ข้ามไปเนื้อหา

อัญชะลี ไพรีรัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัญชะลี ไพรีรัก
เกิด25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 (62 ปี)
จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย
อาชีพผู้ประกาศข่าว
มีชื่อเสียงจากแกนนำการชุมนุม กปปส. ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557
พรรคการเมืองเพื่อแผ่นดิน
การเมืองใหม่
ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
กปปส.

อัญชะลี ไพรีรัก เป็นอดีตผู้ประกาศข่าวทางช่องท็อปนิวส์,เป็นสื่อมวลชนอิสระ,สมาชิกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปัจจุบันเป็นนักข่าวช่องแนวหน้า[1][2]

ประวัติ

[แก้]

อัญชะลี เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาจากโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ และโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง และจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อัญชะลีเริ่มต้นทำงานด้านสื่อสารมวลชนด้วยการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ และมีประสบการณ์หลายด้านทั้งเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ทำข่าวประกวด ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวตลาดหุ้น ข่าวการตลาด จนกระทั่งเป็นผู้ประกาศข่าวในสถานีโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่อง 7 สี และในปี พ.ศ. 2539 ได้เป็นพิธีกรรายการ "กู๊ด มอร์นิ่ง บางกอก" ชั่วคราว

อัญชะลีเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในตอนนั้นอัญชะลีจัดรายการวิทยุอยู่ที่คลื่น F.M. 96.5 MHz รายการ "จับชีพจรข่าว" แต่ต่อมาถูกยุติการทำรายการ จึงหันไปจัดรายการเกี่ยวกับผู้หญิงทางช่อง 3 ได้ 2 สัปดาห์[3][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] ก่อนจะได้รับการเชื้อเชิญจากประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าของธุรกิจทีพีไอ ให้มาทำวิทยุคลื่นประชาธิปไตย F.M. 92.25 MHz โดยเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งวางผังและจัดรายการเองทั้งหมด แต่ต่อมาก็ถูกแทรกแซงอีกครั้งจนต้องลาออก ปัจจุบันอัญชะลีเป็นนักข่าวช่องแนวหน้า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566[4]

บทบาทการเมือง

[แก้]

จนกระทั่งในต้นปี พ.ศ. 2549 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เริ่มต้นการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างจริงจังแล้ว อัญชะลีจึงได้เข้าร่วมและได้ร่วมจัดรายการบนเวทีและในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร คอนเสิร์ตการเมือง คู่กับยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ในรายการชื่อ "ติดดาบปลายปืน"

หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลียได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับมา จากนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 อัญชลีได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน อันเนื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีกับแกนนำพรรค แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

อัญชะลีได้กลับมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรอีกครั้งในการชุมนุมในปี พ.ศ. 2551 โดยจัดรายการเล่าข่าวตอนเช้าบนเวทีคู่กับกมลพร วรกุล ภายหลังการชุมนุมยุติลงก็ได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการเคาะข่าวริมโขงและแขกรับเชิญรายการสภาท่าพระอาทิตย์ทุกวันจันทร์และศุกร์ และมีรายการประจำ ชื่อ "จับตาประเทศไทย" ทางเอเอสทีวี เป็นรายการเล่าข่าวทั่วไป

ต่อมา อัญชะลีได้ยุติรายการทั้งหมดทางเอเอสทีวี และสื่อต่าง ๆ ในเครือผู้จัดการทั้งหมด โดยมีเสียงร่ำลือกระแสหนึ่งกล่าวว่า ได้ออกไปทำงานส่วนตัว และเป็นเลขานุการของจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[5] ส่วนอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารท่องเที่ยว[6]

อัญชะลีเคยเป็นผู้จัดรายการ "ร้อยข่าวบลูสกาย" และ "ร้อยข่าวสุดสัปดาห์" ทางช่องบลูสกายแชนแนล

ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 อัญชะลีได้เข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) โดยมีบทบาทเป็นโฆษกบนเวทีการชุมนุม และผู้บรรยายในการเดินรณรงค์การชุมนุมตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงยังเป็นแกนนำเองด้วยในหลายครั้งที่มีการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมยังที่ต่าง ๆ[7] นอกจากนี้แล้ว ยังได้ถ่ายแบบลงปกนิตยสารแพราว และให้สัมภาษณ์ถึงความในใจด้วย สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้[8]

ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากการชุมนุมในครั้งนี้ศาลอาญาจึงอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย โดยอัญชะลีมีชื่อเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 10[9][10]

หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 อัญชะลีได้ร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์นิวทีวี ในเครือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยเป็นผู้ดำเนินรายการ "หมายข่าวนิวทีวี" (ภายหลังเปลี่ยนชื่อรายการเป็น "นิวหมายข่าว") ออกอากาศในช่วงเย็น โดยเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557[11] ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งอัญชะลีได้ลาออกจากนิวทีวี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 เพื่อเข้ามาร่วมงานกับเนชั่นทีวี[12] ตามคำชวนของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานกรรมการของเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น[13]

โดยร่วมดำเนินรายการ "เนชั่นทันข่าว" ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561[13] ขณะเดียวกัน อัญชะลีก็ได้กลับมาจัดรายการที่ช่องฟ้าวันใหม่อีกครั้ง ในรายการ "ข่าวคาใจ" ซึ่งมีรายการเทปหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีการเข้าจับกุมสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) และโจมตีบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลที่เห็นด้วยกับการจับกุม เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, เสกสรรค์ ศุขพิมาย (เสก โลโซ) ด้วยถ้อยคำหยาบคายและรุนแรง[14] ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องไปยัง กสทช. และผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการทางปกครองกับช่องฟ้าวันใหม่[15] แต่ กสทช. ตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่พบการกระทำที่ผิดกฎ กสทช. ของรายการและช่องดังกล่าว[16]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ได้ยื่นใบลาออกจากเนชั่นทีวี [17] แล้วไปเริ่มงานที่ท็อปทีวี (ชื่อปัจจุบันคือท็อปนิวส์) และต่อมาในปี พ.ศ. 2566 อัญชะลีตัดสินใจลาออกจากท็อปนิวส์[18] ปัจจุบันอัญชะลีเป็นผู้อำนวยการข่าว แนวหน้าออนไลน์[19]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประเดิมวันแรก! 'เจ๊ปอง-บุญยอด'เล่าข่าวกระหึ่มออนไลน์". https://www.naewna.com. 2023-10-24. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  2. "'บุญยอด'โบกมือลา'รทสช.'กลับนั่งจ้อข่าวคู่'เจ๊ปอง'ยูทูปแนวหน้า". https://www.naewna.com. 2023-10-23. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  3. Suthichai Live กับ “เจ๊ปอง” อัญชะลี ไพรีรัก! | 8/3/2561. Youtube. suthichai live. 9 มีนาคม 2018. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 55:00. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2018.
  4. "'เจ๊ปอง อัญชะลี'กลับมาแล้ว คุมทัพแนวหน้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม 16 ตุลานี้". https://www.naewna.com. 2023-10-11. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |website= (help)
  5. "ทำไม "ม็อบแดง" เติบโต ทำไม "ม็อบเหลือง" ถดถอย จับตา 19 ก.พ. "สึนามิแดง" มาแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-05. สืบค้นเมื่อ 2011-02-20.
  6. ทำไม ปอง อัญชะลี หายไปจากเวทีพันธมิตร (19 ก.พ.2554)
  7. ""เจ๊ปอง" ลั่นกบฏดอกไม้ กปปส.ปักหลักชุมนุมหน้าบ้าน "ปู" จนกว่าไขก๊อกนายกฯ". ผู้จัดการออนไลน์. 26 ธันวาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2015.
  8. "เจ๊ปอง อัญชะลี ไพรีรัก แกนนำ กปปส. เปลี่ยนลุคเป็นนางแบบราชดำเนิน". สนุกดอตคอม. 10 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2015.
  9. "ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ที่เหลือยกคำร้อง". Thairath.co.th. 14 พฤษภาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014.
  10. "ศาลอนุมัติออกหมายจับแกนนำ กปปส. 30 ราย-ยกคำร้อง 13". Posttoday.com. 14 พฤษภาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มิถุนายน 2021. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014.
  11. ""เจ๊ปอง อัญชะลี" คืนจอ นั่งแทนพิธีกรข่าวช่อง 18 "นิวทีวี"". เว็บบอร์ดผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016.
  12. "'เจ๊ปอง'โบกลานิวทีวี ย้ายลุยรายการข่าว'เนชั่น'". เดลินิวส์. 14 มีนาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2021.
  13. 13.0 13.1 "ส่องป้อมค่าย "เนชั่น" วันที่ "ปอง อัญชะลี" ยึดข่าวค่ำ เปลี่ยนพิธีกรกันขาขวิด!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2021.
  14. รายการ "ข่าวคาใจ" ซึ่งมีรายการเทปหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีการเข้าจับกุมสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ)
  15. "'อาจารย์เจษ' ทวงถาม กสทช. ปมปล่อย 'ป้าปอง' อ่านข่าวสุดหยาบคาย !!". ข่าวสด. 30 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2021.
  16. "กสทช.ชี้ไม่เกินเลย ปม'เจ๊ปอง'เดือดพล่านออกรายการ-พูดหยาบ". ข่าวสด. 30 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2021.
  17. "'สันติสุข-อัญชะลี'อำลาเนชั่น แจงเหตุลาออก-เจอกัน'นิวทีวี'". เดลินิวส์. 2020-11-06. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. เกิดอะไรขึ้น ! เจ๊ปอง อำลาท็อปนิวส์ ไม่จัดรายการข่าวเที่ยงแล้ว สันติสุข แจงแทนไม่ได้
  19. ‘เจ๊ปอง อัญชะลี’กลับมาแล้ว คุมทัพแนวหน้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม 16 ตุลานี้

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]