เกษียร เตชะพีระ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เกษียร เตชะพีระ | |
---|---|
เกิด | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2500 |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | อาจารย์, นักวิชาการ |
ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ (เกิด 23 ธันวาคม 2500) เดิมชื่อ โต๊ะฮง แซ่แต้ บิดามารดา เป็นคนจีนแต้จิ๋ว เกิดและเติบโตย่านเยาวราชและเจริญกรุง เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 และอดีตหัวหน้าสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดงรุ่น 27) หลังออกจากป่าก็ได้กลับมาศึกษาปริญญาตรีต่อเมื่อปี 2523 (เกษียรรหัส 18 ซึ่งห่างจากนักศึกษารุ่นน้องรหัส 23 ประมาณ 5 ปี) ต่อมาเกษียรได้รับทุนพร้อมคำเชื้อเชิญจากเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ให้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์เนล และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน มีบทความ บทสัมภาษณ์ และหนังสือวิชาการมากมาย
ประวัติการศึกษา
[แก้]ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ หรือที่รู้จักในนาม ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ ศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่นที่ 36) จากนั้นศึกษาต่อในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกจากคณะรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา
เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
[แก้]เกษียรเล่าสภาพสังคมในตอนนั้นไว้ว่า (เมื่อ) วันที่ 20 สิงหาคม 2518 กลุ่มนักเรียนอาชีวะยกขบวนบุก มธ.ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สั่งให้คนออกเพราะกลัวปะทะ แต่พวกผมซึ่งเป็นนักกิจกรรม ทำงานอยู่อมธ.เราแค่ดึงเสื้อออกมาปิดหัวเข็มขัด แล้วก็เดินๆดูพวกอาชีวะขว้างระเบิด บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ และ(พวกอาชีวะ)ก็หิ้วข้าวของ ทรัพย์สินติดตัวไปเป็นที่ระลึก"[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกษียรไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม เขารับหน้าที่ดูแลหน้าเวทีและเป็นโฆษกประจำเวทีในช่วงผลัดสายและกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวรของ กฤษฎางค์ นุตจรัส และ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เช้าวันที่ 6 ตุลานั้นเองก็มีการล้อมปราบนักศึกษาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามและใช้ความรุนแรงของรัฐ จับขังนักศึกษา ปัญญาชน กรรมกรหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สมัครพรรคพวกนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก
หนีเข้าป่า
[แก้]เกษียรตัดสินใจเข้าป่าพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ (หมอคง) ตามธรรมเนียมก่อนเข้าป่าจะต้องตั้งสรรพนามใหม่แทนชื่อเดิมตนเอง เพื่อไม่ให้มีลำดับชั้นสูงต่ำ ทุกคนจึงต้องมีชื่อเรียกแทนตัวเองว่าสหาย เกษียรมีชื่อแทนสรรพนามในป่าของตัวเองว่า "สหายมา" เข้าไปอาศัยอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับหน้าที่ให้ทำงานเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์กับครูโรงเรียนการเมืองการทหาร
เกษียรเองเคยเล่าช่วงชีวิตบางส่วนตอนเข้าป่าว่า ผมเองความจริงสังกัดกองบรรณาธิการนิตยสารธงชัย ของภาคอีสานใต้ แต่เนื่องจากการตีพิมพ์ค่อนข้างติดขัด ออกได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอ เพราะกระดาษขาดแคลนและบางทีก็หมดสต๊อคเอาดื้อๆ บ่อยครั้งหน่วยงานมวลชนฝ่ายจัดหาและหน่วยทหารลำเลียง โดนทางราชการปิดล้อมตรวจค้นเข้มข้น ขนกระดาษเล็ดลอดเข้ามาไม่ได้. ในจังหวะว่างงาน ผมจึงมักถูกจัดตั้งส่งไปติดสอยห้อยตามเป็นหางเครื่องอยู่กับวงที่มั่นแดง รับหน้าที่เล่าข่าวคราวสถานการณ์ให้สหายและมวลชนตามทับที่ตั้งต่างๆ ฟัง สลับรายการบันเทิง พร้อมทั้งช่วยตีฉิ่งปรบมือร้องเพลงเชียร์รำวงประกอบเวลาพวกเขาจรยุทธ์ไปเปิดแสดงกลางป่า กลางทุ่ง ตามแนวหน้าแนวหลังเป็นพัก ๆ’'[ต้องการอ้างอิง]
กลับมาศึกษา
[แก้]การต่อสู้ระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับพรรคคอมิวนิสต์สิ้นสุดลง เมื่อรัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนท่าทีความสัมพันธ์ใหม่กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ส่งผลให้นักศึกษาจำนวนมากออกจากป่า กลับมาเรียนและประกอบอาชีพเป็นปกติในสังคมอีกครั้ง ฝ่ายเกษียร หลังออกจากป่าเกษียรก็ได้กลับมาเรียนที่คณะเดิม (รัฐศาสตร์) อีกครั้งในปี พ.ศ. 2524
เกษียรกลับมาเรียนปริญญาตรีจนสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและเป็นอาจารย์ ต่อมาได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลกับศาสตราจารย์ เบเนดิก แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์กิตติคุณมหาวิทยาลัยคอร์แนล ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ชื่อ Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958" และกลับมาเป็นนักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนื่องจากเกษียรเป็น อดีตกรรมการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519 (สังกัดพรรคพลังธรรม) เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นใกล้เคียงกับ ธงชัย วินิจจะกูล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (นักศึกษารุ่น 6 ตุลา )
เกษียร จึงนับเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่มีฐานความคิดมาจากฝ่ายซ้าย เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตอนเป็นนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสภาพการเอารัดเอาเปรียบทางสังคมที่สะสมมาอย่างยาวนานภายใต้ระบอบเผด็จการถนอม ประภาส ต่อมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้จับอาวุธเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ชีวิตผกผันสุดท้ายได้กลายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเดินทางตามสายพานทุนนิยมเหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่น (6 ตุลา) อีกหลายคน[ต้องการอ้างอิง]
ครั้งหนึ่งอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน (หรือครูเบ็น) เคยทักทายเกษียรเมื่อตอนมาสัมมนาวิชาการที่ธรรมศาสตร์ว่า “อ้าวคาเสี้ยนเดี๋ยวนี้เอาความรู้ไปรับใช้กระฎุมพีแล้วนะ ฮ่าๆ "
การเรียนการสอนของเกษียร เตชะพีระ
[แก้]เกษียรเป็นอาจารย์ที่มีแนวทางการสอนที่แปลกออกไปจากอาจารย์คนอื่นๆในคณะรัฐศาสตร์ กล่าวคือ เขามักทำให้เรื่องทฤษฏีการเมืองและปรัชญาการเมือง เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายโดยยกตัวอย่างและเปรียบเทียบกับบริบทในปัจจุบัน ดังนั้น เรื่องที่เกษียรเล่าให้นักศึกษาฟังในคาบ แม้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องตลกขบขับ แต่ล้วนผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดลออแล้วว่าจะสามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจภาพเรื่องนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น การเน้นย้ำถึงการอ่าน text ด้วยความเข้าใจของตัวนักศึกษาเอง เพราะจะติดตัวนานกว่าจดจำตามอาจารย์บอกที่หลังสอบก็ลืมแล้ว และในตอนท้ายเทอมจะให้นักศึกษาคิดและตั้งคำถามของตัวเองสำหรับใช้ในการสอบปลายภาค โดยผ่านการขัดเกลาคำถามจากเกษียร(ผู้สอน)อีกครั้ง นั้นหมายความว่า เกษียรให้นักศึกษาฝึกตั้งคำถามด้วยตัวเองและเป็นภารกิจที่นักศึกษาต้องหาคำตอบมาตอบคำถามที่ตัวเองตั้งให้ได้
ความสนใจและเชี่ยวชาญทางวิชาการ
[แก้]- ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมือง
- ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย
- ปัญญาชนสาธารณะไทย
- สังคมนิยม มาร์กซิสต์
- กลุ่มชาติพันธ์จีนในประเทศไทย และแนวคิดชาตินิยมไทย
- การเมืองของวิกฤติเศรษฐกิจ เสรีนิยมโลกาภิวัตน์
เกียรติประวัติ
[แก้]- รางวัลรายงานวิจัยดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2551
- รางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555
ผลงานวิชาการและรวมบทความ
[แก้]- ความคิดทางจริยศาสตร์ของทรอตสกี้ / แปลโดย เกษียร เตชะพีระ การอรรถาธิบายลัทธิสตาลินของทรอตสกี้ (2528)
- รู้สึกแห่งยุคสมัย (2532)
- วิสามัญสำนึก : รวมบทความและทรรศนะที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ชีวิต (2537)
- ย้อนศรวันเวย์ (2537)
- จารึกร่วมสมัย : การเมืองไทยในยุคหลีกภัย (2537)
- แลลอดลายมังกร : รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม (2537)
- จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน : คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดย รัฐของไทย (2537)
- วิวาทะโลกานุวัตร (2538)
- อึ่งตี่เกี้ย : เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก / หลินปัน เขียน ; เกษียร เตชะพีระ แปล.(2540)* ถิ่นกาขาว : เศรษฐกิจการเมืองไทยใต้เงาไอเอ็มเอฟ (2542)
- อเมริกันลำพอง(2546)
- บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (2547)
- ตรวจบัญชีสันติภาพ : แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้ : คำบรรยายพิเศษ / รณพีร์ ซามัดดาร์ ; แปลโดย เกษียร เตชะพีระ (2548)
- คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า / by Jonathan Barker ; เกษียร เตชะพีระ แปล (2548)
- รัฐประหารกับประชาธิปไตยไทย (2550)
- ทางแพร่งและพงหนาม : ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย (2551)
- สงครามระหว่างสี. เกษียร เตชะพีระ เล่ม 1, ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (2553)
- สงครามระหว่างสี. เกษียร เตชะพีระ เล่ม 2, ในคืนวันอันมืดมิด (2553)
- อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ / โดย ประชา สุวีรานนท์ ; และ, บริโภคความเป็นไทย / โดย เกษียร เตชะพีระ (2554)
- การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง / โดย สตีเว่น ลุคส์, เกษียร เตชะพีระ แปล.(2554)
- เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัฒน์ Openbooks, (2555)
- นิทานประชาธิปไตยไทย : ตำนานฐานรากของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ปาฐกถานำ โดยเกษียร เตชะพีระ, ปฤณ เทพนรินทร์. (2555)
- มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง : รวมกาพย์กลอนการเมืองในทศวรรษอันสาบสูญ (2557)
- Marx: A Very Short Introduction โดย Peter Singer เกษียร เตชะพีระ แปล (2558)
- เสรีนิยมกับประชาธิปไตย โดย NORBERTO BOBBIO เกษียร เตชะพีระ แปล สำนักพิมพ์ คบไฟ,(2558)
- Populism: A Very Short Introduction โดย Cas Mudde & Cristobal Rovira Kaltwasser เกษียร เตชะพีระ แปล (2561)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2560 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[1]
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[2]
- พ.ศ. 2552 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[3]
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๗ ข หน้า ๕, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๒[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑๓๔, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓