ข้ามไปเนื้อหา

ศิริโชค โสภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศิริโชค โสภา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 มิถุนายน พ.ศ. 2510 (57 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองนำไทย (2538–2539)
ประชาธิปัตย์ (2539–2567)
ลายมือชื่อ

ศิริโชค โสภา (เกิด 14 มิถุนายน พ.ศ. 2510) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่รู้จักในฉายา วอลล์เปเปอร์ จากการมักปรากฏตัวหลังนายกรัฐมนตรีเมื่อปรากฏภาพในจอโทรทัศน์เสมอๆ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับในฉายานี้เป็นอย่างดี[1] เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ รายการสายล่อฟ้า ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล อีกด้วย[2]

ประวัติ

[แก้]

นายศิริโชค โสภา เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน (บิดา-นายบัวไส เป็นชาวจีนสัญชาติลาว, มารดา-นางเสาวรส) มีชื่อเล่นว่า "เล็ก" จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมจากโรงเรียน St Bede's Preparatory School, Eastbourne และ Eastbourne College , Eastbourne ประเทศอังกฤษ ปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านเคมีและการจัดการจาก ราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

งานการเมือง

[แก้]

นายศิริโชค มีประสบการณ์ทางการเมืองโดยเป็นเลขาธิการส่วนตัวของนายชวน หลีกภัย ในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระที่ 2 ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2538 สังกัดพรรคนำไทย ที่จังหวัดสงขลา ภูมิลำเนาเดิม[3] และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ นายศิริโชคมีตำแหน่งอื่นๆได้แก่ เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์

บทบาทในทางการเมืองของนายศิริโชค เป็นที่โดดเด่นมาก โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นการทุจริตในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วาระที่ 2 เช่น เรื่องการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX ในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียง ส.ส. หน้าใหม่ จนได้รับเลือกจากสื่อมวลชนให้เป็นดาวเด่นประจำสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2544 และได้รับเลือกให้เป็นผู้อภิปรายดีเด่นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี พ.ศ. 2545

นายศิริโชค ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 เขตการเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา และได้รับเลือกด้วยคะแนน 92,927 คะแนน ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ โดยนายศิริโชคได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ โฆษกรัฐบาลเงา ร่วมทีมกับ ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก ที่ทำหน้าที่ รองโฆษกรัฐบาลเงา

ภายหลังที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 27 นายศิริโชคได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี และมีบทบาทตอบโต้กับฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้าม จนได้รับฉายาจากฝ่ายค้านว่า วอลล์เปเปอร์

เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์คณะที่ 2 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายศิริโชค ได้รับเลือกเป็น รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเงา

นายศิริโชค ยังคงเป็นโสด มีกิจกรรมที่ชื่นชอบและนิยมทำในเวลาว่าง คือ การเต้นเบรกเด๊นซ์ และชื่นชอบทีมสโมสรฟุตบอลสโตกซิตี้ นายศิริโชคยังเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้นายศิริโชคชดใช้เงินให้ นาย อนุชา สิหนาทกถากุล จำนวน 2 ล้านบาท

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3352/2558 ที่ นาย อนุชา สิหนาทกถากุล ฟ้องนายศิริโชค โสภา โดยมีคำสั่งรอลงอาญาโทษจำคุก 2 ปี ปรับเงิน 1 แสนบาท[4]

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เขาถูกวิจารณ์อีกครั้งภายหลังที่เขาโพสต์ขอโทษ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องมาจากการส่อเสียดในรายการสายล่อฟ้าโดยปรากฏคำพูดออกรายการในขณะนั้นว่า ยิ่งลักษณ์ เอาอยู่ โดย นาย ศิริโชค เจตนาให้ผู้ชมเข้าใจคำว่า เอาอยู่ ในลักษณะที่หมิ่นประมาทว่า ยิ่งลักษณ์ กำลังมีเพศสัมพันธ์ อยู่ ณ โรงแรมโฟร์ซีซันส์ [5]ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ ห้าหมื่นบาท และคดีกำลังเข้าสู่ศาลฎีกา ปรากฏว่า นายศิริโชคขอไกล่เกลี่ยเป็นการขอโทษผ่านเฟสบุ๊ค ภายหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นถอนฎีกาแล้ว ปรากฏว่า เขาลบข้อความขอโทษออกทันที ซึ่งได้รับคำวพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนสุดท้ายเขาขอประกาศลงคำขอโทษไว้ 7 วัน[6]

เขาได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567 หลังพรรคมีแนวโน้มตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ[7]

พิธีกรรายการโทรทัศน์

[แก้]

นายศิริโชค เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ รายการสายล่อฟ้า ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล โดยเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรายการ 3 คน คือ นายศิริโชค โสภา, นายเทพไท เสนพงศ์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ซึ่งปัจจุบันรายการสายล่อฟ้าได้ยุติการออกอากาศไปแล้ว และนายศิริโชคก็ได้ถูกวางตัวเป็นผู้ดำเนินรายการเกี่ยวกับการต่างประเทศแทน[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศิริโชค ฉายาวอลล์เปเปอร์ประจำตัวนายกฯ[ลิงก์เสีย]
  2. เว็บไซต์สถานีบลูสกาย
  3. รายละเอียดส่วนตัวจากเฟซบุ๊กเพจ
  4. สั่งจำคุก2ปีปรับ1แสน 'ศิริโชค' โพสต์หมิ่นฯ ให้รอลงอาญา2ปี
  5. หายวับ! 'ส.ส.ประชาธิปัตย์' ลบโพสต์ขอขมา "ยิ่งลักษณ์" กุเรื่อง ว.5 โฟร์ซีซั่น!
  6. ‘ศิริโชค’ กลับมาโพสต์ขอโทษ ‘ปู’ ทิ้งไว้ 7 วัน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
  7. ศิริโชค โสภา ยื่นลาออกปชป. ทั้งน้ำตา รับไม่ได้อุดมการณ์เปลี่ยน ไปร่วมเพื่อไทย
  8. "ศิริโชค โสภา..มาเจาะลึกความรู้รอบตัวให้ฟังกันแบบสนุกๆลึก". เถกิง สมทรัพย์. 26 August 2014. สืบค้นเมื่อ 29 August 2014.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๐, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]