ข้ามไปเนื้อหา

จิตภัสร์ กฤดากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เริ่มดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(0 ปี 347 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี

16 มิถุนายน พ.ศ. 2528 (39 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2550–ปัจจุบัน)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
กปปส.
บุพการี
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทรัพย์สินสุทธิ664.7 ล้านบาท (ปี 2562)[1]

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร (เกิด 16 มิถุนายน พ.ศ. 2528) รองหัวหน้าพรรคตามภารกิจพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายจุติ ไกรฤกษ์)

ประวัติ

[แก้]

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร หรือชื่อสกุลเดิมว่า ภิรมย์ภักดี เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2528[2] เป็นบุตรสาวคนโตของจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, อดีตประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อดีตประธานมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมคาราเต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเป็นบุตรของ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ทายาท พระยาภิรมย์ภักดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ชื่อจริง “จิตภัสร์” เป็นชื่อพระราชทาน แปลว่า “จิตที่ร่มเย็น” ส่วน “ตั๊น” มาจากตั๊นหน้า ซึ่งเป็นท่าชนิดหนึ่งในกีฬาคาราเต้ที่จุตินันท์ผู้เป็นบิดาชื่นชอบ

จิตภัสร์ เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน Westonbirt School ที่ประเทศอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาภูมิศาสตร์จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2 สถาบันพระปกเกล้า ปริญญาโทรัฐประศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ หลักสูตรการโดดร่มใหม่แบบกระตุกเอง รุ่นที่ 1/64 ของ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน

[แก้]

ภาคเอกชน

[แก้]

จิตภัสร์เคยฝึกงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising, บริษัท Orange (True Move), คริสตีย็อง ดียอร์, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ รวมทั้งยังเป็น NGO ในโครงการ Population and Community Development Association ที่จังหวัดกระบี่ และได้ไปเป็นครูฝึกสอนที่จังหวัดบุรีรัมย์ผู้ช่วยผู้จัดการนักกีฬาปีนหน้าผาทีมชาติไทย เอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตซอลลีโอบางซื่อ (คนหูหนวก) ผู้จัดการนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 12 ณ ประเทศอังกฤษ และผู้จัดการทีมคณะนักกีฬาคนพิการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 10 ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง ตามความฝันในวัยเด็กที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี[3]


งานการเมือง

[แก้]

จิตภัสร์ เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการชักชวนของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีความสนิทสนมกับครอบครัว และเห็นว่ามีความสนใจทางการเมือง โดยมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยและเลขานุการของ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในอีกสองปีต่อมาเธอได้เข้าร่วมกับชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยรับหน้าที่เป็นโฆษกภาคภาษาอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ในการเลือกตั้งปีถัดมา และได้รับการเลือกตั้งหลังจากการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อใหม่ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน [4]

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จิตภัสร์ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในลำดับที่ 10 หลังจากได้อาการบาดเจ็บหลังประสบอุบัติเหตุจากการฝึกกระโดดร่ม จนต้องใส่เฝือกที่หลัง เพื่อป้องการกระแทกระหว่างการหาเสียง [5]

ข้อวิจารณ์

[แก้]

ปฏิทินเบียร์ลีโอ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2552 ช่วงที่จิตภัสร์เป็นผู้ช่วยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เธอได้นำปฏิทินเบียร์ลีโอที่มีภาพนางแบบวาบหวิว มาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล จนถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง[6] เธอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด[7]

กปปส.

[แก้]

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี พ.ศ. 2556-2557 จิตภัสร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่ม กปปส. โดยรับผิดชอบด้านการรายงานข่าวภาคภาษาอังกฤษและดูแลโรงเรียนต้นไม้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องหมาย

[แก้]

- หลักสูตรการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง Sky 1/64 - นักโดดร่ม ตร. (กิตติมศักดิ์) - นักโดดร่ม ทบ. (กิตติมศักดิ์) - ต่อต้านก่อการร้าย ตร.(กิตติมศักดิ์) (อรินทราช) - เครื่องหมาย รักษาดินแดนยิ่งชีพ กระทรวงมหาดไทย - เข็มสถาบันประปกเกล้า (หลักสูตรประกาศนียบัตร) - ปีกฝนหลวง กรมฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - เครื่องหมายความสามารถนักโดดร่ม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ


ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Tourism minister's wife richest MP to date". Bangkok Post. 22 August 2019. สืบค้นเมื่อ 22 August 2019.
  2. "'Dear Wathanya' VS 'Tan Chitphat' So So Som Lon Khwa Kao-i Party List" “เดียร์ วทันยา” VS “ตั๊น จิตภัสร์” ส.ส.ส้มหล่นคว้าเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ [Dear Watanya vs Tant Chitpas: MPs who won a party-list seat by windfall]. Siam Rath. 1 June 2019.
  3. วันที่นามสกุลเปลี่ยนไป! อดีต อธิบาย ปัจจุบัน เช็กหัวใจ ตั๊น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี!
  4. ทำความรู้จัก ‘ตั๊น จิตภัสร์’ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คนล่าสุด จากพรรคประชาธิปัตย์
  5. "เผยเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. "จุรินทร์-ชวน" นำทีม "ตั๊น" ที่ 10 เบียด "เดียร์" พร้อมใส่เฝือกหาเสียง". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-04-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-06.
  6. ปฏิทินลีโอพ่นพิษ 'จิตภัสร์' ยื่นใบลาออกแล้ว
  7. 'จิตภัสร์' รับผิด ขอลาออก ปฏิทินโป๊พ่นพิษ
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๗๘, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๖, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  10. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสงุ่น ราชวัลลภานุสิษฐ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2516, หน้า 6