สมชัย ศรีสุทธิยากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมชัย ศรีสุทธิยากร
กรรมการการเลือกตั้ง
ดำรงตำแหน่ง
13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2561[1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (65 ปี)
อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2561–2562)
เสรีรวมไทย (2564–2566)
คู่สมรสจิราวดี ศรีสุทธิยากร (เสียชีวิต)
สุกัญญา นิลสม (2561–ปัจจุบัน)

รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 23 ตุลาคม พ.ศ. 2501) นักวิชาการชาวไทย อดีตข้าราชการบำนาญมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง[2] อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย (สร.)[3]รับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ก่อนลาออกใน วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ประวัติ[แก้]

เป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร จบการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (สพบ.)[4] รับราชการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี มธ.[1] เคยมีประสบการณ์เป็นกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เมื่อ พ.ศ. 2540–2545[1]

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์สมชัย ยังเป็นเจ้าของตำรา ‘คู่มือความสามารถทั่วไป สอบบรรจุเข้าเป็นราชการพลเรือน ก.พ.’ และเปิดบรรยายติวสอบภาค ก. เพื่อรับราชการท้องถิ่น เกี่ยวกับ กม. 11 ฉบับ นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย   พรบ.การบริหารราชการแผ่นดิน พรบ.ท้องถิ่น ต่าง ไปจนถึง ระเบียบงานสารบรรณ[5]

ประวัติการศึกษา[แก้]

ประสบการณ์การทำงาน[แก้]

พ.ศ. 2553 ที่ปรึกษาการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม

พ.ศ. 2553 ที่ปรึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พ.ศ. 2553 ที่ปรึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าว ในส่วนการตลาดภายในประเทศ และการบริหารจัดการขนส่งและบริการ (Logistics) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

พ.ศ. 2552–2553 ที่ปรึกษาในการจัดการให้มีกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 3

พ.ศ. 2552 ที่ปรึกษาในการจัดระบบการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 3 โดยทำหน้าที่จัดเวทีสาธารณะในพื้นที่ต่าง ๆ 9 เวที ใน 9 จังหวัด กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

พ.ศ. 2550 กรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ศ. 2550 หัวหน้าทีมที่ปรึกษาในการประเมินผลการทำงานของกองทุนในสังกัดกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนผู้สูงอายุ  กองทุนแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการครู กองทุนรวมแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และกองทุนแก้ไขปัญหาราคาอ้อยและน้ำตาล

พ.ศ. 2550 ที่ปรึกษาการประเมินผลการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการบริหาร  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

พ.ศ. 2548–2553 ที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) แผนบริหารการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change) แผนจัดการความรู้ (KM.) แผนพัฒนาคุณภาพการบริหารการจัดการ (PMQA) และ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและตัวชี้วัดผลสำเร็จในการทำงาน (KPIs.) สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

พ.ศ. 2548 ที่ปรึกษาด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี กระทรวงแรงงาน

พ.ศ. 2548 ที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี วุฒิสภา

พ.ศ. 2547–2548 ที่ปรึกษาการทำแผนข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change) จังหวัดสมุทรสาคร

พ.ศ. 2547–2548 ที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนใต้ 4 จังหวัด (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์)

พ.ศ. 2547–2548 หัวหน้าทีมที่ปรึกษาในการประเมินการทำงานตามยุทธศาสตร์และแผนการปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทย ในนามของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และบริษัท TRIS

พ.ศ. 2547 หัวหน้าทีมที่ปรึกษา การประเมินผลการปฏิบัติงานผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล) บริษัท Thai Rating and Information Services (TRIS)

พ.ศ. 2545 หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านมวลชนสัมพันธ์  โครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (แหลมผักเบี้ย) โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 4 จังหวัด คือ นครปฐม สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม และเพชรบุรี จำนวน 60 เวที

พ.ศ. 2561 สมชัยถูกถอดจากตำแหน่ง กกต. ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความเห็นทางการเมือง[แก้]

หลัง คสช. มีประกาศให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้ปกครองท้องถิ่น สมชัยเห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะกลับมาเป็นปกติเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขากล่าวว่าการหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ คสช. กำหนดจะไม่เป็นปัญหา และ กกต. พร้อมมีส่วนในกระบวนการสรรหา[7]

สมชัยกล่าวในคำแถลงซึ่งชี้ความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ในประเทศไทยและประเทศสกอตแลนด์ในคราวร่วมสังเกตการณ์การลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ พ.ศ. 2557 ว่า "ผู้สนับสนุนเอกราชของสกอตแลนด์และผู้คัดค้านเป็นมิตรต่อกัน ต่างฝ่ายต่อสู้ด้วยเหตุผล ไม่มีความรุนแรง"[8]

สมชัยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการขายเสื้อรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญว่าอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้[9]

สมชัยกล่าวต่ออีกว่า ส่วนมาตรา 56 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใด ๆ เพื่อเป็นการให้คุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง กรณีนี้ คสช. ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานของรัฐ) แต่ คสช. สามารถใช้อำนาจหน้าที่ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดังนั้น จึงจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้อำนาจดังกล่าวที่อาจเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง และมาตรา 169 (4) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง กรณีนี้เป็นการบังคับในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้น คสช. ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการดำเนินการใด ๆ ที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง[10]

ต่อมา สมชัยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้เตรียมเข้าไปสมัครเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เวลา 14.00 น. และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสมุทรสาคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ในวันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เวลา 19.30 น. ก่อนวันประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และมีมติสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย สมชัย ศรีสุทธิยากรได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค โดยกล่าวว่า

ขอบคุณ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยให้โอกาสลงรับสมัครเลือกตั้ง และให้การสนับสนุนต่าง ๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย แต่เมื่อแนวทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน คงขออนุญาตที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคครับ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 สมชัยได้เริ่มเขียนนิยายสั้นล้อเลียนการเมืองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว และแฟนเพจที่ลิงก์กับเฟซบุ๊กส่วนตัว ใช้ชื่อว่า "สามก๊กฉบับชาติวิบัติ" โดยมีการประยุกต์เอาสำนวนของวรรณกรรมสามก๊ก ตลอดจนวรรณกรรมอื่น ๆ มาเขียนโดยล้อกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยได้มีการรวมเล่มพิมพ์ออกจำหน่ายแล้ว 2 เล่ม[11]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ประวัติรองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา และเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2013-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  2. เลือกสมชัย-บุญส่ง-ประวิชนั่งกกต. โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ 15 ตุลาคม 2556 เวลา 14:20 น. เก็บถาวร 2021-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  3. ข่าว WorkpointToday
  4. เปิดปูม “5 เสือ กกต.” ชุดใหม่ สำนักข่าวอิศรา, 18 ตุลาคม 2556
  5. "ประวัติ รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-07. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
  6. คอลัมภ์เปิดปูม “5 เสือ กกต.” ชุดใหม่ จากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา สืบค้นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  7. "Regime halts local polls". Bangkok Post. 2014-07-17. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18.[ลิงก์เสีย]
  8. "Thailand's Election Commission travel to Scotland to 'learn how to vote'". The Independent. 2014-09-19. สืบค้นเมื่อ 2014-09-29.
  9. "กกต.เตือนเพจกลุ่มการเมืองขายเสื้อรณรงค์ชี้นำ ส่อผิด พ.ร.บ.ประชามติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-08. สืบค้นเมื่อ 2016-05-11.
  10. “สมชัย” เตือน คสช. ใช้อำนาจ-ตำแหน่ง สนับสนุนพรรคการเมือง ระวังผิดกฎหมาย
  11. “สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” หนังสือที่อยากให้ “บิ๊กตู่” อ่าน
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๒[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๓๓๔, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓

แหล่งข้อมูล[แก้]