ข้ามไปเนื้อหา

กรณีตากใบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรณีตากใบ
เป็นส่วนหนึ่งของ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
แผนที่จังหวัดนราธิวาสจุดเกิดเหตุอำเภอตากใบ
สถานที่สถานีตำรวจภูธรอําเภอตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
วันที่25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 (19 ปีที่แล้ว)
ตาย85 คน[1][2][3]

กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์จลาจลที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว โดยมีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมามุงดูนับพันคนจนทหารต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 6 คน จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน โดยรัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท[4][5]

เหตุการณ์

[แก้]

เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เมื่อสมาชิกของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธได้โจมตีที่ตั้งแห่งหนึ่งของกองทัพ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึกจากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้วในบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี[6]

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอําเภอตากใบ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการคุมขังประชาชน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินและพยายามจะบุกสถานีตำรวจ กองกำลังความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงตอบโต้ มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ซึ่งคนจำนวนมากถูกทุบตี ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก 79 คนเสียชีวิต[6] การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกระทันหันจากความร้อน และการชัก ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพที่แอดอัดเกินไประหว่างการเดินทางและอยู่ในรถบรรทุกทหารกว่า 6 ชั่วโมงและจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม เสียชีวิตรวม 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย

ผลที่ตามมา

[แก้]

เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายให้เกิดการประท้วงอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ[7] วีซีดีซึ่งจัดทำโดยกลุ่มมุสลิม ได้แสดงให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์เช่นเดียวกับเสียง วีซีดีเหล่านี้ได้ถูกส่งเวียนไปตามกลุ่มมุสลิมในประเทศไทย[8] รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อ้างว่าเป็นการผิดกฎหมายในการครอบครองวีซีดีดังกล่าวและกล่าวว่ารัฐบาลสามารถฟ้องร้องผู้ที่มีไว้ในครอบครองได้ โดยวีซีดีดังกล่าวมีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อและมุ่งโจมตีรัฐบาลทักษิณ[8]

ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ ปฏิกิริยาแรกของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ออกมากล่าวว่าชายเหล่านี้เสียชีวิต "เพราะพวกเขายังอ่อนแอจากการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน"

กระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 ไม่มีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[9] ต่อมานายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวแสดงความขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ดังกล่าว[10]

ภาคประชาสังคมได้มีความพยายามเรียกร้องสันติภาพ[11][12][13][14][15][16] รวมทั้งต่อต้านการใช้ความรุนแรง[17][18][19]

ผลสอบคณะกรรมการ

[แก้]

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง คณะกรรมการได้รายงานข้อค้นพบกับรัฐบาลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 แต่ข้อค้นพบดังกล่าวไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ[6] โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล นอกจากนี้คณะกรรมการดังกล่าวยังพบว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์[20]โดยผลสอบของคณะกรรมการเป็นดังนี้

  • พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
  • พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ได้รับคำสั่งจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุกหรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น
  • พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีไม่อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรี ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น[21]

คดีความ

[แก้]

จากเหตุการณ์เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ เป็นการตายผิดธรรมชาติที่ต้องชันสูตรพลิกศพและต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้ศาลไต่สวน โดยผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่าปลายปี พ.ศ. 2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงความเห็นว่าไม่พบผู้กระทำความผิด ให้งดการสอบสวน ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 78 คน ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งผลการไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในปี พ.ศ. 2552 ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผลการไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพของศาล จะต้องถูกส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่าสำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกส่งถึงอัยการสูงสุดมาก่อน

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตํารวจภูธรหนองจิก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจํานวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส[22]

กระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีจำเลยรวม 7 คนในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว และยกฟ้องจําเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจํานวน 2 คน ได้แก่ พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และ พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสถานีตํารวจภูธรตากใบ ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานและมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง[23] สำหรับจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย

  • จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย
  • จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารรราบที่ 5
  • จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา
  • จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตํารวจภูธรตากใบ
  • จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส[24]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Tak Bai and Krue Se Report". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 29 August 2015.
  2. Nick Cumming-Bruce (11 November 2004). "In southern Thailand, a crossroads of terror". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2012. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
  3. Roger Hardy (15 February 2005). "Thailand: The riddle of the South". BBC News. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
  4. 25 ตุลาคม 2547 – เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ตากใบ
  5. อธิบายให้เข้าใจเหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ ที่ถูกหยิบมาถามใน Clubhouse
  6. 6.0 6.1 6.2 Amnesty International Annual Report 2005 รายงานประจำปีของแอมเนสตีอินเทอร์เนชันแนล บันทึกงานสิทธิมนุษยชนที่องค์กรดำเนินการระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2004 นน. 249-250.
  7. เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน
  8. 8.0 8.1 "2bangkok.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  9. "Amnesty Internation Report 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-12. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  10. The Nation, PM Surayud issues apologies for Tak Bai Massacre, 3 November 2006
  11. การเรียกร้องสันติภาพกรณีตากใบ
  12. “พันแสงรุ้ง” สารคดีสร้างสรรค์เพื่อสันติภาพแดนใต้
  13. เพื่อสันติภาพชายแดนใต้[ลิงก์เสีย]
  14. เวทีถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ “คืนอากาศให้ตากใบ โอกาสกับสันติภาพ”
  15. วันสตรีสากล (3) "ผู้หญิงคือทุกๆ ความเป็นไปได้ แม้กระทั่งสร้างสันติภาพ"
  16. เหตุการณ์ตากใบ ประชาชนยังอยากเห็นสันติสุขที่แท้จริง
  17. รุมประณาม! เหตุระเบิด หน้าโรงเรียนตากใบ
  18. สภานักเรียน ร.ร.เอกชนฯ ออกแถลงการณ์ ต่อต้านผู้ก่อเหตุระเบิดตากใบ
  19. มาราปาตานีแถลงการณ์ประณามเหตุระเบิดที่-อ-ตากใบ-จ-นราธิวาส[ลิงก์เสีย]
  20. "รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการ 11 คนเพื่อสืบสวนหาความจริง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-01. สืบค้นเมื่อ 2017-11-11.
  21. สลายการชุมนุมตากใบ: ประสบการณ์ลืมไม่ลงของ “ไทยมุง” สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564
  22. "แสงสุดท้าย "ตากใบ" โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ". Thai PBS. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  23. "ศาลรับฟ้อง 7 จำเลยคดีตากใบ อดีต ขรก.ชั้นผู้ใหญ่ ล้วนแต่อายุ 70 อัพ". Thairath. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  24. "เปิดชื่อ 7 จำเลย คดีตากใบ ศาลรับฟ้องคดีเลือดปี 47 ก่อนหมดอายุความ 2 เดือน". Matichon. 23 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]