กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการเก็บกวาด ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขรูปแบบ เพิ่มแหล่งอ้างอิง ใส่หมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือภาษาที่ใช้ ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนด้วยกัน เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานวิกิพีเดียไทย คุณสามารถช่วยแก้ไขได้ โดยการตรวจสอบและปรับปรุงบทความนี้ กรุณาเปลี่ยนไปใช้ป้ายข้อความอื่น เพื่อระบุสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ หรือแก้ไข ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วิธีแก้ไขหน้าพื้นฐาน คู่มือการเขียน และ นโยบายวิกิพีเดีย เมื่อบทความนี้ได้รับการแก้ไขตามนโยบายแล้ว ให้นำป้ายนี้ออก |
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ | |
---|---|
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
"ตราราชวัลลภ" เครื่องหมายราชการแห่งกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ | |
ประจำการ | พ.ศ. 2411 |
ประเทศ | ไทย |
เหล่า | กองทัพบกไทย |
รูปแบบ | ราชองครักษ์ |
บทบาท | ทหารราบ |
กำลังรบ | กรม |
กองบัญชาการ | ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 |
สีหน่วย | แดง-ขาว |
เพลงหน่วย | มาร์ชราชวัลลภ |
วันสถาปนา | 11 พฤศจิกายน |
ปฏิบัติการสำคัญ | กรณีพิพาทอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม |
อิสริยาภรณ์ | เหรียญกล้าหาญ (เฉพาะกองพันที่ 2)[1] เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1[2] |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผู้บัญชาการปัจจุบัน | พลตรีจักรพงษ์ เส-ลา |
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์[4] (อักษรย่อ: ร.1 ทม.รอ.) มีชื่อเต็มว่า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมทหารรักษาพระองค์ สังกัดกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 กองบัญชาการกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม แบ่งออกเป็น 3 กองพัน ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร กรมนี้เป็น 1 ใน 2 หน่วยของกองทัพไทย ที่มีชื่อต่อท้ายว่า มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (อีก 1 กรมคือกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) หน่วยนี้ก่อตั้งครั้งแรกโดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี 2402 ขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ บทบาทหลักประการหนึ่งของกรมทหารคือการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองสมาชิกราชวงศ์ไทยในพระราชพิธีและรักษาการณ์ในพระบรมมหาราชวังประเทศไทย กรมทหารกรมนี้นับเป็นกรมทหารที่เก่าแก่ที่สุดของกองทัพบกไทย
การจัดกำลังหน่วย
[แก้]กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.1 ทม.รอ.) จัดแบ่งกำลังพลภายในหน่วยออกเป็น 3 กองพัน โดยชื่อกองพันเรียกนามหน่วยว่ากรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
- กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.1/1 รอ.)
- กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.1/2 รอ.)
- กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.1/3 รอ.)
- กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทม.ร.1/4 รอ.)
ภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบ
[แก้]กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภารกิจดังต่อไปนี้
- ทำลายกำลังรบของข้าศึก เข้ายึดและควบคุมพื้นที่ รวมทั้งประชาชน และ ทรัพยากรในพื้นที่
- การรักษาความสงบภายใน ป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ, ระวังป้องกันสถานที่ตั้ง และบุคคลสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ
- การป้องกันประเทศ จากการรุกรานภายนอก
- การปฏิบัติการจิตวิทยา และช่วยเหลือประชาชน เสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่าง ทหาร กับ ประชาชน
นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 จึงมีภารกิจนอกเหนือไปจากหน่วยทหารราบอื่นด้วย กล่าวคือ การถวายความปลอดภัย และถวายพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พระรัชทายาท, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยใกล้ชิด โดยหน้าที่ของหน่วยทหารตามภารกิจดังกล่าวคือ การรับเสด็จ การแซงเสด็จ การนำเสด็จ การตามเสด็จ และการรักษาการณ์
ประวัติหน่วย
[แก้]กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับกิจการทหารรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของไทย กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหาร ตามยุทธวิธีแบบใหม่เช่นเดียวกับกรมทหารหน้า ซึ่งในชั้นแรกนั้นมี 12 คน และให้ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จฯ ณ ที่นั้นทุกเวลาเช้า มหาดเล็กเหล่านี้เรียกกันทั่วไปว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา”
ปลายปี พ.ศ. 2411 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไปแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง เรียกว่า ทหารสองโหล มีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิมแต่ในตอนเช้าและตอนเย็นต้องมารับการฝึกทหาร
พ.ศ. 2413 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก ทำการคัดเลือกบรรดาบุตรในราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด และตามเสด็จในเวลาเสด็จประพาสหัวเมือง ในชั้นนี้คัดเลือกไว้ 48 คน เมื่อรวมทหารมหาดเล็ก 2 โหลเดิมด้วยแล้ว จึงมีทหารมหาดเล็กทั้งหมด 72 คน
เมื่อการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางขึ้น จำนวนทหารที่มีอยู่เดิมจึงไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น ในการนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ได้นำบุตรชาย คือ นายเจิม ชูโต (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) เข้าถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยสมัครเป็นตัวอย่างคนแรก (เนื่องจากสมัยนั้นคนไทยไม่นิยมเป็นทหาร) ทำให้มีจำนวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และที่เป็นเด็ก เพราะทุกคนต่างก็เห็นและรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลในการที่บุตรหลานของตนได้เข้ารับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยทหารมหาดเล็กออกเป็น 2 กองร้อย และขยายเป็น 6 กองร้อยในเวลาต่อมา พร้อมทั้งจัดระเบียบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนมั่นคงดีขึ้น และได้ทรงขนานนามหน่วยนี้เสียใหม่ว่า "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" (ราชวัลลภ หมายถึง ผู้เป็นที่รัก สนิท คุ้นเคยของพระราชา) ในปี พ.ศ. 2414
ปลาย พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งทหารในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์จากทุกกองร้อยทำการฝึกการใช้ปืนกล ซึ่งได้นำเข้ามาประจำการครั้งแรก 10 กระบอก และจัดตั้งเป็น “กองปืนกล” ในการบังคับบัญชาของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในการบังคับบัญชากับกรมแสง (กรมสรรพาวุธทหารบกในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารม้าขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นับเป็นการสถาปนากิจการทหารม้าในประเทศไทย
พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารช่างขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทั้งยังได้ดำเนินการ ฝึกหัดวิชาแผนที่ขึ้นในกองทหารช่างนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นกิจการทหารช่างและกิจการแผนที่ทหารในเมืองไทยด้วย
พ.ศ. 2420 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ลงวันศุกร์ เดือน 9 ขึ้นค่ำ 1 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1239 เพื่อให้การจัดหน่วยเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพเป็นแบบแผนเดียวกัน โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม และทรงตั้งผู้รับพระบรมราชโองการมาสั่งการแก่ทหาร และนำกิจการในโรงทหารขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา
พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหารขึ้น โดยรวมทหารบก ทหารเรือ ตั้งเป็นกรมหนึ่ง เรียกว่า “กรมยุทธนาธิการ” กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของกรมและวิธีการปกครองเป็นอย่างใหม่ให้เป็นเพียงกองพันทหารราบกองหนึ่ง เรียกว่า “กองทหารราบใน มหาดเล็กรักษาพระองค์” และให้ พลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (แต่เมื่อครั้งยังเป็น กรมหมื่น และ พันตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้บังคับการกรมทหารล้อมวัง) ดำรงพระยศเป็น พันโท ตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมหาดเล็กที่จัดใหม่ เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บังคับการกรมคนใหม่แล้ว จึงเลิกตำแหน่งผู้รับพระบรมราชโองการในกรมนี้ตั้งแต่นั้นมา
ครั้นถึง พ.ศ. 2435 กรมยุทธนาธิการได้ดำเนินการจัดระเบียบหน่วยทหารใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดให้มี พระราชพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลใหญ่รูปตราแผ่นดินพื้นสีแดงแก่กองทหารให้เป็นแบบเดียวกันทุกหน่วย
พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประทับที่พระราชวังดุสิตเป็นการถาวร กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จึงจัดให้กองร้อยที่ 3 ไปประจำอยู่ ณ ที่นั้นทั้งกอง และได้พระราชทานนามหน่วยใหม่ว่า “กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์”
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า “ควรจะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลป์ปาวศานต์" จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกรมทหารนี้ว่า “กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ ให้มีเครื่องหมายเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่อินธนูทหารในกรมนี้ทั่วไป
ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 7 กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการเปลี่ยนนามหน่วยโดยตัดคำว่า “บก” ออก เป็น “กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และปรับอัตรากำลังพลเป็น 1 กองพัน กองพันละ 1 กองร้อย
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ ก็ได้ย้ายเข้าที่ตั้งแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ จังหวัดพระนคร
18 มกราคม พ.ศ. 2562 หน่วยได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
23 เมษายน พ.ศ. 2562 ประกาศราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งชื่อหน่วยเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (เฉพาะกองบังคับการ)[5]
4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหน่วยได้เปลี่ยนนามใหม่อีกครั้งเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
30 กันยายน พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนดที่กำหนดให้โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณของ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปเป็นของ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พร้อมกับ กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยให้มีผลบังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562[6]
เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์ประจำหน่วย
[แก้]สำหรับหน่วยขึ้นตรงทุกหน่วย (ยกเว้นกองพันที่ 3)
[แก้]ในช่วงที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ยังใช้ชื่อว่ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดให้หน่วยขึ้นตรงทั้งหมด ยกเว้นกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เครื่องแบบเต็มยศดังนี้
- หมวก หมวกยอดสีขาว มีพู่สีดำ หน้าหมวกมีตราราชวัลลภ ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
- เสื้อ สักหลาดหรือเสิร์จสีแดง ปลอกคอโดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ ปลอกคอด้านบนมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 7 ดุม ที่ดุมมีอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ที่บ่ามีอินทรธนูอ่อน ขัดดุมสีทองขนาดเล็ก
- คันชีพ สายสะพาย ทำด้วยหนังสีขาว
- เข็มขัด ทำด้วยหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีตราเครื่องหมายกองทัพบกดุนนูน
- กางเกง สักหลาดหรือเสิร์จสีดำ ที่แนวตะเข็บข้างมีแถบสักหลาดสีแดง 1 แถบ กว้าง 1 ซม.
- รองเท้า หุ้มข้อหนังสีดำ
- กระเป๋าคันชีพ ทำด้วยหนังสีขาว มีตราราชวัลลภทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ฝากระเป๋า
- ชายเสื้อด้านหลัง มีดุมโลหะสีทองขนาดกลางข้างละ 1 ดุม
- แขนเสื้อด้านข้าง ปลอกข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ มีแถบ 3 แถบ ทำด้วยไหมสีเหลือง 2 แถบ ไหมสีขาวอยู่กลาง 1 แถบ ด้านบนเป็นรูปสามเหลี่ยม ปักอักษรไขว้กันด้วยไหมสีเหลืองและสีขาวเป็นตัวอักษร สพปมจ.
ต่อมาเมื่อมีการแปรสภาพหน่วยเป็นกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการปรับปรุงเครื่องแบบเต็มยศของหน่วยขึ้นตรงของ ทม.รอ.1 ทั้งหมด ยกเว้นกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 ดังนี้
- หมวก หมวกยอดสีขาว มีพู่สีดำ หน้าหมวกมีตราพระราชลัญจกร ยอดหมวกและสายรัดคางโซ่ถักทำด้วยโลหะสีทอง
- เสื้อ สักหลาดหรือเสิร์จสีแดง ปลอกคอโดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ ปลอกคอด้านบนมีแถบไหมสีเหลือง 1 แถบ แนวอกมีดุมโลหะสีทองขนาดใหญ่ 7 ดุม ที่ดุมมีอักษรพระปรมาภิไธยอ วปร. ที่บ่ามีอินทรธนูอ่อน ขัดดุมสีทองขนาดเล็ก
- คันชีพ สายสะพาย ทำด้วยหนังสีขาว
- เข็มขัด ทำด้วยหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีตราเครื่องหมายกองทัพบกดุนนูน
- กางเกง สักหลาดหรือเสิร์จสีดำ ที่แนวตะเข็บข้างมีแถบสักหลาดสีแดง 1 แถบ กว้าง 1 ซม.
- รองเท้า หุ้มข้อหนังสีดำ
- กระเป๋าคันชีพ ทำด้วยหนังสีขาว มีตราพระราชลัญจกรทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่ฝากระเป๋า
- ชายเสื้อด้านหลัง มีดุมโลหะสีทองขนาดกลางข้างละ 1 ดุม
- แขนเสื้อด้านข้าง ปลอกข้อมือด้านนอกทั้ง 2 ข้าง โดยรอบทำด้วยกำมะหยี่สีดำ มีแถบ 3 แถบ ทำด้วยไหมสีเหลือง 2 แถบ ไหมสีขาวอยู่กลาง 1 แถบ ด้านบนเป็นรูปสามเหลี่ยม ปักอักษรด้วยไหมสีเหลืองเป็นอักษรพระปรมาภิไธย วปร.
สำหรับกองพันที่ 3
[แก้]เนื่องจากกองพันที่ 3 เป็นหน่วยทหารที่แปรสภาพมาจากกรมทหารรักษาวังในรัชกาลที่ 6 จึงมีเครื่องแบบประจำกองพันของตนโดยเฉพาะ ซึ่งสืบทอดมาจากเครื่องแบบของกรมทหารรักษาวัง วปร. ดังนี้
- หมวกยอดมีพู่สีบานเย็น ตราพระราชลัญจกร
- เสื้อคอปิดสีขาว แผงคอและข้อมือสักหลาดสีบานเย็น
- ปลอกข้อมือปักรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏเปล่งรัศมีสีทอง
- กางเกงสักหลาดสีดำ แถบสีบานเย็นข้างละ 2 แถบ รองเท้าหนังหุ้มข้อสีดำ
- เครื่องหมาย : อักษรพระปรมาภิไธยอ วปร. ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
รายพระนาม/รายนามผู้บังคับการกรม
[แก้]ลำดับ | รูป | รายพระนาม/รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ |
1 | จอมพล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | พ.ศ. 2411 | พ.ศ. 2416 | ทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอกผู้บังคับการพิเศษแห่งกองทหารราบมหาดเล็กรักษาพระองค์ | |
2 | นายพันโท เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) | พ.ศ. 2416 | พ.ศ. 2422 | - | |
3 | นายพันโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ | พ.ศ. 2422 | พ.ศ. 2428 | พระอิสริยยศสุดท้ายคือ จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | |
4 | นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร | พ.ศ. 2428 | พ.ศ. 2435 | พระอิสริยยศสุดท้ายคือ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ | |
5 | นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช | พ.ศ. 2435 | พ.ศ. 2435 | พระอิสริยยศสุดท้ายคือ นายพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช | |
6 | นายพันโท จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ (อ๊อด ศุภมิตร) | พ.ศ. 2435 | พ.ศ. 2439 | ยศและบรรดาศักดิ์สุดท้ายในการรับราชการ คือ พระตำรวจเอก นายพลตรี เจ้าพระยาราชศุภมิตร | |
7 | นายพันโท พระราญรอนอริราช (เพิ่ม ภูมิประภาส) | พ.ศ. 2439 | พ.ศ. 2441 | บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ พระนราธิราชภักดี | |
8 | พันโท พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช | พ.ศ. 2441 | พ.ศ. 2444 | พระอิสริยยศสุดท้ายคือ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช | |
9 | พลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร | พ.ศ. 2444 | พ.ศ. 2453 | พระอิสริยยศเมื่อเสวยราชสมบัติคือ จอมพล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
10 | จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | พ.ศ. 2453 | พ.ศ. 2462 | พระยศสุดท้ายคือ จอมพล | |
11 | พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) | พ.ศ. 2462 | พ.ศ. 2469 | - | |
12 | จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต | พ.ศ. 2466 | พ.ศ. 2475 | - | |
13 | พันเอก หลวงไกรชิงฤทธิ (กร ไกรชิงฤทธิ) | พ.ศ. 2484 | พ.ศ. 2486 | - | |
14 | พันเอก ชะลอ นันทเสนีย์ | พ.ศ. 2486 | พ.ศ. 2488 | - | |
15 | พันเอก เชื้อ พลอยมีค่า | พ.ศ. 2488 | พ.ศ. 2488 | - | |
16 | พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ | พ.ศ. 2488 | พ.ศ. 2491 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล | |
17 | พันเอก บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา | พ.ศ. 2491 | พ.ศ. 2491 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท | |
18 | พันเอก ประภาส จารุเสถียร | พ.ศ. 2491 | พ.ศ. 2494 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล | |
19 | พันเอก ขุนชิตผะดุงผล (พิชิต ชิตอรุณ) | พ.ศ. 2494 | พ.ศ. 2496 | - | |
20 | พันเอก กฤษณ์ สีวะรา | พ.ศ. 2496 | พ.ศ. 2500 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
21 | พันเอก เกรียงไกร อัตตะนันทน์ | พ.ศ. 2500 | พ.ศ. 2503 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ จอมพล | |
22 | พันเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ | พ.ศ. 2503 | พ.ศ. 2507 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก | |
23 | พันเอก เอื้อม จิรพงศ์ | พ.ศ. 2507 | พ.ศ. 2512 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก | |
24 | พันเอก จิตต์กวี เกษะโกมล | พ.ศ. 2512 | พ.ศ. 2515 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก | |
25 | พันเอก พัฒน์ อุไรเลิศ | พ.ศ. 2515 | พ.ศ. 2516 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท | |
26 | พันเอก อร่าม ศรีอักขรินทร์ | พ.ศ. 2516 | พ.ศ. 2519 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลตรี | |
27 | พันเอก สุธี บุญวัฒนะกุล | พ.ศ. 2519 | พ.ศ. 2520 | - | |
28 | พันเอก จาป เอี่ยมศิริ | พ.ศ. 2520 | พ.ศ. 2521 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลโท | |
29 | พันเอก สุเทพ สีวะรา | พ.ศ. 2521 | พ.ศ. 2523 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก | |
30 | พันเอก ปรีดี รามสูต | พ.ศ. 2523 | พ.ศ. 2524 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พันเอก (พิเศษ) ถึงแก่กรรม | |
31 | พันเอก ศัลย์ ศรีเพ็ญ | พ.ศ. 2524 | พ.ศ. 2525 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหารคือ พลเอก | |
32 | พันเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ | พ.ศ. 2525 | พ.ศ. 2528 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
33 | พันเอก สมภพ อัตตะนันทน์ | พ.ศ. 2528 | พ.ศ. 2533 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
34 | พันเอก ภิรมย์ ตังครัตน์ | พ.ศ. 2533 | พ.ศ. 2536 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
35 | พันเอก ฤทธิชัย เถาทอง | พ.ศ. 2536 | พ.ศ. 2538 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลโท | |
36 | พันเอก จิระเดช โมกขะสมิต | พ.ศ. 2538 | พ.ศ. 2542 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
37 | พันเอก รณยุทธ ฤทธิฦาชัย | พ.ศ. 2542 | พ.ศ. 2543 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
38 | พันเอก พฤณท์ สุวรรณทัต | พ.ศ. 2543 | พ.ศ. 2544 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
39 | พันเอก นพดล เจริญพร | พ.ศ. 2544 | พ.ศ. 2545 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
40 | พันเอก ชำนิ รักเรือง | พ.ศ. 2545 | พ.ศ. 2546 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
41 | พันเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ | พ.ศ. 2546 | พ.ศ. 2548 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
42 | พันเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2549 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
43 | พันเอก วราห์ บุญญะสิทธิ์ | พ.ศ. 2549 | พ.ศ. 2551 | ชั้นยศสุดท้ายในการรับราชการทหาร คือ พลเอก | |
44 | พันเอก ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร | พ.ศ. 2551 | พ.ศ. 2553 | ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลโท | |
45 | พันเอก พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ | พ.ศ. 2553 | พ.ศ. 2555 | ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลเอก | |
46 | พันเอก เอกรัตน์ ช้างแก้ว | พ.ศ. 2555 | พ.ศ. 2557 | ชั้นยศปัจจุบัน คือ พลตรี | |
47 | พันเอก อาสาศึก ขันติรัตน์ | พ.ศ. 2557 | พ.ศ. 2561 | - | |
48 | พันเอก พงศกร อาจสัญจร | พ.ศ. 2561 | พ.ศ. 2567 | ||
49 | พลตรี จักรพงษ์ เส-ลา | พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงชัยเฉลิมพล. เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ง, ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔,หน้า ๙๑๓.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงไชยเฉลิมพล. เล่ม ๕๕, ตอน ๐ ง, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑, หน้า ๓๖๑๘.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับธงชัยเฉลิมพล. เล่ม ๗๐, ตอน ๗๖ ง, ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖, หน้า ๕๑๙๓.
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
- ↑ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๒
- ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา) . หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ: กรีนแมคพาย, 2547.2537,2527,2517,2507,24972487,2477,2467,พระราชวังและพระบรมมหาพระราชวังและกรมทหารพระราชวังไทยโดยได้รับพระบรมราชานุญาตแห่งพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชยศหม่อมราชวงศ์พระเจ้าฟ้าชายสุริยะสุริยุปจักรวาลพระเจ้าจักรวาลพระราชวงศ์จักรีแห่งสยามราชและไทยหม่อมราชวงศ์พระเจ้าฟ้าชายพระกษัตริย์ตราอุดมสู้เหิมจักรวาลล้านล้านจักรวาลพระเจ้าจักรวาลล้านล้านจักรวาลทรงพระเจริญ
- สมุดภาพเครื่องแบบทหารบก กรมกำลังพลทหารบก พ.ศ. 2541
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/100/T_0027.PDF
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ เก็บถาวร 2016-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ เก็บถาวร 2013-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ เก็บถาวร 2009-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ เก็บถาวร 2016-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารรักษาพระองค์ (หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม) เก็บถาวร 2006-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์