างความปั่นป่วนที่หน่วยเลือกตั้งเพียงบางแห่งเท่านั้น[252][258] ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า "เป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปหากใครอยากล้มการเลือกตั้ง ให้หาคนออกมาประท้วงปิดถนนล้อมหน่วยเลือกตั้งไม่ให้มีการสมัครสัก 28 เขต แค่นี้การเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ"[259]
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 นั้นเอง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งใช้คำขวัญว่า "โปรดเคารพอนาคตของเรา" (Respect My Future) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ประชาธิปไตยได้ตายลงแล้ว[260] ส่วนประชาชนอีกกลุ่มจัดกิจกรรมชื่อ "เคารพเสียงของเรา" (Respect My Vote) ที่หน้าบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่ทำการเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการลาออกเพราะ "ทำลายคุณค่าของเสียงประชาชน"[261] ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคเพื่อไทยแต่งดำเป็นเวลาหกวัน เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ตุลาการหกคนที่ลงมติล้มการเลือกตั้ง[262] และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ร่วมแต่งดำด้วย[263]
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีคำวินิจฉัย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ได้เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับการปรึกษาพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรีและกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเสนอว่าไม่ควรจะเร่งรีบเพราะอาจจะนำไปสู่การโมฆะอีกครั้ง
ทาง กปปส. โดยเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ได้แถลงในวันเดียวกันหลังจากมีคำวินิจฉัยว่า กปปส. ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นว่ารัฐบาลดื้อดึงที่จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่อย่างไรก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส่วนสุเทพนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ ต่อคำวินิจฉัย[264]
อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยินดีกับคำวินิจฉัยนี้[265] และยืนยันว่า จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งต่อไป ๆ อีกจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาประชาชน[51][52]
การประท้วงดำเนินต่อและความรุนแรง
[แก้]คดีการข่มขู่ ความรุนแรงและความผิดอาญาซึ่งการ์ดและผู้สนับสนุน กปปส. เป็นผู้ก่อ ถูกสาธารณะรายงาน ตำรวจจับกุมชายผู้รับสารภาพว่าได้รับว่าจ้างจาก กปปส. ให้ยิงใส่ผู้ประท้วงนิยมรัฐบาลในวันก่อนการเลือกตั้งที่เขตหลักสี่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บเจ็ดคน และชายคนหนึ่งเป็นอัมพาต "มือปืนป๊อปคอร์น" ซึ่งยิงปืนเล็กยาวเอ็ม16 ยังยอมรับว่า หัวหน้าการ์ด กปปส. ให้ปืนเขา[204][205] ศาลออกหมายจับอิสระ สมชัย อดีตสมาชิกสภาผูแทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส. และรักษาความปลอดภัย กปปส. ห้าคน เขาถูกกล่าวหาว่าสั่งการ์ดให้กักขัง ทุบตีและฆ่าพลเรือนคนหนึ่งหลังพบว่ามีบัตรผู้สนับสนุนเสื้อแดง มีการกล่าวหาว่า ชายคนนั้นถูกการ์ดผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลาห้าวัน ถูกทุบตี จับมัดและทิ้งลงแม่น้ำบางปะกง[266][267] ผู้สนับสนุน กปปส. ชื่อ "ลิตเติลซัดดัม" ซึ่งถูกถ่ายภาพขณะบีบคอชายที่พยายามออกเสียงลงคะแนน ก็กำลังถูกค้นหา[268][269][270]
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศูนย์รักษาความสงบ โดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงว่าจับ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล และนายทศพล แก้วทิมา พร้อมการ์ดและผู้ร่วมกระทำผิดอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็นจำนวน 144 คน เป็นชาย 96 คน และหญิง 48 คน และจะดำเนินคดีตามความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และมาตรา 11[271]ศูนย์รักษาความสงบแถลงว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 18 รายจากอาวุธปืนและเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557 กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล กปปส. นำโดยสุเทพ เดินขบวนรอบถนนกรุงเทพมหานคร จากสวนลุมพินีไปยังลานพระบรมรูปและรัฐสภา แล้วกลับมาสวนลุมพินีเพื่อยืนยันท่าทีว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งทั่วไป[272] ขณะที่พรรคการเมือง 53 พรรคเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45–60 วัน พรรคประชาธิปัตย์รับท่าทีของสุเทพ ซึ่งว่า พรรครัฐบาลเพื่อไทยจะใช้อำนาจที่ได้จากการเลืกอตั้งใหม่ผ่านกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทว่า พรรคไม่อธิบายเพิ่มเติมถึงการเข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีแผน[272][273]วันที่ 1 เมษายน 2557 มีผู้ใช้อาวุธปืนยิง ส.อ.วสันต์ คำวงศ์ เสียชีวิต บริเวณทางด่วนแจ้งวัฒนะ
ณ เวทีชุมนุม กปปส. ที่สวนลุมพินีเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557 สุเทพปราศรัยผู้ชุมนุมและวางยุทธศาสตร์ในการรณรงค์เพื่อถอดถอนยิ่งลักษณ์จากบทบาทรักษาการนายกรัฐมนตรี เขาเรียกร้องให้เครือข่ายท้องถิ่น กปปส. รวบรวมรายชื่อสมาชิกทั่วประเทศและ "รอวันเผด็จศึก" โดยอธิบายต่อว่าเขาจะนำ "การต่อสู้ยืดเยื้อ" ซึ่งจะกินเวลา "อย่างน้อย 15 วัน" ผลลัพธ์ของทั้งสองเหตุการณ์ถูกนำเสนอว่าสำคัญต่อแนวทางการปฏิบัติในอนาคตของสุเทพ คือ คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ต่อยิ่งลักษณ์และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ายิ่งลักษณ์ละเมิดรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ในกรณี ป.ป.ช. วินิจฉัยว่ามีความผิด สุเทพขอให้ผู้สนับสนุนรอคำสั่งต่อไป ทว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์มี่ความผิด สุเทพเรียกร้องให้มีการระดมมวลชนทันทีเพื่อให้เขาสวมบทบาท "องค์อธิปัตย์" เพื่อออกกฎบัตรใหม่ คล้ายกับผู้เผด็จการทหารในคริสต์ทศวรรษ 1960 สุเทพแถลงเป็นการยืนยันว่า "ผมจะสามารถสั่งให้ประหารใครก็ได้ด้วยชุดยิง แต่ผมจะเพียงอายัดทรัพย์สินเท่านั้น" หากเขาครองตำแหน่งปกครอง สุเทพแถลงว่า เขามีแผนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามดุลยพินิจของตน ตามด้วยการกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เขาสามารถแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและ "สภาประชาชน" องค์กรนิติบัญญัติซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งทั้งคู่ เพื่อดำเนินการ "ปฏิรูป" ประเทศ สุเทพยังแสดงการผูกมัดคืนอำนาจให้ประชาชนชาวไทยหลังนำการปฏิรูปไปปฏิบัติ แต่พูดถึงการประท้วงบนท้องถนนต่อไปหากรัฐบาลที่เขาแต่งตั้งไม่สามารถนำการปฏิรูปที่ กปปส. ชี้นำไปปฏิบัติได้สำเร็จ[274]
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ทราบชื่อหนึ่งรายคือ นาย ศิริชัย เชียงแสน[275]
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงกราดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ได้แก่ น.ส.ม่านฟ้า มุสิกะสินธร และ น.ส.ภาวิณี อุ่นเดช เนื่องจากถูกยิงเข้าที่หลัง บาดเจ็บ 3 ราย ได้แก่ น.ส.รุ่งอรุณ รถหวั่น นาย ศักดิ์ดา จำปาวงศ์ นาย ฤทธิชัย ช้างงาม [276]
วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 พ.อ.วิทวัส วัฒนกุล รองผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ สํานักวิเทศสัมพันธ์ กรมข่าวทหาร (กวส.สวส.ขว.ทหาร) กำลังรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่วางใกล้จุดประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่บริเวณ ซอย 7 ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะเมื่อการ์ดยิงปืนใส่เขา การโจมตีจบลงเมื่อการ์ดดูบัตรระบุรูปพรรณทหารของเขา[277]
วันที่ 1 พฤษภาคม เวลาประมาณ 22.00 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด M79 ใส่เวทีชุมนุม กปปส.แจ้งวัฒนะ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเป็นชายได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย และถูกส่งตัวมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ทราบชื่อคือนายอติเทพ อ่อนจันทร์ [278]
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดเหตุการณ์ลอบยิง กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ นายนรายศ จันทร์เพ็ชร นายสมควร นวนขนาย และ นายมารุต เที่ยงลิ้ม
คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง
[แก้]วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปเป็นเลขาธิการฯ แทนถวิล ต่อมาพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พันตำรวจโท ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถวิลร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการย้ายนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมว่า การย้ายนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ดุลยพินิจของการย้ายนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร เพราะไม่ปรากฏว่าถวิลปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือผิดพลาดหรือไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาล ศาลสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีย้ายถวิลกลับตำแหน่งเดิมภายในสี่สิบห้าวัน[279] สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศการย้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 30 กันยายน 2554[280]
ต่อมา ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าการย้ายถวิลเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงกิจการปกติของรัฐบาล เอื้อประโยชน์ต่อสกุลชินวัตรหรือพรรคเพื่อไทย รัฐธรรมนูญห้ามมิให้ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือรัฐมนตรี แทรกแซงกับกิจการปกติของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือพรรคการเมือง รวมทั้งการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง ลดตำแหน่งข้าราชการ หรือให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง[281]
วันที่ 3 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญตกลงรับวินิจฉัยคดี และสั่งให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงภายในสิบห้าวัน[281] มีการไต่สวนนัดสุดท้ายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557[282] และมีคำวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้นทันทีคือ 7 พฤษภาคม 2557 ซึ่งชี้ว่านายกรัฐมนตรียังสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เพราะความเป็นรัฐมนตรียังคงมีอยู่ จนกว่ามีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ศาลวินิจฉัยว่าการย้ายถวิล เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี โดยว่า "พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ เป็นลุงของหลานอาของผู้ถูกร้อง ย่อมถือว่าเป็นเครือญาติของผู้ถูกร้อง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาอำพรางหรือแอบแฝง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)[283]" [284]
ศาลมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ศาลยังถอดถอนรัฐมนตรีอื่นอีกเก้าคน ที่ลงมติเห็นชอบการย้ายนี้[285][286] ซึ่งได้แก่ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี, กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[287]
มีการจัดการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดรอบบริเวณศาล ระหว่างคำแถลงคำวินิจฉัยที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ และตุลาการออกจากศาลทันทีหลังคำแถลง[288] และมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 13 พฤษภาคม 2557[288] โดยศาลดูเหมือนกลับบรรทัดฐานของตนเอง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลยกฟ้องคำร้องคล้ายกันต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอ้างเหตุผลว่า เขาออกจากตำแหน่งเมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎร[289][290] นิวยอร์กไทมส์ยังแสดงความเห็นว่า ศาลบรรลุคำวินิจฉัยด้วย "ความเร็วผิดปกติ" เพราะมีคำวินิจฉัยเพียงหนึ่งวันหลังจากยิ่งลักษณ์ให้การต่อศาล[289] ด้านเดอะวอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า มูลเหตุการถอดถอนยิ่งลักษณ์นั้น "ค่อนข้างคลุมเครือ"[291]
หลังฟังคำวินิจฉัย ยิ่งลักษณ์ออกมาแถลงการณ์ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[291] รัฐมนตรีที่เหลือเลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี[292] ประธาน นปช.อธิบายคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าเป็น "รัฐประหารโดยตุลาการ" และว่าพวกตนจะยังคงนัดหมายชุมนุม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ตามกำหนดเดิม[291]
การชุมนุมขับไล่รัฐบาลหลังถอดถอนนายกรัฐมนตรี
[แก้]สุเทพเปิดฉากการประท้วงที่เรียกว่า "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" ด้วยระงับการสื่อข้อมูลจากภาครัฐ ตั้งแต่หลังเวลา 09.00 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคม แกนนำระดับรองนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปประท้วงยังที่ทำการของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อกในส่วนกลาง ได้แก่ ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี และเอ็นบีที แล้วค้างคืนที่นั่นเพื่อให้แน่ใจว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่รายงานข่าวเบี่ยงเบนไปจากความจริง อย่างที่เคยกระทำ ซึ่ง สื่อเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และต้องโน้มน้าวไม่ให้รายงานโฆษณาชวนเชื่อนิยมรัฐบาลอีกต่อไป เพราะเป็นการบิดเบือนความจริง โดยสุเทพตั้งใจขอความร่วมมือจากช่องโทรทัศน์เหล่านี้ให้แพร่ภาพคำแถลงของตนเมื่อได้ "ชัยชนะ" แล้ว ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นฝั่งรัฐบาล และสนับสนุนฝากทักษินและเครือข่าย ได้ประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ว่า ผู้ชุมนุมกำลังคุกคามสิทธิพื้นฐานของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลโดยปราศจากการแทรกแซง การรณรงค์คุกคามนี้ยังเคยเกิดขึ้นช่วงรณรงค์ปิดกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ด้วย[293] [294][295] [296]
ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมอันมีพระสุวิทย์ ธีรธมฺโมเป็นผู้นำ เดินขบวนไปยังสโมสรตำรวจ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยเกิดความรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ ผู้ประท้วงรื้อรั้วลวดหนาม และเรียกร้องให้ ศอ.รส. ส่งผู้แทนมาเจรจากับพวกตนภายใน 5 นาที หลังเวลาผ่านไปตามคำขาด ผู้ประท้วงก็บุกรุกเข้าไป ทำให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่จนผู้ประท้วงถอย ทำให้มีผู้ชุมนุม 4 คนบาดเจ็บ รวมทั้งพระสุวิทย์ ซึ่งปรากฏข่าวว่าอาพาธ ในวันที่ 10 พฤษภาคม[297]
รัฐประหาร
[แก้]เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกในรูปของประกาศกองทัพบก โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 หลังประกาศกฎอัยการศึกแล้ว พลเอก ประยุทธ์ สั่งยุบ ศอ.รส. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลรักษาการ แล้วตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) โดยเป็นผู้บังคับบัญชาเอง กอ.รส. และสามารถเชิญตัวบุคคลมารายงานตัวได้ พลเอกประยุทธ์ยังสั่งให้ตำรวจ กองทัพเรือ กองทัพอากาศและกระทรวงกลาโหมอยู่ในบังคับของ กอ.รส.[298]
ในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ทุกแห่ง[299] และมีการปิดกั้นถนนสายหลัก[300] เจ้าหน้าที่ยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากผู้ประท้วง กปปส.[301] และยังยึดสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในกรุงเทพมหานครและบางส่วนของประเทศ[302][303] ก่อนปิดบางสถานี รวมทั้งสถานีของ กปปส. และ นปช.[304] ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์สั่งให้สื่อทั้งหมดแทนที่รายการปกติด้วยรายการของ กอ.รส. ทุกเมื่อตามที่เขาต้องการ[305] และกำหนดการห้ามเผยแพร่สารสนเทศที่อาจกระทบภารกิจของทหาร[306] เขายังสั่งให้หัวหน้าส่วนราชการทุกคนรายงานต่อเขา[307]
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์[308]
รัฐบาลรักษาการแถลงว่า ไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของกองทัพ ทว่า กองทัพแถลงว่าท่าทีดังกล่าวมิใช่รัฐประหาร[309]
ทว่า ในเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ ประกาศผ่านการประกาศทางโทรทัศน์ว่า กองทัพควบคุมประเทศแล้ว[310] เป็นรัฐประหารต่อรัฐบาลรักษาการอย่างเป็นทางการ และมีการจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองขึ้น หลังรัฐประหารเมื่อเวลา 16:30 น. ผู้ประท้วง กปปส. แสดงความยินดีต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ และรอท่าของแกนนำ แต่ระหว่างที่รอนั้นก็มีประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอนตัวออกจากสถานที่ดังกล่าว จนในที่สุดทั้งกลุ่ม นปช. และกลุ่ม กปปส. ก็ถอนตัวออกจากพื้นที่ตามคำสั่ง[311]
คสช. จับสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมือง หลังเชิญตัวมายังสโมสรทหารบกที่ถนนวิภาวดีรังสิตแล้วถูกนำตัวไปกักขังที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์[312] ภายหลัง คสช.สั่งห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[313] ทั้งออกประกาศฉบับที่ 11/2557ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และ คสช. ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่[314]
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส. เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร[315] ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"[316]
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ผู้จัดการรายวัน เขียนว่า รัฐประหารรอบนี้จะต้องไม่เพียงหยุดความขัดแย้งทางการเมืองชั่วคราว ต้องถอนรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" และต้องประคองอยู่ใน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" โดยมี คสช. หรือองค์การสืบทอดอยู่ในอำนาจอีกอย่างน้อย 5 ปี[317]
ผู้เสียชีวิต
[แก้]มีผู้เสียชีวิตในระหว่างการชุมนุมทุกเหตุการณ์ทั้งหมด 36 ราย[318]
บุคคล
|
|
|
ปฏิกิริยา
[แก้]รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
[แก้]กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้รับผิดชอบ ในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ตามประกาศลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556[322] ออกคำสั่งที่ 404/2556 ลงวันเดียวกัน เพื่อให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. มีภารกิจในการป้องกันปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ดังกล่าว โดยมอบหมายให้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ[323] ต่อมา มีการออกประกาศอีกสองฉบับ เพื่อขยายกำหนดผลบังคับใช้ และขยายเขตพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ฯ ลงวันที่ 18 ตุลาคม[324], วันที่ 25 พฤศจิกายน[325] และวันที่ 25 ธันวาคม[326] รวมถึงออกคำสั่ง กอ.รมน.อีกสองฉบับ เพื่อกำหนดให้ ศอ.รส.ยังคงเป็นศูนย์อำนวยการฯ ต่อไป ลงวันที่ 18 ตุลาคม[327][328], วันที่ 26 พฤศจิกายน[329] วันที่ 26 ธันวาคม[330]
ทั้งนี้ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน มีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ประกาศตนเป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. ก่อนที่ต่อมา เมื่อเวลา 11:30 น. วันที่ 2 ธันวาคม พลตำรวจเอก ประชา กับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าว ใจความสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแลงานของ ศอ.รส. เพื่อเป็นผู้ทำความเข้าใจ กับนานาประเทศให้รับทราบ และเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง ตนจึงขอมอบหน้าที่กำกับดูแลงาน ศอ.รส.ให้แก่สุรพงษ์ เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[331]
เมื่อมีการปิดกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 กระทรวงคมนาคมเปิดเว็บไซต์ ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เพื่อรวบรวม บริการขนส่งมวลชน การเดินทาง จุดเชื่อมต่อ เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา จุดจอดรถยนต์ เพื่อเดินทางต่อโดยระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนสามารถตรวจสอบ จุดจอดรถ และจุดให้บริการขนส่งสาธารณะ ระหว่างการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส.[332]
ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลบังคับใช้ ระหว่างวันที่ 22 มกราคม ถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่มีแนวโน้ม จะรุนแรงยิ่งขึ้นต่อจากนี้ เนื่องจากยังคงมีกลุ่มบุคคล ที่ก่อความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน คำสั่งและหมายของศาล ยุยงให้ประชาชนบุกรุก และยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ตัดน้ำประปาและไฟฟ้า ปิดระบบฐานข้อมูล พยายามจะเข้าควบคุมตัวผู้บริหาร หรือบุคคลสำคัญซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนใช้กำลังขัดขวางการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งกำลังจะจัดให้มีขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 อันกระทบต่ออำนาจอธิปไตย และสิทธิของปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่ม ก่อเหตุร้ายต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหาย และไม่ปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน ในสถานการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลยุยงประชาชน ให้ละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้นอย่างยืดเยื้อ เพื่อก่อให้เกิด ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหาย หรือไม่ปลอดภัย ต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สงบ และมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งหน่วยงาน กำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. และมีกรรมการประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[333] ซึ่งแตกต่างจากอดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ตั้งชื่อหน่วยงานกำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 นั้นว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ[334]
ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการชุมนุม
[แก้]- พลอากาศเอก กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ, นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ พันโท กมล ประจวบเหมาะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงข่าว ถึงสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมทั้งประกาศจัดตั้ง กลุ่มนายทหารตำรวจนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นกภป.) โดยมี พลอากาศเอก กันต์ เป็นประธาน[335]
- องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน
พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์
[แก้]ตามที่ปรากฏเป็นข่าว พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นอนุวงศ์พระองค์หนึ่ง ที่สนับสนุน กปปส.และการชุมนุม อย่างเปิดเผย[336][337][338]
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงโพสต์พระฉายาลักษณ์ซึ่งทรงถักเปียด้วยโบสีธงชาติไทยลงในอินสตาแกรม
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
[แก้]สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
[แก้]
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยกลุ่มนักวิชาการกว่า 150 คนซึ่งร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และมีการจัดแถลงข่าว เมื่อเวลา 13:00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ, รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์[339], รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และ อาจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ[340]
โดยมีจุดยืนร่วมกันในเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพไทยแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมทั้งเผยแพร่คำขวัญของกลุ่มว่า "เคารพกติกาประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มอบอำนาจให้คนกลาง" และออกเป็น 3 ข้อเสนอหลัก ดังต่อไปนี้
- การก่อตั้งสภาประชาชน ด้วยการอ้างอิงมาตรา 3 ถือว่า ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ไม่สามารถทำได้
- ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังยุบสภา ตามมาตรา 7 เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
- เสนอการร่วมออกแบบการทำประชามติ ในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม
โดยในจำนวนผู้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 มีนักวิชาการที่สำคัญหลายท่าน อาทิเช่น ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, รองศาสตราจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ , ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร , รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข , รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล , รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา , รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ , รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ , ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี , รองศาสตราจารย์ ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรกริช สังขมณี เป็นต้น[340]
นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย อุเชนทร์ เชียงเสน (นักกิจกรรม) , วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (นักเขียน และสื่อมวลชน), วาด รวี (นักเขียน), ปราบดา หยุ่น (นักเขียน), ซะการีย์ยา อมตยา (นักเขียน), ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (สื่อมวลชน), อัลเบอท ปอทเจส (นักเขียน นักแปล ) เป็นต้น[340]
รวมทั้งมีการเปิดหน้าแฟนเพจทางเฟซบุ๊กชื่อ "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" เพื่อเป็นสื่อกลาง
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม โดยมีรายชื่อของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ สาวตรี สุขศรี[341]นักวิชาการกลุ่มดังกล่าว
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ถูกตำรวจออกหมายเรียกให้ไปพบที่สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่[342]และ
ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ถูกทหารเรียกให้ไปรายงานตัวที่ ค่ายกาวิละ[343]
กลุ่มคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.
[แก้]ในเครือข่ายสังคม มีการตั้งกลุ่ม "คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับ กปปส." ในเว็บไซต์ change.org เพื่อรณรงค์ให้สุเทพ ยุติการชุมนุม และเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[344]
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
[แก้]กลุ่มดังกล่าวมีการแสดงความเห็นด้วยต่อพรบ.นิรโทษกรรม[345]เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 กลุ่มนี้จัดชุมนุม หน้าศาลอาญาในวันที่ 11 สิงหาคม 2556 นำโดย ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธุ์ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย[346]
พอกันที ! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง
[แก้]เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน มีกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ จัดโดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ภายในงานมีกิจกรรมเขียนโพสต์อิต แสดงความในใจ ต่อสถานการณ์ทางการเมือง มีเวทีเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปราศรัย คนละ 5 นาที ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมให้หลายคนให้ความสนใจ จากนั้นมีการแจกเทียนให้ผู้ชุมนุมคนละ 1 เล่ม และร่วมกันแปรอักษรภาพมนุษย์ เป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพ และจุดเทียน พร้อมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ หยุดการณ์ชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง และตะโกนคำว่า พอกันที เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง อยู่นานหลายนาที ก่อนจะแยกย้ายกันจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากที่เห็นภาพภรรยาของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และเห็นการ์ด กปปส.ที่เสียชีวิตในวันต่อมา รู้สึกอัดอั้นตันใจอยู่คนเดียว จึงตั้งแฟนเพจดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอีก โดยเรียกร้องให้มีการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้มีใครแกนนำ ไม่คิดจะยกระดับการชุมนุม โดยเชื่อว่าผู้มาร่วมชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ จะพัฒนาไปเองตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วม ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นทุกวันศุกร์ โดยครั้งแรกคือ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556[347]
ปฏิกิริยาจากนานาชาติ
[แก้]- สหประชาชาติ - นายพัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมประณามเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยย้ำว่าไม่ควรมีฝ่ายใดใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความแตกต่างและความขัดแย้งทางการเมือง และยังกล่าวอีกว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือในการหาทางออก หลังจากสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้เลขาธิการสหประชาชาติเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ย[348]
- สหรัฐ - แมรี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ขอเรียกร้องทุกฝ่าย งดเว้นความรุนแรง อดทนอดกลั้น และเคารพหลักนิติรัฐ ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ก็แสดงความชื่นชมรัฐบาลที่แสดงความอดกลั้นมาโดยตลอด โดยขณะนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่การทูต กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ประชาธิปไตย และหาทางออกทางการเมือง[349]
- สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น - ศาสตราจารย์ ดันแคน แมกคาร์โก (Duncan McCargo) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาการเมืองไทยอย่างยาวนาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ โกลบอลสแควร์ (Global Square) วิเคราะห์ถึงผู้ชุมนุมฝ่ายสุเทพ ที่เริ่มรวมตัวกันปิดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากต้องการสถาปนาพวกตนซึ่งเป็นอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ ในเมืองหลวง และเคยเป็นชนชั้นปกครองมากว่า 30 ปี กลับคืนสู่อำนาจ ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า การปฏิรูปประเทศ และกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปในระหว่างปฏิรูป ทั้งพยายามยุแยงให้ฝ่ายทหารปฏิวัติด้วย[350]
การสำรวจความคิดเห็นประชาชน
[แก้]เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,975 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม ในหัวข้อ “คนกรุงฯ กับการเข้าร่วม ปิดกรุงเทพฯ” โดยมีข้อคำถามต่าง ๆ ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วม กับการชุมนุมกลุ่ม กปปส. คปท. และ กปท. ของคนกรุงเทพมหานคร พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 71.04 ส่วนอีกร้อยละ 28.96 เคยเข้าร่วม; สำหรับการมีส่วนร่วม ชุมนุมปิดกรุงเทพฯ กับกลุ่ม กปปส. ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากระบุว่า ไม่ได้เข้าร่วม คิดเป็นร้อยละ 80.10 ส่วนอีกร้อยละ 19.90 ไปเข้าร่วมด้วย[351]
ผลกระทบ
[แก้]ด้านเศรษฐกิจ
[แก้]วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ค่าเงินบาทไทยลดลงต่ำสุดในรอบสามปีเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง[352][353] ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก ค่าเงินของไทยลดลงร้อยละ 4.6 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักร่วงลงเช่นกัน (ร้อยละ 9.1)[354]
ในด้านการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศรายงานว่ารายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2555 สมาคมพันธมิตรท่องเที่ยวไทย-จีนทำนายว่า สำหรับไตรมาสแรกของปี 2557 จำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศคาดว่าจะลดลงร้อยละ 60 จาก 900,000 คนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556[355] ซึ่งปีนั้น ชาวจีนเป็นชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด[356]
ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 วันที่สองของการ "ปิดกรุงเทพฯ" ว่า ธนาคารสาขาต่าง ๆ 135 แห่งได้รับผลกระทบ ธนาคารกล่าวว่า 36 สาขาประกาศปิดเต็มวัน ขณะที่ 99 แห่งประกาศปิดก่อนเวลาทำการปกติ[357]
ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการคลังของไทย บลูมเบิร์ก แอล.พี. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงิน 3,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เกือบ 100,000 ล้านบาท) จากตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มการประทว้งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยกำลังได้ประโยชน์และตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามเงินประมาณ 6,300 ล้านบาทว่าย้ายไปลงทุนในหลักทรัพย์อินโดนีเซียแทน[358][359] วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ แถลงว่าจำนวนผู้เดินทางมาประเทศไทยจะลดลงเหลือหนึ่งล้านคนในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรนักท่องเที่ยวปกติของเดือนมกราคม ผู้แทนจากบาร์เคลย์ บริษัทบริการธนาคารและการเงินข้ามชาติของสหราชอาณาจักร กล่าวย้ำประวัติของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและอธิบายต่อว่า "มันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น สิ่งที่กำลังเสียหายคือ การรับรู้ การลงทุนและการท่องเที่ยว ขณะนี้ทั้งหมดสามารถย้อนกลับคืนได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเสียหายบางอย่างจะกลายเป็นถาวร"[358][359]
ตามรายงานสื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ หนึ่งในศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ปริมาณลูกค้าลดลงร้อยละ 20 จากปี 2556 วันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยลดการพยากรณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2557 ลงจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3[360]
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ระบุว่า จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 นับเป็นระดับการเติบโตต่ำสุดของประเทศนับแต่ไตรมาสแรกของปี 2555 ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงว่าค่าเงินบาทอ่อนลงร้อยละ 4 นับแต่เริ่มชุมนุม โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงว่า นโยบายการเงินในวันที่ 17 กุมภาพันธ์เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประเทศแล้ว[361]
ด้านคมนาคม
[แก้]กระทรวงคมนาคมประเมินในวันที่ 13 มกราคม 2557 ว่าประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะลดลงกว่าปกติ โดยทางรถประจำทางลดลงร้อยละ 30 ผู้ให้บริการตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งว่า ประชาชนหันไปใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประเภทรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทางมากกว่า เพราะมีถนนหลายสายที่ไม่สามารถสัญจรได้ การประท้วงกระทบการเดินรถของรถโดยสารสาธารณะ 90 สาย โดยทางรถประจำทางปกติ 3.1 ล้าน เหลือ 2 ล้านคน ลดลงร้อยละ 30 ดอนเมืองโทล์เวย์ปกติ 80,000 เที่ยว เหลือ 51,000 เที่ยว ลดลงร้อยละ 46 มีเพียงเรือคลองแสนแสบที่เพิ่มขึ้นจากปกติ 47,000 คน เป็น 60,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 เรือด่วนเจ้าพระยาปกติ 35,000 เที่ยว เป็น 50,000 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 40แอร์พอร์ตลิงก์ปกติ 40,000 เที่ยว เป็น 48,000 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 บีทีเอส 700,000 เที่ยว ใกล้เคียงปกติ[362]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Protests as Thailand senators debate amnesty bill". The Guardian. 11 November 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ 2.0 2.1 "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments". BBC News. 20 November 2013. สืบค้นเมื่อ 12 January 2014. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "court_rejects_amendments" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Korotayev, Andrey; Issaev, Leonid; Zinkina, Julia (2015). "Center-Periphery Dissonance as a Possible Factor of the Revolutionary Wave of 2013-2014: A Cross-National Analysis" (PDF). Cross-Cultural Research. 49 (5). doi:10.1177/1069397115595374. ISSN 1069-3971. S2CID 36149423. สืบค้นเมื่อ 29 May 2016.
- ↑ "Where is Thailand heading after protests". BBC News. 7 March 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
There is one other crucial element in this bitter conflict, the issue of the royal succession.
- ↑ "Thailand: Seven hurt as gunmen fire on Bangkok protest". BBC News. 11 January 2014. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ "Protesters move in early for Bangkok shutdown". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่การปะทะจากเหตุชุมนุม เก็บถาวร 2014-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์เอราวัณ, 26 พฤษภาคม 2557.
- ↑ "Cool heads must prevail", Bangkok Post, 16 May 2014
- ↑ "Clashes and casualties". The Nation. 16 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 January 2019. สืบค้นเมื่อ 16 January 2014.
- ↑ ธาริตยันจับจริง สนธิญาณ แกนนำ กปปส. เล็งขอศาสควบคุมตัวต่อ เก็บถาวร 2014-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, mthai news, 12 กุมภาพันธ์ 2557
- ↑ "Thai protest leader explains demand for 'people's council'". China.org.cn. 4 December 2013. สืบค้นเมื่อ 31 May 2014.
- ↑ Young, Jeffrey Young (24 February 2014). "Turmoil in Thailand - Corruption and a Political Struggle". Voice of America. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Jones, Aidan (21 January 2014). "Thaksin corruption claims stoke Thai protest outrage". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Mark Fenn (10 January 2014). "Thailand on the Brink". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
- ↑ "Where is Thailand heading after protests?". BBC News. 7 March 2014. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
- ↑ "The path to the throne". The Economist. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Bagenal, Flora. "How the Urban-Rural Divide Became a Street War in Bangkok". Next City. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ "You go your way, I'll go mine". The Economist. 25 January 2014. สืบค้นเมื่อ 31 May 2014.
- ↑ Mith, Samak. "Thailand's Democracy Under Siege". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 27 July 2014.
- ↑ Boonmi, Thirayuth (17 October 2013). "Centralised governance the root of Thailand's woes". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Rojanaphruk, Pravit (31 July 2013). "Centralisation of power 'behind social ills'". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Shawn W Crispin (30 January 2014). "No deal behind Thailand's polls". Asia Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-30. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
- ↑ Brian Rex (11 February 2014). "Thai princess uses social media to 'declare war': Photos posted by Princess Chulabhorn Mahidol widely interpreted as a sign of her support for anti-government protesters". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
- ↑ Thongchai Winichakul (26 December 2013). "The antidemocratic roots of the Thai protesters". Al Jazeera America.
- ↑ "Powerful forces revealed behind Thai protest movement". Reuters. 13 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-29. สืบค้นเมื่อ 28 March 2014.
- ↑ Vorng, Sophorntavy. "Status City: Consumption, Identity, and Middle Class Culture in Contemporary Bangkok". Asian Correspondent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Saxer, Marc (23 January 2014). "How Thailand's Middle Class Rage Threatens Democracy". Social Europe Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-02. สืบค้นเมื่อ 30 May 2014.
- ↑ Ungpakorn, Giles. "The 19th August Constitutional Referendum Process is Undemocratic". Prachatai English. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ "ศาล รธน. รับคำร้องวิรัตน์วินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญ" [Charter court accepted to rule on Wirat's request for invalidation of amendment to section 190 of the Constitution on grounds of unconstitutionality]. Manager. 2013-11-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-21. สืบค้นเมื่อ 2014-02-05.
- ↑ "เพื่อไทยยันขอถวายคืนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ - เดลินิวส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-01. สืบค้นเมื่อ 2021-11-22.
- ↑ นายกฯขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างรธน..[ลิงก์เสีย]
- ↑ 32.0 32.1 Wongruang, Piyaporn; Thip-Osod, Manop (1 December 2013). "One killed as 'V-Day' eve violence erupts". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ 33.0 33.1 33.2 "Updated toll: 4 dead, 57 wounded". Bangkok Post. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "119 injured in Monday's clashes". Bangkok Post. 3 December 2013. สืบค้นเมื่อ 3 December 2013.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Academics brand people's council 'fascism'". The Bangkok Post. 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ "Thailand's anti-democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S." The Washington Post. 15 January 2014. สืบค้นเมื่อ 22 January 2014.
- ↑ 37.0 37.1 "Protest leader Suthep declares Bangkok seizure after New Year". ASEAN Affairs. TIME International Management Enterprises Co., Ltd. 28 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-06. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Bangkok Shutdown starts early". Bangkok Post. 13 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Thai 'red-shirt' leader shot as emergency rule begins". BBC News. 22 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
- ↑ "First casualty: Shots fired, man down". Bangkok Post. 13 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ More bombings and gunfire rock anti-government protests". Thai PBS. 17 January 2014. Retrieved 19 January 2014.เก็บถาวร 2014-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Another daylight blast wounds 28 ralliers". Bangkok Post. 20 January 2014. Retrieved 20 January 2014.
- ↑ "Thailand declares Bangkok state of emergency". Al Jazeera. 21 January 2014. สืบค้นเมื่อ 24 January 2014.
- ↑ "EC cancels many polling units". Bangkok Post. 26 January 2014. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- ↑ "Yingluck commits to Feb 2 election". Bangkok Post. 28 January 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
- ↑ Indo Asian News Service (5 February 2014). "46.79 percent turnout in Thailand election". Yahoo! News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
- ↑ 'สุเทพ'ประกาศยกเลิกชัตดาวน์กทม. เก็บถาวร 2014-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คม ชัด ลึก, 25 มีนาคม 2557
- ↑ ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน[ลิงก์เสีย], โพสต์ทูเดย์, 18 มีนาคม 2557
- ↑ "Breaking News: เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ โมฆะ มติศาล รธน. 6 ต่อ 3" [Breaking News: Charter court, by 6 votes to 3, invalidated 2 Feb election]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "Constitutional Court nullifies Feb 2 election". The Nation. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-24. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ 51.0 51.1 "กปปส. ลั่นทำให้การ ลต. ครั้งใหม่เป็นโมฆะเหมือน 2 ก.พ." [PDRC vows to cause new elections invalid in the same way as the 2 Feb election]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ 52.0 52.1 "Thai court rules general election invalid". BBC. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๕๗ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ระหว่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะ รวม ๒๘ คน ผู้ร้อง กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง
- ↑ 'ประยุทธ์' ประกาศกฎอัยการศึก มีผลตี 3 ทหารพรึบสถานีโทรทัศน์ ไทยรัฐ
- ↑ ‘อดุลย์′ชี้ระเบิดลูกเกลี้ยงบึ้มบรรทัดทอง ‘จรัมพร′สันนิษฐานของรัสเซีย-จีน รัศมี 15 ม., ข่าวมติชนออนไลน์, 17 มกราคม 2557.
- ↑ สรุปจำนวนผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ขว้าง วัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิด บริเวณถนนบรรทัดทอง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 : ข้อมูลวันที่ 20 มกราคม 2557 เวลา 12:00 น. เก็บถาวร 2014-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร.
- ↑ ป่วนกาล่วงหน้า-ซัลโวดับแกนนำ กปท., ไทยรัฐออนไลน์, 27 มกราคม 2557.
- ↑ กลุ่มกปปส.ปิดเขตดินแดง ชาวบ้านไม่พอใจโดนม็อบปาหินใส่[ลิงก์เสีย], ข่าวสด, 6 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ ด่วน! ศาลอนุมัติหมายจับ 19 แกนนำ กปปส.ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เก็บถาวร 2014-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์, 5 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ สธ.เผยบาดเจ็บเหตุปะทะรวม 71 ราย เป็น ตร.19 พลเรือน 52 ดับ 5, ข่าวมติชนออนไลน์, 19 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๕๗ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ระหว่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะ รวม ๒๘ คน ผู้ร้อง กับ นางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-14. สืบค้นเมื่อ 2018-12-24.
- ↑ Mongkol Bangprapa; Manop Thip Osod; Aekarach Sattaburuth (9 August 2013). "Amnesty bill cruises first reading". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
- ↑ "ด่วนที่สุด เรื่อง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชน พ.ศ. ..." (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2017-03-02.
- ↑ Thitinan Pongsudhirak (9 August 2013). "Street rallies yield to parliamentary process". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
- ↑ Mongkol Bangprapa (18 October 2013). "Amnesty bill revision slammed". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
- ↑ วุฒิสภามีมติคว่ำร่างนิรโทษกรรม - โพสต์ทูเดย์ ข่าวการเมือง[ลิงก์เสีย]
- ↑ Thomas Fuller (2013-11-20). "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments". BBC. 2013-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ Warangkana Chomchuen (2013-11-20). "Thai Court Rules Against Constitution Amendment". Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ "Constitutional Court says charter amendments unconstitutional". The Nation. 2013-11-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ Nantawat Boramanand (2013-12-15). "บ้านเมืองที่ไร้กติกา" [Land without rules]. Pub-Law. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการป.ป.ช. และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โต้แย้ง" [Charter court incompetent to decide on constitutional amendment, said Somlak Chadkrabuanpol, former Supreme Court judge, former NACC member and Thammasat lecturer in judicial systems and court constitution]. Khaosod. 2013-12-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-04. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ Phinphaka Ngamsom and Bandit Ueawatthananukun (2014-01-09). "วรเจตน์ ภาคีรัตน์: วินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ความน่าเอือมระอาของศาลรัฐธรรมนูญ" [Worachet Pakeerut: Rule without power - Weariness caused by Charter Court]. Prachatai. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ "'เอกชัย' ยัน ศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้ รธน" [Instructor Ekkachai insists, charter court incompetent to rule on constitutional amendment]. Bangkok Biz. 2013-11-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
- ↑ "312 MPs, senators reject Constitution Court's decision before it's made". Bangkok Post. 19 November 2013. สืบค้นเมื่อ 12 January 2014.
- ↑ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย สมาชิกพรรคเพื่อไทย
- ↑ "นายกฯ ขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างแก้ไขรธนที่มา สว. แล้ว" [PM withdrew the draft constitution amendment on senatorial instatement from the King]. ThaiPBS. 8 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-14. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013.
- ↑ "Thai anti-graft panel to charge hundreds of MPs". Channel NewsAsia. 7 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-12. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
- ↑ "Thai Game Plan: Drive Shinawatras into Exile". BBC News. 30 June 2014. สืบค้นเมื่อ 3 July 2014.
- ↑ ศาลชี้พรบ.กู้2ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ
- ↑ Campbell, Charlie (2013-11-01). "Thailand's Amnesty Bill Unites Political Foes Against Government | TIME.com". World.time.com. สืบค้นเมื่อ 2014-05-13.
- ↑ "Insight: How Thaksin's meddling sparked a new Thai crisis for PM sister". Reuteurs. 30 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-05. สืบค้นเมื่อ 2 May 2014.
- ↑ "Ex-Thai PM Abhisit and Former Deputy Charged With Murder". Time. 29 October 2013. สืบค้นเมื่อ 16 January 2014.
- ↑ "Thailand: anti-Thaksin protesters set new targets after amnesty bill defeat". The Guardian. 12 November 2013. สืบค้นเมื่อ 13 January 2014.
- ↑ "Poll: Most want an end to protests". Bangkok Post. 13 November 2013. สืบค้นเมื่อ 12 January 2014.
- ↑ Mongkol Bangprapa (12 November 2013). "Senators shoot down blanket amnesty bill". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2013.
- ↑ "Thailand protests day four: Momentum builds in Bangkok". BBC News. 27 November 2013.
- ↑ 'สุเทพ'งัด4มาตรการอารยะขัดขืนสู้รัฐบาล[ลิงก์เสีย]
- ↑ "'สุเทพ' นำทีม '8 ส.ส.ปชป.' ไหว้แม่พระธรณี-ร.7 ก่อนยื่นใบลาออก กร้าว! ยกระดับการชุมนุมอีกแน่ ไม่หวั่นถูกจับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2013-12-28.
- ↑ สุเทพยกระดับโค่นระบอบทักษิณแล้ว[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Suthep declares 'people's revolt'". Bangkok Post. 30 November 2013. สืบค้นเมื่อ 14 January 2014.
- ↑ LPG ที่ สนพ. – ปตท. ไม่ได้พูดถึง[ลิงก์เสีย]
- ↑ บริการค้นหาข้อมูลคดีศาลอาญา[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Tens of thousands join anti-government rally". Bangkok Post. 24 November 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Protesters storm key ministries". Bangkok Post. 26 November 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ แกนนำ กปท.ปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย
- ↑ Amy Sawitta Lefevre (27 November 2013). "Thai protesters move on more ministries; central bank cuts rates". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-30. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ เก็บตกม็อบยึดกระทรวง
- ↑ Warangkana Chomchuen; Wilawan Watcharasakwet (1 December 2013). "Two Killed in Thai Clashes, Protesters Vow to Storm State Buildings". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ บริการค้นข้อมูลคดี ศาลอาญา[ลิงก์เสีย]
- ↑ "BBC News - What is behind Thailand's political turmoil?". Bbc.com. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-13.
- ↑ สรุปเหตุปะทะม.รามเสียชีวิต5-ไม่มีสไนเปอร์
- ↑ "One killed as 'V-Day' eve violence erupts". Thephuketnews.com. 2013-12-01. สืบค้นเมื่อ 2014-05-13.
- ↑ "Red-shirt leaders end rally". Bangkok Post. Agence France-Presse. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Thailand clashes: PM forced to flee as violent demonstrations escalate". The Guardian. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ Amy Sawitta Lefevre (1 December 2013). "Thai protesters step up action, PM forced to leave building". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Protesters take control of Thai PBS". Bangkok Post. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Thailand police fend off mass protests in Bangkok". BBC. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Media groups condemn protest threats". Bangkok Post. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ 110.0 110.1 "Thai Security Chief claims protesters have not seized state buildings". Voice of Russia. 1 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-06. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Suthep gives PM ultimatum before military leaders". Bangkok Post. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ "Thai PM flees police compound as protesters launch 'people's coup'; at least four dead". NBC News. 1 December 2013. สืบค้นเมื่อ 25 March 2014.
- ↑ "CNN:Tensions Ease in Thailand as Police Remove Barriers". 2013.
- ↑ "บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น-ร่มเย็นมาช้านาน" พระราชดำรัส "ในหลวง" ทรงขอคนไทยตระหนัก "หน้าที่" เพื่อส่วนรวม, ข่าวมติชนออนไลน์, 5 ธันวาคม 2556.
- ↑ 115.0 115.1 "Thai PM Urges Protesters to Take Part in Election". The New York Times. Reuters. 10 December 2013. สืบค้นเมื่อ 15 December 2013.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Pradit Ruangdit; Penchan Charoensuthipan; Wassana Nanuam (9 December 2013). "Democrat MPs resign en masse". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 9 December 2013.
- ↑ "Thai prime minister dissolves parliament" [นายกฯ ไทยยุบสภา]. Al Jazeera. 9 December 2013. สืบค้นเมื่อ 15 December 2013.
- ↑ 118.0 118.1 "Prayuth says army neutral". Bangkok Post. 30 November 2013. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
- ↑ Buranakanokthanasan, Wirat (21 December 2013). "Thai opposition party to boycott election". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ บริการค้นข้อมูลคดี ศาลอาญา[ลิงก์เสีย]
- ↑ Olarn, Kocha (22 December 2013). "Tens of thousands of anti-government protesters march in Bangkok". CNN. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ Phoonphongphiphat, Apornrath (22 December 2013). "Protesters gather across Thai capital, demand PM resigns". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-25. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ Thanarak Khoonton (22 December 2013). "Suthep: Protesters to block EC registration". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 23 December 2013.
- ↑ ม็อบกปปส.พยายามทำร้ายนักข่าวสาวช่อง3-9[ลิงก์เสีย]
- ↑ 125.0 125.1 Jinda Wedel (27 December 2013). "Thai Army Chief Urges Calm, Doesn't Rule out Coup". ABC News. สืบค้นเมื่อ 28 December 2013.
- ↑ ตร.เจ็บขณะปะทะที่ ก.แรงงาน 26 ธ.ค. เสียชีวิตแล้ว
- ↑ CHRIS BRUMMITT; PAPITCHAYA BOONNGOK (26 December 2013). "Thai election body urges delay in polls amid clash". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 26 December 2013.
- ↑ MCOT (31 December 2013). "53 political parties contesting in the Feb 2 polls". Pattaya Mail. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ ป่วน!มือมืดกระหน่ำยิงการ์คคปท.ดับ1เจ็บ3
- ↑ ตร.บางซื่อแถลงจับโจ๋จับยิงถล่ม 6 ศพ หมอชิต[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Protest leader Suthep details January 13 strategy". The Nation. 2 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Red shirts vow to keep 'Bangkok open'". The Nation. 2 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ แดงชวนเดินขบวนทั่วประเทศ ต้านชัตดาวน์!, ไทยรัฐ, 3-1-2557
- ↑ "CAPO to use combined forces against capital shutdown". Thai PBS. 4 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-10. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Shutdown is illegal, govt warns". The Nation. 5 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Vote against me if you want me out: caretaker PM". The Nation. 6 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-17. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Red shirts harass PDRC protesters in Chiang Mai". Thai PBS. 5 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-27. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.
- ↑ "Bullets sprayed at Democrat HQ". Bangkok Post. 13 January 2014. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "บริการค้นหาข้อมูลคดี ศาลอาญา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-15. สืบค้นเมื่อ 2018-05-31.
- ↑ จำคุกหมอระวี 8 เดือนรอลงอาญา 2 ปี นำม็อบบุกปตท.-ก.พลังงานปี 57 ส่วนพวกโดนคนละ 2 เดือนรอลงอาญาเช่นกัน
- ↑ "แบงก์ในพื้นที่ชุมนุมปิดชั่วคราว13ม.ค." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-30. สืบค้นเมื่อ 2017-02-01.
- ↑ "Abhisit says bomb attack was well organized". Thai PBS. 15 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-01. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ Pakorn Puengnetr (18 January 2014). "Clashes could intensify". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ THANYARAT DOKSONE; TODD PITMAN (17 January 2014). "Grenade Explosion During Bangkok Protests Leaves Dozens Injured". Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "More bombings and gunfire rock anti-government protests". Thai PBS. 17 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-01. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "Protesters march in Bangkok despite deadly blast". Yahoo! News. 18 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "Friday bomb suspect on rally stage". Bangkok Post. 19 January 2014. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "38 protesters injured in bomb attack against Suthep's procession". The Nation. 17 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ "Another daylight blast wounds 28 ralliers". Bangkok Post. 20 January 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2014.
- ↑ "NSPRT guard shot at Makkawan". Bangkok Post. 19 January 2014. สืบค้นเมื่อ 19 January 2014.
- ↑ ชีวิตที่หล่นหาย จากเสียงนกหวีดถึงวันรัฐประหาร
- ↑ กปปส.นนทบุรี ปราศรัยหน้าศาลากลางนนทบุรี[ลิงก์เสีย], เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
- ↑ อัปเดตก่อนเลือกล่วงหน้า'กปปส.'ยังปิด14จังหวัดใต้ เก็บถาวร 2014-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คมชัดลึกออนไลน์, 25 มกราคม 2557.
- ↑ ความคืบหน้าปิดล้อมธนาคารออมสิน เก็บถาวร 2014-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
- ↑ ผู้ชุมนุมเวทีปทุมวัน เคลื่อนไปกรมทางหลวง เก็บถาวร 2014-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เนชั่นแชนแนล, 20 มกราคม 2557.
- ↑ กปปส.บุก ธ.ก.ส. ค้านนำเงินฝาก จ่ายจำนำข้าว, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 20 มกราคม 2557.
- ↑ 'กปปส.ลาดพร้าว' เคลื่อนปิดการทางพิเศษฯ[ลิงก์เสีย], คมชัดลึกออนไลน์, 20 มกราคม 2557.
- ↑ กปปส. บุกโรงพิมพ์คุรุสภา ฉีกบัตรเลือกตั้ง[ลิงก์เสีย], กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 19 มกราคม 2557.
- ↑ ประจาน"รัฐตำรวจ" คาหนังคาเขา ยิงม็อบหน้าทบ.
- ↑ มวลชนกปปส.ปิดล้อมไปรษณีย์ชุมพร สกัดส่งบัตรเลือกตั้งกระจายให้ 14 จว.ภาคใต้
- ↑ กลุ่มกปปส. 5 จังหวัดภาคใต้รวมตัวปิดล้อมไปรษณีย์ ขัดขวางย้ายหีบลงคะแนนและบัตรเลือกตั้ง
- ↑ "Lat Phrao and Victory Monument open". Bangkok Post. 3 February 2014.
- ↑ ม็อบกปปส. บุกปิด-ตัดไฟ ก.พาณิชย์ กระทบประมูลข้าวเอเฟตล่ม
- ↑ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
- ↑ Amy Sawitta Lefevre (20 January 2014). "Thai government considers state of emergency after weekend violence" [รัฐบาลไทยพิจารณาสถานการณ์ฉุกเฉินหลังความรุนแรงสุดสัปดาห์]. Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-21. สืบค้นเมื่อ 20 January 2014.
- ↑ Thomas Fuller (21 January 2014). "Thai Leaders Declare State of Emergency in Bangkok". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- ↑ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
- ↑ รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557
- ↑ Thomas Fuller (22 January 2014). "A Leader of Pro-Government Faction Is Shot in Thailand". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- ↑ การเมืองฆ่าโหด กวีเสื้อแดง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’, 24 เมษายน 2557, ไทยรัฐออนไลน์.
- ↑ Charlie Campbell (24 January 2014). "Thailand Thai Elections Could be Postponed, in Fresh Blow for Yingluck". TIME WORLD. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-28. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- ↑ "Thailand protesters block early election vote". BBC News. 26 January 2014. สืบค้นเมื่อ 27 January 2014.
- ↑ สรุปข่าววันที่ 26 ม.ค.57 ตั้งแต่เวลา 06.00 - 18.00 น.
- ↑ "PDRC blames government for Sunday's violence". Bangkok Post. 26 January 2014. สืบค้นเมื่อ 26 January 2014.
- ↑ "10,000 police officers mobilized for Sunday election". Coconuts Bangkok. 29 January 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
- ↑ "PDRC protester shot, policeman beaten". Bangkok Post. 29 January 2014. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ 177.0 177.1 177.2 Warangkana Chomchueng (14 February 2014). "Thai Riot Police Clear Protest Sites in Bangkok". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 14 February 2014.
- ↑ "Suthep says protesters will not blockade polling units on February 2". Asian Inter Law News. 31 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-01. สืบค้นเมื่อ 1 February 2014.
- ↑ สุดสลดน้องเค้ก เด็กหญิงวัย 6 ขวบ เหยื่อบึ้มหน้าบิ๊กซี เสียชีวิตแล้วหลังเฝ้าดูอาการทั้งคืน[ลิงก์เสีย]
- ↑ ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ
- ↑ เจ้าหน้าที่ตรวจบุคคลเข้าออก ศรส. เข้มงวด[ลิงก์เสีย]
- ↑ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ ปรึกษาประจำศูนย์รักษาความสงบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 4-8/2557
- ↑ คำสั่ง คสช.ที่ 27/2557
- ↑ คำสั่ง คสช.ที่ 77/2557
- ↑ คำสั่ง คสช.ที่ 81/2557
- ↑ คำสั่ง คสช.ที่ 84/2557
- ↑ "จำนวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รักษาความสงบถูกปลดโดยศาลปกครองสูงสุด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
- ↑ ครม.ไฟเขียว ย้าย ขรก.ระดับสูง มหาดไทย 37 ตำแหน่ง
- ↑ สั่งย้ายด่วน! 'สีหนาท ประยูรรัตน์' พ้นปปง.เข้ากรุสำนักนายกฯ
- ↑ “บิ๊กอ๊อด” เซ็นตั้ง “ประวุฒิ” เพื่อนร่วมรุ่น นรต.31 นั่งโฆษก สตช.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""หมอแอร์" สวนกลับ-องค์กรกำลังมีปัญหา เผยบทลงโทษหนักสุดถึงขั้น "ไล่ออก"!!??". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-09. สืบค้นเมื่อ 2017-03-06.
- ↑ "Police accuse PDRC armed members over Laksi". Bangkok Post. 2 February 2014. สืบค้นเมื่อ 2 February 2014.
- ↑ Kocha, Olarn (3 February 2014). "Trapped in a gunfight: CNN producer's harrowing account of Thai election violence". CNN. สืบค้นเมื่อ 21 February 2014.
- ↑ Nostitz, Nick (7 February 2014). "The Laksi gunfight". new mandala. สืบค้นเมื่อ 21 February 2014.
- ↑ "Gunfire at Lak Si as rivals clash". Bangkok Post. 1 February 2014. สืบค้นเมื่อ 1 February 2014.
- ↑ "EC suspends voting in Lak Si district following clash". The Nation. 1 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 1 February 2014.
- ↑ 203.0 203.1 Indo Asian News Service (5 February 2014). "46.79 percent turnout in Thailand election". Yahoo! News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
- ↑ 204.0 204.1 "'Popcorn gunman' arrested in Surat Thani – Suthep's hometown". Bangkok Post. 19 March 2013. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ 205.0 205.1 "PDRC 'gave rifle to popcorn shooter'". Bangkok Post. 31 March 2014. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ FULLER, THOMAS (1 February 2014). "Gun Battle in Bangkok Escalates Election Protest". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 1 February 2014.
- ↑ "Gunfire, explosions injure six in Bangkok ahead of Thai elections". The Straits Times. 1 February 2014. สืบค้นเมื่อ 2 February 2014.
- ↑ "รวมภาพอาวุธของ ม็อบคนดีกัน ..." Pantip.com. สืบค้นเมื่อ 2 February 2014.
- ↑ "PDRC calls 'biggest rally' to derail poll". Bangkok Post. 30 January 2014. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
- ↑ "Protesters block most polls in the South". Bangkok Post. 3 February 2014. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
- ↑ Stout, David (3 February 2014). "Thai Protesters Disrupted the Elections and Now the Country Is in Total Limbo". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-03. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
- ↑ "Chronology". The Nation. 3 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 3 February 2014.
- ↑ "EC now says official voter turnout is 47.72%". Thai PBS. 6 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 7 February 2014.
- ↑ "ปชป. ยื่นศาล รธน. ร้องวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะแล้ว" [Dems have requested charter court to invalidate election]. Manager. 4 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-27. สืบค้นเมื่อ 4 February 2014.
- ↑ "Thai opposition to challenge poll in court as protest numbers dwindle". Australia News Network. 4 February 2014. สืบค้นเมื่อ 4 February 2014.
- ↑ "PT files for Democrat Party dissolution". Bangkok Post. 5 February 2014. สืบค้นเมื่อ 5 February 2014.
- ↑ "ศาล รธน. ไม่รับคำร้องเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" [Charter court dismissed request for 2 Feb election invalidation]. Sanook!. 12 February 2014. สืบค้นเมื่อ 5 April 2014.
- ↑ "Arrest warrants for PDRC leaders, CMPO to suspend transactions". Bangkok Post. 5 February 2014. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
- ↑ "Warrants for 13 PDRC leaders rejected". Bangkok Post. 24 February 2014. สืบค้นเมื่อ 24 February 2014.
- ↑ "ศาลออกหมายจับ 30 แกนนำ กปปส.รอด 13". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-14. สืบค้นเมื่อ 2016-12-26.
- ↑ "Election Commission proposes royal decree to declare new polls in 8 provinces". MCOT. 8 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-18. สืบค้นเมื่อ 8 February 2014.
- ↑ Nirmal Ghosh (12 February 2014). "Thailand to hold more voting in April". Asia News Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-14. สืบค้นเมื่อ 12 February 2014.
{{cite news}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ ยิง M79 เวที กปปส.แจ้งวัฒนะ บาดเจ็บ 2 , TNN24, 9 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ สุเทพเปิดเงินช่วยชาวนาได้ 24ล้านแล้ว, ไทยรัฐออนไลน์, 11 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ 'สุเทพ'ขนพล!เดินหาทุนช่วย'ชาวนา' เก็บถาวร 2014-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คมชัดลึกออนไลน์, 10 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ "Police launch 'Operation Valentine' to clear Rajdamnoen rally site". The Nation. 14 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-24. สืบค้นเมื่อ 14 February 2014.
- ↑ รองผบ.ตร.ตรวจศาลอาญา ดูจุดถูกยิงM79[ลิงก์เสีย], เนชั่นออนไลน์, 17 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ Stout, David (18 February 2014). "At Least Five Killed As Thai Police Swoop on Bangkok Protesters". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-03. สืบค้นเมื่อ 21 February 2014.
- ↑ "Police confront protesters at Govt House". Bangkok Post. 18 February 2014. สืบค้นเมื่อ 21 February 2014.
- ↑ 230.0 230.1 230.2 Terry Fredrickson (19 February 2014). "5 killed as violence stalls police operation to retake 5 rally sites". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 February 2014.
- ↑ 231.0 231.1 "4 killed, 64 hurt in city clean-up clash". Bangkok Post. 19 February 2014. สืบค้นเมื่อ 5 March 2014.
- ↑ "Blast clips spark accusations, confusion". Bangkok Post. 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 27 March 2014.
- ↑ Jonathan Head (18 February 2014). "Thailand police and protesters clash fatally in Bangkok". BBC News. สืบค้นเมื่อ 18 February 2014.
- ↑ ปาบึ้มแยกประตูน้ำกลางดึก[ลิงก์เสีย], ข่าวกรุงเทพธุรกิจ, 22 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ Kocha Olarn; Matt Smith (23 February 2014). "Bombing at Thailand protest kills 2". CNN. สืบค้นเมื่อ 23 February 2014.
- ↑ "Thailand protests targeted; 4 dead, dozens wounded". CNN. 25 February 2014. สืบค้นเมื่อ 25 March 2014.
- ↑ "2 killed, 22 injured at Ratchaprasong". Bangkok Post. 23 February 2014. สืบค้นเมื่อ 23 February 2014.
- ↑ "PDRC protesters on the move again". Bangkok Post. 24 February 2014. สืบค้นเมื่อ 24 February 2014.
- ↑ "Bangkok Shutdown shut down". Bangkok Post. 28 February 2014. สืบค้นเมื่อ 4 March 2014.
- ↑ มือมืดถล่ม M79 ใส่เวที กปปส.สวนลุมฯ เจ็บ 5 ราย เก็บถาวร 2014-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ข่าวสปริงนิวส์, 7 มีนาคม 2557.
- ↑ ยิงระเบิดเวทีสวนลุมฯ เจ็บ 3 สาหัส 1 ราย เก็บถาวร 2014-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เนชั่นแชนแนล, 11 มีนาคม 2557.
- ↑ ยิงหนุ่มดับคาถนนเพื่อนสาวเจ็บสาหัส
- ↑ ศาลแพ่ง สั่งคุ้มครองชั่วคราว "สาธิต เซกัล"[ลิงก์เสีย], เนชั่นแชนแนล, 14 มีนาคม 2557.
- ↑ Coconuts Bangkok (17 March 2014). "AFP: New Thai Red Shirt leader warns of battle ahead". Coconuts Bangkok. Coconuts Media. สืบค้นเมื่อ 17 March 2014.
- ↑ “ธิดา” ส่งไม้ต่อตั้ง “จตุพร” ขึ้นประธาน นปช.คนใหม่ “ณัฐวุฒิ” เลขาฯ ลั่นพร้อมชุมนุมต่อเนื่องแสดงพลัง[ลิงก์เสีย], ผู้จัดการออนไลน์, 2 เมษายน 2557
- ↑ เบื้องหลัง!"จตุพร” ผงาดเบอร์ 1 นปช. กู้ศรัทธา “แดงฮาร์ดคอร์”?, อิศรา, 2 เมษายน 2557
- ↑ แดงคึกคักหลังนปช.ตั้งตู่เป็นประธาน[ลิงก์เสีย], โพสต์ทูเดย์, 2 เมษายน 2557
- ↑ "ผู้ตรวจการแผ่นดินชงคำร้อง "กิตติพงศ์" อาจารย์นิติ มธ. ให้ศาล รธน. วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ". Bangkok Biz News. 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 249.0 249.1 249.2 "สับคำวินิจฉัย ตลก. 'โมฆะ' 'นอก รธน.' 'นำสู่ความรุนแรง'". Prachatai. 2014-03-23. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.
- ↑ "มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ". Manager. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "Court voids Feb 2 general election". Bangkok Post. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ 252.0 252.1 252.2 Amy Sawitta Lefevre (2014-03-21). "Thailand in limbo after election annulled; economy suffering". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "อาจารย์จุฬาฯ ท้วงศาล รธน. 2 ก.พ. จะโมฆะ ต้องดู "เนื้อหาสาระ พ.ร.ฎ.ฯ" ไม่ใช่ดู "กระบวนการจัดเลือกตั้ง"". มติชน. 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-22.
- ↑ "มติศาลรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ". Morning News. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "Independent law academic Verapat says Constitutional Court overrules charter". The Nation. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "เลือกตั้งโมฆะ นักวิชาการชี้ "คำวินิจฉัยนี้เป็นการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ"" [Election invalided - Scholars say "this decision is a kind of constitutional coup"]. Prachatai. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "เสวนาวิชาการฉะ 'องค์กรอิสระ' แช่แข็งประเทศไทย" [Academic forum says 'independent organs' are freezing Thailand]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "แถลงการณ์เพื่อไทยค้านศาล รธน. เชื่อเกมชิงอำนาจ" [Academic forum says 'independent agencies' are freezing Thailand]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "ชูวิทย์ โพสต์ FB 'ประชาธิปไตย ตายแล้ว'" [Chuwit says 'democracy is dead']. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "คลุมผ้าดำอนุสาวรีย์ ปชต. หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" [Democracy Monument covered with black cloth after 2 Feb election was invalidated]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "ปชช. เรียกร้องขบวนการล้ม ปชต. 'เห็นหัวเราบ้าง'" [Citizens demand 'respect' from the anti-democratic movement]. Voice TV. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "พรรคเพื่อไทยนัดแต่งดำไว้ทุกข์ 6 ตุลาการศาล รธน. เสียงข้างมาก" [Pheu Thai Party will dress in black in mourning for six charter court judges]. Manager. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยแต่งดำ-ชูป้ายคัดค้านตัดสินเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ" [Public health staff dress in black against 2 Feb election invalidation]. Prachatai. 2014-03-21. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ กปปส.อ้างเลือกตั้งโมฆะชี้ช่องปฏิรูปก่อนลต.
- ↑ "PDRC cheers after poll is nullified by court". The Nation. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2014-03-21.
- ↑ "Security guard attacked, detained by PDRC supporters". Thailandnewsworth. 5 March 2014. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ "Issara refuses to turn himself in". Bangkok Post. 9 March 2014. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ "Ji on electoral violence and reform". Political Prisoners in Thailand. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ "Thai election body calls for delay to vote, army neutral". Taipei times. 28 January 2014. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ "Thai court approves arrest warrant for protest leader". CCTV. 2 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-18. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014.
- ↑ 'ศรส.'แถลงจนท.ถูกปืน-เอ็ม79ยิงใส่
- ↑ 272.0 272.1 "Suthep: Parliament won't open until reform starts". Bangkok Pot. 29 March 2014. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
- ↑ "53 parties want quick vote as Yingluck vows to stay on". Bangkok Post. 28 March 2014. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
- ↑ "Suthep To Seek Royal Approval For His 'People Coup'". Khaosod English. 6 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-08. สืบค้นเมื่อ 7 April 2014.
- ↑ คนร้ายกราดยิง 2 วัยโจ๋ เจ็บสาหัส ใกล้เวที กปปส.แจ้งวัฒนะ
- ↑ แว้นผ่านม็อบกปปส.ถูกยิงสาหัส2ราย
- ↑ "Rally guards hurt top soldier". Bangkok Post. 26 April 2014. สืบค้นเมื่อ 28 April 2014.
- ↑ ยิงเอ็ม79กปปส.แจ้งวัฒนะสาหัส1ราย
- ↑ "ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี ใน 45 วัน". Manager. 2014-03-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06.
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีและเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (นายถวิล เปลี่ยนศรี)" (PDF). Government Gazette. Bangkok: Cabinet Secretary. 2014-04-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06.
- ↑ 281.0 281.1 "ศาล รธน. รับคำร้องปูย้ายถวิลผิด ม. 268". Thairath. 2014-04-03. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06.
- ↑ "ศาล รธน. นัดชี้ชะตาเก้าอี้ปูเที่ยงพรุ่งนี้ คดีย้ายถวิลมิชอบ เจ้าตัวลั่นมีอำนาจทำ". Manager. 2014-05-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-06.
- ↑ "เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน. ฟัน 'ปู' โยก 'ถวิล'". Komchadluek. 2014-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
- ↑ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ประธานวุฒิสภาสงคำรองของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอใหศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวา ความเปนรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบมาตรา ๒๖๘ และมาตรา ๒๖๖ (๒) และ (๓) หรือไม, ราชกิจจานุเบกษา, 10 กันยายน 2557.
- ↑ "อวสาน "ยิ่งลักษณ์"พ่วง รมต. ! "ศาล รธน.ฟันสิ้นสุดความเป็นรมต.ย้าย "ถวิล" มิชอบใช้อำนาจเอื้อ "เพรียวพันธ์"". Manager. 2014-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ "ศาล รธน.เริ่มวินิจฉัยยิ่งลักษณ์ ยันมีอำนาจรับคำร้อง เหตุนายกฯ ยังมีอำนาจ". Manager. 2014-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ "เกาะติดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีสถานภาพรักษาการนายกฯ". Voice TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ 288.0 288.1 "ศาล รธน. สั่ง ขรก. หยุดงานเพื่อความปลอดภัย". Post Today. 2014-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
- ↑ 289.0 289.1 Thomas Fuller (2014-05-07). "Court Orders Thai Leader Removed From Office". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ "Charter court dismisses draft dodging case against Abhisit". Thai PBS. 2014-02-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ 291.0 291.1 291.2 James Hookway and Warangkana Chomchuen (2014-05-07). "Thai Court Removes Yingluck Shinawatra From Office". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
- ↑ "Yingluck removed, Niwatthamrong acting PM". Bangkok Post. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ "PCAD's 'Final Battle' Kicks-Off With Media Intimidation". Khaosod English. 9 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
- ↑ "การชุมนุมขับไล่รัฐบาลหลังถอดถอนนายกรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-05-12.
- ↑ "Groups slam PDRC media 'bullying'". Bangkokpost. 10 May 2014. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
- ↑ "Media groups decry PDRC threats". Bangkok Post. 9 May 2014. สืบค้นเมื่อ 10 May 2014.
- ↑ เดินขบวนไปยังสโมสรตำรวจ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
- ↑ "กองทัพบกประกาศยุบ ศอ.รส. ตั้ง กอ.รส. ดูแลความสงบ "ประยุทธ์" คุมเอง". Manager. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "เอพีเผย ยอดเซลฟีกับสถานการณ์ประกาศกฎอัยการศึกในกรุงเทพฯ พุ่ง". Manager. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "เช็คเส้นทางรอบกรุงวันประกาศกฏอัยการศึก". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "ทหารเข้าคุมทำเนียบฯ ห้าม กปปส. ใช้สถานที่". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-13. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "ทหารพรึ่บคุมสื่อ". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "ทหารคุมทีวีช่อง 11 เชียงใหม่". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 6 ระงับทีวีดาวเทียม 11 ช่องออนแอร์". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-13. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 1". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "กอ.รส. ออกคำสั่งที่ 3 ห้ามสื่อข่าวกระทบการรักษาความสงบ". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-13. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "กอ.รส. เชิญหัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารสื่อเข้าพบเพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่สโมสรกองทัพบก". Post Today. 2014-05-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-13. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "กอ.รส. ตั้งคณะทำงานคุมสื่อออนไลน์". Manager. 2014-05-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2014-05-21.
- ↑ "Thailand army declares martial law". BBC. 2014-05-20. สืบค้นเมื่อ 2014-05-20.
- ↑ "Military 'takes control' in Thailand". BBC. 22 May 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
- ↑ "Prayuth and military chiefs are controlling state powers". Komchadluek. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "ผบ.ทบ. แถลงยึดอำนาจ". Post Today. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-16. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "คสช. ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร-เคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 4 ทุ่มถึงตี 5". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ สั่งแก้แค่เล็กน้อย! คาด ‘ธรรมนูญการปกครอง’ ทูลเกล้าฯ ทัน ก.ค.นี้, 7 กรกฎาคม 2557
- ↑ "Suthep in talks with Prayuth 'since 2010'". Bangkok Post. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ "Prayuth denies Suthep's coup plotting claim". Bangkok Post. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ "สัญญาณชัด!!"ตู่"ลากยาวเพื่อ"เปลี่ยนผ่าน" สื่อนอกฟัน"แม้ว"หมดอนาคต". ผู้จัดการรายวัน. 2016-02-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-29. สืบค้นเมื่อ 2016-02-29.
- ↑ ชีวิตที่หล่นหาย จากเสียงนกหวีดถึงวันรัฐประหาร
- ↑ 'ด.ต.อนันต์'เสียแล้ว หลังวูบในเหตุปะทะม็อบ ก.แรงงาน
- ↑ การเมืองฆ่าโหด กวีเสื้อแดง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’, 24 เมษายน 2557, ไทยรัฐออนไลน์.
- ↑ ยิงหนุ่มดับคาถนนเพื่อนสาวเจ็บสาหัส
- ↑ ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 132 ง, 9 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2.
- ↑ คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 404/2556 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 133 ง, 9 ตุลาคม 2556, หน้า 6-7.
- ↑ ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 138 ง, 18 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2.
- ↑ ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 165 ง, 25 พฤศจิกายน 2556, หน้า 1-2.
- ↑ ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 189 ง, 25 ธันวาคม 2556, หน้า 1-2.
- ↑ คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 505/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 139 ง, 18 ตุลาคม 2556, หน้า 1-2 พร้อมเอกสารแนบ.
- ↑ แก้คำผิด คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 190 ง, 26 ธันวาคม 2556, หน้า 108.
- ↑ คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 516/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 166 ง, 26 พฤศจิกายน 2556, หน้า 66-67 พร้อมเอกสารแนบ.
- ↑ คำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 557/2556 เรื่อง ให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นศูนย์อำนวยการตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 130 ตอนพิเศษ 193 ง, 26 ธันวาคม 2556, หน้า 6-7 พร้อมเอกสารแนบ.
- ↑ "สุรพงษ์" คุม "ศอ.รส." แทน"ประชา" ลั่นม็อบกปปส.ทำศก.-ภาพลักษณ์ชาติกระทบ ให้คำมั่นคืนสงบสุขโดยเร็ว, ข่าวมติชนออนไลน์, 2 ธันวาคม 2556.
- ↑ คมนาคม เปิดเว็บไซต์ ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน รับสถานการณ์ชุมนุม 13 มค.[ลิงก์เสีย], สวพ.91, 12-1-2557
- ↑ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 13 ง, 21 มกราคม 2557, หน้า 5-7.
- ↑ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 1/2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 127 ตอนพิเศษ 45 ง, 7 เมษายน 2553, หน้า 3-6.
- ↑ นกภป.แถลงหนุนกปปส.ให้ปฏิรูปไม่เอาเลือกตั้ง[ลิงก์เสีย], ข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 ธันวาคม 2556.
- ↑ 'ม.จ.จุลเจิม' แถลงค้านนำร่างนิรโทษขึ้นทูลเกล้าฯ, ข่าวไทยรัฐออนไลน์, 3 พฤศจิกายน 2556.
- ↑ "ท่านใหม่" ให้กำลังใจ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ[ลิงก์เสีย], โพสต์ทูเดย์, 20 มกราคม 2557.
- ↑ ภาพ พลตรี ม.จ. จุลเจิม ยุคล และคณะ ถวายเงินให้หลวงปู่พุทธอิสระ บนเวทีแจ้งวัฒนะ, แฟนเพจ เวทีราชดำเนิน ในเฟซบุ๊ก, 4 กุมภาพันธ์ 2557.
- ↑ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์
- ↑ 340.0 340.1 340.2 กลุ่มนักวิชาการตั้ง 'สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย' เห็นต่างข้อเสนอ กปปส.-ทปอ. (แถลงการณ์เต็ม)
- ↑ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557
- ↑ เขียนถึงสังคม: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
- ↑ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ถูกทหารเรียกให้ไปรายงานตัวที่ ค่ายกาวิละ[ลิงก์เสีย]
- ↑ กลุ่ม "คนกรุงเทพไม่เห็นด้วยกับ กปปส." เปิดล่ารายชื่อผ่านเน็ต จี้หยุดรุนแรง เดินหน้าสู่คูหาเลือกตั้ง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ข่าวสดออนไลน์, 28 ธันวาคม 2556.
- ↑ นักโทษการเมืองแถลงหนุนร่างนิรโทษกรรม ฉ.วรชัย เท่านั้น
- ↑ นักโทษการเมืองแถลงกลุ่มจัดชุมนุม หน้าศาลอาญา[ลิงก์เสีย]
- ↑ กลุ่มเพจพอกันทีฯ จุดเทียนหน้าหอศิลป์ ขอหยุดชุมนุมสู่ความรุนแรง 'เดียร์-เนติวิทย์' ร่วมด้วย
- ↑ เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องยุติความรุนแรงในไทย ประณามบึ้มเด็กตายหลายราย[ลิงก์เสีย]
- ↑ สหรัฐฯร้องไทยแก้วิกฤตชัตดาวน์กรุงเทพฯด้วยสันติวิธี เก็บถาวร 2014-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์, 14 มกราคม 2557.
- ↑ Jason Miks (2014-01-14). "What's behind Thai protests?". CNN. สืบค้นเมื่อ 2014-01-14.[ลิงก์เสีย]
- ↑ นิด้าโพล เผยคน กทม.กว่า 80% เมินร่วมม็อบ กปปส. เก็บถาวร 2014-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์, 17 มกราคม 2557.
- ↑ "Baht declines to a three-year low". Bangkok post. 23 December 2013. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
- ↑ Sjolin, Sara (23 December 2013). "Thai baht drops to three-year low amid protests". Market watch. สืบค้นเมื่อ 10 January 2014.
- ↑ Justina Lee (23 December 2013). "Baht Falls to a Three-Year Low, Stocks Drop on Political Unrest". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 25 December 2013.
- ↑ Arno Maierbrugger (7 January 2014). "Thai crisis: Severe impact on economy, bourse". Investvine. Inside Investor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-27. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
- ↑ "Have you decided where to spend your holiday yet? Don't think much further. Thailand is suitable for all types of travellers with heaps of things to do. Simply check out our Thailand infograph and pack your bag!". AsiaWeb Direct. AsiaWeb Direct. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Infographic)เมื่อ 2014-03-25. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
- ↑ "Bangkok Shutdown affects 135 banks". Thai PBS. 14 January 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-15. สืบค้นเมื่อ 14 January 2014.
- ↑ 358.0 358.1 Bloomberg News (29 January 2014). "Investors shifting to neighbours". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
- ↑ 359.0 359.1 "Thailand's political pain is neighbors' economic gain". Coconuts Bangkok. Coconuts Bangkok. 29 January 2014. สืบค้นเมื่อ 29 January 2014.
- ↑ Tamaki Kyozuka (12 February 2014). "Thai tourism, retailers paying the price for drawn-out unrest". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 12 February 2014.
- ↑ "Baht drops most in six weeks". Bangkok Post. 18 February 2014. สืบค้นเมื่อ 18 February 2014.
- ↑ กปปส.ชุมนุมส่งผลกระทบระบบขนส่งสาธารณะ[ลิงก์เสีย], ข่าวไทยพีบีเอส, 13 มกราคม 2557.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แหล่งข้อมูลภายใน
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15–18/2556 (แก้ที่มา สว.)
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2557 (เลื่อนเลือกตั้ง)
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 (เรื่อง การประกาศใช้ พรบ.กฎอัยการศึก)
- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 (เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ)
- แหล่งข้อมูลภายนอก
- ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เฟซบุ๊ก
- ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน กระทรวงคมนาคม เก็บถาวร 2014-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อ่านเพิ่ม
- David Marx (9 January 2014). "Thailand's political crisis: The inside story" [วิกฤตการณ์การเมืองไทย: เรื่องวงใน]. RT (ภาษาอังกฤษ).
- Duncan McCargo (27 January 2014). "Thai Takedown: Letter From Bangkok" [การล้มเมืองไทย: จดหมายจากกรุงเทพฯ]. Foreign Affairs (ภาษาอังกฤษ).
- Duncan McCargo (18 February 2014). "The Thai Malaise" [ความไข้ของเมืองไทย]. Foreign Policy (ภาษาอังกฤษ).
- Florian Decludt (23 June 2011). "Monarchy in spotlight: tensions that threaten new turmoil in Thailand" [พวกเจ้าออกหน้า: ความตึงเครียดซึ่งเกรงจะก่อให้เกิดความโกลาหลครั้งใหม่ในเมืองไทย]. The Independant (ภาษาอังกฤษ).
- Michael H. Nelson (4 March 2014). "Protesters in Thailand Try a Civilian Coup D'état" [ผู้ประท้วงในเมืองไทยพยายามก่อรัฐประหารแบบพลเรือน]. E-International Relations (ภาษาอังกฤษ).
- Michael J. Montesano (10 February 2014). "What is to Come in Thailand?" [จะเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย] (PDF). ISEAS perspective (ภาษาอังกฤษ) (07/2014). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-03-14. สืบค้นเมื่อ 2014-03-27.
- Pavin Chachavalpongpun (27 November 2013). "The current mob leader seeks to divert attention from his own crimes" [ผู้นำม็อบคนปัจจุบันพยายามเบนความสนใจจากความชั่วของตนเอง]. Asiasentinel (ภาษาอังกฤษ).
- Shawn W Crispin (30 January 2014). "No deal behind Thailand's polls" [ไร้การตกลงเบื้องหลังการเลืองตั้งในเมืองไทย]. Asia Times Online (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-27.
- Somchai Samizdat (22 February 2014). "The Real Crisis in Thailand is the Coming Royal Succession" [วิกฤตการณ์ที่แท้จริงของไทยคือการสืบราชบัลลังก์] (ภาษาอังกฤษ).
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - Steve Fish (31 January 2014). "Whispers from the Throne" [เสียงกระซิบจากราชบัลลังก์]. Foreign Affairs (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-03-27.
- Ukrist Pathmanand (28 February 2014). "Thaksin Shinawatra and Thailand's New Conflict" [ทักษิณ ชินวัตร กับความขัดแย้งใหม่ในเมืองไทย]. E-International Relations (ภาษาอังกฤษ).