นิติธร ล้ำเหลือ
นิติธร ล้ำเหลือ ชื่อเล่น นกเขา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ทนายนกเขา" เป็นทนายความที่รับว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันเป็นกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนประจำสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
ประวัติ
[แก้]เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตและปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายพัฒนา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งสำนักงานกฎหมาย KAT ตั้งอยู่ที่อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 17 ซึ่งเป็นที่อยู่ของเขาด้วยเช่นเดียวกัน มีชื่อเสียงจากคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครอง คดีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกขัดต่อรัฐธรรมนูญ และคดีการเมือง เช่น คดีนายยงยุทธ ติยะไพรัชทุจริตการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 จนนำไปสู่การยุบพรรคเมืองในเวลาต่อมา คดีการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ เป็นต้น[1]
การชุมนุมทางการเมือง
[แก้]นายนิติธร เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาก่อนทั้งในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 โดยมีบทบาทเป็นทนายความดูแลเรื่องคดีความทางกฎหมายให้แก่กลุ่ม
ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายนิติธรได้เข้าร่วมชุมนุมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่สวนลุมพินี จากนั้นเมื่อกปท.ได้ย้ายสถานที่ชุมนุมจากสวนลุมพินีเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกัน เมื่อรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ขึ้นมาใช้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุกคืบเข้ามาขอคืนพื้นที่ ทางแกนนำกปท.ได้ตัดสินใจที่จะกลับไปชุมนุมยังสวนลุมพินีที่เดิม ยังความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุมบางส่วน ซึ่งรวมถึงนายนิติธรด้วย ทั้งหมดจึงได้เคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังที่แยกอุรุพงษ์ เขตราชเวที แทน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตพระราชบัญญัติฯ และร่วมกับแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งกลุ่มชุมนุมขึ้นมาใหม่ คือ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งต่อมาได้ชุมนุมคู่ขนานกับการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ไปด้วย[2]
ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากการชุมนุมในครั้งนี้ ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย นายนิติธรเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 11[3] [4]
ต่อมา นิติธรก่อตั้งกลุ่มประชาชนคนไทย เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองตอ่ต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา [5] ก่อนที่ต่อมา นิติธรได้นำกลุ่มประชาชนคนไทยเดิม รวมเข้ากับ คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก่อตั้งเป็น "คณะหลอมรวมประชาชน" เพื่อเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "นิติธร ล้ำเหลือ". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
- ↑ "'นิติธร ล้ำเหลือ'"ไม่มีนักการเมืองคนไหนมาสั่งผมได้"". ผู้จัดการออนไลน์. 19 October 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ที่เหลือยกคำร้อง". Thairath.co.th. 14 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ศาลอนุมัติออกหมายจับแกนนำ กปปส. 30 ราย-ยกคำร้อง 13". Posttoday.com. 14 พฤษภาคม 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-15. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กลุ่มประชาชนคนไทย แถลง "ขอให้รัฐบาลเสียสละลาออก"