โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ Wattanothaipayap School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ว.พ. / W.P. |
ชื่อเดิม | โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ (25 มีนาคม พ.ศ. 2449 | )
ประเภท | โรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | บาลี: สุสิกฺขิตา อติจริยา (เรียนดี มีมารยาทงาม) |
สถาปนา | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 |
ผู้ก่อตั้ง | "เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8
พระผู้พระราชทานนาม "สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" (7 มกราคม พ.ศ. 2471) |
รหัส | 50012002 |
ผู้อำนวยการ | นายพิพัฒน์ สายสอน |
จำนวนนักเรียน | 2,805 คน[ต้องการอ้างอิง] |
สี | ฟ้า ขาว |
เพลง | มาร์ชฟ้า-ขาว |
ดอกไม้ | ดอกปีบ |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เดิมเคยเป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพมาก่อน ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนแบบสหศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และใน พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนจากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระราชอิสริยยศปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) โดยทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงเรียนจากพระนามเดิม “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา” ว่า “วัฒโนทัยพายัพ" (เป็นคำที่สนธิกันระหว่างคำว่า วัฒนา และ อุทัย)
ชื่อโรงเรียน
[แก้]- พ.ศ. 2449: โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"
- พ.ศ. 2471: โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ"
- พ.ศ. 2476: โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ
- พ.ศ. 2517: โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนสตรีเจ้าหลวงประจำมณฑลพายัพ
[แก้]โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เป็นโรงเรียนสตรีของรัฐบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) โดยพระราชดำริของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะก่อตั้งโรงเรียนสอนเด็กหญิงในนครเชียงใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ และนายพันตรีเจ้าไชยสงคราม กรมการเมืองเชียงใหม่ ติดต่อขอใช้คุ้มเจ้าเรือนคำ ถนนแม่ข่า เป็นที่ตั้งโรงเรียนและทรงรับอุปการะ[1] โดยมีนางอบเชย เป็นครูใหญ่คนแรก วันเปิดทำการเรียนการสอนมีนักเรียนทั้งสิ้น 70 คน
ใน พ.ศ. 2457 ขุนอุปกรณ์ศิลปสาตร์ ธรรมการมณฑลพายัพ ดำเนินการให้เปิดทำการสอน ณ บริเวณบ้านพักธรรมการจังหวัดใกล้วัดดอกเอื้อง ต่อจากนั้นหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ ธรรมการมณฑลคนต่อมาดำเนินการต่อ โดยมีนางจำรัส หงสกุล เป็นครูใหญ่ และในปีถัดมา เมื่อโรงเรียนชายที่ตั้ง ณ คุ้มหลวง ข้างวัดดวงดีย้ายไป โรงเรียนสตรีจึงได้ย้ายไปแทนที่ตามคำสั่งมณฑลพายัพ สมัยขุนเชิดวิชาครูเป็นธรรมการ เปิดทำการสอนครั้งแรก วันที่ 1 พฤษภาคม 2459 และได้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" มีรองอำมาตย์โท ขุนอาจวิชาสรร เป็นครูใหญ่ ต่อมาใน พ.ศ. 2460 รื้ออาคารเรียนที่วัดดวงดี ไปสร้างใหม่ในที่ดินของอำมาตย์ตรีเจ้าราชบุตร เสนาคลัง บริเวณถนนพระปกเกล้าเป็นเจ้า (ปัจจุบันคือ ถนนพระปกเกล้า) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยอาชีวศึกษาในปัจจุบัน เปิดทำการสอนวันที่ 1 พฤษภาคม 2461
ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 หลวงวิสณฑ์ดรุณการ ธรรมการมณฑลพายัพ มีคำสั่งประกาศที่ 771 ให้แยกโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" ที่มีครูใหญ่เพียงคนเดียว คือ รองอำมาตย์โทขุนอาจวิชาสรร โดยได้เพิ่ม นางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ รักษาการแทนครูใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็น โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ รับนักเรียนสตรีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และรับนักเรียนชายอายุไม่เกิน 12 ปีเต็ม
โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ" นามพระราชทาน
[แก้]ใน พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนจากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระราชอิสริยยศปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) โดยทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงเรียนจากพระนามเดิม “ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา” ว่า “วัฒโนทัยพายัพ" (เป็นคำที่สนธิกันระหว่างคำว่า วัฒนา และ อุทัย) ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[2] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร (พระอิสริยยศปัจจุบันคือสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร)[3] ทรงประกอบพิธีเปิดป้ายนาม โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ"[4] ต่อมาใน พ.ศ. 2474 ธรรมการมณฑลให้รวมโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ วัฒโนทัยพายัพ และโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ในปัจจุบัน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2468) เริ่มรับนักเรียนประจำเข้าเรียนในแผนกสามัญ
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” แห่งโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “วัฒโนทัยพายัพ”[5] เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เวลา 16.30 น.
คำประทานกราบทูลเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่
“ ...ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานกราบทูลแสดงความปิติยินดีในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระกรุณาทรงเปิดผ้าคลุมนามตึกและเสด็จทรงเหยียบ “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” หลังนี้เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่สถานที่และบรรดานักเรียนที่จะได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการศึกษา สืบไป ...”
ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์ ที่โรงเรียนภูมิใจมากในปีนั้นได้เปิดสอนสาขาฝึกหัดครูประกาศนียบัตร (ป.) และครูประถม (ปป.) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ใน พ.ศ. 2476 ทางราชการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเลิกการปกครองแบบมณฑล ยุบกองธรรมการมณฑล โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “วัฒโนทัยพายัพ” จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเติมคำว่า "พายัพ" เพื่อรักษาประวัติว่าเคยเป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพมาก่อนและเติมคำว่า “สตรี" หัวนามโรงเรียน จึงมีชื่อทางการว่า โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ แผนกสามัญเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 ในเวลาต่อมา เนื่องจากบริเวณโรงเรียนคับแคบจึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างชื่อ “วัดสีเสียด” เริ่มก่อสร้างตึกเรียนวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2481
พ.ศ. 2481 โรงเรียนสาขาสตรีวัฒโนทัยพายัพที่เป็นที่ตั้ง “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” ได้เป็นอิสระจากการปกครองของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ และได้รับชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์” ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2482 ได้มีพิธีเปิดโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ โดยพันโทประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2484 – 2488 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพเป็นสถานที่พักของทหารญี่ปุ่น โรงเรียนจึงต้องย้ายไปทำการสอนที่โรงเรียนฮั่วเอง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว ถนนช้างคลาน และโรงเรียนวัดพระนอนหนองผึ้ง (จันทราราษฎร์ประสาท) ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และใน พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้เปิดรับนักเรียนชายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิม "โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ" เป็น "โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ"
โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพกับพระบรมราชจักรีวงศ์
[แก้]18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยม ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียน และทรงลงพระปรมาภิไธย ในสมุดเยี่ยมโรงเรียน ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน "อลงกรณ์ศิลป์" ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงเปิดอาคารเรียน "ศรีสวรินทิรา" พร้อมทั้งอาคารสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์การศึกษาโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพยาบาล "อาคาร 150 ปี ศรีสวรินทิรานุสรณีย์" แล้วทรงปลูกต้นไม้ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องพยาบาล ทอดพระเนตรนิทรรศการส่งเสริมสุขภาพ โอกาสนี้ ทรงเสด็จฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับผู้บริหารและครูโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
รายนามผู้บริหาร
[แก้]ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นางสาวอบเชย | พ.ศ. 2449-2457 |
2 | นางจำรัส หงสกุล | พ.ศ. 2457-2459 |
3 | รองอำมาตย์โท ขุนอาจวิชาสรร | พ.ศ. 2459-2464 |
4 | นางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ | พ.ศ. 2464-2474 |
5 | นางจินดา บริหารสิกขกิจ | พ.ศ. 2474-2475 |
6 | ขุนจรรยาวิฑูร | พ.ศ. 2475-2476 |
7 | นางสาวทองอยู่ เกษกาญจน์ | พ.ศ. 2476-2478 |
8 | ม.ล.ประชุม ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา | พ.ศ. 2478-2482 |
9 | นางอาภรณ์ คชเสนีย์ | พ.ศ. 2482-2485 |
10 | นางสมบูรณ์ ธรรมครองอาตม์ | พ.ศ. 2485-2487 |
11 | นางชุมศิริ สิทธิพงษ์ | พ.ศ. 2487-2488 |
12 | นางทองอยู่ วสันตทัศน์ | พ.ศ. 2488-2509 |
13 | นางเสาวนีย์ แขมมณี | พ.ศ. 2509-2509 |
14 | คุณหญิงสวาท รัตนวราห | พ.ศ. 2509-2522 |
15 | นางนิภา นินทบดี | พ.ศ. 2522-2525 |
16 | นางบุญรัตน์ โรจนศักดิ์ | พ.ศ. 2525-2528 |
17 | นางดาวเรือง รัตนิน | พ.ศ. 2528-2534 |
18 | นางบุญเตี่ยม วังซ้าย | พ.ศ. 2534-2537 |
19 | นางพิวัลย์ วิบุลสันติ | พ.ศ. 2537-2541 |
20 | นางอรทัย หนองขุ่นสาร | พ.ศ. 2541-2546 |
21 | นางปรานอม เชื้อศักดาหงษ์ | พ.ศ. 2546-2551 |
22 | นางสาวศรีพรรณ เวียนทอง | พ.ศ. 2551-2556 |
23 | นางนิตยา บุญเป็ง | พ.ศ. 2556-2557 |
24 | นายนิคม สินธุพงษ์ | พ.ศ. 2557-2558 |
25 | นายฐิตติณัฐ ศักดิ์ธนานนท์ | พ.ศ. 2558-2562 |
26 | นายสุพล ประสานศรี | พ.ศ. 2562-2566 |
27 | นายพิพัฒน์ สายสอน | พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน |
อาคารและสถานที่
[แก้]อาคารเรียนโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มีรายนามอาคารที่คล้องจองกันตั้งแต่อาคารหลังที่ 1-7 ตามลำดับดังนี้ ศิริวิทย์-สิทธิธร-อลงกรณ์ศิลป์-ศรีสวรินทิรา-วัฒนา-ร่มฟ้าเจ้าหลวง-ดวงดารารัศมิ์
- อาคารศิริวิทย์
- อาคารสิทธิธร
- อาคารอลงกรณ์ศิลป์
- อาคารศรีสวรินทิรา
- อาคาร 100 ปี ร่มฟ้าหลวง
- อาคารดวงดารารัศมิ์
- หอประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่
- อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ 84 ปี
- อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ
- อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ 117 ปี
- โรงอาหารวัฒโนทัย 84 ปี
- อาคารสมาคมศิษย์เก่าวัฒโนทัยพายัพ
- อาคารอุตสาหรรม
- อาคารคหกรรม
- อาคารหอสมุดกลาง
- อาคารพลศึกษา
- อาคารเกษตรกรรม
- อาคารพยาบาล 150 ปี ศรีสวรินทิรานุสรณีย์
- สวนพฤษาศาสตร์โรงเรียน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- พระวิหารพระพุทธรูปองค์จำลอง พระเจ้าแค่งคม
- อาคารประชาสัมพันธ์
-
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เชียงใหม่
-
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
-
อาคารศิริวิทย์
-
อาคารอลงกรณ์ศิลป์
-
อาคารศรีสวรินทิรา
-
อาคารวัฒนา (พิพิธภัณฑ์การศึกษาโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ)
-
อาคาร 100 ปี ร่มฟ้าเจ้าหลวง
-
อาคารสิทธิธร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกศึกษามณฑล เรื่อง เจ้านครเชียงใหม่ได้ให้ยืมที่บ้านตั้งเป็นโรงเรียนผู้หญิงขึ้น
- ↑ แผนกกรมสามัญศึกษา เรื่อง สร้างโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ
- ↑ แผนกกรมศึกษาธิการ เรื่อง ประทานเงินบำรุงโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ
- ↑ แผนกกรมวิสามัญศึกษา เรื่อง พระราชทานสิ่งของบำรุง โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ"
- ↑ แผนก กรมศึกษาธิการ เรื่อง การปลูกสร้างสถานที่ให้โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′33″N 100°29′38″E / 13.742538°N 100.494003°E
- โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
- พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสาอัยยิกาเจ้า : พระผู้พระราชทานนาม โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เก็บถาวร 2008-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ]
- พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี/พระราชกิจ เก็บถาวร 2007-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ[ลิงก์เสีย]
- โรงเรียนในอำเภอเมืองเชียงใหม่
- สถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย
- โรงเรียนที่มีอายุเกิน 100 ปีในประเทศไทย
- โรงเรียนประจำจังหวัด
- โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
- โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
- เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
- โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่
- โรงเรียนที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2449
- โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ