วชิราวุธวิทยาลัย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ Vajiravudh College | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ประเภท | โรงเรียนประจำชายล้วน โรงเรียนเอกชน |
สถาปนา | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน |
รหัส | 1110100022 |
ผู้บังคับการ | เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | ประถมศึกษาปีที่ 4–มัธยมศึกษาปีที่ 6 |
จำนวนนักเรียน | 983 คน (กุมภาพันธ์ 2565) |
เพลง | เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี |
เว็บไซต์ | www |
วชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนประจำชายล้วน สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้นักเรียนย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วชิราวุธวิทยาลัยมีตึกที่พักนักเรียน เรียกว่า "คณะ" เป็นเสมือนบ้านของนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คณะเด็กโต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม แบ่งออกเป็น 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรลดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กสำหรับนักเรียนชั้นประถม แบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น รักบี้ฟุตบอล แบดมินตัน และสควอต นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซีย เป็นประจำทุก ๆ ปีและยังมีการแข่งกีฬาภายในโรงเรียนของแต่ละคณะอีกด้วย
ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งในเวลานั้นคือพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อรับกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ
ในวันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 จึงได้เปิดโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นการชั่วคราว โดยแบ่งพื้นที่ของอาคารโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมมหาราชวังสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งต่อมาได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ โดยโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เปิดทำการสอนขึ้นใหม่นั้น ได้พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนมหาดเล็กหลวง’
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 100,000 บาทเป็นทุนรอนของโรงเรียน โดยนำไปฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากเป็นสถานที่ทรงทดลองการจัดการศึกษาของชาติ ในลักษณะเดียวกับการที่ทรงตั้งดุสิตธานีสำหรับทดลองการปกครองในระบอบประชาธิไตยแล้ว ยังมีพระราชดำริอย่างใหม่ในการสร้างโรงเรียนแทนวัดด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์มีพระอารามหลวงอยู่มากแล้ว หากสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีก ก็จะเป็นพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นในขณะนั้นคือการให้การศึกษาแก่ราษฎร อันจะนำพามาซึ่งความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองในอนาคต ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยทรงให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้ไปตรวจพิจารณาหาสถานที่อันเหมาะสม ซึ่งได้พิจารณาเลือกที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ ‘สวนกระจัง’ บริเวณริมคลองเปรมประชากร ส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต เป็นสถานที่ตั้งถาวรของโรงเรียน
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ (Edward Healey) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์เป็นผู้วางผังโรงเรียนให้สอดรับกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากที่สวนกระจังแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนจากโรงเรียนชั่วคราวในพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ สวนกระจัง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำบุญขึ้นโรงเรียนใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454
เมื่อเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ พร้อมด้วยพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตะศิลปิน) นายช่างออกแบบของกรมศิลปากรจัดการออกแบบก่อสร้างหอสวดและหอนอนของนักเรียนแล้วเสร็จ ได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 750,000 บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรียนถาวรด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตร
สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาไปในแนวทางแบบพับบลิคสกูลของอังกฤษแล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมสั่งสอนนักเรียนมหาดเล็กหลวงไว้เป็นพิเศษ ดังปรากฏในพระราชบันทึกที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ความว่า
ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา
ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่า ๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง
สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน ‘ชั้นมัธยม’ ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่าง ๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุก ๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน ‘คนฉลาด’ บ่นอีกว่า ‘ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่าง ๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือจะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม
ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ด้วยในช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบให้สภาวะเศรษฐกิจไทยฝืดเคือง รัฐบาลจึงต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง รวมทั้งพระราชทรัพย์รายปีที่ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถูกตัดทอนลงด้วย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า ‘วชิราวุธวิทยาลัย’
อาคารเรียน
[แก้]อาคารเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งลักษณะของหอประชุม หอนาฬิกา อาคารจิตรลดา และตึกขาว เป็นอาคารที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2525 [1]
หอสวดหรือหอประชุม
[แก้]หอสวดหรือหอประชุม ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของโรงเรียน เป็นอาคารรูปทรงโกธิกที่ผสานรูปแบบศิลปกรรมไทยตามแนวคิดของศาสนสถานในพระพุทธศาสนาไว้อย่างกลมกลืน หน้าบันของหอประชุมทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์เทพทั้งสี่ในศาสนาฮินดู หอประชุมนี้จึงเปรียบเสมือนวิมานของทวยเทพ และเป็นที่ประชุมสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน ประกอบพิธีกรรมสำคัญของโรงเรียนสืบมาจนปัจจุบัน [ต้องการอ้างอิง]
หอประชุมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบหอสวดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นปฐม เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2460 [ต้องการอ้างอิง]
เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ ออกแบบหอสวดประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นไปตามแบบของพับลิกสกูลในอังกฤษ คืออยู่ตรงกลางโรงเรียน แต่ยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้สถาปัตยกรรมไทยและให้หันหน้ามาทางทิศตะวันออก [ต้องการอ้างอิง]
สุดทางเดินของหอสวดด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานธรรมาสน์บุษบกซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานใว้ ธรรมาสน์บุษบกนี้ได้รับมาจากงานพระศพของพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา โดยมีสัญลักษณ์ให้สังเกตและจำได้ว่าเป็นของพระองค์คือมีรูปราชสีห์จำหลักไม้ปิดทองเป็นฐานทั้ง 4 ด้านกับมีราชสีห์ปิดทองหมอบรองรับขั้นบันไดขึ้นธรรมาสน์ 3 ขั้น รูปราชสีห์นั้นสันนิษฐานว่า น่าจะมีที่มาจากพระนามกรมนครราชสีมา แหงนขึ้นไปมองด้านบนจะพบกับพระวิสูตร 3 องค์ สำหรับประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์บรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย องค์กลางประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ องค์ซ้ายประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์จอมพล จอมทัพบกสยาม และองค์ขวาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์เต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 องค์นี้ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิสูตร ซึ่งจะเปิดต่อเมื่อมีงานประจำปีของโรงเรียนเท่านั้น [ต้องการอ้างอิง] ลงมาข้างล่าง จะพบกับหน้าบันที่ไม่เหมือนกันทั้ง 4 ด้านของหอสวดแห่งนี้
ทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของหอสวด เป็นตราพระราชลัญจกรพระวชิระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์ในคัมภีร์ไตรเพท ซึ่งเป็นมูลรากแห่งศาสนาพราหมณ์นั้น พระอินทร์เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย นับว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถือไว้ซื่งอสุนีบาต และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อบำรุงพืชผลทั้งปวงในแผ่นดิน [ต้องการอ้างอิง]
ทิศเหนือ เป็นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ มีความในหนังสือวิษณุปุราณะ ซึ่งเป็นตำรับสำหรับแสดงเรื่องพระวิษณุสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า โลกนี้ไซร้ ได้บังเกิดมาแต่พระวิษณุ โลกนี้มีอยู่ในพระองค์ พระองค์เป็นผู้บันดาลให้โลกนี้คงอยู่และสูญไป [ต้องการอ้างอิง]
ทิศตะวันตก เป็นตราพระราชลัญจกรหงส์พิมาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นสยัมภู คือเกิดขึ้นอีกเอง กำเนิดของพระพรหมนี้ ตามคัมภีร์ต่าง ๆ ข้างศาสนาพราหมณ์มีเล่าเรื่องไว้ต่าง ๆ กันหลายอย่าง พระมนูว่าแรกบังเกิดนั้นเป็นไข่ฟองใหญ่ก่อน ไข่แตกออกแล้วจึ่งเป็นองค์พระพรหม แต่หนังสือมหาภารตะและคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่า พระพรหมาได้เกิดขึ้นในดอกบัวหลวง ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายณ์ พรหมาปุราณะกลับว่าพระพรหมา ฤๅในที่นี้เรียกว่า ‘อาปวะ’ ได้แบ่งพระองค์เป็น 2 ภาค เป็นชายภาคหนึ่ง หญิงภาคหนึ่ง และพระนารายณ์ได้เกิดมาแต่ภาคทั้งสองนี้ แล้วพระนารายณ์จึ่งสร้างพระวิราช ซึ่งเป็นบิดาของมนุษย์คนแรก แต่ในคัมภีร์นี้เองมีฎีกาอธิบายไว้ว่า ในชั้นต้นพระนารายณ์ได้สร้างพระอาปวะ ฤๅ วิสิษฎ ฤๅ วิราช ขึ้น โดยอาสํยกำลังพระพรหมา แล้วพระวิราชจึ่งสร้างพระมนูซึ่งเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอีกชั้นหนึ่ง [ต้องการอ้างอิง]
ทิศใต้ เป็นตราพระราชลัญจกรมหาโองการ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นผู้ล้างฤๅทำลาย แต่โดยเหตุที่ในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสัตว์ไม่ตายสูญเลย คงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร จึ่งไม่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ผลาญอย่างเดียว ทั้งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ดีขึ้น [ต้องการอ้างอิง]
ตึกวชิรมงกุฎ
[แก้]ตึกวชิรมงกุฎ เป็นตึกเรียน 2 ชั้น มีทั้งหมด 12 ห้องเรียน สร้างขึ้นโดยเงินทุนพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเงินสะสมของโรงเรียนในวงเงินค่าก่อสร้าง 105,900 บาท เป็นตึกทรงไทย 2 ชั้น มีมุขหน้าและมุขหลัง ที่ตอนปลายอาคารทั้งสองด้านหลังคาลดสามชั้นพร้อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมุขหน้าเป็นปูนปั้นลายใบเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกเรียนถาวรที่ได้พระราชทานนามว่าตึกวชิรมงกุฎ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475
อาคารเพชรรัตน
[แก้]อาคารเพชรรัตน เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ใช้เงินค่าก่อสร้างจากเงินส่วนพระองค์และเงินจากการแสดงละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506
อาคารสุวัทนา
[แก้]อาคารสุวัทนา เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกแบบโดย หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2507
อาคารประชาธิปก
[แก้]อาคารประชาธิปก เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ออกแบบโดยนายโอภาส สายะเสวี สถาปนิกประจำสำนักพระราชวัง สิ้นค่าก่อสร้าง 11,400,000 บาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
ตึกวชิราวุธานุสรณ์
[แก้]ตึกวชิราวุธานุสรณ์ เป็นอาคารกีฬาในร่มเอนกประสงค์ (Indoor Stadium) ที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริจาคทุนทรัพย์จากเงินรายได้การจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกวชิราวุธานุสรณ์นี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ต่อมาใน พ.ศ. 2548 จึงได้รื้ออาคารเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมลง และก่อสร้างอาคารกีฬาในร่มใหม่แทนอาคารเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2550
อาคารเวสสุกรรมสถิต
[แก้]เป็นตึก 3 ชั้นรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสร้างขึ้นทดแทนตึกเรียนวิชาหัตถศึกษา การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารเรียนศิลปกรรมหลังใหม่นี้ว่า ‘ตึกเวสสุกรรมสถิต’ และโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
อาคารวชิราวุธ 100 ปี
[แก้]อาคารวชิราวุธ 100 ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่วชิราวุธวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2553 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ลักษณะอาคารเป็นงานสถาปัตยกรรมไทย มี 19 ห้องเรียน มีพื้นที่ใช้งาน 3,000 ตารางเมตร มีความพร้อมที่จะใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555
หอประวัติ
[แก้]หอประวัติ เดิมเป็นตึกพยาบาล เป็นอาคารสำหรับพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการทำผาติกรรมทดแทน ‘พระตำหนักสมเด็จ’ ซึ่งโรงเรียนจัดเป็นตึกพยาบาล แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้รือย้ายไปปลูกสร้างเป็นกุฏิสงฆ์วัดราชาธิวาส ต่อมาได้เปลี่ยนตึกพยาบาลนี้เป็นหอประวัติ และให้ย้ายตึกพยาบาลไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม
อาคารนวมภูมินทร์
[แก้]อาคารนวมภูมินทร์ เป็นอาคารเอนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี 3 ชั้น ออกแบบโดยนิธิ สถาปิตานนท์ ศิษย์เก่าซึ่งตั้งใจสร้างอาคารใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าโดยรอบ ผสมผสานวัสดุแบบโบราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องทำงานผู้บังคับการ ห้อง Community Room ห้องพักครู และห้องเอนกประสงค์ ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 3 จัดเป็นห้องรับรองและห้องประชุม ชื่อนวมภูมินทร์นี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
หอนาฬิกา
[แก้]คณะข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนาม ‘คณะละครไทยเขษม’ ได้ร่วมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2471 – 2472 เพื่อจัดหารายได้ก่อสร้างหอนาฬิกาอุทิศเป็นพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยหอนาฬิกานี้นำนาฬิกาเรือนใหญ่ที่เคยติดบนหอประชุมของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ผู้บังคับการในขณะนั้นได้ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ร่วมกันออกแบบหอนาฬิกาพร้อมระฆังรูปสี่เหลี่ยมมีลวดลายเป็นพิเศษแบบสุโขทัย
กิจกรรมนักเรียน
[แก้]กีฬา
[แก้]วชิราวุธวิทยาลัยส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี โดยมีการแบ่งประเภทกีฬาออกเป็นภาคการศึกษา ดังนี้
- ภาควิสาขะ : รักบี้ฟุตบอล สควอช ไฟฟ์
- ภาคปวารณา : บาสเกตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ
- ภาคมาฆะ : เทนนิส กรีฑา แบดมินตัน ระเบียบแถว
( ระเบียบแถว ) เป็น กีฬาที่ไม่ใช้แรงในการเล่นแต่เป็นการใช้ความอดทนการฝึกฝนที่ได้มาอย่างเป็นระเบียบ
โดยกีฬาแต่ละประเภทที่แข่งขัน คณะที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลซึ่งแต่ละถ้วยรางวัลจะเป็นถ้วยรางวัลที่ได้รับพระราชทาน อาทิ ถ้วยชนะเลิศรักบี้ฟุตบอลรุ่นใหญ่ เป็นถ้วยพระราชทานของ กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ รักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซียจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และรักบี้ประเพณีกับ Saad foundation school ประเทศมาเลเซีย[2]
ด้วยวชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน จึงทำให้ที่นี่มีกีฬาให้เล่นเยอะมาก ได้แก่ รักบี้ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาหลักของโรงเรียน มินิรักบี้ ฟุตบอล บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส สควอช ไฟฟ์ ว่ายน้ำ กรีฑา โดยจะมีการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างคณะเป็นประจำทุกปี คณะใดชนะเลิศจะได้ครองถ้วยรางวัลเงินแท้ หากเป็นรุ่นใหญ่มูลค่าถ้วยเกือบแสนเลยทีเดียว
นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ที่นี่ยังมีการแข่งขันระเบียบวินัย การแข่งขันทดสอบสมรรถภาพร่างกาย กิจกรรมดนตรี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เรียกว่าชมรมวันเสาร์ ซึ่งให้เวลาเรียนรู้ตลอดวัน เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ นอกห้องเรียน
หอพัก หรือคณะ
[แก้]วชิราวุธวิทยาลัยมีหอพัก หรือที่เรียกว่า "คณะ" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสามอาทิตย์ คณะหนึ่งนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 85 คน แต่ละคณะนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ คณะเด็กใน และ คณะเด็กเล็ก โดยที่คณะเด็กในจะใช้เป็นที่พักพิงของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ทั้งนี้ มีด้วยกันอยู่ 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กนั้นจะใช้เป็นที่พักของเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ป.6 เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วจะทำการย้ายเข้าไปอยู่เด็กในกับรุ่นพี่ คณะของคณะเด็กเล็ก ได้แก่ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์ การปกครองของคณะเด็กใน และเด็กเล็กนั้นจะต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยคณะเด็กเล็กนั้นจะมีหัวหน้าครูคณะ และครูคณะมาช่วยดูแล และควบคุมเด็ก ๆ ส่วนคณะเด็กในนั้นจะมีเพียงผู้กำกับคณะคอยดูแล และหน้าที่ควบคุมเด็กในคณะนั้นจะตกอยู่กับรุ่นพี่หัวหน้าคณะโดยมีผู้กำกับคณะเป็นที่ปรึกษา การปกครองในคณะเด็กในนั้นจะเป็นระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าคณะปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป
ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า House ซึ่งแปลว่า บ้าน เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น ในพับลิกสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบ้านของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า ‘คณะ’ เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎิสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กัน โดยมีครูกำกับกับคณะ หรือ House Master หรือที่เรียกกันว่าผู้กำกับคณะ เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้าเจ้าคณะปกครองดูแลสงฆ์
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. 2458 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่ 4 มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน โดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่เป็นผู้ออกแบบอาคารทั้งสี่คณะแรก
นอกจากมีผู้กำกับคณะ ยังมีหัวหน้าคณะ คือกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยในคณะตนเอง
คณะผู้บังคับการ (School House)
[แก้]คณะผู้บังคับการ มีที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของคณะคือ School House เพื่อรักษาประเพณีของ Public schools ที่คณะนี้มีผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 120,000 บาท
คณะดุสิต (Dusit House)
[แก้]คณะดุสิต มาจากนามของพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 130,000 บาท แต่ต่อมาเสียหายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารคณะดุสิตได้ถูกทำลายลง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2496 โดยต่อมาได้มีการบูรณะคณะดุสิตขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 จนสภาพเป็นเช่นในปัจจุบัน
คณะจิตรลดา (Chitrlada House)
[แก้]คณะจิตรลดา มาจากนามของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 145,000 บาท ว่ากันว่า ก่อสร้างคณะจิตรลดาให้วิจิตรงดงามที่สุดเพราะว่าคณะนี้เป็นทางเสด็จผ่านเข้าโรงเรียนในงานประจำของโรงเรียน
คณะพญาไท (Phyathai House)
[แก้]คณะพญาไท มาจากนามของพระราชวังพญาไท เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 125,000 บาท สีประจำคณะคือสีชมพู นักเรียนคณะนี้ขึ้นชื่อเรื่องกีฬาว่ายน้ำ
คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล
[แก้]ต่อมาเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัดในการพักอาศัย จึงได้มีการสร้างตึกนักเรียนขึ้นใหม่อีก 4 คณะ ได้แก่คณะจงรัก คณะภักดี คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเปิดอาคารคณะใหม่ทั้ง 4 คณะ ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมคณะทั้งสี่นี้ โดยให้เหลือเพียง 2 คณะ เป็น คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล
ประเพณีโรงเรียน
[แก้]หนึ่งในประเพณีของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การร้องเพลงในงานสำคัญต่าง ๆ รวมถึงเพลงเชียร์กีฬา โดยเพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ มีดังนี้
- เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา และทำนองโดย โฉลก เนตรสูตร เป็นเพลงประจำโรงเรียนมักถูกขับร้องในงานพิธีสำคัญ เพื่อเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาโรงเรียน
- เพลง Graduates Song Goodbye เป็นเพลงภาษาอังกฤษทำนองและเนื้อร้องโดย F.Rico ถูกขับร้องในงานพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนเก่า โดยนักเรียนปัจจุบันที่กำลังจะจบการศึกษา เนื้อหาของเพลงนั้นเพื่อนึกถึงอนาคตเมื่อออกไปจากโรงเรียน และรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงอีกสี่สิบปี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ทำนองนั้นคัดมาจาก Forty Years On ของโรงเรียนแฮร์โรว ในอังกฤษ มักถูกร้องในงานราชพิธีสำคัญ เนื้อหาในเพลงเพื่อรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงเราเด็กในหลวง พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนอง สิงโตเล่นหาง เป็นเพลงกลอนบรรเลงโดยวงดนตรีไทย เป็นเพลงปฏิญาณนึกถึงความสำคัญของนักเรียนมหาดเล็ก ดังมีตัวอย่างท่อนจบว่า "รักษาชาติศาสนากว่าจะตาย เป็นผู้ชายชาติไทยไม่ลืมเอย"
- เพลงเชียร์กีฬา มักถูกขับร้องในการแข่งขันรักบี้ระหว่างโรงเรียน นอกจากนั้นสำหรับการแข่งขันภายใน แต่ละคณะก็จะมีเพลงเชีย์กีฬาของตัวเองอีกด้วย
- เพลงจรรยานักกีฬา เป็นเพลงกลอนมักถูกขับร้องก่อนการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ เพื่อนึกถึงจรรยาของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
ผู้บังคับการ
[แก้]ผู้บังคับการ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการดูแลจัดการวชิราวุธวิทยาลัย เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ทั้งนี้ เมื่อตำแหน่งผู้บังคับการว่างลง คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย จะดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระบรมราชานุมัติ จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยโดยสมบูรณ์
อาจารย์ใหญ่/ผู้บังคับการ | |||
ลำดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง | ระยะเวลา |
---|---|---|---|
1 | พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) | อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 - 8 กันยายน พ.ศ. 2455 |
2 | พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) | อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง |
8 กันยายน พ.ศ. 2455 - 11 เมษายน พ.ศ. 2458 11 เมษายน พ.ศ. 2458 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 |
3 | พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) | ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย |
26 มีนาคม พ.ศ. 2460 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 |
4 | พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 - 16 เมษายน พ.ศ. 2476 |
5 | อำมาตย์เอก พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนตธาตุผลิน) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 - 1 มกราคม พ.ศ. 2486 |
6 | มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 มกราคม พ.ศ. 2486 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2518 |
7 | ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539 |
8 | ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 |
9 | ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559 |
10 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรวุธ กิจกุศล | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 |
11 | เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ : อาคารอนุรักษ์ ประจำปี 2525 อาคารเรียน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-16. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27.
- ↑ วชิราวุธาสาส์น : รายงานประจำปี 2548 เก็บถาวร 2020-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน้า 52 จาก โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- ↑ วชิราวุธวิทยาลัย. (2543). เพลงโรงเรียน. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
- ↑ วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
- ↑ "วิวัฒนไชย : ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ ชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
- ↑ "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ถอดแบบการศึกษาจากอังกฤษ
- ↑ นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
- ↑ คุณชายอดัม'มองเรื่องโค้ชเช ชี้เรียนวชิราวุธเจอหนัก
- ↑ ประวัติย่อ หม่อมราชวงค์เกษมสโมสร เกษมศรี
- ↑ วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
- ↑ "ปิ่น มาลากุล - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- ↑ ประวัติพลากร สุวรรณรัฐ
- ↑ ประวัติเชาวน์ ณ ศีลวันต์
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ ข้อมูลศิลปิน (จักรพันธุ์ โปษยกฤต)
- ↑ "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (นิธิ สถาปิตานนท์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (วิจิตร คุณาวุฒิ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "ชมรมสายสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ ลูกเสือคนแรกแห่งสยามประเทศ
- ↑ ข่าวการถึงแก่อนิจกรรม ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ ประว้ติสุเมธ ตันติเวชกุล
- ↑ ประวัติย่อ ดร.อดิศัย โพธารามิก (ครม.ชุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- ↑ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตรองนายกฯ-อธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83
- ↑ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช
- ↑ "ประวัติประสพสุข บุญเดช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
- ↑ ประวัติจุลสิงห์ วสันตสิงห์
- ↑ โปรดเกล้าฯพระนายนั่งปลัดมท.-มีผล7ต.ค.
- ↑ "รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-06. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "ประวัติชีวิตและผลงานพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-06. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "ดุสิต นนทะนาคร นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ เปิดบันทึกความเก่ง 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานวุฒิสภามีมาตั้งแต่เด็ก
- ↑ ประวัติพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา
- ↑ ชีวิตที่พลิกผันของ ดุษฎี อารยวุฒิฯ
- ↑ "ประวัติวินธัย สุวารี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ "ชีวิตที่มีแบบแผนของดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
- ↑ ผู้ว่าอุดรใหม่ “สิงห์ดำ” หนุ่มวัย 47 ปี
- ↑ "OPTIMISE - Aim to Be The Best : เปิดปรัชญาที่หล่อหลอม บรรยง พงษ์พานิช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
- ↑ ดีกรีนักเรียนนอก “ต๊ะ พิภู” ผู้ประกาศข่าวหนุ่มหล่อ “ข่าวเช้า MONO 29”
- ↑ ประวัติธนากร โปษยานนท์
- ↑ ประวัติณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
- ↑ ธราวุธ นพจินดา สิ้นใจกะทันหัน อาการเดียวกับพี่ชาย
- ↑ บีเจ - ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ องค์ดำตอนเด็ก
- ↑ แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ "หอเกียรติยศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ : นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
- ↑ "'สยาม สังวริบุตร' ชกต่อย มะเร็ง และวงการบันเทิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
- ↑ ชวลิต เสริมปรุงสุข
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วชิราวุธวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์