โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
Watsuthiwararam School
โรงเรียนวัดสุทธิวราราม 1.jpg
ที่ตั้ง
Map
พิกัด13°42′45″N 100°30′44″E / 13.712399°N 100.512191°E / 13.712399; 100.512191พิกัดภูมิศาสตร์: 13°42′45″N 100°30′44″E / 13.712399°N 100.512191°E / 13.712399; 100.512191
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ธ. (ST)
ประเภทรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญบาลี: วิชฺชา วรํ ธนํ โหติ
(วิชาเป็นทรัพย์อันประเสริฐ)
สถาปนา3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454[1] (111 ปี 267 วัน)
ผู้ก่อตั้งบุตร-ธิดาท่านปั้น อุปการโกษากร โดยมีพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) เป็นหัวหน้า
โรงเรียนพี่น้องโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
เขตการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 สหวิทยาเขตราชนครินทร์
รหัส1000102801
10012030 (Smis)
720115 (Obec)[1]
ผู้อำนวยการดร.อัฏฐผล ถิรพรพงษ์ศิร์
ครู/อาจารย์156[2]
จำนวนนักเรียน3,216[1]
ภาษาไทย, อังกฤษ, จีนกลาง, ฝรั่งเศส
สีชมพู ขาว เขียว
██████ ███
เพลงมาร์ชสุทธิวราราม, รวมใจชาวสุทธิฯ, รอบรั้วของเรา, อาลัยลา, อาลัยพี่, ชื่นชุมนุมสุทธิฯ
สัญลักษณ์ดอกบัวและเพชร
ฉายาทีมกีฬาสิงห์สะพานปลา
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์www.suthi.ac.th[3]

โรงเรียนวัดสุทธิวราราม (อังกฤษ: Wat Suthiwararam School) (อักษรย่อ: ส.ธ., ST) เป็นโรงเรียนแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ราษฎรสร้างขึ้นแล้วยกให้กระทรวงธรรมการ มีพระราชหัตถเลขาชมเชยให้การสร้างโรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเป็นโรงเรียนแรกในรัชกาล[4][5] เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยใช้ชื่อพระราชทานจากพระองค์[6] ว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม

ปัจจุบันโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีอายุ 111 ปี เปิดทำการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 เป็นโรงเรียนชายและเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ดำเนินนโยบายแผนปฏิบัติการประจำปีสอดคล้องกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ดำเนินนโยบายแผนปฏิบัติการประจำปีสอดคล้องกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร มีอาคารเรียนทั้งหมด 6 หลัง ห้องเรียน 72 ห้อง แบ่งตามแผนการจัดชั้นเรียนดังนี้

ประวัติ[แก้]

โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถูกสถาปนาขึ้นบนธรณีสงฆ์ของบริเวณที่เดิมเรียกว่าวัดลาว ในเขตชมชุนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันในสมัยรัชกาลที่ 3 (กบฏเจ้าอนุวงศ์) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากย่านบางไส้ไก่ เนื่องจากเดิมวัดลาวนี้เป็นวัดร้าง ในพ.ศ. 2424 ท่านผู้หญิงสุทธิ์ มารดาของท่านปั้น ภรรยาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 6 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดลาวขึ้นใหม่และหลังจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามของท่านผู้หญิงสุทธิ์

ภายหลังวัดนี้ทรุดโทรมลง ท่านปั้นมีกตัญญูระลึกถึงคุณบิดามารดา และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นบริบูรณ์ในพ.ศ. 2442 และได้เป็นผู้อุปถัมภ์วัดสุทธิวราราม โดยท่านได้รับการแต่งตั้งพระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายกเป็นมรรคนายิกาวัดสุทธิวราราม ต่อมาเมื่อท่านปั้น อุปการโกษากร ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย[7] พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) บุตรชายดำรงตำแหน่งมรรคนายกวัดสุทธิวรารามต่อจากมารดา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2451[8]

พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ ได้เป็นผู้นำในการปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ซึ่งได้ให้ความร่วมมือในการออกแบบก่อสร้างอาคารตามแบบที่เหมาะสม และได้เป็นผู้อุปการะโรงเรียนต่อมาอีกด้วย[9] โรงเรียนดังกล่าวซึ่งกรมศึกษาธิการรับไว้เรียกชื่อว่า "'โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม"' เริ่มเปิดทำการสอนในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 เป็นวันแรก และมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2454[10] ดังนี้

ด้วยตึกที่สร้างขึ้นที่วัดสุทธิวราราม ตำบลบ้านทวาย ถนนเจริญกรุง สำหรับบำเพญกุศลในการศพท่านปั้น มรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามนั้น เมื่อเสร็จการฌาปนกิจแล้ว ผู้ออกทุนทรัพย์ก่อสร้างตึกหลังนี้ขอมอบให้กรมศึกษาธิการจัดเปนสถานศึกษาต่อไป กรมศึกษาธิการได้รับไว้แลจะเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยมพิเศษ ตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๓๐ ชื่อว่า "โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม" จัดการสอนตั้งแต่ชั้นมูลประถมพิเศษตลอดจนมัธยมพิเศษ แจ้งความมา ณ วันที่ ๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๓๐

พิธีเปิดโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิด หลวงวิจิตรวรสาสน์ อาจารย์ใหญ่ ถวายรายงาน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ชักเชือกเปิดผ้าคลุมป้ายนามโรงเรียน[11] เริ่มทำการเรียนการสอนในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทำหนังสือรายงานเรื่องดังกล่าวไปถวาย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี ราชเลขานุการ ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2454[12] ในจดหมายนั้นมีใจความสำคัญตอนท้ายว่า

โรงเรียนนี้กรมศึกษาธิการได้รับไว้ และเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยมเรียกว่าโรงเรียนพิเศษสุทธิวราราม รับนักเรียนเข้าเล่าเรียนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม ร.ศ.130 เป็นต้นไป บรรดาผู้ที่ออกทรัพย์ก่อสร้างโรงเรียนของพระราชทานถวายพระราชกุศล ถ้ามีโอกาสอันควรขอฝ่าพระบาทได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความกราบบังคมทูลแล้ว จึงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับมายังราชเลขานุการในวันเดียวกัน พระราชกระแสในพระราชหัตถเลขา[13]มีความว่า

อนุโมทนา และมีความมั่นใจอยู่ว่า การที่บุตรของปั้นได้พร้อมใจกันบำเพ็ญกุศลเช่นนี้ คงจะมีผลานิสงษ์ดียิ่งกว่าที่สร้างวัดขึ้นได้สำหรับให้เปนที่อาไศยแอบแฝงแห่งเหล่าอลัชชี ซึ่งเอาผ้ากาสาวพัตร์ปกปิดกายไว้เพื่อให้พ้นความอดเท่านั้น มิได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทั้งพุทธจักรและอาณาจักรเลย การสร้างโรงเรียนขึ้นให้เป็นที่ศึกษาแห่งคนไทยเช่นนี้ เชื่อว่ามีผลดีทั้งในฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร เพราะฉะนั้นจึ่งควรสรรเสริญและอนุโมทนามาในส่วนกุศล


อนึ่งถ้ามีโอกาสขอให้พระยาวิสุทธช่วยชี้แจงต่อๆไปว่า ถ้าผู้ใดมีน้ำใจศรัทธาและมีความประสงค์ขะทำบุญให้ได้ผลานิสงษ์อันงามจริง ทั้งเปนที่พอพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดินด้วยแล้ว ก็ขอให้สร้างโรงเรียนขึ้นเถิด การที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ถ้าแม้ว่ามีความประสงค์จะทำการอันใดซึ่งเป็นทางสร้างวัด ขอชักชวนให้ช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดที่มีอยู่แล้วให้ดีงามต่อไป ดีกว่าที่สร้างวัดขึ้นใหม่แล้วไม่รักษา ทิ้งให้โทรมเป็นพงรกร้าง ฤๅร้ายกว่านั้นคือกลายเปนที่ซ่องโจรผู้ปล้นพระสาสนาดังมีตัวอย่างอยู่แล้วหลายแห่ง ผู้ที่สร้างวัดไว้ให้เปนซ่องคนขะโมยเพศเช่นนี้ เราเชื่อแน่ว่าไม่ได้รับส่วนกุศลอันใดเลย น่าจะตกนรกเสียอีก ข้อนี้ผู้ที่สร้างวัดจะไม่ใคร่ได้คิดไปให้ตลอด จึงควรอธิบายให้เข้าใจเสียบ้าง

เมื่อพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้รับพระราชหัตถเลขาตอบกลับมาจากราชเลขานุการและถวายร่างประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพ็ญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จากจดหมายราชการกระทรวงธรรมการเลขที่ 283/3530 โดยมีพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอบกลับมาว่า “ดีแล้ว ออกได้” จึงได้ประสานและนำเรื่องแจ้งความต่อหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2454[14]

จากหลักฐานที่พบจึงสามารถระบุได้ว่า "โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามเป็นโรงเรียนแห่งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ราษฎรสร้างขึ้นแล้วยกให้กระทรวงธรรมการใช้เป็นโรงเรียน ซึ่งต้องด้วยพระราชนิยมในการสร้างโรงเรียนแทนวัด"

ในปีวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เสด็จมาตรวจโรงเรียน มีหลวงอนุพันธ์ฯ เจ้าพนักงานจัดการแขวงตะวันออกใต้เป็นผู้นำเสด็จ

เมื่อ พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี ทางรัฐบาลจึงส่งทหารเข้ายึดพื้นที่ที่ดินของบริษัทวินด์เซอร์โรซซึ่งชาวเยอรมันเช่าที่วัดสุทธิวรารามอยู่ โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามจึงได้ขยายพื้นที่โรงเรียนออกไป โดย ขุนสุทธิดรุณเวทย์ (ชื่น วิเศษสมิต) ครูผู้ปกครอง ได้ขอที่ดินดังกล่าวจากเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เพื่อสร้างโรงเรียนชั้นประถม จึงรื้อโรงเรียนประถมวัดยานนาวาปลูกสร้างต่อจากโรงเรียนเดิมไปทางตะวันตก เป็นแผนกประถมของโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม เมื่อแล้วเสร็จ กระทรวงธรรมการเห็นควรให้เปิดโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแผนก จึงได้เปิดเป็น โรงเรียนสตรีวัดสุทธิวราราม อยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม มีรั้วกั้นอาณาเขตแต่มีประตูเดิมเชื่อมถึงกันได้ โดยนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดสุทธิวรารามเดินเข้าออกโรงเรียนทางถนนเข้าสะพานปลา

ในสมัยที่ขุนชำนิขบวนสาสน์เป็นผู้บริหารโรงเรียน จัดการเปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 9 ชั้น รวมทั้งสิ้น 12 ห้อง คือ ชั้นประถมสามัญ 1-3 มัธยมสามัญตอนต้น ม.1-3 และมัธยมสามัญตอนกลาง ม.4-6 ไม่มีมัธยมสามัญตอนปลายคือ ม.7-8 นักเรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อในระดับชั้นดังกล่าว จะต้องไปศึกษาที่อื่น ซึ่งในขณะนั้นเปิดรับสมัครอยู่ 2 แห่ง คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เวลา 04.00 น. เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ตลาดบ้านทวาย[15] แล้วลุกลามมาถึงโรงเรียนชั้นประถมและบริเวณห้องสมุด กระทรวงธรรมการจีงได้สร้างตึกหลังใหม่ให้ต่อต่อกับตึกหลังเดิม โดยยื่นไปทางทิศใต้เป็นรูปตัวแอล ไม่ปรากฏว่าชั้นประถมมีการเปิดดการเรียนการสอนต่อหรือไม่

ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 สมัยที่ขุนชำนิขบวนสาสน์ดังรงตำแหน่งรักษาการอาจารย์ใหญ่เป็นครั้งที่ 2 กระทรวงธรรมการได้สร้างโรงเรียนสตรีวัดสุทธิวรารามขึ้นใหม่ที่ตรอกยายกะตา โดยใช้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสตรีบ้านทวาย ปัจจุบันคือ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย และอพยพนักเรียนสตรีไป

ปลายปีการศึกษา 2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวรารามก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดเป็นค่ายพักอาศัยชั่วคราว โรงเรียนจึงต้องปิดทำการสอน ไม่มีการจัดสอบไล่ กระทรวงธรรมการจึงใช้ผลการเรียนและเวลาเข้าเรียนเป็นการตัดสินสอบได้-ตก

ในปีต่อมา สงครามทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายบริษัทบอร์เนียว ทำให้อาคารโรงเรียนด้านตะวันตก ส่วนที่เป็นห้องเก็บเครื่องมือวิทยาศาสตร์ถูกทำลายไปด้วย รัศมีการทำลายของระเบิดกินเนื้อที่ไปถึงอู่กรุงเทพ เมื่อโรงเรียนไหม้หมดแล้ว หินอ่อนแผ่นสูงจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนก็ได้อันตรธานหายไปในครั้งนั้น[16][17] ระยะนี้นักเรียนต้องอาศัยศาลาเชื้อ ณ สงขลา (สีเหลือง) ศาลาการเปรียญในวัดสุทธิวรารามเป็นที่เรียนชั่วคราว ต่อมากระทรวงธรรมการจึงได้สร้างเรือนไม้ชั้นเดียวมุงจาก ฝาลำแพน (ปัจจุบันคือที่ตั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติร. 9) เป็นที่เรียนชั่วคราว

พ.ศ. 2490 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสร้างอาคาร 2 ชั้น คืออาคาร 1 ซึ่งรื้อถอนออกแล้ว ออกแบบโดยหลวงสวัสดิ์สารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม) จึงได้เชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2491

ต่อมาเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2495 ได้รื้อเรือนหลังคามุงจากออก พอถึงเดือนตุลาคมจึงได้มีการสร้างอาคาร 3 ชั้น คืออาคาร 2 ซึ่งปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว กับหอประชุมอีก 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 จึงได้งบประมาณต่อเติมอาคาร 2 และอาคาร 3ซึ่งมี 2 ชั้น และหอประชุมจนเสร็จสมบูรณ์ หลวงสวัสดิ์สารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา จึงเชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายมังกร พรหมโยธี มาเปิดอาคารทั้ง 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2498

ในปี พ.ศ. 2503 - 2505 ได้ตัดชั้นมัธยมปีที่ 1, 2 และ 3 ออกปีละลำดับชั้น และในปี พ.ศ. 2506 ได้เปลี่ยนชั้นมัธยมปีที่ 4-6 เป็น"ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3" แลเปลี่ยนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1-2 เรียกว่า "ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5"(ปัจจุบันคือ ชั้นมัธยมปีที่4-6)

ใน พ.ศ. 2511 ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้งบประมาณสร้างกำแพงหน้าโรงเรียนใหม่ โดยรื้อของเก่าทิ้งและสร้างหอประชุม ห้องอาหารขึ้นอีกหนึ่งตึก เป็นตึกชั้นเดียวไม่มีฝาผนังอยู่หลังตึก 1

ปลาย พ.ศ. 2512 ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้งบประมาณสร้างตึกอาคารเรียน 3 ชั้นยาวตามแนวขนานกับถนนเจริญกรุง บริเวณหน้าโรงเรียน ขึ้นอีกตึกหนึ่ง คืออาคารสุทธิ์รังสรรค์(ตึก 4) ในปัจจุบัน และย้ายเสาธงกลางสนามมาตั้งใหม่(หน้าอาคาร 7 ในปัจจุบัน) ส่วนบริเวณเสาธงเดิมได้สร้างสนามบาสเก็ตบอลแทนที่สนามเก่าที่ถูกทำลายลงในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา

ในปีงบประมาณ 2515 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาทเศษ สร้างอาคารเรียน 6 ชั้น มีชื่อว่าอาคารปั้นรังสฤษฏ์ มีจำนวน 18 ห้องเรียน ปีงบประมาณ 2519 ได้รับงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาทเศษ สร้างอาคาร 3 ชั้น ปัจจุบันคืออาคารวิจิตรวรศาสตร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์ และเนื่องจากสมัยนั้นโรงเรียนประสบปัญหาเรื่องสถานที่เรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก ปีหนึ่งๆมีนักเรียนสมัครเรียนจำนวนมากจนมีห้องเรียนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องแบ่งนักเรียนเรียนเป็น 2 ผลัดซึ่งยากแก่การปกครองดูแล ในปีงบประมาณ 2520 ทางโรงเรียนจึงได้รับงบประมาณ จำนวน 6 ล้านบาทเศษ สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น เรียกว่าอาคารพัชรนาถบงกช มีจำนวน 18 ห้องเรียน เมื่อปีการศึกษา 2523 เนื่องจากมีสถานที่เรียนเพียงพอ จึงได้มีการเรียนการสอนเป็นผลัดเดียว

ปีงบประมาณ 2530 ได้รับงบประมาณสร้างโรงฝึกงานแบบมาตรฐาน 306 ล./27 จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ เป็นอาคาร 4 ชั้น สร้างแทนที่อาคาร 3 หลังเก่า แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 คืออาคารพัชรยศบุษกร

ปีการศึกษา 2532 พลเอกประเทียบ เทศวิศาล นายกสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม พร้อมด้วยอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน นายสุชาติ สุประกอบ คณะครู-อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครองได้จัดทอดผ้าป่าสร้างอาคารธรรมสถานบริเวณทางเข้าโรงเรียน ประดิษฐานหลวงพ่อสุทธิมงคลชัย พระพุทธรูปประจำโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,600,000 บาทเศษ

ปีงบประมาณ 2533 ได้รับงบประมาณ 3,775,000 บาท สร้างแฟลตนักการภารโรง จำนวน 20 หน่วย 1หลัง ในปีการศึกษา 2534 โรงเรียนได้ต่อเติมห้องเรียนอีก5ห้องบริเวณชั้นล่างอาคารปั้นรังสฤษฏ์ เพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในปีเดียวกัน เป็นปีครบรอบ 80 ปีวันสถาปนาโรงเรียนวัดสุทธิวราราม คณะศิษย์เก่า รุ่น 2500 ได้ร่วมกันจัดสร้างรูปปั้น ท่านปั้น อุปการโกษากร ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เพื่อให้ทุกคนได้สักการบูชา

ปีการศึกษา 2535 ได้รับอนุมัติงบประมาณของปี 2536 จำนวน 9,000,000 บาท และปี 2537 ผูกพันงบประมาณอีก 50,400,000บาท จากกรมสามัญศึกษา ก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 9 ชั้น ณ บริเวณที่ตั้งอาคาร 2 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้รับพระบรมราชานุญาติ ให้ใช้ตรากาญจนาภิเษก ประจำอาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9(ตึก 9) เริ่มใช้เมื่อปีการศึกษา 2537

ปีการศึกษา 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดนิทรรศการ "ศตวัชรบงกช 100 ปี วัดสุทธิวราราม" เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทั้งนี้เพื่อหารายได้ก่อสร้างเพิ่มเติมหอประชุมชั้น 10 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9(ตึก 9)

สัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์

ตรา[แก้]

"ดอกบัว" เป็นดอกไม้ที่เปรียบได้กับความบริสุทธิ์ สะอาด ชาวพุทธใช้ดอกบัวสำหรับเป็นพุทธบูชา หมายความว่า นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามทุกคนมีความสะอาด บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา และใจ [11]
"เพชร" เป็นอัญมณีล้ำค่า มีความแข็งแกร่งในตนเอง มีความงามจากเหลี่ยมต่างๆที่เปล่งประกาย โดยมีช่างฝีมือยอดเยี่ยมในการเจียระไน หมายความว่า นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามจะต้องเข้มแข็ง มีความเป็นลูกผู้ชาย เมื่อได้รับการศึกษาอบรมให้มีความรู้ และคุณธรรมแล้ว จึงเปรียบเสมือนเพชรที่ได้รับการเจียระไนจากครูบาอาจารย์ ย่อมทรงคุณค่าและเปล่งประกายแห่งความดี [11]

สี[แก้]

เดิมใช้สี ชมพู - ขาว - เขียว สีชมพู หมายถึง ความสุภาพเรียบร้อยอ้อนน้อมถ่อมตน สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ยึดมั่นในศีลธรรม สีเขียว หมายถึง ความเจริญงอกงามอย่างเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ต่อมาเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเป็นสัญลักษณ์ของสีธงชาติ เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามทุกคน ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[18]

พระบรมราชานุสาวรีย์[แก้]

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ครบรอบวันสถาปนาโรงเรียน 96 ปี ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน ชื่อ "โรงเรียนวัดสุทธิวราราม" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การนี้คณะกรรมการดำเนินงานจึงมีฉันทานุมัติให้พระเทพภาวนาวิกรม (ธงชัย ธมฺมธโช) เป็นประธานดำเนินการในพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เวลา 09.39 น. ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ปีกุน[19]

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงชื่นชม สนับสนุนการก่อตั้งโรงเรียน ประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นที่เคารพสักการะและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของครู นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียน โดยมีการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ในพิธีหน้าเสาธง ก่อนเข้าเรียน เป็นประจำ

ธรรมสถาน[แก้]

ธรรมสถานจัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อแทนที่ธรรมสถานหลังเก่า ในสมัยผู้อำนวยการ สุชาติ สุประกอบ โดยมี พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าของโรงเรียน เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสุทธิมงคลชัยและเป็นที่ตั้งของศาลพระภูมิเจ้าที่

พระพุทธสุทธิมงคลชัย หรือ หลวงพ่อสุทธิมงคลชัย พระพุทธรูปประจำโรงเรียน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ตั้งอยู่ ณ ธรรมสถาน บริเวณทางเข้าโรงเรียน เมื่อนักเรียน บุคลากรของโรงเรียนผ่านเข้าออกบริเวณโรงเรียนจะไหว้ทำความเคารพเสมอ

รูปหล่อท่านปั้น อุปการโกษากร ท่านปั้น อุปการโกษากร หรือ นางอุปการโกษากร (ปั้น ณ สงขลา วัชรภัย) มรรคนายิกาวัดสุทธิวราราม ภริยาหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) บุตรีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 กับ ท่านผู้หญิงสุทธิ์ บุตรีพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) ผู้ปฏิสังขรณ์วัดลาว ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทธิวราราม" ตามนามท่านผู้หญิงสุทธิ์นั้นเอง ภายหลังจากที่ท่านปั้นถึงแก่กรรม บรรดาทายาทของท่านปั้นมีความประสงค์จะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศเป็นทักษิณานุปทานแด่มารดา จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนขึ้นในที่ดินเดิมของท่านปั้นที่ได้ยกให้แก่วัด เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมและให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ โดยให้ชื่อว่า โรงเรียนวัดสุทธิวราราม[4]

อาคารเรียน[แก้]

แผนผังโรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ปัจจุบันโรงเรียนวัดสุทธิวราราม มีอาคารเรียนจำนวน 7 อาคาร ชื่อของอาคาร 6 หลังถูกตั้งชื่อให้ คล้องกัน ดังนี้ "สุทธิ์รังสรรค์ ปั้นรังสฤษดิ์ วิจิตรวรศาสน์ พัชรนาถบงกช พัชรยศบุษกร ขจรเกียรติวชิโรบล" ตามบุคคลสำคัญและสัญลักษณ์ของโรงเรียน[11]

  1. อาคาร 4 สุทธิ์รังสรรค์ (รื้อถอน)
  2. อาคาร 5 ปั้นรังสฤษฎ์
  3. อาคาร 6 วิจิตรวรศาสน์
  4. อาคาร 7 พัชรนาถบงกช
  5. อาคาร 3 พัชรยศบุษกร
  6. อาคาร 9 เฉลิมพระเกียรติ ร.๙
  7. อาคารทางเชื่อม ขจรเกียรติวชิโรบล

หลักสูตร[แก้]

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

ภาคปกติ

  • ห้อง 1-8 (ห้อง8คิง โดยมีการสับเปลี่ยนทุกช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น)

โครงการพิเศษ

  • โครงการภาษาอังกฤษภาคพิเศษ (English Proficiency Course) เรียกโดยทั่วไปว่า Intensive Course (ห้อง9)
  • โครงการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Gifted Program) (ห้อง10-12)

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

ภาคปกติ

  • แผนการเรียน วิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ห้อง1(คิง) - 3 (มีการสับเปลี่ยนแค่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5)
  • แผนการเรียน คณิตศาสตร์ - ภาษาอังกฤษ ห้อง7(คิง) - 9 (มีการสับเปลี่ยนแค่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5)
  • แผนการเรียน ภาษาอังกฤษ - ภาษาจีน ห้อง10
  • แผนการเรียน ภาษาอังกฤษ - ภาษาฝรั่งเศส ห้อง10

โครงการพิเศษ

  • โครงการภาษาอังกฤษภาคพิเศษ (English Proficiency Course) เรียกโดยทั่วไปว่า Intensive Course (โครงการนี้เป็นแผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์) ห้อง 4
  • โครงการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Gifted Program) ห้อง5(คิง) - 6 (มีการสับเปลี่ยนแค่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5)
  • โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศด้านดนตรี (Honors Program) ในความร่วมมือกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ห้อง10
  • ในอดีตเคยมี โครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (สพพ.) (อังกฤษ: Special Project for Outstandings StudentsTowards High School Certificate) สังกัดกรมสามัญศึกษา หรือหลักสูตรเร่งรัด 2 ปี

ชีวิตภายในโรงเรียน[แก้]

วันสำคัญ[แก้]

วันสถาปนาโรงเรียน[แก้]

เนื่องด้วยวันที่ 3 กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ทางโรงเรียนจึงได้จัดงานวันสถาปนาโรงเรียน โดยเลือกในช่วงวันที่ 3 - 10 กรกฎาคมของแต่ละปี ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน อาทิ พระพุทธสุทธิมงคลชัย, ท่านปั้น อุปการโกษากร และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งนมัสการพระสงฆ์ เพื่อทำบุญโรงเรียนในช่วงเช้า บริเวณสนามโรงเรียน หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเพณีของโรงเรียน[แก้]

กิจกรรมวันมุฑิตาจิต[แก้]

ฟุตบอลประเพณี[แก้]

ฟุตบอลประเพณี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นการแข่งขันกีฬา ฟุตบอล ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในแต่ละปี เพื่อการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างระดับชั้นก่อนสำเร็จการศึกษา จัดโดยคณะกรรมการนักเรียน ในช่วงภาคเรียนที่ 1 โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ทางคณะกรรมการนักเรียนตัดสินใจ ใช้ชื่อ "ปั้นรังสฤษฎ์เกม" สำหรับการแข่งฟุตบอลประเพณี ตามชื่อของอาคารปั้นรังสฤษฎ์ ซึ่งเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในช่วงนั้น และมีชื่อคล้ายกับ ท่านปั้น อุปการโกษากร ผู้อุปถัมภ์วัดสุทธิวราราม

กิจกรรมภายในโรงเรียน[แก้]

กิจกรรมภายในโรงเรียนที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเรียน ประกอบไปด้วย กิจกรรม Suthi Music Award, กิจกรรมแห่เทียนเข้าพรรษา, กิจกรรมเทศน์มหาชาติ และ กีฬาสี "พัชรบงกชเกม เป็นต้น

กีฬาสี[แก้]

กีฬาสีโรงเรียนวัดสุทธิวรารามใช้ชื่อว่า "พัชรบงกชเกมส์" โดยจะจัดขึ้นในภาคเรียนที่ 2 เป็นประจำทุกปีการศึกษา โดยส่วนมากจะจัดในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม โดยเป็นการแข่งขันกีฬาภายในของนักเรียนทุกระดับชั้น อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน และ ชักเย่อ เป็นต้น

  • การจัดงานกีฬาสีขึ้นภายนอกโรงเรียน

โรงเรียนวัดสุทธิวราราม มีการจัดงานกีฬาสีภายนอกบริเวณโรงเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2520 ที่สนามศุภชลาศัย ในสมัยของนายเจิม สืบขจร เป็นผู้อำนวยการ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2532 ได้มีการริเริ่มกิจกรรมแปรอักษรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้นจัดขึ้นที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนามจารุเสถียร หรือ สนามจุ๊บ) โรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีการจัดกีฬาสีภายนอกบริเวณโรงเรียนเรื่อยมา โดยจัดขึ้นที่สนามกีฬาอื่นๆอีก เช่น สนามศูนย์ฝึกกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด เป็นต้น โดยการจัดกิจกรรมกีฬาสีภายนอกบริเวณโรงเรียนเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย ในปีการศึกษา 2544 จัดขึ้นที่สนามเทพหัสดิน กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2545 จากนั้นตราบจนปัจจุบันก็ไม่มีการจัดงานกีฬาสีภายนอกบริเวณโรงเรียนอีกเลย

กิจกรรมเชียร์[แก้]

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนที่เข้าศึกษาในแต่ละปีนั้น จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมเชียร์ทุกคน ย้กเว้นนักเรียนที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ กองร้อยพิเศษเพชรบงกช และนักเรียนดุริยางค์ เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1ทุกคนมีการเตรียมความพร้อมก่อนวันงานกีฬาสี ทั้งนี้เนื่องจากนักเรียนชั้น ม.1 ทุกคนจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินนักเรียน ตามมาตรฐานของโรงเรียน โดยเป็นระดับชั้นที่จะขึ้นอัฒจรรย์เชียร์ทั้งในงานกีฬาสี และการแข่งขันกิจกรรมอื่นๆของโรงเรียน ทั้งนี้ได้ปฏิบัติการสืบต่อ จนกลายเป็นหนึ่งในประเพณีการรับน้อง โดยมีรุ่นพี่ คณะครู และคณะกรรมการนักเรียน ร่วมดูแลให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์

ลูกเสือ กองร้อยพิเศษ"เพชรบงกช"[แก้]

Suthi sc 23 10 61.jpg
Paread 1.jpg

ลูกเสือกองร้อยพิเศษ เพชรบงกช มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานควบคู่กับโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมาโดยตลอด และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนในหลายด้าน อาทิเช่น การประกวดระเบียบแถวและสวนสนามเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ถึง8สมัย โดยคณะกรรมการตัดสินให้โรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นแชมป์ชนะเลิศระดับประเทศติดต่อกันถึง7ปีซ้อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-พ.ศ. 2545 และชนะเลิศครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2555

แชมป์ประกวดสวนสนาม7ปีซ้อน

นอกจากความเข้มแข็งด้านระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงลูกเสือ เช่น ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้จัดตั้งกองลูกเสืออาสากกต. ขึ้นเป็นกองแรกของประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2550 เพื่อปลูกฝังวิถีประชาธิปไตยให้เยาวชน และสังคมให้การตอบรับอย่างดีจึงได้ขยายไปยังโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคณะลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกในหลายครั้ง

Election 1 thai scout.jpg

สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจพระบรมรูปปั้นหล่อโลหะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระบรมรูปปั้นหล่อโลหะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

น้อยคนนักที่จะทราบว่า พระบรมรูปปั้นหล่อโลหะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ในห้องลูกเสือ กองร้อยพิเศษ"เพชรบงกช" เป็นมิ่งขวัญให้ครูและลูกเสือของโรงเรียนมาช้านานทำไมถึงสง่างามเช่นนี้ สาเหตุเพราะองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่6 เสด็จมาเป็นแบบด้วยพระองค์เอง เป็นผลงานของบรมครูด้านศิลปะท่านหนึ่งของไทย นั่นคือ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี หรือท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านนี้นี่เอง

เป็นมิ่งขวัญให้ครูและลูกเสือรัชกาลที่6 เสด็จมาเป็นแบบด้วยพระองค์เอง

ซึ่งที่มานั้นเพราะ เมื่อศิลปินชาวอิตาลีท่านนี้ ทำสัญญารับราชการในสยามเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยอัตราเงินเดือน 800 บาท แต่ในตอนแรกก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าใดเนื่องจากยังไม่มีใครได้เห็นฝีมือของท่าน จนกระทั่งท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งได้ประทับทดลองเป็นแบบปั้นให้อาจารย์คอร์ราโด และปรากฏว่าศาสตรจารย์คอร์ราโดสามารถปั้นได้อย่างสมจริงเป็นอย่างมาก กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงกราบบังคมทูลฯ เชิญให้รัชกาลที่ 6 มาเป็นแบบจริงให้แก่ศาสตราจารย์คอร์ราโด โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ (พระบรมรูปปั้นนี้) ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง และทรงโปรดเกล้าฯให้หล่อโลหะจำนวนไม่มากนัก ถวายเป็นการส่วนพระองค์ จึงเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวง แรกเริ่มศาสตราจารย์คอร์ราโดได้วางหลักสูตรอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมซึ่งส่วนมาจบการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่างโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งต่อมาบุคคลที่ผ่านการอบรมก็ได้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของกิจการงานปั้นหล่อของกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci)ชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นศิลปินด้านประติมากรรมจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ศิลป์ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุ​ชิ้นสำคัญ​ที่​ประดิษฐาน​อยู่​ใน​ห้อง​ลูกเสือ​กองร้อย​พิเศษ​เพชร​บงกช​ โรงเรียน​วัด​สุทธิ​ว​รา​ราม​ เป็นมิ่งขวัญให้ครูและลูกเสือ รวมทั้งชาวโรงเรียนวัดสุทธิวรารามตลอดมา หมายเหตุ(ที่มาของพระบรมรูปปั้นหล่อรูปนี้ไม่แน่ชัดว่าประดิษฐานณโรงเรียนวัดสุทธิวรารามตั้งแต่สมัยใด)

ชมรม และชุมนุม[แก้]

ภายในโรงเรียนวัดสุทธิวราราม อนุญาตให้เด็กนักเรียนจัดตั้งชมรม และชุมนุมภายในโรงเรียนได้อย่างอิสระ โดยภายในแต่ละชุมนุมนั้น ต้องมีคุณครูที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 คนและนักเรียนไม่ต่ำกว่า 5 คน จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภายในโรงเรียนมีชุมนุม และชมรมรวมกันกว่า 105 ชมรม แบ่งได้เป็นทั้งด้านวิชาการ ด้านสันทนาการ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านความบันเทิง ด้านพัฒนาสังคมและชุมชน และด้านศาสนา

วงดุริยางค์สุทธิวราราม[แก้]

วงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 โดย นายเปรื่อง สุเสวี ซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม มีความรู้ทางดนตรี และให้เป็นวงดนตรีนำแถวกองลูกเสือของโรงเรียน วงดุริยางค์ของโรงเรียนสุทธิวรารามได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรุ่นพี่ช่วยดูแล ปกครองรุ่นน้องตลอดมา และพัฒนารูปแบบการแสดงเป็นคอนเสิร์ตในปี พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทาน " คฑาครุฑ" จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นวงดนตรีวงเดียวในประเทศไทยที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ วงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวรารามได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสแสดงต่อสาธารชนทั้งในงานของภาครัฐ และเอกชน อีกทั้งมีโอกาสแสดงต่อหน้าที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดำรัส ผ่านสำนักพระราชวัง และให้ทำหนังสือชมเชย ว่าแสดงได้ดีมาก และต่อมาวงดุริยางค์ของโรงเรียนได้ส่งเข้าประกวดครั้งแรก พ.ศ. 2523 ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันดุริยางค์เอเซียน ครั้งที่ 14 ณ ประเทศอินโดนีเซีย จากการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ทางวงดุริยางค์ได้นำประสบการณ์ต่างๆในการบรรเลงและฝึกซ้อม มาใช้พัฒนาวงต่อไป วงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวรารามยังมีส่วนร่วมในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ โดยร่วมเดินขบวนพาเหรดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้วงดุริยางค์จากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก นอกจากนี้ยังวงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวรารามยังเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี ในวันปิยมหาราชและวันวชิราวุธเป็นประจำทุกปีอีกด้วย ปัจจุบันวงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เปิดทำการสอนและฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ให้แก่นักเรียนที่เป็นสมาชิกของวงดุริยางค์ โดยครูและรุ่นพี่ดุริยางค์ ที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ด้านดนตรีสากล โดยทำการเปิดรับสมาชิกทุกปี และในวาระครบรอบ 60 ปี ในปี 2559 อนุพงษ์ อมาตยกุล ศิษย์เก่าและผู้ฝึกสอน วงดุริยางค์สุทธิวราราม จึงได้ประพันธ์เพลง "๖๐ ปี ด.ย.ส.ธ." ขึ้นมา เพื่อฉลองวาระดังกล่าว

Drum suthi 1.jpg

เกียรติประวัติและมาตรฐานคุณภาพ[แก้]

เกียรติประวัติโรงเรียน[แก้]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินรางวัลแก่โรงเรียน จำนวน 2,000 บาท จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากนักเรียนในระดับชั้นม.ศ. 5 สอบได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 สามปีติดต่อกัน

ได้รับเกียรติบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงว่าโรงเรียนวัดสุทธิวรารามได้ดำเนินการใช้หลักสูตรดีเด่น สมควรเป็นผู้นำการใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2530

ได้รับหนังสือชมเชยจากกรมสามัญศึกษาว่าเป็น "โรงเรียนที่ได้มีการพัฒนาและมีคุณภาพการศึกษาในเกณฑ์ที่ดี" เนื่องจากทำสถิติสูงสุดในการผ่านการสอบคัดเลือกศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหลายสมัย

ได้รับประกาศนียบัตรจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็น "โรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่นในเขตกรุงเทพมหานคร" ประจำปีการศึกษา 2530

  1. ได้รับคัดเลือกให้เป็น โรงเรียนพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2535
  2. ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติว่าเป็น "โรงเรียนที่สามารถอบรมนักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมดีเด่นและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม"

ได้รับการคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็น "โรงเรียนที่มีห้องสมุดดีเด่น" ประจำปีการศึกษา 2539

ชนะเลิศการประกวดระเบียบแถวและสวนสนามเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ถึง8สมัย โดยคณะกรรมการตัดสินให้กองลูกเสือโรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นแชมป์ชนะเลิศระดับประเทศติดต่อกันถึง7ปีซ้อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-พ.ศ. 2545 และชนะเลิศครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2555

  1. ได้รับประกาศนียบัตรจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นโรงเรียนที่ห้องสมุด "พัฒนาได้มาตรฐานห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญนาภิเษก"
  2. ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ที่ตั้งสูนย์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน สาขาวิชากิจกรรมของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  3. ได้รับโล่จากคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในงานวันเด็กแห่งชาติ แสดงว่าโรงเรียนมีนักเรียนได้รับการยกย่องว่าประพฤติดี มีคุณธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ประจำปี 2540

มาตรฐานคุณภาพ[แก้]

ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในระดับ ดีมาก[ต้องการอ้างอิง]

รายนามผู้บริหารโรงเรียน[แก้]

รูป รายนาม ตำแหน่ง เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พุ่ม-อังศุกสิกร.jpg พระยาวิจิตรวรสาสน์
(พุ่ม อังศุกสิกร)
อาจารย์ใหญ่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2467
2[# 1] ถนอม-นาควัชระ.jpg ขุนชำนิขบวนสาสน์
(ถนอม นาควัชระ)
รักษาการอาจารย์ใหญ่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2467 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2472
3 พระยาศึกษาสมบูรณ์.jpg พระยาศึกษาสมบูรณ์
(หม่อมหลวงแหยม อินทรางกูร)
อาจารย์ใหญ่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 1 มีนาคม พ.ศ. 2474
ถนอม-นาควัชระ.jpg ขุนชำนิขบวนสาสน์
(ถนอม นาควัชระ)
รักษาการอาจารย์ใหญ่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2474 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2475
4 หลวงทรงวิทยาศาสตร์.jpg หลวงทรงวิทยาศาสตร์
(ทรง ประนิช)
อาจารย์ใหญ่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 6 ธันวาคม พ.ศ. 2476
5[# 2] สวัสดิ์-สุมิตร.jpg หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ
(สวัสดิ์ สุมิตร)
อาจารย์ใหญ่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2480
6 ชด-เมนะโพธิ.jpg หลวงดรุณกิจวิฑูร
(ชด เมนะโพธิ)
อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2480 พฤษภาคม พ.ศ. 2483
7 จรัส-บุนนาค.jpg หลวงจรัสการคุรุกรรม
(จรัส บุนนาค)
อาจารย์ใหญ่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 7 กันยายน พ.ศ. 2490
8 โชค-สุคันธวณิช.jpg นายโชค สุคันธวณิช อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2496
9 เปรื่อง-สุเสวี.jpg นายเปรื่อง สุเสวี อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2508
10 พิพัฒน์-บุญสร้างสม.jpg นายพิพัฒน์ บุญสร้างสม อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2508 พ.ศ. 2513
11 พิทยา-ไทยวุฒิพงศ์.jpg นายพิทยา ไทยวุฒิพงศ์ อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2516
12 เจิม-สืบขจร.jpg นายเจิม สืบขจร อาจารย์ใหญ่
ผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2516 15 มิถุนายน พ.ศ. 2526
13 เสนาะ-จันทร์สุริยา.jpg นายเสนาะ จันทร์สุริยา ผู้อำนวยการ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2526 30 กันยายน พ.ศ. 2532
14 สุชาติ-สุประกอบ.jpg นายสุชาติ สุประกอบ ผู้อำนวยการ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536[# 3]
15 มาโนช-ปานโต.jpg นายมาโนช ปานโต ผู้อำนวยการ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 30 กันยายน พ.ศ. 2540
16 ศิริ-สุงคาสิทธิ์.jpg นายศิริ สุงคาสิทธิ์ ผู้อำนวยการ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541[# 4]
17 ธานี-สมบูรณ์บูรณะ.jpg นายธานี สมบูรณ์บูรณะ ผู้อำนวยการ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 30 กันยายน พ.ศ. 2542
18 สุรินทร์-ต่อเนื่อง.jpg นายสุรินทร์ ต่อเนื่อง ผู้อำนวยการ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 30 กันยายน พ.ศ. 2543
19 ประมวญ-บุญญพาพงศ์.jpg นายประมาญ บุญญพาพงศ์ ผู้อำนวยการ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 30 กันยายน พ.ศ. 2545
20 นายมนตรี แสนวิเศษ ผู้อำนวยการ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549
21 นายคงวุฒิ ไพบูลย์ศิลป ผู้อำนวยการ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
หมายเหตุ
  1. ขุนชำนิขบวนสาสน์ (ถนอม นาควัชระ) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอาจารย์ใหญ่ รวม 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2467 ถึง ปี พ.ศ. 2472 และครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2474 ถึง ปี พ.ศ. 2475
  2. จากหลักฐานบันทึกกิจการของโรงเรียนสมัย อาจารย์โชค สุคันธวณิช เป็นอาจารย์ใหญ่ ระบุว่า หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (สวัสดิ์ สุมิตร) ดำรงตำแหน่งถึงปี พ.ศ. 2480 แต่ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในสมุดจดหมายเหตุรายวันของผู้บริหารสมัยหลังๆ ระบุว่า ดำรงตำแหน่งถึงปี พ.ศ. 2482
  3. ถึงแก่กรรมในเหตุการณ์โรงแรม รอยัล พลาซ่า ถล่ม เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ในขณะดำรงตำแหน่ง
  4. ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน นับเป็นผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดของโรงเรียน
  5. หน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง[แก้]

    สมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม (ส.สธ)[แก้]

    เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2482 สมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม ได้จดทะเบียนเป็นครั้งแรก ณ กรมตำรวจ มีหลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์) เป็นนายกสมาคม จึงนับได้ว่า กิจการสมาคมได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเป็นทางการตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแต่ได้หยุดกิจกรรมไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่าง ปี พ.ศ. 2484-2494 เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน และสงครามเอเชียมหาบูรพา และเป็นการสิ้นสุดของคณะกรรมการชุดแรก ต่อมา สมาคมฯได้จดทะเบียนตั้งสมาคมฯขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2496 มีนายบุญลอง วุฒิวัฒน์ เป็นนายกสมาคม คนต่อมา มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการหลายครั้ง ครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 มีนายวรุตม์ วรรณะเอี่ยมพิกุล เป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม ชุดปัจจุบัน [20]

    คณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนวัดสุทธิวราราม (ก.น.)[แก้]

    คณะกรรมการนักเรียน เป็นหนึ่งในหน่วยงาน ภายใต้สังกัดฝ่ายบริหารกิจการนักเรียน โรงเรียนวัดสุทธิวราราม จัดตั้งและคัดสรรนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานนักเรียน และมอบอำนาจให้ประธานนักเรียนคัดสรรคณะทำงานด้วยตนเอง โดยคัดสรรนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-6 เพื่อสนับสนุนงานด้านกิจกรรมและวิชาการของโรงเรียน อีกทั้งเพื่อเป็นตัวแทนนักเรียน ในการเสนอจัดทำโครงการต่างๆภายในโรงเรียน หรือร่วมกับโรงเรียนอื่นๆ อาทิ ฟุตบอลประเพณี (ปั้นรังสฤษฏ์เกม), การประกวดดนตรี Suthi Music Award และกีฬาสี (พัชรบงกชเกม) เป็นต้น และยังเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และคณะครู ได้ผ่านทางแฟนเพจคณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม

    หน่วยงานอื่น ๆ[แก้]

    • คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
    • ชมรมครูเก่าสุทธิวราราม
    • มูลนิธิรุจิรวงศ์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
    • ศูนย์บริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
    • สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนวัดสุทธิวราราม (ส.ป.ส.ธ.)

    ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

    บุคลากรทางการเมือง การปกครอง การทูต การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข[แก้]

    บุคลากรทางด้านธุรกิจ[แก้]

    บุคลากรทางด้านบันเทิง[แก้]

    บุคลากรทางด้านกีฬา[แก้]

    ดูเพิ่ม[แก้]

    อ้างอิง[แก้]

    1. 1.0 1.1 1.2 ข้อมูลทั่วไปโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา กลุ่มสารสนเทศ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    2. "โปรแกรมสารสนเทศโรงเรียนจังหวัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2556 ชุดที่ 1 - ศูนย์ปฏิบัติการ GPA สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-05. สืบค้นเมื่อ 2013-11-02.
    3. เว็บไซต์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
    4. 4.0 4.1 ท่านปั้น อุปการโกษากร (วัชราภัย) ชมรมสายสกุล ณ สงขลา
    5. วรชาติ มีชูบท, พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม, สำนักพิมพ์ สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2552
    6. ประวัติโรงเรียน เว็บไซต์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
    7. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, แจ้งความกระทรวงธรรมการ [เรื่อง ปั้นมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามป่วยถึงแก่กรรม] หน้า 116
    8. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, พระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายก [พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นมรรคนายกวัดสุทธิวราราม] หน้า 585
    9. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 49 เรื่องจดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงสยาม ครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช (ตอนที่ 3ต่อจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 48) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2471
    10. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กรกฎาคม 130 เล่ม 28 หน้า 737-738
    11. 11.0 11.1 11.2 11.3 ศตวัชรบงกช 100 ปี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม.-- กรุงเทพฯ : โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, 2554.
    12. สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, ทูลเกล้าถวายร่างประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพ็ญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน
    13. สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, เรื่องโรงเรียนวัดสุทธิวรารามแลประกาศพระราชนิยมในการสร้างโรงเรียน, หน้า 10-11
    14. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 สิงหาคม 130 เล่ม 28 หน้า 896-899
    15. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มกราคม 2470 เล่ม 44 หน้า 3190]
    16. ประวัติโรงเรียนวัดสุทธิวราราม
    17. ประวัติโรงเรียน - วัชรสมโภช 80 ปี โรงเรียนวัดสุทธิวราม
    18. คู่มือนักเรียนและผู้ปกครอง โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ประจำปีการศึกษา 2551
    19. จัดพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์งานครบรอบ96ปีร.ร.วัดสุทธิฯ ข่าวสด วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6030
    20. ประวัติสมาคม - เว๊ปไซต์สมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม.[ลิงก์เสีย]
    21. ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ - หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
    22. ภาคผนวก ข ประวัติผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สุธาริณี วาคาบายาซิ. (2550).บทบาทของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของ กทม. (พ.ศ. 2515 - 2543). ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

    บรรณานุกรม[แก้]

    1. ศตวัชรบงกช 100 ปี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม.-- กรุงเทพฯ : โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, 2554.

    แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

    พิกัดภูมิศาสตร์: 13°42′45″N 100°30′44″E / 13.712399°N 100.512191°E / 13.712399; 100.512191{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้