โรงเรียนวิสุทธรังษี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
Visuttharangsi School
Visut logo.png
ที่ตั้ง
Map
พิกัด13°59′50″N 99°33′25″E / 13.997351°N 99.556947°E / 13.997351; 99.556947พิกัดภูมิศาสตร์: 13°59′50″N 99°33′25″E / 13.997351°N 99.556947°E / 13.997351; 99.556947
ข้อมูล
ชื่ออื่นว.ส. (V.S.)
ประเภทรัฐบาล
คำขวัญสามัคคี มีวินัย ตั้งใจเรียน เพียรทำดี
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี
(ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทำให้เกิดสุข)
สถาปนา1 มิถุนายน พ.ศ. 2447
ผู้ก่อตั้งพระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์ (หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 (ราชบุรี-กาญจนบุรี) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รหัส05710601
ผู้อำนวยการนายหงษ์ดี ศรีเสน
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1 – ม.6
จำนวนนักเรียน4,018 คน
(ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565)
ภาษาภาษาที่มีการเรียนการสอน
ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีน
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
ฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศส
ประเทศพม่า ภาษาพม่า
วิทยาเขตกาญจนบุรี
  1. โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี (พ.ศ. 2447 - ปัจจุบัน)
  2. โรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์ (พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2473)[1]
  3. โรงเรียนวิสุทธรังษี สาขาทองผาภูมิ
    (พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518)
    [2][3][4]
สี███ ฟ้า
███ เหลือง
เพลงมาร์ชวิสุทธรังษี
เว็บไซต์www.visut.ac.th
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน :
  1. "คันกระสุน"
  2. "ธงฟ้า - เหลือง"

ต้นไม้ประจำโรงเรียน :

  1. "ต้นโพธิ์"

โรงเรียนวิสุทธรังษี (อังกฤษ: Visuttharangsi School) (อักษรย่อ: ว.ส.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ[5]:1 และเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี[6] สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี (กาญจนบุรี) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2447 โดย พระวิสุทธิรังษี หรือ หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ครบรอบการก่อตั้ง 100 ปี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปัจจุบันมีอายุ 118 ปี

ปัจจุบัน โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัจจุบันมีนักเรียน 4,018 คน[7] (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565) ​​

ข้อมูลทั่วไปของโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 32 ถนนแสงชูโต อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี บนพื้นที่ทั้งหมด 56 ไร่ 3 งาน 47.1 ตารางวา[5]:1 บริเวณโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นพื้นคอนกรีต และเป็นถนน มีประตูรั้ว 2 ประตูคือ ประตูรั้วทางเข้า - ออกบริเวณอาคารศูนย์ศึกษาศาลาศิลปวัฒนธรรม และประตูรั้วทางเข้า - ออกหลักบริเวณแฟลตป้อมยาม โรงเรียนวิสุทธรังษี มีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้ [8]

  • ทิศเหนือ (หลังโรงเรียน) : ติดกับพื้นที่การเกษตร (ถนนพัฒนากาญจน์)
  • ทิศตะวันออก (ประตู 2 อาคารศูนย์ศึกษาศาสนาและศิลปวัฒนธรรม) : ติดกับซอยร่วมใจ
  • ทิศตะวันตก (ประตู 1) : ติดกับซอยแสงชูโต ซอย 2

ก่อกำเนิดสถาบัน[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายการศึกษาออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยในชั้นต้นให้ใช้วัดเป็นสถานที่เล่าเรียน โดยมีพระภิกษุเป็นครูผู้สอน ตามประกาศพระกระแสพระบรมราชโองการ"จัดการเล่าเรียนในหัวเมือง"[9] เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส) รับเป็นภาระจัดพระเถระผู้ใหญ่ที่สมควรเป็นผู้อำนวยการศึกษาตามมณฑลต่าง ๆ ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้นขึ้นสังกัดมณฑลราชบุรี โดยมีพระอมรโมลี (ชม สุสมาจาโร) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เจ้าคณะมณฑลราชบุรีขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการการศึกษา วัดไชยชุมพลชนะสงครามเป็นวัดหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าควรเป็นโรงเรียนได้ ปรากฏในรายงานตรวจการศึกษามณฑลราชบุรี ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๖ แผ่นที่ ๕๒ รัตนโกสินทรศก ๑๑๘ (พ.ศ. 2442)[10] ตอนหนึ่งว่า

วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) เป็นวัดท้ายเมืองอยู่ด้านทิศใต้ มีราษฎรนับถือมากเช่นเดียวกัน แลเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเมือง แลพระใบฎีกาเปลี่ยนเป็นผู้ช่วยในการสอน แลเป็นผู้กว้างขวางเต็มใจที่จะสอนตามแบบหลวงได้

พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) พระผู้สถาปนาโรงเรียน

ยุคที่ 1 โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัด (พ.ศ. 2447 - พ.ศ. 2498)[แก้]

ศาลาการเปรียญวัดไชยชุมพลชนะสงคราม อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนวิสุทธรังษี

1 มิถุนายน พ.ศ. 2447 ได้ประกาศตั้งโรงเรียนขึ้น ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)[5]:5 เปิดสอน 2 ขั้น คือขั้นเบื้องแรก เป็นชั้นมูลศึกษา กับขั้นเบื้องต้น เป็นชั้นประถมศึกษา โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) เป็นสถานที่สอน โดยนักเรียนปีแรกมีนักเรียนทั้งหมด 54 คน มีครูผู้สอน 1 คน คือ พระภิกษุเจียม สิทธิสร เป็นครูใหญ่และครูผู้สอน ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2449 พระภิกษุเจียม สิทธิสร ได้ลาออก พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) จึงได้แต่งตั้งให้พระก้าน นาคะพันธ์ (ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณ พระครูวัตตสารโสภณ) เป็นครูใหญ่และครูผู้สอนแทนพระภิกษุเจียม สิทธิสร[5]:5

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2452 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ โดยมีพระก้าน นาคะพันธ์ ได้นำนักเรียนทั้งโรงเรียน ซึ่งในปีการศึกษานั้นมีทั้งสิ้น 66 คน เข้าเฝ้ารับเสด็จที่หน้าวัดไชยชุมพลฯ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินให้แก่นักเรียนทุกคน คนละหนึ่งสลึง

พิธีเปิดอาคารเรียนหลังที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2466 ในภาพ วงกลมสีแดงคือพระวิสุทธิรังษี วงกลมสีดำคือเด็กชายเจริญ คชวัตร หรือต่อมาคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
อาคารเรียนหลังที่สอง ของโรงเรียนวิสุทธรังษี เมื่อปีพ.ศ. 2466 โดยมีชื่อเรียกว่า ตึกขาว
อาคารเรียนหลังที่สาม เมื่อปีพ.ศ. 2480 โดยมีชื่อเรียกว่า ตึกเหลือง

โรงเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ได้ดำเนินการเรียนการสอน ก้าวหน้าด้วยดีเป็นลำดับ จึงได้ประกาศเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัด คงใช้ศาลาวัดและกุฏิพระเป็นสถานที่สอน พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) ได้พิจารณาเห็นว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ให้เด็กทุกคนที่มีอายุย่างปีที่ 8 ถึงปีที่ 15 เข้าเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน พระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) เห็นว่าศาลาวัดที่ใช้เป็นสถานศึกษาเป็นที่คับแคบ ไม่เหมาะสม จึงได้ร่วมกับกรรมการศึกษาและชาวบ้าน สร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นที่วัด 1 หลัง 7 ห้องเรียน ตัวอาคารเป็นตึกชั้นเดียวใต้ถุนสูง ฝาผนังก่ออิฐถือปูน เครื่องบนไม้จริง หลังคามุงกระเบื้อง ส่วนค่าก่อสร้างไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ ล้วนแต่ได้รับการบริจาคจากผู้มีศรัทธาทั้งสิ้น งานก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2464 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2466 จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจากกุฏิและศาลาวัดไปเรียนอาคารหลังใหม่แทน ทางราชการจึงได้ขนานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี วิสุทธิรังษี[5]:5 เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่านเจ้าคุณวิสุทธิรังษีฯ(เปลี่ยน) แต่ชื่อปัจจุบันนี้ชื่อโรงเรียนคำว่า วิสุทธิรังษี "ธิ" สระอิหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ชื่อปัจจุบันจึงเหลือเพียง วิสุทธรังษี เท่านั้น แต่นั้นมาโรงเรียนได้เปิดสอนขั้นเบื้องกลางถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

พ.ศ. 2478 ทางราชการได้ทำการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ดังนั้นทาง โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี วิสุทธรังษี ซึ่งขณะนั้นเปิดสอนชั้นประถมศึกษาด้วย จึงได้ลดชั้นประถมศึกษาให้เรียนที่โรงเรียนประชาบาลที่เปิดสอนใหม่แทน และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2482 เป็นต้นมาโรงเรียนวิสุทธรังษีจึงเปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น

พ.ศ. 2480 พระวิสุทธิรังษี เห็นว่าผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษามากขึ้น อาคารเรียนหลังเดิมเห็นจะไม่เพียงพอ จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการสถานศึกษาและชาวบ้านช่วยกันสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นอีกหนึ่งหลัง ใกล้กับบริเวณตึกหลังเก่า เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น 12 ห้องเรียน มีมุขด้านหน้า รัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาสนับสนุนงบประมาณให้ 6,000 บาท นอกนั้นเป็นเงินที่ได้รับบริจาคโดยมีพระวิสุทธิรังษีเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือจัดหาทุนสมทบเพิ่มเติมจนสำเร็จเรียบร้อย งานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยใช้เป็นสถานที่เรียนได้เมื่อปี พ.ศ. 2482

ยุคที่ 2 ย้ายสถานที่ใหม่ (พ.ศ. 2498 - ปัจจุบัน)[แก้]

อาคารเรียนหลังแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2498

พ.ศ. 2490 เมื่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ได้มาตรวจเยี่ยม มีความเห็นว่าโรงเรียนประจำจังหวัดตั้งอยู่ในเขตวัด บริเวณคับแคบไม่เหมาะสมจึงควรขยายทันกับความเจริญ กระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการโรงเรียน จึงได้ทำการติดต่อเจรจาเรื่องที่ดินกับบริษัท กาญจนบุรีพานิชจังหวัด จำกัด ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ทางบริษัทได้มอบที่ดินจำนวน 63 ไร่ 2 งาน ที่ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ให้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นายวิรัช บุญญาลัย ผู้แทนบริษัทเป็นผู้มอบ นายทวี สุนทรวิภาค ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับมอบ ณ ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี สมัยนาย ป อินทรัมพรรย์ เป็นนายอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

28 ตุลาคม พ.ศ. 2498 โรงเรียนได้ย้ายจากวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ไปยังสถานที่ใหม่ที่บริษัท กาญจนบุรีพานิชจังหวัด จำกัด ยกให้ โรงเรียนได้งบประมาณจากรัฐบาลสร้างอาคารแบบ 218 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 28 ห้องเรียน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 1,400,000 บาท งานก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 อาคารกว้าง 88.51 เมตร ยาว 106 เมตร และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี[5]:5 ส่วนอาคารหลังเดิมในวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ทางโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรีได้มอบให้เป็นโรงเรียนประถมศึกษา

พ.ศ. 2500 เปิดสอนถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา ในสมัยนั้นจึงมีชื่อเรียกโรงเรียนวิสุทธรังษีเพิ่มขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งคือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากาญจนบุรี

พ.ศ. 2513 โรงเรียนเข้าโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมในส่วนภูมิภาค (คมภ 2)

พ.ศ. 2509 ได้งบประมาณสร้างอาคารแบบ 212 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น 12 ห้องเรียนงบประมาณ 1,000,000 บาทเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2511 (ปัจจุบันคืออาคาร 2)

พ.ศ. 2514 ได้งบประมาณสร้างอาคารแบบ 318 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น 18 ห้องเรียน ค่าก่อสร้าง 2,000,000 บาท แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2515 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนั้น ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนหลังนี้เมื่อปีพ.ศ. 2515 (ปัจจุบันคืออาคาร 3)

ในช่วงปี พ.ศ. 2509พ.ศ. 2517 โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับงบประมาณจากราชการเพื่อก่อสร้างอาคาร และพัฒนาบริเวณสถานที่ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 19,125,000 บาท และได้รับความอุปถัมภ์จากพระเดชพระคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ) (ขณะนั้นเป็นพระเทพปัญญาสุธี) เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ได้สร้างอาคารคหกรรมคิดเป็นเงิน 200,000 บาท ประชาชนและหน่วยงานราชการได้ช่วยกันพัฒนาร่วมด้วย อาคารสถานที่คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 บาท

พ.ศ. 2522 ได้งบประมาณสร้างอาคารแบบ ค424 เป็นอาคารเรียน 4 ชั้น 24 ห้องเรียน (ปัจจุบันคืออาคาร 4)

พ.ศ. 2528 เนื่องด้วยอาคารแบบ 218 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 28 ห้องเรียน ซึ่งเป็นอาคารเรียนที่ใช้ทำการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 ได้มีการทรุดโทรมของไม้ไปตามสภาพ จึงได้มีการรื้อถอนอาคารเรียนหลังนี้ ต่อมาจึงได้สร้างอาคารแบบ ค418 โดยได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 25 ห้องเรียน เป็นเงินการก่อสร้าง 5,700,000 บาท (ปัจจุบันคืออาคาร 1)

พ.ศ. 2531 อาคารศูนย์ศึกษาศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ด้วยเงินบริจาคประมาณ 750,000 บาท

พ.ศ. 2534 อาคารหอประชุม 3,443,000 บาท

พ.ศ. 2536 อาคารศูนย์กีฬา 14,559,988 บาท

พ.ศ. 2537 ได้มีการปรับปรุงสนามกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาโรงเรียนวิสุทธรังษีครบ 90 ปี โดยมีพิธีเปิด สนาม 90 ปีวิสุทธรังษี ในวันที่1 มิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยสนาม 90 ปีวิสุทธรังษีได้รับงบประมาณการปรับปรุงจากสมาคมนักเรียนเก่าวิสุทธรังษี สมาคมผู้ปกครองและครูฯ และผู้มีจิตศรัทธารวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,400,000 บาท

พ.ศ. 2542 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 7 ชั้น ด้วยงบประมาณ 37,500,000 บาท (ปัจจุบันคืออาคาร 5)

พ.ศ. 2547 เนื่องในโอกาสที่โรงเรียนวิสุทธรังษีมีอายุครบ 100 ปี เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบวันสถาปนาโรงเรียน 100 ปี วิสุทธรังษี คณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าฯ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนวิสุทธรังษี และ ผู้มีจิตศรัทธา ผู้ปกครองนักเรียน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวิสุทธรังษี ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อก่อสร้าง อาคาร ๑๐๐ ปี วิสุทธรังษี ด้วยวงเงินงบประมาณ 26,500,500 บาท โดยทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ในการนี้มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ศิษย์เก่าโรงเรียนวิสุทธรังษีเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และต่อมาได้ทำพิธียกเสาเอกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 อาคารแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2556 มีพิธีเปิดอาคารอย่างป็นทางการในงาน ๑๐๙ ปีวิสุทธรังษี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พ.ศ. 2558 โรงเรียนวิสุทธรังษี ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องระดับภาคกลางโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (Education Hub Classroom) และมีการรับนักเรียนเพิ่มขึ้น จึงได้ทำการจัดสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น ห้องเรียนปรับอากาศ และดำเนินการสร้างโรงอาหารหลังที่ 2 ขึ้น โดยมี 2 ชั้น ประกอบไปด้วย ชั้นที่ 1 เป็นอาคารใต้ถุนโล่งเป็นโรงอาหาร ชั้นที่ 2 เป็นห้องประชุมปรับอากาศ และอาคารแห่งนี้เป็น 1 ใน อาคารที่รองรับการเสด็จของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

โรงเรียนสาขา[แก้]

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2472 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์ หรือปัจจุบันรู้จักกันในนามโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนสตรีได้มีโอกาสเล่าเรียนเทียบเท่ากับนักเรียนชาย ทางราชการจึงได้ให้มีการแยกสาขาจากโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี วิสุทธิรังษี และให้มีการก่อตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นโดยเป็นสาขาหนึ่งของโรงเรียนชายประจำจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายฮั้ว เวชวงษ์ เป็นผู้รักษาการแทนครูใหญ่ในขณะนั้น จนถึงปลายปี พ.ศ. 2472 ทางกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ) ได้แต่งตั้งหม่อมหลวงเชื้อ พรหมเดชเป็นครูใหญ่แทน จึงได้ย้ายสถานที่ไปอาศัยเรียนบนชั้นสองของตึกสโมสรข้าราชการจังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือบริเวณหน้าสวนสาธารณะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในการแยกสาขาโรงเรียนนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทานเงินสมทบในการก่อสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดกาญจนบุรี องค์ละ ๒๐๐ บาท และเจ้าจอมสมบูรณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริจาค ๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๕๐ บาท[11]

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 กรมสามัญศึกษาได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังอำเภอทองผาภูมิตามหนังสือของจังหวัด ที่ กจ.23/1021 เพื่ออนุญาตให้อำเภอทองผาภูมิก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอขึ้น โดยเปิดชั้น ม.ศ. 1 เป็นสหศึกษา ในสาขาที่ 2 ของโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรีและให้คณะครูอาจารย์ดูแลกิจการของโรงเรียนแห่งนี้ด้วย โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนวิสุทธรังษี สาขาทองผาภูมิ"[2][3] โดยมีนายนพเกียรติ กองเกตุใหญ่รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา" แทนชื่อเดิม

ความหมายและที่มาของชื่อโรงเรียนวิสุทธรังษี[แก้]

กองลูกเสือมณฑลราชบุรีที่ ๒ (วิสุทธรังษี)

เดิมโรงเรียนมีชื่อตามสถานที่ตั้งว่า โรงเรียนไชยชุมพลชนะสงคราม ต่อมาทางราชการได้ขนานนามโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นที่วัดไชยชุมพลชนะสงครามว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัด และ โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี วิสุทธิรังษี(เตรียมอุดมศึกษา กาญจนบุรี) ตามลำดับ โดยนำชื่อพระสมณศักดิ์ วิสุทธิรังษี มาตั้งเป็นชื่อโรงเรียนเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิรังษี(เปลี่ยน) โดยหลวงปู่เปลี่ยนได้รับพระราชทานตั้งพระสมณศักดิ์ที่ พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์ ดำรงพระสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อ พ.ศ. 2460 โดยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องเหตุใดไม่ปรากฏสระอิของคำว่า ธิ ได้หายไป ชื่อโรงเรียนจึงเหลือเพียงคำว่าวิสุทธรังษีเท่านั้น ปัจจุบันโรงเรียนมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี โดยชื่อปัจจุบันนี้ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ส่วนคำว่าวิสุทธรังษีจากหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ประกาศสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยาม เปลี่ยนนามกองลูกเสือ มณฑลราชบุรีที่ ๒ และที่ ๔ เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๒๑๖๑[12] ประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2467 โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ได้ระบุถึงการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนไชยชุมพลชะนะสงคราม มาเป็น โรงเรียนวิสุทธรังษี ดังนั้นจึงปรากฏคำว่าวิสุทธรังษีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว

"วิสุทธรังษี" อ่านว่า วิ - สุด - ทะ - รัง - สี สามารถแยกออกได้ดังนี้

  • วิสุทธ หมายถึง ความบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ความผ่องใส ความสะอาดไร้มลทิล
  • รังษี หมายถึง รังสี แสงสว่าง

"วิสุทธรังษี" จึงมีความหมายว่า "รังสีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง"

สัญลักษณ์ของโรงเรียนวิสุทธรังษี[แก้]

  • คติพจน์ : "สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี" อ่านว่า "สุขา สังฆัสสะ สามัคคี" แปลว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทำให้เกิดสุข[5]:1
  • คติประจำใจ : "พ่อกูชื่อเปลี่ยน เลือดกูฟ้า - เหลือง ลูกหลานเต็มเมือง วิสุทธรังษี" เดิมคติพจน์นี้ได้ปรากฏไว้ที่ด้านหลังอาคาร 1 (อาคาร 3 ชั้นด้านหน้า) แต่ปัจจุบันได้ถูกทำการลบออกไป
  • คำขวัญ : สามัคคี มีวินัย ตั้งใจเรียน เพียรทำดี
  • สีประจำโรงเรียน : "ฟ้า - เหลือง"
    • ███ สีฟ้า แสดงถึง ความสดใส เจริญรุ่งเรือง
    • ███ สีเหลือง แสดงถึง ความเจริญรุ่งเรือง
  • ตราประจำโรงเรียน : คันกระสุน เป็นคันกระสุนของหลวงปู่เปลี่ยน ซึ่งท่านได้ใช้คันกระสุนทำโทษกับนักเรียนที่หนีเรียน คันกระสุนมีความหมายว่า มุ่งตรงไปข้างหน้าสู่เป้าหมาย
  • ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้เก่าแก่อายุเกือบ 100 ปีที่อยู่บนที่ดินของโรงเรียนมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารสถานที่ของโรงเรียนวิสุทธรังษี (ตำบลท่าล้อ) ปัจจุบันเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา ผลัดใบทุก ๆ ปลายฤดูหนาว(มีนาคม) บ่งบอกเป็นสัญญาณว่าลูกศิษย์วิสุทธรังษีจำนวนหนึ่งจะมีการสำเร็จการศึกษาออกไปจากโรงเรียนวิสุทธรังษีแห่งนี้ และจะมีการผลิใบสีเขียวขจีเต็มต้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน(เดือนพฤษภาคม) เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีนักเรียนใหม่อีกรุ่นหนึ่งที่จะได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เปลี่ยน
  • เนื่องในโอกาส วันครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งโรงเรียนวิสุทธรังษี คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เจ้าของผลงาน เพียงความเคลื่อนไหว รางวัลกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2523 ศิษย์เก่าวิสุทธรังษีที่มีชื่อเสียงระดับชาติได้ประพันธ์บทกลอนแก่โรงเรียนไว้ว่า[13]
ภูมิใจเถิด ภูมิใจ ในชีวิต
ได้เป็นศิษย์ วิสุทธรังษี
สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
คือคนดี ในตน คนเมืองกาญจน์


ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี[แก้]

ตารางแสดงทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี[13]

ภาพครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนวิสุทธรังษี ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2447 - ปัจจุบัน
ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 พระภิกษุเจียม สิทธิสร 1 มิ.ย. 2447 - 7 ต.ค. 2449
2 พระครูวัตตสารโสภณ (ก้าน นาคะพันธ์) 8 ต.ค. 2449 - 31 พ.ค. 2469
3 นายไจ๊ อนุมาน 1 มิ.ย. 2469 - 14 ธ.ค. 2471
4 นายสุจินต์ หิรัญรัศ 15 ธ.ค. 2471 - 4 ม.ค. 2478
5 นายเนียม นิลวัฒน์ 17 มี.ค. 2479 - 29 เม.ย. 2484
6 นายสุวัฒน์ กาญจนวสิต 30 เม.ย. 2484 - 18 มิ.ย. 2489
7 นายเวียน โสมกุล 19 มิ.ย. 2489 - 5 มิ.ย. 2493
8 นายมงคลชัย เหมริด 6 มิ.ย. 2493 - 1 ส.ค. 2495
9 นายสง่า ดีมาก 13 ส.ค. 2495 - 20 ม.ค. 2497
10 นายเสริม กลีบจันทร์ 17 พ.ค. 2497 - 26 มี.ค. 2498
11 นายจรัญ เศรษฐบุตร 1 มิ.ย. 2498 - 1 เม.ย. 2505
12 นายสมพงษ์ จิวนนท์ 1 พ.ค. 2505 - 9 ส.ค. 2506
13 นายบุญเชาวน์ เชียงทอง 9 ต.ค. 2506 - 31 พ.ค. 2525
14 นายจิตต์ ศรีสุโร 1 มิ.ย. 2525 - 27 ก.ย. 2527
15 นายบรรเจิด ประสมทรัพย์ 27 ก.ย. 2527 - 30 ก.ย. 2535
16 นายภราดร สุวรรณมิสสระ 1 ต.ค. 2535 - 30 ก.ย. 2537
17 นายสมจิต คำชื่น 1 ต.ค. 2537 - 30 ก.ย. 2541
18 นายรังสรรค์ จุลศรีไกวัล 15 ธ.ค. 2541 - 30 ก.ย. 2544
19 นายวันชัย เศรษฐกร 1 ต.ค. 2544 - 30 ก.ย. 2546
20 นายศักรินทร์ จริงจิตร 1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2552
21 นายภิเษก ประกอบ 30 ธ.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2553
22 นายสมหมาย ปราบสุธา 27 ม.ค. 2554 - 30 ก.ย. 2556
23 นายวิรัช รัตนพันธ์ 14 พ.ย. 2556 - 30 ก.ย. 2558
24 นายหงษ์ดี ศรีเสน 14 ธ.ค. 2558 - ปัจจุบัน

อาคารและสถานที่ภายในโรงเรียน[แก้]

อาคาร 1
  • อาคาร 1 (อาคารเรียนตึก 4 ชั้น ด้านหน้า)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
    • ห้องธุรการ วิชาการ
    • ห้องแผนงานและสารสนเทศโรงเรียน
    • ห้องทะเบียนและวัดผลนักเรียน
    • ห้องกลุ่มบริหารงานทั่วไป
    • ห้องประชุมวิชาการ
  • อาคาร 2 (อาคารเรียนตึก 2 ชั้น)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    • ห้องพระพุทธศาสนา
      อาคาร 2
    • ห้องแนะแนว
    • ห้องโสตทัศนศึกษา
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    • ห้องสมุดกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    • ห้องเรียนทั่วไป
    • ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
อาคาร 3
  • อาคาร 3 (อาคารเรียนตึก 3 ชั้น)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
    • ห้องนาฏศิลป์ และทัศนศิลป์
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
    • ห้องวงโยธวาทิตโรงเรียนวิสุทธรังษี
    • ห้องเรียนทั่วไป
อาคาร 4
  • อาคาร 4 (อาคารเรียนตึก 4 ชั้น ด้านข้างศูนย์กีฬา)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
    • ห้องปฏิบัติการชีววิทยา
    • ห้องปฏิบัติการเคมี
    • ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์
    • ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
    • ศูนย์คอมพิวเตอร์ พระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ)
    • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
    • ห้องเรียนทั่วไป
    • ห้องสมุดกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี สาขาคอมพิวเตอร์
อาคาร 5
  • อาคาร 5 (อาคารเรียนตึก 7 ชั้น)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
    • ศูนย์โรงเรียนสองภาษา English Program
    • ศูนย์ห้องเรียน Education Hub
    • ห้องโสตทัศนศึกษา
    • ห้องเซียร์ S.E.A.R (Self-English Access Room)
    • ห้องอีริค E.R.I.C (English Room Intensive Care)
    • ห้อง I.C.T. (Information and Communication Technology)
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ
    • ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก โรงเรียนวิสุทธรังษี
    • ห้องสมุดสารสนเทศและห้องค้นคว้าด้วยตัวเอง (ชั้น 2)
    • ห้องเรียนทั่วไป
    • ลิฟท์ 2 ตำแหน่ง
  • อาคาร 6 (อาคารเรียนตึก 4 ชั้น เปิดใช้งานเมื่อภาคเรียนที่ 2/2559)
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
    • กลุ่มสาระการเรียนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  • อาคาร 7
  • อาคารศูนย์ศึกษาศาลาศิลปวัฒนธรรม
อาคาร ๑๐๐ ปี วิสุทธรังษี
ห้องประดิษฐานรูปหล่อพระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินฺทสโร) ภายในอาคาร ๑๐๐ ปีวิสุทธรังษี
  • อาคาร 100 ปี โรงเรียนวิสุทธรังษี พ.ศ. ๒๕๔๗
    • ห้องประดิษฐานรูปหล่อพระวิสุทธิรังษี (หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร)
    • ห้องประชุมอัจฉริยะเจ้าคุณปัญญาฯ (พระราชวิสุทธิเมธี)
    • หอประวัติโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
    • ห้องศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียนศึกษา)
    • สำนักงานสมาคมนักเรียนเก่าวิสุทธรังษี
    • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ E.S.C (Enrichment Science Classroom)
    • ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ I.P. (Intensive Program)
    • ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถวิทยาศาสตร์ – เทคโนโลยี I.P. (Intensive Program)
  • อาคารศูนย์กีฬา
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
    • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
    • สนามอเนกประสงค์ ชั้น G
    • สนามฟุตซอล
    • เวทีมวย
    • ร้านบริการถ่ายเอกสาร ชั้น G
    • ร้านค้าสวัสดิการ
  • อาคารประกอบ
    • อาคารเรือนดนตรีไทยเจ้าคุณไพบูลย์อนุสรณ์ ๗๒ ปี
    • อาคารคหกรรม (กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี)
    • โรงอาหารโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี หลังที่ 1 (หน้าห้องพยาบาล)
    • โรงอาหารโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี หลังที่ 2
บริเวณลานโพธิ์ โรงเรียนวิสุทธรังษี
ลำดับ ชื่ออาคารสถานที่ จำนวน
1 อาคารเรียนตึก 2 ชั้น 1 หลัง
2 อาคารเรียนตึก 3 ชั้น 1 หลัง
3 อาคารเรียนตึก 4 ชั้น 3 หลัง
4 อาคารเรียนตึก 7 ชั้น 1 หลัง
5 อาคารศูนย์ศึกษาศาสนาและศิลปวัฒนธรรม 1 หลัง
6 อาคารประกอบ และอาคารชั่วคราว 3 หลัง
7 โรงฝึกงาน (อาคารคหกรรม) 5 หลัง
8 โรงอาหาร 2 หลัง
9 หอประชุมอเนกประสงค์ 2 หลัง
10 อาคารศูนย์กีฬา 1 หลัง
11 ห้องประชาสัมพันธ์ 1 หลัง
12 บ้านพักครู 14 หลัง
13 บ้านพักภารโรง 3 หลัง
14 แฟล็ตป้อมยาม 1 หลัง
15 อาคาร 100 ปี วิสุทธรังษี 1 หลัง
16 ห้องน้ำและห้องส้วม 5 หลัง
17 สนามฟุตบอล 90 ปี วิสุทธรังษี 1 สนาม
18 สนามเทนนิส 2 สนาม (คู่)
19 สนามวอลเลย์บอล 2 สนาม (คู่)
20 ศาลาหลวงปู่เปลี่ยน 1 หลัง
21 ลานอเนกประสงค์ (บริเวณโดม ศาลาร่วมใจ '49) 1 ลาน
22 สถานที่จอดรถ 2 ที่

โครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษ และแผนการเรียนที่ทำการเปิดสอน[แก้]

ระดับชั้น ม.1 – ม.3[แก้]

โครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษ
  • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ E.S.C. (Enrichment Science Classroom)
  • โครงการส่งเสริมความสามารถวิทยาศาสตร์ – เทคโนโลยี I.P. (Intensive Program)
  • โครงการพัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
  • โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (Education Hub Classroom)
  • โครงการโรงเรียนสองภาษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น E.P. (English Program)

ระดับชั้น ม.4 – ม.6[แก้]

โครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษ
  • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ E.S.C (Enrichment Science Classroom)
  • โครงการพัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
  • โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (Education Hub Classroom)
  • โครงการโรงเรียนสองภาษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปลาย E.P. (English Program)
แผนการเรียนปกติ
  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์
  • แผนการเรียนคณิตศาสตร์ – ภาษาอังกฤษ (ศิลป์ – คำนวณ)
  • แผนการเรียนภาษาต่างประเทศ (ศิลป์ – ภาษา)
  • ภาษาอังกฤษ – ภาษาจีน
  • ภาษาอังกฤษ – ภาษาญี่ปุ่น
  • ภาษาอังกฤษ – ภาษาฝรั่งเศส
  • ภาษาอังกฤษ – ภาษาพม่า
  • แผนการเรียนภาษาไทย – สังคมศึกษา
  • แผนการเรียนสังคมศาสตร์ – มนุษยศาสตร์
  • แผนการเรียนภาษาไทย – นิเทศ (ปิดแผนการเรียน พ.ศ. 2557)
  • แผนการเรียน การจัดการธุรกิจ (ปิดแผนการเรียน พ.ศ. 2557)

หน่วยงานภายในโรงเรียน[แก้]

  • สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  • สมาคมผู้ปกครองและครูฯ เครือข่ายผู้ปกครอง โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ศูนย์ครอบครัวพอเพียง โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  • ธนาคารโรงเรียน (ธนาคารออมสิน)

วันสำคัญของโรงเรียน[แก้]

รายนามศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. วิดีทัศน์ ๘๔ ปีโรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์
  2. 2.0 2.1 วีดิทัศน์ประวัติโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา
  3. 3.0 3.1 โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา
  4. หนังสือจังหวัด ที่ กจ.23/14668 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2514
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 คณะกรรมการจัดทำหนังสือคู่มือนักเรียนและผู้ปกครอง. (2565). คู่มือครู นักเรียนและผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี. กาญจนบุรี: [ม.ป.ท.]. 100 หน้า.
  6. แท้ ประกาศวุฒิสาร. สุภาพบุรุษเสือแท้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิหนังไทย, 2544. 366 หน้า. หน้า 29.
  7. "ข้อมูลพื้นฐาน โรงเรียนวิสุทธรังษี", ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารการศึกษา,(10 มิถุนายน 2565) สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2563
  8. เว็บไซต์โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี
  9. พระบรมราชโองการ ประกาศ จัดการเล่าเรียนในหัวเมือง เล่มที่ ๑๕ ตอนที่ ๓๓ หน้าที่ ๓๓๓ ประกาศ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/033/333.PDF
  10. รายงานพระสงฆ์จัดการศึกษามณฑลราชบุรี รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ เล่มที่ ๑๖ ตอนที่ ๒๘ หน้าที่ ๑ ประกาศ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/028/1.PDF
  11. แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสามัญศึกษา เรื่อง มีผู้ประทานและบริจาคเงินสมทบในการสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดกาญจนบุรี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/4243.PDF
  12. ประกาศสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งสยาม เปลี่ยนนามกองลูกเสือ มณฑลราชบุรีที่ ๒ และที่ ๔ เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๒๑๖๑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/D/2161.PDF
  13. 13.0 13.1 หนังสือ 100 ปี วิสุทธรังษี 1 มิถุนายน 2547
  14. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1 เก็บถาวร 2022-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2520. 300 หน้า. หน้า 112.
  15. ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. วรรณลลิต: รวมบทความวิจัย วรรณคดีและคําประพันธ์ไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546. 229 หน้า. หน้า 27. ISBN 974-132-691-2
  16. รัษฎา สะวิคามิน และคณะ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจโท จำรัส มังคลารัตน์ (เครื่องราชฯ) ม.ป.ป., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ ฌาปนกิจสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๑. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2541. 315 หน้า. หน้า 31.
บรรณานุกรม
  • เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
  • เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°59′50″N 99°33′25″E / 13.997351°N 99.556947°E / 13.997351; 99.556947{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้