ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

พิกัด: 14°21′N 101°26′E / 14.35°N 101.44°E / 14.35; 101.44
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
น้ำตกเหวสุวัต
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดนครราชสีมา
อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว

จังหวัดปราจีนบุรี

อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี อำเภอประจันตคาม

จังหวัดสระบุรี

อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก

จังหวัดนครนายก

อำเภอเมืองนครนายก
อำเภอปากพลี
พิกัด14°21′N 101°26′E / 14.35°N 101.44°E / 14.35; 101.44[1]
พื้นที่2,166 ตารางกิโลเมตร (1,354,000 ไร่)
จัดตั้ง18 กันยายน พ.ศ. 2505
ผู้เยี่ยมชม1,551,449 (2019)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
นกปรอดคอลายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ประเภทมรดกทางธรรมชาติ
เกณฑ์พิจารณา(x)
อ้างอิง590-001
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2548 (คณะกรรมการสมัยที่ 29)
พื้นที่216,800 เฮกตาร์
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 11 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียจังหวัดนครราชสีมา; อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี; อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก; และอำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 และได้รับสมญานามว่าเป็น "อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน"

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีเนื้อที่ปกคลุม 2,215.42 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นสอง ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400–1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พืชพรรณมี 3,000 ชนิด, มีผีเสื้ออยู่กว่า 189 ชนิด, นกป่ามากมายกว่า 350 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 71 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่ว ๆ ไป

ประวัติ

[แก้]
น้ำตกเหวสุวัต หนึ่งในน้ำตกที่มีชื่อเสียงที่สุดในอุทยาน

ในสมัยก่อน การเดินทางติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนั้น มีอุปสรรคคือจะต้องผ่านป่าดงดิบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งสัตว์ร้ายและไข้ป่า ผู้คนที่เดินทางผ่านป่านี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า ดงพญาไฟ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร–นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อดงพญาไฟนี้ ฟังดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขา โดยถางป่าเพื่อทำไร่ และใน พ.ศ. 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบากห่างไกลจากการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่สุดท้ายปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบันนี้[2]

หลังจากปราบโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากแก่การปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันคือยังมีร่องรอยให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่ง ๆ บนเขาใหญ่นั่นเอง[ต้องการอ้างอิง]

พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล็งเห็นว่าบริเวณเขาใหญ่นี้ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม เหมาะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่มีปัญหาคือมีการตัดไม้ทำลายป่า จึงได้ให้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่เดิมและบริเวณโดยรอบ โดยได้ตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้นใน พ.ศ. 2504[3] และมีพระราชกฤษฎีกาตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยใน พ.ศ. 2505[4] นอกจากนี้ยังได้สั่งให้ตัดถนนธนะรัชต์แยกออกมาจากถนนมิตรภาพมายังตัวเขาใหญ่โดยถนนนี้ขึ้นมาบนเขาใหญ่แล้วจะแยกเป็นสองสาย คือไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัตสายหนึ่ง และไปสิ้นสุดที่เขาเขียวอีกสายหนึ่ง ซึ่งก่อน พ.ศ. 2525 ถนนธนะรัชต์นี้เป็นเพียงถนนสายเดียวที่จะมายังเขาใหญ่ได้

ใน พ.ศ. 2523 ได้มีการตัดถนนสายปราจีนบุรี–เขาใหญ่[5] โดยถนนนี้เปิดใช้งานใน พ.ศ. 2525 ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น และเดินทางจากกรุงเทพมหานครใช้ระยะทางสั้นกว่า อีกทั้งเส้นทางยังชันและมีโค้งหักศอกน้อยกว่าถนนธนะรัชต์เดิม อีกทั้งยังทำให้การท่องเที่ยวในส่วนใต้ของอุทยานสะดวกขึ้น เช่น สามารถเดินทางมายังน้ำตกเหวนรกได้โดยตรง ซึ่งแต่เดิมจะต้องเดินเท้าเข้ามาจากอำเภอปากพลีแล้วเลาะมาตามหน้าผา แต่การตัดถนนใหม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดแล้วเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึงน้ำตกเหวนรกได้แล้ว

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโกร่วมกับอุทยานแห่งชาติอีกสามแห่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกหนึ่งแห่งได้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

เหตุเครื่องบินตก พ.ศ. 2505

[แก้]

เครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดอาหรับแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 869 ประสบอุบัติเหตุตกในเขตพื้นที่เขาใหญ่ระหว่างเดินทางจากฮ่องกงมายังท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2505[6] สองเดือนก่อนที่พระราชกฤษฎีกาตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติมีผลบังคับใช้ มีผู้เสียชีวิต 26 คน

ภูเขาที่สำคัญ

[แก้]
อ่างเก็บน้ำสายศร
สระน้ำขนาดใหญ่กลางทุ่งหญ้าคา

เขาร่ม

[แก้]

เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยสูง 1,351 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขาร่มสามารถมองเห็นได้จากถนนธนะรัชต์ เป็นแนวเขาขนานกับเขาเขียว การเดินทางไปยังเขาร่มนั้นต้องเดินเข้าไปด้วยเท้า ซึ่งมีน้อยคนนักที่เดินทางขึ้นไปถึงยอดเขาร่ม โดยมากจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น

เขาแหลม

[แก้]

เนื่องจากเป็นเขาที่มียอดแหลมจึงได้ชื่อว่าเขาแหลม เขาแหลมมีความสูงรองจากเขาร่ม การเดินทางต้องเดินเท้าเข้าไปเช่นกันโดยเส้นทางยากลำบากมาก ใช้เวลาเดินไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง และก่อนถึงยอดเขาจะต้องโหนเชือกขึ้นไปเพื่อไปยังยอดเขา ด้วยเส้นทางที่ยากลำบากนี้ สโมสรโรตารีเคยตั้งรางวัลให้กับสตรีที่พิชิตยอดเขาแหลมเป็นเงิน 60,000 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลคือ นางแคทเธอรีน บ.บุรี ได้พิชิตยอดเขาแหลมใน พ.ศ. 2515

ความสำคัญของเส้นทางไปยอดเขาแหลมคือ เส้นทางที่ใช้เดินทางจะผ่านทางเดินของสัตว์หลายชนิด จึงพบรอยเท้าสัตว์ได้มากมาย อีกทั้งยังมีโอกาสพบสัตว์ป่าต่าง ๆ ได้อีกด้วย

เขาเขียว

[แก้]

เป็นภูเขาสูงอีกลูกหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลักษณะเป็นทิวเขายาว มองเห็นได้จากทางจังหวัดนครนายก การเดินทางไปยังเขาเขียวสามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ไปถึงยอด โดยบนยอดของเขาเขียวเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศ ซึ่งเปิดให้เป็นจุดชมวิว อีกทั้งยังมีจุดชมวิวและศึกษาเส้นทางธรรมชาติผาเดียวดาย ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากจุดหนึ่ง

เขาสามยอด

[แก้]

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญ อีกทั้งยังมีสัตว์ป่าชุกชุม การเดินทางไปเขาสามยอดต้องเดินเท้าเข้าไป ใช้เวลาราว 6–8 ชั่วโมง เส้นทางนี้มีทากชุกชุมมาก

เขาฟ้าผ่า

[แก้]

อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเช่นกัน เขาฟ้าผ่าเป็นต้นกำเนิดของลำนางรองซึ่งไหลเป็นน้ำตกนางรองในจังหวัดนครนายก นอกจากนี้ยังมีสถานีวิทยุสื่อสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งอยู่อีกด้วย การเดินทางจะต้องผ่านถนนลูกรังโดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไป

เขากำแพง

[แก้]

เป็นเทีอกเขาแนวยาวราวกับกำแพงจึงได้ชื่อว่าเขากำแพง โดยเขากำแพงนี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ เช่น ลำพระเพลิง ลำพระยาธาร ลำใสใหญ่ เป็นต้น

เขาสมอปูน

[แก้]

เห็นได้ชัดจากจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก ชาวบ้านบางคนเรียกว่าเขาสูง สามารถเดินทางเข้ามาโดยไปตามเส้นทางที่ชาวบ้านหาของป่าเป็นประจำ และเส้นทางนี้สามารถทะลุมายังน้ำตกเหวนรกได้อีกด้วย

เขาแก้ว

[แก้]

อยู่ทางทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของห้วยคลองมะเดื่อและห้วยเจ็ดคต

จะเห็นได้ว่า ไม่มีเขาลูกใดชื่อ "เขาใหญ่" เลย การที่เรียกบริเวณนี้ว่าเขาใหญ่นั้นเรียกตามตำบลเดิมที่เคยจัดตั้งมาแต่ก่อนเท่านั้น

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

[แก้]

น้ำตกเหวนรก

[แก้]
ภาพมุมสูงน้ำตกเหวนรกชั้นที่ 1 2 และ 3

เป็นน้ำตกที่เกิดจากคลองท่าด่าน น้ำตกเหวนรกเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นน้ำตกที่มีความสูงและสวยงามมากแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดิมก่อนที่จะมีการตัดถนนสายปราจีนบุรี–เขาใหญ่นั้น จะต้องเดินเท้าเข้ามาโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แต่หลังจากตัดถนนสายปราจีนบุรี–เขาใหญ่เสร็จแล้ว ถนนตัดผ่านใกล้น้ำตกเหวนรกมาก โดยมีลานจอดรถห่างจากตัวน้ำตกเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ระหว่างทางสามารถเดินชมธรรมชาติอันสวยงามสองข้างทางได้ เมื่อถึงตัวน้ำตกจะมีบันไดลงไปอีกราว 50 เมตร ซึ่งค่อนข้างแคบและชัน แต่เมื่อลงไปถึงจุดชมวิวก็จะเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของน้ำตกได้อย่างสวยงาม หากไปในฤดูฝนมีน้ำมาก ละอองน้ำจะกระเซ็นต้องกับแสงอาทิตย์เป็นสายรุ้งอย่างงดงาม แต่หากมาชมในหน้าแล้งนั้นอาจต้องผิดหวังเพราะไม่มีน้ำ เห็นแต่เพียงหน้าผาแห้ง ๆ เท่านั้น

น้ำตกเหวนรก มุมมองจากจุดชมน้ำตก

ระหว่างทางเดินมายังน้ำตกเหวนรกนี้ จะสังเกตเห็นแนวคันปูนเป็นระยะ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันช้างพลัดตกไปยังน้ำตก ตั้งแต่ในปี 2530 จะมีช้างตกลงไปยังผาข้างล่างปีละเชือกหรือสองเชือกเสมอ และในครั้งใหญ่ที่สุดปี 2535 มีช้างโขลงหนึ่งจำนวน 8 ตัวหลงเข้ามาและถูกกระแสน้ำพัดตกลงไปตายหมด ทางอุทยานแห่งชาติจึงได้สร้างแนวป้องกันนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันอันตรายแก่ช้างป่ามิให้เกิดขึ้นอีก

ในความเป็นจริงแล้ว น้ำตกเหวนรกนั้นมีอยู่ 2 ชั้น ที่ได้ชมนี้เป็นชั้นที่ 1 โดยมีความสูงของตัวน้ำตกประมาณ 50 เมตร ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 นั้นอยู่ห่างออกไป ซึ่งชั้นที่สองนี้มีความสูงมากกว่าชั้นแรกเสียอีก ในความเป็นจริงแล้วมีเส้นทางสำรวจป่าของทางอุทยานเพื่อไปยังผาอีกด้านหนึ่งเพื่อชมทัศนียภาพของน้ำตกชั้นที่สองและสามแต่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมโดยทั่วไปเนื่องจากเป็นทางเข้าไปในป่าดิบ มีสัตว์ป่าออกหากินตลอด หากต้องการเข้าชมควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานนำทางเข้าไปเพื่อความปลอดภัย และหากต้องการชมทัศนียภาพของน้ำตกชั้นที่ 2 และ 3 ให้สวยงามที่สุด ควรเดินทางมาชมในช่วงกันยายนหรือตุลาคม เนื่องจากจะมีน้ำมาก ตกลงมาเป็นละออง และหากมาชมในช่วงเวลา 10 นาฬิกา จะเป็นเวลาพอเหมาะที่แสงอาทิตย์ตกกระทบกับละอองน้ำตกเกิดเป็นสายรุ้ง โดยรวมความสูงของน้ำตกชั้นที่ 2 และ 3 นี้ประมาณ 150 เมตร

น้ำตกผากล้วยไม้

[แก้]
น้ำตกผากล้วยไม้

เกิดจากห้วยลำตะคอง การเดินทางมาจะต้องจอดรถที่ลานกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ แล้วเดินเท้าเลาะไปตามห้วยลำตะคอง ผ่านป่าดงดิบตลอดทาง หากโชคดีอาจพบนกบางชนิด เช่น นกกางเขนหลังเทา เมื่อเดินเข้ามาประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกผากล้วยไม้ มีป้ายเขียนเอาไว้ชัดเจน น้ำตกผากล้วยไม้นั้นลักษณะเป็นผาไม่สูงนัก ชื่อน้ำตกผากล้วยไม้นี้มาจากมีกล้วยไม้หลายชนิดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้วยไม้หวายแดง ซึ่งจะออกดอกช่วงเดินเมษายน

ปกติแล้วนักท่องเที่ยวจะนิยมชมน้ำตกบริเวณด้านนอกเท่านั้น แต่หากเดินเลาะไปตามโขดหินอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะพบน้ำตกชั้นใน ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน และหากเดินเลาะมาตามห้วยลำตะคองเรื่อย ๆ ก็จะมาทะลุถึงน้ำตกเหวสุวัตได้

น้ำตกเหวสุวัต

[แก้]
น้ำตกเหวสุวัต

เป็นน้ำตกอีกแห่งที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกผ่านหน้าผาสูงราว 25 เมตร และมีแอ่งน้ำทางด้านล่างเหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นอย่างมาก แต่ทางอุทยานแห่งชาติได้มีป้ายประกาศว่าห้ามเล่นน้ำไว้เนื่องจากกลัวอันตรายว่าจะมีน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลัน ในฤดูฝนสายน้ำที่ตกลงมาจะเป็นละอองกระจายเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกสดชื่นเย็นสบาย แต่หากมาในฤดูน้ำน้อย จะสามารถเดินลัดเลาะเพื่อเข้าไปยังโพรงถ้ำเล็ก ๆ ใต้หน้าผาน้ำตกได้

บางคนกล่าวไว้ว่า ชื่อน้ำตกเหวสุวัตนี้ เกิดจากมีโจรชื่อสุวัต หนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจนมุมยังน้ำตกแห่งนี้ เลยตัดสินใจกระโดดลงมายังแอ่งน้ำเบื้องล่าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้น

สำหรับห้วยลำตะคองนี้ หลังจากผ่านน้ำตกเหวสุวัตแล้ว ยังมีน้ำตกเหวไทรและน้ำตกเหวประทุนที่อยู่ลึกเข้าไปอีก แต่จะต้องเดินผ่านป่าลึกฝ่าดงทากเข้าไป ควรมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยเนื่องจากในป่าลึกนั้นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจพลัดหลงได้ง่าย

จุดชมวิวผาเดียวดาย

[แก้]
ทัศนียภาพบริเวณผาเดียวดาย

อยู่บนยอดเขาเขียว สามารถขับรถยนต์เข้าไปถึงแต่ถนนไม่ค่อยดีนักเนื่องจากมีหินถล่มบ่อยทำให้ผิวถนนเสียหายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ถนนยังชันและเป็นโค้งหักศอกอีกด้วย เมื่อขึ้นไปเกือบถึงยอดเขาก็จะมีที่จอดรถให้บริเวณใกล้กับผาเดียวดาย ซึ่งระหว่างทางจะเดินผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยเส้นทางนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณต่าง ๆ มากมาย ที่น่าสนใจ เช่น ช้องนางคลี หญ้าข้าวกล่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้ใหญ่อื่น ๆ ซึ่งมักถูกปกคลุมด้วยมอสเป็นสีเขียวแลดูสดชื่น และยังมีไม้หอมพวกกฤษณาอีกด้วย ใช้เวลาเดินผ่านป่าดิบชื้นนี้ประมาณ 15 นาที ก็จะถึงจุดชมวิวผาเดียวดาย แลเห็นเขาสมอปูนทางขวามือและทุ่งงูเหลือมอยู่ตรงกลาง

หากโชคดี เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเดียวดายนี้ อาจพบนกหายากบางชนิด เช่น นกเงือก นกปรอดดำ นกแซงแซวหางบ่วง เป็นต้น

จุดชมวิวผาตรอมใจ

[แก้]

ตั้งอยู่เลยทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเดียวดายไปอีกเล็กน้อย คือเป็นทางเข้าของศูนย์เรดาร์ของกองทัพอากาศ บริเวณนี้จริง ๆ แล้วเป็นเขตทหาร แต่ได้จัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้บริเวณจุดชมวิวผาตรอมใจ เมื่อมองออกไปจะแลเห็นทุ่งหญ้ากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บริเวณนี้ค่อนข้างเงียบสงบเนื่องจากเป็นเขตทหารและอยู่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นอีกทั้งการเดินทางมาก็ค่อนข้างลำบากเพราะไกลและถนนไม่ดี มีคนมาน้อย บรรยากาศเงียบสงบจึงมีนกหลายชนิดให้ศึกษา บางวันจะมีช่างภาพพร้อมกล้องถ่ายรูปและเลนส์ขนาดใหญ่สำหรับถ่ายภาพนกมานั่งเงียบ ๆ คอยนกมาเกาะบนกิ่งไม้แล้วถ่ายภาพ

นอกจากนี้ภายในศูนย์เรดาร์ยังมีหน้าผาหินอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีทัศนียภาพสวยที่งดงาม แต่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม

อ่างเก็บน้ำสายศร

[แก้]

เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเพื่อเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ดำเนินการสร้างโดยนายบุญเรือง สายศร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คนแรกเมื่อปี 2524 โดยในช่วงที่สร้างนี้ นายบุญเรืองได้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานในวาระที่ 2 แต่เดิมเรียกกันว่าอ่างเก็บน้ำมอสิงโต โดยเรียกตามชื่อของเขามอสิงโตที่อยู่บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับสิงโต แต่ต่อมาในปี 2550 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอ่างเก็บน้ำสายศรเพื่อเป็นเกียรติแก่นายบุญเรือง สายศร อดีตหัวหน้าอุทยานเขาใหญ่คนแรก (พ.ศ. 2503–2506) ผู้ซึ่งมีส่วนบุกเบิกในการจัดตั้งอุทยาน และไม่ให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีสิงโตอาศัยอยู่

หนองผักชี

[แก้]
หอดูสัตว์หนองผักชี

แต่เดิมนั้นเคยมีชาวบ้านขึ้นมาจับจองพื้นที่อาศัยอยู่บนเขาใหญ่ และถางป่าเพื่อปลูกพืชผักบางอย่าง เช่น ผักชี พริก เป็นต้น โดยอาศัยแหล่งน้ำคือหนองผักชีนี้เพื่อการเกษตรกรรม เมื่อทางการได้สั่งให้อพยพออกจากเขาใหญ่ พื้นที่ที่เคยปลูกพืชก็ถูกทิ้งร้างมีหญ้าขึ้นสูง เป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์กินพืชซึ่งจะลงมากินหญ้าที่บริเวณนี้เป็นประจำ ทางอุทยานแห่งชาติได้สร้างหอดูสัตว์หนองผักชีเพื่อใช้ดูสัตว์ที่ลงมากินหญ้า โดยสัตว์มักลงมากินหญ้าตอนเช้าตรู่และตอนเย็น[7]

หอดูสัตว์

[แก้]

ทางอุทยานแห่งชาติได้สร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้ดูสัตว์ที่ลงมากินดินโป่ง มีทั้งหมด 3 แห่งคือ

  1. หอดูสัตว์หนองผักชี
  2. หอดูสัตว์มอสิงโต
  3. หอดูสัตว์คลองปลากั้ง

โดยหอดูสัตว์ทั้งหมดนี้จะสร้างใกล้ ๆ โป่ง เนื่องจากสัตว์จะลงมากินดินโป่ง ซึ่งโดยมากที่เห็นจะเป็นกวาง ช้างป่ามีบ้างแต่น้อยกว่า และหากโชคดีอาจมีโอกาสได้เห็นกระทิงลงมากินดินโป่งซึ่งหาชมได้ยากมาก โดยโอกาสเห็นกระทิงนั้นจะพบที่หอดูสัตว์คลองปลากั้งมากที่สุด

จุดชมทิวทัศน์ กิโลเมตรที่ 30

[แก้]
ทัศนียภาพบริเวณจุดชมทิวทัศน์ กิโลเมตรที่ 30

หากเดินทางมาจากฝั่งปราจีนบุรี จุดชมวิวนี้เป็นจุดแวะสุดท้ายก่อนจะลงจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปยังฝั่งอำเภอปากช่อง โดย ณ จุดนี้นักท่องเที่ยวมักนิยมแวะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกก่อนลงจากเขาใหญ่ เนื่องจากจะเห็นวิวข้างหลังยาวออกเป็นเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงาม และในวันที่เงียบสงบ อาจเห็นนกหลายชนิดมาเกาะตามกิ่งไม้ในบริเวณนี้ ซึ่งจะมีช่างภาพมาตั้งกล้องถ่ายภาพนกอยู่บ้างเป็นบางครั้ง

ทิวทัศน์ที่แลเห็นได้จากจุดนี้มีดังนี้คือ เขาลูกซ้ายมือคือเขาลูกช้าง มีถ้ำค้างคาวอยู่ เวลาโพล้เพล้อาจเห็นค้างคาวบินออกมาจากถ้ำเป็นสายเพื่อไปหาอาหาร เห็นเป็นเส้นสีดำเป็นแนวยาวตัดกับขอบฟ้า ทิวเขาที่ไกลที่สุดเป็นแนวยาวนั้นคือ เขาแผงม้าซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร ทุ่งโล่งตรงกลางในเงาเมฆนั้นเป็นร่องรอยการถางป่าเพื่อทำไร่ก่อนจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตรงทุ่งโล่งนี้จะเห็นบ้านคนอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของบ้านท่ามะปราง และทางขวามือจะเห็นยอดเขาเล็ก ๆ อีกสามสี่ยอด เป็นส่วนหนึ่งของเขากำแพงซึ่งยาวออกไปทางทิศตะวันออก ได้แก่เขาแผงม้า เขาวังหิน เขาผาแจง เขาริมหัว และเขาแสงคำตามลำดับ

ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

[แก้]

ตั้งอยู่บนหลักกิโลเมตรที่ 23 ของถนนธนะรัชต์ โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำริให้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงปลัดจ่าง ผู้ปราบโจรบนเขาใหญ่ได้สำเร็จเมื่อกว่า 70 ปีก่อน นักท่องเที่ยวนิยมมาสักการะอยู่เสมอ และทุกวันที่ 26 มกราคม จะมีพิธีบวงสรวงเพื่อรำลึกถึงพระคุณของปลัดจ่างที่ได้ดูแลพื้นที่บริเวณนี้ในอดีต

โป่ง

[แก้]
โป่งชมรมเพื่อน

โป่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น โป่งหนองผักชี โป่งช้าง โป่งกระทิง และโป่งชมรมเพื่อนเป็นต้น โดยโป่งชมรมเพื่อนนี้เป็นโป่งเทียม คือมนุษย์เป็นผู้เอาเกลือแร่ไปใส่ไว้ในดินให้สัตว์กินนั่นเอง สร้างตั้งแต่ปี 2517 นอกจากนี้ โป่งธรรมชาติก็จะมีการเติมเกลือแร่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปเกลือแร่ตามธรรมชาติก็จะหมด การเติมเกลือแร่จะทำใหัสัตว์มากินดินโป่งที่โป่งนั้น ๆ เหมือนเดิม ทำให้เราสามารถสำรวจและชมสัตว์ป่าได้สะดวกขึ้น และสัตว์ป่าก็ไม่ต้องไปหาโป่งแห่งใหม่

ปัญหาที่สำคัญคือ มนุษย์ได้เข้ามาใกล้โป่งเพื่อดูสัตว์ จะทำให้สัตว์ตื่นกลัวและไม่ลงมากินดินโป่งอีก บางโป่งก็แทบจะกลายเป็นโป่งร้างไป เช่น โป่งหนองผักชี แต่เดิมเคยมีกระทิงลงมากินดินโป่งเป็นประจำแต่ปัจจุบันไม่พบกระทิงลงมากินดินโป่งนี้อีกเลย โดยพบกระทิงที่โป่งหนองผักชีครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2524 รวมความว่าในระยะนี้โป่งหนองผักชีมีสัตว์ออกมากินดินโป่งค่อนข้างน้อยกว่าแต่ก่อนมาก เป็นต้น

ตัวอย่างสำคัญที่ยืนยันว่าการรบกวนของมนุษย์มีผลต่อการกินดินโป่งของสัตว์ กล่าวคือ แต่เดิมมีโป่งหนึ่งเป็นโป่งขนาดใหญ่ มีสัตว์หลายชนิดมากินดินโป่งประจำ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นโป่งร้างไปเสียแล้ว คือโป่งเครื่องบินตก โดยได้ชื่อมาจากเครื่องบินของสายการบินอาหรับได้เกิดอุบัติเหตุตกในบริเวณนี้ (ตรงกับบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 บนถนนธนะรัชต์) มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 23 คน เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ถางป่าเป็นทางเพื่อลำเลียงศพผู้เคราะห์ร้ายออกมาจากซากเครื่องบิน และภายหลังจากนั้นได้ตัดเส้นทางจากที่ถางป่าเข้าไปยังซากเครื่องบินตกแล้วตัดไปยังน้ำตกเหวสุวัตเพื่อเป็นเส้นทางเดินป่า รวมถึงมีการสร้างห้างไว้ดูสัตว์เวลากลางคืนบริเวณโป่งเครื่องบินตกนี้อีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เป็นการรบกวนสัตว์ป่า ส่งผลโป่งเครื่องบินตกกลายเป็นโป่งร้างไปในที่สุด

การเดินทาง

[แก้]
ฝูงช้างบนถนนทางหลวงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

การเดินทางมายังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สามารถเดินทางได้ 2 ทางดังนี้

1. ขึ้นเขาฝั่งปากช่อง ซึ่งเป็นเส้นทางดั้งเดิม สร้างตั้งแต่ปี 2505 โดยเดินทางผ่านถนนมิตรภาพ เมื่อถึงช่วงอำเภอปากช่องจะมีทางแยกเข้าถนนธนะรัชต์ จากถนนมิตรภาพเข้ามาตามถนนธนะรัชต์ประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ หรือปลัดจ่างผู้ปราบโจรบนเขาใหญ่เมื่อ 80 ปีก่อน โดยจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมนี้ ต้องเดินทางไปอีกประมาณเกือบ 20 กิโลเมตรจึงจะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เส้นทางนี้ค่อนข้างชันเมื่อเทียบกับเส้นใหม่ที่ขึ้นเขาฝั่งปราจีนบุรี สองข้างทางเป็นป่าดิบ มีดงเสือ ดงงูเห่า และดงช้างเป็นต้น ซึ่งนาน ๆ ครั้ง อาจเห็นสัตว์ออกมาเดินบนถนนใหญ่ โดยเฉพาะลิงซึ่งอาจมีมากเป็นร้อยตัวและมีกีดขวางการจราจร ควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถเป็นอย่างมากเนื่องจากมีอุบัติเหตุขับรถชนลิงอยู่บ่อย ๆ

2. ขึ้นเขาฝั่งปราจีนบุรี เป็นทางที่ตัดขึ้นใหม่ในปี 2525 ซึ่งหากเดินทางมาจากกรุงเทพมหานครแล้ว นับว่าสะดวกและใกล้กว่าทางฝั่งปากช่อง อีกทั้งทางขึ้นยังชันน้อยกว่าเล็กน้อย โดยขับรถมาทางถนนรังสิต–นครนายก เมื่อถึงตัวเมืองนครนายกให้เลี้ยวเข้าถนนสุวรรณศร (หมายเลข 33) ไปทางปราจีนบุรี เดินทางมาจนกระทั่งถึงวงเวียนให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนปราจีนบุรี–เขาใหญ่ ซึ่งนับจากวงเวียนนี้ จะห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 40 กิโลเมตร แต่หากมาจากทางนี้จะใกล้น้ำตกเหวนรกมากกว่า เส้นทางฝั่งนี้ไม่ค่อยมีสัตว์มากเท่ากับฝั่งปากช่อง แต่มีลิงมากพอ ๆ กัน ซึ่งควรขับรถด้วยความระมัดระวังเช่นกัน

สิ่งอำนวยความสะดวก

[แก้]
บ้านพักพื้นที่ธนะรัชต์

ที่พัก

[แก้]

มีบ้านพัก บ้านพักเรือนแถว และค่ายพักแรม ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พื้นที่บนเขา–จุดชมทิวทัศน์ พื้นที่ค่ายสุรัสวดี และพื้นที่บ้านธนะรัชต์ แต่ละเขตอยู่ห่างกันพอสมควร ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จองที่พัก–บริการไว้แล้ว ควรติดต่อที่เจ้าหน้าที่งานบ้านพักและบริการของอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้มอบกุญแจที่พัก แนะนำเส้นทางเข้าที่พัก และคำแนะนำอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก่อนเข้าพัก

สถานที่กางเต็นท์

[แก้]

มีลานกางเต็นท์ตามจุดต่าง ๆ และมีเต็นท์ให้เช่า การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง

ร้านอาหาร

[แก้]

เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00–18.00 น. ในวันจันทร์–ศุกร์ และเวลา 07.00–21.00 น. ในวันเสาร์–อาทิตย์ มีจำนวน 5 แห่ง คือ

  1. บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
  2. บริเวณจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้
  3. บริเวณจุดกางเต็นท์ลำตะคลอง
  4. บริเวณน้ำตกเหวสุวัต
  5. บริเวณน้ำตกเหวนรก

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

[แก้]

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีขนาดใหญ่พอที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 150 คน บริเวณนี้มีห้องประชุมซึ่งสามารถบรรจุคนได้ถึง 100 คน ใช้สำหรับเป็นที่ประชุมบรรยาย ฉายภาพนิ่ง และภาพยนตร์

ระบบสาธารณูปโภค

[แก้]

มีถนนระบบสองทางเชื่อมโยงจากการบริการ ไปยังจุดท่องเที่ยวและนันทนาการต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ความยาวรวมกันกว่า 86 กิโลเมตร มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ตลอด 24 ชั่วโมง

สุขา

[แก้]

มีสุขาบริการตามจุดบริการนักท่องเที่ยว และบริเวณลานกางเต็นท์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex". World Heritage Convention. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 June 2022. สืบค้นเมื่อ 9 June 2022.
  2. เปลว ปัทมา: เข้าถึง เข้าใจ ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลก. สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น, 2551
  3. "พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (78): 1071–1083. 1961-10-03. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
  4. "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลป่าขะ ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา ตำบลหนองแสง ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี ตำบลสาริกา ตำบลหินตั้ง ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม ตำบลสัมพันตา ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลมวกเหล็ก ตำบลซำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (79): 982–985. 1952-09-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-28. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
  5. หนังสือคู่มือชุดท่องอุทยาน: อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่. สำนักพิมพ์สารคดี, 2543
  6. "ASN Aircraft accident de Havilland DH-106 Comet 4C SU-AMW Khao Yai Mountain". ASN Aviation Safety Network (ภาษาอังกฤษ). Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
  7. กรมป่าไม้: อุทยานแห่งชาติในเมืองไทย, 2543

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]