โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
Chulachomklao Royal Military Academy | |
ชื่อย่อ | รร.จปร. / CRMA |
---|---|
คติพจน์ | สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฒิ สาธิกา (ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชน ผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ) |
ประเภท | สถาบันการศึกษาทางทหาร |
สถาปนา | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 |
สังกัดการศึกษา | กรมยุทธศึกษาทหารบก |
ผู้บัญชาการ | พลโท อุดม แก้วมหา [1] |
ที่ตั้ง | |
สี | สีแดง-เหลือง |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ชื่อย่อ: รร.จปร.) เป็นสถาบันการศึกษาทางทหาร ในระดับอุดมศึกษาในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารบก กองทัพบก ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เรียกว่า นักเรียนนายร้อย (นนร.) ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า คือ จำปีสิรินธร ปัจจุบัน (1 ตุลาคม 2567) พลโท อุดม แก้วมหา เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พลตรี เทพพิทักษ์ นิมิตร และ พลตรี เอกอนันต์ เหมะบุตร เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกวว่า "ทหารมหาดเล็กไล่กา" จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า "ทหาร 2 โหล" และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด
พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า "กอมปานี" (company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์"
พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า คะเด็ตทหารมหาดเล็ก ส่วนนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" (cadet)
พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด "คะเด็ตทหารหน้า" ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า คะเด็ตสกูล สำหรับนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก
5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล
14 มกราคม พ.ศ. 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า โรงเรียนทหารสราญรมย์
6 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสอนวิชาทหารบก
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนทหารบก เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และเมื่อ 26 พฤษภาคม 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนนายร้อยทหารบก เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม
5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452
โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก
26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี
พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทฆนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค
2 ธันวาคม พ.ศ. 2485 – 14 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว
14 เมษายน พ.ศ. 2485 – พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น
ในห้วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 กิโลเมตร เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม
พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา
1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ให้ได้วิทยฐานะวิทยาศาสตรบัณฑิต ใช้อักษรย่อว่า วทบ. (ทบ.)
5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 ประดับธงไชยเฉลิมพล[2]
ต่อมาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด ด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้น สถานที่ฝึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศพันเอก) ได้เสด็จฯ มากระทำพิธี
30 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ข้าราชการ ลูกจ้าง นักเรียนนายร้อย พร้อมด้วยศิษย์เก่า ได้พร้อมใจกันเดินเท้าออกจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสถานที่ตั้งเดิมเข้าสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่ โดยมีพลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการนำกำลังพลเข้าสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่ด้วยความเรียบร้อยพร้อมเพรียงกัน
5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ถือเป็นการเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบัน[3][4]
การจัดหน่วย
[แก้]- กองบัญชาการ
- กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์
- กองพันที่ 1
- กองพันที่ 2
- กองพันที่ 3
- กองพันที่ 4
- ส่วนการศึกษา
- ส่วนวิชาทหาร
- ส่วนสนับสนุนและบริการ
- โรงพยาบาลโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
หลักสูตรการศึกษา
[แก้]- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
- วิศวกรรมเครื่องกล
- วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร
- วิศวกรรมอุตสาหการ
- วิศวกรรมโยธา
- วิศวกรรมแผนที่
- วิทยาศาสตรบัณฑิต
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ศิลปศาสตรบัณฑิต
รายนามผู้บัญชาการ
[แก้]รายนามผู้บัญชาการ | ||
---|---|---|
พระนามและนาม | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | พ.ศ. 2449–2452 | |
2. พันเอก พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ทองดี ภีมะโยธิน) | พ.ศ. 2456–2458 | |
3. พันเอก พระยาอุปเทศทวยหาญ (เชื่อม ประพันธโยธิน) | พ.ศ. 2458–2468 | |
4. พลตรี พระยารามรณรงค์ (หม่อมหลวงชวย ฉัตรกุล) | พ.ศ. 2467–2471 | |
5. พลตรี พระยาเสนีย์ณรงค์ฤทธิ์ (หม่อมหลวงเล็ก สนิทวงศ์) | พ.ศ. 2471–2473 | |
6. พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี | พ.ศ. 2473–2475 | |
7. พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) | พ.ศ. 2475–2476 | |
8. พันโท หลวงวิภาครัฐกิจ (ศุข เมนะรุจิ) | พ.ศ. 2476–2479 | |
9. พันเอก หลวงสวัสดิ์รณรงค์ (สวัสดิ์ ดาระสวัสดิ์) | พ.ศ. 2479–2483 | |
10. พันโท ขุนเรืองวีระยุทธ | พ.ศ. 2483–2489 | |
11. พลตรี หม่อมราชวงศ์เทียมพันธ์ กฤดากร ราชเสนากฤดากร | พ.ศ. 2489–2490 | |
12. พลตรี เดช เดชประดิยุทธ | พ.ศ. 2490 | |
13. พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ | พ.ศ. 2490–2491 | |
14. พลตรี กำปั่น กัมปนาทแสนยากร | พ.ศ. 2492–2495 | |
15. พลตรี ขุนเสนาทิพ | พ.ศ. 2495–2503 | |
16. พลตรี อ่อง โพธิกนิษฐ | พ.ศ. 2503–2506 | |
17. พลตรี บุญชัย บำรุงพงศ์ | พ.ศ. 2506–2507 | |
18. พลตรี สำราญ แพทยกุล | พ.ศ. 2507–2510 | |
19. พลตรี บุญ รังคะรัตน์ | พ.ศ. 2510–2515 | |
20. พลตรี ชัย สุรสิทธิ์ | พ.ศ. 2515–2519 | |
21. พลตรี ปิ่น ธรรมศรี | พ.ศ. 2519 | |
22. พลตรี จวน วรรณรัตน์ | พ.ศ. 2519–2522 | |
23. พลตรี ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค | พ.ศ. 2522–2524 | |
24. พลตรี วิจิตร สุขมาก | พ.ศ. 2524–2528 | |
25. พลตรี นิยม ศันสนาคม | พ.ศ. 2528–2531 | |
26. พลตรี เผด็จ วัฒนะภูติ | พ.ศ. 2531–2532 | |
27. พลตรี ขจร รามัญวงศ์ | พ.ศ. 2532 | |
28. พลโท สมพร เติมทองไชย | พ.ศ. 2532–2534 | |
29. พลโท วัฒนา สรรพานิช | พ.ศ. 2534–2536 | |
30. พลโท บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ | พ.ศ. 2536–2537 | |
31. พลโท อาวุธ วิภาตะพันธุ์ | พ.ศ. 2537–2539 | |
32. พลโท อำนวย สวนสมจิตร | พ.ศ. 2539–2541 | |
33. พลโท สมทัต อัตตะนันทน์ | พ.ศ. 2541–2543 | |
34. พลโท สมชาย อุบลเดชประชารักษ์ | พ.ศ. 2543–2544 | |
35. พลโท ชาตรี ศิรศรัณย์ | พ.ศ. 2544–2546 | |
36. พลโท พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ | พ.ศ. 2546 | |
37. พลโท ทรงกิตติ จักกาบาตร์ | พ.ศ. 2546–2547 | |
38. พลโท สุเทพ โพธิ์สุวรรณ | พ.ศ. 2547–2548 | |
39. พลโท กมล แสนอิสระ | พ.ศ. 2548–2550 | |
40. พลโท วรวิทย์ พรรณสมัย | พ.ศ. 2550–2552 | |
41. พลโท ปริญญา สมสุวรรณ | พ.ศ. 2552–2554 | |
42. พลโท ดนัย มีชูเวท | พ.ศ. 2554–2555 | |
43. พลโท พอพล มณีรินทร์ | พ.ศ. 2555–2557 | |
44. พลโท ชาญชัย ยศสุนทร | พ.ศ. 2557–2558 | |
45. พลโท ถกลเกียรติ นวลยง | พ.ศ. 2558–2559 | |
46. พลโท สิทธิพล ชินสำราญ | พ.ศ. 2559–2562 | |
47. พลโท ณัฐวุฒิ ชุณหะนันทน์ | พ.ศ. 2562-2563 | |
48. พลโท จิรเดช กมลเพ็ชร | พ.ศ. 2563-2564 | |
49. พลโท ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ | พ.ศ. 2564-2566 | |
50. พลโท ไกรภพ ไชยพันธ์ | พ.ศ. 2566-พ.ศ.2567 | |
51. พลตรี อุดม แก้วมหา[5] | พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน |
หมายเหตุ คำนำหน้านาม ตำแหน่งทางการทหาร พระนาม หรือนามของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเป็นคำนำหน้านาม ตำแหน่งทางการทหาร พระนาม หรือนามในขณะดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
รายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- พลเอก บรรจบ บุนนาค (รุ่นที่ 1) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก ปัญญา สิงห์ศักดา (รุ่นที่ 1) อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
- พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ (รุ่นที่ 1) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
- พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (รุ่นที่ 1) อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ (รุ่นที่ 2) อดีตองคมนตรี
- พลเอก สุจินดา คราประยูร (รุ่นที่ 5) อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี (รุ่นที่ 5) อดีตผู้บัญชาการทหารบก
- พันเอก ณรงค์ กิตติขจร (รุ่นที่ 5) อดีตหัวหน้าพรรคเสรีนิยม
- พลตรี จำลอง ศรีเมือง (รุ่นที่ 7) อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (รุ่นที่ 8) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก กิตติ รัตนฉายา (รุ่นที่ 8) อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
- พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (รุ่นที่ 10) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (รุ่นที่ 12) ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี
- พลเอก ชัยนันท์ เจริญศิริ (รุ่นที่ 16) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (รุ่นที่ 16) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (รุ่นที่ 17) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รุ่นที่ 17) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (รุ่นที่ 21) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (รุ่นที่ 21) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- พลเอก โปฎก บุญนาค (รุ่นที่ 22) รองประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
- พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (รุ่นที่ 23) องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (รุ่นที่ 23) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รุ่นที่ 23) องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ (รุ่นที่ 23) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (รุ่นที่ 23) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร (รุ่นที่ 23) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร (รุ่นที่ 23) อดีตรองประธานวุฒิสภา
- พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร (รุ่นที่ 23) อดีตสมาชิกวุฒิสภา
- พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล (รุ่นที่ 24) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- พลเอก อุดมเดช สีตบุตร (รุ่นที่ 25) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก ธีรชัย นาควานิช (รุ่นที่ 25) อดีตองคมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (รุ่นที่ 25) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา (รุ่นที่ 26) องคมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ (รุ่นที่ 26) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา (รุ่นที่ 26) อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
- พลเอก สมหมาย เกาฏีระ (รุ่นที่ 26) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ (รุ่นที่ 26) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ (รุ่นที่ 27) องคมนตรี
- พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท (รุ่นที่ 27) องคมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล (รุ่นที่ 27) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
- พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (รุ่นที่ 28) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี (รุ่นที่ 29) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก วิจักขฐ์ สิริบรรสพ (รุ่นที่ 29) อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (รุ่นที่ 31) อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตรองเลขาธิการพระราชวัง
- พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ (รุ่นที่ 32) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (รุ่นที่ 33) อดีตผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก เจริญชัย หินเธาว์ (รุ่นที่ 34) ผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก สุขสรรค์ หนองบัวล่าง (รุ่นที่ 34) รองผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ (รุ่นที่ 35) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- พลเอก ธราพงษ์ มะละคำ (รุ่นที่ 35) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า (รุ่นที่ 36) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์ (รุ่นที่ 37) เสนาธิการทหารบก
- พลตรี วินธัย สุวารี (รุ่นที่ 41) ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก
- พลตรี วันชนะ สวัสดี (รุ่นที่ 45) ผู้อำนวยการสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กรมยุทธการทหาร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 74 ตอนที่ 110 หน้า 3042, 24 ธันวาคม 2500
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-29. สืบค้นเมื่อ 2007-01-28.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-22. สืบค้นเมื่อ 2008-03-22.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 262 ง 21 กันยายน พ.ศ. 2567
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
[แก้]หนังสือและบทความ
[แก้]- ปวีณา มูซอเฮด. “การจัดการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ. 2491-2534.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.
- ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์. “หลักสูตรพลทหารกับการสร้างทหารในช่วงปฏิรูปกองทัพบกสยาม พ.ศ. 2448.” ใน รวมบทความประชุมวิชาการระดับชาติฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “มองโลกในไทย มองไทยในโลก” เล่มที่ 2. หน้า 118-158. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564.
- สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. “‘ปรัชญา’ และ ‘หัวใจ’ ของการผลิต ‘ทหารอาชีพ’ ตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยตะวันตก และข้อคิดสำหรับไทย.” ใน ชาญณรงค์ บุญหนุน, คงกฤช ไตรยวงค์ และพัชชล ดุรงค์กวิน (บก.), เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 ‘อยู่ด้วยกัน’: โลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น. หน้า 474-501. ม.ป.ท., 2561.
- อธิคม สุวรรณประสิทธิ์. “วัฒนธรรมทางการเมืองของนักเรียนนายร้อยทหารบกไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.
- Sukunya Bumroongsook. “Chulachomklao Royal Military Academy: The Modernization of Military Education in Thailand, 1887–1948.” PhD Dissertation, Northern Illinois University 1991.