ข้ามไปเนื้อหา

ททบ.5 เอชดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช่อง 5 เอชดี
ชื่ออื่นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
ประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย
กัมพูชา
พม่า
ลาว
มาเลเซีย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์/สถานีวิทยุ
ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล
ประเภทบริการสาธารณะ
คำขวัญททบ.5 นำคุณค่าสู่สังคมไทย
(พ.ศ. 2537 - ปัจจุบัน)
ททบ.5 คงคุณค่า คู่ยุคดิจิตอล
(พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
สำนักงานใหญ่210 ถนนพหลโยธิน
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
แบบรายการ
ภาษาไทย
ระบบภาพ1080p (16:9 คมชัดสูง/ออนไลน์)
1080i (16:9 คมชัดสูง/ทีวีดิจิทัล,กล่องโทรทัศน์ดาวเทียมเอชดีระบบซีแบนด์,ทรูวิชั่นส์)
576i (16:9 คมชัดปกติ/กล่องโทรทัศน์ดาวเทียม)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของกองทัพบกไทย
บุคลากรหลัก
  • พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์
    ประธานกรรมการบริหารกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองทัพบก
  • พลโท ชำนาญ ช้างสาต
    กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ช่องรอง
ประวัติ
เริ่มออกอากาศ25 มกราคม พ.ศ. 2501 (66 ปี)
ชื่อเดิมสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7
(25 มกราคม พ.ศ. 2501 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2517)
ลิงก์
เว็บไซต์www.thaitv5hd.com
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ดิจิทัลช่อง 5 (มักซ์#2 : ททบ.)
เคเบิลทีวี
ช่อง 5
ทีวีดาวเทียม
ช่อง 5
สื่อสตรีมมิง
TV5เว็บช่อง 5

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 เอชดี (อังกฤษ: Royal Thai Army Radio and Television, TV5 HD; ชื่อย่อ: ททบ.) เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Television) ของกองทัพบกไทย และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่สองของประเทศไทย เริ่มแพร่ภาพเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 ในระบบวีเอชเอฟ เดิมออกอากาศเป็นภาพขาวดำ ทางช่องสัญญาณที่ 7 จึงเรียกว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ททบ.7) หรือ ช่อง 7 (ขาว-ดำ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 จึงย้ายมาออกอากาศด้วยภาพสี ทางช่องสัญญาณที่ 5 จึงเรียกว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) จนถึงปัจจุบัน มี พลเอก เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการบริหารกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองทัพบก และ พลเอก นิรันดร ศรีคชา เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

ประวัติ

ราวปี พ.ศ. 2495 กระทรวงกลาโหมออกข้อบังคับว่าด้วยการมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่กองทัพบก โดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสาร (สส.) จัดตั้งแผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์ ขึ้นตรงต่อกองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 มีการกำหนดอัตรากำลังพลประจำแผนกโทรทัศน์ ในอัตราเฉพาะกิจจำนวน 52 นาย เพื่อปฏิบัติงานออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ผลิตและถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ จากนั้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประกอบด้วย พลเอกไสว ไสวแสนยากร เป็นประธานกรรมการ และพันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) พร้อมทั้งวางแผนการอำนวยการ และควบคุมการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานให้ได้ผลตามที่ราชการทหารมุ่งหมาย ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ ททบ. ในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า ถนนพหลโยธิน โดยทำสัญญายืมเงินกับกองทัพบก เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้าง และจัดหาอุปกรณ์ จำนวน 10,101,212 บาท สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ชื่อสากล: ATV รหัส: HSATV ชื่อย่อ: ททบ.7) เริ่มต้นออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 จากอาคารสวนอัมพร เป็นภาพขาวดำ ใช้ระบบเอฟซีซี (Federal Communication Committee) 525 เส้น ทางช่องสัญญาณที่ 7 ด้วยเครื่องส่งออกอากาศ กำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ และทวีกำลังได้สูงสุด 12 เท่า บนสายอากาศสูง 300 ฟุต รวมกำลังส่งออกอากาศทั้งสิ้น 60 กิโลวัตต์ จึงเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยแห่งที่สอง ต่อจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) ต่อมา เมื่อก่อสร้างของอาคารสถานีเสร็จสมบูรณ์ จึงเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในทุกวันพุธ แล้วจึงเพิ่มวันจันทร์และวันศุกร์ในระยะถัดมา โดยส่วนมากเป็นสารคดีและภาพยนตร์ต่างประเทศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2506 ททบ.ตั้งสถานีทวนสัญญาณเป็นแห่งแรก บนยอดเขาวงพระจันทร์ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยใช้เครื่องทรานสเลเตอร์ถ่ายทอดสัญญาณ เริ่มจากถ่ายทอดการฝึกทหารในยามปกติ ซึ่งมีชื่อรายการว่า การฝึกธนะรัชต์ ทั้งนี้ เริ่มจัดรายการภาคกลางวันในปีเดียวกันนี้ด้วย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรกิจการ ททบ.5 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2508 นอกจากนี้ ททบ.5 ยังเริ่มจัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ความถี่ 94.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ในปีเดียวกันนี้ โดยในระยะแรกเป็นการถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ จากฟิล์มภาพยนตร์ที่ออกอากาศทาง ททบ. และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ททบ.ร่วมกับสถานีโทรทัศน์อีก 3 แห่งในขณะนั้น ก่อตั้ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: ทรท., ทีวีพูล) เพื่ออำนวยการปฏิบัติงาน ระหว่างสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ททบ.ตั้งสถานีทวนสัญญาณเพิ่มเติม ที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมา โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบไมโครเวฟแทน จากนั้น ททบ.5 ปรับปรุงระบบเครื่องส่งโทรทัศน์ จากเดิมที่ใช้ระบบ 525 เส้น ภาพขาวดำ ช่องสัญญาณที่ 7 เป็นระบบ 625 เส้น ในย่านความถี่วีเอชเอฟ ทางช่องสัญญาณที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2517 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ททบ.เริ่มออกอากาศด้วยภาพสีในระบบพาล (Phase Alternation Line - PAL) เป็นครั้งแรกด้วยการถ่ายทอดสด พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ลานพระราชวังดุสิต และต่อมา ททบ.5 จึงเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของสถานีฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารงานของสถานี และยังมีการเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2521 ททบ.ร่วมกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่าสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย พร้อมตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และเริ่มจัดทำห้องส่งส่วนภูมิภาค ในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่, ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี อนึ่ง ในช่วงทศวรรษนี้ ททบ. ดำเนินการขยายสถานีเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

นอกจากนี้ ททบ.5 ยังเปิดให้บริการเว็บไซต์ของสถานีฯ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยใช้โดเมนเนม www.tv5.co.th พร้อมทั้งจัดทำระบบโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ต เป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2539 ททบ.เป็นผู้ริเริ่มใช้เฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งกล้องวิดีโอ และรถถ่ายทอดเคลื่อนที่ผ่านระบบดาวเทียม (Digital Satellite News Gathering ชื่อย่อ: D-SNG) มาใช้กับการถ่ายทอดสดและรายงานข่าว เป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นสถานีแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการผลิตและควบคุมการออกอากาศ ด้วยระบบดิจิตอล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 และยังเริ่มต้นออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงเป็นสถานีแรกของไทย

ต่อมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 ททบ.5 ดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในระบบดิจิตอลไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก ตามโครงการ โดยปัจจุบันสามารถรับชมในกว่า 170 ประเทศ และในวาระครบรอบ 40 ปี ททบ. ปีเดียวกันนั้นเอง การก่อสร้างอาคารที่ทำการ และอาคารหลักของสถานีโทรทัศน์ ซึ่งรวมส่วนบริหาร ส่วนปฏิบัติการ และส่วนสนับสนุนไว้ในอาคารเดียวกัน รวมทั้งห้องส่งโทรทัศน์ที่ทันสมัยจำนวน 4 ห้อง ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์

นำคุณค่าสู่สังคมไทย (พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2560)

ททบ.ได้ปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนชื่ออัตราโครงสร้าง ททบ. จากเดิม อฉก.ททบ. พ.ศ. 2549 โดยมีการจัดจำนวน 12 หน่วยงาน (1 ส่วนบริหาร 11 นขต.ททบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นอัตราโครงสร้าง ททบ. พ.ศ. 2550 โดยมีการจัดจำนวน 15 หน่วยงาน (1 ส่วนบริหาร 14 นขต.ททบ.) ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ในเวลาต่อมา อัตราโครงสร้าง ททบ. พ.ศ. 2550 ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยปรับเพิ่ม นขต.ททบ. จากเดิม 15 หน่วยงานเป็น 16 หน่วยงาน (1 ส่วนบริหาร 15 นขต.ททบ.) และย้าย วส.ททบ. จากเดิมอยู่ส่วนปฏิบัติการไปอยู่ส่วนเทคนิค รวมทั้งปรับเพิ่มศูนย์ข่าวภูมิภาค จว.นม. และศูนย์ข่าวภูมิภาค จว.พล.

ในปี พ.ศ. 2550 ททบ. เริ่มดำเนินงานก่อสร้าง อาคารสำนักงานเพิ่มเติม และอาคารจอดรถ กำหนดแล้วเสร็จในวาระครบรอบ 50 ปีของ ททบ.5 คือ พ.ศ. 2551 โดยในปีดังกล่าว ททบ.จัดซื้อระบบออกอากาศภายในห้องส่งใหม่ ประกอบด้วยโรงถ่ายเสมือนจริง (Virtual Studio) และกำแพงวีดิทัศน์ (Video Wall) พร้อมทั้งใช้สีแดง ประกอบการนำเสนอข่าวของสถานีฯ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2552) ททบ.5 เปลี่ยนไปใช้สีเขียว เป็นหลักในการนำเสนอข่าว โดยให้มีนัยสื่อถึงกองทัพบก ล่าสุด ททบ.ดำเนินงานก่อสร้าง อาคารชุดอเนกประสงค์แห่งใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ยุคทีวีดิจิทัล

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกันทดลองออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยมอบหมายให้ ททบ.5 เป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่เวลา 13:00 น. ของวันศุกร์ที่ 25 มกราคม จนถึงเวลา 12:59 น. ของวันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในย่านความถี่ยูเอชเอฟ ช่องสัญญาณที่ 36 ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ช่องรายการคือ 6 ช่องทวนสัญญาณจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial) ด้วยความละเอียดมาตรฐานตามปกติ ซึ่งประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำหรับอีก 2 ช่องรายการ จะทดลองออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง กล่าวคือ ช่องหนึ่งจะกระจายเสียงและแพร่ภาพ รายการโทรทัศน์ความละเอียดสูงซึ่งผลิตโดย ททบ. ส่วนอีกช่องหนึ่งจะทวนสัญญาณ จากช่องรายการของไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศในระบบความละเอียดสูงผ่านดาวเทียมอยู่แต่เดิม โดยมีรัศมีรอบเสาส่งสัญญาณบนยอดอาคารใบหยก 2 เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[1]

ต่อมา กสทช.อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงแก่ ททบ.5 โดยเริ่มนำสัญญาณภาพและเสียงออกอากาศทางช่องหมายเลข 1 คู่ขนานไปกับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกทางช่อง 5 เดิม พร้อมกับผู้ประกอบการส่วนมากในประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ต่อมา ททบ.5 ตั้งชื่อช่องรายการที่ออกอากาศในระบบดิจิทัลว่า ทีวี 5 เอชดี 1 (TV5 HD1) (วิธีอ่าน อ่านว่า ทีวีไฟว์ เอชดีวัน) พร้อมกับการปรับเปลี่ยนการปรากฏตราสัญลักษณ์ของสถานีแต่เพียงเล็กน้อย ด้วยการเพิ่มตัวอักษรคำว่า HD1 สีเทาเงิน ประดับติดกับสัญลักษณ์ไว้ทางด้านขวาตรงกลาง โดยเพื่อใช้สำหรับการปรากฏตราสถานีฯ ไว้อยู่ที่มุมขวาของหน้าจอโทรทัศน์ เมื่อขณะที่กำลังออกอากาศรายการต่าง ๆ อยู่ ทั้งระบบแอนะล็อกและดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งใช้มาจนกระทั่งพฤษภาคม พ.ศ. 2561 จึงได้ปรับอัตลักษณ์บนหน้าจอใหม่ให้ใหญ่และโดดเด่นขึ้น

ในภายหลัง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปรับเงื่อนไขให้ ททบ. สามารถโฆษณาและบริการธุรกิจได้เฉลี่ย 8-10 นาที เทียบเท่ากับผู้ประกอบการประเภทบริการทางธุรกิจ ที่สามารถสามารถโฆษณาและบริการธุรกิจได้ 12.30 นาที [2]

ททบ. 5 ได้ยื่นขอเปลี่ยนหมายเลขช่อง จากช่องหมายเลข 1 เป็นช่องหมายเลข “5” ต่อที่ประชุมของ กสทช. โดยให้เหตุผลว่า เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการเข้าถึงของผู้ชม และคงอัตลักษณ์ของสถานี ซึ่งทางคณะกรรมการได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564[3] ทำให้วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ททบ. 5 ได้ทำการย้ายช่องทางออกอากาศ ในทุกช่องทางการรับชมทั้งหมด ภายใต้ชื่อ ททบ.5 เอชดี (TV5 HD)[4]

การยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ทำการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก โดย ททบ.ยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกครั้งแรกในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในสถานีส่งอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และในปี พ.ศ. 2560 ยุติการออกอากาศ 2 ระยะ โดยระยะแรก ในวันที่ 1 มกราคม ที่สถานีส่งเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และสถานีส่งจังหวัดร้อยเอ็ด และวันที่ 31 ธันวาคม ที่สถานีส่งจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และสถานีส่งอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี [5]

ในปี พ.ศ. 2561 ททบ. ได้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกจากสถานีกรุงเทพมหานครและ 33 สถานีที่เหลือ โดยเดิมจะยุติในวันที่ 16 มิถุนายน[5] แต่เนื่องจากเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ซึ่งประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง ททบ.ร่วมถ่ายทอดสดด้วย แผนการดังกล่าวจึงต้องเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว[6] แต่ ททบ. ได้ทำการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 9.29 น.[7]

ระยะเวลาการออกอากาศ

ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมา ททบ.5 ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เป็นประจำทุกวัน นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในไทย ที่เริ่มใช้แนวทางนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ททบ. ได้ลดเวลาการออกอากาศลง โดยมีระยะเวลา ดังนี้

  • 2 มกราคม - 2 เมษายน และ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน ได้ลดเวลาออกอากาศเหลือ 20 ชั่วโมง โดยจะทำการยุติออกอากาศตั้งแต่เวลา 01.00 - 05.00 น. เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง
  • 3 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ได้ลดเวลาออกอากาศเหลือ 22 ชั่วโมงครึ่ง โดยจะทำการยุติออกอากาศตั้งแต่เวลา 01.00 - 03.30 น. เป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง (โดยช่วงเวลาตั้งแต่ 03:30-05:00 น. จะนำเสนอรายการพิเศษเพื่อชาวมุสลิมในช่วงเดือนเราะมะฎอน)

สัญลักษณ์

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกจะใช้แบบที่หลากหลายมาก ต่างจากสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ ในช่วงแรก ใช้ตราราชการของกรมการทหารสื่อสารคือตรากงจักร มีสายฟ้าไขว้กันภายในกงจักร โดยมีตัวอักษร HSTV อยู่ที่ด้านซ้ายและขวาของตรา หลังจากเปลี่ยนระบบส่งออกอากาศเป็นโทรทัศน์สีทางช่อง 5 จึงได้สัญลักษณ์เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์สีดำ ภายในเป็นพื้นสีขาว มีตัวอักษรย่อ ท (สีแดง) ท (สีเขียว) บ (สีน้ำเงิน) เรียงอยู่ตอนบน และตัวเลขอารบิก 5 สีเทาตัวใหญ่ อยู่ใต้ตัวอักษรทั้งสาม (โดยเฉพาะภาพราตรีสวัสดิ์ที่ใช้เมื่อปี 2517 - 2531) โลโก้จะเปลี่ยนเป็นกรอบวงกลมสีดำ ภายในแบ่งเป็นแถบสามสี คือ แดง เขียว น้ำเงิน และเลขอารบิก 5 สีดำ อยู่ตรงกลางทั้งสามสี ภายใต้กราฟิกแสงสามเหลี่ยม ด้านบนเขียนว่า "ราตรีสวัสดิ์" ด้านล่างเขียนชื่อสถานี ไม่มีคำว่า ท ท บ และในช่วงที่มีภาพพักรายการบางภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 - 2530 ททบ. ได้ปรับพื้นหลังเป็นสีขาว ตัวอักษร ท ท บ กลับเป็นสามแม่สีแสง คือ แดง (ท) เขียว (ท) น้ำเงิน (บ) และเลขอารบิก 5 จะเป็นสีดำ และไม่มีแถบสีเหมือนตราสัญลักษณ์ทั่วไป ปรากฏในภาพพักรายการทุกภาพ ต่อมาเปลี่ยนเป็นแบบปัจจุบันคือ รูปกรอบจอโทรทัศน์สีดำและสีขาว ภายในแบ่งเป็นแถบสีสามแถบในแนวดิ่ง มีสามแม่สีแสงคือ แดง เขียว และน้ำเงิน โดยมีตัวอักษรย่อ ท ท บ สีขาวอยู่ในแถบสี ตามลำดับจากซ้ายไปขวา เรียงอยู่ตอนบน และตัวเลขอารบิก 5 สีขาวตัวใหญ่ อยู่ใต้ตัวอักษรทั้งสาม (โดยเฉพาะภาพราตรีสวัสดิ์ที่ใช้ในปี 2531 - 2540) โลโก้จะปรับเป็นสีทองสามมิติ ภายใต้พื้นหลังสีดำมีแสงดาวหาง (บางกรณีไม่มีเส้นคั่นแถบแม่สีแสงในกรณีอัตลักษณ์โปร่งแสง เช่น ก่อนการปิดสถานี หรือไม่มีกรอบจอโทรทัศน์ล้อมรอบ เช่น ในไตเติลรายการบางรายการ เช่น มวยไทยสะท้านโลก ฯลฯ) ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2548-2550 ททบ. ได้พัฒนาการแสดงสัญลักษณ์บนหน้าจอโดยเพิ่มสีปุ่มไฟบนตำแหน่งบนสุดของอัตลักษณ์บนหน้าจอตามสีสัญญาณไฟจราจรเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยแสดงเฉพาะรายการปกติและรายการข่าวภาคหลัก ยกเว้นรายการสดและรายการถ่ายทอดสดต่างๆ ทั้งนี้ ททบ. เคยมีการแสดงอัตลักษณ์พิเศษต่างๆบนหน้าจอควบคู่ไปกับสัญลักษณ์บนหน้าจอของ ททบ. ตามปกติ เช่น โครงการ ททบ. เทิดไท้มหาราชา ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ททบ. นำตราสัญลักษณ์ของโครงการไว้บนมุมจอบนขวา ส่วนสัญลักษณ์บนหน้าจอของ ททบ. ย้ายไปไว้ที่มุมจอบนซ้าย และตัดโดเมนเนมเว็บไซต์ของ ททบ. ออก [8] (ทั้งนี้ รายการสดยังคงแสดงคำว่า "สด" ใต้สัญลักษณ์เช่นเดิม") และในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ททบ. นำตราสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้ง มาแสดงที่มุมจอบนขวาในตำแหน่งหลังสัญลักษณ์บนหน้าจอของ ททบ. ตามปกติจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 จึงได้ปรับอัตลักษณ์บนหน้าจอใหม่ให้ใหญ่และโดดเด่นขึ้น

รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง

  • การบินไทยไขจักรวาล (2518 - 2548) รายการตอบปัญหาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งมีการบินไทยเป็นผู้สนับสนุน ออกอากาศทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 17.00 น. (ภายหลังออกอากาศทุกวันศุกร์ สัปดาห์และเวลาออกอากาศเดียวกัน) ถ่ายทอดสดจากห้องส่งของสถานีฯ ดำเนินรายการโดย พลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์ (2518 - 2521) และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (2521 - 2548)
  • เกมจารชน (16 มี.ค. 2541 - 28 มี.ค. 2548) เกมโชว์แนวสายลับรายการแรก และได้รับรางวัลเอเชียนเทเลวิชั่นอวอร์ด ปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) สาขาเกมโชว์ยอดเยี่ยม เป็นรายการแรกของไทย ดำเนินรายการโดย ศัลย์ อิทธิสุขนันท์, มยุรา เศวตศิลา, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค (2541 - 2543), โหน่ง ชะชะช่า (2543 - 2548)
  • ครอบจักรวาล รายการสารคดีปกิณกะ ว่าด้วยการท่องเที่ยวและแนะนำอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ ผลิตโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัดถนัดศรี ดำเนินรายการโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
  • คอนเสิร์ต คอนเทสต์ (2529 - 2531) รายการประกวดร้องเพลงและการแสดงจากศิลปินต้นแบบ เพื่อชิงแชมป์ออฟเดอะแชมป์ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 - 14.00 น.
  • คู่สร้างคู่สม (2519 - 2533 , 2539 - 2541) รายการทอล์คโชว์เรื่องราวของสามีภรรยาที่มีชีวิตรักอันหลากหลาย ยุคแรก ดำเนินรายการโดย ดำรง พุฒตาล และยุคหลังดำเนินรายการโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ ญาณี จงวิสุทธิ์ ออกอากาศวันอาทิตย์เวลา 23.25 น. ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
  • เจาะใจ (3 มกราคม พ.ศ. 2534 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2558) รายการทอล์คโชว์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบัน โดยไม่ย้ายวันออกอากาศ ปัจจุบันออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 22.35-23.40 น. ยุคแรกที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ดำเนินรายการโดย ดำรง พุฒตาล และ สัญญา คุณากร
  • ซีอุย (2527) ละครสำหรับผู้ใหญ่เรื่องแรกๆ ผลิตโดยกันตนา ออกอากาศทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลา 15.30 น.
  • ตามล่าหาความจริง (2537 - 2547) รายการสารคดีเชิงข่าวรายการแรกๆ ของแปซิฟิกฯ ดำเนินรายการโดย ประไพพัตร โขมพัตร ออกอากาศวันอาทิตย์เวลา 22.00 น. ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ย้ายไปออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 18.00 น. จนยุติการออกอากาศ
  • ที่นี่..ประเทศไทย (2 ต.ค. 2545 - 30 ธ.ค. 2547) รายการวาไรตี้ เนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยในเรื่องต่างๆ ของ บมจ.มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ยุคบริหารโดย โฆสิต สุวินิจจิต และยุวดี บุญครอง ดำเนินรายการโดย ศศิธร รามโกมุท วัฒนกุล และ ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 21.15-22.00 น.
  • บ้านเลขที่ 5 (2535 - 2549) รายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในระยะ 10 ปีแรก ออกอากาศทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 07.30 น. โดยราวหนึ่งปีก่อนหน้านั้น แปซิฟิกฯ ผู้เช่าเวลา ทำการถ่ายทอดข่าวจากซีเอ็นเอ็น และต่อมาหลังจากนั้น เปลี่ยนชื่อเป็น "สยามทูเดย์" และย้ายเวลาไปเป็นช่วงเย็น ปัจจุบันยุติรายการแล้ว
  • แบบว่าโลกเบี้ยว (2530 - 2546) รายการมิวสิกวิดีโอสลับการแสดงตลก โดยภิญโญ รู้ธรรมและคณะ ผลิตโดย แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (ต่อมาโอนให้บริษัทลูก ทีนทอล์ค) ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 12.30 น. ก่อนจะย้ายเป็นทุกวันพุธ เวลาบ่าย
  • ป๊อบท็อป รายการวาไรตี้เกมโชว์รายการแรกของสถานี ดำเนินรายการโดย พันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง
  • แผ่นดินธรรม (2530 - ปัจจุบัน) - รายการสารคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และชีวประวัติของพระองค์ บรรยายโดย อำรุง เกาไศยนันท์ จัดทำโดย มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 14:00 - 14:30 น. ย้ายไปออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 06:30 - 07:00 น. ย้ายมาออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 06:30 - 07:00 น. ปัจจุบัน ออกอากาศ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 05:25 - 05:50 น. และมีเผยแพร่ไปตามสถานีเครือข่ายไปทั่วโลกประมาณ 154 ประเทศ
  • พลิกล็อก (2525 - 2532) เกมโชว์ในยุคแรกของเจเอสแอลที่มีชื่อเสียง ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 น. ต่อมาเจเอสแอลนำชื่อรายการและรูปแบบเกมกลับมาผลิตใหม่ ระหว่างปี 2539 - 2541
  • พิภพมัจจุราช (2511) ภาพยนตร์โทรทัศน์ของรัชฟิล์มทีวี ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
  • ไฟว์ไลฟ์ (5 ต.ค. 2545 - 31 ธ.ค. 2556) รายการเพลงสำหรับวัยรุ่นนอนดึก ออกอากาศทุกวันจันทร์-เสาร์ , ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 00.30-01.30 น. (ปัจจุบันย้ายไปที่ช่อง แบงแชนแนล)
  • แฟนพันธุ์แท้ (1 ก.ย. 2543 - 17 เม.ย. 2552 และ 3 ก.พ. 2555 - 26 ธ.ค. 2557) รายการควิซโชว์ท้าทายความรู้ ความสามารถ ไหวพริบ และปฏิภาณ ในเรื่องราวที่ผู้แข่งขันชื่นชอบ เพื่อพิสูจน์ความเป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวจริง ยุคแรกดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล ต่อมาเปลี่ยนเป็น แทนคุณ จิตต์อิสระ และ เอก ฮิมสกุล) และ ปัจจุบัน กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ ดำเนินรายการ ซึ่งล่าสุดรายการนี้หลุดผังรายการของทางสถานีนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 และได้ย้ายไปอยู่ที่ช่อง เวิร์คพอยท์ทีวี เริ่มเดือนเมษายน 2558 เป็นต้นไป
  • มาตามนัด (5 มิ.ย. 2527 - 14 ส.ค. 2538) เกมโชว์ที่ออกอากาศช่วงหลังข่าวภาคค่ำเป็นรายการแรกของสถานีฯ และมีการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ผลิตโดยรัชฟิล์มทีวี ยุคที่สองซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุด ดำเนินรายการโดย เศรษฐา ศิระฉายา และญาณี จงวิสุทธิ์ พ.ศ. 2555 กลับมาออกอากาศใหม่ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
  • ยุทธการขยับเหงือก (8 ม.ค. 2532 - ปลายปี 2540) รายการตลกปัญญาชนของเจเอสแอล โดยกำหนดให้พิธีกรรายการทุกคน มีคำนำหน้าชื่อเล่นว่า "เสนา"
  • รวมดาวสาวสยาม (2522 - 2540) รายการปกิณกะเพลงลูกทุ่งรายการแรกที่พลิกโฉมวงการโทรทัศน์ จัดโดย วิญญู จันทร์เจ้า ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 13.30-15.00 น. ก่อนจะย้ายเป็นวันจันทร์เว้นจันทร์ เวลาเย็น
  • โลกดนตรี (2514 - 2539) คอนเสิร์ตทางโทรทัศน์ที่ออกอากาศมานาน ถ่ายทอดสดทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00 น. ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
  • สงครามชีวิตโอชิน (2527 - 2528) ภาพยนตร์โทรทัศน์ยอดนิยม ที่ผลิตโดยเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ซึ่งรัชฟิล์มทีวีนำมาเสนอฉายเป็นครั้งแรก และต่อมา ไทยทีวีสีช่อง 3 นำมาออกอากาศอีกครั้งในปี พ.ศ. 2553
  • สโมสรผึ้งน้อย (2521 - 2537) รายการสำหรับเด็กรายการแรก ดำเนินรายการโดย พัทจารี อัยศิริ ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 16.30 น. มีสมาชิกที่อยู่วงการบันเทิงอย่างยาวนานคือ จอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค และวงดนตรี XYZ
  • หุ่นไล่กา (พ.ศ. 2512) ภาพยนตร์โทรทัศน์ของรัชฟิล์มทีวี ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
  • ระเบิดเถิดเทิง (7 ม.ค. 2539 - 28 ธ.ค. 2557) ซิทคอมเกมโชว์ที่อายุยาวนานที่สุด ออกอากาศครั้งแรกในวันอาทิตย์ เวลา 16.00 - 17.00 น. , 14.00 - 15.25 น. และเวลา 12.35 - 13.55 น. ต่อมาได้ย้ายรายการนี้ไปอยู่ที่ช่องเวิร์คพอยท์ ตั้งแต่ 4 ม.ค. 2558
  • รักในรอยแค้น (3 ม.ค. - 25 เม.ย. 2535) ละครโทรทัศน์เรื่องแรกของเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ นำแสดงโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง และนุสบา วานิชอังกูร โดยในปี พ.ศ. 2545 เอ็กแซ็กท์นำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของละครเรื่องนี้ นำแสดงโดย ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และ เอวิตรา ศิระสาตร์
  • โรงเรียนของหนู (2534 - 2546) เป็นรายการซึ่งนำเสนอเรื่องราว ของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้ข้างมากได้ช่วยเหลือเพื่อเป็นทุนการศึกษา ออกอากาศทุกเย็นวันพฤหัสบดี ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางเนชั่นทีวี จนถึงปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
  • ไอคิว 180 (2528 - 2541) รายการตอบปัญหาเยาวชน โดยสุ่มตัวเลขมาเป็นโจทย์ให้นักเรียนคำนวณให้ได้ผลลัพธ์ที่กำหนด โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือซีเมนต์ไทย ดำเนินรายการโดย ดร.ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 18.30-19.00 น. ต่อมาเปลี่ยนเป็นช่วงเย็นวันธรรมดา และย้ายไปออกอากาศทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541
  • ชิงร้อยชิงล้าน (7 ต.ค. 2541 - 28 ธ.ค. 2548) เกมโชว์ยอดนิยมของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยชิงร้อยชิงล้านที่ออกอากาศในยุคช่อง 5 นี้ คือยุคชะช่ะช่า ดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล , มยุรา เศวตศิลา และแก๊งสามช่า ซึ่งประกอบไปด้วย หม่ำ จ๊กมก , เท่ง เถิดเทิง , โหน่ง ชะชะช่า และส้มเช้ง สามช่า ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 22.00 - 00.00 น. (ย้ายไปออกอากาศทางช่อง 7 ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2549)

ผู้ประกาศข่าวและพิธีกร

ผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

  • ถนอม อ่อนเกตุพล
  • ชลรัศมี งาทวีสุข (ทิพย์)
  • สุชาทิพ จิรายุนนท์ (พลอย)
  • ชัยยุทธ กิติชัยวัฒน์ (โจอี้)
  • ชนัตพล สังสิทธิเสถียร (แจ็ค ไรเดอร์)
  • ภาณุพงศ์ กรรณาธิกรณ์ (เป๋)
  • ธนัญญา พิพิธวณิชการ (แตงกวา)
  • ศลิลนา ภู่เอี่ยม (เอ)
  • ยงยุทธ มัยลาภ
  • ชาญชัย กายสิทธิ์ (โก้)
  • วชิราภรณ์ เถาวทิพย์ (ฟ้า)
  • ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล (โน้ต)
  • โชติรส สมบุญ (กิ๊ฟ)
  • นภาพร ช่างกล (ผึ้ง)
  • กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล (แป้ง)
  • อัษฎาพร เขียวอ่อน (ฝ้าย)
  • อภิญญา ขาวสบาย (กุ๊ก)
  • ปาจรีย์ สวนศิลปพงศ์ (ลูกน้ำ)
  • ปาริชาติ ไวกวี กมลอาสน์
  • ปริยา เนตรวิเชียร (ปราง)
  • ปวีณา ศรีบัวชุม (หญิง)
  • อรอุมา เกษตรพืชผล (ปุ๊ก)
  • ธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ (แซ็ก)
  • วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส (ปอ)
  • กิติพันธุ์ นุตยกุล (จ้อ)
  • ณิศารัช อมะรักษ์ (ส้ม)
  • พิจิกา อุราวรรณ (เอมม่า)

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในอดีต

รายการข่าวของสถานีฯ

รายการข่าว ผู้ประกาศข่าว
ข่าวเด่นเช้านี้
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 05:30 - 06:30 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 08:00 - 09:00 น.
ภาณุพงศ์ กรรณาธิกรณ์ (วันจันทร์ - วันศุกร์)
วชิราภรณ์ เถาวทิพย์ (วันจันทร์ - วันศุกร์)
ณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล (วันจันทร์ - วันศุกร์)
นภาพร ช่างกล (วันเสาร์)
อัษฎาพร เขียวอ่อน (วันอาทิตย์)
โชติรส สมบุญ (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)
เช้านี้ประเทศไทย
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 07:00 - 08:00 น.
ชลรัศมี งาทวีสุข
สุชาทิพ จิรายุนนท์
ชัยยุทธ กิติชัยวัฒน์
ชนัตพล สังสิทธิเสถียร
อภิญญา ขาวสบาย
Talk Together
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 08:00 - 09:00 น.
ณิศารัช อมะรักษ์
พิจิกา อุราวรรณ
แก้เกมเศรษฐกิจ
วันพุธ - วันศุกร์
เวลา 09.00 - 09.30 น.
วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย (อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)
ฟังชัดๆ ถนอมจัดให้
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 10:40 - 12:00 น.
ถนอม อ่อนเกตุพล
เที่ยงวันทันข่าว
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 12:30 - 13:30 น.
ภาณุพงศ์ กรรณาธิกรณ์
ธนัญญา พิพิธวณิชการ
สนามเป้า บรรเทาทุกข์
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 13:30 - 14:30 น.
อรอุมา เกษตรพืชผล
ข่าวเด่นทันสถานการณ์
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 18:00 - 19:00 น.
วันเสาร์
เวลา 18:00 - 20:00 น.
ชาญชัย กายสิทธิ์ (วันจันทร์ - วันศุกร์)
ธนัญญา พิพิธวณิชการ (วันจันทร์ - วันเสาร์)
ยงยุทธ มัยลาภ (วันเสาร์)
ปริยา เนตรวิเชียร (วันเสาร์)
โชติรส สมบุญ (วันเสาร์)
กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล (วันเสาร์)
360 องศา Go Green
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 19:00 - 19:30 น.
ธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ (วันจันทร์ - วันพฤหัสบดี)
กิติพันธุ์ นุตยกุล (วันศุกร์)
We ' re Solders
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 19:30 - 20:00 น.
ปวีณา ศรีบัวชุม
โชติรส สมบุญ
กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล
ข่าวในพระราชสำนัก
วันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา 20:00 - 20:30 น.
อัษฎาพร เขียวอ่อน
ปาจรีย์ สวนศิลปพงศ์
ปาริชาติ ไวกวี กมลอาสน์
วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส
แต้มต่อ
วันอังคาร
เวลา 20:30 - 21:30 น.
ปาจรีย์ สวนศิลปพงศ์
ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒน์ชัย
วิชัย สังข์ประไพ
ประเด็นเด่นสุดสัปดาห์
วันเสาร์-วันอาทิตย์
เวลา 22:00 - 22:30 น.
ธนัญญา พิพิธวณิชการ

อ้างอิง

  1. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ[ลิงก์เสีย]
  2. สื่อไทยยุค 4.0 (2) : ขุมทรัพย์สื่อในมือกองทัพ, บีบีซีไทย
  3. "ททบ.5 เปลี่ยนหมายเลขช่องเป็น "เลข 5" ดีเดย์ 25 พ.ย.นี้". mgronline.com. 2021-10-25.
  4. ททบ.5 ดีเดย์เปลี่ยนหมายเลขช่องเป็น “เลข 5”
  5. 5.0 5.1 สถานะและแผนการยุติการให้บริการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561)
  6. อัปเดต: ThaiPBS, ช่อง 7, ช่อง 5 ยุติทีวีอนาล็อกเมื่อไหร่กันแน่? เก็บถาวร 2018-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,ยามเฝ้าจอ.
  7. เช้าวันนี้ (21 มิถุนายน 2561) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ยุติแอนะล็อกทีวี ณ กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง เมื่อเวลา 9.29 น. ซึ่งถือเป็นสถานีเครื่องส่งแอนะล็อกทีวีสถานีสุดท้ายของ ททบ.5,สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.
  8. คดียุบพรรค

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น